- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
๏ จะกล่าวถึงพระอภัยวิไลลักษณ์ | อยู่สำนักขอบเขตประเทศสถาน |
เนินสิงคุตรเขาเขินจำเริญฌาน | กับเยาวมาลย์สองชีผู้ปรีชา |
สำรวมจิตกิจอย่างทางกสิณ | เป็นสุดสิ้นมุ่งมาดปรารถนา |
ไม่โลภหลงปลงขันธ์ด้วยปัญญา | สังขาราอนิจจังไม่ยั่งยืน |
เทศนาสอนสั่งคนทั้งนั้น | เป็นนิรันดร์ทุกทิวาไม่ฝ่าฝืน |
แต่บรรดาอยู่ประจำทุกค่ำคืน | คนทั้งหมื่นมีศรัทธาสมาทาน |
ตั้งอยู่ในศีลห้าไม่ฆ่าสัตว์ | มัธยัสถ์ถือธรรมกรรมฐาน |
ที่ขอบวชสวดสิกขาสมาทาน | เป็นอาจารย์ครัดเคร่งบำเพ็งเพียร |
แต่ยังไม่ได้กสิณมุนินทร์ใหม่ | ด้วยว่าใจเจตนาเป็นพาเหียร |
ค่อยกำจัดตัดราคคิดพากเพียร | ยังอาเกียรณ์มิได้ล่วงเพราะห่วงใย |
พระนักสิทธ์ทรงสอนให้ผ่อนผัน | อย่าผูกพันนึกพะวงมักหลงใหล |
อันโลกีย์นี้มันชั่วตัวจัญไร | จะพาให้เสียประโยชน์โพธิญาณ |
พระชี้แจงแจ้งข้อบรมัตถ์ | ในทางอรรถแก้ไขหลายสถาน |
ประชาชนคนทั้งหมื่นต่างชื่นบาน | รับประทานผ่อนผันด้วยปัญญา |
เวลานั้นพระมุนีฤๅษีสิทธิ์ | สำรวมกิจนึกถึงวงศ์เผ่าพงศา |
ไม่ได้ข่าวคราวใครในลังกา | พระอนุชาลูกหลานในว่านเครือ |
จะอยู่ดีปรีดิ์เปรมเกษมสุข | หรือจะทุกข์อย่างไรทั้งใต้เหนือ |
ถึงเจ็ดปีลูกหลานในว่านเครือ | ไม่พบเชื้อเห็นวงศ์พงศ์ตระกูล |
จึ่งลับไปหลายปีไม่มีข่าว | ฟังเรื่องราวเป็นอย่างไรจึงหายสูญ |
มิได้ปะสุริย์วงศ์พงศ์ประยูร | หรือจะสูญล้มตายวายชีวง |
จำจะเข้าทางกสิณดูถิ่นฐาน | พวกวงศ์วานว่านเครือจะเหลือหลง |
หรือสูญญาติขาดแผ่นดินสิ้นชีวง | เสด็จตรงเข้ากุฎีที่สำราญ |
สำรวมจิตลงวางทางกสิณ | ดูฟ้าดินที่ในธรรมกรรมฐาน |
พิเคราะห์ในไตรลักษณ์มรรคญาณ | ทุกถิ่นฐานแต่บรรดาในสามัญ |
ก็แจ้งสิ้นแต่บรรดาคณาญาติ | มาวิวาทชิงชัยไอศวรรย์ |
พวกฝรั่งสังฆราชฉกาจฉกรรจ์ | มาผูกพันศึกใหญ่ในบุรินทร์ |
ทั้งลูกหลานว่านเครือในเชื้อไข | ก็อ่อนใจยากแค้นแสนถวิล |
ไม่เป็นอันไปมาเที่ยวหากิน | พระทราบสิ้นทางธรรมสำมดึงส์ |
จำจะต้องไประงับช่วยดับเข็ญ | จะได้เว้นชิงช่วงที่หวงหึง |
เอาเรื่องเหตุเทศน์ธรรมให้รำพึง | ได้ลุถึงศุโขมโหฬาร ฯ |
๏ ป่างพระปิ่นมุนีฤๅษีสิทธ์ | ออกจากกิจทรงธรรมกรรมฐาน |
เสด็จออกนอกกุฎีที่สำราญ | โปรดประทานเล่าถึงวงศ์พงศ์ประยูร |
ทั้งสองนางดาบสรับพจนารถ | รู้ว่าญาติยังถวิลไม่สิ้นสูญ |
ต้องรบพุ่งยุ่งกันไปในตระกูล | นางอาดูรแดดาลสงสารวงศ์ |
พระอภัยมุนีฤๅษีสิทธ์ | ดูจริตสองนางเห็นยังหลง |
ด้วยอาวรณ์ยังไม่ขาดในญาติวงศ์ | พระจึงทรงเทศนาในบาลี |
ว่าสามัญตัณหาพาให้โลภ | หลงละโมบครั้นทำลายตายเป็นผี |
ก็ไม่หอบเอาจังหวัดปัถพี | ไปเป็นที่ถิ่นฐานบ้านของตน |
อนิจจังสังขาราเหมือนปลานก | ต้องว่ายวกบินเตร่ระเหระหน |
ถึงร่างกายก็อย่าหมายว่าของตน | พอสิ้นชนม์เน่าจมถมแผ่นดิน |
