- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
๏ จะกล่าวฝ่ายสังฆราชพระบาทหลวง | ลงนั่งง่วงอยู่ที่ท้ายชายเฉลียง |
กับมังคลาสานุศิษย์นั่งคิดเคียง | แล้วก็เรียงรายกันเป็นหลั่นไป |
บาทหลวงเฒ่าเจ้าเล่ห์จึ่งเสแสร้ง | แล้วชี้แจงหลอกถามตามสงสัย |
เองจะคิดรอญรานสถานใด | จงเล่าให้กูฟังอย่าบังกัน |
จะรบรับทัพไทยอย่างไรหวา | ด้วยปัญญาเรี่ยวแรงแข็งขยัน |
หรือความรู้มนตราสารพัน | จะป้องกันศัตรูหมู่ไพริน ฯ |
๏ ท้าวโกสัยได้ฟังสังฆราช | แกเกรี้ยวกราดเอาแต่ได้ดั่งใจถวิล |
จึงตอบคำธรรมดาทุกธานินทร์ | ไม่รู้สิ้นคนดีมีปัญญา |
จะต้องคิดการอุบายให้หลายอย่าง | ดูท่าทางกลศึกคอยปรึกษา |
ที่จะคิดการใหญ่ในลังกา | เอาปัญญาข้าพเจ้าไม่เข้าที |
สุดแต่ท้าวเจ้าคุณเป็นแม่ทัพ | จะบังคับมากน้อยไม่ถอยหนี |
คงจะเป็นเกือกทองรองธุลี | กว่าชีวีข้าจะวายทำลายลาญ ฯ |
๏ บาทหลวงฟังสังรเสริญท้าวโกสัย | กูขอบใจที่มึงรักสมัครสมาน |
กับลูกเขยผูกพันในสันดาน | คงเป็นการจริงแล้วหวาอย่าปรารมภ์ |
อันลังกาธานีบุรีรัตน์ | กูเห็นชัดมาแต่ครั้งปางประถม |
ที่พวกไทยจะเข้ามาสมาคม | เห็นไม่สมควรคู่จะอยู่ครอง |
พระเยซูผู้เป็นเจ้าไม่เข้าด้วย | ใครเอออวยให้มันเอาเป็นเจ้าของ |
อ้ายสองท้าวช่วยกันทำแต่ลำลอง | กูตรึกตรองการอุบายหลายกระบวน |
ครั้นจะนิ่งไว้ช้าปัจจามิตร | มันจะคิดหมกมุ่นทำหุนหวน |
ฉวยเสียทีการใหญ่ต้องใคร่ครวญ | การก็จวนเข้าวสันต์จะกันดาร |
ครั้นจะคอยห้าเมืองเรื่องเองว่า | เห็นจะช้าการไปหลายสถาน |
ทั้งข้าศึกก็จะแข็งแรงรำคาญ | ฉวยเนิ่นนานหน้าฝนสิจนใจ |
แกจึงสั่งมุลนายฝ่ายทหาร | ให้เตรียมการดูแลจะแก้ไข |
จงจัดแจงแต่งพลสกลไกร | ให้แล้วในสามวันดั่งสัญญา |
จะยกไปตีด่านเป็นการร้อน | อย่านิ่งนอนตรวจกันให้ทันหนา |
เรียกเมื่อไรพร้อมกันดั่งบัญชา | ใครเลื่อยล้าโทษมึงจะถึงตาย |
เอาตามบทกฎหมายเมืองฝรั่ง | เอาตัวขังฆ่าริบให้ฉิบหาย |
จงบอกกันให้ทั่วทุกตัวนาย | เร่งจัดจ่ายปืนผาบรรดามี |
บาทหลวงนั่งสั่งถ้วนกระบวนทัพ | แล้วจึ่งนับฤกษ์ยามตามดิถี |
หยิบตำรามาพลันด้วยทันที | แล้วก็คลี่ดูพลางเหมือนอย่างเคย |
เห็นวันดีสี่ค่ำจะทำศึก | ให้สมนึกเดชะบุญเจ้าคุณเอ๋ย |
ขอเดชะยะโฮวาอย่าละเลย | ด้วยข้าเคยสอนสั่งอยู่ลังกา |
เป็นเหตุด้วยประจามิตรมาคิดร้าย | จึ่งวุ่นวายเสียชาติศาสนา |
ขอให้พระวิญญาณช่วยด้วยสักครา | ให้ปัจจามิตรวายทำลายลาญ |
แกตั้งจิตอธิษฐานการฝรั่ง | ตีระฆังวังเวงเพลงประสาน |
แล้วจดหมายไว้ให้เห็นเป็นพยาน | ปิดที่บานประตูตึกยังตรึกตรอง ฯ |
๏ กษัตริย์สามองค์ท้าวเข้าไสยาสน์ | ขึ้นบนอาสน์ตึกใหญ่พระทัยหมอง |
แต่มังคลาสานุศิษย์เธอคิดปอง | จะตรึกตรองแก้ไขฉันใดดี |
แต่ทำศึกคนตายเสียหลายแสน | เอาเขตแตนก็ไม่ได้ต้องไพล่หนี |
เป็นหลายครั้งตั้งแต่มารบราวี | ก็เสียทีย่อยยับอัปรา |
แกยังขืนจะมาชิงเอาสิงหล | แต่ผู้คนพลัดพรายตายนักหนา |
จนน้องหลานเขาก็เบื่อเหลือระอา | เพราะปัญญาแกมันมากต้องยากเย็น |
เมื่อครั้งครองลังกาก็ผาสุก | ให้ไปรุกรบวุ่นจนขุ่นเข็ญ |
