กฎมณเฑียรบาลพะม่า (ต่อ)

ถานาเทวี

๑. ตามราชประเพณีพระเจ้าแผ่นดินพะม่าย่อมมีพระภรรยาเจ้า (เรียกในภาษาอังกฤษว่า Queen) ๘ องค์ มียศหลั่นกันเปน ๓ ชั้น คือ พระอัครมเหษีองค์ ๑ พระมเหษี ๓ องค์ พระชายา ๔ องค์

๒. พระอัครมเหษีนั้นเรียกในภาษาพะม่าว่า นัมมะดอ มิบุยะขยอง คยี กั้นเศวตฉัตร์และประทับร่วมราชอาสน์กับพระเจ้าแผ่นดินได้องค์เดียวในเวลาออกงาน

๓. มเหษี ๓ องค์นั้น องค์หนึ่งเรียกว่า มยอ กนันดอ มิบุยะ มเหษีฝ่ายเหนือ องค์หนึ่งเรียกว่า อะเลกนันดอ มิบุยะ มเหษีกลางอีกองค์หนึ่งเรียกว่า อะนออนันดอ มิบุยะ มเหษีฝ่ายตะวันตก กั้นกลดปักทอง

๔. พระชายา ๔ องค์นั้น องค์หนึ่งเรียกว่า มยอก สองดอ มิบุยะ เจ้าตำหนักเหนือ องค์หนึ่งเรียกว่า ตองสองดอ มิบุยะ เจ้าตำหนักใต้ องค์หนึ่งเรียกว่า มยอกชเวเยสอง มิบุยะ เจ้าห้องทองเหนือ อีกองค์หนึ่งเรียกว่า ตองชเว เยสอง มิบุยะ เจ้าห้องทองใต้

๕. นักสนมมี ๒ ชั้นเรียกว่า มโยสา-ชั้น ๑ ยะวาสา-ชั้น ๑

๖. มเหษี ๔ องค์ (พระอัครมเหษีกับมเหษีอีก ๓ องค์) นั้น

ก) อยู่ในบริเวนพระราชมณเฑียร ต่างมีห้องที่ประทับ (พระปรัศว์) ไม่ห่างกับที่พระเจ้าแผ่นดิน

ข กั้นพระกลดและทรงรองพระบาทได้หน้าที่นั่ง

ค) พระภรรยาเจ้าองค์อื่น จะทูลพระเจ้าแผ่นดินต้องหมอบกราบและต้องถวายบังคมพระอัครมเหษี

ฆ) พระมเหษีและเจ้านาย ถวายบังคมกันตามหลั่นยศ

ง) นางในจะออกนอกวังต้องทูลลา แต่พระมเหษีทั้ง ๔ ส่งเจ้ากรมสนมอะนอกดอ ให้อนุญาตนางในที่ขึ้นอยู่ในสำนักตนให้ออกนอกวังได้

๗) พระมเหษีทั้ง ๔ อยู่ประจำพระองค์ไม่มีเวร แต่พระชายานั้นกำกับนักสนมผลัดกันเปนยาม (Roster) ซ้ายและยามขวา เข้าเวรรับราชการ.

ราชกุมารศักดิ์

ยศศักดิ์เจ้านายมีปรากฏในหนังสือกฎมณเฑียรบาลที่ฝรั่งแปลแต่ว่าพระมหาอุปราช มีฉัตรทอง ๔ คันเปนเครื่องยศ เจ้านายลูกเธอมีฉัตร ๒ คัน แต่ตรวจดูพลความในตอนกฎมณเฑียรบาล ประกอบกับตอนว่าด้วยเรื่องพงศาวดารในรัชชกาลพระเจ้ามินดง (พ.ศ. ๒๓๙๕ - ๒๔๒๑) ดูเค้าเงื่อนคล้ายกับในกฎมณเฑียรบาลเก่าของไทย ว่าเจ้านายแต่ละองค์มีพระนาม ๓ ประเภท

