- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๔๔)
- คำนำ (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
- ประวัติสุนทรภู่
- บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง
- อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่
- ปกิรณะกะประวัติของสุนทรภู่
- ตอนที่ ๑ พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา
- ตอนที่ ๒ นางผีเสื้อลักพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๓ ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๔ ศรีสุวรรณพบนางเกษรา
- ตอนที่ ๕ ศรีสุวรรณเกี้ยวนางเกษรา
- ตอนที่ ๖ ศรีสุวรรณรบท้าวอุเทน
- ตอนที่ ๗ ศรีสุวรรณพยาบาลนางเกษรา
- ตอนที่ ๘ อภิเษกศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๙ พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
- ตอนที่ ๑๐ พระอภัยได้นางเงือก
- ตอนที่ ๑๑ นางสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเล
- ตอนที่ ๑๒ พระอภัยมณีพบนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๓ พระอภัยมณีโดยสารเรือนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๑๔ พระอภัยมณีเรือแตก
- ตอนที่ ๑๕ สินสมุทรโดยสารเรือโจรสุหรั่ง
- ตอนที่ ๑๖ สินสมุทรพบศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๑๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๑๘ พระอภัยมณีโดยสารเรืออุศเรน
- ตอนที่ ๑๙ พระอภัยมณีพบศรีสุวรรณกับสินสมุทร
- ตอนที่ ๒๐ สินสมุทรรบกับอุศเรน
- ตอนที่ ๒๑ พระอภัยมณีเกี้ยวนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๒ พระอภัยมณีครองเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
- ตอนที่ ๒๕ สุดสาครเข้าเมืองการะเวก
- ตอนที่ ๒๖ อุศเรนตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๒๘ สุดสาครตามพระอภัยมณี
- ตอนที่ ๒๙ ศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก
- ตอนที่ ๓๐ พระอภัยมณีตีเมืองใหม่
- ตอนที่ ๓๑ พระอภัยมณีพบนางละเวง
- ตอนที่ ๓๒ ศรีสุวรรณอาสาตีด่านดงตาล
- ตอนที่ ๓๓ ย่องตอดสะกดทัพ
- ตอนที่ ๓๔ นางละเวงคิดหย่าทัพ
- ตอนที่ ๓๕ พระอภัยติดท้ายรถ
- ตอนที่ ๓๖ พระอภัยมณีทำผูกคอตายได้นางละเวง
- ตอนที่ ๓๗ ศรีสุวรรณกับสินสมุทรถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ นางสุวรรณมาลีข้ามไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๓๙ นางสุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อ
- ตอนที่ ๔๐ สุดสาครถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม
- ตอนที่ ๔๒ หัสไชยแก้เสน่ห์
- ตอนที่ ๔๓ นางเสาวคนธ์ยิงแก้ม
- ตอนที่ ๔๔ กษัตริย์สามัคคี
- ตอนที่ ๔๕ นางเสาวคนธ์ขุดโคตรเพชร
- ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
- ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุทร
- ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
- ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤๅษี
- ตอนที่ ๕๐ นางเสาวคนธ์ได้เมืองวาหุโลม
- ตอนที่ ๕๑ สุดสาครตามนางเสาวคนธ์
- ตอนที่ ๕๒ พระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์
- ตอนที่ ๕๓ มังคลาครองเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๔ มังคลาชิงโคตรเพชร
- ตอนที่ ๕๕ มังคลาจับนางสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๖ หัสไชยตีด่านเมืองลังกา
- ตอนที่ ๕๗ สุดสาครรบมังคลา
- ตอนที่ ๕๘ นางละเวงวัณฬาช่วยนางสุวรรณมาลีแลท้าวทศวงศ์
- ตอนที่ ๕๙ พระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๐ พระอภัยมณีรบกับมังคลา
- ตอนที่ ๖๑ สังฆราชบาทหลวงเผาเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๒ พระอภัยเข้าเมืองลังกา
- ตอนที่ ๖๓ อภิเษกหัสไชย
- ตอนที่ ๖๔ พระอภัยมณีออกบวช
- ตอนที่ ๖๕ พระบาทหลวงพาพระมังคลาหนีทัพไปเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๖๖ วลายุดาครองเมืองสินชัย
- ตอนที่ ๖๗ วายุพัฒน์เป็นอุปราชเมืองเซ็น
- ตอนที่ ๖๘ หัสกันครองเมืองสุลาลัย
- ตอนที่ ๖๙ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา
- ตอนที่ ๗๐ พระมังคลายกทัพเรือมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๗๑ นางรำภา นางยุพาผกาและนางสุลาลีวันออกรบ
- ตอนที่ ๗๒ สุดสาคร สินสมุทรรบกับพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๓ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันเข้าเฝ้าศรีสุวรรณ
- ตอนที่ ๗๔ ทัพพันธมิตรเมืองกำพลเพชรยกมาช่วยพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๕ พระมังคลาล่าทัพไปถึงเกาะกาหวี
- ตอนที่ ๗๖ ทหารเมืองกำพลเพชรตามนางกฤษณาพบพระมังคลา
- ตอนที่ ๗๗ พระมังคลาได้นางดวงแขลูกสาวเจ้าเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๗๘ อภิเษกพระกฤษณากับนางเทพินไปครองเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๗๙ วลายุดา วายุพัฒน์และหัสกันลามารดากลับไปเมือง
- ตอนที่ ๘๐ พระมังคลายกทัพเมืองสำปันหนาไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๑ ศรีสุวรรณออกรับศึกพระมังคลา
- ตอนที่ ๘๒ โจรสลัดคุมกำปั่นปล้นเมืองรมจักร
- ตอนที่ ๘๓ ศรีสุวรรณมาช่วยเมืองรมจักรรบโจรสลัด แล้วอภิเษกตรีพลำกับอัมพวันและเทวัญกับนิลกัณฐี