ต้องพลัดพรากจากพาราน้ำตากระเด็น | ใครเขาเป็นอย่างนี้ไม่มีเลย |
แต่ตกยากแล้วมิหนำมาซ้ำแยก | อกจะแตกเสียแล้วหนาเจ้าข้าเอ๋ย |
มิตามใจแกก็ด่าว่าเฉยเมย | นิจจาเอ๋ยแสนเข็ญไม่เว้นวัน |
ลงนอนหงายก่ายนลาฏอนาถนึก | ทรวงสะทึกแสนวิโยคให้โศกศัลย์ |
ตั้งแต่มาอยู่ในเขาเจ้าประจัน | จะหาวันว่างสบายก็ไม่มี ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมนุชบุษบงอนงค์นาฏ | นึกประหลาดในวิญญาณ์มารศรี |
ด้วยองค์พระมังคลาผู้สามี | เออวันนี้เป็นไฉนไม่ไสยา |
แล้วก็ไม่ดำรัสตรัสประภาษ | นึกอนาถในจิตกนิษฐา |
จึ่งเข้าไปใกล้กษัตริย์ภัสดา | นางวันทาทูลถามไปตามแคลง |
พระประชวรโรคภัยไฉนหนอ | จะเรียกหมอมาพลีตีแสลง |
ถวายยาสารพันได้จัดแจง | โดยตำแหน่งที่รักษาพยาบาล ฯ |
๏ ฝ่ายพระมิ่งมังคลานราราช | เห็นนุชนาฏบุษบงก็สงสาร |
จึ่งตรัสว่าไม่สบายหลายประการ | เพราะอาจารย์แกทำขุ่นออกวุ่นวาย |
จนเสียญาติขาดตระกูลประยูรยศ | ไม่เป็นบทดูเหมือนบ้าเที่ยวค้าขาย |
มีแต่เรื่องขาดทุนออกวุ่นวาย | เพราะอุบายครูเฒ่าของเราเอง |
เหมือนคราวครั้งเมื่อจะมาแกด่าแช่ง | ว่าเราแกล้งปิดโกงทำโฉงเฉง |
ตั้งกองด่าอยู่จนดึกออกครึกเครง | เพราะเราเกรงบาปกรรมต้องตามใจ |
แต่ชีวิตแทบจะตายก็หลายครั้ง | เที่ยวเซซังไปหาที่อาศัย |
พอเสื่อมสร่างบางเบาบรรเทาใจ | แกมิให้อยู่ช้าถึงห้าปี |
วันที่สี่ค่ำกำหนดจะให้ยก | เป็นทัพบกตีด่านชานกรุงศรี |
เมื่อแตกทัพกลับมาเจ็ดราตรี | ไม่รู้ทีว่าจะนึกจะตรึกตรอง ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมนุชบุษบงอนงค์นาฏ | เชิงฉลาดแล้วประมูลทูลฉลอง |
ทำป่วยไข้ให้รู้ดูทำนอง | จะตรึกตรองที่ในการสถานใด ฯ |
๏ ป่างพระจอมมังคลานราราช | ฟังนุชนาฏทูลพร้องสนองไข |
เธอเห็นจริงสิ่งนี้ดีพระทัย | จึงตอบไปว่าพี่เขลาเบาปัญญา |
เจ้าชักนำสำนวนควรจะเชื่อ | เห็นดีเหลือจริงแล้วมิตรกนิษฐา |
เจ้ารีบไปบอกกล่าวท้าวพ่อตา | แจ้งกิจจาว่าเราเจ็บเป็นเหน็บเย็น |
ให้ไปแจ้งสังฆราชเหมือนมาดหมาย | ดูแยบคายโดยทำนองพี่ตรองเห็น |
ที่การทัพดับร้อนค่อยผ่อนเย็น | เจ้าคิดเห็นดีแท้ได้แก้ตัว ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมนุชบุษบงอนงค์สมร | นำสุนทรแล้วค่อยย่องจากห้องผัว |
ไปทูลท้าวทั้งสองทำหมองมัว | โปรดตามตัวหมอเข้าไปข้างในพลัน |
แล้วให้เชิญกูวไนยไปทั้งสอง | ที่ในห้องตึกใหญ่เชิญผายผัน |
ประชวรไข้เหน็บชามาห้าวัน | พระองค์สั่นจับหนาวทั้งเช้าเย็น |
แล้วโปรดเชิญสังฆราชไปอาสน์รัตน์ | สามกษัตริย์หน่อไทอยากใคร่เห็น |
ช่วยระงับดับร้อนให้ผ่อนเย็น | จะได้เห็นโรคาพยาบาล ฯ |
๏ ท้าวรายาโกสัยพระทัยหาย | ก็ผันผายไปแสดงแถลงสาร |
บอกสามหน่อขัตติยากับอาจารย์ | ให้แจ้งการโรคาที่ยายี |
บาทหลวงฟังนั่งอึ้งตะลึงคิด | เป็นไข้พิษเจ็บจุกหรือถูกผี |
นั่งเสียได้ไม่มากล่าวเล่าคดี | พลางไปที่ห้องในที่ไสยา |
ทั้งสามหน่อวรนาถกับบาทหลวง | ครรไลล่วงเข้าในห้องพลางมองหา |
ฝ่ายโฉมยงองค์พระมังคลา | ชักเอาผ้าคลุมประทมทำซมเซา ฯ |
๏ บาทหลวงว่าฮ้าเฮ้ยเองเจ็บไข้ | เป็นอย่างไรไม่รู้มาอยู่เขา |