ประเภทที่ ๑ พระนามที่เรียกกันมาแต่ยังทรงพระเยาว์ เช่นพระเจ้ามินดงทรงพระนามเดิมว่า “มองลวิน” พระเจ้าสีป่อพระนามเดิมว่า “มองปุ” เปนต้น ทำนองเดียวกับ “พระองค์ทับ” หรือ “พระองค์มั่ง” ของเรา

พระนามประเภทที่ ๒ เปนราชทินนาม (จะจารึกในพระสุพรรณบัตรหรืออย่างไรไม่กล่าว) พระองค์ชายมักลงท้ายว่า “ธรรมราชา” พระองค์หญิงมักขึ้นต้นว่า “ศิริ” ลงท้ายว่า “เทวี” เปนแบบ ได้คัดมาลงไว้ในนี้พอเปนตัวอย่าง

พระนามพระองค์ชาย

มหาสุธรรมราชา (องค์นี้เปนน้องยาเธอและได้เปนพระมหาอุปราชของพระเจ้ามินดง)

ศิริธรรมราชา

ศิริมหาธรรมราชา (เปนลูกเธอองค์ใหญ่ของพระเจ้ามินดง)

มหาสุศิริธรรมราชา

ศิริมหาสุธรรมราชา

สุธรรมมหาธรรมราชา

พระนามพระองค์หญิง

ศิริกิญจนเทวี

ศิริบทเทวี

ศิริศักดิ์ (Seikta) เทวี

ศิริสุนันทาเทวี

ศิริรัตนมงคลเทวี

ศิริสุบุปผ (Pappa) รัตนเทวี (คือสุพยาลัต)

ศิริสุรัตนเทวี

ตั้งพระนามเดียวซ้ำกันกว่าองค์หนึ่งก็มี การเฉลิมพระนามลูกเธอนั้นทำในพิธีเจาะหู ทำที่ท้องพระโรงเปนการเต็มยศและทำขวัญคล้ายพิธีโสกันต์ของไทย ลูกวังหน้าก็ทำที่วังหน้าทำนองเดียวกัน

พระนามประเภทที่ ๓ นั้น คือพระเจ้าแผ่นดินโปรด ฯ ให้เจ้านายองค์ใด “กิน” เมืองใด ก็เอาชื่อเมืองนั้นเรียกเปนพระนาม เช่นพระเจ้าแผ่นดินพะม่าที่เรียกพระนามในพงศาวดาร ว่าพระเจ้าสารวดี (สาวัตถี) ก็ดี พระเจ้าภุกาม (Pagan) ก็ดี พระเจ้ามินดงก็ดี พระเจ้าสีป่อก็ดี ล้วนเรียกตามนามเมืองที่ได้กินเมื่อก่อนเสวยราชย์ทั้งนั้น ที่เรียกว่า “กินเมือง” หมายความต่างกันกับ “ครองเมือง” กินเมือง-คือได้ส่วยสาอากรที่เกิดในเมืองนั้นเปนผลประโยชน์ แต่ส่วนพระองค์คงอยู่ในราชธานี ครองเมือง-ต้องออกไปประจำบังคับบัญชาการอยู่ที่เมืองนั้น พระนามประเภทที่ ๓ นี้ก็เห็นจะได้พระราชทานพร้อมกับราชทินนามในงานเจาะหูนั้นเอง

ประเพณีให้กินเมือง พะม่าใช้กว้างขวางมาก พระมเหษีพระมหาอุปราช เจ้านาย และขุนนางผู้ใหญ่ได้กินเมืองทั้งนั้น รองลงมาถึงชั้นนักสนมและขุนนางชั้นรองก็ได้กินบ้านส่วย พึ่งมาเปลี่ยนประเพณีในรัชชกาลพระเจ้ามินดง เมื่อเสียหัวเมืองข้างใต้ไปเปนของอังกฤษหมด จึงตั้งภาษีขึ้นใหม่เรียกว่า “สัสเมธะ” เก็บเงินรายตัวราษฎรโดยอัตราสิบชักหนึ่งตามที่ทำมาหาได้ เอาเงินมาแจกเบี้ยหวัดแทนส่วย ถึงกระนั้น พระอัครมเหษีและพระมหาอุปราชก็ยังกินเมืองอยู่อย่างเดิม.

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