- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
๏ ฝ่ายพระปิ่นภูวดลกัมพลรัตน์ | คิดจะจัดแจงคู่ให้สู่สมาน |
กับราเมศหน่อไทอันชัยชาญ | ได้สมานร่วมพงศ์กับวงศ์เรา |
พระเอื้อนอรรถตรัสกับมเหสี | จะต้องหานารีโฉมเฉลา |
ถึงให้ของสิ่งใดใดเห็นไม่เอา | ก็เห็นเขาไม่ประสงค์จำนงปอง |
ครั้นจะนิ่งเสียเล่าใช่เต่าตุ่น | เขามีคุณควรจะให้ธิดาสนอง |
ไว้เป็นสัมพันธมิตรข้าคิดตรอง | จึ่งจะต้องตามอย่างทางบุราณ |
มเหสีฟังคดีฉลองตอบ | พระคิดชอบผูกรักสมัครสมาน |
ฉันตรองตรึกนึกไปเห็นได้การ | ยังมีหลานลูกของน้องละอองตา |
เป็นบุตรีท้าวไทในจังหวัด | บุรีรัตน์เมืองสารันอันมหา |
พงศ์กษัตริย์ทรงฤทธิ์ผู้บิดา | นามสมญาอภัยนุสินนรินทร |
มเหสีชื่อประไพวิไลลักษณ์ | แต่ลูกรักนามประภาสุดาสมร |
แม่เขาเป็นน้องฉันร่วมมารดร | เมื่อภิเษกบังอรยังได้ไป ฯ |
๏ ฝ่ายพระปิ่นภูวดลกัมพลรัตน์ | ฟังนางกษัตริย์ทูลแจ้งแถลงไข |
พระจึ่งมีพจมานโองการไป | ข้านึกได้จริงแล้วเจ้าเยาวมาลย์ |
ดีแล้วน้องมันไม่ต้องไปเที่ยวหา | ได้พงศาพันผูกสืบลูกหลาน |
ทำอย่างไรจึงจะได้ให้กุมาร | เห็นรูปทรงนงคราญก็ครั้งเดียว |
แม้นชอบใจเราจะได้ไปสู่ขอ | แต่แม่พ่อนงลักษณ์สักประเดี๋ยว |
คงสำเร็จเสร็จประสงค์จำนงเจียว | ถึงบิดเบี้ยวไปอย่างไรคงไม่ฟัง |
มเหสีอัญชุลีสนองอรรถ | ที่ท้าวตรัสเห็นจะสมอารมณ์หวัง |
ด้วยมารดรท้าวอภัยอยู่ในวัง | ประชวรรั้งเรื้อมาสิบห้าปี |
แต่หาหมอรักษาวางยาหยูก | มันไม่ถูกโรคาหมอล่าหนี |
นางคิดได้ทูลพลันขึ้นทันที | พระอัยกีนางประภาป่วยมานาน |
ฉันคิดเห็นท่านครูเป็นผู้เฒ่า | จะเชิญเอาไปด้วยได้ช่วยหลาน |
ให้ไปดูโรคาพยาบาล | เป็นตะพานจะได้ไปในบุรินทร์ |
พระเห็นชอบตอบว่าถ้าเช่นนั้น | ไปเชิญท่านผู้สว่างทางกสิณ |
เข้ามาที่ปรางค์ชัยในบุรินทร์ | แกรู้สิ้นสารพัดได้จัดแจง |
เหวยสาวใช้ไปเชิญท่านครูเฒ่า | ว่าตัวเรามีธุระจะแถลง |
นางสาวใช้รีบไปแล้วชี้แจง | เล่าแถลงเชิญเข้าไปในพารา |
เป็นการใหญ่ใช้คุณเข้าไปเฝ้า | ท่านผู้เฒ่าแจ้งในที่ให้หา |
นางสาวใช้นำเข้าไปถึงปรางค์ปรา | ด้วยราชานับถือแกซื่อตรง |
ท้าวเชื้อเชิญพระอาจารย์คลานเข้าเฝ้า | แล้วก้มเกล้ากรุงกษัตริย์ราชหงส์ |
เธอปราศรัยแล้วก็ไขเนื้อความตรง | โดยประสงค์ชี้แจงแสดงความ |
คิดจะให้หน่อนราพ่อราเมศ | ได้คู่นางต่างนิเวศน์ขอไต่ถาม |
จะสมควรกันหรือไม่ท่านใคร่ความ | ในฤกษ์ยามเคยสังเกตแจ้งเหตุการณ์ ฯ |
๏ ฝ่ายนิกรมพรหเมศประจักษ์แจ้ง | ไม่เคลือบแคลงแกเห็นดีสี่สถาน |
คือจะได้ปราบอรินทร์ทมิฬมาร | อีกประการหนึ่งก็นางสำอางจริง |
ควรเป็นคู่สู่สมอุดมเดช | กับราเมศสมพงศ์ในวงศ์หญิง |
อีกอย่างหนึ่งจะได้เมืองรุ่งเรืองจริง | ยังอีกสิ่งจะได้ของที่ต้องตา |
คือกระบี่ที่วิเศษในเขตแคว้น | เสมอแม้นกับมณีดีหนักหนา |
ของแต่ครั้งตั้งเมืองสารันมา | พราหมณ์พฤฒาได้ในถ้ำอันอำไพ |
อาจารย์เจ้ากล่าวไว้ในตำรับ | จะได้กับเชื้อฝรั่งต่างวิสัย |
แม้นได้อาวุธสำหรับกลับเป็นไทย | ไม่มีใครต่อสู้ทั้งอยู่คง |
แกแจ้งสิ้นในตำราแล้วว่าขาน | คงสมการฝ่าละอองต้องประสงค์ |
ข้าขออาสาไปดั่งใจจง | เชิญพระองค์สั่งเภตราอย่าช้าที |
สมเด็จท้าวเจ้าบุรินทร์บดินทร์สูร | ได้ฟังทูลปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
อาจารย์เฒ่าทูลลาฝ่าธุลี | มาสู่ที่สำนักตำหนักจันทน์ |
แถลงเล่าราวเรื่องกับราเมศ | ว่าทรงเดชเจ้ากรุงไกรไอศวรรย์ |
เธอจะหานุชนางให้รางวัล | เมืองสารันนั้นอนงค์เป็นวงศ์เธอ ฯ |
๏ พระราเมศสุริย์วงศ์ทรงสดับ | ครูเล่ากับแจ้งคำนำเสนอ |
ให้อิ่มเอมเปรมในพระทัยเธอ | ด้วยครูเอออวยลงเห็นคงดี |
แล้วจึ่งว่าข้าแต่อาจารย์เจ้า | ทำไมเราจะพบประสบศรี |
แกจึ่งว่าเราต้องไปเป็นไมตรี | มเหสีของพระยาจะพาจร |
ทั้งท้าวไทก็จะไปกับพ่อด้วย | ไปเยี่ยมป่วยท่านย่าสุดาสมร |
ข้าจะเป็นแพทย์รักษาอย่าอาวรณ์ | ช่วยดับร้อนโรคภัยให้หายพลัน |
พระชื่นชอบขอบคุณการุญรัก | ไม่อายพักตร์พระเจ้าพี่ดีขยัน |
สนทนากับอาจารย์สำราญครัน | จนสุริยันเย็นดับลับพระเมรุ |
พระจันทรจรสว่างกระจ่างหาว | ดูดวงดาวรัศมีดั่งสีเสน |
อาจารย์เฒ่าแกสันทัดรู้จัดเจน | ที่ในเกณฑ์ดาราพยากรณ์ |
จึ่งชวนองค์กษัตรามาข้างนอก | แล้วชี้บอกดาวจำรัสประภัสสร |
ดาวดวงนี้อยู่หลังดาวมังกร | สำหรับองค์ภูธรจงแลดู |
แม้นสุกใสไพโรจน์สีโชติช่วง | เป็นรุ้งร่วงตำราทายจะได้คู่ |
แม้นแสงอ่อนไม่ประเทืองไม่เฟื่องฟู | สีหรุบหรู่ทายว่าไข้ไม่สบาย |
เป็นแบบอย่างมาแต่ครั้งเรื่องสามก๊ก | อาจารย์ฮกหลงกล่าวเล่าขยาย |
เอาไว้เป็นแบบฉบับสำหรับทาย | อธิบายข้อคำเป็นตำรา |
แม้นเราไปก็จะได้สมประสงค์ | เป็นมั่นคงจริงแท้แน่หนักหนา |
แม่นกว่าดูโชคชัยในชะตา | ข้างตำราจีนนี้เขาดีจริง |
แล้วชวนกันเยื้องย่างเข้าห้องหับ | ไประงับแต่พอหายสวายสวิง |
พลางเอนเอกเขนกนอนเหนือหมอนอิง | สนิทนิ่งก็พอหลับระงับไป ฯ |
๏ ครั้นรุ่งเช้าเจ้ากรุงเหมราช | ยุรยาตรจากแท่นทองอันผ่องใส |
เสด็จออกพระโรงคัลด้วยทันใด | เสนาในกราบก้มบังคมคัล |
พระจึ่งมีสิงหนาทประภาษตรัส | ให้เร่งจัดเรือจะไปไอศวรรย์ |
ทั้งเรือแห่เรือรบให้ครบครัน | จะไปเมืองสารันให้ทันที |
ขุนเสนาได้สดับข้อรับสั่ง | ออกมานั่งจัดหากะลาสี |
ให้เลือกหาต้นหนคนที่ดี | ไว้ลงที่เรือบัลลังก์ที่นั่งทรง |
เปลี่ยนรอกเสาเพลาใบใส่หางเสือ | ขัดสีเรือพระที่นั่งบัลลังก์หงส์ |
เอาแพรสีเขียวขำทำเป็นธง | เขียนรูปหงส์แจ้งความบอกนามเมือง |
ท้ายบาหลีที่ประทับรับเสด็จ | เอารักเช็ดปิดทองละอองเหลือง |
ปูพรมเจียมเรี่ยมงามอร่ามเรือง | แล้วตั้งเครื่องจอมกษัตริย์ขัตติยา |
จัดห้องหับที่สำหรับอนงค์สนม | ทุกหมู่กรมแต่งไว้หมดตามยศถา |
ทั้งข้าวของเครื่องเสบียงเลี้ยงโยธา | อีกน้ำท่าใส่เสร็จสำเร็จการ |
