๖. ว่าด้วยหนังสือที่สุนทรภู่แต่ง

หนังสือบทกลอนที่สุนทรภู่แต่งมีมาก ที่ได้ยินแต่ชื่อเรื่องยังหาฉบับไม่พบก็มี ที่หายสาบสูญไปเสียเเล้ว ไม่ได้ยินชื่อเรื่องมาถึงชั้นนี้ทีเดียวก็เห็นจะมี จะกล่าวถึงแต่เฉพาะเรื่องที่ยังมีฉบับอยู่ในปัจจุบันนี้มี ๒๔ เรื่อง คือ

นิราศ ๙ เรื่อง[๑]

  1. นิราศเมืองแกลง ต้น พ.ศ. ๒๓๕๐
  2. นิราศพระบาท ปลาย พ.ศ. ๒๓๕๐
  3. นิราศภูเขาทอง พ.ศ. ๒๓๗๑
  4. นิราศเมืองสุพรรณ (แต่งเป็นโคลง) พ.ศ. ๒๓๘๔
  5. นิราศวัดเจ้าฟ้า ราว พ.ศ. ๒๓๗๙
  6. นิราศอิเหนา
  7. นิราศพระเเท่นดงรัง[๒]
  8. นิราศพระประธม พ.ศ. ๒๓๘๕
  9. นิราศเมืองเพชรบุรี ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๘-๙๒

นิราศทั้งปวงนี้แต่งจบในสมุดไทยเล่มเดียวทุกเรื่อง[๓]

นิทาน ๕ เรื่อง

  1. เรื่องโคบุตร ๘ เล่มสมุดไทย แต่งในรัชกาลที่ ๑
  2. เรื่องพระอภัยมณี ๙๔ เล่มสมุดไทย แต่งในรัชกาลที่ ๓
  3. เรื่องพระไชยสุริยา (แต่งเป็นกาพย์คำเทียบสอนอ่าน) รวมเล่มสมุดไทย ๑ แต่งในรัชกาลที่ ๓
  4. เรื่องลักษณวงศ์ ๙ เล่มสมุดไทย (เป็นสำนวนแต่งต่ออีก ๓๐ เล่ม)
  5. เรื่องสิงหไตรภพ ๑๕ เล่มสมุดไทย ตอนต้นแต่งในรัชกาลที่ ๒

สุภาษิต ๓ เรื่อง

  1. สวัสดิรักษา รวมเล่มสมุดไทย ๑ ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๔-๗
  2. เพลงยาวถวายโอวาท ราวหน้าสมุดไทย๑ ราว พ.ศ. ๒๓๗๓
  3. สุภาษิตสอนหญิง เล่มสมุดไทย ๑ ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๐-๓

บทละครเรื่อง ๑

  1. เรื่องอภัยนุราช เล่มสมุดไทย ๑

บทเสภา ๒ เรื่อง

  1. เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม เล่มสมุดไทย ๑ แต่งในรัชกาลที่ ๒
  2. เรื่องพระราชพงศาวดาร ๒ เล่มสมุดไทย เเต่งในรัชกาลที่ ๔[๔]

บทเห่กล่อม ๔ เรื่อง

  1. เห่เรื่องจับระบำ
  2. เห่เรื่องกากี
  3. เห่เรื่องพระอภัยมณี
  4. เห่เรื่องโคบุตร

บทเห่เป็นเรื่องสั้นๆ รวมกันทั้ง ๔ เรื่อง สักเล่มสมุดไทย ๑

หนังสือบทกลอนของสุนทรภู่ได้เริ่มพิมพ์ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ หมอสมิทเจ้าของโรงพิมพ์ที่บางคอแหลมพิมพ์เรื่องพระอภัยมณีก่อนเรื่องอื่น พิมพ์ขายคราวละเล่มสมุดไทย เรียกราคาเล่มละสลึง (๒๕ สตางค์) คนตื่นซื้อ หมอสมิทได้กำไรมากนัยว่าสร้างตึกได้หลังหนึ่ง จนหมอสมิทคิดถึงคุณสุนทรภู่ เที่ยวสืบถามเชื้อสายหวังจะให้บำเหน็จ เวลานั้นนายพัดกับนายตาบบุตรสุนทรภู่ยังอยู่ แต่จะได้บำเหน็จเท่าใดหาปรากฏไม่ ตั้งแต่หมอสมิทรวยด้วยพิมพ์หนังสือพระอภัยมณี ต่อมาทั้งหมอสมิทและเจ้าของโรงพิมพ์อื่นๆ ก็ค้นคว้าหาหนังสือบทกลอนสุนทรภู่พิมพ์ขึ้นขายเป็นลำดับมา บางเรื่องได้พิมพ์ถึง ๓ ครั้ง ๔ ครั้ง หนังสือบทกลอนของสุนทรภู่ได้พิมพ์ในเมื่อในรัชกาลที่ ๕ หมดทุกเรื่อง เว้นแต่เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร หอพระสมุดฯ ก็ได้พิมพ์แต่ในรัชกาลที่ ๕ แต่พิมพ์เพียงเท่าที่จำกันไว้ได้ เพราะฉบับสูญหายเพิ่งหาได้ฉบับสมบูรณ์จึงมาพิมพ์ตลอดเรื่องต่อในรัชกาลที่ ๖ เพลงยาวถวายโอวาทก็เพิ่งหาฉบับได้และได้พิมพ์ต่อในรัชกาลที่ ๖ นี้เหมือนกัน



[๑] เลข พ.ศ. นี้ผู้บันทึกเติมลงไว้ตามที่จะรู้ได้ – ธนิต อยู่โพธิ์

[๒] นิราศพระแท่นดงรัง มีสองสำนวนๆ หนึ่งเป็นของสามเณรกลั่น อีกสำนวนหนึ่งเป็นของนายมีมิใช่สุนทรภู่แต่ง ดูบันทึก “ผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง” ท้ายเรื่อง – ธนิต อยู่โพธิ์

[๓] นายเอิบ ราชสมบัติ บุรานนท์ ให้ต้นฉบับเรื่องรำพันพิลาป ซึ่งสุนทรภู่แต่งแก่หอสมุดฯ อีก ๑ เรื่อง พิมพ์หลายครั้งแล้ว – ธนิต อยู่โพธิ์

รำพันพิลาปแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ สุนทรภู่ได้แต่งตามความฝันของท่าน ซึ่งขณะนั้นท่านได้บวชอยู่ ณ วัดเทพธิดา – สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

[๔] ฉันท์ ขำวิไล ว่า แต่งระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๔ – ๒๓๙๘ ในรัชกาลที่ ๔ – กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