- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
๏ ฝ่ายพระศรีสุวรรณวงศ์กษัตริย์ | สั่งให้ยัดปืนใหญ่ใส่ดินหู |
ลากมาไว้สองข้างหว่างประตู | พร้อมทุกหมู่พลรบสมทบกัน |
สินสมุทรวุฒิไกรไล่ทหาร | ออกจากด่านเร่งร้นพลขันธ์ |
เครื่องอาวุธสาตราสารพัน | เป็นทัพขันธ์กองหน้าเข้าราวี |
สุดสาครหัสไชยเป็นปีกขวา | วลายุดาวายุพัฒน์กษัตริย์สี่ |
เป็นปีกซ้ายยกออกนอกบุรี | องค์พระศรีสุวรรณวงศ์ทรงกระบอง |
เป็นทัพหลวงเร่งพหลพลรบ | คอยสมทบตามกันผันผยอง |
หัสกันเดินตรวจทุกหมวดกอง | ตามทำนองถือกระบี่ขี่อาชา ฯ |
๏ ฝ่ายพหลพลฝรั่งสังฆราช | ระดาดาษเร่งร้นพลอาสา |
ให้ยิงปืนครื้นครั่นเป็นสัญญา | พวกโยธาแกว่งขวานเข้าราญรอน |
ท้าวโกสัยไล่ทหารเข้าต้านต่อ | ไม่รั้งรอรบรับสลับสลอน |
ทั้งสองฝ่ายนายทหารต่างราญรอน | ก็ฟันฟอนกันตายวายชีวง |
พวกที่ปีนกำแพงบ้างแพลงพลาด | ชาวเมืองฟาดฟันกระจุยเป็นผุยผง |
บาทหลวงเร่งพวกทหารชาญณรงค์ | ให้รีบตรงกันเข้ารับกองทัพไทย ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์พงศ์นรินทร์สินสมุทร | แกว่งอาวุธครื้นครั่นสนั่นไหว |
กับวายุพัฒน์ราชบุตรวุฒิไกร | เข้าลุยไล่ทัพฝรั่งไม่รั้งรอ |
ท้าวโกสัยขับม้าออกหน้าทัพ | เข้ารบรับเปรียบเหมือนงูเข้าสู้หมอ |
พลไพร่ฝ่ายฝรั่งไม่รั้งรอ | บ้างแข็งข้อวิ่งกลมระดมยิง |
บาทหลวงเร่งสารถีให้ขับรถ | ถือไฟกรดวิ่งรี่ดังผีสิง |
แม้นเสียท่าพลิกแพลงจะแย่งชิง | ทหารวิ่งตรงมาดาประดัง |
แกเห็นหน้าวายุพัฒน์ใหัขัดแค้น | อ้ายนี่แสนเฉโกทำโอหัง |
แล้วร้องด่าว่าเหวยเฮ้ยระวัง | อ้ายฝรั่งปนไทยอ้ายศัตรู |
พระเป็นเจ้าท่านจะเอาไปนรก | คนสกปรกตีต้อนให้อ่อนหู |
มึงเป็นคนทุจริตเหมือนพิษงู | ออกมาสู้หมอแล้วไม่แคล้วเลย |
แต่บรรดาพวกมึงอย่าพึ่งนึก | เห็นจะลึกเต็มประดานิจจาเอ๋ย |
เป็นพวกล้างศาสนาจะพาเลย | ไปก่ายเกยไม้กางเขนก็เห็นความ |
เพราะมึงล้างศาสนาเข้าหาพ่อ | จะตอบต่อว่ากระไรขอไต่ถาม |
หรือพ่อมึงจะคุ้มบาปช่วยปราบปราม | จะไปห้ามขุมนรกไม่ตกเลย |
วายุพัฒน์ขัดข้องจึ่งร้องตอบ | ท่านว่าชอบจริงจังดั่งเฉลย |
นับถือพ่อบาปแท้หรือแกเคย | จะให้เลยไปเหมือนอย่างมังคลา |
กระนั้นหรือพระอาจารย์ชาญฉลาด | ให้ทิ้งญาติทิ้งวงศ์เผ่าพงศา |
นั่นหรือเป็นคนดีมีปัญญา | พระมังคลาไปสวรรค์อยู่ชั้นใด ฯ |
๏ บาทหลวงแค้นแหงนหน้าว่าอุเหม่ | อ้ายโว้เว้พูดมากถลากไถล |
เดี๋ยวนี้มึงอวดฝีมือถือข้างไทย | ก็จะให้พระเจ้าเอาชีวง |
อย่าพักพูดลอยหน้าว่ากับพระ | ที่จะละมึงไว้อย่าใหลหลง |
แล้วว่าเฮ้ยนายทหารชาญณรงค์ | เร่งโบกธงแม่ทัพจับเอาตัว |
อ้ายนี่ล้างศาสนาสารพัด | ทั้งเสียสัตย์เกะกะฉะเอาหัว |
มาเสียบไว้ให้รู้สึกสำนึกตัว | เอ็งอย่ากลัวเอาสิหวาดาประดัง |
ทหารฮึกนึกว่าเด็กเล็กเท่านี้ | มันจะดีมาอย่างไรเพราะใจหวัง |
เอาปืนยิงวิ่งเข้ามาดาประดัง | จนกระทั่งหน้าม้าร้องท้าทาย |
เองนี้หรือชื่อว่าวายุพัฒน์ | จะจับตัดหัวริบให้ฉิบหาย |
บาทหลวงขับรถฝรั่งกำบังกาย | แกมุ่งหมายแค้นขัดอัดอุรา |
คิดจะจับวายุพัฒน์ตัดศีรษะ | ให้สมกะแค้นจิตด้วยริษยา |
มันไม่เคยลบหลู่แต่อยู่มา | ในลังกาก่อนไรก็ไม่มี |
เพราะพวกพ้องของมันมาพันผูก | นับพ่อลูกปูย่าเป็นราศี |
มันจึ่งพูดดุดันขึ้นทันที | เป็นไรมีจับฆ่าให้สาใจ |
พลางเร่งทัพขับพหลพลฝรั่ง | ปืนประดังยิงกันเสียงหวั่นไหว |
ฝ่ายพระจอมสินสมุทรวุฒิไกร | เสนาในพวกรบสมทบพล |
ต่างเร่งกันเข้ารับทัพฝรั่ง | ตีประดังดาษดาโกลาหล |
บาทหลวงเห็นได้ทีให้รี้พล | ทำเดินวนเหมือนจะล่าเอายาโรย |
ใส่กล้องเป่าขึ้นไปในอากาศ | เป็นหมอกกลาดยาปลิวคนหิวโหย |
กระทบกลิ่นยาพิษให้อิดโรย | พอลมโชยอ่อนทั่วทั้งมัวเมา |