มาทอดท่าหน้าฉนวนตำหนักน้ำ | พร้อมประจำรายเรียงเคียงขนาน |
ฝ่ายพระจอมนคราปรีชาชาญ | เอื้อนโองการฝากนิเวศน์เขตนคร |
แก่เขยขวัญอันเป็นที่บำรุงรักษ์ | ประเสริฐศักดิ์แทนองค์พระทรงศร |
ให้ดูแลว่าขานการนคร | กว่าบิดรจะกลับมายังธานี |
จะพาน้องเจ้าไปดูคู่ประสงค์ | ให้เชื้อวงศ์จักรพรรดิกษัตริย์ศรี |
ท้าวสั่งเสร็จแล้วเสด็จจรลี | มเหสีนักสนมกรมใน |
กับราเมศท่านครูผู้วิเศษ | จากนิเวศน์เสด็จไปท่าชลาไหล |
พากันลงกำปั่นด้วยทันใด | สถิตในพระที่นั่งบัลลังก์ทรง |
พอฤกษ์ดีคลี่ใบขึ้นใส่รอก | ให้แล่นออกกำปั่นสุวรรณหงส์ |
ทั้งเรือแห่เรือป้อมเรือล้อมวง | ต่างแล่นตรงออกปากน้ำตามกันไป |
พวกต้นหนตั้งเข็มไปทักษิณ | ลมก็กินใบปลิวธงทิวไหว |
นางสาวสาวชาววังพวกข้างใน | ต่างดีใจชมปลาในสาคร ฯ |
๏ ฝูงกระโห้โลมาแลราหู | เป็นหมู่หมู่ว่ายเรียงเคียงสลอน |
ฉนากฉลามตามกันเที่ยวสัญจร | กุเราซอนว่ายซนปนอินทรี |
ตะเพียนทองท่องท้องชลาสินธุ์ | กระเบนบินดำวนแล้วด้นหนี |
ปลาวาฬใหญ่ผุดพ่นชลธี | ขึ้นลอยรี่ว่ายร่าล้วนปลาวาฬ |
เรือก็แล่นเลียบไปตามชายเกาะ | ตามละเมาะปูหอยลอยขนาน |
ทั้งหอยแครงแมงดาริมท่าธาร | ขึ้นเดินพล่านต่างต่างหอยนางรม |
พวกสาวสาวชาววังไม่เคยเห็น | เนื้อหล่อนเต้นทุ่มเถียงเสียงขรม |
บ้างก็ว่าฉันจะหาหอยอีรม | เอาไปชมเล่นสักไหที่ในวัง |
พวกนางสาวทึมทึกนึกจะหา | จับปูม้าดองไปให้หลายถัง |
ไปกำนัลมุลนายที่ในวัง | พากันนั่งชมปลาในวาริน ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ผู้ดำรงเหมราช | ท้าวประพาสในมหาชลาสินธุ์ |
ตามเกาะแก่งแห่งห้องท้องวาริน | ไม่รู้สิ้นในมหาชลาลัย |
สุริยงลงลับพยับฟ้า | พระจันทราแจ่มแจ้งส่งแสงใส |
น้ำค้างพรมลมชายสบายใจ | ภูวไนยชื่นชมภิรมยา |
ท้าวดำรัสตรัสเรียกเครื่องเสวย | ทั้งนมเนยของมัจฉมังสา |
พนักงานตั้งถวายท้ายเภตรา | พระตรัสเรียกหน่อนราธิบดินทร์ |
มาเสวยโต๊ะในท้ายบาหลี | เกษมศรีชื่นชมสมถวิล |
เรือก็แล่นเรื่อยมาในวาริน | พร้อมกันสิ้นแต่บรรดาพลากร |
ได้สิบห้าราตรีไม่มีทุกข์ | เกษมสุขภิญโญสโมสร |
เกือบจะถึงนคเรศเขตนคร | พระภูธรสั่งมหาเสนาใน |
ให้นำข่าวราวเรื่องไปแจ้งข่าว | จงบอกกล่าวแก่เจ้าท่าชลาไหล |
เสนารับอภิวันท์ด้วยทันใด | แล้วใช้ใบถึงปากน้ำที่สำคัญ |
พลางก็แจ้งเรื่องราวกับชาวด่าน | ว่าพระผ่านปิ่นพิภพสบสวรรค์ |
พระจอมวงศ์เหมราเสร็จมาพลัน | จะมาเยี่ยมทรงธรรม์มาตุรงค์ |
ขุนด่านแจ้งแต่งบอกให้มาใช้ | รีบเข้าไปนิเวศน์วังดั่งประสงค์ |
พวกถือบอกรีบไปดั่งใจจง | ควบม้าตรงวิ่งเหย่าเข้านคร |
ครั้นถึงที่นั่งลงส่งหนังสือ | เสนีอือแล้วก็รับจับอักษร |
คลี่ออกอ่านแจ้งการว่าภูธร | เจ้านครเหมราเสร็จมาเยือน |
รีบเข้าไปในพระโรงมิได้ช้า | ทูลราชาดีพระทัยใครจะเหมือน |
ทราบว่าได้หมอน้ำมนต์พลเรือน | ละม้ายเหมือนเทวดาทั้งยาดี |
พระตรัสพลางทางสั่งเสนามาตย์ | ให้แต่งราชรถทองละอองศรี |
ไปรับเสด็จเชษฐาอย่าช้าที | มเหสีสุริย์วงศ์พงศ์ประยูร |
อันตัวเราก็จะไปรับไทท้าว | พระปิ่นเกล้านครินทร์บดินทร์สูร |
แล้วเสด็จเข้าข้างในอันไพบูลย์ | บังคมทูลชนนีนางดีใจ |
ทั้งอนงค์องค์มิ่งมเหสี | ต่างยินดีชื่นจิตพิสมัย |
พระสั่งให้ท้าวนางจัดปรางค์ชัย | สำหรับพระภูวไนยจะพักพา |
ครั้นสั่งเสร็จพระเสด็จยุรยาตร | จากปรางค์มาศเร็วพลันด้วยหรรษา |
ขึ้นทรงรถภูวนาถให้ยาตรา | พวกเสนาแหนแห่ออกแจจัน |
กระทั่งถึงเมืองด่านชานสมุทร | พระแสนสุดปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
ถึงประทับยับยั้งพอกลางวัน | เห็นกำปั่นทอดรายชายคงคา |
พระให้จัดเรือบัลลังก์ที่นั่งครุฑ | ให้รีบรุดรับเสด็จพระเชษฐา |
ที่นั่งศรีม่านทองละอองตา | เรือกัญญาพร้อมพรั่งทั้งดั้งกัน |
แต่คู่ชักยักษ์กระบี่สีสลับ | ตามตำรับรับเสด็จเจ้าเขตขัณฑ์ |
ปักเครื่องสูงจามรทอนตะวัน | พร้อมทั้งบรรดาคนพลพาย |
ถึงประทับยับยั้งกำปั่นใหญ่ | เสนาในขึ้นบังคมประนมถวาย |
เชิญเสด็จทรงธรรม์แล้วบรรยาย | พระอนุชากราบถวายบังคมมา |
เสร็จประทับรับเสด็จอยู่เมืองด่าน | เชิญพระผ่านนคเรศองค์เชษฐา |
ป่างพระจอมนครินทร์ปิ่นประชา | เหมราทราบสิ้นพระยินดี |
พลางตรัสชวนราเมศพระหลานรัก | กับองค์อัครชายามารศรี |
ลงที่นั่งทั้งสิ้นต่างยินดี | กับเสนีพร้อมพรั่งทั้งอาจารย์ |
กระบวนแห่แตรสังข์ประดังเสียง | ประโคมเคียงดีดสีตีประสาน |
พลพายแซ่ซ้องก้องกังวาน | ประสานขานบอกยาวเป็นเหล่าไป |
เรือประเทียบเรียบเรียงเคียงเป็นคู่ | สะพรั่งพรูในมหาชลาไหล |
เรือตำรวจรายเรียงเคียงกันไป | ห้ามมิให้เรือเข้ามาเล้าลุม |
ถึงประทับยับยั้งที่เมืองด่าน | พวกเครื่องอานพร้อมตัวนั่งมั่วสุม |
กระบวนบกพร้อมพรั่งนั่งชุมนุม | เป็นกลุ่มกลุ่มรถรัตน์อัสดร ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมภพไกรอภัยนุสิน | ธิบดินทร์ภิญโญสโมสร |
เสด็จมากราบก้มประนมกร | เชิญภูธรเหมราไปธานี |
ท้าวกัมพลรับรสพจนารถ | เสด็จลีลาศทรงรถาทั้งมารศรี |
พระราเมศกษัตราทรงพาชี | พวกนารีขึ้นวอจรจรัล |
ฝ่ายนิกรมพรหเมศแกขึ้นแคร่ | ด้วยว่าแก่เดินไม่ไหวจะผายผัน |
พวกคนหามตามเสด็จเข้าเขตตัน | พลขันธ์เดินกระบวนทั่งทวนธง |
พลหอกถือหอกออกสะพรั่ง | กระบี่บั้งเงินทองของประสงค์ |
สะพายแหล่งแต่งตัวเดินประจง | แห่พระวงศ์อิศราเข้าธานินทร์ |
กษัตริยเจ้านครามาข้างหลัง | พร้อมสะพรั่งเสวกาจากท่ากระสินธุ์ |
สองกษัตริย์เสด็จมาถึงธานินทร์ | เชิญภูมินทร์เสด็จเข้าวังขึ้นปรางค์ทอง |
เข้าเฝ้าองค์ชนนีที่ปราสาท | บังคมบาทแล้วประมูลทูลฉลอง |
แล้วถามถึงโรคาฝ่าละออง | นางสนองกล่าวยุบลแต่ต้นไป |
ชนนีนี้เจ็บเป็นเหน็บแน่น | กินข้าวแค้นคอฝืนกลืนไม่ไหว |
นอนไม่หลับแบบบอบทั้งหอบไอ | ทั้งอกใจหวิวอ่อนหย่อนกำลัง |
