วันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ดร

บ้านซินนามอน ฮอลล์ ปีนัง

วันที่ ๒๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑๕ และฉะบับลงวันที่ ๒๒ สิงหาคม จดหมายของหม่อมฉันฉะบับนี้จะถวายรายงานเรื่องไปดูศาสตราจารย์คัลเลนเฟลขุดขุมทรัพย์ก่อนสมัยประวัติศาสตร์เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๗ ตามที่ได้ทูลสัญญาไว้ในจดหมายฉะบับก่อน

ขุมทรัพย์แห่งนี้ อยู่ที่ริมแม่น้ำกวาลามุดาที่ปันแดนเมืองไทรกับปีนัง ตำบลคัวปักกา ในท้องที่อำเภอปรอวินสเวเลสลี แขวงเมืองปีนังห่างจากฝั่งทะเลราว ๕๐ กิโลเมตร์ หม่อมฉันไปรถยนต์จากปีนังเอารถลงเรือจ้างข้ามฟากไปขึ้นที่ตำบลบัตเตอร์เวอร์ท แล้วแล่นไปตามถนนอีก ๑๗ ไมล์ ถึงเชิงสะพานข้ามแม่น้ำกวาลามุดา ลงจากรถเดินไปตามคันกั้นนาสักกิโลเมตร์ ๑ แล้วลงเดินไต่ตามคันนาไปอีกสัก ๕ ไร่ก็ถึงที่ขุมทรัพย์ซึ่งศาสตราจารย์คัลเลนเฟลปักเต๊นเปนออฟฟิศและปลูกโรงจากที่พักคนทำงานไว้ มีคนทำงานราวสัก ๑๕ คน ตัวศาสตราจารย์คัลเลนเฟลกับฝรั่งเจ้าของที่ไปคอยรับอยู่ที่นั่น เมื่อหม่อมฉันข้ามเรือจ้าง เผอิญไปพบเจ้าเมืองปีนัง ๆ ออกสนุกตามไปด้วยอีกคน ๑

ขุมทรัพย์ที่ขุดนั้นอยู่ในที่ราบกลางท้องนา มีเปนโคกอยู่ ๓ โคกพึ่งเริ่มขุดโคกแรก เดี๋ยวนี้ขุดไปยังไม่ถึงหนึ่งในสิบของโคกนั้นเพราะการขุดขุมทรัพย์ก่อนสมัยประวัติศาสตร์จะใช้เครื่องมือที่ทำด้วยโลหะ หรือที่เปนของหนักไม่ได้ ด้วยเกรงจะไปกระทบโบราณวัตถุให้ย่อยยับเสีย ใช่แต่เท่านั้นวัตถุที่ประสงค์ของการขุดมีเปน ๒ อย่างคือเพื่อจะหาโบราณวัตถุอย่าง ๑ เพื่อจะให้รู้ว่าที่ตรงนั้นเดิมเปนที่อย่างไรอย่าง ๑ เครื่องมือใช้ได้แต่เอาไม้ไผ่มาเหลารูปเหมือนกับใบพาย ค่อย ๆ เขี่ยคุ้ยแผ่นดินลงไปทีละน้อยคล้ายกับเอาปากเป่าให้ดินปลิวไป พบสะเก็ดหรือก้อนอันใดก็เก็บเอามา ขนแต่กากดินเอาไปทิ้ง ถ้าพบสิ่งใดเปนชิ้นใหญ่ฝังคาดินก็ห้ามไม่ให้ดึงขึ้นมา ด้วยกลัวจะหักสลาย ต้องเกลี่ยดินลงไปจนวัตถุนั้นหลุดลอยตัวจึงเก็บมา วันก่อนหม่อมฉันไปดู ขุดลงไปพบกระดูก ๒ ชิ้นคาดินอยู่ ยังรู้ไม่ได้ว่าเปนกระดูกคนหรือกระดูกสัตว์ ศาสตราจารย์คัลเลนเฟลให้ปักไม้หมายไว้ ยังจะต้องรอไปจนเกลี่ยดินให้กระดูกนั้นลอยตัวจึงจะเอามาชันสูตร์ ของต่าง ๆ ที่ขุดได้นั้น ศาสตราจารย์คัลเลนเฟลตรวจดูทุกชิ้น ที่ไม่มีร่องรอยว่าเกี่ยวกับคนทำ เอาไปรวมไว้ทางหนึ่ง ชิ้นที่มีสำคัญว่าเกี่ยวกับมนุษย์ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ แกปิดนำเบอร์ลงบัญชีทุกชิ้น แผนผังที่แกขุดนั้นตอน ๑ ขุดลึกตรงลงไปหวังจะดู Cross Section ให้รู้ว่าแต่เดิมที่ตรงนั้นเปนอะไร ตอนนี้ขุดสำเร็จแล้ว นอกจากตอนนี้เปนแต่ขุดค้นหาของ แต่มิได้ขุดให้เปนหลุมเปนบ่อ ขุดเกลี่ยดินไปให้เสมอกัน ขุดไม่ได้วันละกี่มากน้อย และตาศาสตราจารย์คัลเลนเฟลเองก็ลำบากมากอยู่ ด้วยแกชอบอากาศเย็น ขึ้นไปอยู่โฮเตลบนยอดเขาปีนัง ต้องลงจากเขาแต่เช้าตรู่ขึ้นรถยนต์ไปถึงที่ตำบลคัวปักกา เมื่อจะเดินไต่คันนาตัวแกใหญ่โต ต้องมีคนเดินประคองสองข้างไปจนถึงที่ทำงาน แกอยู่เพียงครึ่งวัน กลับมากินกลางวันที่ปีนัง ตอนบ่ายพักและหยุดวันเสาร์วันอาทิตย์ วันอาทิตย์จึงนัดกันเปนวันมากินน้ำชาและสนทนากับหม่อมฉัน