หรือจะเป็นปีศาจมันกราดเอา | แต่ก่อนเก่าอยู่เป็นสุขทุกเวลา |
เป็นเคราะห์กรรมทำกระไรไฉนหนอ | มาเกิดก่อเจ็บไข้อย่างไรหวา |
จะยกไปตีด่านชานชลา | เองก็มาเจ็บไข้ไม่ได้การ ฯ |
๏ พระมังคลาว่าเจ้าคุณการุญรัก | จงหยุดพักรั้งรอแต่พอหลาน |
ค่อยเสื่อมโศกโรคภัยในสันดาน | จึ่งคิดอ่านยกไปตีให้มีชัย ฯ |
๏ บาทหลวงว่าถ้าเองยังมิหาย | การอุบายข้าศึกจะนึกไฉน |
ฉวยมันยกยุ่งยิ่งมาชิงชัย | จะไว้ใจได้หรือมึงถือดี |
จำจะยกวกไปใส่เอาก่อน | จะมานอนนิ่งถือเหมือนฤๅษี |
ถึงเอ็งเจ็บจริงหวาพ่อตามี | ยกไปตีก่อนไม่ได้หรือไรนา |
กูกำหนดฤกษ์ตีวันสี่ค่ำ | จะตั้งทำพิธีดีนักหนา |
จะให้เข้าตีด่านชานชลา | อ้ายพ่อตามึงทั้งสองไปลองดู |
เอาลูกชายเอ็งกำกับเป็นทัพหนุน | เดชะบุญไล่ต้อนให้อ่อนหู |
แม้นเข้าได้สมหวังพังประตู | ช่วยกันกรูเข้าในด่านชานบุรินทร์ |
มึงเจ็บไข้ใจคอยังท้อแท้ | อยู่กับแม่รักดุเหว่าเฝ้าถวิล |
พลางลุกจากห้องมาศาลาดิน | เรียกมาสิ้นแต่บรรดาเสนานาย |
กับสองท้าวเข้ามาแล้วว่าขาน | ไปตีด่านให้เหมือนจิตกูคิดหมาย |
อ้ายลูกเขยจับไข้ไม่สบาย | มึงเป็นฝ่ายทัพหน้าปรึกษากัน |
วันพรุ่งนี้จะไปตีเมืองปากน้ำ | จงคิดทำต่อแย้งให้แข็งขัน |
แม้นทัพไหนแตกมาจะฆ่าฟัน | ยกให้ทันฤกษ์ดีในสึ่โมง |
แกสั่งเหล่าเสนาโยธาทัพ | เสียงออกคับศาลาด่าออกโผง |
ราวกับไฟไหม้ข้าวสุกลุกออกโพลง | เสียงโขมงคับศาลาหน้าคิรี |
ให้เตรียมทัพนับหมื่นถือปืนผา | แขกชวากับพหลพลกาหวี |
ทั้งเสนาไพร่พลพวกมนตรี | วันพรุ่งนี้พร้อมกันเหมือนสัญญา |
แม้นใครขาดราชการอาญาทัพ | บทบังคับชีวังถึงสังขาร์ |
เอาเชือกมัดรัดคอให้มรณา | ตามอาญาข้างฝรั่งไม่ฟังกัน ฯ |
๏ ครั้นสั่งเสร็จกลับหลังขึ้นยังตึก | คิดการศึกร่ำไปจนไก่ขัน |
แล้วนึกแค้นมังคลาด่าเป็นควัน | ควรหรือมันมาเจ็บเป็นเหน็บเย็น |
เพราะอีเมียมาด้วยจึ่งป่วยไข้ | กูเข้าใจบาดแผลพอแลเห็น |
เพราะมันถึงหวานนักจึ่งมักเป็น | เหมือนกับเช่นได้อีแก่ก็แปรปรวน |
แต่ไม่ถึงเจ็บไข้เพราะไม่สาว | เป็นคราวคราวมันนึยมเหมือนลมหวน |
ถูกอีนี่มันเป็นสาวเจ้ากระบวน | มันยียวนเอาจนเจ็บเป็นเหน็บชา |
ก้าแม้นมิจำกัดอีนี่เสีย | จะคลอเคลียเมามันเพราะตัณหา |
เห็นไม่หายคลายเจ็บที่เหน็บชา | จะเอายาอย่างไรให้มันกิน |
แล้วการทัพการไข้เห็นไม่เสร็จ | เหมือนเอาเบ็ดโยนไปในกระสินธุ์ |
ที่ไหนฝูงมัจฉาจะมากิน | เพราะว่าสิ้นเหยื่อเกี่ยวไม่เหลียวแล |
อ้ายมังคลาฝาหรั่งเคยตั้งแต่ง | จะแอบแฝงนอนครางอยู่ห่างแห |
ที่ไหนคนเหล่านั้นจะผันแปร | กูจะแก้เห็นไม่สมอารมณ์ปอง |
พลางลุกมาหน้าประตูฃู่สำทับ | ยังนอนจับไข้วุ่นจนขุ่นหมอง |
อันการทัพการศึกไม่ตรึกตรอง | มาเข้าห้องกอดอีเมียจะเสียการ |
จนเจ็บไข้กายสั่นเพราะตัณหา | จะมาพากันเศร้าต้องร้าวฉาน |
แม้นมิไล่อีเมียจะเสียการ | ไปเมืองบ้านมันเสียก่อนคิดผ่อนปรน |
แม้นขืนอยู่ด้วยกันตะบันโรค | จะวิโยคยากใจไม่เป็นผล |
เองขืนอยู่กับอีเมียจะเสียตน | เร่งคิดขวนขวายไปให้ไกลกัน |
โรคคงหายคลายแท้แน่เหมือนว่า | กินหยูกยาดับร้อนพอผ่อนผัน |