แต่รักษาหาหมอมานับร้อย | โรคไม่ถอยกินยามากว่าถัง |
สิบห้าปีโรคเรื้อเหลือกำลัง | จะลุกนั่งมึนมัวตัวชรา |
แม่ดีใจว่าพ่อได้หมอวิเศษ | เคยสังเกตโรคภัยได้รักษา |
เดชะบุญก็จะถูกกินหยูกยา | ยังไม่ถึงเวราก็คงคลาย |
พ่ออุตส่าห์หาหมอมาดูแม่ | แม้นเขาแก้โรคามารดาหาย |
พอเดินเหินลุกนั่งประทังกาย | ไม่เสียดายเงินทองจะปองปูน ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์ประไพมเหสี | พาบุตรีมาเฝ้าปิ่นบดินทร์สูร |
พระบิตุลาปราศรัยอันไพบูลย์ | ตามประยูรสุริย์วงศ์เป็นพงศ์พันธุ์ |
พระชม้ายชายเนตรดูหลานรัก | ประไพพักตร์สวยสมทั้งคมสัน |
ดูผิวผ่องสองสีฉวิวรรณ | สารพันกิริยาก็น่าชม |
นัยน์ตาเราเล่าก็เคยเห็นผู้หญิง | ที่เพราพริ้งได้เป็นคู่เคยสู่สม |
ก็เป็นรองกัลยานี้น่าชม | ดูงามคมพิสมัยวิไลตา |
พระตริพลางทางลามาปราสาท | พระนางนาฏตรัสพลันด้วยหรรษา |
พรุ่งนี้เช้าเชิญพ่อรับหมอมา | ในปรางค์ปราชนนีที่ข้างใน |
พระรับสั่งนางพระยามาที่อยู่ | เชิญท่านครูเข้ามาแจ้งแถลงไข |
ถึงอาการนางพระยาด้วยอาลัย | โรคาไข้คนชราเป็นมานาน ฯ |
๏ ฝ่ายพระครูรู้แจ้งไม่แคลงจิต | คงสมคิดหน่อไทแล้วไขขาน |
จึ่งทูลว่าข้าจะขอพยาบาล | มิให้นานเนิ่นช้าอย่าปรารมภ์ |
ในเจ็ดวันคงหายเหมือนหมายมาด | จะหนุนธาตุในตำราแต่ยาขม |
แล้วจะต้องให้เสวยทั้งเนยนม | อย่าปรารมภ์หายแท้เคยแก้มา |
พระตรัสตอบชอบแล้วขอเชิญท่าน | ไปด้วยกันที่ปรางค์มาศปราสาทขวา |
เอาราเมศหน่อกษัตริย์พระนัดดา | ไปดูแก้วกัลยาในปรางค์ทอง ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมราชัยอภัยนุสิน | พระภูมินทร์จัดแจงแต่งสิ่งของ |
ให้ชาวเครื่องต้นทำไว้สำรอง | ล้วนข้าวของต่างต่างที่อย่างดี |
ทั้งต้มแกงพะแนงผัดจัดไว้พร้อม | ให้หม่อมหม่อมสาวสุรางค์ในปรางค์ศรี |
ไปตั้งเครื่องแต่ล้วนวงศ์พงศ์ผู้ดี | ถวายพระภูมีเมืองเหมรา |
วิเสทในไปเลี้ยงพวกหมื่นขุน | ทั้งนายมุลตามเสด็จพระเชษฐา |
เครื่องคาวหวานดีดีมีราคา | สามเวลาเลี้ยงดูทุกผู้คน |
ครั้นรุ่งเช้าจึงท่านท้าวกัมพลรัตน์ | กับหน่อกษัตริย์ครูวิเศษรู้เหตุผล |
ก็พากันเข้าไปในไพชยนต์ | แจ้งยุบลแก่ท่านเฒ่าเฝ้าทวาร |
บอกเข้าไปในปรางค์ทูลนางนาฏ | ให้พระญาติรีบออกมาที่หน้าฉาน |
เชิญเสด็จทรงศักดิ์จักรพาล | เข้าสถานปรางค์มาศปราสาทชัย |
ท่านครูผู้เป็นหมอกับหน่อกษัตริย์ | ขึ้นปรัศว์ปรางค์ทองอันผ่องใส |
ต่างถวายอภิวันท์เป็นหลั่นไป | นางปราศรัยถามท้าวเจ้าบุรินทร์ |
พ่อหนุ่มน้อยนั้นคือใครผู้ใดพ่อ | เป็นเนื้อหน่อพริ้งเพริศดูเฉิดฉิน |
พึ่งรุ่นหนุ่มงามฟ้อลอออิน | น้องยุพินเกศพัฒน์พระนัดดา |
หรือต่างท้องแม่ไหนไม่รู้จัก | ประไพพักตร์น่าเอ็นดูพ่อหนูจ๋า |
ฝ่ายพระองค์ผู้ดำรงเหมรา | วัจนาทูลพลันไปทันที |
คนนี้คือนัดดาข้าพระบาท | รู้ไสยศาสตร์ล้ำเลิศประเสริฐศรี |
เป็นลูกศิษย์ท่านครูรู้คัมภีร์ | ปัญญาดีเคยรักษาพยาบาล |
นางชื่นชอบตอบคำร่ำเฉลย | โอ้หลานเอ๋ยโรคย่านี้กล้าหาญ |
ดีแล้วหนอพ่อช่วยมาพยาบาล | นางสำราญเปรมปรีดิ์ดีพระทัย |
แล้วตรัสกับท่านครูหมอผู้เฒ่า | โรคข้าเจ้านี้ท่านเห็นเป็นไฉน |
รับประทานหยูกยามาแต่ไร | มันก็ไม่ถูกต้องหรือกองกรรม |
เชิญท่านครูรู้ข้างคัมภีร์ไสย | รักษาได้เหมือนช่วยชุบอุปถัมภ์ |
หรือจะถึงอติสารบุราณกรรม | หมอมาทำกว่าร้อยไม่ถอยเลย |
ใช่ข้าเจ้านี้หนากินยายาก | ไม่ออกปากขมเฝื่อนไม่เชือนเฉย |
ถึงเค็มชื่นจริงหนาคะไม่ละเลย | โรคมันเฉยเรื้อรังไม่ฟังยา |
ฝ่ายนิกรมพรหเมศประจักษ์แจ้ง | ทูลแถลงโดยที่สุดไม่มุสา |
ฉันเป็นแพทย์ตรึกตรองใช้ลองยา | จะรักษาโรคให้หายวายอาวรณ์ ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมเวียงชัยอภัยนุสิน | สมถวิลบพิตรอดิศร |
หมอเขารับพยาบาลพระมารดร | มีสุนทรพจนารถประภาษพลัน |
แม้นสมหมายหายแท้แน่เหมือนกล่าว | เว้นแต่ดาวเดือนอุทัยในสวรรค์ |
อันของในพาราสารพัน | ไม่หวงกันเชิญรักษาพยายาม ฯ |
๏ ฝ่ายท่านครูผู้ชำนาญการรักษา | ถวายยาเข้าดีเกลือเจือมะขาม |
ละลายโอสถที่สองทองเนื้องาม | ยาที่สามแทรกโสมพิมเสนโรย |
ระงับลมที่อาวรณ์นอนไม่หลับ | ยาสำหรับกันตะคริวแก้หิวโหย |
เสวยให้ชื่นจิตที่อิดโรย | กับยาโปรยแก้ร้อนนอนสบาย |
หมอจัดแจงตั้งยาทูลลากลับ | ไปดูตำรับจะทำยามาถวาย |
ฝ่ายหน่อนาถราเมศพระเนตรชาย | ไปปะสายสมรมิตรจิตรัญจวน |
นางนั่งแนบแอบข้างพระเจ้าย่า | ดูกิริยาน่าจะรองประคองสงวน |
กำดัดหนุ่มกลุ้มฤทัยให้รัญจวน | แต่อักอ่วนพลางชะม้ายชายหางตา |
พอเนตรน้องต้องเนตรหน่อกษัตริย์ | สองประหวัดไปด้วยความเสน่หา |
ต่างตะลึงไปเป็นครู่เหมือนสุริยา | กับจันทราเดินมาปะปะทะกัน |
งามต่องามยามรักสมัครหมาย | หญิงกับชายเป็นที่เปรมเกษมสันต์ |
เคยเป็นคู่สู่สมภิรมย์กัน | ต้องพัวพันเข้ามาให้เป็นไมตรี ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมธิบดินทร์ปิ่นเหมราช | บังคมบาทคืนหลังไปปรางค์ศรี |
กับพระหน่อราเมศจรลี | ไปสู่ที่แท่นรัตน์ชัชวาล |
จึ่งถามไต่ไปด้วยกันในวันนี้ | เห็นบุตรีท้าวไทหรือไม่หลาน |
จะชอบใจหรือไม่ชอบอย่าหมอบกราน | จงแจ้งการไปเถิดพ่อลุงขอฟัง |
ฝ่ายพระหน่อนฤเบศเกศกษัตริย์ | ชุลีหัตถ์บังคมด้วยสมหวัง |
แล้วทูลองค์ทรงฤทธิ์ไม่ปิดบัง | สมเหมือนยังที่ประสงค์จำนงปอง |
แต่เห็นหญิงมาก็มากเป็นหลากหลาย | ไม่เหมือนสายสวาทนี้ไม่มีสอง |
ขอบารมีที่พึ่งเหมือนหนึ่งตรอง | ให้ได้ครองคู่เคียงเรียงอนงค์ |
กรุงกษัตริย์ตรัสว่าอย่าปรารภ | คงได้สบสมจิตคิดประสงค์ |
อย่าร้อนใจคงจะได้นางโฉมยง | ไปร่วมวงศ์ร่วมญาติเหมือนมาดมา |
ฝ่ายพระหน่อนฤบาลชาญสนาม | เห็นสมความมุ่งมาดปรารถนา |
ทั้งท่านครูผู้ประสิทธิ์วิทยา | สนทนากันทั้งสามตามสบาย ฯ |
๏ ข้างนงคราญมารดากรุงกษัตริย์ | ท่านหมอจัดแจงโอสถบดถวาย |
ที่โรคร้อนผ่อนเบาบรรเทาคลาย | ค่อยสบายพ่วงพีมีกำลัง |