- ตอนที่ ๘๔ พระมังคลากับพระบาทหลวงแตกทัพไปเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ
- ตอนที่ ๘๕ พระมังคลาไปถึงเมืองโรมพัฒน์ได้นางบุษบง
- ตอนที่ ๘๖ พระบาทหลวงกับพระมังคลายกทัพเรือเมืองโรมพัฒน์ไปตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๘๗ สุดสาครทราบข่าวศึก
- ตอนที่ ๘๘ พระมังคลากับพระบาทหลวงตีได้เมืองด่านลังกา
- ตอนที่ ๘๙ ทัพสุดสาครตีทัพพระมังคลาพ่าย จนเทวสินธุ์ตามไปถึงเมืองสำปันหนา
- ตอนที่ ๙๐ ท้าวรายากับพระเทวสินธุ์ไปถึงเมืองกำพลเพชร แล้วยกทัพไปเมืองลังกา
- ตอนที่ ๙๑ หกกษัตริย์ยกทัพมาช่วยเมืองลังกาทำศึก
- ตอนที่ ๙๒ พระบาทหลวงรบศึกหกกษัตริย์จนลมแดงซัดเรือรบพลัดกัน
- ตอนที่ ๙๓ สุดสาครตีเมืองด่านแตก
- ตอนที่ ๙๔ พระเทวสินธุ์พบพระมังคลาจนเจ็ดกษัตริย์เตรียมรบ
- ตอนที่ ๙๕ พระมังคลากับพระบาทหลวงยกทัพเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๙๖ ทัพเจ็ดกษัตริย์ตีทัพพระบาทหลวงแตก
- ตอนที่ ๙๗ พระบาทหลวงเตรียมตีเมืองปากน้ำคืน
- ตอนที่ ๙๘ พระบาทหลวงขับท้าวรายากับนางบุษบงไปจากกองทัพ จนพระมังคลาหนี
- ตอนที่ ๙๙ พระบาทหลวงยกเข้าตีเมืองปากน้ำ
- ตอนที่ ๑๐๐ สินสมุทรตีทัพพระบาทหลวงจนถูกยาเบื่อ
- ตอนที่ ๑๐๑ พระอภัยมณีเยือนลังกา
- ตอนที่ ๑๐๒ พระบาทหลวงปล่อยโคมไฟไปตกเมืองลังกา จนถึงพระอภัยมณีห้ามทัพ
- ตอนที่ ๑๐๓ หกกษัตริย์ตีโต้ทัพพระบาทหลวงล่าไปเมืองปตาหวี
- ตอนที่ ๑๐๔ พระอภัยมณีกลับไปเขาสิงคุตร
- ตอนที่ ๑๐๕ อภิเษกหัสกันกับนางวันชายา
- ตอนที่ ๑๐๖ พระอภัยมณีไปเยี่ยมนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๐๗ พระบาทหลวงเข้าเมืองปตาหวีแล้วตามไปพบพระมังคลาที่เมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๐๘ พระมังคลาและนางบุษบงออกมารับพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๐๙ ท้าวโกสัยบอกพระมังคลาให้รู้อุบายพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๐ พระบาทหลวงตีด่านเมืองกำพลเพชร
- ตอนที่ ๑๑๑ พระมังคลามีสารง้อศรีสุวรรณสุดสาครและสินสมุทร ให้มาช่วยรบพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๒ ทัพพระมังคลารบกับทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๓ ทัพศรีสุวรรณกับสี่กษัตริย์ตีกระหนาบทัพพระบาทหลวง
- ตอนที่ ๑๑๔ ทัพเรือพระบาทหลวงเข้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๕ ศรีสุวรรณกับพวกพาพระมังคลากลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๑๖ ท้าวกุลามาลีได้นางดวงประไพลูกสาวท้าวสินชัยเจ้าเมืองกาศึก
- ตอนที่ ๑๑๗ พระมังคลาไปงานโสกันต์ระเด่นกินเรศ
- ตอนที่ ๑๑๘ เจ้าเมืองปตาหวีพานางดวงประไพกลับเมือง
- ตอนที่ ๑๑๙ สุดสาครไปเยี่ยมนางเงือกและพระฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร
- ตอนที่ ๑๒๐ สุดสาครกลับเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๒๑ ศรีสุวรรณให้นรินทร์รัตน์ไปครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๒ อภิเษกนรินทร์รัตน์ครองเมืองรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๓ เจ็ดกษัตริย์ยกทัพมาตีเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๔ นรินทร์รัตน์ขอราเมศมาเป็นอุปราชกรุงรัตนา
- ตอนที่ ๑๒๕ นรินทร์รัตน์กับราเมศมาช่วยเมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๖ เจ็ดกษัตริย์ตายสี่หนีสาม
- ตอนที่ ๑๒๗ นรินทร์รัตน์หลงนางเกศพัฒน์เมืองเหมรา
- ตอนที่ ๑๒๘ อภิเษกพระราเมศกับนางดวงประภา
- ตอนที่ ๑๒๙ ภัทวงศ์ไปไหว้เทวรูปจนพบนางเกสรสุมาลัย
- ตอนที่ ๑๓๐ เจ้าเมืองวายุภักษ์ขอนางเกสรสุมาลัยให้ภัทวงศ์
- ตอนที่ ๑๓๑ พระสังฆราชบาทหลวงยกทัพมาตีเมืองลังกา
- ตอนที่ ๑๓๒ ตัดหางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง
ตอนที่ ๒๗ เจ้าละมานตีเมืองผลึก
๏ ฝ่ายลูกสาวเจ้าลังกาพระยาหญิง | ไม่มีสิ่งสุขจิตคิดถวิล |
ถึงเวลาว่าขานการแผ่นดิน | ก็ได้ยินเรื่องเขาฆ่าบิดาตาย |
นางทรงฟังดังพระกรรณจะลั่นออก | เหมือนหนามยอกเสียบหูไม่รู้หาย |
ถึงยามนอนถอนฤทัยให้ระคาย | คิดอุบายบาทหลวงเพียงทรวงโทรม |
ไม่เห็นหนกลศึกที่ลึกซึ้ง | แสนรำพึงผอมซูบพระรูปโฉม |
ทุกทุ่มยามห้ามฆ้องกลองประโคม | มิให้โครมครื้นครึกด้วยตรึกตรอง ฯ |
๏ ฝ่ายนารีพี่เลี้ยงอยู่เคียงแท่น | เห็นนางแสนโศกนักพระพักตร์หมอง |
จึงเล้าโลมโฉมงามตามทำนอง | แม้ขัดข้องข้อใดที่ในทรวง |
แม่โฉมยงจงอุตส่าห์มีมานะ | ไปหาพระสังฆราชผู้บาทหลวง |
จะได้อ้อนวอนถามความทั้งปวง | จะเหงาง่วงงึมงำอยู่ทำไม ฯ |
๏ นางฟังสี่พี่เลี้ยงประโลมปลอบ | ค่อยชื่นชอบชี้ทางสว่างไสว |
พอเช้าตรู่สุริโยอโณทัย | สั่งให้ไขสินธุพุละออง |
นางสรงชลบนเตียงพี่เลี้ยงล้อม | ประณตน้อมพระบุตรีสีขนอง |
ขัดสุคนธ์ปนเจือด้วยเนื้อทอง | นวลละอองอำไพวิไลตา |
แล้วแต่งองค์ทรงเครื่องเรืองจำรัส | อย่างกษัตริย์บิตุเรศพระเชษฐา |
พี่เลี้ยงเหล่าสาวสรรค์กัลยา | ล้วนปรีชาเชิญพระแสงแต่งเป็นชาย |
ส่วนโฉมยงทรงกระบี่แล้วลีลาศ | มาทรงราชรถาฝาพระฉาย |
ขุนนางแห่แต่ล้วนดาบกำซาบสะพาย | ออกทางท้ายเมืองมาถึงอาราม ฯ |
๏ ลงจากรถบทบาทค่อยยาตรย่าง | พี่เลี้ยงนางนำเสด็จไม่เข็ดขาม |
สาวสะเทิ้นเชิญพระแสงคอยแซงตาม | ชมอารามรุ่งโรจน์โบสถ์โบราณ |
เพิงผนังหลังคาโอฬารึก | กุฎีตึกโตโตรโหฐาน |
บันไดคดลดหลั่นเป็นชั้นชาน | ศิลาลานเลี่ยนลาดสะอาดตา |
ปลูกต้นแก้วทับทิมที่ริมตึก | ร่มระรื่นครื้นครึกล้วนพฤกษา |
