วันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๒๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

การหาความรู้เรื่องก่อนประวัติศาสตร์สำหรับทูลบันเลงดูคล้ายกับไปเที่ยวถ้ำมหาสนุก ด้วยความรู้มันแตกสาขาชวนให้ไปหาวิชชาอื่นอีกหลายอย่าง ลองชิมเข้าไปดูก็เห็นลึกซึ้ง ยากที่จะไปให้ถึงที่สุดได้ จึงขอทูลบันเลงเพียงเท่าที่รู้ เปรียบเหมือนพรรณนาเพียงช่องทางที่ได้เห็นในถ้ำมหาสนุก

ความรู้วิชชาก่อนประวัติศาสตร์ Prehistory อาศัยตรวจของที่จมดินอยู่เปนสำคัญ คือโครงกระดูกมนุษย์ชั้นก่อนเก่าอย่าง ๑ กับเครื่องมือของมนุษย์ชั้นนั้นอย่าง ๑ เอาของเหล่านั้นมาพิจารณาประกอบกับภูมิธาตุและโครงกระดูกสัตว์สูญพันธุ์ถ้ามีตรงที่ขุดพบ หาหลักฐานเรื่องประวัติของมนุษยชาติว่า (๑) มีกำเนิดมาแต่เมื่อใด (๒) สืบพันธุ์มาอย่างไร และ (๓) เจริญปัญญามาอย่างไร อันนี้เปนใจความข้อที่ว่ามนุษยชาติจะมีกำเนิดมาแต่เมื่อใดนั้น ตามภูมิธาตุกาล (ในจดหมายฉะบับก่อนหม่อมฉันใช้คำว่า ภูมิกาล ก็ไม่ผิด แต่เมื่อจะใช้ชื่อของวิชา Geology ว่าภูมิศาสตร์ ไปซ้ำกับคำซึ่งใช้เรียกวิชชา Geography กันอยู่แล้ว จึงเพิ่มคำว่า ธาตุ เข้าให้ผิดกัน) กำหนดเวลาส่วนอดีตของโลกเปน ๕ กัลป ดังทูลอธิบายแล้วในจดหมายฉะบับก่อนตามตำราว่าจำพวกสัตว์กินนมเกิดมีขึ้นต่อในตติยกัลป มนุษย์ก็นับอยู่ในสัตว์จำพวกกินนมจึงยังไม่มีใน ๓ กัลปก่อนขึ้นไป ตติยกัลปนั้นในตำราแบ่งเปน ๔ ยุค เรียกชื่อต่างกันเปนคำภาษากรีก (เหตุที่ใช้คำภาษากรีกเพราะจะให้เปนคำกลาง สำหรับเรียกเหมือนกันทุกชาติทุกภาษา)

ยุคที่ ๑ (ต่อทุติยกัลป) เรียกว่า เอโอซีน Eocene (ความหมายเพียงว่า อรุณของรุ่นใหม่ Dawn Recent) กำหนดเวลาของยุคนี้ว่า ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ ปี

ยุคที่ ๒ เรียกว่า โอลิโกซีน Oligocene (แปลว่า รุ่นใหม่ต่อมาอีกเล็กน้อย A Little More Recent) กำหนดเวลา ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ ปี เหมือนกัน

ยุคที่ ๓ เรียกว่า มิโอซีน Miocene (แปลว่า กึ่งรุ่นใหม่ Half Recent) กำหนดเวลา ๙๐๐,๐๐๐ ปี

ยุคที่ ๔ (เปนยุคสุดท้ายของตติยกัลป) เรียกว่าปลิโอซีน Pliocene (แปลว่า รุ่นใหม่ยิ่งขึ้น More Recent) กำหนดเวลา ๕๐๐,๐๐๐ ปี (ต่อนี้ไปเข้าจตุถกัลป)

จตุถกัลป แบ่งเปน ๒ ยุค

ยุคที่ ๑ เรียกว่า เปลอิสโตซีน Pleistocene (แปลว่า ใหม่เอี่ยม Most Recent) กำหนดเวลา ๔๐๐,๐๐๐ ปี

ยุคที่ ๒ เรียกว่า รีเซนต์ Recent (แปลว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้) นับเวลาเปนยุคที่ ๒ มาจนต่อประวัติศาสตร์ ก็แต่เวลาต่อประวัติศาสตร์นั้นต่างชาติย่อมต่างกัน จึงกำหนดเวลายุคนี้เปนกลางไม่ได้