พระอาหารหวานคาวเสวยได้ | นางรื้อไข้อ้วนพีมีมังสัง |
ที่เหน็บชาก็ค่อยหายคลายประทัง | นางลุกนั่งเดินยืนค่อยชื่นบาน |
ให้หมอเฒ่าเข้าไปมิได้ขาด | กับหน่อนาถพากันไปในสถาน |
มิได้เว้นทุกเวลาทิวากาล | จนเยาวมาลย์ดวงประภาสุมาลัย |
ค่อยคุ้นเคยพูดจากับราเมศ | พระบิตุเรศมาตุรงค์ไม่สงสัย |
จะพูดจาว่าขานประการใด | ก็ตรงไปตรงมาเหมือนวาจัง |
สองกษัตริย์ตรัสว่าพ่อราเมศ | รู้ไสยเวทดีหนักหนาหยูกยาขลัง |
อย่าเพิ่งตามภูวไนยกลับไปวัง | จงยับยั้งอยู่สักหน่อยจึ่งค่อยจร |
พระนางนาฏอัยกีว่าดีแล้ว | พ่อเหมือนแก้วแจ่มจำรัสประภัสสร |
กับท่านครูอยู่อีกหน่อยจึ่งค่อยจร | ได้พักผ่อนตรึกตรองสนองคุณ |
ชีวิตรอดครั้งนี้เหมือนเกิดใหม่ | อย่าเพ่อไปขาดเหลือจะเกื้อหนุน |
ให้สมกับที่ท่านมาช่วยการุญ | พอฉันอุ่นอกใจให้หายดี ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมนครินทร์ปิ่นเหมราช | เห็นสมมาดคิดไว้ไม่หน่ายหนี |
เขาเกาถูกที่คันขยันดี | ท้าวเปรมปรีดิ์ชื่นชอบตอบสุนทร |
ตามแต่องค์ชนนีจะโปรดเกล้า | ท่านครูเฒ่ากับพระหลานชาญสมร |
ยังไม่โปรดที่จะให้ไปนคร | สุดแท้แต่มารดรจะโปรดปราน |
แต่ตัวฉันจะทูลลาช้าไม่ได้ | อันเวียงชัยขอบเขตประเทศสถาน |
นี้มักเกิดศึกเสือเหลือรำคาญ | จึงอยู่นานไม่ใคร่ได้ให้อาวรณ์ |
วันพรุ่งนี้จะทูลลาฝ่าพระบาท | พระมาตุราชจงภิญโญสโมสร |
ขอฝากหลานกับท่านครูคู่นคร | พระมารดรตรัสว่าอย่ากังวล |
เป็นธุระมารดาสารพัด | จะปรนนิบัติให้สุขาสถาผล |
พ่ออย่าได้ห่วงหลังเป็นกังวล | จงจรดลไปก่อนอย่าร้อนใจ |
เมื่อหายดีแล้วจะกรีพยุหบาตร | ไปส่งราชนัดดาอัชฌาสัย |
ท้าวรับรสพจนาทูลลาไป | ปราสาทชัยที่ประทับกับอาจารย์ |
จึ่งปรึกษาว่าจะขอต้องรอไว้ | ค่อยลูบไล้ดูท่าก่อนหนาหลาน |
ฝ่ายท่านย่ารักใคร่คงได้การ | จะหักหาญขอสู่ดูไม่ควร |
เสียแรงเราทำคุณการุญรัก | มาฟูมฟักหมกมุ่นอย่าหุนหวน |
เข้าข้างในได้ทุกวันอย่ารัญจวน | ค่อยโอดครวญกับย่าเจ้าเยาวมาลย์ |
แม้นขัดสนจนใจเร่งให้ข่าว | บอกเรื่องราวลุงจะมาช่วยว่าขาน |
จึ่งขอสู่แต่พอแก้แผลรำคาญ | ได้แต่งการอภิเษกเป็นเอกองค์ |
ขอเดี๋ยวนี้เขาจะว่ามารยาผู้ใหญ่ | มาลูบไล้ให้บันเทิงละเลิงหลง |
แกล้งชักน้ำเข้าลึกนึกพะวง | อย่าให้ลงโทษผู้ใหญ่ดูไม่ดี ฯ |
๏ ฝ่ายนิกรมชมว่าพระองค์คิด | สมเหมือนจิตข้าตรองไม่หมองศรี |
เด็กต่อเด็กช่างเป็นไรทำไมมี | ใครไม่ตรีชาชั่วให้มัวมน |
ทำไม่รู้เราก็อยู่หาเห็นไม่ | ใครเขาให้มากักหาภักษ์ผล |
หนุ่มกับสาวเขาย่อมว่าเข้าตาจน | มิผ่อนปรนช่างเป็นไรใครจะอาย |
พระทรงฟังสังรเสริญท่านว่าชอบ | ต้องระบอบทำอย่างนี้ดีใจหาย |
ฉันจะจัดหมื่นขุนทั้งมุลนาย | เอาเรือรายไว้ที่ท่าสักห้าลำ |
สนทนากับอาจารย์เป็นการลับ | ท่านอยู่กับหลานช่วยชุบอุปถัมภ์ |
จะได้ดูได้แคะช่วยแนะนำ | พูดพึมพำกันจนแจ้งแสงอุทัย |
ครั้นรุ่งเช้าท่านท้าวกัมพลรัตน์ | จอมกษัตริย์จากปรางค์ปราที่อาศัย |
ไปทูลลาชนนีที่ข้างใน | นางอวยชัยจงพิพัฒน์สวัสดี |
แล้วท้าวอภัยนุสินนรินทร์ราช | กับนางนาฏผู้เป็นมิ่งมเหสี |
ทั้งสองข้างต่างภิวันท์อัญชลี | ด้วยเป็นที่รักใคร่อาลัยวอน |
ทั้งลูกหลานกัลยาก็มาพร้อม | ประณตน้อมในบพิตรอดิศร |
แล้วพากันทรงรถบทจร | ไปส่งพระภูธรทุกพระองค์ ฯ |
๏ ฝ่ายไทท้าวเจ้าบุรินทร์เหมราช | ภูวนาถลงบัลลังก์ที่นั่งหงส์ |
มเหสีเจ้าจอมหม่อมอนงค์ | พากันลงลำที่นั่งสะพรั่งพรู |
ตั้งกระบวนทวนธงประจงจัด | ฝรั่งยัดปืนใหญ่ใส่ดินหู |
ทหารยืนหยัดมองทุกช่องคู | จุดดินหูฟุบผึงเสียงตึงตัง |
พอฤกษ์ดีคลี่ใบขึ้นใส่รอก | ต่างแล่นออกดาษดาทั้งหน้าหลัง |
ประโคมแตรแซ่เสียงสำเนียงดัง | ต้นหนตั้งเข็มใหญ่ท้ายเภตรา |
ออกแล่นหลามตามคลื่นเสียงครื้นครึก | อึกทึกแล่นไปในมหา |
สาคเรศเขตแขวงตำแหน่งมา | พระพายพากินใบไปสำราญ |
ฝ่ายกษัตริย์ส่งเสร็จเสด็จกลับ | เป็นลำดับเข้าเขตประเทศสถาน |
ขึ้นมนเทียรแท่นรัตน์ชัชวาล | ในสถานที่สถิตดั่งจิตปอง |
จะกล่าวลำกำปั่นที่ผันผาย | ออกแล่นรายตามกันผันผยอง |
สิบห้าวันถึงเวียงชัยดั่งใจปอง | กษัตริย์สองเชิญเสด็จเข้าเขตคัน ฯ |
๏ อันบทเบื้องเรื่องนี้ยกไว้ก่อน | จะกล่าวย้อนถึงประเทศขอบเขตขัณฑ์ |
เมืองบุรำสำปะหนาสาละวัน | เป็นจอมจันตประเทศเขตนคร |
เลี้ยงคนดีมีวิชาที่กล้าหาญ | ชำนิชำนาญข้างปล้นคนสยอน |
ถืออาวุธหอกขวานเที่ยวราญรอน | ตามนครน้อยใหญ่หลายหัวเมือง |
เจ้าพาราชื่อกาลิดมุหงิดแขก | รูปร่างแปลกชาวพารานัยน์ตาเหลือง |
กินของดิบแกะห่านทั้งบ้านเมือง | ใส่เสื้อเหลืองหมวกหนังทั้งบุรินทร์ |
มีขวดแก้วห่อผ้าใส่ยาสะกด | ใส่กล้องจดเป่าไปดั่งใจถวิล |
แม้นคนเมาเข้าไปได้ในบุรินทร์ | เก็บเอาสิ้นสินทรัพย์แล้วกลับไป |
ไม่ต้องการบ้านเมืองเอาแต่ของ | กับเงินทองรวบรุมใส่ตุ่มไห |
แล้วก็ยกหาบหามตามกันไป | ไม่มีใครต่อสู้มันอยู่คง |
กำเริบใจไปปล้นทุกหนแห่ง | ตามเขตแขวงตีกระจุยเป็นผุยผง |
เที่ยวดั้นดัดลัดมาตามป่าดง | มันยกตรงเข้ามาเมืองสารัน |
พวกชาวด่านชั้นนอกบอกหนังสือ | ให้คนถือรีบเข้าไปไอศวรรย์ |
เสนาทราบกราบก้มบังคมคัล | พระทรงธรรม์ทราบอักษรร้อนพระทัย |
จึ่งตรัสสั่งแต่บรรดาโยธาหาญ | ให้เตรียมการป้องกันอย่าหวั่นไหว |
เอาปืนผาจุกช่องกองฟืนไฟ | เสนาในวุ่นวิ่งเป็นสิงคลี |
พระสั่งเสร็จแล้วเสด็จเข้าปรางค์รัตน์ | โองการตรัสกับพระมิ่งมเหสี |
มีข้าศึกฮึกโหมมาโจมตี | พวกด่านมีบอกมาเวลาเย็น |
พวกนางในได้ฟังรับสั่งตรัส | แจ้งรหัสตัวสั่นเหมือนฝันเห็น |
นางโศกเศร้าโศกาน้ำตากระเด็น | พวกที่เป็นเจ้าจอมหม่อมอยู่งาน |
คิดจะหนีกลัวผีไปไม่รอด | ลงนั่งกอดเข่าทุกข์เรียกลูกหลาน |
ให้ยักย้ายเงินทองของตระการ | ทั้งโต๊ะพานฝังพลันเสียทันที |
พอพลบค่ำคล้ำฟ้าเวหาหน | อ้ายพวกปล้นโห่หึ่งถึงกรุงศรี |