คราวนี้จะทูลถึงความรู้ที่ได้จากการไปดูขุดขุมทรัพย์ต่อไปตรงที่ที่แกขุดลึกลงไปเปนครอสเซกชั่นนั้น ถึงพื้นต่ำที่สุดเปนดิน ต่อขึ้นมามีเปลือกหอยมากกว่ามากปนอยู่กับดิน แกบอกให้สังเกตเปลือกหอยที่ปนดินอยู่ตอนล่าง ล้วนเปนเปลือกหอยเหลืออยู่บริบูรณ์ แต่ตอนบนที่ใกล้จะถึงแผ่นดินเปนเปลือกหอยหักเปนชิ้นเล็ก ๆ ทั้งนั้น อีกประการหนึ่งให้สังเกตแนวที่เปลือกหอยหักต่อกับเปลือกหอยดี ดินเปนตอนละสี และแนวที่ต่อกันนั้นลาดลงไปเหมือนเชิงสะพานจนถึงดินเปล่าไม่มีเปลือกหอย แกบอกอธิบายว่าเพราะที่ตรงนั้น เดิมเปนหาดทรายชายทะเล และเปนที่มนุษย์ก่อนสมัยประวัติศาสตร์มาเที่ยวหาหอยกินเปนอาหาร เมื่อกินแล้วก็ทิ้งเปลือกหอยไว้กับหาด เปลือกหอยจึงยังดีอยู่ ต่อมาภายหลังคลื่นซัดโคลนกับเปลือกหอยแตกหัก ที่ทิ้งอยู่ในท้องทะเลขึ้นไปท่วมทับกองเปลือกหอยที่พวกมนุษย์ทิ้งไว้ เปลือกหอยจึงเปน ๒ อย่างต่อกัน และแนวที่ต่อกันดินจึงต่างสี และลาดเปนสะพานช้าง และที่เปลือกหอยไปหมดเพียงที่ดินเปล่า หลักฐานเหล่านี้ส่อให้เห็นว่าตรงนั้นเปนชายหาด และเปลือกหอยที่ถมทับกันเปนของต่างสมัย

ส่วนของต่าง ๆ ที่แกได้ไว้แล้วนั้นมีหลายอย่าง หม่อมฉันจะพรรณนาแต่บางอย่างคือ

๑. ดินแดงสำหรับฝนทาตัว หม่อมฉันขอแกมา ๒ ก้อน ได้ส่งเข้าไปถวายท่านก้อน ๑ พร้อมกับจดหมายฉะบับก่อน แกบอกอธิบายว่ามนุษย์พวกก่อนสมัยประวัติศาสตร์ หรือแม้มนุษย์ที่ยังเปนคนป่าเถื่อนในปัจจุบันนี้ชอบเอาอะไรทาตัวเปนเครื่องป้องกันอันตรายทั่วทุกแห่ง ในที่ที่มีดินแดงพวกมนุษย์ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ชอบเอาดินแดงทาตัว เจ้าเมืองปีนังถามแกว่าดินแดงที่พบนี้มันมีอยู่ที่ไหน แกบอกว่าหาได้ตามภูเขาในแถวนี้เอง เจ้าเมืองว่าถ้าเช่นนั้นก้อนที่แกเก็บมา มันจะเปนของอยู่ในที่นี้เองไม่ได้หรือ แกตอบว่าที่ตรงนี้ก็เห็นกันอยู่แล้วว่าเปนที่หาดชายทะเล ดินแดงมันเปนของมีตามภูเขา มันจะเดินลงมาเองให้ถึงชายหาดได้อย่างไร แกบอกความเห็นของพวกนักปราชญ์ต่อไปว่า ที่มนุษย์ชอบเอาดินแดงทาตัวเมื่อดึกดำบรรพ์นั้น ด้วยเห็นว่าโลหิตเปนกำลังของมนุษย์ ถ้าโลหิตตกก็อ่อนกำลังลง ถ้าโลหิตตกไม่หยุดก็เลยตาย พิจารณาเห็นว่าโลหิตผิดกับน้ำอื่นด้วยสีแดง จึงเชื่อว่าสีแดงอาจทำให้เกิดกำลัง จึงเอาดินแดงทาตัวเหมือนอย่างทายาบำรุงกำลัง.