กุหลาบดอกออกแซมแย้มระย้า | ทั้งพุดจีบปีบจำปาสารภี |
หอมรวยรวยชวยชื่นระรื่นรส | ดอกไม้สดสองข้างทางวิถี |
สี่พี่เลี้ยงเคียงคลอจรลี | ขึ้นกุฎีบาทหลวงมีควงกล |
พอเหยียบบันไดไพล่พลิกเสียงกริกกร่าง | ระฆังหง่างเหง่งตามกันสามหน |
พระฝรั่งฟังสำคัญอยู่ชั้นบน | รู้ว่าคนเข้ามาหาออกมารับ |
เห็นลูกสาวเจ้าลังกามาเป็นพวก | ล้วนถอดหมวกยืนเรียงพี่เลี้ยงสลับ |
ด้วยถอดหมวกพวกฝรั่งเป็นคำนับ | จึงต้อนรับเชิญนั่งที่ตั่งเตียง ฯ |
๏ นางละเวงเกรงพระต้องละยศ | สละลดส่านไหมสไบเฉียง |
บรรดาเหล่าสาวศรีพระพี่เลี้ยง | อยู่แต่เพียงชั้นล่างห่างห่างกัน |
บาทหลวงเฒ่าเข้าใจไถลถาม | มาอารามรูปทำไมเจ้าไอศวรรย์ |
ฝ่ายโฉมยงองค์ละเวงวิลาวัณย์ | จึงรำพันพจนาด้วยอาดูร |
ข้าพเจ้าเอาชีวิตอุทิศถวาย | ทั้งร่างกายกว่าชีวาตม์จะขาดสูญ |
ขอพึ่งบุญคุณพระช่วยอนุกูล | ให้เพิ่มพูนภิญโญในโภไคย |
ซึ่งทิ้งตราราหูเรียนรู้หญิง | ทั้งสองสิ่งสุดจะแปลจะแก้ไข |
พระโปรดด้วยช่วยแสดงให้แจ้งใจ | แต่พอให้แก้แค้นแทนบิดร ฯ |
๏ บาทหลวงฟังนั่งนึกเห็นลึกแหลม | ไอกระแอมอุบอิบกระซิบสอน |
อันดวงตราราหูคู่นคร | ข่าวขจรเจริญมาเนิ่นนาน |
ทุกด้าวแดนแสนรักจักใคร่ได้ | เขียนบอกไปในกระดาษราชสาร |
แม้นใครรับดับร้อนช่วยรอนราญ | จะเชิญท่านผ่านผดุงกรุงลังกา |
ซึ่งเรียนรู้ผู้หญิงสิ่งสังวาส | ให้ฉลาดเหลือเอกเหมือนเมขลา |
จำลององค์ลงกระดาษให้บาดตา | เอาชื่อตราชื่อกรุงจรุงพจน์ |
กับรูปวาดราชสารการสรรเสริญ | ไปเที่ยวเชิญท้าวพระยาคงมาหมด |
ได้ใช้เล่นเช่นเขาว่าเสนามด | เพราะรักยศรักหญิงช่วยชิงชัย |
อันถิ่นฐานบ้านเมืองที่เรืองเดช | หลายประเทศแผนที่คัมภีร์ไสย |
ทั้งแยบยลกลศึกจารึกไว้ | ตั้งแต่ไตรดายุคทุกแผ่นดิน |
แม้นเรียนได้ไว้เป็นครูรู้ทำเนียบ | จะคิดเทียบทำอย่างไรก็ได้สิ้น |
ไม่เหนื่อยใจไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน | ใช้แต่ลิ้นก็พอเห็นจะเป็นการ |
พลางไขตู้ดูตำราไตรดายุค | แผนที่ทุกถิ่นประเทศเขตสถาน |
ให้ลูกสาวเจ้าลังกาแล้วอาจารย์ | ก็บอกการกลเล่ห์เสน่ห์ชาย |
เสกสุคนธ์ปนยาแก้วตามนุษย์ | แม้บุรุษเห็นพักตร์รักไม่หาย |
ยิ่งถูกมือหรือว่าได้เข้าใกล้กาย | คนนั้นตายด้วยได้เพราะใจรัก |
จงพากเพียรเรียนร่ำให้สำเร็จ | กลเม็ดเหมือนอย่างกริชที่มิดฝัก |
แต่ฝึกตัวมั่วชายวุ่นวายนัก | ใจจะรักเขาเข้าบ้างระวังใจ |
นางละเวงเกรงบาปไม่หยาบหยาม | จะทำตามชี้แจงแถลงไข |
แม้นราคีมีระคายที่ชายใด | สัญญาให้แล่เนื้อเอาเกลือทา ฯ |
๏ บาทหลวงนั่งฟังหัวร่อแล้วขอโทษ | อย่ากริ้วโกรธตรองตรึกหมั่นศึกษา |
นางจดจำคำนับรับตำรา | ทั้งผืนผ้าแผนที่ด้วยดีใจ |
เอาใส่หีบจีบจับระดับกระดาษ | ตำรับราชสงครามตามวิสัย |
ให้คนหามตามหลังเข้าวังใน | นางตั้งใจพากเพียรเรียนตำรา |
รู้วิสัยไตรเพทประเทศถิ่น | ภูมิแผ่นดินแดนทะเลพระเวหา |
แล้วจ้างนางโลภหนักมาควักตา | ประสมยายอดเสน่ห์ด้วยเล่ห์กล |
เลือกเหล่าสาวสุรางค์สำอางโฉม | งามประโลมล้ำหญิงในสิงหล |
ที่รุ่นราวสาวน้อยได้ร้อยคน | มาสอนกลสตรีให้ปรีชา |
แม้นชายใดได้ปะพอประเนตร | แสนเทวษหวังรักนั้นนักหนา |
แล้วฝึกหญิงยิงธนูรู้ศัสตรา | เป็นรักษาองค์นั้นสามพันคน |
ทั้งหัดชายนายทหารชาญกำแหง | ให้เข้มแข็งการศึกเฝ้าฝึกฝน |
ทุกคืนวันหมั่นระวังเป็นกังวล | กว่าพวกพลจะได้คล่องถึงสองปี |
จึงแต่งสารลานทองใส่กล่องแก้ว | เหมือนกลแร้วจะได้ดักฝูงปักษี |
เลือกอำมาตย์ราชทูตที่พูดดี | รู้ท่วงทีทำเล่ห์เพทุบาย |
กับรูปนางช่างเขียนไม่เพี้ยนผิด | ตามจริตเมืองทมิฬสิ้นทั้งหลาย |
สารสำหรับกับรูปของเจ้านาย | ไปฝากฝ่ายเมืองมีไมตรีกัน |
เที่ยวเชิญท้าวเจ้าบุรินทร์ปิ่นประเทศ | ทั้งต่างเพศเพียงยักษ์มักกะสัน |
ด้วยแผนที่มีแจ้งแห่งสำคัญ | เกณฑ์กำปั่นไปลำละตำบล |
แล้วเกณฑ์ไพร่ไปตั้งวังสนาม | ที่ท่าข้ามขอบฝั่งหลังถนน |
ก่อกำแพงแหล่งล้อมป้อมประจญ | มีตึกกลสูงใหญ่กระไดเวียน |
เก๋งสำหรับรับแขกทำแปลกอย่าง | เลือกล้วนช่างที่ฉลาดมาวาดเขียน |
มีคนรู้ผู้ดำริคอยติเตียน | ให้แปลงเปลี่ยนปลูกสร้างสำอางตา |
เป็นปีครึ่งจึงสำเร็จได้เสร็จสรรพ | วังสำหรับท่าข้ามสำปันหนา |
หนทางไกลไปแต่วังเมืองลังกา | จนถึงท่าที่ข้ามเป็นสามวัน |
ถ้าตกแล้งแต่งขุนนางต่างพระเนตร | เฝ้านิเวศน์เวียงชัยไอศวรรย์ |
นางยกพลคนแสนกับสามพัน | มาตั้งมั่นเมืองใหม่ใกล้คงคา |
ให้ขึ้นป้อมล้อมระวังเผื่อพลั้งพลาด | แต่งออกลาดตระเวนเกณฑ์อาสา |
สะพรักพร้อมซ้อมหัดเพลงศัสตรา | ทั้งคอยท่าทัพท้าวทุกด้าวแดน ฯ |
๏ ฝ่ายอำมาตย์ราชทูตพวกถือสาร | คุมทหารลำละร้อยออกลอยแล่น |
ด้วยเข็มตั้งสังเกตทุกเขตแคว้น | ไปตามแผนที่ทางกลางคงคา |
ฝ่ายลำหนึ่งถึงละมานสถานถิ่น | เมืองทมิฬฟันเสี้ยมเหี้ยมหนักหนา |
ไม่กินข้าวชาวบุรินทร์กินแต่ปลา | กินช้างม้าสารพัดสัตว์นกเนื้อ |
ถึงเวลาฆ่าชีวิตเอามีดเชือด | แล้วคลุกเลือดด้วยสักหน่อยอร่อยเหลือ |
ทั้งน้ำส้มพรมพล่าน้ำปลาเจือ | ล้วนเถือเนื้อดิบกินสิ้นทุกคน |
จึงพ่วงพีมีกำลังเหมือนดังอูฐ | แต่เสียงพูดคล้ายทำนองของสิงหล |
ไว้ผมปรกปกไหล่เหมือนไฟลน | หยิกหยิกย่นย่อย่องององอน |
ใส่เสื้อแสงแต่งกายคล้ายฝรั่ง | มีกำลังเหล็กนั้นทำคันศร |
ใส่สายลวดกวดกลมพอสมกร | ยิงกุญชรแรดควายตายทุกที |
อันแดนดินถิ่นฐานทุกบ้านช่อง | บังเกิดทองเกิดเพชรทั้งเจ็ดสี |
อึกทึกตึกตั้งด้วยมั่งมี | ชาวบุรีก็มิได้ทำไร่นา |
เก็บเงินทองกองทรัพย์ไว้นับซื้อ | โคกระบือม้าช้างต่างภาษา |