พวกขุนนางต่างวิ่งเป็นสิงคลี | ทูลภูมีบอกเข้าไปที่ในวัง |
อลหม่านบ้านช่องร้องกรีดกราด | อ้ายโจรดาษดามาทั้งหน้าหลัง |
ฝ่ายผู้คนบนป้อมพวกล้อมวัง | พร้อมสะพรั่งยัดปืนขึ้นยืนยิง |
พวกชาวเมืองตัวสั่นไหวหวั่นหวาด | ร้องกรีดกราดวุ่นวายทั้งชายหญิง |
หอบที่นอนหมอนผ้าหน้าเหมือนลิง | ออกวุ่นวิ่งตามกันดันเข้าวัง |
อ้ายโจรบุกรุกไล่เอาไฟแกว่ง | ล้อมกำแพงดาษดาทั้งหน้าหลัง |
พวกชาวเมืองพุ่งสาตราดาประดัง | พร้อมสะพรั่งแหลนหลาวทั้งง้าวทวน |
ถูกขาแข้งแทงฟันมันไม่เข้า | มันก็เป่ายาระดมตามลมหวน |
พวกได้กลิ่นยาวิ่งทิ้งง้าวทวน | เดินเซซวนหวนหิวหวิวหัวใจ ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมภพไกรอภัยนุสิน | พระภูมินทร์จากปรางค์ทองอันผ่องใส |
เสด็จออกพระโรงคัลด้วยทันใด | เสนาในทูลแถลงแจ้งยุบล |
ว่าทหารชาญณรงค์ออกยงยุทธ์ | ทิ้งอาวุธลมจับวิ่งสับสน |
มันเป่ายาเมาเบื่อเห็นเหลือทน | ทั้งผู้คนก็ไม่หาญออกราญรอน |
พระทรงฟังเสนายิ่งปรารภ | คิดอพยพที่จะไปในสิงขร |
ก็เป็นห่วงบ่วงใยในนคร | ยิ่งทุกข์ร้อนรำพึงตะลึงตะไล ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อบพิตรอิศเรศ | องค์ราเมศกับท่านครูรู้นิสัย |
เห็นได้ช่องตรองตริดำริไป | จะอาสาท้าวไทผลาญทมิฬ |
แล้วทูลว่าข้าแต่พระทรงภพ | อย่าปรารภร้อนในพระทัยถวิล |
ขออาสาล้างศัตรูกู้บุรินทร์ | ให้สูญสิ้นย่อยยับอัปรา ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ผู้ดำรงอาณาจักร | เธอถามซักเพราะยังคิดกังขา |
ยังไม่แจ้งว่าประสิทธิ์วิทยา | เห็นวิชาแต่ข้างหมอพอชำนาญ |
จึ่งตรัสว่าถ้าพ่อช่วยดับเข็ญ | ให้ราษฎร์เย็นปรีดิ์เปรมเกษมศานต์ |
จะแก้ไขอย่างไรพระอาจารย์ | แม้นเสียการท่วงทีหนีไม่พ้น |
ฝ่ายท่านครูผู้ประสิทธิ์ฤทธิเวท | ทูลพระองค์ทรงเดชเจ้าเขตขัณฑ์ |
ข้าจะตั้งพิธีพลีกรรม์ | ในค่ำวันนี้ให้สมอารมณ์ปอง |
จะขอแต่เครื่องบูชาเทพารักษ์ | เจ้าสำนักเถื่อนถ้ำในน้ำหนอง |
จะเชิญมารวบรุมช่วยคุ้มครอง | มิให้ต้องแพ้พ่ายกับไพรี |
กรุงกษัตริย์ตรัสว่าถ้าเช่นนั้น | ท่านป้องกันคุ้มได้แล้วไม่หนี |
พระตรัสสั่งเสนาอย่าช้าที | ไปจัดเครื่องบัดพลีมาให้ครู |
ผู้รับสั่งรีบไปได้มาพร้อม | ทั้งเครื่องหอมยำพล่าเป็ดปลาหมู |
กับของหวานผลผลามาให้ครู | ทั้งคนผู้ที่จะใช้ในนคร |
ฝ่ายพระหน่อราเมศเกศกษัตริย์ | ออกมาจัดพวกทหารชาญสมร |
ถืออาวุธเสโล่แลโตมร | นั่งสลอนเตรียมเสร็จสำเร็จการ ฯ |
๏ ฝ่ายท่านครูผู้ประสิทธิ์ฤทธิเวท | สำแดงเดชทูลลามาหน้าฉาน |
เข้านั่งในที่สงัดตัดรำคาญ | อ่านโองการตามตำราบูชาเชิญ |
เทพไทในจังหวัดพิพัฒน์ผล | ทั่วสกลแผ่นหล้าเวหาเหิน |
มาช่วยระงับดับภัยให้เจริญ | แกเชื้อเชิญเสร็จสรรพนั่งหลับตา |
ตั้งสติแน่วตรงวงกสิณ | เป็นลมรินมืดมิดทุกทิศา |
พวกข้าศึกรายกันเข้าตั้งเป่ายา | รอบพาราป้อมปราการชานกำแพง |
ลมก็หวนป่วนปัดพัดไปพ้น | ไม่ต้องคนพวกทหารชาญกำแหง |
ที่อิดโรยโหยละห้อยค่อยมีแรง | บนกำแพงคนผู้ดูค่อยคลาย |
ที่มึนเมาหาวนอนร้อนในอก | พอเหงื่อตกก็ค่อยเบาบรรเทาหาย |
แต่ลุกนั่งยังไม่ตรงดำรงกาย | พระพายชายเป่าปัดพัดธุลี |
เป็นหมอกมัวทั่วไปในอากาศ | น้ำค้างสาดเย็นใจในวิถี |
พวกข้าศึกหนาวเหน็บเจ็บอินทรีย์ | ไม่อาจที่จะเป่ายานัยน์ตาพราย |
ลงนั่งเหงาหนาวในใจทำไฟผิง | บ้างก็วิ่งชุลมุนวุ่นใจหาย |
อ้ายนายใหญ่หนีไปนั่งกำบังกาย | ไม่สบายง่วงเหงาทั้งหาวนอน ฯ |
๏ ฝ่ายท้าวไทอภัยนุสินปิ่นกษัตริย์ | ขึ้นปรางค์รัตน์ทุกข์ทอดฤทัยถอน |
ไปอยู่ที่นงคราญผู้มารดร | ทั้งอัปสรสาวสุรางค์นางกำนัล |
มเหสีบุตรีนารีรัตน์ | พร้อมกษัตริย์บรรดาในไอศวรรย์ |
ฤดีดิ้นดั่งจะสิ้นชีวาวัน | ต่างโศกศัลย์โศกาทุกนารี |
บ้างกอดเข่าเจ่าจุกเสียงกุกกัก | ไม่อาจทักตาขาวราวกับผี |
ฝ่ายข้างองค์นงนุชพระบุตรี | แสนทวีพูนเทวษรัญจวนครวญ |
คิดถึงองค์ทรงเดชเกศกษัตริย์ | โทมนัสดิ้นโดยเฝ้าโหยหวน |
รับอาสาสู้เขาไยไม่ใคร่ครวญ | ถ้าฉวยจวนตัวภูมีหนีไม่ทัน |
เมื่อรูปทรงองค์เอวก็อ้อนแอ้น | ยังขืนแค่นอาสาฉวยอาสัญ |
ยิ่งตรองตรึกนึกขึ้นมายิ่งจาบัลย์ | สะอื้นอั้นอ่อนอารมณ์ระทมทวี ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายท่านครูผู้วิเศษ | ชำนาญเวทรู้สิ้นถิ่นวิถี |
ออกจากธาตุกสิณแกยินดี | ลุกมาที่หน่อกษัตริย์ขัตติยา |
คิดอ่านเปิดประตูไปเที่ยวไล่จับ | มันนอนหลับทุกคนเที่ยวค้นหา |
อย่าฆ่าตีชีวิตให้มรณา | พันธนาไว้จนเช้าให้ท้าวไท |
ฝ่ายพระจอมราเมศเกศกษัตริย์ | ขึ้นกัณฐัศว์เรียกทหารแล้วขานไข |
สั่งให้เปิดทวารแล้วคลาไคล | ยกออกไปนอกปราการชานกำแพง |
ไม่อึงอื้อถือแต่ไฟเที่ยวไล่ค้น | อ้ายโจรกรนหลับทั่วเนื้อตัวแข็ง |
กำลังหนาวหาวนอนทั้งอ่อนแรง | คว่ำตะแคงคุดคู้ไม่รู้ตัว |
อ้ายนายใหญ่เข้าไปซ่อนนอนในหลุม | เอาผ้าคลุมมิดชิดปิดจนหัว |
เครื่องอาวุธอยู่ข้างข้างไม่ห่างตัว | ให้มึนมัวหลับล้มไม่สมประดี |
พวกทหารจับมัดรัดเอาแขน | ผูกไว้แม่นคุมไว้มิให้หนี |
จับได้ทั่วตัวนายไพร่ผู้ดี | ตะโหงกมีทำไว้ใส่ทุกคน |
จับได้หมดพอสว่างกระจ่างแจ้ง | อรุณแสงส่องฟ้าเวหาหน |
โห่สนั่นลั่นไปทั้งไพร่พล | พร้อมพหลจัตุรงค์ตรงเข้าเมือง ฯ |
๏ สมเด็จท้าวเจ้าพิภพสบสมัย | ตกพระทัยเต็มประดาเห็นฟ้าเหลือง |
คิดว่าโจรจุดไฟเข้าในเมือง | ร้องเรียกเครื่องเตรียมที่จะหนีไป |
พวกสาวสาวชาววังร้องกรีดกราด | เอาผ้าคาดนมเข้าแบกเอาไห |
ใส่เงินทองของข้าวจะเอาไป | วิ่งขวักไขว่ตามกันดันทุรัง |
หลวงแม่เจ้าท้าวนางในปรางรัตน์ | เสียงอึดอัดแล้วก็หยิบเอาหีบหนัง |
ฉวยผ้าแพรพันพุงดูนุงนัง | ละล้าละลังเรียกหาพวกข้าคน |
ฝ่ายนางพวกท้องเวรเดนเขารุ | ฉวยได้ครุวิ่งหลามตามถนน |
เสียงร้องไห้อึงอู้อยู่ทุกคน | เที่ยววิ่งวนอยู่ในวังนั่งไม่ลง ฯ |