นี่อีแม่รักสะเออะเจ๋อเจ๊อครัน | เข้าพัวพันโรคาจึ่งยายี |
เร่งเอาไปส่งเสียอีเมียเอก | อย่าโหยกเหยกห่วงใยในวิถี |
ได้สิงหลแล้วจึ่งพามาธานี | ตั้งเป็นที่มเหเสือตามเชื้อวงศ์ ฯ |
๏ ฝ่ายพระมิ่งมังคลานราราช | ฟังพระบาทหลวงขู่ดูแกหลง |
เอาแต่ใจของตนพูดวนวง | เหมือนคนทรงผีสิงวิ่งกระเซอ |
มันน่าเกลียดเต็มประดาเหมือนบ้าเลือด | ไม่รู้เหือดน่าชังยังเผยอ |
แกพูดจาเบียดเสียดขี้เกียจเออ | ครั้นหาวเรอตามไปก็ใช่ทาง |
แล้วตอบว่าถ้าเจ้าคุณจะขับไล่ | ฉันก็ไม่ทานทัดไม่ขัดขวาง |
แต่จะต้องให้บิดาเขาพานาง | การมิค้างหรือที่ศึกนึกอย่างไร |
แกจึ่งว่าอย่าให้มันไปด้วย | เอาไว้ช่วยดูแลคิดแก้ไข |
ให้แต่พวกบ่าวข้าพามันไป | ก็จะได้ดอกหนาหวาปัญญากู |
พระมังคลาว่าเช่นนั้นฉวยเกิดเหตุ | แม้นอาเพศเดือดร้อนมิอ่อนหู |
แกว่าช่างมันเป็นไรทำไมกู | ทำไม่รู้ไม่เห็นจะเป็นตาย |
ช่างหัวมันเป็นไรไปกับบ่าว | จะว่ากล่าวใครเขาทำให้คว่ำหงาย |
มึงอย่าพูดเกเรเพทุบาย | ใช่มุลนายเป็นเมียเสียอะไร |
แม้นมิคิดผ่อนผันให้มันห่าง | โรคจะสร่างเสื่อมคลายหายที่ไหน |
เองจะนั่งอยู่กับหญิงไม่ชิงชัย | มันจะได้เมืองหรืออย่าถือดี |
ทำไมกับลูกเมียแม้นเขี่ยไค้ | มันคงได้สมรักสมศักดิ์ศรี |
ชนะศึกตรึกตราสักห้าปี | รูปดีดีงามงามสักสามพัน |
ไล่ไปเสียเมียนี้หนาพาให้เจ็บ | พวกอีเล็บยาวยาวอีสาวสรรค์ |
เป็นห่วงใยไปข้างหน้าสารพัน | ไม่เป็นอันคิดอ่านการสงคราม ฯ |
๏ พระมังคลาว่าเจ้าคุณการุญรัก | จะหาญหักเอาแต่ได้ขอไต่ถาม |
ด้วยพ่อเขาเอามาใช้ในสงคราม | จะมีความน้อยใจไม่ได้การ |
แกว่าช่างมันเป็นไรเหมือนไม้สัก | เอามาจักกลึงเกลาใช่เผาผลาญ |
ทำไมกับเครื่องสะเก็ดสำเร็จการ | เอาพร้าขวานผ่าใส่คงไหม้โชน |
จะไปนั่งเกรงใจทำไมหวา | เราย้ายท่าให้เหมือนเช่นเขาเล่นโขน |
การนินทาอย่าปรารมภ์เหมือนตมโคลน | ผิดก็โจนลงในน้ำมันร่ำไป |
พระมังคลาว่าเขาช่วยเป่าปัด | ปรนนิบัติหยูกยาได้อาศัย |
แต่พอโรคบางเบาบรรเทาใจ | จึ่งจะให้เขาพาพะงางาม ฯ |
๏ บาทหลวงด่าว่าอุแหม่พูดแก้ไข | จะเอาไว้ทำกรรมอ้ายซำสาม |
จนโรคไม่รู้สร่างเพราะนางงาม | จนเสียความย่อยยับอัปรา |
เพราะอีนี่มิหนำตัวซ้ำเจ็บ | ยังจะเก็บเอาไว้กรอล่อตัณหา |
ใครขืนคว่ำจำใจให้เอามา | นั่งลอยหน้าดัดจริตทำปิดบัง |
ชะนางแม่รักดุเหว่านั่งเฝ้าผัว | มาเปียปัวจนมันยุ่งออกนุงถัง |
มึงจะคิดอย่างไรจะใคร่ฟัง | หรือจะนั่งอ่อนคอเฝ้าคลอเคลีย |
ไม่ห่างผัวตัวนางมิ่งมเหสี | ไปบุรีเสียเถิดหวาอย่าให้เสีย |
ที่การทัพคับใจเหมือนไฟเลีย | มันเป็นเมียเขาก็รู้อยู่ทุกคน |
ที่เจ็บปวดรวดร้าวลงคราวนี้ | มเหสีหรือมิใช่มันให้ผล |
ถ้าแม้นขืนอยู่กับเมียจะเสียคน | คงจะป่นปี้ไปไหนจะคลาย |
ถึงมดหมอที่จะมารักษาเจ้า | มันก็เปล่าเสียยาพาฉิบหาย |
มึงอย่าทำเกเรเพทุบาย | คิดผันผายเอาไปส่งลงเภตรา |
พรุ่งนี้เช้ากูจะยกทัพบกก่อน | ไม่เจ็บร้อนหรือกระไรไฉนหวา |
แต่ทุกข์ทนได้ยากลำบากมา | ก็หมายว่าจะมาตีบุรีคืน |
มึงก็มาเจ็บไข้ให้ลำบาก | กูเหนื่อยยากเต็มประดาเหลือฝ่าฝืน |