อนัตตาสูญเปล่านะเราท่าน | อย่าหมายมั่นนึกนิยมอารมณ์ถวิล |
เอาขันตีตั้งหน้าเป็นอาจิณ | ก็จะสิ้นความวิตกในอกใจ |
พระฤๅษีชักเหตุเทศนา | ให้สองดาบสยุพินสิ้นสงสัย |
วายวิโยคโศกเศร้าบรรเทาใน | ที่จริงใจโทมนัสอัดอารมณ์ |
จึงตรัสว่าถ้าจะไปให้โอวาท | แต่เชื้อชาติพวกฝรั่งมันยังขม |
ไม่จืดจางบางเบาเอานิยม | เหมือนตกตมถอนยากลำบากใจ |
ถึงจะไปสั่งสอนให้อ่อนน้อม | มันจะยอมยินดีเจ้าที่ไหน |
ตาบาทหลวงแกมันดื้อไม่ถือใคร | ถึงจะไปป่วยการเหมือนมารยา |
แต่จำเป็นจำใจจะไปเยี่ยม | สั่งให้เตรียมแต่งราชรถา |
พระชวนดาบสินีให้ลีลา | ทรงรถาองค์ละรถบทจร ฯ |
๏ พวกเสนาดาบสที่บวชใหม่ | ก็ตามไปโดยทางหว่างสิงขร |
อยากจะไปเยี่ยมเยือนเพื่อนนิกร | ได้สั่งสอนให้ศรัทธาสมาทาน |
ตามเสด็จพระมุนีฤๅษีสิทธ์ | สำรวมกิจเดินไปในไพรสาณฑ์ |
รถที่นั่งสามพระองค์เข้าดงดาน | ชมห้วยธารเหวผาคูหาบรรพ์ |
ที่โตรกตรอกงอกง้ำเป็นถ้ำเหว | ที่ปล่องเปลวย้อยเป็นแท่งดั่งแกล้งสรรค์ |
ล้วนสีลายพรายแสงแข่งตะวัน | สูงชะงั่นเป็นชะง่อนก้อนศิลา |
มีไม้งอกออกผลหล่นออกกลาด | ระดาดาษงอกงามตามซอกผา |
ไม้รวกรากฝากหินก้อนศิลา | ฝูงคณานกร้องก้องสำเนียง |
ดุเหว่าแว่วแจ้วเจื้อยระเรื่อยร้อง | ประสานซ้องก้องดงพลางส่งเสียง |
นกแก้วพลอดยอดแก้วแจ้วสำเนียง | โกญจาเรียงจับวังร้องวังเวง |
สาลิกาจับนิ่งบนกิ่งเกด | ฝูงโนเรศรายพลอดบนยอดเขลง |
นกกระสาจับกระสังเสียงวังเวง | ร้องครื้นเครงก้องฟ้าพนาวัน |
ฝูงอีลุ้มจับพุ่มอุโลกเลียบ | กระทาเหยียบกิ่งกระถินแล้วผินผัน |
ควักข้าวตากฝากตาภาษามัน | สำเนียงขันฟังชัดฝูงสัตว์ดง ฯ |
๏ นกกะลิงจับกิ่งกะลำพัก | ฝูงกาสักจับนิ่งกิ่งกาหลง |
นกยูงทองย่องเหยียบยอดยางดง | ฝูงเป็ดหงส์จับเหียงเรียงกันไป |
พวกนักสิทธ์คทัศนาปักษาสัตว์ | สารพัดชมเพลินเนินไศล |
รุกขชาติดาษสล้างริมทางไป | มะเฟืองมะไฟตูมตาดดาษดา |
ทั้งม่วงปรางลางสาดหล่นกลาดกลิ้ง | ที่ติดกิ่งสุกงอมหอมนักหนา |
ขนุนขนันพันธุ์ดกฝูงนกกา | เป็นภักษาสัตว์ไพรในอรัญ |
ผลไม้นานาโอชารส | พวกดาบสมาพบเก็บขบฉัน |
ทั้งใบดอกงอกงามตามอรัญ | สารพันต่างต่างตามทางจร |
พิกุลแก้วการณิการ์มหาหงส์ | คัดเค้าดงประยงคุ์แย้มแกมเกสร |
มะลุลีมะลิวัลย์พันขจร | ที่ชะง่อนเชิงผาจำปาจำปี |
รสสุคนธ์มณฑาระดาดาษ | พุทธชาดชบาบางต่างต่างสี |
ยี่สุ่นแซมแกมกุหลาบอังกาบมี | สารภีบุนนาคสองฟากทาง |
ทั้งสายหยุดพุดซ้อนดอกซ่อนกลิ่น | กระทุ่มกระถินราวกับไม้ในกระถาง |
ระย้าย้อยห้อยงามไปตามทาง | ผกากางกลิ่นเกลาเสาวคนธ์ |
เรณูนวลอวลอบตลบกลิ่น | ภุมรินคลึงเคล้นทุกเส้นขน |
ละอองอ่อนฟอนเฟ้นเย็นกมล | ทั่วสากลบินร้องก้องสำเนียง |
ทั้งฝูงสัตว์จัตุบาทวิ่งกลาดเกลื่อน | ในแถวเถื่อนครางครึมกระหึ่มเสียง |
ทั้งโคถึกมฤคีเม่นหมีเมียง | กิเลนเรียงเดินรายตามชายดง |
พยัคฆากาสรเที่ยวซ่อนซอก | ตามโตรกตรอกเชิงผาป่าระหง |