ใครไปขายได้แพงแรงราคา | เรือลูกค้าเข้าเมืองนั้นเนื่องไป |
อันองค์ท้าวเจ้าบุรินทร์ปิ่นประเทศ | อัคเรศร่วมรักนั้นตักษัย |
ทุกเช้าค่ำคร่ำครวญรัญจวนใจ | จะหาใหม่ก็ไม่สมอารมณ์คิด |
ถึงนารีมีอื่นสักหมื่นแสน | ไม่เหมือนแม้นเมียหลวงดังดวงจิต |
พอหลับลงทรงพระสุบินนิมิต | ว่านาคีมีฤทธิ์เผ่นทะยาน |
ดูยาวเฟื้อยเลื้อยมาบนอากาศ | รัดปราสาทสุดยอดตลอดฐาน |
แล้วพ่นพิษฤทธิ์เริงดังเพลิงกาฬ | ประหารผลาญวรองค์เป็นผงคลี |
พอรู้สึกนึกว่างูคือผู้หญิง | จะมีใครใคร่เป็นมิ่งมเหสี |
จึงแก้ฝันบรรดาโหรากวี | เขาว่าทีจะได้องค์อนงค์นาง |
พอได้ข่าวชาวลังกาจะมาเฝ้า | ให้รับเข้าเขตจังหวัดไม่ขัดขวาง |
ฝ่ายอำมาตย์ราชทูตเอาอูฐช้าง | ถวายต่างบุปผาบรรณาการ |
แล้วเข้าเฝ้าเจ้าบุรีเห็นสีซูบ | ถวายรูปกระดาษราชสาร |
ทั้งทูลความตามประสงค์ของนงคราญ | เจ้าละมานตรัสตอบว่าขอบใจ |
รับไมตรีคลี่กระดาษที่วาดรูป | เห็นงามงูบง่วงซบสลบไสล |
หมอเข้าแก้แต่อังสาถึงขาตะไกร | จึงค่อยได้สมประดีกลับคลี่ชม |
งามเสงี่ยมเอี่ยมอิ่มดูพริ้มพักตร์ | พระเกศปักปิ่นทองใส่ช้องผม |
นิ้วนิดนิดชิดแช่มแฉล้มกลม | แต่ทรวงห่มส่านพับนั่งหลับตา |
นวลละอองสองแก้มเหมือนแย้มยิ้ม | ดูจิ้มลิ้มหลงเล่ห์ในเลขา |
พระโอษฐ์อิ่มพริ้มพรายชม้ายมา | พอปะตาเต็มรักพระยักคิ้ว |
แล้วลืมองค์ทรงกระแอมแล้วแย้มเยื้อน | แม่งามเหมือนเดือนเพ็งช่างเปล่งผิว |
ดังลอยฟ้ามาให้ชมตามลมปลิว | แล้วลอยลิ่วลับไปเสียไกลตา |
ครั้นรู้สึกนึกเก้อทำเรอแก้ | เอาพับจีบหนีบรักแร้รักนักหนา |
ทำถามทูตพูดถึงพระธิดา | ชันษาโฉมเฉลาสักเท่าไร ฯ |
๏ ราชทูตพูดล่อทั้งยอเจ้า | ได้สิบเก้าเข้าปีนี้เป็นปีใหม่ |
เมื่อคลอดนั้นควันกลบทั้งภพไตร | แผ่นดินไหวแว่นแคว้นแดนสุธา |
โหรทำนายทายว่าจะปรากฏ | เกียรติยศคู่สร้างต่างภาษา |
พอสิ้นบุญทูลกระหม่อมจอมลังกา | พระธิดาองค์เดียวก็เปลี่ยวใจ |
จึงเสี่ยงทายหมายว่านานาประเทศ | ทุกขอบเขตขัตติย์วงศ์พระองค์ไหน |
ทรงโปรดปรานปราบสิ้นอรินทร์ภัย | ก็จะให้บำรุงกรุงลังกา ฯ |
๏ เจ้าละมานหวานหูไม่รู้อิ่ม | ทั้งแย้มยิ้มยังพึ่งรุ่นบุญหนักหนา |
ได้เมียใหม่ได้ทั้งเมืองลังกา | พลางฉีกตราราชสารออกอ่านพลัน |
ในสารทรงองค์ละเวงวัณฬาราช | เสวยราชย์ลังกามหาศวรรย์ |
สืบกษัตริย์ขัตติย์วงศ์ในพงศ์พันธุ์ | ทุกคืนวันว้าเหว่อยู่เอกา |
เหมือนหงส์ทองล่องเมฆวิเวกสูง | ไม่เหมือนฝูงหงส์ทองห้องคูหา |
แม้นสิ้นบุญสูญกษัตริย์ขัตติยา | ชาวพาราราษฎรจะร้อนรน |
บัดนี้เล่าชาวผลึกเป็นศึกเสี้ยน | ยังเบียดเบียนชายหญิงชาวสิงหล |
ไม่มีชายนายทัพกำกับพล | จะผ่อนปรนปราบศึกช่วยตรึกตรา |
จึงเสี่ยงทายพรายแพร่งให้แจ้งข่าว | ถึงองค์ท้าวเจ้าประเทศเหมือนเชษฐา |
ผู้ใดรับดับแค้นแทนบิดา | ปราบปัจจามิตรให้บรรลัยลาญ |
จะมอบตราราหูคู่สมบัติ | สืบกษัตริย์สุริย์วงศ์ดำรงสถาน |
แต่ละข้อล่อใจเห็นได้การ | เจ้าละมานเหมือนจะเหาะหัวเราะคัก |
แล้วชวนทูตพูดจาประสาซื่อ | เรานับถืออยู่จะใคร่ไปรู้จัก |
แต่เมืองเราชาวลังกาเขาว่ายักษ์ | จึงแกล้งกักกั้นด่านเสียนานมา |
ประเดี๋ยวนี้ศรีสวัสดิ์เสวยราชย์ | ให้รูปวาดตามประสงค์ดังวงศา |
เราต่างเพศเหตุไฉนใจสุดา | ว่าเมตตาสงสัยจะใคร่รู้ ฯ |
๏ ฝรั่งทูตพูดดีไม่มีขัด | เหมือนปืนยัดยิงกรอกกระบอกหู |
แม้นห่างกันพรั่นตัวเหมือนกลัวงู | ถ้าเป็นคู่เคียงข้างก็วางใจ |
แต่เสือลายร้ายกล้าประดาเสีย | ไม่กินเมียกินมิตรพิสมัย |
ยิ่งได้ยักษ์ศักดิ์สิทธิ์ฤทธิไกร | ยิ่งดีใจจะได้กลัวทั่วแผ่นดิน ฯ |
๏ เจ้าละมานพานจะซื่อถือว่าแน่ | เสวยแต่ผลยอหัวร่อดิ้น |
ให้ทองคำบำเหน็จทั้งเพชรนิล | เลี้ยงให้กินข้าวปลาประสาเคย |
แล้วองค์ท้าวเข้าที่คลี่กระดาษ | เอารูปวาดวางเรียงเคียงเขนย |
ยิ่งพิศเพ่งเปล่งปลั่งกำลังเชย | พระกรเกยกอดรูปเฝ้าลูบคลำ |
แต่น่าชังสังวาสตามชาติยักษ์ | ฝีมือหนักนีดเน้นเคล้นขยำ |
กำเริบรักปลักปลอบไม่ตอบคำ | เฝ้าสูดร่ำร้องว่าสาแก่ใจ |
ประหลาดจริงนิ่งหงิมไม่ยิ้มแย้ม | เดี๋ยวนี้แก้มแดงดอกจะบอกให้ |
พระกอดรูปจูบซ้ำนั้นร่ำไป | ใครใช้ให้ไม่พูดจะสูดแรง |
ครั้นรู้สึกนึกยั้งแล้วคลั่งอีก | เฝ้าชักฉีกชายเสื้อเหลือแสลง |
แล้วเคลิ้มเห็นเป็นหยิกทำพลิกแพลง | พระองค์แดงดังหนึ่งตำลึงงอม |
จนรุ่งเช้าท้าวแอบไว้แนบเนื้อ | แล้วทรงเสื้อสวมปิดสนิทถนอม |
คลุมประทมห่มคลุมดูออมครอม | ต้องอดออมอารมณ์ให้ตรมเตรียม |
เวลาสายย้ายย่างออกข้างหน้า | พร้อมเสนานับพันพวกฟันเสี้ยม |
จึงสั่งงานการสงครามตามธรรมเนียม | ให้ตรวจเตรียมเภตราพันห้าร้อย |
พลประจำลำละพันถือคันศร | เคยราญรอนรบกล้าไม่ล่าถอย |
เรือทองคำลำที่นั่งนั้นฝังพลอย | ดูพรายพร้อยแพรวพร่างกระจ่างตา |
ด้วยที่แดนแผ่นดินเพชรนิลมาก | ไม่หายากเหมือนอย่างต่างภาษา |
บรรทุกน้ำลำเลียงกับข้าวปลา | ทั้งสัตว์ป่าเป็ดไก่เอาไปกิน |
ได้พร้อมพรั่งคั่งคับเป็นสรรพเสร็จ | คอยเสด็จดาษดาชลาสินธุ์ |
ส่วนองค์ท้าวเจ้าละมานผ่านแผ่นดิน | เหมือนจะบินข้ามฝั่งไปลังกา |
ด้วยเชยรูปจูบสุคนธ์ปนยาแฝด | เปรียบเหมือนแรดได้กลิ่นถวิลหา |
พอพร้อมไพร่ไม่รอดูฤกษ์พา | ยกเภตราพันเศษจากเขตแคว้น |
ส่วนนายท้ายหมายมั่นตะวันออก | ตัดระลอกแล่นข้ามไปตามแผน |
ด้วยรีบร้อนก่อนท้าวทุกด้าวแดน | ได้ลมแล่นร่ำมาไม่ราใบ |
เป็นเดือนหนึ่งถึงลังกาตรงท่าข้าม | ถนนพระรามราชวังที่ตั้งใหม่ |
ทอดสมอรอเรียงเคียงกันไป | บ้างลดใบลดเสากินเหล้ายา |
ฝ่ายอำมาตย์ราชทูตที่ถือสาร | ทูลลาท้าวเจ้าละมานด้วยหรรษา |
