วันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ดร

บ้านซินนะมอน ฮอลล์ ปีนัง

วันที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๗

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

จดหมายฉบับนี้เป็นฉบับแรกที่มีถวายในปีใหม่ จึงขอเริ่มด้วยถวายพรแก่พระองค์ท่านกับทั้งคุณโตและหลาน ๆ ทุกองค์ ขอให้ทรงปราศจากโรคาพาธอุปัทวันตราย อยู่เป็นสุขสบายด้วยกันตลอดปีจอ พ.ศ. ๒๔๗๗ นี้เป็นนิรันดร เทอญ ถวายพรเพิ่มพิเศษส่วนพระองค์ท่านอีกโสดหนึ่ง ขอให้อำนาจศีลสัจธรรมและความกตัญญูกตเวทีซึ่งทรงบำเพ็ญ จงบันดาลให้คุณพระศรีรัตนตรัยกับทั้งพระบรมเดชานุภาพและพระเมตตากรุณาแห่งสมเด็จพระบุรพการีมหาราชเจ้าทั้งหลายคุ้มครองป้องกันให้พระองค์ท่านสามารถทนความลำบากและรักษาพระเกียรติของพระราชวงศ์จักรีได้สะดวกดังพระหฤทัยประสงค์ จงทุกประการเทอญ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๓๑ มีนาคม รับพรที่ประทานด้วยยินดี และมีความชื่นใจที่ทราบว่าเจ้านายไปพร้อมเพรียงกันมากเมื่อตรงวันรับน้ำสังข์ ทั้งที่มีพระราชโทรเลขมาเป็นเครื่องชุบน้ำใจ เมื่อวันที่ ๑ หม่อมฉันตื่นนอนขึ้น พอนั่งกินกาแฟก็ได้รับพระราชโทรเลขประทานพรมาแต่เมืองโรมเกิดปลื้มใจเป็นทีแรกในวันปีใหม่ ถือว่าเป็นศุภมงคล คอยฟังข่าวงานวันที่ ๑ ที่จะทำกันในกรุงเทพฯ อย่างไร หวังว่าจะได้ทราบจากลายพระหัตถ์ที่มาในคราวหน้า หม่อมฉันได้ทราบข่าวหนังสือพิมพ์ว่ารัฐบาล จะออกลอตเตอรี่ปีใหม่ราคา ๒๐,๐๐๐ บาท เงินครึ่งหนึ่งจ่ายเป็นรางวัล อีกครึ่งหนึ่งสำหรับใช้ในงานที่ทำฉลองปีใหม่ นึกขึ้นมาว่าถ้าถวายรดน้ำพระองค์ท่านก็จะใช้เงินลอตเตอรี่นั้นซื้อของที่ถวาย

เรื่องหนังสือวิสาขะนั้น แต่ก่อนมาราชบัณฑิตยสภาเป็นแต่เลือกความที่แต่งดี เห็นควรจะได้รับรางวัลทูลเกล้าฯ ถวาย พระเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินว่าความไหนควรจะได้รับรางวัลชั้นที่ ๑ หรือที่ ๒ คราวปีนี้เขาจะทำกันอย่างไรทราบไม่ได้ เรื่องแต่งคำนำนั้น เดิมก็ไม่ได้อยู่ในโปรแกรมที่จำจะต้องทรงแต่ง หากโปรดฯ ทรงเอง ดูเหมือนจะไม่ได้ทรงทุกปี ตรัสถามพระพินิจฯ ดูคงจะทรงทราบได้ ถ้าท่านจะทรงแต่งคำนำ หม่อมฉันเห็นว่าควรจะดำเนินความเป็น ๓ ตอน คือ

ตอนที่ ๑ ยกย่องและชี้ประโยชน์ที่ทรงพระราชดำริตั้งระเบียบการประกวดหนังสือวิสาขบูชา