กระต่ายกระแตตุ่นอ้นเที่ยวด้นพง | ฝูงกระจงจามรีชะนีไพร |
ขึ้นห้อยโหนโยนระย้าร้องหาผัว | บางโยนตัวอยู่บนกิ่งวิ่งไสว |
พอสุริยาจวนจะลบภพไกร | ก็นึกได้เรียกผัวของตัวพลาง |
สัตว์ระยำซ้ำสามตะกลามชู้ | มันฆ่าคู่ทุจริตไม่คิดหมาง |
จึงอมเรศสาปซ้ำไว้ตามทาง | ได้เชยค่างต่างเพศสังเวชใจ |
ให้สมจริตจิตหญิงแพศยา | ต้องอยู่ป่าคล้ายกับลิงวิ่งไสว |
เพราะมักมากอยากภิรมย์ให้สมใจ | หญิงจัญไรต้องร้างอย่างชะนี |
พอพลบค่ำน้ำค้างลงพร่างพร้อย | พระจันทร์ลอยแจ่มจำรัสรัศมี |
กระจ่างแจ้งแสงกระจัดในปัถพี | โขมดผีครางครึ้มกระหึมครวญ |
ยะเยืยกเย็นเส้นหญ้าเป็นป่าชัฏ | พระพายพัดเย็นในฤทัยหวน |
ผีป่าบ่นพึมพึเสียงคร่ำครวญ | ร้องโหยหวนกู่เรียกกันเพรียกไป |
พวกนักสิทธ์ติดตามรถที่นั่ง | เอาจิตตั้งแผ่เมตตาเหมือนปราศรัย |
ไม่มีเหตุเภทพาลประการใด | ทั้งเจ็บไข้มิได้มีราคีพาน ฯ |
๏ จนถึงทางกลางป่าศาลาพัก | ก็พร้อมพรักน้ำท่าผลาหาร |
พวกที่คอยรักษาพยาบาล | มากราบกรานปรนนิบัติกษัตรา |
ถวายน้ำอัฐบานจานลูกไม้ | น้ำตาลใสสดตระการหวานนักหนา |
ทั้งสามองค์ทรงนั่งยังศาลา | ฉันผลาอัฐบานเครื่องหวานมัน |
พวกนักสิทธ์เสนาก็มาพร้อม | เข้านั่งล้อมในศาลาพากันฉัน |
สำเร็จกิจของตระการทั้งหวานมัน | หยุดพร้อมกันพักเหนื่อยที่เมื่อยมา |
๏ ฝ่ายพระองค์ทรงศิลนรินทร์รัช | โองการตรัสถามพลันด้วยหรรษา |
อยู่ที่นี่พร้อมกันในคัลลา | มีโรคาป่วยบ้างหรืออย่างไร |
หรืออยู่ดีปรีดิ์เปรมเกษมสุข | หรือเกิดทุกข์ร้อนเย็นเป็นไฉน |
พวกเสนาทูลพลันไปทันใด | ไม่มีภัยเจ็คบปวดทุกหมวดกอง |
พระอภัยมุนีฤๅษีสิทธ์ | ได้ทราบกิจเขาประมูลทูลฉลอง |
พระปราศรัยไต่ถามตามทำนอง | ให้ถูกต้องเยี่ยงอย่างทางบุราณ |
แล้วจึ่งว่าเราจะลาไปนิเวศน์ | เข้าในเขตลังกามหาสถาน |
ไปเยี่ยมวงศ์พงศาด้วยช้านาน | พอแจ้งการเสร็จสรรพจะกลับไพร |
แล้วพระองค์พงศ์กษัตริย์ขึ้นรถา | เสวกานำทางหว่างไศล |
พวกเสนานักสิทธ์เดินติดไป | กับพลไพร่ตามกันเป็นหลั่นเดิน |
กระจ่างจันทร์แจ่มฟ้าเวหาหน | นภาดลฝูงนกวิหคเหิน |
กะเรียนร้องก้องระงมพนมเนิน | พระฟังเพลินปักษาคณาดง |
การะเวกบินขานประสานเสียง | แข่งสำเนียงกับประยูรสกุณหงส์ |
ฝูงกาสักบินร้องก้องในดง | เดือนก็ตรงเวหาห้องพอสองยาม |
สารถีขี่ขับรถที่นั่ง | ไม่หยุดยั้งพ้นป่าพนาหนาม |
ออกท้องทุ่งมุ่งข้ามพอสองยาม | เข้าเขตคามนคราเมืองป่าตาล ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายเสวกาเมืองวาโหม | เสียงครึกโครมใกล้เขตประเทศสถาน |
ขัดตาทัพยับยั้งระวังการ | คอยต้านทานประจามิตรไม่คิดเกรง |
จึ่งยกออกนอกประตูข้างบูรพทิศ | อาญาสิทธิ์ชักทวนชนวนเขนง |
พร้อมพหลพลหมื่นเสียงครื้นเครง | บ้างรำเพลงทวนออกนอกทวาร ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระมุนีฤๅษีสิทธ์ | สำรวมกิจโดยธรรมกรรมฐาน |