หกกษัตริย์ปรึกษาให้ล่าทัพ | ไปตั้งรับเรียงรายอยู่ชายเขา |
พอพักคนเหนื่อยอ่อนที่นอนเมา | ให้กินข้าวเจือจานเครื่องหวานมัน |
คนที่ถูกยาเบื่อครั้นเหื่อตก | ตัวสั่นงกดูเหมือนเพ้อละเมอฝัน |
พอสุริยนสนธยาลงสายัณห์ | พลขันธ์สร่างเมาบรรเทาคลาย ฯ |
๏ จะกล่าวข้างสังฆราชพระบาทหลวง | ครั้นเห็นดวงจันทร์กระจ่างสว่างฉาย |
ให้พักคนพลไกรทั้งไพร่นาย | ดูแยบคายกองทัพที่อัปรา |
ให้ตีฆ้องกลองฝรั่งระวังศึก | ฉวยเหิมฮึกจะลำบากยากนักหนา |
จนสั่งกันทุกหมวดเร่งตรวจตรา | รายรักษานั่งยามเหมือนตามเดิม |
แล้วเรียกพวกฝรั่งมาสั่งพร้อม | จงคอยด้อมดูศึกจะฮึกเหิม |
ประตูค่ายรายพลเอาคนเติม | มันจะเหิมฮึกมาเข้าราวี |
อย่าวางใจศัตรูเหมือนงูพิษ | จะแผลงฤทธิ์ระวังไว้ในวิถี |
มันก็คงกลับมาคอยราวี | ค่ำวันนี้มั่นคงอย่าสงกา |
แกสั่งเสร็จเข้าไปตรองมองตำหรับ | จะแต่งทัพแก้ไขให้หนักหนา |
พลางพลิกดูในฉบับตำหรับตำรา | พวกไทยมาครอบครองเป็นของตัว |
จนศาสนาอับปางเสียอย่างเยี่ยง | จะบ่ายเบี่ยงกำจัดคิดตัดหัว |
แม้นตายเสียจนจิตต้องคิดกลัว | ถ้าว่าตัวกูยังดีมีชีวง |
ที่จะให้ไทยอยู่อย่าหมายมาด | คงจะกวาดให้กระจุยเป็นผุยผง |
จะขอสู้กว่าชีวิตจะปลิดปลง | เอาให้คงคืนมาเหมือนวาจัง |
แล้วเรียกท่าวโกสัยมาในนี้ | เอาแผนที่บอกให้ดั่งใจหวัง |
เรียนตำหรับตำราเหมือนวาจัง | เองจงฟังเรื่องราวคิดเล่าเรียน |
ทั้งกลไกหลายอย่างทางเสน่ห์ | อุปเท่ห์หมื่นแสนในแผ่นเขียน |
แกจัดแจงบอกกล่าวให้เล่าเรียน | เองพากเพียรดูแลให้แน่นอน |
จะได้ช่วยกันคิดเป็นศิษย์หา | อันตำราที่ไม่รู้กูจะสอน |
จงตั้งเพียรเรียนเล่าอย่าหาวนอน | จะได้สอนให้เอ็งรู้ดูตำรา |
จงมาถือเพศฝรั่งข้างอังกฤษ | เป็นลูกศิษย์ซื่อตรงเหมือนวงศา |
กูก็ไม่เกียดกันไม่ฉันทา | มีวิชาอย่างไรจะให้เอง |
ท้าวโกสัยคำนับรับว่าได้ | กูบอกให้แล้วอย่าโกงทำโฉงเฉง |
เรียนเอาไว้กันตัวอย่างกลัวเกรง | ทางนักเลงมากมายหลายกระบวน |
ทั้งกลไกหลายอย่างทางวิเศษ | ทั้งมนต์เวทมีประกอบได้สอบสวน |
แล้วนั่งบอกที่จะใช้ในกระบวน | ให้ถี่ถ้วนตามตำหรับฉบับครู ฯ |
๏ ท้าวโกสัยได้วิชาของตาเฒ่า | ไปนอนเล่าฝึกสอนจนอ่อนหู |
พอได้หน้าลืมหลังตั้งแต่ดู | มันไม่รู้จนสักสิ่งยิ่งกริ่งใจ |
เวียนไปหาตาเฒ่าเจ้าตำหรับ | แต่พอกลับลืมสิ้นดิ้นไม่ไหว |
เวียนไปถามตามประสงค์ที่จงใจ | แกบอกให้ด่าป่นเจ้าคนดี |
มึงเรียนได้แต่ข้าวสุกคลุกปลาย่าง | กระดิกหางตรงใส่มิได้หนี |
ไม่คู่ควรกับวิชาคนกาลี | เป็นสุดที่จะบอกกล่าวเจ้าประคุณ |
ปัญญามึงถึงเอกเสกข้าวสุก | แกผุดลุกโกรธเกรี้ยวทั้งเฉียวฉุน |
สอนอ้ายพวกตาเหลืองมักเปลืองทุน | ไม่มีคุณมีค่าแกด่าพลาง |
เหมือนเอาแก้วออกมาล่อผูกคอหมา | เสียวิชาของดีคนผีสาง |
ให้ตำราตำหรับมันจับวาง | สักสองอย่างก็ไม่ได้จนใจจริง |
จะร่ำเรียนเขียนอ่านป่วยการแท้ | มันดีแต่บิดเบี้ยวเกี้ยวผู้หญิง |
ดูหน้าตาสารพันขยันจริง | ทั้งเพราพริ้งหมดจดดูงดงาม |
ไฉนหนอโง่นักอ้ายยักษ์เคอะ | ดูมันเปรอะเต็มระยำอ้ายส่ำสาม |
คล้ายกับอูฐลากรถชะงดงาม | ใช้ให้หามกระบุงใหญ่เลี้ยงไพร่พล |
นั่นแหละสมกับที่โง่อ้ายโคถึก | มาทำศึกนี้กูเห็นไม่เป็นผล |
แกจึงเรียกเสนาพลาพล | คิดจะปล้นเมืองปากน้ำที่สำคัญ |
ให้เตรียมเครื่องอาวุธทั้งชุดคบ | สำหรับรอบยิงแย้งให้แข็งขัน |
ปีกนกสับคาบศิลาสักห้าพัน | ระบองสั้นแหลนหลาวทั้งง้าวทวน |
อีกโล่ดั้งบังกายให้หลายอย่าง | ได้ท่าทางตีระดมเหมือนลมหวน |
พังประตูเข้าข้างบกยกกระบวน | เอาง้าวทวนแทงบุกเข้าคลุกคลี |
จู่เข้าไปอย่าให้มันมาทันรู้ | ทุกหมวดหมู่ทำศึกอย่านึกหนี |