เพราะหมายมึงเป็นที่หวังได้ยั่งยืน | จะได้คืนเมืองลังกาของตายาย |
แกด่าพลางทางลุกไปจากห้อง | พอแสงทองจวนจะสางสว่างฉาย |
แกเที่ยวเดินเสือกสนกระวนกระวาย | เรียกไพร่นายแสนยาพลากร |
กับสองท้าวเข้ามาปรึกษาสั่ง | ดูกำลังทวยหาญชาญสมร |
เป็นทัพหน้าพาพหลพลนิกร | เข้าราญรอนตีปากน้ำที่สำคัญ |
อันตัวกูจะกำกับเป็นทัพหลวง | จะคอยล่วงดับร้อนคิดผ่อนผัน |
แล้วได้ทีตีกลมระดมกัน | เอาให้มันแตกพ่ายกระจายพัง ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์พระมังคลาราช | ไม่ไสยาสน์นึกในพระทัยหวัง |
เห็นวุ่นวายฟั่นเฝือเหลือกำลัง | ไม่ยับยั้งตรึกตราระอาจริง |
แกคิดเห็นแต่จะได้เพราะใจโลภ | ความละโมภเต็มที่ดั่งผีสิง |
แต่เอาคนมาลำบากเหมือนทากปลิง | เที่ยวเกาะนิ่งล้มตายเสียหายพัน |
แกยังขืนวุ่นวายจะไปรบ | เขาสมทบทุกประเทศทั่วเขตขัณฑ์ |
ตั้งแต่ไปรบรุกเข้าบุกบัน | แทบชีวันจะไม่รอดตลอดมา |
แต่ครั้งนี้มิไปให้ได้ยาก | แสนลำบากชีวังจะสังขาร์ |
จึ่งต้องทำป่วยเจ็บเป็นเหน็บชา | แกก็ด่ามากมายหลายประการ |
แม้นจะไปรบสู้เป็นธูระ | ไม่ชนะเขาจริงหนาเหมือนว่าขาน |
ถึงแก่ด่าก็ต้องรับอัประมาณ | ดีกว่าการจะไปตายวายชีวง |
พระตรึกตรองต้องครางเหมือนอย่างไข้ | บาทหลวงไปด่าเปรี้ยงแทบเสียงหลง |
เป็นกระไรไข้พิษจะปลิดปลง | กอดอนงค์ไว้สิหวาอ้ายบ้ากาม |
แกเคืองขุ่นหุนหันให้หมั่นไส้ | แต่นี้ไปแสนเกลียดขี้เกียจถาม |
พลางลุกออกจากประตูแล้วดูยาม | ยังอีกสามนาทีจะสี่โมง |
แกเร่งเรียกพวกพหลพลรบ | มาสมทบทัพชวาด่าโขมง |
เอิกเกริกฤกษ์ดีจะสี่โมง | ยิงปืนโผงผางผึงเสียงตึงตัง |
เดินกระบวนถ้วนทั่วตัวทหาร | ก้องสะท้านเต็มประดาทัพหน้าหลัง |
ออกจากเขาเจ้าประจันสนั่นดัง | บาทหลวงนั่งบนรถบทจร ฯ |
๏ สารถีตีม้าอาชาชาติ | เผ่นผงาดรีบออกนอกสิงขร |
กระบวนบกยกอ้อมล้อมนคร | พลนิกรนับแสนแน่นอนันต์ |
ถือปืนตับคาบชุดอาวุธพร้อม | เข้าแวดล้อมรบสู้เป็นคู่ขัน |
พวกที่ถือแหลนหลาวทั้งเกาทัณฑ์ | เหน็บกริชสั้นหอกซัดเดินอัดแอ ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายนายด่านเมืองปากน้ำ | คนประจำเรียงรายชายกระแส |
เห็นข้าศึกเยียดยัดมาอัดแอ | ไปทูลแก่จอมนรินทร์ปิ่นประชา ฯ |
๏ ป่างพระศรีสุวรรณวงศ์ดำรงภพ | ขจรรบเรืองฤทธิ์ทุกทิศา |
ครั้นทราบข่าวข้าศึกพระตรึกตรา | พลางปรึกษาพระเจ้าหลานในว่านเครือ |
ว่าบัดนี้ข้าศึกกับฮึกหาญ | ล้อมปราการรอบรายทั้งใต้เหนือ |
พระสั่งให้นายทัพสำหรับเรือ | ขึ้นมาเจือทัพบกจะยกไป |
แล้วตรัสกับหน่อนรินทร์สินสมุทร | เจ้ารีบรุดออกทางท่าชลาไหล |
สุดสาครต้อนพหลสกลไกร | ยกออกไปทางบกวกถึงกัน |
หัสไชยไปตั้งอยู่ข้างเหนือ | เอาคนเจือนายไพร่รีบผายผัน |
วลายุดาวายุพัฒน์หัสกัน | ทั้งสามนั้นออกไปอยู่บูรพา |
อันตัวเราเล่าจะไปข้างทักษิณ | พร้อมกันสิ้นเผ่าพงศ์พระวงศา |
แล้วตรัสถามครูพักตร์จักรา | ว่าท่านอาจารย์เจ้าช่วยเป่ามนต์ |
ตามวิธีที่ได้รู้ดูกำกับ | จงแต่ทัพไว้ให้ทั่วตัวพหล |
จงประสิทธิ์ฤทธิ์เดชข้างเวทมนตร์ | ให้คงทนแคล้วคลาดซึ่งสาตรา ฯ |