จึ่งสั่งพวกเสนีปรีชาชาญ | ท่านเอาการนี้ไปเล่าให้เขาฟัง |
ว่าตัวเราจะเข้าไปในสิงหล | มิใช่กลข้าศึกอย่านึกหวัง |
ล้วนฤๅษีเป็นเจ้าของเคยครองวัง | เพราะจิตหวังที่ในวงศ์พงศ์ประยูร |
เสนานำคำสั่งพระนักสิทธ์ | ไปแจ้งกิจว่าพระปิ่นบดินทร์สูร |
องค์พระจอมนคเรศเกศตระกูล | มาพร้อมมูลจะเข้าไปในบุรินทร์ ฯ |
๏ ฝ่ายพระยาวาโหมได้ทราบเหตุ | พลางน้อมเกศชื่นชมสมถวิล |
แล้วสั่งพวกเสวกาในธานินทร์ | มาพร้อมสิ้นรีบไปเฝ้าเจ้านคร |
ครั้นเห็นพระอภัยเจ้าไกรภพ | เข้านอบนบทูลองค์พระทรงศร |
เชิญเสด็จประทับด่านชานนคร | เช้าจึ่งจรเข้าไปยังกรุงลังกา |
พระนักสิทธ์รับนิมนต์ขึ้นบนรถ | พร้อมกันหมดไปพลันด้วยหรรษา |
เสร็จเข้าเมืองป่าตาลชานชลา | สามสิทธาขึ้นไปนั่งยังพระโรง |
พวกวาโหมจัดแจงแต่งเครื่องลาด | ให้ไสยาสน์บนบัลลังก์ที่นั่งโถง |
แล้วนั่งยามตามไต้กองไฟโพลง | ทุกเรือนโรงนั่งยามเหมือนตามเคย |
พระปราศรัยเจ้าพาราเมืองวาโหม | มาทุกข์โทมอยู่ลังกานิจจาเอ๋ย |
เราขอบใจได้การุญเหมือนคุ้นเคย | ไม่เฉยเมยรักใคร่เหมือนใจปอง |
ควรจะนับเหมือนหนึ่งเนื้อในเชื้อไข | เพราะเห็นใจเจ้าก็ดีไม่มีสอง |
อุตส่าห์มาช่วยศึกช่วยตรึกตรอง | พระคุณของเจ้าเหลือเหมือนเชื้อวงศ์ ฯ |
๏ ฝ่ายพระยาวาโหมโสมนัส | ได้ฟังตรัสชื่นชมสมประสงค์ |
จึงถวายอภิวาทบาทบงสุ์ | พระผู้ทรงสิกขาเธอการุญ |
แล้วจัดแจงโภชนากระยาเสวย | ทั้งนมเนยจานเจือให้เกื้อหนุน |
กับรังนกต้มน้ำตาลหวานละมุน | ผลองุ่นสุกสดรสตระการ |
แล้วจัดแจงแต่งของเลี้ยงดาบส | ทั่วกันหมดพร้อมแต่เช้าทั้งคาวหวาน |
พอแสงทองส่องสีรวีวาร | ก็จัดการของเลี้ยงตั้งเรียงราย |
แล้วตั้งเครื่องสามองค์พงศ์กษัตริย์ | ดูเหมือนจัดเรียงเรียบประเทียบถวาย |
พอรุ่งแจ้งแสงสุวรรณพรรณราย | พลางถวายน้ำฉันอันบรรจง |
พระอภัยมุนีฤๅษีสิทธ์ | สำรวมกิจงามดีเหมือนชีสงฆ์ |
นั่งที่ฉันเรียงตามกันสามองค์ | เสร็จแล้วทรงยถาตามบาลี |
พวกนักสิทธ์เสนาบรรดาฉัน | อิ่มพร้อมกันในพลับพลาหลังคาสี |
แล้วก็ชวนกันคำนับรับสัพพี | ตามวิธีนักพรตหมดทุกองค์ |
แปลว่าให้สุขะชนะโรค | อันความโศกให้กระจุยเป็นผุยผง |
อายุยืนหมื่นพันให้มั่นคง | จงดำรงบ้านเมืองให้เลื่องลือ ฯ |
๏ พวกวาโหมฟังเพราะเสนาะหู | แต่ไม่รู้ว่าจะรับจะนับถือ |
ได้แต่นั่งหัวร่อพูดอออือ | แล้วยกมือกราบไหว้ไปทุกคน |
กินแล้วบ่นพึมพำทำสุ้มเสียง | หรือเราเลี้ยงข้าวปลาผลาผล |
ไม่อร่อยหรือจึ่งต้องร้องทุกคน | จึ่งนั่งบ่นเหมือนกันทั่วทุกตัวไป |
แล้วหมอบกราบคลานเข้าไปทูลไต่ถาม | ขอแจ้งความข้าพระองค์นึกสงสัย |
เห็นร้องขึ้นพร้อมกันเป็นฉันใด | หรือของไม่โอชาสารพัน ฯ |
๏ พระทรงศีลจึ่งแสดงให้แจ้งอรรถ | สารพัดมันเผือกท่านเลือกสรรค์ |
โอชารสหมดจริงทุกสิ่งอัน | สารพันเอมโอชโภชนา |
เป็นนิสัยฤๅษีฉันที่ไหน | ก็ต้องให้พรอย่างนี้ดีนักหนา |
