วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๗ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๗

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๓๐ มกราคมอธิบายเรื่องพระพุทธรูปรำพึงที่โปรดประทานมา คิดดูชอบกลนักหนา ถ้าจะเอาเข้าเปรียบกับคติในทางพระพุทธสาสนาที่เรารู้กันอยู่ น่าจะว่าหมายความที่พระพุทธองค์ทรงเคารพพระธรรมได้ดอกกระมัง พระพุทธรูปอย่างมหายานมีอยู่ ๒ ปาง ปางหนึ่งยกพระหัตถ์ตั้งอย่างที่เราเรียกว่าห้ามสมุทร์ หรือห้ามญาติ เขาว่าเปนปางทรงอำนวยพร (มีชื่อเรียกในภาษาสันสกฤต แต่หม่อมฉันจำไม่ได้และไม่มีอะไรสอบที่นี่) หม่อมฉันเรียกว่า “ปางโปรดสัตว์” อีกอย่างหนึ่งเอาปลายพระหัตถ์ลง ฝ่าพระหัตถ์ออกข้างหน้าเขาเรียกว่าอภัยมุทร์ หม่อมฉันเรียกว่า “ปางประทานอภัย” พระพุทธรูปไคว่พระหัตถ์ที่พระอุระที่สมเด็จพระวันรัตทูลอธิบายว่ารำพึงพระธรรมนั้น จึงเห็นว่าน่าจะเปนเคารพพระธรรม

หม่อมฉันอ่านหนังสือหมู่นี้ พบอธิบายลักษณพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพ็ชร์ เขาเรียกในภาษาสันสกฤตว่า วชิราสนะ ก็นึกขึ้นว่าเราคงรู้คำเดิมจึงเรียกกันว่าขัดสมาธิเพ็ชร์.

อธิบายศัพท์ ประมง และ โพงพาง ที่ท่านพบนั้นดีนัก

สัปดาหะนี้ประสบเวลาแล้งไม่มีเรื่องอะไรแปลก ๆ ที่จะทูลบันเล็ง เกือบจะต้องบอกจำนน เมื่อสักสองสามวันมานี้หม่อมฉันได้เห็นเขาพิมพ์รูปภาพเสาธงที่ป้อมเผด็จดัสกรในหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉะบับ ๑ มีหนังสือบอกความไว้ว่าเปนของชั้นบรรพบุรุษได้เคยเห็นก็นึกปลาดใจด้วยรู้สึกว่าเรื่องสร้างเสาธงนั้น เราได้เคยปรึกษากันในตอนสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จยุโรปครั้งแรกเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง ลองคำนวณเวลาดูได้ ๓๑ ปี ถ้าพูดตามภาษาศาสตราจารย์คัลเลนเฟล ก็อย่างว่าสร้างเมื่อวานซืนนี้เอง แต่เมื่อคิดถอยหลังขึ้นไปก็ยิ่งเห็นปลาดที่เราได้เคยเห็นบุรพการีของเสาธงนั้นถอยหลังขึ้นไปจนถึงชั้นทวด คือเสาธงที่ทูลกระหม่อมทรงสร้างขึ้นในบริเวณเก๋งกรงนก อันเปนเสาธงแรกมีในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาเมื่อสร้างพระที่นั่งใหม่ย้ายเสาธงไปตั้งที่สนามหน้าพระที่นั่งใหม่ ครั้นสร้างพระที่นั่งจักรีย้ายเสาธงไปตั้งที่หน้าหอรัษฎากร ไม้เสาธงนั้นผุจะต้องเปลี่ยนใหม่จึงคิดทำเสาเหล็ก และย้ายไปตั้งที่บนป้อมเผด็จดัสกร น่าลองถามพิศูจน์คนที่มีตัวอยู่ในสมัยนี้ใครจะจำถอยหลังขึ้นไปได้จนถึงเสาธงเสาไหน.

เมื่อวันที่ ๑ เดือนนี้ หม่อมฉันได้ยินความแปลกและท่านยังไม่ทรงทราบ แต่เรื่องมันเปน “บิดเกียร์” อยู่สักหน่อย ถ้าไม่พอพระหฤทัยก็ขอประทานโทษด้วย คือ มิสเตอร์คูลตัส กงสุลเยเนอราลอังกฤษในกรุงเทพ ฯ ซึ่งเคยเปนอุปทูตเมื่อก่อน เซอร์โจเซียห์ ครอสบี มาถึงนั้น เขาจะกลับไปประเทศอังกฤษชั่วคราว ผ่านมาทางปีนังจึงแวะมาลาหม่อมฉันโดยฐานที่เคยคุ้นและชอบกันมาแต่ก่อน เมื่อสนทนากันไปถึงเรื่องเซอร์โจเซียห์ ครอสบีเข้ามาเปนราชทูต หม่อมฉันพูดขึ้นว่าได้ยินเขาเล่ากันว่าเมื่อเซอร์โจเซียห์ ครอสบีเข้าเฝ้าท่านครั้งแรก เมื่อทูลถวายพระราชสาสนตามแบบราชการด้วยภาษาอังกฤษแล้ว ทูลท่านด้วยภาษาไทยต่อไปไม่ให้ต้องมีล่าม เปนการแปลกกับราชทูตคนก่อน ๆ คูลตัสบอกว่าวันนั้นเขาก็เข้าไปเฝ้าด้วย ความจริงเปนอย่างที่หม่อมฉันได้ยิน แล้วเขาเลยสรรเสริญพระองค์ท่านต่อไปว่าพระอัธยาศัยและมารยาทเปนสง่าผ่าเผยสมแก่พระเกียรติยศ ต่อมาเขายังได้สังเกตอีกเมื่องานเฉลิมพระชนมพรรษา มีการประชุมที่สวนศิวาลัย ท่านเสด็จทรงพระดำเนินทักทายปราสัยข้าราชการจำพวกต่าง ๆ โดยพระมารยาทน่าชม แล้วเลยถามหม่อมฉันถึงเรื่องพระประวัติและการทรงศึกษาของท่านแต่ก่อนมา ด้วยมีความเลื่อมใส หม่อมฉันเห็นแปลกอยู่ด้วยท่านถูกชาวต่างประเทศสังเกต จึงทูลมาให้ทรงทราบไว้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