โครงกระดูกมนุษย์เก่าที่สุดได้พบในภูมิธาตุ อาจจะถึงยุคปลิโอซีน แต่หลักฐานที่พบมากนั้นอยู่ในยุค เปลอิสโตซีน ถึงกระนั้นก็ถือเปนหลักได้ว่ามนุษยชาติมีมาแล้วสักราว ๑,๐๐๐,๐๐๐ ปี

ข้อที่ว่าด้วยต้นพืชพันธุ์ของมนุษย์นั้น นักปราชญ์ทั้งปวงยอมรับความเห็น Theory ของศาสตราจารย์ชาลส์ดาร์วิน ว่าด้วยมูลของพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ Origin of Species ซึ่งประกาศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑ ว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมสืบพันธุ์มาเปนกระบวร Evolution (อย่างแผนรูปที่ ๑ ที่ส่งมาถวายกับจดหมายนี้และได้ทูลอธิบายในจดหมายฉะบับก่อนแล้ว) คือว่าอาจจะคงรูปอย่างเดิมหรือแปรรูปไปเปนอย่างอื่น เพราะถิ่นที่อยู่และการหาเลี้ยงชีพเปนปัจจัยได้ทั้ง ๒ สถาน ข้อนี้ศาสตราจารย์คัลเลนเฟลชี้แจงอัตถาธิบาย ว่าอุปรมาเหมือนลูก ๒ คนที่เกิดร่วมบิดามารดากัน คนใหญ่มีอุปนิสสัยชอบอยู่กับบิดามารดา แต่ลูกคนเล็กมีอุปนิสสัยซุกซนชอบปีนป่ายมาแต่เล็ก ครั้นเด็กทั้ง ๒ คนนั้นเปนผู้ใหญ่ขึ้น ความประพฤติในอาชีพก็ต่างกันไปตามอุปนิสสัย คนใหญ่ชอบหากินตามอย่างบิดามารดา เช่นทำไร่นา ส่วนคนเล็กอาศัยที่ชำนาญการปีนป่ายก็ประกอบการอาชีพตามถนัด เช่นไปเปนพรานอยู่ในป่า อาชีพเลยเปนปัจจัยให้กำลังและร่างกายของคนทั้ง ๒ นั้นเริ่มผิดกัน ครั้นคนทั้ง ๒ มีลูกเต้าต่อมา ลูกของพี่ก็คงเปนชาวบ้าน ลูกของน้องก็เลยเปนชาวป่า แล้วสืบตระกูลแยกกันต่อ ๆ ไป แต่ว่าปลาดอยู่อย่าง ๑ ที่การสืบพันธุ์เช่นกล่าวมาไม่มีที่จะหวนกลับถอยหลัง เปรียบดังลูกของน้องชายซึ่งกลายเปนชาวป่านั้น ที่จะกลับคืนไปเปนชาวบ้านเหมือนอย่างปู่ย่าหามีไม่ มีแต่แยกเลยไปในทางอย่างอื่น

เพราะกระบวนแปรพันธุ์ Evolution ของสัตว์เปนดังว่ามา จึงมีสัตว์เปนจำพวกOrderต่างๆ ยกตัวอย่างดังเช่นราชสีห์ เสือและแมว นับว่าเปนจำพวก สิงห์ ด้วยกันฉันใด ลิงเล็ก Monkey ที่มีหาง ลิงใหญ่ Ape ที่ไม่มีหาง และมนุษย์ก็เปนจำพวกคน Anthropoid ด้วยกันฉันนั้น แต่ก่อนเข้าใจกันว่าจะแปรพันธุ์ต่อกันมาเช่นสัตว์ ๔ เท้าแปรกลายเปนลิงเล็ก ลิงเล็กกลายเปนลิงใหญ่ ลิงใหญ่กลายเปนมนุษย์ แต่พวกศึกษาวิชชาก่อนประวัติศาสตร์ตรวจค้นได้หลักฐานว่า ลิงเล็กลิงใหญ่และมนุษย์เกิดแต่พืชเดิมอันเดียวกันจริง แต่แยกเปนสายต่างกันมาช้านาน หาได้สืบพันธุ์ต่อกันมาดังเข้าใจแต่ก่อนไม่ แต่ละสายสืบพันธุ์มาศูญเสียบ้าง สืบพันธุ์มาได้ปัจจุบันนี้บ้าง