ใครอย่าทำปัวเปียให้เสียที | เปรียบเหมือนผีล้วงกินให้สิ้นเชิง ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายในเมืองให้เตรียมทัพ | ไว้คั่งคับจุนเจือให้เหลือเหลิง |
ไม่ไว้ใจไพรีคงมีเชิง | มันละเลิงอาจหาญคอยต้านตี |
จำจะคิดผ่อนปรนเอาคนหาญ | ออกต้านทานคอยรับเหมือนทัพผี |
แม้นข้าศึกฮึกโหมเข้าโจมตี | เราจึ่งกรีธาทัพออกรับรอง ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ผู้ดำรงรมจักร | จะใคร่หักศึกใหญ่พระทัยหมอง |
พระนิ่งนึกตรึกไตรในทำนอง | ควรจะต้องแหกค่ายแม้นไว้นาน |
จะกำเริบเติบใหญ่เหมือนไฟติด | คงแผลงฤทธิ์เผาทุกสิ่งจริงนะหลาน |
นิ่งไว้ช้าอาก็เห็นไม่เป็นการ | คิดต่อต้านจับกุมตะลุมบอน |
แม้นได้ตัวสังฆราชอ้ายบาทหลวง | จะเบาทรวงราวกับทิ้งก้อนสิงขร |
อายนี่ตัวไฟเก่าเผานคร | ราษฎรเหนื่อยยากลำบากครัน ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อบดินทร์สินสมุทร | ให้แสนสุดเคืองแค้นแสนกระสัน |
จึ่งกราบทูลกับพระองค์ผู้ทรงธรรม์ | ขอผ่อนผันเป่าปี่ให้มีชัย |
มันคงหลับจับตัวสังฆราช | มาพิฆาตเข่นฆ่าอย่าปราศรัย |
พระเจ้าอาตรัสตอบว่าขอบใจ | พ่อคิดได้ดียิ่งจริงจริงเจียว |
อันตัวอาครานี้เหมือนผีบิด | เข้าบังจิตตรองตรึกนึกประเดี๋ยว |
ก็เคลิ้มไคล้ไปทุกสิ่งจริงจริงเจียว | แต่ขับเคี่ยวการณรงค์ทำสงคราม |
คิดอะไรไม่ตลอดมักออดแอด | มันแก่แรดหรือกระไรแม้นใครถาม |
มันเลอะเทอะเปรอะไปไม่ได้ความ | เป็นแต่ตามเขาไปไม่ได้การ ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมธิบดินทร์สินสมุทร | ปรึกษาสุดสาครน้องพวกพ้องหลาน |
กับท่านครูจักราปรีชาชาญ | เราคิดการใครจะเห็นเป็นอย่างไร ฯ |
๏ ฝ่ายครูพักตร์จักราพฤฒาเฒ่า | จึ่งก้มเกล้าทูลแจ้งแถลงไข |
คิดตัดรอนผ่อนศึกดั่งตรึกไตร | เห็นจะได้สมประสงค์เหมือนทรงตรอง |
พระทรงฟังจักราพฤฒาเฒ่า | ที่ร้อนเร่าไม่สบายค่อยวายหมอง |
เห็นจะสมคะเนนึกดั่งตรึกตรอง | จึงป่าวร้องพลไกรทั้งไพร่นาย |
ให้เอาดินจุกหูรู้กันทั่ว | ระวังตัวหมดด้วยกันอย่าผันผาย |
เร่งกินอยู่หลับนอนผ่อนสบาย | ทั้งไพร่นายแต่บรรดามาด้วยกัน |
เวลาดึกตัวเราจะเป่าปี่ | ขุนเสนีเร่งกำกับเป็นทัพขันธ์ |
เครื่องอาวุธยุทธนาสารพัน | จงเตรียมกันให้พร้อมคอยล้อมวง ฯ |
๏ ฝ่ายพระจอมธิบดินทร์สินสมุทร | ให้แสนสุดแค้นจิตพิศวง |
คอยฤกษ์ยามตามที่เรียนเสร็จเวียนวง | ดูดาวธงในฉบับตำหรับครู |
ขึ้นเมื่อไรก็จะได้ออกเป่าปี่ | จับไพรีเมื่อมันนอนให้อ่อนหู |
แต่เดินเวียนเพียรชะแง้คอยแลดู | เห็นรุบหรู่ยังไม่ชัดถนัดดวง |
พระจึ่งหยิบปี่แก้วอันแพรวพร้อย | มานั่งคอยในระหว่างหนทางหลวง |
ครั้นดาวขึ้นเด่นแดงเห็นแสงดวง | พระบวงสรวงเทพไทในวิมาน |
จะขอปราบแต่บรรดาประจามิตร | ทศทิศที่ในเขตประเทศสถาน |
เชิญมาช่วยป้องกันอันธพาล | อธิษฐานแล้วเสร็จสำเร็จปอง |
จึ่งจับปี่ของพระองค์ผู้ทรงศีล | แล้วเอาลิ้นใส่เลาเป่าปี่สนอง |
เปิดนิ้วดังวังเวงเป็นเพลงลอง | สำเนียงก้องโกญจนาทประภาษไป |
เสนาะดังสังวาสเสียงหวาดแว่ว | จะเจื้อยแจ้วจำเรียงส่งเสียงใส |
โอ้ดาวเคลื่อนเดือนคล้อยจะลอยไป | ลับพุ่มไม้มืดมัวทั่วนภดล |
หนาวน้ำค้างพร่างพรมเป็นลมหวน | เวลาจวนจะสว่างกลางเวหน |
คิดถึงเรือนเพื่อนสนุกมาทุกข์ทน | ต้องเวียนวนมาลำบากจากที่นอน |
มารบพุ่งยุ่งยิ่งต้องทิ้งมิตร | ที่เชยชิดพุ่มพวงดวงสมร |
แสนอาลัยไปลำบากเพราะจากจร | ยิ่งอาวรณ์ไม่รู้สิ้นถวิลครวญ |
ป่านฉะนี้เนื้อเย็นจะเป็นไฉน | สุมาลัยเจ้าจะคอยละห้อยหวน |
ต้อยตะริดติดตี่เสียงปี่ครวญ | พลางแหบหวนบรรเลงเพลงชวา ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายสังฆราชพระบาทหลวง | ทีจะง่วงไม่เป็นสุขลุกผวา |