๏ ฝ่ายขุนนางกรมวังพวกข้างหน้า | เอากิจจาบอกเข้าไปดั่งใจประสงค์ |
ให้กราบทูลจอมกษัตริย์ขัตติย์วงศ์ | ว่าโจรแตกแหลกลงทั้งทัพชัย |
กษัตราราเมศจับได้สิ้น | พวกทมิฬมัดมาสิ้นดิ้นไม่ไหว |
นายทวารชั้นนอกบอกเข้าไป | ท่านข้างในทูลท้าวเจ้านคร ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมเวียงชัยอภัยนุสิน | ได้ทราบสิ้นตรัสโอ้สโมสร |
จับพระแสงตรีเพชรเสด็จจร | จากบรรจถรณ์ออกนั่งยังพระโรง |
พระหน่อนาถกับท่านครูผู้วิเศษ | มาก้มเกศริมบัลลังก์ที่นั่งโถง |
แล้วทูลว่าจับได้อ้ายคนโกง | จอมจรรโลงจะโปรดปรานประการใด ฯ |
๏ ป่างพระจอมนครามหากษัตริย์ | โองการตรัสปรึกษาว่าไฉน |
จะเข่นฆ่าเสียทั้งนั้นหรือฉันใด | ตามแต่ใจท่านผู้เฒ่าเราจะทำ |
ฝ่ายอาจารย์พรหเมศได้สดับ | น้อมคำนับฉลองต่อที่ข้อขำ |
จะฆ่าฟันฉันใดให้ระยำ | ก็เป็นกรรมติดไปไม่จีรัง |
จงโปรดเกล้าเอาสัญญาบัญชาตรัส | เอาความสัตย์ปล่อยไปดังใจหวัง |
แม้นมันทำไปข้างหน้าว่าไม่ฟัง | จับมาขังฆ่าให้บรรลัยลาญ |
แต่ปางหลังครั้งโจมตีรมจักร | พระทรงศักดิ์ปล่อยไปสิ้นคืนถิ่นฐาน |
มันก็กลับดีไปไม่เป็นพาล | โปรดประทานชีวาอย่าฆ่าตี ฯ |
๏ พระจอมวังสั่งว่าถ้าเช่นนั้น | ไปพามันมาที่หน้าพลับพลาศรี |
ให้ตั้งความสัจจาอย่าช้าที | พระภูมีเสด็จมาพลับพลาพลัน |
แล้วตรัสสั่งเสวกาพวกข้าเฝ้า | ไปพาเอาอ้ายผู้ร้ายใจโมหันธ์ |
พระสั่งให้พวกล่ามมาถามพลัน | ว่าโทษทัณฑ์ผิดพลั้งแต่หลังมา |
จะโปรดปล่อยไม่สังหารผลาญชีวิต | อย่าได้คิดมุ่งมาดปรารถนา |
เที่ยวปล้นชิงนครังเหมือนหลังมา | จงให้สัตย์สัญญาจะปรานี ฯ |
๏ อ้ายนายโจรกราบก้มประนมสนอง | ข้าขอรองบงกชบทศรี |
แม้นทรงธรรมกรุณาไม่ฆ่าตี | พระคุณมีเหลือล้นคณนา |
จะให้สัตย์ปฏิญาณสาบานถวาย | ไม่คิดร้ายปล้นชิงจริงจริงหนา |
จะขอเป็นเกือกทองรองบาทา | กว่าชีวาข้าจะวายทำลายลาญ |
แม้นข้าศึกเหนือใต้มาติดต่อ | ข้าจะขอเป็นทัพหน้าเหมือนว่าขาน |
กว่าชีวิตวางวายทำลายลาญ | ขอสาบานถวายท้าวเจ้าบุรินทร์ ฯ |
๏ พระทรงฟังสั่งให้ทำน้ำพิพัฒน์ | เสนาจัดตามรับสั่งดั่งถวิล |
โปรดให้ถอดนายโจรใจทมิฬ | พร้อมกันสิ้นถือน้ำตามทำนอง |
แล้วให้เลี้ยงผลผลากระยาหาร | ทั้งคาวหวานหมดด้วยกันแปดพันสอง |
ข้าวบุหรี่มัสมั่นใส่จานรอง | แต่ล้วนของเอมโอชโภชนา |
ครั้นสำเร็จเสร็จการประทานของ | ทั้งเจียดทองเครื่องประทานพานสลา |
กับกระบี่ลายจำหลักฝักลงยา | ผ้าเช็ดหน้าปักทองล้วนของดี |
มันถวายคำนับอภิวาท | ในเบื้องบาทบงกชบทศรี |
แล้วทูลลาพาพหลแลมนตรี | กลับไปที่เมืองบ้านสำราญใจ ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมนฤเบศเกศกษัตริย์ | โสมนัสเปรมปรีดิ์จะมีไหน |
เสด็จขึ้นปรางค์มาศปราสาทชัย | เข้าข้างในแจ้งยุบลพระชนนี |
สรรเสริญท่านครูผู้วิเศษ | กับกษัตริย์ราเมศวิเศษศรี |
มาช่วยกันศัตรูกู้บุรี | ให้ไพรีย่อยยับอัปรา |
คุณของเขาคราวนี้เป็นที่ยิ่ง | จะหาสิ่งไรให้สมปรารถนา |
ทั้งเงินทองสิ่งใดในพารา | ต้องจัดหาให้เขาสมอารมณ์ปอง |
ทั้งรักษาพยาบาลในการไข้ | ยังมิได้แทนคุณการุญสนอง |
แล้วก็ช่วยปราบศึกต้องตรึกตรอง | คิดฉลองคุณประมวลให้ควรการ ฯ |
๏ ฝ่ายนางนาฏชนนีศรีสวัสดิ์ | พลางตอบอรรถลูกยาแล้วว่าขาน |
ควรจะไว้สืบพงศ์เป็นวงศ์วาน | ให้สมการในที่เขามีคุณ |
ควรจะยกดวงประภาธิดาเจ้า | ให้แก่เขาขาดเหลือช่วยเกื้อหนุน |
อย่าหนักหน่วงหวงแหนคิดแทนคุณ | เหมือนการุญให้เขาพึ่งจึ่งจะควร ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมภพไกรอภัยนุสิน | พระภูมินทร์ไม่จำนงทรงพระสรวล |
จึ่งตอบต่อข้อความตามกระบวน | ต้องใคร่ครวญให้รู้วงศ์พงศ์ประยูร |
จะหลับตายกลูกสาวให้เขาเสีย | เหมือนคนเตี้ยต่ำใช่เจ้าไอศูรย์ |
ฉวยสืบไปแม้นมิใช่วงศ์ตระกูล | จะอาดูรเดือดร้อนดั่งนอนเพลิง |
กลืนไม่เข้าคายไม่ออกต้องกลอกหน้า | เช่นเขาว่าแล้วสิเปิดเตลิดเหลิง |
ต้องสืบสวนครวญใคร่ดูในเชิง | ฉวยมันเหลิงไปสิกรรมทำอย่างไร ฯ |
๏ พระชนนีตอบคำเขาร่ำว่า | มีแต่พร้าขัดหลังเขายังให้ |
จะหาวงศ์เทวดาหรืออย่างไร | จึ่งจะให้ลูกสาวของเจ้าครอง |
ข้าก็ดูผิวพรรณในสัณฐาน | เห็นควรการอยู่แล้วเจ้าอย่าเศร้าหมอง |
ธรรมดาชาติเชื้อเป็นเนื้อทอง | จะทดลองลงหินหน้าศิลา |
แม้นทองเจือเนื้อหนังคงขวางลิ่ม | ดูก็นิ่มเนื้อนวลควรดอกหนา |
แม่เห็นเป็นหน่อกษัตริย์ขัตติยา | หรือเห็นตาคนแก่จะแปรปรวน |
นี่ก็หลานในไส้มิใช่ข้า | จะจัดหาของที่ชั่วเป็นตัวขมวน |
หัวก็หงอกแล้วเป็นไรไม่ใคร่ครวญ | แม่เห็นควรอย่างไรเห็นไม่เป็น |
บทบุราณที่ท่านเล่าว่าเจ้าเงาะ | นางรจนาเห็นเหมาะจึ่งเกิดเข็ญ |
ท้าวสามลขับไล่ตัดตายเป็น | เรื่องเขาเล่นจนทุกวันนั่นเป็นไร |
ชวนกันเยาะว่าเจ้าเงาะไม่งามแงะ | ไปไค้แคะค่อนว่าไม่ปราศรัย |
ครั้นเขาถอดรูปทองละอองใย | เออนั่นไพร่หรือผู้ดีต้องปรีดิ์เปรม |
อันเยี่ยงอย่างใครเล่าเขาจะว่า | บอกว่าข้าสุริย์วงศ์เป็นหงส์เหม |
เขาใช่บ้าใช่หลังได้นั่งเปรม | สุขเกษมอวดว่าข้าผู้ดี |
วิสัยเพชรแล้วจะสึกอย่านึกหมาย | ถึงตกร้ายเป็นอย่างไรไม่หายศรี |
รู้จักดอกทูนหัวชั่วแลดี | ไม่ต้องมีคนเสนอให้เอออือ ฯ |
๏ พระจอมวังฟังชนนีตรัส | ครั้นจะปัดเสียไม่รับเธอนับถือ |
ต้องโอนอ่อนผ่อนผัดพอฟัดครือ | จะว่าดื้อแก่ผู้ใหญ่ดูไม่ควร |
พระชนนีปรีดาว่าข้าเห็น | เขาคงเป็นชาติหงส์ทรงพระสรวล |
อย่าสงสัยไปไยเล่าเราก็ควร | จะประมวลคิดงานการวิวาห์ |
ภิเษกสองให้เขาครองเป็นคู่ชื่น | สำราญรื่นร่วมวงศ์เป็นพงศา |
อันตัวแม่เล่าก็แก่เฒ่าชรา | พอมีผาสุกชื่นทุกคืนวัน ฯ |
๏ ป่างพระจอมภพไกรอภัยนุสิน | เป็นสุดสิ้นรังเกียจการเดียดฉันท์ |
เสด็จออกสั่งมหาเสนาพลัน | ให้ไปทูลทรงธรรม์ท้าวกัมพล |
ว่าบัดนี้จะภิเษกพระราเมศ | ขอทรงเดชช่วยไปแจ้งทุกแห่งหน |