เหตุใดสัตว์บางจำพวกจึงสูญพันธุ์ ข้อนี้ตามอธิบายของศาสตราจารย์ชาลส์ดาร์วิน กล่าวว่าต่อสัตว์ที่เหมาะแก่โลกวิสัยจึงจะรอดอยู่ได้ Survival of the Fittest หรือถ้าว่าตามกระบวรภาษาไทย ก็จะต้องว่าสัตว์พันธุ์ใดสามารถเลี้ยงตัวได้ สัตว์พันธุ์นั้นจึงรอดอยู่ ข้อนี้ศาสตราจารย์คัลเลนเฟลให้อัตถาธิบายว่า ต้นเหตุอยู่ที่อาหารนั้นเอง คือสัตว์พันธุ์ใดไม่มีอาหารบริโภค สัตว์พันธุ์นั้นก็พากันอดตายสูญพันธุ์ไป ยกอุทาหรณ์อันปรากฏเมื่อไม่ช้ามานัก พวกขุดค้นโบราณวัตถุไปพบโครงกระตดูกสัตว์โบราณ (พวกที่โตกว่าช้าง) จมดินอยู่ทั้งโขลงที่ในทะเลทรายโคบี เหนือประเทศจีน ก็ธรรมดาสัตว์จำพวกนั้นย่อมกินหญ้าเปนอาหารและมีปกติอาศัยอยู่ตามชายบึงหรือทะเลสาป ส่อให้เห็นว่าเมื่อสัตว์โขลงนั้นมีชีวิตอยู่ที่ทะเลทรายตรงนั้นคงเปนห้วงน้ำใหญ่ แต่มีเหตุเกิดขึ้นด้วยกำลังโลกธาตุ เช่นแผ่นดินไหวเปนต้น บันดาลให้ห้วงน้ำนั้นแห้งหายไป พวกสัตว์เล็กเช่นนกหรือกวางตัวเบาอาจทิ้งถิ่นที่ไปได้โดยเร็ว แต่สัตว์พวกนั้นตัวใหญ่โตไปยากก็กินหญ้าที่เหลืออยู่ในถิ่นนั้นจนหญ้าแห้งหมด ก็เลยอดตายในคราวเดียวกันทั้งโขลง ยังมีตัวอย่างอื่นอีกเช่น ช้างและเสือเปนสัตว์ชอบอยู่ในที่อากาศร้อน ที่ในยุโรปขุดพบโครงกระดูกช้างและโครงกระดูกเสือก็มาก ส่อให้เห็นว่าสมัยเมื่อสัตว์เหล่านั้นอยู่ในยุโรปคงไม่หนาวนัก ครั้นถึงสมัยน้ำแข็งท่วมGlacier Period ในยุคเปลอิสโตซีน ช้างและเสือบางโขลงพากันหนีมาหาอากาศร้อนทางอาเซีย หรืออยู่ในอาเซียมาแต่เดิมแล้วก็สืบพันธุ์มาได้จนทุกวันนี้ แต่บางโขลงไม่หนีมาจากยุโรป กินพรรณพฤกษ์และสัตว์อื่นอันเคยเปนอาหารอยู่อย่างเดิม จนของเหล่านั้นหมดไป ช้างและเสือก็อดตาย แต่ปลาดที่มีช้างจำพวก ๑ ยังอยู่ได้ด้วยพยายามเปลี่ยนอาหารไปกินพวกพรรณตะใคร่น้ำ Moss ที่ขึ้นด้วยอากาศหนาว นานเข้าช้างพวกนั้นก็ (เป็น Mammoth) เกิดขนงอกปกคลุมตัวกันหนาวได้ แต่ต่อมาก็สูญพันธุ์ด้วยเหตุอย่างอื่น ถ้ายกตัวอย่างใกล้ๆกับปัจจุบันที่จะเห็นได้ง่ายเช่นที่ในกาะชะวาแต่เดิมก็มีชุมทั้งช้างและเสือ ครั้นจำนวนมนุษย์มากขึ้นชิงเอาถิ่นที่ซึ่งสัตว์เหล่านั้นเคยหากิน ทำไร่นาบ้านช่องและคอยขับไล่และทำอันตรายจนสัตว์เหล่านั้นไม่มีที่จะหาอาหารได้พอเลี้ยงชีพ ลงที่สุดช้างและเสือที่ในเกาะชะวาก็เลยสูญพันธุ์ด้วยประการฉะนี้ สัตว์ทั้งปวงจึงสืบพันธุ์อยู่ได้แต่ด้วยสามารถเลี้ยงตัวเปนประมาณ