๒. ได้กรามมนุษย์ซี่ ๑ (หญิงพูนไม่ยอมจับ แกเลยเอาเปนเรื่องสำหรับล้อหญิงพูนว่าขี้กลัวผี) แกบอกอธิบายว่ามนุษย์ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ ร่างกายเล็กกว่ามนุษย์เดี๋ยวนี้ แต่ฟันโตกว่า เห็นจะเปนเพราะต้องขบเคี้ยวกินเนื้อสดและเนื้อดิบอยู่เสมอ.

๓. พบศิลาก้อนหนึ่ง สัณฐานเหมือนเมล็ดกรวดขนาดใหญ่ที่มีอยู่ตามท้องธาร แกบอกว่าครกของมนุษย์ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ พวกที่ไปดูไม่มีใครเชื่อ โต้ว่าก้อนหินกรวดอย่างนี้มันมีอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง แกขอให้ชันสูตร์ข้างด้านหนึ่งของก้อนกรวดนี้มันบุ๋มลงไป และในที่บุ๋มนั้นราบรื่นผิดกับแห่งอื่นเพราะรอยตำ ก็เถียงแกไม่ได้.

เมื่อดูแล้วหม่อมฉันกลับมาเวลาราว ๑๑ นาฬิกา มาทันกินกลางวันที่เมืองปีนัง ได้นัดกับศาสตราจารย์คัลเลนเฟลต่อไปว่าถ้าแกขุดพบอะไรสลักสำคัญ เห็นว่าหม่อมฉันควรจะดูขอให้บอก หม่อมฉันจะไปอีก.

การดูขุดขุมทรัพย์ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ มันสนุกผิดกับไปดูโบราณสถานที่เขาขุดแล้ว เช่นที่เมืองลพบุรีหรือแม้โบราณสถานที่กำลังขุด เช่นขุดตรวจในพระมหาสถูป วัดพระศรีสรรเพชญ์เปนต้น เพราะขุดขุมทรัพย์ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ ทั้งศาสตราจารย์ผู้ขุดเองและผู้ไปดู ไม่รู้ว่าที่นั้นจะเปนอะไรอยู่ก่อน และไม่รู้ว่าจะมีอะไร ที่สุดเมื่อได้ของขึ้นมา ก็ต้องเอามาตรวจพิเคราะห์ว่ามันเปนอะไร เวลาไปดูขุดมีโอกาศที่จะเดาและจะเถียงกันเรื่อยไป สนุกดี แต่เมื่อมาคิดดูดูเปนการยากยิ่งกว่าขุดตรวจวัตถุสถานอะไรอื่น ผู้อำนวยการต้องมีความรู้หลายอย่าง ต้องมีความเพียรและมีความชำนาญในการที่จะสังเกต คนที่ไม่ได้เรียนและไม่ได้ฝึกหัดกับผู้รู้จนคุ้นเคย เปนทำไม่ได้ เพียงอย่างตัวหม่อมฉันถ้าปล่อยให้เข้าไปอำนวยการก็หงายท้อง.

ได้ถามศาสตราจารย์คัลเลนเฟลต่อมาถึงว่ากำหนดที่เรียกว่าสมัยก่อนประวัติศาสตร์นั้นเอาอะไรเปนเกณฑ์ แกบอกว่าที่เรียกว่าสมัยก่อนประวัติศาสตร์ไม่ได้เอาศักราชเปนเกณฑ์ เพราะที่จริงมันต่างกันตามจำพวกมนุษย์ ยกตัวอย่างว่ามนุษย์จำพวกหนึ่งเรียกกันว่า ปะปัว อยู่บนยอดเขาในเกาะนิวกินีไม่ได้พบกับมนุษย์พวกอื่น มาจนเมื่อ ค.ศ. ๑๙๐๐ พวกฮอลันดาจึงพยายามขึ้นไปถึงบ้านเมืองของพวกปะปัว สืบสวนเรื่องราวของมนุษย์พวกนั้นตอนก่อน ค.ศ. ๑๙๐๐ ก็ไม่ได้ความ ต้องนับว่าสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของมนุษย์พวกปะปัวลงมาจน ค.ศ. ๑๙๐๐ มนุษย์จำพวกใดมีเรื่องราวอันจะพึงรู้ได้ถอยหลังขึ้นไปเพียงใด เขตต์สมัยก่อนและทีหลังประวัติศาสตร์ก็เลื่อนขึ้นไปเพียงนั้น เหมือนอย่างประเทศสยามแกเข้าใจว่า สมัยก่อนประวัติศาสตร์เริ่มแต่เมื่อพระพุทธศาสนาเขามาประดิษฐาน คำที่เรียกเปนกำหนดอายุว่าอายุหิน อายุบรอนส์ และอายุเหล็ก เหล่านี้ก็เช่นเดียวกัน พวกปะปัวที่เกาะนิวกินียังอยู่ในอายุหิน เพราะยังใช่ขวานหินอยู่ จนได้สมาคมกับพวกฮอลันดา

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