ตอนที่ ๒ พรรณนาถึงหนังสือที่ได้รับรางวัลปีนี้

ตอนที่ ๓ เป็นคำกำชับเด็กที่ศึกษาให้เอาใจใส่ต่อพระศาสนาและคิดถึงพระเดชพระคุณพระเจ้าอยู่หัว กับทั้งชวนสาธุชนให้อนุโมทนาในพระราชกุศล เท่านั้นหม่อมฉันเห็นว่าเป็นพอแก่การ

กถามรรคที่จะทูลในคราวนี้ มีเรื่องแปลกประหลาดอยู่บ้าง จะทูลตามวาระต่อไป คือ

๑. เมื่อวันที่ ๒๘ ตรงกับวันประสูติของพระองค์หญิงอาภา ก่อนนั้น ๒ วัน สมเด็จกรมพระสวัสดิ์กับพระองค์หญิงอาภาเสด็จมาตรัสเชิญหม่อมฉันกับหญิงพูน หญิงพิลัย หญิงเหลือ ให้ไปกินดินเนอร์ที่โฮเตลรันนิมิดเป็นการฉลอง หม่อมฉันนึกในใจว่ามันเป็นการประชุมอาจจะเกิดข่าวว่ามาตั้งซ่องมั่วสุมประชุมกันที่ปีนัง แต่เมื่อเธออุตส่าห์เสด็จมาเชิญเองเช่นนั้น จะบิดเบือนก็เป็นเสียอัธยาศัยน่าเกลียด ก็ถือความสุจริตรับจะไปตามเชิญ ผู้ที่ได้รับเชิญไปดินเนอร์วันนั้น นอกจากพวกหม่อมฉันยังมีหม่อมจ้าววิบูลย์กับหม่อมเกื้อ พระยามโนฯ กับนางสารสาตร์พลขันธ์ซึ่งออกมาอยู่ปีนังเหมือนกัน สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ได้ตรัสขึ้นก่อนว่า เลี้ยงกันวันนี้อาจจะถูกสงสัยว่ามาตั้งซ่องมั่วสุมประสุมกันคิดอ่านในการเมือง จึงตรัสเชิญนางสารสาตรพลขันธ์ซึ่งเป็นภรรยาของรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐการในรัฐบาลมาด้วยให้เป็นพยาน หม่อมฉันมาทราบภายหลังว่าพระยามโนฯ รู้สึกหวาดไหว ถึงบอกแก่คนในสถานกงสุลสยามให้รู้ไว้ด้วย ครั้นเลี้ยงกันแล้วเจ้าของงานเลยชวนไปดูหนังฉายก็เป็นอันโล่งใจ ด้วยไม่ต้องนั่งคุยกันในเวลา เมื่อเลี้ยงแล้วเป็นการเรียบร้อยตลอดเรื่อง

