วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๗๗

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

เมื่อวันพุธก่อน เกล้ากระหม่อมได้รับลายพระหัดถ์ถึงสามฉะบับ ลงวันที่ ๔ ส่งทางไปรษณีย์ฉะบับหนึ่ง ลงวันที่ ๑ กับที่ ๔ มิสเตอร์กนุดต์ซนเชิญไปส่งอีกสองฉะบับพร้อมทั้งชะลอมผลดูกู ขอบพระเดชพระคุณเปนล้นเกล้าหาที่สุดมิได้

มีความเสียใจที่ไม่มีใครได้รับประทานผลดูกูเลย เพราะเน่าเสียหมด แต่ที่เปนดังนั้นหาใช่ความผิดของมีสเตอร์กนุดต์ซนไม่ เพราะเขาได้นำไปส่งภายใน ๒๔ ชั่วโมงตั้งแต่เขาเข้าไปถึงกรุงเทพฯ ความเสียหายเกิดแต่หนทางไกลเท่านั้นเอง ตามที่ฝ่าพระบาทตรัสว่าไม่โปรดผลลางสาดนั้น ให้สงสัยไปว่าจะยังไม่ได้เสวยผลลางสาดที่ดี ได้เสวยแต่ผลลางสาดที่ขายในท้องตลาดก็ควรแล้วที่จะไม่โปรด เพราะมันไม่อร่อยเลย ชาวสวนอธิบายว่าที่เปนดังนั้น เพราะชิงเก็บเสียก่อนที่มันสุกได้ที่ แต่ถ้าไม่ทำดังนั้นก็ไม่ได้ผล เพราะนกและค้างคาวแย่งกินเสียหมด ผลลางสาดที่จะได้กินดีต้องเปนต้นที่อยู่ใกล้เรือนเจ้าของสวน พยายามคอยไล่นกไล่ค้างคาวอยู่จนมันสุกงอมจึงจะมีรสหอมหวาน ผลลางสาดที่พยายามอดตาหลับขับตานอนรักษาเช่นนั้น จะเก็บได้ก็ไม่กี่ช่อ ไม่พอที่จะส่งไปขายในท้องตลาด ได้แต่กินกันเองและให้ปันแก่ญาติมิตรเท่านั้น ถ้าฝ่าพระบาทประทับอยู่ในกรุงเทพ ฯ จะหาส่งถวายลองเสวยดู แต่นี่ประทับอยู่ปินังทางไกลนักจะส่งมาถวายก็คงไม่ได้เสวย เพราะเน่าหมดในกลางทาง

พระดำรัสเทศนาในบุรพประวัติศาสตรกถาคราวนี้ เกือบจะทูลอะไรไม่ได้นอกจากตรับฟังเท่านั้น เพราะเปนของใหม่ที่เพิ่งจะได้ยินทั้งสิ้น นึกรู้สึกสิ่งที่ประกอบเทศนาขึ้นได้ในขณะอ่านอยู่สองอย่าง ๑ คำหมอไรเตอร์เล่าว่าคนในคองโกไม่รู้จักเลี้ยงสัตว์ใช้เปนพาหนะ พบอะไรก็ฆ่าหมด แล้วแล่เนื้อเปนชิ้นเล็กตากแห้งไว้กินแรมเดือน หมอไรเตอร์ได้เห็นการอันนี้เมื่อไปรับราชการอยู่ที่นั้น นี่เปนการปรากฏว่าชาวคองโกจำเริญช้า ล้าหลังเพื่อนอยู่มาก ๒ เมื่อเกล้ากระหม่อมเล็ก ๆ เคยเห็นเครื่องบวชนาค มีมีดสำหรับปลงผมทำด้วยทองสัมฤต ได้เห็นครั้งหลังที่สุดจนเมื่อโกนจุกเจ้ากรมเปี่ยนพระรามของกรมหมื่นวรวัฒน์ เขาเชิญไปตัดจุก พอถึงโกนผมก็ทำกันชุลมุน ด้วยคนที่เจ้ากรมเปี่ยนจัดไว้ให้เปนคนโกนผมนั้นมีดของแกขี้เท่อเต็มที โกนไม่เข้า ยายขำเมียตาทองอยู่พิเภกงัดเอามีดโกนสัมฤตเช่นบริขารบวชพระออกมาโกนให้ นี่แสดงว่าอายุทองสัมฤตยังหลงเหลืออยู่ในเมืองไทยจนอายุเกล้ากระหม่อมยังได้เห็น