ขึ้นเมืองใหม่ไปเฝ้าพระธิดา | ทูลกิจจาตามจริงทุกสิ่งอัน ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์ละเวงวัณฬาราช | คิดขยาดอยู่ด้วยยักษ์มักกะสัน |
แต่ใจรู้อยู่ว่าไม่ทำไมกัน | จะดูฟันเสี้ยมเล่นให้เห็นพักตร์ |
ดำริพลางทางสั่งพวกช่างแต่ง | จงจัดแจงให้พิลึกตึกตำหนัก |
จะรับแขกแปลกประเทศเป็นเพศยักษ์ | ให้พร้อมพรักพระที่นั่งเหมือนสั่งไว้ ฯ |
๏ ฝ่ายฝรั่งช่างประดับได้รับสั่ง | มาแต่งตั้งเตียงทองม่านสองไข |
เป็นลดหลั่นชั้นบนล้วนกลไก | มีควงไขฆ้องระฆังก็ดังเอง |
ริมกระถางวางธูปรูปฝรั่ง | ถึงนาทีตีระฆังเสียงหงั่งเหง่ง |
ระเรื่อยรับขับขานประสานเพลง | ผู้ใดฟังวังเวงในวิญญาณ์ |
ดอกไม้ร้อยสร้อยสนสุคนธรส | มะลิสดหอมระรื่นชื่นนาสา |
แถวถนนหนทางข้างคงคา | ให้ปูผ้าขาวรองไว้สองชั้น |
ฝ่ายพ่อครัวหัวป่าก์หาแกล้มเหล้า | จะเลี้ยงเหล่าพวกยักษ์มักกะสัน |
สังหารแพะแกะควายลงหลายพัน | เอาแม่ขันรองเชือดเลือดเอาไว้ |
บ้างแล่เถือเนื้อสดรดน้ำส้ม | ไม่แกงต้มตับดิบพอหยิบได้ |
ปรุงผักชียี่หร่าโรยพริกไทย | ทำเตรียมไว้พร้อมเสร็จสำเร็จการ ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์ละเวงวัณฬาสมร | พอแดดอ่อนอาบองค์สรงสนาน |
ชโลมละอองทองปนสุคนธ์ธาร | พนักงานขัดสีฉวีวรรณ |
ทรงภูษาค่าเมืองเรืองระยับ | สอดสลับฉลององค์ทรงกระสัน |
ใส่สร้อยนวมสวมประสานสังวาลวรรณ | แก้วกุดั่นแวววามอร่ามองค์ |
แล้วกวดเกล้าเมาลีศรีสวัสดิ์ | ผจงผัดพระนลาฏวาดขนง |
ปักปิ่นทองช้องผมพอสมทรง | ดังอนงค์นางฟ้าสุราลัย |
ใส่สนอบกรอบหน้าระย้าย้อย | ล้วนเพชรพลอยแพรวพรายดอกไม้ไหว |
แล้วเลือกสาวสันทัดที่หัดไว้ | สำหรับใช้ปรนนิบัติกษัตรา |
แม้นชายใดได้ยลวิมลโฉม | หวังประโลมหลงเล่ห์เสน่หา |
กับนารีที่ได้หัดเพลงศัสตรา | คอยรักษาองค์นางข้างละพัน |
แล้วทรงตราราหูยูรยาตร | ดูผุดผาดดังสุรางค์นางสวรรค์ |
สี่พี่เลี้ยงเคียงคลอจรจรัล | นางกำนัลพรั่งพร้อมล้อมจรดล |
ออกตึกใหม่ใหญ่กว้างสำอางโฉม | เสียงประโคมฆ้องกลองก้องกาหล |
ทั้งธงทิวปลิวเปลื้องไปเบื้องบน | ตามถนนใหญ่ยาวผ้าขาวปู |
ชาวลังกาพากันดูพวกฟันเสี้ยม | เห็นหาญเหี้ยมน่ากลัวทั้งหัวหู |
แต่ล้วนมีฝีมือถือธนู | ชวนกันดูเดินตามออกหลามมา |
เข้าในวังยั้งหยุดกระบวนแห่ | ให้ตามแต่ตัวนายทั้งซ้ายขวา |
เข้าตึกทองห้องประทับระยับตา | ขุนเสนาเชิญให้นั่งบัลลังก์รัตน์ |
ฝ่ายสุรางค์นางสำหรับคอยรับแขก | ล้วนรุ่นแรกรู้กลปรนนิบัติ |
มานบนอบหมอบกรานอยู่งานพัด | บ้างก็ยัดจุดกล้องประคองคอย |
บ้างหมอบเมียงเคียงบัลลังก์เข้าตั้งเครื่อง | แลชำเลืองล่อใจให้ใช้สอย |
พอเนตรสบหลบเลี่ยงเมียงชม้อย | ดูแช่มช้อยเชิงชวนให้ยวนใจ ฯ |
๏ เจ้าละมานลานจิตพิศเพ่ง | ล้วนปลั่งเปล่งปลื้มจิตด้วยพิสมัย |
กิริยาน่าถนอมละม่อมละไม | พระยิ้มใหญ่ยิ้มน้อยชม้อยเมิน |
มาเห็นนางข้างซ้ายชม้ายหมอบ | ยิ่งชื่นชอบเชิงนางระคางเขิน |
ดูเพราพริ้มยิ้มแย้มแจ่มเจริญ | พระหลงเพลินพลอยยิ้มอยู่พริ้มพราย ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์ละเวงวัณฬาสมร | เปิดบัญชรฉากเขียนวิเชียรฉาย |
เห็นองค์ท้าวเจ้าละมานเหมือนมารร้าย | ทั้งรูปกายใหญ่หลวงดูพ่วงพี |
จมูกแหลมแก้มแฟบซีกฟันเสี้ยม | ดูหน้าเหี้ยมหาญหนักเหมือนยักษี |
แต่กิริยาดูประหวัดด้วยสตรี | เห็นนารีสาวแส้แลตะลึง |
ดำริพลางนางกษัตริย์ตรัสปราศรัย | ขอบพระทัยเชษฐารีบมาถึง |
น้องสมหวังดังจิตคิดคะนึง | จะได้พึ่งภูมีเหมือนพี่ยา |
แล้วปราศรัยไต่ถามไปตามเรื่อง | ถึงบ้านเมืองเผ่าพงศ์พระวงศา |
ทั้งแถวทางกลางทะเลมาเภตรา | มรคาขัดขวางเป็นอย่างไร ฯ |
๏ ฝ่ายองค์ท้าวเจ้าละมานให้ลานจิต | เฝ้าเพ่งพิศฝูงอนงค์ให้หลงใหล |
เสียงตระหนักทักทายก็อายใจ | ชำเลืองไปดูนางตามหว่างโคม |
เห็นโฉมยงองค์ละเวงวัณฬาราช | สถิตอาสน์อำไพวิไลโฉม |
ดังดวงเดือนเคลื่อนคล้อยลอยโพยม | งามประโลมลืมองค์หลงตะลึง |
เหมือนรูปร่างช่างเขียนไม่เพี้ยนผิด | ทศทิศธาตรีไม่มีถึง |
ลำพระกรอ่อนละม่อมเหมือนกล่อมกลึง | นิ้วดังหนึ่งลำเทียนเจียนประจง |
พระโอษฐ์นางอย่างสีลิ้นจี่จิ้ม | ดูไม่อิ่มอกใจให้ใหลหลง |
เพลินอารมณ์ชมรูปจนงูบลง | กลับรู้องค์อายใจอาลัยลาน |
จึงตอบว่าธานีไม่มีทุกข์ | เกษมสุขสืบวงศ์ดำรงสถาน |
พอทราบข่าวสาวน้อยพลอยรำคาญ | จะมาผลาญไพรีซึ่งบีฑา |
ให้โฉมยงทรงยศในทศทิศ | ปัจจามิตรมาบังคมก้มเกศา |
แม้นขัดเคืองเมืองไหนที่ไม่มา | จะอาสาสงครามปราบปรามไป |
ประเดี๋ยวนี้ที่ว่าเป็นข้าศึก | เมืองผลึกนั้นอยู่หนตำบลไหน |
จะไปมัดตัดศีรษะพระอภัย | มาให้ได้ตามประสงค์จำนงนาง ฯ |
๏ นางละเวงวัณฬาสุดาสดับ | ทำยิ้มรับรักใคร่มิได้หมาง |
พระล้าเลื่อยเหนื่อยมาตามท่าทาง | พักเสียบ้างพอให้ไพร่ได้สำราญ |
แล้วเล่าเรื่องเมืองผลึกเป็นศึกใหญ่ | พระอภัยผ่านสมบัติพัสถาน |
แม้นทรงเดชเชษฐาปรีชาชาญ | ช่วยโปรดปรานปราบได้ดังใจปอง |
จะมอบตราราหูคู่กษัตริย์ | แสนสมบัติในพระคลังทั้งสิบสอง |
เป็นปิ่นเกล้าชาวเมืองให้เรืองรอง | ขอให้น้องพึ่งบุญได้อุ่นใจ |
ดำรัสพลางนางสั่งให้ตั้งเลี้ยง | ล้วนโต๊ะเตียงแต่งงามตามวิสัย |
เครื่องพล่ายำน้ำส้มพรมพริกไทย | สุกรแพะแกะไก่ล้วนใส่จาน |
ใบผักชียี่หร่าโรยหน้าพร้อม | พระแสงส้อมมีดพับสำหรับฝาน |
สุราเข้มเต็มพระเต้าเก้าทะนาน | พนักงานตั้งเตียงไว้เรียงราย ฯ |
๏ ฝ่ายสุรางค์นางบำเรอเสนอหน้า | รินสุราแลชม้อยคอยถวาย |
สาวสำหรับขับเคียงเมียงชม้าย | ประสานสายซอดังเสียงวังเวง |