ตามบรรดาพงศาทุกตำบล | เชิญเสด็จจรดลมาพารา |
เสนารับโองการพระผ่านเกล้า | มาสั่งเหล่าพวกพหลพลอาสา |
ให้เร่งรัดจัดแจงแต่งเภตรา | จงรีบไปพาราเหมวัน |
ฝ่ายล้าต้าต้นหนพลทหาร | มาจัดการตามที่ขมีขมัน |
แล้วก็ออกนาวาจากสารัน | สิบห้าวันถึงจังหวัดปัถพิน ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมภูวดลกัมพลรัตน์ | ได้ทราบอรรถชื่นชมสมถวิล |
สั่งให้พวกเสนาในธานินทร์ | ไปทุกถิ่นนคเรศเขตนคร |
ถวายสารพระผู้ผ่านทุกพิภพ | เหมือนปรารภเขียนไปในอักษร |
เธอทราบสิ้นทุกนิเวศน์เขตนคร | เสด็จจรทุกพาราบรรดาวงศ์ |
ตั้งแต่จอมนรินทร์ปิ่นนักสิทธ์ | เสด็จสถิตพร้อมพรั่งดั่งประสงค์ |
การภิเษกเอกฉัตรขัตติย์วงศ์ | เหมือนกับองค์นรินทร์รัตน์กษัตรา ฯ |
๏ ครั้นจะจักจาระไนไปทุกแห่ง | ก็รู้แจ้งกันอยู่หมดตามยศถา |
ขอตัดบทลงเสียบ้างหลายครั้งครา | จะพรรณนาไปทุกแห่งเหมือนแกงเย็น |
มันคงจืดเต็มประดาไม่น่าซด | ต้องตัดบทเสียเถิดหนาว่าพอเห็น |
จะรกหูผู้ฟังอย่างข้าวเย็น | แล้วจะเป็นซ้ำซากปากโสมม ฯ |
๏ ถึงวันศุกร์ที่ประสงค์ส่งเจ้าสาว | ไปว่ากล่าวฝากฝังอย่างประถม |
พระราเมศเร่งรื่นชื่นอารมณ์ | แล้วบังคมชนนีชุลีกร |
นางพระยาลากลับไปปรางค์มาศ | พระหน่อนาถนั่งเรียงเคียงสมร |
พลางมีรสพจนาแล้วว่าวอน | เชิญสมรแม่อย่าหมางระคางแคง |
พลางเชยช้อนกรกระหวัดสัมผัสต้อง | พระนุชน้องป้องปัดยังขัดแข็ง |
ด้วยยังไม่รู้ประจักษ์การรักแรง | จึงพลิกแพลงผลักหัตถ์กษัตรา |
ประเวณียังไม่เคยได้เชยชิด | ให้หวั่นจิตสั่นระรัวกลัวนักหนา |
มีสุนทรวอนวงศ์พระภัสดา | ได้เมตตาก่อนเถิดองค์พระทรงธรรม์ |
น้องจะไปไหนพ้นพระผ่านเกล้า | โปรดทุเลาอย่าเพ่อวุ่นทำหุนหัน |
พระปลอบพลางทางว่าสารพัน | ประโลมขวัญนุชเจ้าลำเพาพาล |
สถิตแท่นเนาวรัตน์ประภัสสร | อย่าอาวรณ์ไปเลยนุชสุดสงสาร |
พลางจูงกรช้อนองค์พระนงคราญ | ขึ้นแท่นรัตน์ชัชวาลตระกองเกย |
ถนอมแนบแอบอุ้มแล้วจุมพิต | นางเบี่ยงบิดแล้วก็เบือนทำเชือนเฉย |
พระต้องเต้าเคล้าเคล้นเหมือนเช่นเคย | ถนอมเชยรับขวัญให้บรรทม |
สนิทแนบแอบขวัญต่างหรรษา | ชื่นอุราปลื้มเปรมเกษมสม |
พระนุชอ่อนผ่อนพองามตามอารมณ์ | ทะเลลมยมนาในสาคร |
เป็นระลอกกลอกกลบกระทบฝั่ง | ทวีปวังสาคเรศเขตสิงขร |
มัติมิงคล์กลิ้งกลอกนอกสันดอน | ฝูงมังกรเหรากุมภาพาล |
ขึ้นฟาดหางกลางมหาชลาสินธุ์ | บ้างโดดดิ้นท้องสมุทรผุดประสาน |
ทั้งกระโห้โลมาฝูงปลาวาฬ | ก้องสะท้านธรนินทร์ฝั่นสินธู |
ฉนากฉลามตามกันว่ายฟันคลื่น | แต่ล้วนพื้นพิมพาฝูงราหู |
ทั้งนาคาลอยล่องขึ้นฟ่องฟู | เป็นหมู่หมู่ผุดพ่นชลธี |
พายุพยับอับฟ้าเวหาหาว | ทั้งเดือนดาวมืดมัวทั่ววิถี |
ฟ้าก็ร้องเปรี้ยงเปรี้ยงเสียงสุนี | สะเทือนที่โลกาสุธาดล |
เมขลาโยนแก้วอยู่แวววับ | อสูรจับขวานขว้างกลางเวหน |
เสียงครื้นครึกกึกก้องร้องคำรน | พายุฝนโปรยปรายกระจายจร |
บุษบันยังไม่ทันขยายกลีบ | แมงภู่รีบคลึงเคล้าเฝ้าเกสร |
ลงกลิ้งเกลือกเยือกเย็นเข้าเฟ้นฟอน | อาบเกสรเชยประชดที่อดออม |
สองภิรมย์สมสนิทพิศวาส | ไม่เคลื่อนคลาดจากน้องประคองถนอม |
ระรื่นรินกลิ่นรสเหลืออดออม | ที่ตรองตรอมนั้นก็หายวายกังวล |
ดั่งได้ผ่านเมืองแมนแดนสวรรค์ | ในฉ้อชั้นฟากฟ้าเวหาหน |
สำราญรื่นชื่นใจในกมล | ดั่งสายชลในมหาชลาลัย |
อัศจรรย์นั้นมันบ่อยอร่อยรส | เหมือนแป้งสดซ่านกระเซ็นที่เย็นใส |
ถนอมแนบแอบอุ่นละมุนละไม | จนอุทัยส่องสีรวีวร ฯ |
๏ ฝ่ายกษัตริย์แต่บรรดามาอภิเษก | อติเรกทุกเวียงชัยประไภศร |
ครั้นเสร็จสรรพการประชุมสยุมพร | กลับนครคืนเขตนิเวศน์วัง |
ฝ่ายพระจอมภพไกรอภัยนุสิน | ไปส่งสิ้นเสร็จสรรพแล้วกลับหลัง |
เข้านครขึ้นปราสาทราชวัง | สถิตยังแท่นรัตน์ชัชวาล |
หยิบกระบี่คู่นิเวศน์เขตจังหวัด | สำหรับกษัตริย์ขัตติยามหาศาล |
ประสิทธิ์ให้เขยขวัญมิทันนาน | มอบสถานนคเรศนิเวศน์วัง |
ให้กษัตริย์ขัตติยาพระราเมศ | ผ่านนิเวศน์เวียงชัยเหมือนใจหวัง |
เป็นจอมเจ้านคเรศนิเวศน์วัง | แล้วตรัสสั่งพวกมหาเสนาใน |
ว่าตัวเราเล่าก็แก่ชราภาพ | จะปรามปราบยุคเข็ญเห็นไม่ไหว |
อันสมบัติราชฐานการเวียงชัย | เรามอบให้เขยสนองครองบุรินทร์ |
เขาหนุ่มแน่นแสนชำนาญในการยุทธ์ | ประเสริฐสุดได้สมอารมณ์ถวิล |
แทนตัวเราว่าขานการแผ่นดิน | ประเทศถิ่นนคราให้ถาวร |
เสนารับบังคมบรมนาถ | อภิวาทเชิญบพิตรอดิศร |
รับพระราชโองการผ่านนคร | พร้อมนิกรเสกสมภิรมยา |
ครั้นเสร็จการท่านพฤฒาทูลลากลับ | น้อมคำนับเจ้าบุรินทร์ปิ่นมหา |
ท้าวรางวัลเงินทองของนานา | พราหมณ์พฤฒาถวายคงดำรงคลัง |
ว่าตัวข้าชราภาพไม่รับไว้ | ขอลาไปฐานถิ่นถวิลหวัง |
ไม่ต้องการข้าวของในท้องพระคลัง | มีอยู่มั่งพร้อมเพรียงพอเลี้ยงกาย |
ป่างพระจอมนครินทร์ปิ่นกษัตริย์ | ท้าวเธอจัดแจงพหลพลทั้งหลาย |
ให้ไปส่งพระอาจารย์สำราญกาย | รีบผันผายไปยังเหมรา ฯ |
๏ จะกลับกล่าวราวเรื่องนรินทร์รัตน์ | หน่อกษัตริย์สมมาดปรารถนา |
ทูลลาท้าวเจ้าบุรินทร์ปิ่นประชา | ไปรัตนานคเรศนิเวศน์วัง |
กับอนงค์องค์มิ่งมเหสี | ถึงบุรีเสร็จสมอารมณ์หวัง |
แสนสำราญผ่านประเทศนิเวศน์วัง | ก็มั่งคั่งสุโขมโหฬาร ฯ |
๏ จะกล่าวถึงสังฆราชพระบาทหลวง | ค่อยสร่างทรวงอยู่ประเทศเขตสถาน |
เมืองโรมพัฒน์เจ้าพาราเรียกอาจารย์ | วิชาการสารพัดแกจัดเจน |
สร้างวัดวาต่างต่างอย่างฝรั่ง | หอระฆังยอดใส่ไม้กางเขน |
นั่งสอนศิษย์ชั้นเฉลียงเสียงออกเกน | ในบริเวณราบเลี่ยนเตียนสบาย |
เจ้าพวกแขกนับถือลือกันทั่ว | เข้าฝากตัวเข้ารีตเพราะจิตหมาย |
จะไปสวรรค์ชั้นบนพ้นอบาย | ต่างฝากกายฝากตัวทั้งกลัวเกรง |
เมื่อวันหนึ่งแกตรองมองดูศิษย์ | ที่ใช้ชิดซื่อตรงไม่โฉงเฉง |
ทั้งปากคำเก่งกาจชาตินักเลง | รู้กลัวเกรงสารพัดแกหัดปรือ |
เอาบวชเป็นบาทหลวงไว้ช่วงใช้ | ได้ต่างใจต่างตนคนนับถือ |