ท่านจะได้สุโขมโหฬาร์ | ความชราโรคภัยจะไม่เบียน |
ทั่งอายุก็จะยืนได้หมื่นกัป | อเนกนับเหมือนเราว่าใช่พาเหียร |
คงจะได้สมประสงค์ไม่วงเวียน | เหมือนจุดเทียนแสงสว่างกระจ่างตา |
พระอภัยสุริย์วงศ์เธอทรงตรัส | แสดงอรรถเล่าความตามสิกขา |
เจ้าวาโหมโสมนัสด้วยศรัทธา | แจ้งกิจจาภูวไนยเธอไขความ |
สาธุสะพระฤๅษีเธอดีเหลือ | สมเป็นเชื้อวงศ์ไทยในสยาม |
ทั้งพูดจาหมดจดดูงดงาม | น่าจะตามท่านไปบวชสวดนโม |
นึกในใจถ้าแม้นได้เมียมาด้วย | จะรื่นรวยรู้เหตุวิเศษโส |
คงจะได้เงินทองของโตโต | จะสุโขแท้แล้วไม่แคล้วเลย |
แล้วจึ่งว่าข้าแต่องค์พระทรงศีล | ผู้เป็นปิ่นแก่ประชาเจ้าข้าเอ๋ย |
แม้นเสร็จศึกนึกถึงบุญขอคุ้นเคย | จะลาเลยกลับไปพาเมียมาพลัน |
ขอบวชเรียนเขียน ก ข ต่อหนังสือ | ทำเป็นฤๅษีมั่งได้นั่งฉัน |
ไม่กินนกกินปลาสารพัน | พระทรงธรรม์โปรดข้าดังว่าวอน ฯ |
๏ พระอภัยมุนีฤๅษีสิทธ์ | ได้ฟังกิจเห็นลำบากยากจะสอน |
เพราะเป็นพวกคนทมิฬปลายดินดอน | จะสั่งสอนสักเท่าไรเห็นไม่จำ |
เพราะเขาเป็นน้ำเนื้อผีเสื้อยักษ์ | ถึงจะชักมาช่วยชุบอุปถัมภ์ |
เขาไม่ทิ้งเพศหยาบก็บาปกรรม | แต่ต้องจำใจรับกับทมิฬ |
พระปราศรัยใจท่านรักคงจักได้ | ไม่เป็นไรคงจะสมอารมณ์ถวิล |
เราจะช่วยกรุณาอย่าราคิน | ท่านจงสิ้นสิ่งวิตกในอกใจ |
พระตรัสพลางทางว่าจะลาก่อน | เป็นการร้อนยังพะวงคิดสงสัย |
จะไปเยี่ยมญาติวงศ์เหมือนจงใจ | ขอลาไปจากพาราเมืองป่าตาล |
เจ้าวาโหมโสมนัสจัดพหล | แต่ล้วนคนสามารถที่อาจหาญ |
ให้ไปส่งองค์ฤๅษีปรีชาชาญ | จากป่าตาลพร้อมพรั่งระวังภัย |
๏ ฝ่ายพระองค์ทรงศีลมุนินทร์นาถ | เสร็จทรงราชรถทองอันผ่อนใส |
ดาบสินีชีสองละอองใย | เสด็จในบุษบกกระจกบัง |
ทั้งสามรถบทจรโดยวิถี | พวกฤๅษีเสนามาข้างหลัง |
พ้นทุ่งนาป่าระหงเข้าดงรัง | โศกมะสังแลลิ่วเป็นทิวไป |
ยางพะยอมค้อมคู้ฤดูดอก | บ้างแตกงอกขึ้นเรียงเคียงไสว |
กระแบกกระบากซากซึกมะสังไทร | ทั้งกรดไกรหูกวางนางตะเคียน |
ประดู่ดอกออกเรืองเหลืองระย้า | ตะโกนาคุดคู้ดูอย่างเขียน |
ขนุนขนันกันเกรากระเบากระเบียน | ต้นทุเรียนลำไยมะไฟมะเฟือง |
ทั้งปริงปรางลางสาดผลกลาดกลุ้ม | แลเป็นกลุ่มสุกดีล้วนสีเหลือง |
ระย้าย้อยห้อยงามอร่ามเรือง | ตัดติดเนื่องตามทางกลางอรัญ |
ฝูงลิงค่างต่างกินเป็นภักษา | ทั้งนกกาจิกกินแล้วผินผัน |
กระรอกกระแตแลกลาดวิ่งพาดพัน | ในอรัญป่ากว้างหนทางจร |
พวกฝูงสัตว์จัตุบาทวิ่งกลาดเกลื่อน | ฝูงค่างเถื่อนเดินเรียงเคียงสลอน |
ทั้งโคตรเพรียวดาษดาล้วนงางอน | เที่ยวสัญจรโขลงใหญ่ที่ในดง |
ฝูงแรดร้ายหลายร้อยรอยระดะ | เที่ยวเกะกะกินหนามตามประสงค์ |
ทั้งเสือสีห์หมีเม่นเที่ยวเร้นพง | เลียงผาวงวิ่งเต้นเล่นบนเนิน |
นรสิงห์สิงหนัศสัตว์ทั้งหลาย | พวกกวางทรายถึกกระทิงวิ่งตะเพิ่น |
ฝูงกาสรโคเพลาะย่องเหยาะเดิน | ริมชายเนินเชิงผาคูหาบรรพ์ |