๏ ฝ่ายอาจารย์ผู้ชำนาญทางกสิณ | เอาขมิ้นมาเสกลงเลขผา |
แจกไปทั่วตัวคนเป่ามนตรา | ตามตำราที่ได้รู้ทั้งอยู่คง |
แล้วว่าท้าวเจ้าแผ่นดินปิ่นพิภพ | จะออกรบโดยหวังอย่างประสงค์ |
คงมีชัยอานุภาพปราบณรงค์ | ดังพระองค์คิดไว้คงได้การ |
ต่อสองโมงฤกษ์ดีกรีธาทัพ | ออกคอยรับข้าศึกที่ฮึกหาญ |
จัดพหลพลขันธ์ประจัญบาน | ออกข้างด้านหรดีจะมีชัย ฯ |
๏ จะกล่าวถึงมังคลานราราช | นึกถึงบาทหลวงด่าไม่ปราศรัย |
จึงจัดแจงแต่งพลสกลไกร | ยกตามไปโดยพลันมิทันนาน |
แต่จำเป็นจำใจไปด้วยแค้น | แกด่าแสนเจ็บอายหลายสถาน |
ครั้นมิไปเล่าก็ได้เป็นอาจารย์ | จะเดือดดาลสักเท่าไรในอุรา |
ต้องนิ่งไว้ในจิตถึงผิดชอบ | ตามระบอบกลัวจะขาดศาสนา |
ต้องยกทัพดับความตามออกมา | พอสุริยาเย็นคล้ำในอัมพร |
เดินกระบวนถ้วนทั่วตัวทหาร | ออกจากด่านเชิงชะวากปากสิงขร |
ฝูงกระทิงมหิงสาในป่าดอน | เที่ยวสัญจรในเวลาเมื่อสายัณห์ |
เดือนกระจ่างกลางฟ้าเวหาห้อง | จังหรีดร้องเรไรในไพรสัณฑ์ |
ระหริ่งแร่แม่ม่ายในอรัญ | กระต่ายผันเผ่นโผนโจนทะยาน |
พยัคฆ์ย่องมองเมียงเคียงขยับ | กระโจนจับเป็นภักษาด้วยกล้าหาญ |
ปะปีบเปรี้ยงเสียงร้องก้องกังวาน | ทั้งฝูงฟานโลดไล่ริมชายดง |
พระเร่งทัพขับพหลพลแสน | อเนกแน่นมาในป่าพนาระหง |
ทหารแห่เกณฑ์หัดจัตุรงค์ | ออกจากดงแดนเขาเจ้าประจัน |
ถึงทุ่งกว้างทางตรงวงเข้าด่าน | เสียงประสานพวกพหลพลขันธ์ |
ฟ้ากระจ่างแจ่มแจ้งด้วยแสงจันทร์ | แลเห็นท่านสังฆราชเดินนาดกราย |
ถือกระบี่ตรวจพลพหลหาญ | ดูอาการชุลมุนวุ่นใจหาย |
กับสองท้าวพ่อตาเสนานาย | เที่ยวเดินรายล้อมรอบขอบกำแพง |
พระมังคลาพากันเข้าบรรจบ | พลรบทวยหาญชาญกำแหง |
พอสังฆราชแลไปเห็นไฟแดง | ยังนึกแคลงทัพใครที่ไหนมา |
ครั้นเห็นพระมังคลาสานุศิษย์ | ที่แค้นจิตหายพลันกลับหรรษา |
เดินออกมาจูงหัตถ์กษัตรา | แล้วถามว่าเอ็งหายสบายบาน |
ยกพหลพลไพร่มาในค่ำ | ช่วยกันทำศึกสิหวาดั่งว่าขาน |
คงสมคิดศิษย์หายใจกูบาน | ดูอาการท้าวทั้งสองก็ว่องไว |
มิเสียทีดีครันในการศึก | เห็นตรองตรึกรู้ตำราอัชฌาสัย |
ถึงเป็นแขกดูมันคล่องทำนองใน | เห็นจะได้สิงหลไม่พ้นเรา |
แล้วโรคเอ็งเล่าก็หายสบายจิต | สมความคิดจริงแล้วมึงพอพึ่งเขา |
คงจะได้เขตแคว้นแดนของเรา | อย่าโศกเศร้าไปเลยหวาทั้งข้าไท |
อันลังกาฝาหรั่งในครั้งนี้ | จะเป็นที่เปรมปราได้อาศัย |
คิดกำจัดสัตว์บาปปราบพวกไทย | จับเสียให้สิ้นวงศ์พงศ์ประยูร |
ให้สมแค้นที่มันทำกูช้ำชอก | กูจะหลอกจับกินให้สิ้นสูญ |
เอาให้หมดญาติวงศ์พงศ์ตระกูล | ให้มันสูญอย่าให้เหลือไร้เยื่อใย |
พรุ่งนี้เช้ากูจะเข้าแหกเอาด่าน | สำเร็จการจับมันมาอย่าปราศรัย |
ปล่อยเสียเกาะจีนตั่งช่างเป็นไร | ให้มันไปอยู่กับท้าวเจ้าละมาน |
กูจะตั้งลังกาให้ผาสุก | จะดับทุกข์เอาให้เปรมเกษมศานต์ |
แล้วชวนพระมังคลาปรีชาชาญ | กินชัยบานเหล้าเข้มพอเต็มตึง |
แล้วเข้านอนด้วยกันหมดเอารถล้อม | มีผ้าอ้อมวงม่านเพดานขึง |
ให้ตีเกราะเคาะระฆังเสียงดังอึง | กลองกระดึงตีลั่นสนั่นไป ฯ |
๏ ฝ่ายพวกพลบนปราการชานสมุทร | อุตลุดเรียกกันเสียงหวั่นไหว |