๒. เมื่อเมล์มาคราววันพฤหัสบดีที่ ๒๙ หม่อมฉันได้รับจดหมายลูกบอกมาจากกรุงเทพฯ ว่า ได้ยินว่าหม่อมฉันจะต้องเป็นผู้แทนพระองค์พระเจ้าอยู่หัวขึ้นไปพระราชทานเพลิงศพพระราชชายาที่เมืองเชียงใหม่ รู้สึกประหลาดใจ คิดดูก็ไม่แลเห็นว่าจะเป็นพระดำริของพระองค์ท่านที่จะให้หม่อมฉันไปเช่นนั้น ด้วยเจ้านายพระองค์อื่นที่ยังหนุ่มมีอยู่ในกรุงเทพฯ หลายพระองค์ การที่จะให้ปรากฏว่ามีเจ้านายเป็นผู้แทนพระองค์ไปพระราชทานเพลิงศพให้เป็นเกียรติยศแก่พระราชชายา ให้เจ้านายพระองค์อื่นไปก็ได้ ไม่เห็นจำเป็นเจาะเฉพาะตัวหม่อมฉัน ยิ่งคิดต่อไปก็ยิ่งเห็นความขัดข้องและเสี่ยงภัยมีหลายสถานเป็นต้นแต่ต้องขึ้นรถไฟตรากตรำทั้งกลางวันกลางคืนตั้งแต่ปีนังไปจนเชียงใหม่และยังจะต้องไปอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ตลอดงานในเวลาฤดูกำลังร้อนที่สุด ซึ่งโดยปกติเป็นเวลาที่ไม่มีใครเขาไป แล้วจะต้องขึ้นรถไฟตรากตรำกลับมาอีก คนแก่เช่นหม่อมฉันจะทนไหวที่ไหน ยังอีกประการหนึ่ง ในเวลานี้ตามหัวเมืองกำลังเปลี่ยนตัวข้าราชการแพร่หลาย มีคนทั้งสมัยใหม่และสมัยเก่าปะปนกัน ความอาภัพสำหรับตัวหม่อมฉันมีอยู่ที่เคยบังคับบัญชาหัวเมือง ยังมีคนรู้จักมากจะต้องเดินทางผ่านไปหลายมณฑล และที่สุดเมื่อไปอยู่ที่เมืองเชียงใหม่จะต้องพบปะผู้คนมาก ซึ่งจะมีคนคอยเอาตาดูและเอาหูคอยฟัง ว่าหม่อมฉันจะไปทำอย่างไร หม่อมฉันจะวางตัวและจะพูดจากับพวกหัวเมืองที่ไปพบปะด้วยประการอย่างไรและไม่ให้เกิดความสงสัยกินใจว่าไปเกี่ยวข้องหนองยุ่งกับการเมือง ดูยากเหลือล้นพ้นวิสัยที่จะให้สดวกมาได้ จึงคอยฟังคำสั่งอยู่ นึกว่าถ้าท่านมีรับสั่งมาก็จะทูลย้อนสักหน่อยขอตัวด้วยเหตุแก่ชรา แต่ก็ไม่เห็นมีคำสั่ง ครั้นเมล์มาเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑ นี้ ได้รับหนังสือจากบ้านขยายอธิบายเหตุให้ทราบว่าเพราะรัฐบาลจะงดเงินงวดที่พระคลังข้างที่เคยจ่าย มิให้จ่ายแก่เจ้านายที่ไปอยู่นอกประเทศ จึงมีผู้สงสารหม่อมฉันคิดหาเหตุผลจะให้หม่อมฉันมีกิจกลับเข้าไปแล้วจะได้เลยอยู่ในกรุงเทพฯ มิให้ต้องขาดผลประโยชน์ มาคิดดูก็ยังเห็นปลาดด้วยเงินงวดที่เจ้านายใช้เปนของพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานเงินพระคลังข้างที่ซึ่งนับว่าเป็นของพระองค์เอง ไม่เห็นบุคคลภายนอกแม้มีอำนาจในการบ้านมืองจะมีสิทธิเขามาเกี่ยวข้องให้เพิ่มให้ลดหรือให้หยุดเงินงวดที่พระราชทานนั้น อันเป็นสิทธิของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียว ว่าตามแบบแผนที่เคยมีมาที่โปรดฯ ให้ตัดเงินงวดก็เฉพาะเจ้านายที่มีความผิด ยกตัวอย่างดังพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เมื่อหนีไปจากพระราชอาณาเขตต์ แต่เจ้านายที่ออกมาอยู่นอกพระราชอาณาเขตต์คราวนี้ ทั้งพวกที่ไปอยู่บันดงและที่มาอยู่ที่ปีนังล้วนได้กราบถวายบังคมลา และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มาอยู่ได้ตามพระหฤทัยประสงค์ทุกพระองค์ เป็นอันว่าหาความผิดอย่างใดมิได้ เพราะฉะนั้นลำพังพระเจ้าอยู่หัวคงจะไม่ทรงตัดเลยเป็นแน่แท้ ผู้อื่นทำก็เป็นอันแกล้งรังแกเล่นตรงๆ แต่หม่อมฉันยังนึกสงสัยอยู่ว่า ถ้ามีความจริงในข่าวที่กล่าวนั้นคงจะได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตก่อน เปรียบว่าถ้าหากบังอาจตัดจริงดังข่าวลือ น่าจะมีผลให้หม่อมฉันปลงใจอยู่ที่ปีนังนี้แทนที่ได้ทูลท่านไปแต่ก่อนว่าถ้าเบื่อปีนังเมื่อไรก็จะกลับเข้าไปอยู่ที่กรุงเทพฯ หรือหัวหินดังคิดไว้ เพราะกลับเข้าไปในเมื่อถูกขู่เข็ญเช่นนั้นมันเหมือนยอมกลัวจนขนหัวลุกด้วยอาลัยเงิน ก็อดสูแก่ใจ แต่พระองค์อื่นท่านจะทราบกันแล้วหรือจะคิดอ่านกันอย่างไรหม่อมฉันไม่ทราบ