สิงโตเต้นเล่นหางที่หว่างเขา | บ้างหมอบเจ่าคุดคู้ดูมันขัน |
มีลูกแอบแนบชิดเข้าติดพัน | กิเลนผันเผ่นโผนโจนทะยาน |
ฝูงม้าเต้นเผ่นผยองลำพองวิ่ง | บ้างนอนกลิ้งเล็มหญ้าเป็นอาหาร |
ละมั่งระมาดดาษดงกระจงฟาน | ร้องประสานเสียงดังก้องวังเวง ฯ |
๏ พวกเสนาวาหุโลมเดินโครมครื้น | บ้างแบกปืนถือทวนชวนเขนง |
พร้อมพหลพลหมื่นเสียงครื้นเครง | ฝูงสัตว์เกรงกลัววิ่งเป็นสิงคลี |
เกือบจะถึงลังกาอาณาเขต | พอสุริเยศรอนรอนจะอ่อนสี |
พวกบรรดาข้าเฝ้าเหล่าเสนี | บรรดาที่อยู่รอบขอบนคร |
รู้ว่าองค์พระมุนีฤๅษีสิทธ์ | ต่างมีจิตภิญโญสโมสร |
บ้างก็รีบเข้าไปในนคร | ทูลบังอรแม่หัวเจ้าเสาวคนธ์ |
บ้างก็ไปคำนับรับเสด็จ | พร้อมกันเสร็จไพร่นายฝ่ายพหล |
ส่วนโฉมยงนงเยาว์เสาวคนธ์ | จรดลด้วยสุรางค์นางกำนัล |
ทั้งสุลาลีวันรีบผันผาย | พร้อมบ่าวนายปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
ครั้นถึงรถสามพระองค์ผู้ทรงธรรม์ | บังคมคัลเชิญเสด็จประเวศวัง |
สามพระองค์ทรงศีลนรินทร์ราช | ตรัสประภาษถามไต่พระทัยหวัง |
ถึงพระหน่อสุริย์วงศ์ดำรงวัง | ไปยับยั้งอยู่หนตำบลใด |
ทั้งสองนางทางประมูลทูลฉลอง | ว่าเธอต้องไปอยู่ท่าชลาไหล |
ทั้งพระวงศ์พงศาก็คลาไคล | เข้าอยู่ในเมืองด่านชานบุรินทร์ |
ทั้งองค์พระเจ้าอาก็มาอยู่ | จึงได้กู้เมืองไว้ดั่งใจถวิล |
ศึกก็ยังตั้งประชิดติดบุรินทร์ | ไม่สุดสิ้นรบกันทุกวันคืน ฯ |
๏ สามพระองค์ทรงฟังให้สังเวช | กองกิเลสนี้มันกล้าเหลือฝ่าฝืน |
คิดยุ่งยิ่งชิงรังไม่ยั้งยืน | เป็นแต่พื้นโลภหลงต้องวงเวียน |
อนิจจังสังสารวัฏเอ๋ย | ให้หลงเลยไปมาลมพาเหียร |
ไม่สุดสิ้นความประสงค์ต้องวงเวียน | ดูอาเกียรณ์ถ้าจะเปรียบเหมือนเหยียบตม |
แม้นผู้ใดพัวพันไม่หมั่นล้าง | ก็เสียทางเหมือนไม่รักซึ่งมรรคผล |
ดั่งดุมวงกงเกวียนต้องเวียนวน | ให้เสียผลเสียประโยชน์โพธิญาณ |
พระตรัสพลางทางดั่งให้เร่งรถ | พร้อมกันหมดรีบไปในสถาน |
เข้านิเวศน์ลังกาไปช้านาน | หยุดสำราญแรมร้อนผ่อนสบาย ฯ |
๏ ฝ่ายดาบสสองยุพาสุดาสมร | ขึ้นบรรจถรณ์ที่ในเก๋งเคร่งใจหาย |
รักษาพรตงดงามตามสบาย | เพราะมุ่งหมายทางธรรมสำมดึงส์ |
ทั้งวัณฬาสุมาลีหลวงชีสอง | เข้าในห้องตรองตรึกระลึกถึง |
พระไตรลักษณ์หักประหารการรำพึง | คิดตัดซึ่งห่วงใยในสันดาน |
หวังประโยชน์โพธิญาณการกุศล | จะได้พ้นกองทุกข์สนุกสนาน |
ฟังถ้อยคำสามีปรีชาชาญ | โปรดประทานสอนสั่งคิดตั้งใจ |
ดาบสินีที่ปฐมพรหมวิหาร | เจริญฌานตามประสงค์ปลงนิสัย |
ให้ดับทุกข์ดับโศกดับโรคภัย | ด้วยตัดใจครัดเคร่งบำเพ็งเพียร |
ชักประคำสำรวมสติตั้ง | เอาจิตหยั่งเห็นสังขาร์เป็นพาเหียร |
ไม่รักรูปรักทรงของวงเวียน | เป็นอาเกียรณ์เปื่อยเน่าไม่เข้ายา |
เหมือนโรงร้านไปมาพออาศัย | พระอภัยแจ้งเหตุเทศนา |
ควรเชื่อฟังตั้งมั่นเอาปัญญา | ท่านเทศนาชี้แจงแห่งบาลี |
นางถือมั่นขันตีอุเบกขา | โดยศรัทธาคิดเห็นเป็นวิถี |