ถืออาวุธนับหมื่นทั้งปืนไฟ | ทั้งหน้าไม้เสโลอีกโตมร |
พลดั้งคั่งคับก็นับแสน | อีกโล่แพนจัดเป็นคู่ธนูศร |
ทั้งแหลนหลาวยาวสั้นเคยราญรอน | อัสดรม้ารถคชคชา |
ล้วนธงเทียวเขียวแดงแสงสลับ | กระบวนทัพดาบเชลยเคยอาสา |
ฝ่ายตัวท่านครูพักตร์จักรา | นั่งบูชาเทพไทในไตรตรึงส์ |
พลีกรรมทำศาลาอ่านพระเวท | ตามไสยเพทเสาศาลเพดานขึง |
แล้วครูเฒ่าห้ามไพร่อย่าให้อึง | กว่าจะถึงฤกษ์พาเวลาดี ฯ |
๏ ป่างพระจอมนครินทร์ปิ่นกษัตริย์ | โองการตรัสแก่เสนาบดีศรี |
สุดแท้แต่ฤกษ์พาเวลาดี | จึ่งค่อยคลี่โยธาพลากร ฯ |
๏ ฝ่ายครูพักตร์จักราปรีชาฉลาด | ครั้นภาณุมาศแย้มเยี่ยมเหลี่ยมสิงขร |
เกือบจะสว่างรังสีรวีวร | ปักษาจรจากรังร้องวังเวง |
เสียงดุเหว่าเร้าเร่งพระสุริย์ฉาย | ออกบินรายเสียงเพราะดูเหมาะเหมง |
ไก่กระชั้นขันดังเสียงวังเวง | ก้องบรรเลงแข่งขานประสานกัน |
พออุทัยไตรตรัสจำรัสแสง | สว่างแจ้งในนภางค์ทางสวรรค์ |
ส่วนครูเฒ่าเข้าที่พิธีพลัน | เสกน้ำมันทางกสิณอภิญญาณ |
แล้วเรียกพวกพลไพร่จะไปรบ | มาสมทบแจกทั่วตัวทหาร |
มาพร้อมถ้วนทุกทัพรับประทาน | พระอาจารย์พรมพรำประน้ำมนต์ |
พอฤกษ์ดีตีฆ้องพร้อมกองทัพ | ให้โห่รับสามคราโกลาหล |
ยกเขยื้อนแสนยาพลาหล | ออกเกลื่อนกล่นเกณฑ์หัดจัตุรงค์ ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายพระฝรั่งสังฆราช | จึงให้ฆาตกลองศึกนึกประสงค์ |
เรียกทหารเคยประจญรณรงค์ | ให้โบกธงตามตำแหน่งแจ้งคดี ฯ |
๏ ฝ่ายปลัดหัสเกนก็ตรวจทัพ | ออกคั่งคับพร้อมบรรดากะลาสี |
ทั้งสองท้าวเจ้าชวาเสนาบดี | มาอยู่ที่พร้อมกันดั่งสัญญา |
บาทหลวงสั่งแต่บรรดาโยธาหาญ | ให้เตรียมการนับหมื่นถือปืนผา |
แล้วเรียกพวกหัสกันวิลันดา | แขกชวาหอกคู่ทุกหมู่กอง |
ทหารพวกเขนโล่เมืองโกสัย | สองท้าวไทขี่ม้าพาผยอง |
เป็นทัพหน้าเดินตรวจทุกหมวดกอง | ตามทำนองแขกชวาเคยราวี |
บาทหลวงเฒ่าถือกระบี่ขึ้นขี่รถ | ที่ชั้นลดมีเสนาเป็นสารถี |
ใส่หมวกทองลงยาราชาวดี | ฝังมณีเนาวรัตน์จำรัสเรือง |
ใส่เสื้อสีตากุ้งดูรุ้งร่วง | ปักดอกดวงไหมทองละอองเหลือง |
คาดเข็มขัดเพชรพราวเหมือนเจ้าเมือง | อร่ามเรืองกรุ่งกริ่งหยิ่งพอดู ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระมังคลานราราช | นึกประหลาดในจิตคิดอดสู |
ดูตกแต่งเกินตัวเจียวขรัวครู | จะออกสู้ข้าศึกเห็นฮึกครัน |
แล้วขึ้นม้าตามหลังสั่งทหาร | ให้เตรียมการตัดรอนคิดผ่อนผัน |
เห็นเสียทีหนีไปเขาเจ้าประจัน | จงบอกกันให้ทั่วทุกตัวคน |
อย่าให้ข้าศึกอ้อมเข้าล้อมหลัง | ฉวยพลาดพลั้งกูก็เห็นไม่เป็นผล |
คิดอุบายถ่ายเทด้วยเล่ห์กล | จงแต่งคนใช้ชิดไว้ติดตาม |
พอฤกษ์ดีตีระฆังให้ตั้งโห่ | สำเนียงโกลาก้องท้องสนาม |
เดินทหารชาญณรงค์เข้าสงคราม | ยิงปืนหามแล่นดังเสียงตังตึง |
ทหารหน้ากล้ารบสมทบทัพ | ปล่อยปืนตับพร้อมพรั่งเสียงผางผึง |
พวกทัพไทยได้ทีตีตะบึง | ไล่ทะลึ่งหักหาญเข้าราญรอน ฯ |
๏ ฝรั่งรับขับพหลพลรบ | เร่งสมทบนายทหารชาญสมร |
ออกคั่งคับจับกุมตะลุมบอน | เข้าฟันฟอนตายกลาดดาษดา |
พวกทัพแขกกลับกลอกพุ่งหอกคู่ | เป็นหมู่หมู่แน่นรายทั้งซ้ายขวา |