ได้ยินเสียงปี่แก้วแว่ววิญญาณ์ | เรียกเสนาพวกฝรั่งอย่ารั้งรอ |
อยู่ไม่ได้แล้วหวาเรามันเป่าปี่ | เสียงเช่นนี้ฟังมาหนักหนาหนอ |
เร่งบอกกันพร้อมพรั่งอย่ารั้งรอ | มันเกิดก่อความยากลำบากจริง |
แล้วเรียกท้าวโกสัยไวไวหวา | ไปเภตราอยู่ที่นี่ผีจะสิง |
แม้นช้าไปตายหวาอย่าประวิง | แล้วแกวิ่งพากันกลับทั้งทัพชัย |
รีบไปลงนาวาพากันแล่น | ออกจากแดนลังกาเที่ยวอาศัย |
ตามละเมาะเกาะแก่งทุกแห่งไป | จนอุทัยส่องสีรวีวรรณ ฯ |
๏ จะกล่าวถึงมังคลานราราช | ครั้นภาณุมาศส่องสว่างทางสวรรค์ |
บรรทมตื่นฟื้นจากอาสน์สุวรรณ | ก็ผายผันจากห้องทองประจง |
ชวนพระนุชบุษบงสรงกระสินธุ์ | สุหร่ายรินอบละอองในห้องสรง |
น้ำกุหลาบซาบกระเซ็นเย็นทั้งองค์ | ครั้นเสร็จทรงสุคนธ์ปนอำพัน |
นางถวายอยู่งานคลานไปพัด | สองกษัตริย์อิ่มเอมเกษมสันต์ |
เสวยเครื่องโภชนาสารพัน | อยู่บนชั้นท้ายบาหลีที่สำราญ ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายสังฆราชพระบาทหลวง | ให้เศร้าทรงวุ่นวายหลายสถาน |
ครั้นรุ่งแจ้งแสงสีรวีวาร | ออกจากด่านแล่นมาในสาคร |
ถึงเกาะรายท้ายลังกาแวะอาศัย | แอบเข้าไปชายตลิ่งริมสิงขร |
เห็นกำปั่นทอดท่าริมสาคร | พวกคนนอนอยู่ในลำออกคล่ำไป |
ใช้เรือโล้กับล่ามไปถามซัก | ก็รู้จักพูดจาต่างปราศรัย |
แล้วจึ่งถามตามประสงค์ที่จงใจ | หรือใครใช้จึ่งมาหลงเที่ยววงเวียน ฯ |
๏ พวกในลำกำปั่นครั้นเขาถาม | จึงแจ้งความมารยาเป็นพาเหียร |
พระมังคลาพาหลงเที่ยววงเวียน | ตามเกาะเกียนไม่รู้แห่งตำแหน่งนาม |
แล้วว่ามากับใครที่ไหนเล่า | เที่ยวตามเจ้าหรืออย่างไรขอไต่ถาม |
พวกเรือใช้จึงแถลงแจ้งเนื้อความ | บาทหลวงข้ามหนีมาจากธานี |
จึงใช้ข้ามาดูให้รู้จัก | มาหยุดพักแล้วจะไปในวิถี |
เที่ยวหาคนรู้วิชาปัญญาดี | ชวนไปตีสิงหลปล้นเอาเมือง |
แล้วจะไปตามองค์พงศ์กษัตริย์ | แกเคืองขัดจะจับฆ่าให้ตาเหลือง |
แล้วจะกลับไปบุรีตีเอาเมือง | กูรู้เรื่องเสร็จสิ้นอย่ากินใจ |
พวกในลำกำปั่นครั้นได้แจ้ง | เขาแถลงเรื่องความตามสงสัย |
จึงใช้พวกนายทหารอันชาญชัย | ให้รีบไปทูลแถลงแจ้งคดี ฯ |
๏ พวกคนใช้ฝ่ายทหารลงเรือช่วง | ครรไลล่วงไปประณตบทศรี |
ทูลแถลงแจ้งข้อคดีมี | ว่าบัดนี้บาทหลวงแกล่วงมา |
ใช้ให้พวกนายฝรั่งมาฟังเหตุ | ว่าทรงเดชไปข้างไหนอย่างไรหนา |
แกลงกำปั่นใหญ่รีบไคลคลา | จากลังกาเที่ยวแสวงทุกแห่งไป ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระมังคลานราราช | รู้ว่าบาทหลวงมาตามความสงสัย |
จำจะหนีไปให้พ้นคนจัญไร | จึงสั่งให้ต้นหนพวกคนเคย |
ค่ำวันนี้รีบไปเสียให้พ้น | ไปกำพลเพชรเถิดหวาเสนาเอ๋ย |
แต่อย่าให้อื้ออึงเหมือนหนึ่งเคย | จงรีบเลยไปแต่ดึกเหมือนตรึกตรา |
เองรีบไปบอกให้กำปั่นทอด | เร่งเล็ดลอดล่วงไปไวไวหวา |
ดึงสงัดกูจะจัดแจงเภตรา | แต่บรรดาพวกเราจะเอาไป |
พระสั่งเสร็จเข้าในท้ายบาหลี | เล่าคดีกัลยาพลางปราศรัย |
วันนี้เราก็จะกลับกองทัพไป | แวะอยู่ในกำพลเพชรพอเสร็จการ |
บาทหลวงล่าทัพมาอยู่หน้าเกาะ | แกเจ้าเคราะห์วุ่นวายหลายสถาน |
แม้นปะเข้าเล่าก็เห็นไม่เป็นการ | จะรำคาญเคืองข้องให้หมองมอม |
พระคลึงเคล้าเยาวมิ่งวิมลพักตร์ | ถนอมชักชวนชิดสนิทถนอม |
เหมือนแมลงผึ้งคลึงเกสรเฝ้าวอนตอม | ถนอมหอมไม่รู้สิ้นถวิลครวญ |
พายุพยับอับฟ้าเวหาหาว | ทั้งเดือนดาวลับจมเป็นลมหวน |
สุนีร้องก้องเปรี้ยงสำเนียงครวญ | พิรุณชวนโปรยปรอยเป็นฝอยฟอง |
เมขลาโยนแก้วแววสว่าง | อสูรขว้างขวานลั่นผันผยอง |
ปลาอานนต์พ่นน้ำดังลำคลอง | เป็นฝอยฟองพุ่งพ้นชลธาร |
เขาพระเมรุเอนเอียงเพียงจะคว่ำ | ทุกเถื่อนถ้ำเปรื่องเปรี้ยงเสียงประสาน |
สกุณินบินร้องก้องกังวาน | เสียงประสานกาแกแซ่สำเนียง |