ทั้งละเวงวัณฬาสุมาลี | ดาบสินีเคร่งเทียบเปรียบสมภาร ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ทรงโลกเฉลิมภพ | ให้ปรารภในพระทัยหลายสถาน |
จวนจะรุ่งรังสีรวีวาร | พระตรองการถึงพงศ์วงศ์ตระกูล |
พอเช้าตรู่สุริยาภาณุมาศ | จะลีลาศออกไปจากไอศูรย์ |
ได้พบปะสุริย์วงศ์พงศ์ประยูร | จะอนุกูลสอนสั่งให้บางเบา |
การรบพุ่งยุ่งยิ่งชิงสมบัติ | จะบัญญัติขู่ข่มอารมณ์เขา |
ถ้าแม้นเห็นชอบผิดเหมือนจิตเรา | แม้นมิเอาข้อคำที่รำพัน |
เหมือนสำเภาเสาหักจะชักฉุด | ถึงบุรุษเรี่ยวแรงที่แข็งขัน |
จะถ่อค้ำลำบากเห็นยากครัน | พระทรงธรรม์ตรองตรึกนึกอาวรณ์ |
จนรุ่งรางสร่างแสงแจ้งกระจ่าง | ส่องสว่างแจ่มจำรัสประภัสสร |
ฝ่ายเสาวคนธ์มณฑาพะงางอน | กับบังอรกัลยาสุลาลี |
พลางจัดแจงแต่งเครี่องสุพรรณภาชน์ | ถวายบาทบงกชบทศรี |
ทั้งสามองค์พงศ์กษัตริย์สวัสดี | เลี้ยงฤๅษีเสนาที่มาตาม |
ของต่างต่างอย่างดีที่ประสงค์ | โดยจำนงเรียงวางข้างละสาม |
ทั้งของเคียงคาวหวานใส่จานชาม | ถวายตามฤๅษีมีทุกองค์ |
พวกนักสิทธ์ฉันเสร็จแล้วยถา | ทำทีท่าดูละม้ายคล้ายกับสงฆ์ |
ฝ่ายเสนามาพร้อมพวกล้อมวง | เตรียมรถทรงพระที่นั่งอลังการ |
สามพระองค์มุนีฤๅษีสิทธ์ | สำเร็จกิจขอฉันแล้วบรรหาร |
จะออกไปเยี่ยมองค์พวกวงศ์วาน | ที่เมืองด่านปากน้ำจงนำไป |
ทั้งสามองค์ทรงราชรถา | พวกเสนาเดินเคียงเรียงไสว |
ทั้งฤๅษีเสนาพากันไป | จากกรุงไกรลังกาพากันจร |
สารถีขับม้าอาชาชาติ | ขุนอำมาตย์คั่งคับสลับสลอน |
พวกขอบขัณฑเสมาประชากร | นั่งสลอนกราบก้มบังคมคัล |
บ้างก็ว่าสามพระองค์พงศ์กษัตริย์ | ไปดั้นดัดอยู่ทำไมในไพรสัณฑ์ |
เพราะละวังลังกาไปอารัญ | จึ่งรบกันไม่รู้วายมาหลายปี |
แม้พระองค์ทรงลาสิกขาบท | คงเปลื้องปลดความทุกข์เป็นสุขี |
บ้างร้องทูลขึ้นไปพลันด้วยทันที | จงปรานีข้าเก่าเหล่าประชา ฯ |
๏ พระทรงฟังราษฎรสุนทรเฉลย | จึงภิเปรยโปรดประทานการสิกขา |
ว่าตัวเราละเพศไม่เจตนา | ครองพาราเป็นใหญ่ในบุรินทร์ |
เพราะคิดเห็นอนิจจังเกิดสังเวช | จึงละเพศไปอยู่ป่ารักษาศิล |
ไม่ประโยชน์กับจังหวัดปัถพิน | จึงถือศีลภาวนาสมาทาน |
กองกิเลสพาให้หลงเหมือนกงจักร | เราคิดหักมิได้หลงในสงสาร |
จึงตั้งใจหมายประโยชน์โพธิญาณ | เราแจ้งการให้รู้ทุกผู้คน |
สามพระองค์เสด็จไปใกล้ถึงด่าน | พวกทหารเข้าไปแจ้งทุกแห่งหน |
ให้เสนีทูลแถลงแจ้งยุบล | แก่ภูวดลรมจักรนัครา ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ผู้ดำรงอาณาเขต | ครั้นทราบเหตุว่าสมเด็จพระเชษฐา |
กับสองดาบสินีเธอลีลา | เสด็จมาถึงสถานชานบุรินทร์ |
จึ่งจัดแจงแต่งองค์สรงสนาน | ออกจากด่านรีบไปพระทัยถวิล |
รับสมเด็จพระเชษฐาเข้าธานินทร์ | ออกไปสิ้นพร้อมพระวงศ์พงศ์ประยูร |
สินสมุทรสุดสาครบวรนาถ | พร้อมพระญาติสุริย์วงศ์ทรงไอศูรย์ |