แล้วขับขานประสานเสียงสำเนียงเรื่อย | ช่างฉ่ำเฉื่อยฉอเลาะล้วนเหมาะเหมง |
บ้างไขกลดนตรีให้ตีเอง | ได้ฟังเพลงเพลิดเพลินเจริญใจ ฯ |
๏ อันองค์ท้าวเจ้าละมานเหมือนบ้านนอก | เขาลวงหลอกลุ่มหลงไม่สงสัย |
เสวยเหล้าเมามายสบายใจ | กินแกะไก่ม้าลาสารพัน |
เอาปลายมีดกรีดเชือดเลือดสดสด | อร่อยรสน้ำส้มด้วยคมสัน |
เนื้อพังผืดตืดไตกินไส้ตัน | ยิ่งกลืนมันเมามายทำชายตา |
ดูรูปทรงองค์ละเวงยิ่งเปล่งปลั่ง | ทำนองนั่งน่ารักนั้นนักหนา |
พอโฉมฉายชายช้อยชม้อยมา | ได้ปะตาตละศรสะท้อนทรวง |
ยิ่งแสนรักสุดรักให้หนักอก | เหมือนหนึ่งยกเมรุไกรไศลหลวง |
โอ้อกใครในแผ่นดินสิ้นทั้งปวง | ไม่เหมือนทรวงเจ้าละมานที่ลานรัก |
จนเคลิ้มว่าถ้าได้เหมือนใจแล้ว | จะอุ้มแก้วกอดประทับไว้กับตัก |
พลางคิดอ่านการศึกพูดฮึกฮัก | จะหาญหักห้ำหั่นให้บรรลัย |
ทั้งข้าเฝ้าเจ้าละมานพลอยหาญฮึก | เมืองผลึกจะมาครือมือที่ไหน |
ทั้งข้าเจ้าเมามัวไม่กลัวใคร | จะชิงชัยช่วยบำรุงกรุงลังกา |
เหล่าพหลพลขันธ์พวกฟันเสี้ยม | นั่งพรมเจียมดื่มเหล้าเมาหนักหนา |
เริงสำรวลสรวลเสเสียงเฮฮา | กินวัวพล่าควายยำคำโตโต |
บ้างกัดกินลิ้นอูฐแล้วพูดพร่ำ | ยังซดซ้ำเหล้าเข้มอีกเต็มโถ |
ที่หยาบคายร้ายกาจชาติเฉโก | ก็พูดโอ้อวดตัวไม่กลัวเกรง |
บ้างกินแกล้มแถมเหล้าจนเมามาก | ตีฝีปากโป้งโหยงทำโฉงเฉง |
ลางพวกพร้องร้องร่ำบ้างทำเพลง | ออกครื้นเครงแซ่เสียงทั้งเวียงวัง |
บ้างเกี้ยวสาวชาวลังกาที่มาเลี้ยง | เข้ายืนเคียงขอจูบแล้วลูบหลัง |
บ้างยื้อยุดฉุดคร่าทำน่าชัง | นางฝรั่งร้องอึงคะนึงไป |
จนพลบค่ำสำเร็จเป็นเสร็จสรรพ | ให้กองทัพอยู่พลับพลาที่อาศัย |
ทั้งข้าเจ้าเมาซานสำราญใจ | ต่างหลับใหลลืมกายดังวายปราณ |
จนยามสองฆ้องระฆังประดังเสียง | แซ่สำเนียงนายหมวดตรวจทหาร |
พวกฝรั่งนั่งล้อมป้อมปราการ | ตีฆ้องขานยามเรียกกันเพรียกไป ฯ |
๏ ฝ่ายองค์ท้าวเจ้าละมานชาญฉกาจ | เมื่อไสยาสน์อยู่พลับพลาที่อาศัย |
เสนหาอาวรณ์ร้อนฤทัย | ฝันว่าได้เชยชิดพระธิดา |
จนฟื้นกายคลายเมายังเคล้าหมอน | หมายว่านอนแนบชิดขนิษฐา |
ถนอมอุ้มจุมพิตผิดพะงา | พระลืมตาตกใจกระไรเลย |
แลเขม้นเห็นหมอนยิ่งค่อนแค้น | มาทำแทนเทียมนางขว้างเขนย |
ยังลืมองค์หลงแลชะแง้เงย | ที่ทรามเชยแม่ไปแฝงเสียแห่งใด |
พอเห็นเหล่าชาวที่นั่งวีพัด | จิตประหวัดว่าอนงค์ด้วยหลงใหล |
ลงจากเตียงเคียงประโลมโฉมวิไล | ใครใช้ให้ศรีสวัสดิ์มาพัดวี |
วางเสียเจ้าเข้าไปนอนเสียก่อนเถิด | งามประเสริฐสาวน้อยอย่าถอยหนี |
พลางจุมพิตชิดชวนเฝ้ายวนยี | ตาชาวที่ลุกทะลึ่งเสียงตึงตัง |
พระฉวยฉุดยุดหัตถ์กระหวัดกอด | เสียงฟอดฟอดเฝ้าแต่จูบแล้วลูบหลัง |
จะขัดขวางอย่างไรก็ไม่ฟัง | มันร้องดังดิ้นอึงคะนึงไป |
พระรู้สึกนึกอายระคายเขิน | ชม้ายเมินมัวหมองไม่ผ่องใส |
ขึ้นสู่แท่นแสนระทดสลดใจ | เหลืออาลัยรำลึกนึกถึงนาง |
มาพานพบสบสมอารมณ์รัก | แต่สูงศักดิ์สารพัดจะขัดขวาง |
เหลือความคิดมิดเม้นไม่เห็นทาง | จนรุ่งรางร้อนรนกระวนกระวาย |
จำจะรีบรบพุ่งกรุงผลึก | ให้เสร็จศึกสมคิดที่จิตหมาย |
จึงออกนั่งสั่งมหาเสนานาย | ตะวันบ่ายลมตกจะยกทัพ |
ไปรบพุ่งกรุงผลึกเป็นศึกใหญ่ | ไม่ชนะพระอภัยก็ไม่กลับ |
อำมาตย์หมอบนอบนบเคารพรับ | มากำชับกำชาตรวจตรากัน |
ให้ตักน้ำลำเลียงเสบียงเบิก | เสียงเอิกเกริกเตรียมพหลพลขันธ์ |
ลงประจำลำที่นั่งทั้งดั้งกัน | ลำละพันเภตราทั้งห้าร้อย |
บ้างเปลี่ยนเสาเพลาใบใส่หางเสือ | แต่ล้วนเรือรบใหญ่เคยใช้สอย |
ปักธงดำกำปั่นเป็นหลั่นลอย | ต่างเตรียมคอยพร้อมพรั่งริมฝั่งชล ฯ |
๏ ฝ่ายองค์ท้าวเจ้าละมานยิ่งหาญฮึก | จะทำศึกอวดผู้หญิงเมืองสิงหล |
จึงโสรจสรงคงคาทาสุคนธ์ | ทรงเครื่องต้นแต่งประดับสำหรับกาย |
สนับเพลาเนาหน่วงมีห่วงรัด | คาดเข็มขัดเครื่องมั่นกระสันสาย |
ใส่เกราะเพชรเกล็ดกลับสลับลาย | ดูกรุยกรายกรีดพระหัตถ์จัดประจง |
ใส่หมวกทองรองนวมสวมพระเศียร | ยอดวิเชียรชายร่อนเหมือนหงอนหงส์ |
ใส่เกือกสวมนวมนุ่มหุ้มพระชงฆ์ | ครั้นเสร็จทรงธนูคู่พระกร |
ออกจากห้องร้องเรียกโยธาหาญ | มากราบกรานเตรียมแห่แซ่สลอน |
ชวนขุนนางย่างย้ายกรีดกรายกร | บทจรจากพลับพลาเข้ามาวัง ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์ละเวงวัณฬาราช | ออกอำมาตย์นอบน้อมอยู่พร้อมพรั่ง |
ให้เชิญท้าวเจ้าละมานขึ้นบัลลังก์ | มีนางนั่งพัดวีให้ปรีดา |
แล้วปราศรัยไพเราะเสนาะถ้อย | น้องเศร้าสร้อยแสนสังเวชพระเชษฐา |
เคยสำราญผ่านสมบัติอยู่อัตรา | เสด็จมาบรรทมตรมฤทัย |
เป็นสตรีมิได้ไปให้ใช้สอย | อย่านึกน้อยใจน้องจงผ่องใส |
ประภาษพลางนางประทานพวงมาลัย | ให้สาวใช้ไปถวายชม้ายเมิน ฯ |
๏ เจ้าละมานหวานเสียงสำเนียงเสนาะ | ช่างไพเราะรำพันสรรเสริญ |
รับบุปผามาลัยใจเจริญ | พระชมเพลินพลางตอบว่าขอบใจ |
จะอาสากว่าจะเสร็จสำเร็จศึก | แม่อย่านึกเคลือบแคลงแหนงไฉน |
เย็นวันนี้พี่จะยกโยธาไป | ช่วยชิงชัยเมืองผลึกเหมือนตรึกตรา |
ไม่เหนื่อยเหน็ดเข็ดขามแก่ความยาก | หวังจะฝากชีวิตขนิษฐา |
สนองพลางนางชม้ายทำชายตา | พอสบหน้านางยิ้มยิ่งอิ่มใจ ฯ |
๏ ฝ่ายละเวงวัณฬาสุดาสดับ | มิใคร่รับคำลาอัชฌาสัย |
แสร้งทำทีกิริยาเหมือนอาลัย | ถอนฤทัยทำสะอื้นกลืนน้ำตา |
แล้วว่าน้องตรองตรึกนึกวิตก | พระจะยกทัพเดียวเปลี่ยวหนักหนา |
จะเกณฑ์ไพร่ให้ฝรั่งชาวลังกา | คุมโยธาไปด้วยช่วยสงคราม |
เจ้าละมานทานทัดอย่าจัดทัพ | ฉันจะรับให้สำเร็จไม่เข็ดขาม |
แม้นเมืองไหนไม่ราบจะปราบปราม | ให้สมความปรารถนายุพาพาล |