ชื่อดาวิดจิตปองไว้รองมือ | ด้วยมันถือกตัญญูรู้น้ำใจ |
เป็นที่สองรองตั้งไว้สั่งสอน | พวกนิกรที่มันหลงยังสงสัย |
แกอุตส่าห์บังคับให้กลับใจ | เข้าอยู่ในถ้อยคำโดยลำพัง |
อันตัวกูก็ชราจะหาสุข | ได้นั่งลุกพอสบายหายเจ็บหลัง |
เองช่วยเอาเป็นธุระปะทะปะทัง | จะได้ตั้งศาสนาให้ถาวร |
เป็นธรรมดาฝรั่งแม้นตั้งมั่น | คิดผ่อนผันเหมือนกับไฟสุมไม้ขอน |
ตั้งเกลี้ยกล่อมแต่บรรดาประชากร | การที่ร้อนอย่ากระทำให้ช้ำใจ |
เอาความดีปรีดาที่ผาสุก | สิ่งที่ทุกข์ดับเข็ญให้เย็นใส |
ถึงกูแก่ก็ยังคิดในจิตใจ | จะใคร่ได้ลังกาพาราคืน |
ประเดี๋ยวนี้มาอยู่ในโรมพัฒน์ | ไม่ข้องขัดสมประโยชน์ใช่โหดหืน |
แต่ไม่สุขในใจเหมือนไฟฟืน | ทุกวันคืนรุ่มร้อนไม่หย่อนคลาย |
ก็คิดอยู่จะชวนเขาท้าวทั้งสอง | ให้ปรองดองยกพหลพลทั้งหลาย |
ไปลังกาตีไทยให้กระจาย | จับเชื้อสายพระอภัยใจทมิฬ |
ฆ่าให้หมดเขยสะใภ้มิให้เหลือ | ในน้ำเนื้อเอาให้สมอารมณ์ถวิล |
แต่จนใจเขยท้าวเจ้าบุรินทร์ | มันไม่ผินหน้าตามาหาใคร |
เฝ้าคลอเคลียเมียสาวเป็นเต่าตุ่น | ยึดต้นทุนไว้มั่นไม่หวันไหว |
แม้นมันช่วยตามประสงค์กูจงใจ | ก็คงได้ลังกาอย่าปรารมภ์ ฯ |
๏ บาทหลวงเฒ่าชี้แจงแถลงกิจ | ให้สานุศิษย์เอาธุระการสะสม |
เจ้าดาวิดจึ่งว่าอย่าปรารมภ์ | ข้าจะก้มหน้าตรองฉลองคุณ |
แต่จะต้องลาไปจากใต้เท้า | เที่ยวสืบสาวหาเชื้อมาเกื้อหนุน |
จะไปเมืองปัตหรีเขามีบุญ | ข้าเคยคุ้นอยู่มาสิบห้าปี |
จำจะไปสั่งสอนให้อ่อนน้อม | แต่ทางอ้อมเกือบพาราปตาหวี |
แล้วเจ้าเมืองแข็งขันขยันดี | วิชามีต่างต่างทางประจญ |
แล้วเป็นชาติฝรั่งใหญ่ใจมุหงิด | อิทธิฤทธิ์ลือแจ้งทุกแห่งหน |
มีเมืองขึ้นมากมายหลายตำบล | ทั้งคงทนแทงฟันไม่พรั่นพรึง ฯ |
๏ บาทหลวงฟังคั่งแค้นแหงนชะแง้ | แค้นด้วยแก่โกโรโมโหหึง |
แต่ใจคอยังฉกรรจ์ไม่พรั่นพรึง | นั่งรำพึงถึงนิเวศน์เขตลังกา |
แกร้องเรียกพระเยซูไปอยู่ไหน | ทำไมไม่มาช่วยเล่าพระเจ้าขา |
รับเอาความอ่อนแอแก่ชรา | ให้ตัวข้ากลับเป็นหนุ่มให้พุ่มพวง |
จะได้ไปลังกาปราบข้าศึก | ให้สมนึกสมมาดของบาทหลวง |
แต่การบาปสาธุชนคนทั้งปวง | ก็ยังตวงตักเอาไปได้ทุกวัน |
ข้าพเจ้าเล่าก็เป็นถึงสังฆราช | ได้สอนศาสนาให้ไปสวรรค์ |
แต่ได้ความลำบากมามากครัน | ช่วยผ่อนผันเอาชราพากลับไป |
ให้ครัดเคร่งเปล่งปลั่งเหมือนยังหนุ่ม | จะโอบอุ้มศาสนาไม่ปราศรัย |
แกบ่นพร่ำร่ำว่าด้วยอาลัย | เคยเป็นใหญ่มาแต่ครั้งอยู่ลังกา |
ด้วยเทือกแถวตาปู่อยู่ที่นั่น | จึ่งผูกพันอยู่เป็นนิจริษยา |
แล้วหวนจิตคิดแค้นนางวัณฬา | เพราะอีบ้ากามพักรักผัวไทย |
จึงเสียเมืองเรื่องนี้กูแสนแค้น | ในอกแน่นดั่งใครเชือดให้เลือดไหล |
แล้วมิหน้าซ้ำอ้ายลูกก็จัญไร | กลับเป็นไพรีกูผู้อาจารย์ |
เสียแรงหวังสั่งสอนช่วยผ่อนผัน | ครั้นว่ามันได้อีสาวกับร้าวฉาน |
เพราะลูกไทยแกมฝรั่งจึงจังฑาล | เล่นอาจารย์ย่อยยับอัปรา |
แกหวนฮึกนึกแค้นแสนสาหัส | เหมือนใครตัดชีวังให้สังขาร์ |
นี่หากได้พึ่งเขาเจ้าพารา | พอได้ผาสุกสบายวายอาวรณ์ |
เดชะบุญหนุนนำเหมือนคำว่า | จะได้ตั้งศาสนาไว้สั่งสอน |
ให้รุ่งเรืองเบื้องหน้าสถาพร | ได้ดับร้อนพวกอาณาประชาชน |
เสียดายดินถิ่นที่เคยมีสุข | มาเกิดยุคเพราะพวกไทยได้สิงหล |
เพราะตัวกูแก่ชราเข้าตาจน | เหลือจะขวนขวายแก้มันแปรปรวน |
จำจะถอดเขี้ยวงาให้ดาวิด | มันเป็นศิษย์ผิดชอบได้สอบสวน |
การพูดจาก็พอใช้ในกระบวน | สำบัดสำนวนลูบไล้ได้หลายแคว |
การล่อลวงท่วงทีเห็นมีมาก | เชิงฝีปากสอพลอข้างตอแหล |
ทั้งดื้อด้านหลอกล่อพูดกอแก | มันผันแปรไปได้มากปากก็บอน |
ควรจะให้วิทยาตำราตำรับ | ที่ลึกลับกรุณังช่วยสั่งสอน |
ได้ไว้ชื่อไว้ลายกระจายจร | เที่ยวสั่งสอนอธิบายคล้ายกับครู |
แล้วเรียกหาดาวิดบาทหลวงน้อย | มาใช้สอยให้มันกล้าทั้งตาหู |
ให้พากเพียรเรียนตำรับฉบับครู | สอนให้รู้การเสน่ห์ทั้งเล่ห์กล |
กระบวนศึกยอกย้อนทั้งหลอนหลอก | การปลิ้นปลอกสารพัดไม่ขัดสน |
แกชี้แจงแต่งทัพกำกับพล | เข้าประจญประจัญบานการสงคราม |
ตั้งค่ายคูดูแลแพ้ชนะ | จงคิดกะการศึกอย่านึกขาม |
เองพากเพียรเรียนพิชัยสงคราม | ให้รู้นามรู้ทิศมิตรศัตรู |
กระบวนบกกระบวนเรือเสือแลช้าง | มีต่างต่างแมวหมาวิฬาร์หนู |
ครุฑนามนาคนาคนามตามที่ครู | เขามีอยู่ต่างต่างวางตำรา |
อันตัวกูรู้มาตำราตำรับ | เป็นแม่ทัพรบรุกทุกภาษา |
ประเดี๋ยวนี้ก็ชะแรแก่ชรา | ทั้งหูตานั้นเฟือนไม่เหมือนเดิม |
เองจงเพียรเรียนไว้ให้ตลอด | อุตส่าห์สอดสนใจไว้เฉลิม |
ปะท่านผู้มีบุญได้จุนเจิม | ช่วยส่งเสริมวาสนาในสามัญ |
วิชาดีคงเป็นที่เขานับถือ | เร่งฝึกปรือเช่นกูสอนคิดผ่อนผัน |
ทำให้เห็นแก่ตาพวกสามัญ | ดูเชิงชั้นคิดประกอบให้ชอบที |
เจ้าดาวิดคำนับรับว่าได้ | ขอเรียนไว้ในสำนักเป็นศักดิ์ศรี |
มันขยิ่มอิ่มเอมทั้งเปรมปรีดิ์ | ออกว่าที่สังฆราชไม่ขาดวัน ฯ |
๏ อันบทเบื้องเรื่องนี้ยกไว้ก่อน | จะกล่าวย้อนถึงลังกามหาสวรรค์ |
นางโฉมยงสุลาลีเจ้ามีครรภ์ | พร้อมพร้อมกันกับรำภาพะงางอน |
ข้างหนึ่งไปคลอดในเมืองรมจักร | ประไพพักตร์เพียงเทพอัปสร |
เป็นที่สุดบุตรีของภูธร | พระบิดรโปรดปรานประทานนาม |
ชื่อสาคเรศเพราะนิเวศน์มเหสี | อยู่ลังกาธานีศรีสยาม |
เพราะเสด็จไปณรงค์ทำสงคราม | ต้องข้ามตามสาชลในวนวัง |
ชันษาได้สิบสี่ปีมะเส็ง | ดูปลั่งเปล่งผิวฉวีดั่งสีสังข์ |
กำลังรุ่นโสภีเป็นศรีวัง | เชื้อฝรั่งปนไทยจึ่งไพบูลย์ |
ลูกสุลาลิวันนั้นก็สาว | เกิดคราวคราวกันที่ในมไหสูรย์ |
ชื่อเกสรสุมาลัยอันไพบูลย์ | ต่างเพิ่มพูนมีลูกเพราะผูกพัน |
แต่สินสมุทรกับผกาสุดากนิษฐ์ | ก็ร่วมชิดร่วมชมภิรมย์ขวัญ |
แต่บุตรไม่มีมาเข้าครรภ์ | จนพากันไปบุรีไม่มีเลย |
ถึงอรุณรัศมีที่ภิเษก | เป็นองค์เอกชูเชิดที่เปิดเผย |
ช่างไม่มีลูกเต้าเปล่าไปเลย | ใช่เพิกเฉยเสียเมื่อไรแต่ไม่มี ฯ |