ว่าถึงปัญญามนุษย์ ในตำราวิชชาสรีรศาสตร์ Anatomy ว่าปัญญาอยู่ที่มันสมอง Brain อธิบายว่ามันสมองที่อยู่ในกระโหลกศีร์ษะแบ่งเปนหลายภาคและสำหรับกระทำกิจต่างกันเปน ๒ อย่าง คือจำอย่าง ๑ คิดอย่าง ๑ ศาสตราจารย์คัลเลนเฟลบอกอัตถาธิบายว่า เหมือนอย่างว่าไนยตาแลเห็นรูปคนถือปืนยืนอยู่คน ๑ ไนยตาเองไม่รู้ว่าเปนอะไร เปนแต่ฉายรูปส่งเข้าไปยังมันสมองตอนที่อยู่ข้างท้ายทอย มันสมองส่วนนั้นถ้าไม่เคยเห็นคนถือปืนมาแต่ก่อนก็ไม่รู้ว่าอะไร ต่อเคยเห็นจึงจำได้ว่ารูปนั้นเปนคนถือปืน ก็บอกต่อไปโดยทางเส้นประสาทถึงมันสมองส่วนความคิดที่อยู่ตรงหน้าผากว่าเห็นคนถือปืน ทีนี้หูได้ยินเสียงดังปังก็ส่งเสียงนั้นเข้าไปยังมันสมองส่วนซึ่งอยู่ต่อหูเข้าไปทั้ง ๒ ข้าง มันสมองส่วนนั้นเคยได้ยินจำได้ว่าเสียงปังเช่นนั้นเปนเสียงปืน ในขณะนั้นเองได้ยินเสียงซีด จำได้ว่าเปนเสียงลูกปืนแล่นผ่านอากาศ ก็บอกไปยังมันสมองที่อยู่ตรงริมหน้าผากซึ่ง (เปนอธิบดี) สำหรับคิดมันสมองส่วนนั้นรู้ว่ามีผู้ยิงปืน พิจารณาเห็นว่าถ้าถูกปืนจะเปนอันตรายจำต้องหลีกเลี่ยง จึงสั่งสายเส้นประสาทให้บอกตีนให้พาตัวไปแอบแฝงให้พ้นทางปืน ดังนี้ ก็รูปพรรณลิงกับมนุษย์แม้ละม้ายคล้ายคลึงกันมากก็ดี แต่ผิดกันเปนข้อสำคัญอย่าง ๑ ที่หน้าผากลิงย่อมลาด แต่หน้าผากมนุษย์ตั้ง ข้อนี้ส่อให้เห็นว่า ที่ลิงไม่ฉลาดเหมือนมนุษย์ เพราะห้องมันสมองสำหรับคิดเล็ก มีมันสมองส่วนนั้นน้อยกว่ามนุษย์ ลิงจึงไม่มีปัญญามากเหมือนกับมนุษย์ แม้เห็นได้จำได้ก็ไม่สามารถจะคิดได้เท่าใดนัก

คราวนี้ถึงตอนต่อกับเรื่องวิชาก่อนประวัติศาสตร์ที่ได้ทูลไปแต่ก่อนว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ พบหัวกระโหลกมีลักษณะอยู่ในระหว่างมนุษย์กับลิงหลายศีรษะ เกิดปัญหาข้อต้นว่าเปนมนุษย์หรือเปนลิง ครั้นขุดพบโครงกระดูกเช่นนั้นอีกเมื่อภายหลัง มีเครื่องมือที่ทำด้วยหินอยู่ด้วยก็รู้ว่าเปนมนุษย์ เปนอันค้านความเชื่อเรื่องพระเจ้าสร้างมนุษย์ดังกล่าวในคัมภีร์ใบเบลได้แล้ว ก็เกิดปัญหาว่ามนุษย์คล้ายลิง Apeman นั้น (น่าเรียกในภาษาไทยแต่ว่า “คน” เพราะไม่นับเป็นมนุษย์ที่จะพึงอุปสมบทได้) จะสืบพืชพันธุ์มาอย่างไร จึงเอาหัวกระโหลกคนคล้ายลิง กับหัวกระโหลกมนุษย์ และหัวกระโหลกลิงใหญ่ (คือคอริลาและชิมแปนซี) เข้าเปรียบกัน เห็นได้ว่าหัวกระโหลกคนคล้ายลิงนั้นเหมือนมนุษย์หมดทุกอย่างเว้นแต่