นางฟังคำทำชะอ้อนถอนใจใหญ่ | แล้วสั่งให้กองตระเวนเกณฑ์ทหาร |
เป็นเรือนำตำบลชลธาร | เอาเหตุการณ์กลับหลังมาลังกา |
แล้วอวยชัยให้มหาอานุภาพ | อรินทร์ราบเรืองเดชพระเชษฐา |
ศึกสำเร็จเสร็จสรรพรีบกลับมา | ได้เห็นหน้าน้องนี้จะดีใจ |
เจ้าละมานหวานวาบให้ปลาบปลื้ม | ตะลึงลืมอำลาน้ำตาไหล |
สะอื้นร่ำสำลักกระอักกระไอ | แต่จำใจจำลายุพาพาล |
มาลงเรือพระที่นั่งบัลลังก์รัตน์ | พร้อมขนัดนาวาโยธาหาญ |
ให้ตีกลองฆ้องระฆังกังสดาล | ทหารขานโห่ลั่นสนั่นดัง |
ได้ลมดีคลี่ใบขึ้นใส่รอก | เอะอะออกนาวาทั้งหน้าหลัง |
ข้ามมหาสาชลในวลวัง | ตามฝรั่งเรือนำเป็นสำคัญ ฯ |
๏ จะกล่าวถึงพระอภัยเจ้าไตรจักร | มีคนรักคอยเหตุทุกเขตขัณฑ์ |
เมื่อฟันเสี้ยมเตรียมพลคนสำคัญ | เอาข่าวนั้นบอกมาถึงธานี |
พระทราบความขามขยาดว่าชาติยักษ์ | จะหาญหักรบพุ่งเอากรุงศรี |
จึงตรองตรึกปรึกษาเสนาบดี | ศึกคราวนี้ห้าวหาญชาญฉกรรจ์ |
ทั้งไพร่นายกายสูงถึงหกศอก | หนังสือบอกมาว่ายักษ์มักกะสัน |
จะเกณฑ์พลคนเราเข้าประจัญ | เล็กกว่ามันเหมือนหนึ่งหนูไปสู้ช้าง |
ขึ้นรักษาหน้าที่ไว้ดีกว่า | ปล่อยมันมาตามถนัดไม่ขัดขวาง |
แล้วเสนีตีกรงเหล็กตาราง | ไว้ที่ข้างเกยชลาหน้าพระลาน |
กับโซ่ใหญ่ให้พลไว้คนละเส้น | จะจับเป็นพวกฟันเสี้ยมที่เหี้ยมหาญ |
พระสั่งตรัสจัดเสร็จสำเร็จการ | ป้อมทวารปักขวากไว้มากมาย |
แล้วเสนีตีฆ้องเที่ยวร้องป่าว | ประชาชาวข้างใต้ไพร่ทั้งหลาย |
ให้หลบลี้หนีตัวต้อนวัวควาย | ไปอยู่ท้ายเมืองผลึกเมื่อศึกมา ฯ |
๏ ฝ่ายองค์ท้าวเจ้าละมานชาญฉกาจ | คิดประมาทเมืองผลึกฮึกหรรษา |
รีบยกทัพขับพหลพลนาวา | ทั้งพันห้าร้อยสล้างมากลางชล |
สิบห้าคืนคลื่นลมระดมส่ง | เป็นทางตรงเร็วรัดไม่ขัดสน |
ถึงปากอ่าวเช้าตรู่ไม่รู้กล | เห็นผู้คนหนีตัวทั้งวัวควาย |
เจ้าละมานหาญฮึกนึกประมาท | มันไม่อาจต่อตีจึงหนีหาย |
ให้เข้าฝั่งพรั่งพร้อมทั้งไพร่นาย | ต่างโก่งสายเกาทัณฑ์ล้วนคันทอง |
แล้วตั้งโห่โยธาสิบห้าหมื่น | เสียงครึกครื้นพื้นพิภพสยบสยอง |
เดินธงเทียวเขียวเหลืองดูเนืองนอง | ยกข้ามท้องทุ่งมายังธานี |
เห็นพวกพลบนกำแพงเสื้อแดงดาษ | ล้วนสามารถหมายจะรบไม่หลบหนี |
จึงหยุดทัพยับยั้งสั่งโยธี | อย่าเพ่อตีตั้งมั่นประจัญบาน |
ให้คนใช้ไปหาตรงหน้าป้อม | ว่าพระจอมฟันเสี้ยมซึ่งเหี้ยมหาญ |
ยกพหลพลนิกรมารอนราญ | จะทำการแก้แค้นแทนลังกา |
แม้ว่าองค์พระอภัยเจ้าไตรจักร | ยังคิดรักเผ่าพงศ์พวกวงศา |
มาคำนับรับพระราชอาชญา | จะไม่ฆ่าหญิงชายให้วายปราณ |
มินอบนบรบสู้จะพรูพร้อม | ทำลายป้อมปืนวังไล่สังหาร |
ชั้นลูกอ่อนนอนฟูกลูกพึ่งคลาน | จะเผาผลาญเพลิงคลอกเร่งบอกนาย |
พวกขุนนางต่างจำคำข้าศึก | เห็นหาญฮึกหุนหันเร่งผันผาย |
ไปทูลความตามเขามาร้องท้าทาย | ล้วนหยาบคายคึกคักเหมือนยักษ์มาร ฯ |
๏ พระอภัยไม่พรั่นประหวั่นหวาด | สั่งอำมาตย์มูลนายฝ่ายทหาร |
แม้นกองทัพหลับใหลเห็นได้การ | เปิดทวารออกไปมัดให้รัดรึง |
เที่ยวผูกถือมือเท้าพวกบ่าวไพร่ | ให้สาใจเหมือนลูกอ่อนลงนอนขึง |
แต่นายใหญ่ใส่ถ้วนโซ่ตรวนตรึง | เสร็จแล้วจึงพามาใส่ไว้ในกรง |
ให้พวกเราเอาขี้ผึ้งผนึกหู | คอยนั่งดูธงชัยอย่าใหลหลง |
แม้กองทัพหลับใหลเหมือนใจจง | จะโบกธงขึ้นให้เห็นเป็นสำคัญ |
พระสั่งพลางทางลุกลงจากอาสน์ | มาทรงราชยานหามงามขยัน |
ทหารพร้อมห้อมแห่ออกแจจัน | ขึ้นบนชั้นเชิงเทินเที่ยวเดินดู |
เห็นพหลพลขันธ์พวกฟันเสี้ยม | กำแหงเหี้ยมโห่ลั่นสนั่นหู |
แต่ล้วนมือถือคันเกาทัณฑ์ธนู | สังเกตดูแต่งกายคล้ายเสี้ยวกาง |
ทั้งสูงใหญ๋ไพร่นายนั้นหลายหมื่น | พอแรงปืนถือถนัดไม่ขัดขวาง |
พระดูพลบนเชิงเทินดำเนินพลาง | พาขุนนางไปประทับที่พลับพลา |
ขึ้นทรงนั่งยังที่เก้าอี้เอี่ยม | อำมาตย์เฟี้ยมเฝ้าฝ่ายทั้งซ้ายขวา |
หยิบปี่แก้วแล้วชูขึ้นบูชา | พอลมมาเพลาเพลาทรงเป่าพลัน |
เปิดสำเนียงเสียงลิ่วถึงนิ้วเอก | หวานวิเวกวังเวงดังเพลงสวรรค์ |
ให้ชื่นเฉื่อยเจื้อยแจ้วถึงแก้วกรรณ | เหล่าพวกฟันเสี้ยมฟังสิ้นทั้งทัพ |
ยืนไม่ตรงลงนั่งยิ่งวังเวก | เอกเขนกนอนเคียงเรียงลำดับ |
เจ้าละมานหวานทรวงง่วงระงับ | ลงล้มหลับลืมกายดังวายปราณ ฯ |
๏ พระอภัยใจบุญการุญราษฎร์ | มิให้ขาดดวงจิตคิดสงสาร |
จึงโบกธงตรงพลับพลาสัญญาการ | พวกทหารเห็นสิ้นก็ยินดี |
เปิดประตูพรูพรั่งออกคั่งคับ | เห็นพวกทัพหลับเกลื่อนดูเหมือนผี |
ต่างผูกมัดรัดรึงตึงเต็มที | ทั้งทุบตีเตะซ้ำให้หนำใจ |
ยกองค์ท้าวเจ้าละมานขึ้นคานหาม | เอาโซ่ล่ามเสร็จสรรพทั้งหลับใหล |
หามมาส่งกรงตารางที่ข้างใน | เที่ยวริบไพร่พลซ้ำทำประจาน |
เก็บศัสตราผ้าเสื้อไม่เหลือหลอ | ใส่โซ่คอครบทั่วตัวทหาร |
เห็นผูกรัดมัดเสร็จสำเร็จการ | นฤบาลกลับแกล้งเป่าแปลงเพลง |
ให้เจื้อยแจ้วแก้วหูกลับรู้สึก | เสียงตื่นอึกอักอ่อนลงนอนเขลง |
เขารัดรึงตึงตัวต้องกลัวเกรง | เรียกกันเองอื้ออึงคะนึงไป |
พวกชาวเมืองเคืองขัดคอยมัดซ้ำ | คุมประจำคนละคนพลไพร่ |
เห็นพลิกแพลงแว้งวัดคิดขัดใจ | ตีด้วยไม้กระบองร้องวุ่นวาย ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ทรงเดชเกศกษัตริย์ | โสมนัสในอารมณ์ด้วยสมหมาย |
จึงตรองตรึกปรึกษาเสนานาย | ทหารฝ่ายฟันเสี้ยมเห็นเหี้ยมครัน |
เหมือนจับช้างกลางป่าอย่างประมาท | ต้องผูกกราดกรึงตรวจกันกวดขัน |
ให้อ่อนหูดูทำนองสักสองวัน | จึงผ่อนผันพูดจาดูท่าทาง |
สั่งกำชับสรรพเสร็จเสด็จกลับ | ลงจากพลับพลาเดินเชิงเทินขวาง |