ฝูงเหมหงส์ลงถ้ำเที่ยวร่ำร้อง | ประสานซ้องแซ่ดงพลางส่งเสียง |
ชโลธาปลาร้ายขึ้นว่ายเรียง | กำปั่นเอียงดังจะคว่ำเป็นน้ำนอง ฯ |
๏ สองภิรมย์สมสนิทพิศวาส | ไม่ห่างอาสน์เฝ้ากระชิดสนิทสนอง |
จนเดือนเที่ยงเสียงครื้นคลื่นคะนอง | ประมาณสองยามย่ำในอำพน |
พวกนายท้ายบ่ายกำปั่นออกหันเห | จากทะเลเกาะท่าหน้าสิงหล |
สังเกตคุ้งมุ่งเมืองเพชรกำพล | ฝ่ายต้นหนตั้งเข็มเต็มชำนาญ |
ลมก็ส่งตรงมาเหมือนม้าห้อ | แล่นใบต่อบูรพาหน้าอีสาน |
จนแจ่มแจ้งแสงสีรวีวาร | แสนสำราญทั้งพหลพลไกร ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายสังฆราชพระบาทหลวง | ครั้นหายง่วงออกมาแลดูแขไข |
จวนจะรุ่งสุริโยอโณทัย | แกดูในนภางค์กลางโพยม |
เห็นดวงดาวเจ้าลังกาสีกล้าแข็ง | มีขอบแดงดูแต่ไกลดั่งไฟโหม |
แล้วเปล่งแสงโชติช่วงดั่งดวงโคม | จะหักโหมยากแท้ไม่แปรปรวน |
แม้นสีเศร้าเราคงได้ชัยชนะ | ก็จำจะหาอุบายคิดไต่สวน |
กลับไปเมืองโรมวิสัยคิดใคร่ครวญ | หาแต่ล้วนคนดีมีวิชา |
แต่แค้นใจมังคลาสานุศิษย์ | จะตามติดให้ได้ตัวชั่วนักหนา |
มันได้เมียลืมกูผู้ครูบา | ไม่รู้ว่าไปอยู่หนตำบลใด |
พอคนที่สืบข่าวเขารีบกลับ | มาคำนับชี้แจงแถลงไข |
ว่ามังคลาพาพหลพลไกร | ไปข้างไหนไม่รู้แห่งตำแหน่งทาง |
พบแต่เรือหลงทางอยู่กลางเกาะ | เที่ยวสืบเสาะแล่นลัดก็ขัดขวาง |
แต่ลอยแล่นเวียนวงหลงหนทาง | ใช่ขุนนางมีแต่ไพร่อยู่ในเรือ |
พอใช้ใบเกิดพายุระบุระบัด | กำปั่นซัดไปข้างใต้หรือฝ่ายเหนือ |
ไม่ปะกันทั้งหมดอดข้าวเกลือ | เที่ยวหาเนื้อเป็นเสบียงพอเลี้ยงกัน |
หางเสือหักจักรท้ายก็หายด้วย | คนเจ็บป่วยกลางทะเลเที่ยวเหหัน |
ข้าถามไต่ไม่ได้ความเที่ยวตามกัน | คนทั้งนั้นนอนกลาดดาษดา ฯ |
๏ บาทหลวงว่านั้นเป็นไรมิใช่หรือ | เพราะมันถือผู้หญิงมาจริงหวา |
เอาอีเมียเข้าชิดผิดตำรา | กูด่าว่ามันก็โกรธจะโทษใคร |
เขาว่าอีแม่รักมันชักชั่ว | พลอยอ้ายผัวได้ยากถลากไถล |
แม้นตามพบกูจะทำให้หนำใจ | ท้าวโกสัยมึงชะรอยปล่อยให้มา |
จนเสียทัพยับย่นออกป่นปี้ | มึงเห็นดีกับลูกเขยเลยหรือหวา |
ปล่อยให้ทำผิดฉบับตำหรับตำรา | ชอบแต่ฆ่ามึงเสียด้วยให้ม้วยมรณ์ |
แกฉุนโกรธเต็มประดาจนตาเหลือก | ถอดเอาเกือกตีผึงมึงแลสอน |
แล้วฉีกเสื้อเผาไฟไม่ให้นอน | ทั้งฟูกหมอนโยนไปในทะเล |
แล้วเรียกเหล้ามากินจนสิ้นขวด | สั่งให้ตรวจพลไกรใครไพล่เผล |
เอากฎหมายเดินทางกลางทะเล | ใครเกเรฆ่าให้บรรลัยลาญ |
แล้วสั่งให้ถอนสมออย่ารอรั้ง | เอาเข็มตั้งบูรพทิศติดอีสาน |
เกือบจะรุ่งรังสีรรีวาร | เร่งจัดการอย่าให้ช้าจะคลาไคล ฯ |
๏ ต้นหนรับจับคนขึ้นบนเสา | ให้ชักเพลาติดรอกออกไสว |
กะลาสีคลี่สายระบายใบ | จวนอุทัยส่องฟ้านภาภางค์ |
พอได้ลมพัดกล้ามาริ้วริ้ว | จับธงปลิวใบสะบัดไม่ขัดขวาง |
เรือก็แล่นใบขาวตามราวทาง | แลสล้างมิใช่น้อยกว่าร้อยพัน |
แวะเข้าตีบ้านเจ็กเมืองเล็กน้อย | ได้ข้าวกลอยเป็นเสบียงเลี้ยงพลขันธ์ |
ทั้งเป็ดไก่หมูปลาสารพัน | พอกินกันตามทางกลางทะเล ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายในพาราลังกาเกาะ | ทั้งปี่เพราะคนชวนกันสรวลเส |
เพราะรู้กลอุบายคิดถ่ายเท | ครั้นจวนเวลารุ่งคอยมุ่งมอง |
สินสมุทรหยุดปี่เสนีพร้อม | ให้ยกอ้อมไประวังทางทั้งสอง |
จับเอาคนนอนหลับทุกทัพกอง | อย่าโห่ร้องอื้ออึงคะนึงไป |
พวกทหารชาญณรงค์เคยยงยุทธ์ | แกว่งแต่ชุดถือง้าวยาวไสว |
ค่อยย่องเดินมิให้ดังระวังระไว | แอบเข้าไปค่ายหน้าชายสาคร |
ไม่เห็นคนพลไพร่ทั้งนายทัพ | หรือนอนหลับดอกกระมังบังสิงขร |
ทั้งฟืนไฟหายทั่วหรือมัวนอน | เป็นการร้อนพากันกรูจู่เข้าไป |
ไม่เห็นคนพลไพร่นายทหาร | ออกจากด่านรีบไปท่าชลาไหล |