เรื่องธารพระกรแทงห่อหมูแนม เกล้ากระหม่อมไม่ได้เห็น เปนแต่เคยได้ยินพี่ผู้ใหญ่เล่า เห็นจะเปนกรมหมื่นราชศักดิ ธารพระกรของทูลกระหม่อมโปรดทำผะสมด้วยพระแสงเสน่าเห็นจะทุกองค์ ที่เห็นตัวจริงปรากฏอยู่ก็คือ ธารพระกรเทวรูป ธารพระกรศักดิสิทธิก็มีนิดหนึ่งที่ปลาย จึงได้แทงหมูแนม กับเห็นในพระบรมรูปฉายาที่เขาให้มาดูอย่างทำประกอบพระบรมรูป ๖๓ ก็ปรากฏอีก ๓ องค์ มีลวดคั่นอยู่ที่คอ สมเปนรอยต่อซึ่งจะชักออกได้ แล้วมีสายปลายเปนภู่อย่างภู่ดาบพันอยู่ทุกองค์ เห็นจะทรงพระดำริเปนทรงธารพระกรแล้วไม่ต้องทรงพระแสง ใช้ได้สองอย่างไม่รุ่มร่าม

เขียนมาถึงเพียงนี้ก็ได้รับลายพระหัดถ์ลงวันที่ ๑๑ ตรัสเรื่องทำก๊าดฆริสตมัสและชายดิศก็มาหาพอดี รูปภาพให้ชายดิศไปหลายวันแล้ว การทำพิมพ์มิสเตอร์มูร์รับทำได้ไม่ขัดข้อง แต่แกหนักใจที่กระดาษทองแกจะต้องทำเอง (ทาน้ำมันโรยบรอนซ์ทอง) แกเกรงว่ามันจะกำมลอหยิบเข้าเปนรอยมือ พอดีเวลาชายดิศมาหาพูดกันเรื่องนี้ พระยาสีหศักดิก็มาหาซ้อนกันเข้า แกได้ยินเรื่องกระดาษทอง แกบอกว่ามีถมไปที่ห้างเฮาส์เฟอนิชิง แผ่นโต ๆ งาม ๆ ทำมาแต่นอกอย่างเรียบร้อย เมื่อได้ทราบดังนี้ข้อหนักใจก็เปนอันล่วงพ้น ตกลงให้ชายดิศไปซื้อเอาไปพิมพ์

ได้ฟังข่าวซึ่งได้ทรงจัดตั้งพระบรมรูปขึ้นบูชาถวายบังคม ในอภิลักขิตสมัยคล้ายวันพระราชสมภพ รู้สึกยินดีในการทรงกระทำนั้นเปนอันมาก ซ้ำทรงพระเมตตาโปรดแผ่พระกุศลประทาน เปนพระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ ขอถวายอนุโมทนาในพระกุศลอันได้ทรงปฏิบัติโดยกตเวทีด้วยความบานใจ ที่ในกรุงเทพฯ ก็มีการถวายบังคมพระบรมรูปเหมือนกัน เขาจัดตั้งพระบรมรูปบนพระแท่นพุดตานถมภายใต้พระมหาเศวตฉัตรบนพระที่นั่งจักรี ณ วันที่ ๙ เวลาเลี้ยงพระแล้ว พระราชวงศ์และข้าราชการที่มา พากันขึ้นไปถวายบังคม เดิมเขาจะจัดเอาพระบรมรูปตีพิมพ์ที่ถ่ายจากพระบรมรูปเขียน ซึ่งพระราชทานแจกไปตามกระทรวงนั้นขึ้นตั้ง เกล้ากระหม่อมป่วยใจเห็นเลวเต็มที จึงได้ให้ยืมพระบรมรูปหล่อด้วยทองสัมฤตครึ่งพระองค์ของเกล้ากระหม่อมขึ้นตั้ง งามเปนสง่าพอเหมาะกับพระที่นั่ง พระบรมรูปองค์นี้นายเฟโรจีปั้น เกล้ากระหม่อมส่งหุ่นให้ไปหล่อมาจากเมืองนอก ตั้งใจจะถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ยังขาดเสาฐานที่ตั้ง ได้เขียนอย่างสั่งไปทำที่เมืองนอก แต่เขาเข้าใจผิดทำเข้ามาผิดถึงสองครั้งรับไว้ไม่ได้ จึงเลยค้างอยู่จนบัดนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๔ พระองค์เจ้ากมลาศเลอสรรค์ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร ประสูติ ๓ พฤศจิกายน ๒๓๙๙ สิ้นพระชนม์ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๗๔ ต้นราชสกุล “กมลาสน์”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