ทหารแห่แลหลามมาตามทาง | ขึ้นสู่ปรางค์ปราสาททองที่ห้องใน ฯ |
๏ ฝ่ายองค์ท้าวเจ้าละมานซึ่งหาญฮึก | ครั้นรู้สึกไสยาสน์ให้หวาดไหว |
เห็นโซ่ตรวนพวนพันพรั่นพระทัย | ต้องอยู่ในกรงตรึงรำพึงคิด |
นี่เนื้อเคราะห์เพราะทะนงมาหลงหลับ | มันลอบจับจองจำให้ช้ำจิต |
จะรบรับสัปยุทธ์เห็นสุดฤทธิ์ | เป็นสุดคิดคั่งแค้นแน่นอุรา |
โอ้เสียแรงแต่งทัพมานับแสน | จะแก้แค้นแทนมิตรกนิษฐา |
มิทันรบซบหลับมันจับมา | โอ้นึกน่าน้อยใจกระไรเลย |
สงสารแต่แม่ละเวงวัณฬาน้อย | จะหลงคอยเชษฐานิจจาเอ๋ย |
หมายว่าทัพกลับไปจะได้เชย | บุญไม่เคยคลาดแคล้วเสียแล้วน้อง |
ถึงตัวพี่นี้จะตายไม่วายรัก | จะไปฟักฟูมเฝ้าเป็นเจ้าของ |
แม้นชายอื่นชื่นชอบมาครอบครอง | จะทุบถองถีบผลักแล้วหักคอ |
ยิ่งตรึกตราอาลัยใจจะขาด | เขาผูกกราดกวดตรึงตึงพระศอ |
ยิ่งโมโหโกรธาร้องด่าทอ | ไม่ย่อท้อแกล้งท้าให้ฆ่าฟัน ฯ |
๏ ฝ่ายข้าเฝ้าชาวบุรินทร์สิ้นทั้งหลาย | ทั้งหญิงชายชื่นใจทั้งไอศวรรย์ |
เที่ยวดูเหล่าชาวละมานสำราญครัน | แต่ล้วนฟันเสี้ยมแซมแหลมแหลมเล็ก |
บ้างดูท้าวเจ้าละมานชาญฉกาจ | เขาจำกราดตรึงองค์ไว้กรงเหล็ก |
แขกฝรั่งทั้งพราหมณ์จีนจามเจ๊ก | ผู้ใหญ่เด็กเดินดูเป็นหมู่มุง |
บ้างหัวเราะเยาะหยันพวกฟันเสี้ยม | มันอายเหนียมนั่งนิ่งเหมือนลิงถุง |
จนพลบค่ำตรำตรากให้ตากยุง | พวกชาวกรุงตรวจตราในราตรี |
สงสารท้าวเจ้าละมานให้ร่านร้อน | ด้วยอาวรณ์นางวัณฬามารศรี |
เสียน้ำใจในอารมณ์ไม่สมประดี | จนราตรีตรึกตรองนองน้ำตา |
โอ้เสียดายสายสวาทประหลาดโฉม | ชวดประโลมลับเนตรของเชษฐา |
แต่รูปทรงองค์ละเวงแม่วัณฬา | ยังติดมาในเสื้อเป็นเยื่อใย |
ยิ่งนึกรักชักกระดาษที่วาดรูป | มากอดจูบจิตปลงด้วยหลงใหล |
เฝ้าลูบเล่นเคล้นเคล้าเปล่าเปล่าไป | ยิ้มละไมหมายว่าองค์อนงค์นวล |
ถนอมแนบแอบอุ้มยิ่งคลุ้มคลั่ง | เหมือนบ้าหลังลืมองค์ทรงพระสรวล |
สะกิดเกาเซ้าซี้เฝ้ายียวน | เสียงโซ่ตรวนกริ่งกร่างอยู่กลางกรง ฯ |
๏ พวกผู้คุมกลุ้มกลาดประหลาดจิต | ต่างสะกิดให้กันดูรู้ว่าหลง |
บ้างแฝงเงาเข้าไปมองตามช่องกรง | เห็นรูปทรงสาวน้อยก็พลอยเพลิน |
บ้างพลั้งว่าน่ารักพยักพเยิด | วิไลเลิศล้ำมนุษย์สุดสรรเสริญ |
บ้างขอดูขู่ตะคอกทำหยอกเอิน | เห็นหมางเมินม้วนกระดาษไม่อาจกวน ฯ |
๏ สงสารท้าวเจ้าละมานรำคาญจิต | เอารูปปิดปกป้องประคองสงวน |
ต้องอดอยากตรากตรำยิ่งรำจวน | ทั้งโซ่ตรวนตรึงตราระอาใจ |
ไหนจะคิดถึงสมบัติพัสถาน | ทั้งวงศ์วานมิได้เห็นว่าเป็นไฉน |
ยิ่งรำลึกตรึกตรายิ่งอาลัย | จนหายใจทางปากด้วยยากเย็น |
ยิ่งดึกดื่นกลืนกล้ำน้ำพระเนตร | สุดสังเกตใครจะแก้ไม่แลเห็น |
หนาวน้ำค้างกลางอากาศสาดกระเซ็น | แสยงเย็นเยือกหลับระงับไป |
พอเช้าตรู่ผู้คุมชุมนุมนั่ง | เสียงกรนดังดูระงับเห็นหลับใหล |
เข้าล้อมลักชักกระดาษรูปวาดไว้ | เอามาให้หมื่นขุนเป็นมุลนาย |
พวกเสนีคลี่ดูเห็นผู้หญิง | ชะงามจริงเจียวนะจะถวาย |
เวลาเช้าเข้ามาเตรียมฟูมเฟี้ยมกาย | พร้อมทั้งฝ่ายซ้ายขวาข้าราชการ ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระอภัยในนิเวศน์ | สองโมงเศษเสด็จมายังหน้าฉาน |
สถิตแท่นแว่นฟ้าโอฬาฬาร | มนตรีกรานกราบก้มบังคมคัล |
พระถามท้าวจ้าวละมานยังหาญฮึก | หรือรู้สึกโทษกรณ์พอผ่อนผัน |
เสนาทูลมูลความเห็นครามครัน | เธอป่วนปั่นเป็นบ้าถึงนารี |
เอากระดาษวาดรูปออกจูบกอด | แล้วหลงพลอดสอดสัมผัสน่าบัดสี |
แต่รูปร่างนางนั้นขยันดี | ประเดี๋ยวนี้ข้าพเจ้าก็เอามา |
แล้วนบนอบหมอบเมียงเข้าเคียงอาสน์ | คลี่กระดาษออกถวายลายเลขา |
พวกข้าเฝ้าเหล่าอำมาตย์มาตยา | ต่างต้องตาต้องจิตให้ติดใจ |
พระอภัยได้ยลวิมลโฉม | งามประโลมหลงแลดังแขไข |
ต้องเสน่ห์เลขาคิดอาลัย | ด้วยแจ้งใจว่าลูกสาวเจ้าลังกา |
นี่หรือท้าวเจ้าละมานมิซานซบ | มารับรบเมืองผลึกศึกอาสา |
พระหลงคิดพิศวงองค์วัณฬา | แล้วหยิบมาม้วนกระดาษรูปวาดไว้ |
จึงเอื้อนอรรถตรัสสั่งพวกข้าเฝ้า | ให้คุมเจ้าละมานมาได้ปราศรัย |
นครบาลคลานออกมาพาเข้าไป | ทั้งตรวนใหญ่โซ่ล่ามสามประการ ฯ |
๏ เจ้าฟันเสี้ยมเหี้ยมฮึกไม่นึกพรั่น | แกล้งยืนยันอยู่ตรงหน้าไม่ว่าขาน |
จะตรัสถามความอะไรไม่ให้การ | พระรำคาญเคืองขับให้กลับไป |
แล้วปรึกษาข้าเฝ้าเหล่าอำมาตย์ | มันเชื้อชาติเสี้ยวกางต่างนิสัย |
จะฆ่าตีชีวันให้บรรลัย | ก็เห็นไม่เป็นผลเลยมนตรี |
ครั้นจะปล่อยให้ไปเมืองมันเบื้องหน้า | มันจะมารบพุ่งเอากรุงศรี |
จงคุมไปในทะเลเถิดเสนี | ปล่อยเสียที่แดนเงาะตามเกาะเกียน |
เป็นฝ่ายเหนือเรือไปไม่ใคร่จะถึง | นั้นและจึงแผ่นดินจะสิ้นเสี้ยน |
พระสั่งเสร็จเสด็จจากแท่นวิเชียร | สู่มนเทียรปรางค์มาศราชวัง ฯ |
๏ ฝ่ายข้าเฝ้าเอาเภตราใส่ข้าศึก | ออกแล่นลึกแหลมเงาะเกาะกุนตั๋ง |
เที่ยวปล่อยที่มีน้ำเป็นกำลัง | ตามรับสั่งเสร็จสรรพแล้วกลับมา |
แสนสงสารท่านท้าวเจ้าละมาน | กับทหารไพร่นายทั้งซ้ายขวา |
อยู่เกาะใหญ่ในทะเลถึงเวลา | พระสุริยาเย็นย่ำจนค่ำพลบ |
คลำกระดาษวาดรูปจะจูบเล่น | ไม่พบเห็นรูปเขียนเจียนสลบ |
ในเสื้อแสงแห่งไรก็ไม่พบ | ยิ่งเซาซบเสียใจร้องไห้โฮ |
ถึงยากเย็นเห็นรูปได้ลูบไล้ | ค่อยชื่นใจผัวรักขึ้นอักโข |
มาชวดจูบรูปงามเมื่อยามโซ | หัวอกโอ้อาภัพอัประมาณ |
พระกลิ้งเกลือกเสือกองค์ลงกันแสง | จนสิ้นแรงระทดอดอาหาร |
ลมอัสสาสะประสาสขาดสันดาน | เจ้าละมานวายวางอยู่กลางเตียน |
เมื่อดับจิตคิดรำพึงถึงผู้หญิง | เป็นผีสิงรูปกระดาษที่วาดเขียน |
เปรียบเหมือนเงาเข้านั่งระวังเวียน | ให้พิศเพี้ยนผีทับเข้าจับตา ฯ |