หกกษัตริย์สุริย์วงศ์พงศ์ตระกูล | ไปพร้อมมูลเชิญเสด็จเข้าเขตคัน |
ต่างถวายบังคมโสมนัส | สามกษัตริย์ฤๅษีเกษมสันต์ |
เสด็จเข้าเมืองปราการสำราญครัน | ศรีสุวรรณเชิญพระพี่ให้ลีลา |
สามพระองค์ทรงประทับบนเก๋งใหญ่ | ทั้งนายไพร่พร้อมกันต่างหรรษา |
พระอภัยมุนีศรีโสภา | ภิปรายปราศรัยพระวงศ์พงศ์ประยูร |
หกกษัตริย์มัสการแล้วกรานกราบ | ศิโรราบในพระปิ่นบดินทร์สูร |
ศรีสุวรรณกราบก้มบังคมทูล | สองประยูรทรงพรตดาบสินี |
ยังอิ่มเอมเปรมปราเป็นผาสุก | หรีอมทุกข์บ้างหรือพระฤๅษี |
ทั้งโรคันอันตราย์มายายี | หรีอไม่มีที่ในกายสบายบาน |
ทั้งสององค์ทรงพรตดาบสสมร | ถวายพระพรโดยธรรมกรรมฐาน |
เจริญเรียนไตรลักษณ์มรรคญาณ | หมายนิพพานเกษมสุขสิ้นทุกข์ภัย |
แบ่งกุศลผลผลาอานิสงส์ | ถวายองค์อนุชาพลางปราศรัย |
อาตมาตัดบ่วงคือห่วงใย | ไม่อาลัยศฤงคารทั้งบ้านตน |
อยู่ในป่าหาผลไม้ฉัน | ทั้งเผือกมันสารพัดไม่ขัดสน |
พอเป็นยาวะชีวังประทังตน | กว่าจะพ้นทุกข์ไปในสันดาน ฯ |
๏ ฝ่ายพระศรีสุวรรณวงศ์พงศ์กษัตริย์ | สนองอรรถเสาวนีย์สี่สถาน |
จึ่งว่าฉันโมทนาสาธุการ | ในศีลทานที่พระองค์ปลงอารมณ์ |
ก็อยากบวชอยู่บ้างแต่ยังห่วง | ต้องหนักหน่วงในอุระยังสะสม |
เพราะศึกเสือเหลือทนจนอารมณ์ | ต้องเตรียมตรมอยู่ด้วยวงศ์เผ่าพงศ์พันธุ์ |
ครั้นจะเอาตัวรอดเหมือนทอดทิ้ง | ไปนอนนิ่งอยู่ในป่าพนาสัณฑ์ |
แต่ล้วนลูกล้วนหลานสงสารครัน | จะบากบั่นไปแต่ตัวกลัวนินทา ฯ |
๏ ดาบสินีจะใคร่ตีฝีปากตอบ | ผิดระบอบทางธรรมคำสิกขา |
ท่านห้ามปรามสารพัดอัดอุรา | พระอนุชาแนมเหน็บให้เจ็บทรวง |
จึ่งตอบบ้างทางประชดอดไม่ได้ | เขาว่าไว้บวชผัวเพราะตัวหวง |
เอาโยมนั่งจ๋อก้อไว้ล่อลวง | จะตัดห่วงตัดใยเป็นไรมี ฯ |
๏ ศรีสุวรรณชั้นเชิงฉลาดแหลม | จะเหน็บแนมเคี่ยวเข็ญเป็นฤๅษี |
ก็บาปกรรมใครเขารู้ดูไม่ดี | จะเป็นที่ติฉินคนนินทา |
แล้วก็เป็นพี่สะใภ้เคยไหว้กราบ | ทั้งจะบาปติดตัวชั่วนักหนา |
ทำเป็นไม่รู้เท่าเข้าตำรา | เขาจะว่าโง่เง่าไม่เท่าเทียม |
ก็ช่างเถิดทำไม่รู้เหมือนหูหนวก | มิใช่พวกอื่นไกลจะอายเหนียม |
พลางชักพูดทางความตามธรรมเนียม | เสร็จมาเยี่ยมอนุชาเพราะการุญ |
สองมุนินทร์ยินพร้องสนองถ้อย | เห็นเรียบร้อยหน่วงเหนี่ยวไปเฉียวฉุน |
นึกในจิตคิดเห็นจะเป็นคุณ | เดชะบุญเสร็จศึกเหมือนนึกปอง |
จะโลมเล้าเอาใจให้ไปบวช | ทรงผนวชอยู่กุฎีเป็นที่สอง |
อันถิ่นฐานหลานลูกช่วยปลูกครอง | จะเชิญน้องไปสิงคุตรอยู่กุฎี ฯ |
๏ ฝ่ายพระศรีสุวรรณวงศ์พงศ์กษัตริย์ | โองการตรัสสั่งเหล่านางสาวศรี |
ให้จัดเครื่องผลผลาบรรดามี | มาตั้งที่สามกษัตริย์จัดประจง |
ทั้งคาวหวานพระกระยาสุธาโภชน์ | ด้วยมาโนชชื่นชมสมประสงค์ |
พระนักธรรม์ฉันตามกันสามองค์ | สมประสงค์อิ่มหนำพอสาราญ |
พวกฤๅษีเสวกาพากันฉัน | ทั้งหวานมันอิ่มเอมเกษมศานต์ |
หยุดอยู่เมืองปากน้ำค่อยสำราญ | กำหนดนานเบ็ดเสร็จเจ็ดทิวา ฯ |