ทั้งกำปั่นพันร้อยมันถอยไป | สืบไม่ได้กลับไปทูลมูลความ ฯ |
๏ ป่างพระศรีสุวรรณวงศ์พงศ์กษัตริย์ | โองการตรัสมันคงเวียนเป็นเสี้ยนหนาม |
เพราะไม่สมปรารถนาพยายาม | คงก่อความไม่รู้หมดเพราะคดโกง |
สังฆราชคนนี้มิใช่ชั่ว | มันเป็นตัวจัญไรอ้ายตายโหง |
ทั้งฉลาดปราดเปรื่องในเรื่องโกง | คนออกโคลงหัวมันเพราะปัญญา ฯ |
เราก็หมายตัดต้นจะโค่นเง่า | มันกลับยาวไปเสียได้อย่างไรหนา |
ไม่รู้สิ้นเหมือนฉบับตำหรับตำรา | ทั้งลูกยาหลานจะคิดไปติดตาม |
หรือกระไรใจคอของหน่อนาถ | มันร้ายกาจเหลือจะยากเป็นขวากหนาม |
แต่ทำศึกตรึกตราพยายาม | ก็กว่าสามสิบปีไม่มีวาย ฯ |
๏ ฝ่ายครูพักตร์จักราพฤฒาเฒ่า | แกก้มเกล้าทูลพลันอย่าผันผาย |
ให้ลำบากยากใจทั้งไพร่นาย | คิดอุบายตั้งมั่นกันบุรินทร์ |
แม้นข้าศึกยกมาตั้งหน้ารับ | แต่งแต่ทัพบกไว้เหมือนใจถวิล |
คิดบำรุงกรุงลังกาเป็นธานินทร์ | การแผ่นดินจัดไว้ทั้งไพร่พล |
ทหารรบตบแต่งตำแหน่งไหน | บำรุงไว้สารพัดอย่าขัดสน |
เลี้ยงทหารชาญณรงค์ที่คงทน | ทั้งล่องหนบังกายให้หลายพัน ฯ |
๏ ป่างพระศรีสุวรรณวงศ์พงศ์กษัตริย์ | โองการตรัสปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
มิเสียทีที่เป็นปราชญ์ฉลาดครัน | คิดป้องกันนคราให้ถาวร |
พระเห็นพร้อมสารพัดจัดไว้สู้ | เอาตามครูเป็นฉบับตำหรับสอน |
ให้แซมซ่อมป้อมค่ายในนคร | เป็นการร้อนให้สำเร็จในเจ็ดเดือน ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายมังคลานราราช | ล่วงลีลาศเร็วไวใครจะเหมือน |
ให้รีบรัดตัดวิถีมาสี่เดือน | ไม่แชเชือนแล่นตะบึงถึงพารา |
กำพลเพชรธานีบุรีรัตน์ | ปะกษัตริย์สามองค์โอรสา |
กับไทท้าวเจ้าบุรินทร์ปิ่นประชา | พากันมาคอยอยู่หน้าบูรินทร์ |
กำปั่นใบใหญ่น้อยลอยสล้าง | ที่ในทางธารท่าชลาสินธุ์ |
พระมังคลาพาท้าวเข้าบุรินทร์ | พร้อมกันสิ้นโอรสยศยง |
ขึ้นรถแก้วแววสว่างกระจ่างกระจก | บุษบกกุก่องทองระหง |
พร้อมนิกรเกณฑ์หัดจัตุรงค์ | เสด็จตรงเข้าในวังยังมนเทียร |
เสวกาข้าเฝ้าเหล่าอำมาตย์ | มาหมอบกลาดบนชานพักตำหนักเขียน |
ทูลถวายเครื่องต้นทั้งมนเทียร | แก้ววิเชียรคู่กษัตริย์ขัตติยา |
สำหรับวางข้างที่สีสว่าง | พวกขุนนางหมอบรายทั้งซ้ายขวา |
เครื่องสิบสองท้องพระคลังอลังการ์ | จะพรรณาไปก็รู้อยู่ด้วยกัน |
ธรรมดาของกษัตริย์ไม่ขัดข้อง | ทั้งเงินทองสารพัดล้วนจัดสรรค์ |
เพราะเกิดเหล็กสีแดงแสงตะวัน | ในเมืองนั้นคนผู้จึ่งดูแดง |
พระมังคลาพานางขึ้นปรางค์รัตน์ | กับกษัตริย์เสร็จบนที่มณีแสง |
พนักงานสารพัดมาจัดแจง | ทุกตำแหน่งมิได้ขาดราชการ |
ท้าวรายาผาสุกสิ้นทุกข์ร้อน | ค่อยหลับนอนอิ่มเอมเกษมศานต์ |
สามพระหน่อวรนาถว่าราชการ | ฝ่ายทหารเสนาประชาชน |
ค่อยผาสุกทุกทิวาต่างปราโมทย์ | สมประโยชน์ศรีสวัสดิ์พิพัฒน์ผล |
ทั่วขอบขัณฑเสมาประชาชน | เพชรกำพลมั่งคั่งทั้งแผ่นดิน ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายสังฆราชพระบาทหลวง | เที่ยวแล่นล่วงในมหาชลาสินธุ์ |
ให้แค้นจิตที่จะสู้หมู่ไพริน | ไม่รู้สิ้นเจ็บใจในลังกา |
ดูตำหรับกับชะตายังกล้าแข็ง | คงจะแย่งเอาให้สมที่ปรารถนา |
แล้วหวนฮึกนึกแค้นพระมังคลา | ควรหรือมาเป็นศัตรูทั้งดูแคลน |
ถ้าพบปะแล้วไม่ละอ้ายทรยศ | มันคิดคดตัดเยื่อทำเหลือแสน |
พบที่ไหนใส่เจ้าทุกด้าวแดน | ไม่หายแค้นหายเจ็บจนเย็บตา |
แล้วแกสั่งมูลนายฝ่ายทหาร | แม้พบพานแก่งเกาะแวะเสาะหา |
เพื่อจะปะคนดีมีวิชา | แต่บรรดาเมืองเกาะเที่ยวเสาะไป |
ถึงสามเดือนเคลื่อนคล้อยแต่ลอยล่อง | มาตามท้องทะเลวนชลใส |
แต่แวะเวียนตามเกาะเที่ยวเสาะไป | จนเกือบใกล้กำพลเพชรอีกเจ็ดวัน ฯ |