(๑) เล็กกว่ามนุษย์ (ดูรูปเปรียบหมายเลข ๒)

(๒) หน้าผากลาดกว่ามนุษย์ แต่ชันกว่าลิง

(๓) กระดูกหลังคิ้วยื่นออกมามากกว่ามนุษย์ แต่ไม่เท่าลิง

(๔) กระดูกหลังคิ้วเปนแท่งเดียวตลอดเหมือนกับลิง ไม่มีหัวต่อเหมือนมนุษย์

(๕) กระดูกศีร์ษะตรงใต้ขอบไนยตานูนออกมาเหมือนกับลิง ไม่บุ๋มเข้าไปเหมือนมนุษย์

(๖) ปลายลูกคางไม่ยื่นเหมือนมนุษย์ กลับหดเข้าไปคล้ายกับลิง

(๗) กระดูกขากรรไกรยาวกว่ามนุษย์ แต่ไม่เท่าลิง

และยังมีลักษณะที่อื่นเช่นแขนและขาเปนต้น ก็อยู่ในระวางคนกับลิงทำนองเดียวกัน (ดูรูปเทียบ ๓ รูป)

มีอธิบายในวิชามนุษยศาสตร์ Anthropology ว่ารูปพรรณของมนุษย์ย่อมผิดกัน เช่นขาวบ้างดำบ้าง หน้าตาเปนอย่างนั้นบ้างอย่างนี้บ้าง แต่ผิดกันเพียงภายนอก ส่วนโครงกระดูกมนุษย์ที่ยังมีพันธุ์อยู่ในปัจจุบันนี้ผิดกันแต่เปน ๔ พันธุ์ Species กำหนดในตำราเรียกว่า ออสเตรเลี่ยนพันธุ์ ๑ นิโครพันธุ์ ๑ มงโคเลียนพันธุ์ ๑ และยุโรเปียนพันธุ์ ๑ ลักษณะมนุษย์เช่นกล่าวมา เช่นหน้าผากตั้งและลูกคางยื่น เปนต้น เหมือนกันทุกพันธุ์ มีแปลกอยู่แต่พวกคนป่าชาวออสเตรเลีย (ซึ่งใกล้จะสูญพันธุ์อยู่แล้ว) กระดูกโครงคิ้วยื่นออกมาเช่นคนคล้ายลิงสักเล็กน้อย แต่โครงกระดูกที่อื่นก็เหมือนมนุษย์ และพันธุ์ยังอยู่ รู้ได้แน่ว่าเปนมนุษย์ ถึงกระนั้นก็ชวนให้น่าคิดว่าหรือลิงใหญ่จะแปรพันธุ์มาเปนคนคล้ายลิง และคนคล้ายลิงจะแปรพันธุ์มาเปนมนุษย์ แต่มีหลักฐานปรากฏอยู่ ด้วยขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ที่มีพันธุ์สืบมาจนปัจจุบันนี้ในภูมิธาตุสมัยเดียวกันกับโครงกระดูกคนคล้ายลิงหลายแห่ง แสดงให้เห็นว่ามนุษย์กับคนคล้ายลิงมีอยู่ในสมัยเดียวกันทั้ง ๒ พันธุ์ ใช่แต่เท่านั้น โครงกระดูกคนคล้ายลิงที่ขุดพบ ณ ที่ต่างๆ ในยุโรป ในอาฟริกา ในชะวา และในเมืองจีน ยังมีลักษณะผิดกันจนเกิดสงสัยในพวกนักปราชญ์ว่า กระดูกคนคล้ายลิงที่พบ ณ ประเทศต่าง ๆ นั้น จะเปนแต่พงศ์ Genus เดียวกัน แต่ต่างพันธุ์ Species กันเหมือนอย่างมนุษย์ในปัจจุบันนี้ ข้อนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาหาหลักฐานให้แน่นอนต่อไป ในชั้นนี้ตามตำราวิชชาก่อนประวัติศาสตร์ กำหนดมนุษย์ชั้นก่อนเก่าแต่เปน ๒ พงศ์ เรียกมนุษย์ที่ยังมีพันธุ์อยู่ว่า คนมนุษย์ Homo Sapien และเรียกคนคล้ายลิงทุกลักษณะว่า คนนีนเดอร์ธัล Homo Neanderthal (ตามชื่อตำบลนีนเดอร์ที่ขุดพบโครงกระดูกแรกของคนคล้ายลิง) เหตุใดพวกคนคล้ายลิงจึงสูญพันธุ์ไปหมดยังจะต้องค้นต่อไป ในตำรากล่าวแต่ว่า การผันแปรรูปพันธุ์นั้นช้ามาก