ฝ่ายสองท้าวต้อนพหลพลชวา | เป็นทัพหน้าหักโหมเข้าโรมรัน ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระมังคลาปรีชาเฉลิม | คอยเพิ่มเติมทัพพหลพลขันธ์ |
บาทหลวงต้อนพวกอังกฤษเข้าติดพัน | ยิงปืนสั้นพร้อมเพรียงเรียงกันไป |
ถูกพหลพลไทยก็ไม่เข้า | พลางโห่เร้าพร้อมกันเสียงหวั่นไหว |
พวกฝรั่งตั้งพันแต่บรรลัย | พลไพร่บางเบาบรรเทาลง |
บาทหลวงแค้นแน่นในใจสลด | ระทวยระทดเสียเชิงละเลิงหลง |
จะได้ใครเข้าประจญรณรงค์ | มันทนคงเต็มประดาฆ่าไม่ตาย |
จำจะต้องถอยทัพไปยับยั้ง | ที่ริมฝั่งสาชลคิดขวนขวาย |
พิเคราะห์ดูแยบยลกลอุบาย | ทั้งไพร่นายบอกกันไปอย่าได้อึง |
ต่อเวลาค่ำคล้อยจะถอยทัพ | เร่งกำชับคนผู้ให้รู้ถึง |
ตามบังคับบัญชาอย่าให้อึง | แม้นรู้ถึงไพรีมิเป็นการ ฯ |
๏ ฝ่ายพระศรีสุวรรณวงศ์พงศ์กษัตริย์ | โองการตรัสปรึกษาบรรดาหลาน |
กับท่านครูจักราปรีชาชาญ | จะคิดอ่านเอาชัยฉันใดดี |
จับอ้ายพวกปัจจามิตรที่คิดร้าย | ขออุบายครูจักราศี |
จะจับอ้ายตัวการผลาญชีวี | จึ่งจะมีความสุขทุกทิวา ฯ |
๏ ฝ่ายครูเฒ่าเจ้าตำราปรีชาฉลาด | ที่คิดมาดยังไม่สมปรารถนา |
เพราะข้าศึกเล่าก็ยังอหังการ์ | ดูตำรายังไม่อ่อนต้องผ่อนปรน |
แล้วเคราะห์เขาเล่าก็ยังไม่ถึงฆาต | ถึงจะพลาดเสียท่าสักห้าหน |
ก็ยังไม่แค้นคับถึงอับจน | แต่จะป่นก็จำเพาะเพราะเคราะห์ดี |
ถึงจะเข้าหักหาญในการศึก | เห็นยังลึกถึงเขาน้อยจะถอยหนี |
ที่จะถึงอัปราจับฆ่าตี | ยังไม่มีเกณฑ์ลึกถึงตรึกตรอง |
พระทรงฟังครูเฒ่าเล่าถวาย | เรื่องทำนายที่ประมูลทูลฉลอง |
พระตรัสตอบโดยนึกที่ตรึกตรอง | หรือจะต้องคิดการสถานใด ฯ |
๏ ฝ่ายท่านครูผู้ชำนาญในการโลก | ศิษย์ปาโมกข์แจ้งเหตุข้างเพทไสย |
จึงทูลความตามที่แจ้งไม่แคลงใจ | ยังไม่ได้สมประสงค์เพราะวงศ์วาน |
แต่ควรจะรุกโรมเข้าโจมทัพ | ตีให้กลับแตกไปเข้าไพรสาณฑ์ |
เวลาค่ำใช้กลคนชำนาญ | ให้ทำคานทำสาแหรกแบกเสบียง |
ทีเหมือนจะล่าทัพกลับเข้าด่าน | ให้ทหารมาประชุมแล้วทุ่มเถียง |
ขนอาวุธสาตราออกมาเรียง | ว่าจะเลี่ยงหลีกไปในบุรินทร์ |
พวกข้าศึกคงจะนึกว่าเข้าด่าน | คงจะต้านทานไว้ดั่งใจถวิล |
แล้วแต่งพวกกองทัพจับไพริน | เอาหม้อดินค่อยทิ้งเข้าชิงชัย ฯ |
๏ ป่างพระจอมนคราบัญชาสั่ง | ให้ทำดั่งพระอาจารย์แกขานไข |
จงเร่งรัดจัดกันเข้าทันใด | ตามที่ในครูว่าอย่าช้าที |
พวกเสนามาสั่งสะพรั่งพร้อม | เอาคนอ้อมแอบไว้ในวิถี |
ตามบังคับบัญชาไม่ช้าที | พอฤกษ์ดีพลบค่ำให้ทำการ ฯ |
๏ ฝ่ายบาทหลวงทรวงร้อนอาวรณ์ถวิล | ไม่รู้สิ้นเคืองใจหลายสถาน |
พอเห็นไพร่นั่งเกลาเหลาไม้คาน | อลหม่านร้องเรียกกันเพรียกไป |
แกจึงบอกมังคลาสานุศิษย์ | มาช่วยคิดตัดทัพอย่าหลับใหล |
ช่วยตัดหลังตั้งรับกองทัพไทย | ตีให้ได้ปากน้ำที่สำคัญ |
จึ่งเรียกท้าวรายาเข้ามาสั่ง | คอยตัดหลังต่อแย้งให้แข็งขัน |
ก้าวสกัดตัดทางกลางอรัญ | ตีให้มันแตกไปทั้งไพร่นาย |
แกสั่งเสร็จจับกระบี่ขึ้นขี่รถ | พร้อมกันหมดพวกพหลพลทั้งหลาย |
อีกเสนาหมื่นขุนพวกมุลนาย | ออกเดินรายตามทางเมื่อกลางคืน ฯ |