๏ จะกล่าวถึงยักขินีพวกปีศาจ | อยู่ชายหาดเป็นเชื้อยักษ์มักกะสัน |
พิเคราะห์ดูร่างกายคล้ายกุมภัณฑ์ | แต่หน้านั้นแดงเขียวเหมือนเสี้ยวกาง |
เที่ยวจับสัตว์มัจฉาเป็นอาหาร | ฝูงปลาวาฬฉุดลากกระชากหาง |
แบกเอาไปในพงล้วนดงยาง | มันอยู่กลางป่าไม้ชายคิรี |
พอกำปั่นแล่นมาถึงหน้าหาด | พวกปีศาจปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
มันลุยน้ำลงมาไม่ช้าที | ร้องเรียกผีปีศาจตามหาดทราย |
ลงมายืนอยู่สะพรั่งตามฝังน้ำ | ทั้งโตดำมั่นตั้นขันใจหาย |
ถือลูกขลุบตามยาวทั้งบ่าวนาย | เหน็บพร้าพรายเดินหลามตามกันมา |
อ้ายตัวนายใส่เสื้อหนังเสือโคร่ง | เหมือนผีโป่งพูดได้หลายภาษา |
มันกวักมือเรือใบให้เข้ามา | ส่งภาษาขอเหล้าให้เรากิน ฯ |
๏ บาทหลวงเห็นท่วงทีอ้ายนี่ยักษ์ | จำจะชักชวนมันไปดั่งใจถวิล |
จะได้ช่วยรบสู้กู้แผ่นดิน | แกให้ผินเรือเข้ายกเหล้ามา |
กับไก่แกะแพะเนื้อเถือลงไว้ | แวะเข้าไปริมหาดปรารถนา |
จะเกลี้ยกล่อมไว้ใช้ไปลังกา | เป็นทัพหน้าเหมาะใจใครจะปาน |
แล้วสั่งให้เรือจอดทอดสมอ | เอาแตรห้อเป่าประดังระฆังขาน |
เหมือนเชิญให้ลงมาปรึกษาการ | พอสำราญกินอยู่ทุกผู้คน ฯ |
๏ อ้ายพวกผีดีใจน้ำลายหยด | ลุกขึ้นหมดวิ่งเลือกเสลือกสลน |
ลงไปลำกำปั่นทั้งพันตน | เห็นผู้คนยกเหล้าเอามาวาง |
มันดีใจนั่งลงส่งภาษา | ว่าท่านมาถึงที่เมืองผีสาง |
จะประสงค์สิ่งใดอย่าได้พลาง | หรือหลงทางถิ่นฐานประการใด ฯ |
๏ บาทหลวงเฒ่าเจ้ามารยาจึงว่าขาน | อันเมืองบ้านมิได้หลงอย่าสงสัย |
เกิดรบพุ่งยุ่งยิ่งต้องชิงชัย | กับพวกไทยวุ่นวายมาหลายปี |
เหล่าพหลพลไพร่ตายเสียมาก | แสนลำบากเต็มประดาต้องล่าหนี |
พวกเขามากไล่บุกเข้าคลุกคลี | จะต่อดีเหลือกำลังประทังทน ฯ |
๏ อ้ายยักษ์ผีปีศาจตวาดว่า | ท่านอย่าปรารมภ๊ไปในสิงหล |
แต่พวกเราจะเข้าไปช่วยไล่คน | มันไม่ทนได้ดอกบอกจริงจริง |
อายพวกผีขึ้เมากินเหล้าหมด | ทั้งเนื้อสดไก่ด้มขนมผิง |
ครั้นอิ่มหนำซ้ำว่าอย่าประวิง | จะช่วยชิงเอาพาราลังกาคืน |
แล้วลุกขึ้นสาวหนวดทั้งอวดอ้าง | แต่นำทางให้แก่ข้าอย่าฝ่าฝืน |
ทางจะถึงบุรีสักกี่คืน | ท่านอย่าตื่นตกใจไปด้วยกัน |
บาทหลวงยิ้มอิ่มใจดั่งได้แก้ว | ค่อยผ่องแผ้วปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
เราจะไปกำพลเพชรสักเจ็ดวัน | พอผ่อนผันหาเสบียงไปเลี้ยงพล |
ฝ่ายปีศาจจึงว่าจะลาก่อน | เมื่อจะจรยกไปในสิงหล |
เราจะไปเนินคิรีจัดรี้พล | แล้วขึ้นบนชายตลิ่งต่างวิ่งไป ฯ |
๏ บาทหลวงให้ถอนสมออย่ารอรั้ง | เอาเข็มตั้งไปให้ตรงอย่าหลงใหล |
สังเกตแก่งแขวงมุ่งเอากรุงไกร | ให้เลียบไปตามแผนแสนสำราญ |
ข้ามละเมาะเกาะเกียนไม่เวียนแวะ | ให้เลียบและแล่นไปทางข้างอีสาน |
เกือบจะถึงเขตแดนแสนสำราญ | สั่งทหารใหญ่น้อยคอยระวัง |
ถึงปากน้ำกำพลอย่าย่นย่อ | เอาปืนล้อลากขึ้นไปดั่งใจหวัง |
ปืนจังกาหน้าท้ายรายระวัง | แต่คอยฟังดูให้แจ้งอย่าแพร่งพราย |
แม้รู้ข่าวมังคลามาอยู่นี่ | ตรงเข้าตีทำศึกเหมือนนึกหมาย |
อย่าให้รู้เหตุผลกลอุบาย | คิดแยบคายให้รู้สึกสำนึกตัว |
เพราะมันไม่เกรงกูผู้เป็นพระ | แม้เกะกะจับเสียทั้งเมียผัว |
อย่าให้ทันยับยั้งได้ตั้งตัว | กวาดเอาครัวเสียให้หมดให้อดโซ |
จะได้รู้สำนึกที่ฮึกฮัก | ไม่รู้จักศาสนาเยวาโห |
เพราะมันทำทุจริตอิศโร | เอาให้โซอยู่กับที่เหมือนตีงู |
เฮ้ยออท้าวโกสัยได้ลูกเขย | กูไม่เคยพบเห็นหน้าเป็นหนู |
มันละเลยเฉยได้หลายประตู | กูเป็นครูมาแต่แม่ยังแชเชือน |
ตั้งแต่มันได้เมียเสียมนุษย์ | มันแสนสุดจัญไรใครจะเหมือน |
ไม่รู้จักจนชั้นตะวันเดือน | ดูมันเชือนหลายท่าอ้ายบ้ากาม |
ช่างเหมือนอีวัณฬาอีบ้าผัว | มันไม่กลัวบาปกรรมอีซำสาม |