อธิบายว่าด้วยประวัติของมนุษย์ชั้นก่อนเก่า ขอรอไว้ทูลในจดหมายฉะบับหลังต่อไป

วันที่ ๒๓ ตุลาคมปีนี้ ตรงกับกลางเดือน ๑๑ เปนวันทำบุญอุทิศถวายทูลกระหม่อมกับวันถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรงกัน หม่อมฉันได้ให้ไปเลี้ยงพระที่วัดปูโลติกุส และได้จัดตั้งเครื่องบูชาประดิษฐานพระบรมรูปทูลกระหม่อม กับสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่ Cinnamon Hall แล้วชวนลูกหลานกับบรรดาบริวารชนที่มาอยู่ด้วยกระทำสักการบูชา ต่อมาวันที่ ๒๔ ได้ไปช่วยชาวบ้านทอดกฐินที่วัดปูโลติกุส เขาทำกันครึกครื้น มีของไทยธรรมมากน่าเลื่อมใส หม่อมฉันขอถวายส่วนกุศลให้ทรงอนุโมทนา

งานกราบบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่ในกรุงเทพฯ ปีนี้ ก็ได้ยินว่ามีคนไปมากตามเคย ผิดกับแต่ก่อน แต่ไม่มีพิธีสงฆ์กับไม่จุดดอกไม้ไฟที่ลานพระบรมรูป การทั้ง ๒ อย่างนั้นหม่อมฉันก็ไม่ชอบมาแต่แรก เกิดแต่ความคิดของเจ้าพระยายมราชเกรงคนจะไปน้อย จึงให้มีงานมหรสพแทรกเพื่อจะชวนคนให้ไปมาก แล้วก็เลยทำกันต่อมา หม่อมฉันเห็นว่าให้มีแต่คนไปบูชาเท่านั้น เปนพระเกียรติยศงดงามดีกว่ามีเครื่องมหรสพประกอบ เพราะฉะนั้นที่เลิกเรื่องมหรสพเสียปีนี้ หม่อมฉันนึกอนุโมทนากับเขาด้วย เพราะการส่วนพระราชกุศลก็ทำอยู่ส่วนหนึ่งต่างหากแล้ว ไม่เสื่อมเสียพระเกียรติยศอย่างใด

เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๖ นี้ หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๒๔ ออกรำคาญใจที่ไม่ทรงสบายเพราะเปลี่ยนระดู หวังใจว่าจะสงวนพระองค์ได้ไม่ถึงประชวร ที่ปีนังนี้ ถ้าจะว่าด้วยระดูดีอยู่อย่างหนึ่งที่เกือบจะเหมือนกันตลอดปี คือไม่ร้อนจัดไม่หนาวจัด และได้อากาศทะเลอยู่เสมอ กับข้อสำคัญที่มิใคร่มียุงอีกอย่าง ๑

เรื่องธารพระกรศักดิ์สิทธาวุธนั้น จะเกิดขึ้นด้วยเหตุอย่างไร หม่อมฉันก็ไม่รู้ ทราบแต่ว่าทูลกระหม่อมทรงเซ่นสรวงอย่างเปนของศักดิ์สิทธิ์ ไปนึกเค้าได้อย่าง ๑ มีตำราจีนว่า ของสำคัญสำหรับเรือนนั้นคือ “ไก่ขาว ไม้ท้าวผีสิง ผู้หญิงรูปงาม” (ใครจะผูกให้คล้องกันก็ไม่ทราบ) แต่ดูเหมือนสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเคยทรงใช้คตินี้ เมื่อขึ้นพระที่นั่งเวหาศจำรูญหรือเรือนต้น นึกได้แต่เท่านี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