ในลายพระหัตถ์ที่ทรงปรารภถึงการเสื่อมของความรู้โบราณคดีนั้น มาพ้องกับความปรารภของหม่อมฉันเมื่อได้อ่านหนังสือพิมพ์ถึงการที่ปรึกษาและโต้ตอบกันในรัฐสภา เห็นหลายเรื่องที่มูลเหตุเกิดขึ้นภายในเวลาเพียง ๒๕ ปีช่างไม่มีใครทูลเหตุนั้นเสียเลย ทั้งฝ่ายถามและฝ่ายตอบ หนังสือจดหมายเหตุเรื่องเหล่านั้นก็มีอยู่ตามกระทรวงทะบวงการ ดูไม่ตรวจตราสืบสวนกันเสียเลย อย่างนี้โบราณคดีมันก็ต้องเสื่อมสูญอยู่เอง แต่จะโทษแต่พวกสมัยปัจจุบันนี้ก็ไม่ได้ การที่ถือว่ารู้โดยไม่ต้องเรียนนั้นมีมานานแล้ว หม่อมฉันนึกได้เรื่องหนึ่งแต่ครั้งเจ้าพระยาพลเทพฯ ยังเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ วันหนึ่งแสดงปาฐกถาในเสนาบดีสภาถึงลักษณการกระทรวงเกษตรฯ แต่โบราณว่าได้กล่าวการทำนาทำสวนทั่วพระราชอาณาเขต หม่อมฉันท้วงขึ้นว่า สวนนั้นเดิมขึ้นอยู่ในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เมื่อเจ้าพระยาภาสกรวงศ์เปนจางวางมหาดเล็กได้ว่าพระคลังสวน ครั้นได้เปนตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตรฯ จึงพากรมพระคลังสวนติดตัวไปรวมอยู่ในเกษตรฯ แต่นั้นมา เจ้าพระยาพลเทพฯ โต้แย้งว่าไม่จริงดังหม่อมฉันว่า หม่อมฉันท้าให้ดูในกฎหมายทำเนียบศักดินาพลเรือน และอ้างสมเด็จพระราชปิตุลาว่า ได้ทรงทราบเรื่องท่านตรัสรับรองว่าจริงดังหม่อมฉันว่า ดูเหมือนเจ้าพระยาพลเทพฯ จะขัดเคืองมาก แต่ก็เถียงไม่ได้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. เจ้าพระยาพลเทพ (เฉลิม โกมารกุล ณ นคร)

  2. ๒. เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)

  3. ๓. สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ในรัชกาลที่ ๗ ประสูติ ๑๑ มกราคม ๒๔๐๒ ทิวงคต ๑๓ มิถุนายน ๒๔๗๑ ต้นราชสกุล “ภาณุพันธุ์”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