อ้ายนี่ก็เหมือนแม่เฒ่าเหล่าตะกลาม | จะต้องตามทรมาให้สาใจ |
เรือแล่นมาในทางกลางกระสินธุ์ | ลมก็กินใบริ้วปลิวไสว |
อากาศเกิดเมฆแดงเป็นแสงไฟ | ตั้งขึ้นในทิศพายัพจับคงคา |
ต้นหนเห็นลมร้ายเป็นสายพุ่ง | คล้ายกับรุ้งกล้าแข็งแรงนักหนา |
ให้ลดใบไล่คนบนเภตรา | แต่บรรดาอยู่ในลำประจำงาน |
บาทหลวงเห็นลมตั้งกลางอากาศ | ผิดประหลาดฟ้าแดงดั่งแสงฉาน |
เรียกกัปตันต้นหนพวกคนงาน | จงคิดการยักย้ายระไวระวัง |
พอขาดคำลมหวนป่วนเป็นคลื่น | ซัดขึ้นพื้นดาดฟ้าคงคาขัง |
เสียงครื้นครื้นคลื่นตลบกระทบด้ง | กำปั่นทั้งหลายพลัดกระจัดกระจาย ฯ |
๏ บาทหลวงกลัวตัวสั่นหันเข้าห้อง | เสียงกึกก้องทะเลวนชลสาย |
คนตระหนกตกใจทั้งไพร่นาย | ไม่สบายคลื่นเหียนทั้งเวียนวิง |
บาทหลวงนั่งตาขาวหนาวสะท้าน | กินอาหารก็ไม่ได้สวายสวิง |
คลื่นระดมลมจัดพัดจริงจริง | ลงนั่งอิงอยู่กับหมอนอ่อนอารมณ์ |
แกแข็งใจไหว้วอนพระเป็นเจ้า | นั่งคุกเข่าบ่นพลางครางขรม |
อย่าให้เรืออับปางในกลางลม | ขอให้สมปรารถนาที่ข้าบน |
แล้วเรียกท้าวโกสัยไปไหนหวา | มาปรึกษากันกับกูดูอีกหน |
เห็นจะยังไม่ยับถึงอับจน | กูก็บนพระเป็นเจ้าอย่าเศร้าใจ ฯ |
๏ ฝ่ายต้นหนบนเภตรากะลาสี | ต่างอึงมี่เรียกกันเสียงหวั่นไหว |
ลมก็ซัดปัดปั่นเรือหันไป | เข้าเขตในปตาหวีพอสี่วัน |
พายุซาเห็นอ่าวยาวถนัด | เรือก็ซัดเข้าไปพอไก่ขัน |
เกือบจะรุ่งรังสีรวีวรรณ | คนค่อยบรรเทาร้อนผ่อนสบาย ฯ |
๏ จะกล่าวกึงเจ้าพาราปตาหวี | ชื่อท้าวกุลามาลีมณีฉาย |
เป็นแขกเทศวิเศษสุดบุรุษชาย | แสนสบายบ้านเมืองเรืองตระกูล |
มเหสีสี่นางสำอางพักตร์ | ทั้งสูงศักดิ์โภไคมไหสูรย์ |
ปรากฏนามตามวงศ์พงศ์ประยูร | เป็นที่พูนเพิ่มสวัสดิ์กษัตรา |
มเหสีที่เอกภิเษกศักดิ์ | ชื่อนงลักษณ์พุ่มพวงดวงบุหงา |
คนที่สองชื่อมณีศรีโสภา | ถัดลงมาดวงประไพวิไลวรรณ |
นางที่สี่บุษบาสุดากนิษฐ์ | เป็นที่ชิดเชยชมภิรมย์ขวัญ |
แต่ไม่มีลูกเตัาสืบเผ่าพันธุ์ | ในเมืองนั้นคับคั่งทั้งมั่งมี |
ปริบูรณ์พูนสุขไม่ทุกข์ร้อน | ราษฎรทั่วประเทศทั้งเศรษฐี |
ปราศจากโรคามายายี | ไพร่ผู้ดีในจังหวัดถือสัตย์ธรรม์ |
อาณาเขตผาสุกสนุกสนาน | มีตึกกว้านรั้วแขวงดูแข็งขัน |
ทั้งมั่งคั่งตั้งห้างต่างต่างกัน | ลำกำปั่นพ่อค้าบรรดามี ฯ |
๏ ฝ่ายท่านท้าวเจ้าพาราอาณาจักร | ประเสริฐศักดิ์อิศโรดั่งโกสีย์ |
แต่เมืองขึ้นหมื่นจังหวัดปัถพี | เอกโทตรีจัตวามาประมูล |
ล้วนพารามาขึ้นแต่พื้นแขก | ตั้งแต่แรกเจ้าแผ่นดินไม่สิ้นสูญ |
สืบกษัตริย์ตามวงศ์พงศ์ตระกูล | บริบูรณ์มั่งคั่งทั้งแผ่นดิน |
ทหารรบนับแสนแน่นขนัด | ทั่วจังหวัดบกท่าชลาสินธุ์ |
บำรุงไทท่านท้าวเจ้าแผ่นดิน | ทั้งเพิ่มภิญโญยศปรากฏนาม ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายสังฆราชพระบาทหลวง | พอเห็นดวงเดือนกระจ่างพลางมาถาม |
พวกต้นหนพลฝรั่งที่นั่งยาม | เรือเราตามคลื่นมาได้ห้าวัน |
จงเร่งจอดทอดสมอรออยู่นี่ | ดูแผนที่เสียก่อนค่อยผ่อนผัน |
เพราะเรือเราพลัดมาถึงห้าวัน | แต่กำปั่นก็ยังหายอยู่หลายลำ |
แกสั่งเสร็จเข้าห้องมองดูแผน | ตั้งแต่แล่นออกมาหน้าไหหลำ |
ถูกพายุพัดส่งไม่ตรงลำ | เหลือจะกำหนดกะระยะทาง |
เอาแผนที่คลี่ดูไม่รู้แน่ | จะผันแปรแล่นลัดยังขัดขวาง |
จะดูเข็มเต็มทนด้วยหนทาง | ต่อสว่างจึ่งจะรู้ดูคะเน |
ด้วยซัดมาห้าวันไม่เห็นหน | เป็นเหลือจนสารพัดจะหันเห |
เอาแผนที่คลี่ตรองมองคะเน | ก็โลเลเลอะไปไม่ได้การ |
ลงนั่งเซาเหงาหงอยคอยอาทิตย์ | ยังมืดมิดอยู่ไม่แจ้งส่งแสงฉาน |
ดูก็เป็นพยับฝนอนธการ | ไม่เบิกบานแจ่มแจ้งแสงอุทัย |
ทั้งอดนอนอดกินสิ้นสติ | จะตรองตริก็มิอาจจะหวาดไหว |
ลงนอนนิ่งอิงหมอนถอนหายใจ | ก็หลับไปบนเก้าอี้ที่ในเรือ ฯ |