วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑๒ ธันวาคม ทราบความแล้ว

ศัพท์ “พงศาวดาร” นั้นใช้มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีในหนังสือเก่าที่หม่อมฉันนึกได้ในเวลานี้ แต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราชคือในบานแผนกพงศาวดาร “ฉะบับหลวงประเสริฐ” หนังสือพงศาวดารฉะบับหมอบรัดเลพิมพ์ ๒ เล่ม ที่จริงก็เปนหนังสือแต่งครั้งกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพน ฯ ในรัชชกาลที่ ๑ กับสมเด็จกรมพระปรมานุชิต ฯ เปนแต่แต่งต่อ เรียกชื่อตามของเดิม ซึ่งพิเคราะห์ดูน่าจะตั้งขึ้นตามคติพราหมณ์ ด้วยถือว่าพระเจ้าแผ่นดินเปนอาวตารของพระเปนเจ้าบนสวรรค์ ปลาดอยู่ที่เรื่องพงศาวดารของฝรั่งที่แต่งแต่ก่อน ก็เหมือนกับพงศาวดารของไทย คือเอาพระเจ้าแผ่นดินขึ้นตั้งปันความตามรัชชกาลเปนกำหนด พงศาวดารอย่างที่แต่งเปนเรื่องของชาติหรือประเทศ เปนของเกิดขึ้นใหม่ ตามความเห็นของหม่อมฉันยังรักให้ใช้เรียก History ว่าพงศาวดารอยู่ตามเดิม ถ้าจะเปลี่ยนเปนคำอื่นเห็นควรจะใช้ว่า “ประวัติ” อนุโลมตามคำประวัติศาสตร์

ว่าถึงคำของหนังสือพงศาวดาร ความจริงก็ตรงกับที่ตรัสมา คือพงศาวดารที่แต่งใกล้ต่อเหตุการณ์ ไม่ดีเหมือนพงศาวดารแต่งเมื่อเหตุการณ์ล่วงแล้วตั้งหลายชั่วอายุคน พวกนักปราชญ์ประวัติศาสตร์ก็เห็นเช่นนั้นเหมือนกัน ยกตัวอย่างพงศาวดารเรื่องมหาสงครามคราวหลังนี้ มีผู้แต่งตั้งแต่ยังกำลังรบกันอยู่แล้วแต่งใหม่เรื่อยมาจนทุกวันนี้ แต่ก็ยอมรับกันว่าต่อไปภายหน้าอีกสัก ๑๐๐ ปีจะแต่งได้ดีกว่านี้ เพราะพงศาวดารที่แต่งใกล้กับเหตุการณ์ความรู้เห็นของผู้แต่งก็ยังไม่รู้จริงเห็นจริง ความคิดที่คาดเหตุ บางทีตัวเองก็เห็นวิปริตเพราะเปนพวกโน้นพวกนี้ ส่วนผลก็ยังเห็นไม่ได้ว่าจะดีร้ายเพียงไร ได้แต่คาดคะเนก็ว่าไปตามทิษฐิของตนไม่เปนแก่นสาร ว่าฉะเพาะพงศาวดารรัชชกาลที่ ๓ ที่พิมพ์แจกในงานศพพระยาไพบูลย์ฯ หม่อมฉันก็นึกอยากได้อยู่ แต่เจ้าภาพเขามิได้ส่งมาให้ ยังสั่งไปที่บ้านให้หาส่งมาให้สักเล่ม ๑ เมื่อได้อ่านแล้วจึงจะทูลได้ว่ากระบวรที่พิมพ์หนังสือเล่มนั้นเห็นเปนอย่างไร.

เรื่องหนังสือภาษาสันสกฤตและภาษามคธ ที่หม่อมฉันวานสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์แปลและยังค้างอยู่นั้น ขอได้โปรดตรัสขอบใจพระงั่วที่สืบเหตุมาให้ด้วย ที่จริงท่านทำตามที่หม่อมฉันขอไปว่าให้ท่านสั่งศิษย์คนใดคนหนึ่งของท่านให้แปล พระสารประเสริฐก็เปนศิษย์และเปนผู้เอาใจใส่เรียนภาษาสันสกฤต ท่านเลือกก็เหมาะดี ถ้าเปนอย่างแต่ก่อนส่งไปให้พระพินิจ ฯ กับตาพราหมณ์แปล ไม่ช้าเท่าใดก็คงได้ แต่หม่อมฉันคิดดูเห็นว่าเปนเวลาคนที่เคยใช้สอยไหว้วาน เดี๋ยวนี้พลัดเพลิดกระจัดกระจายไม่รู้ว่าใครไปอยู่ที่ไหน จึงได้วานสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ แต่ว่าไม่เปนการเร่งร้อนฉันใด ถึงจะช้าไปก็ได้.

ทราบว่าพระยานิพัทธ์ราชกิจถึงแก่กรรม หวลคิดถึงความหลังรู้สึกอาลัยอยู่บ้าง แต่คิดไปอีกทีแกก็แก่หงำและทราบว่าตามืดทั้ง ๒ ข้างแลไม่เห็นอะไรอยู่แล้วดูก็เปนพ้นทุกข์ไป เรื่องที่พระยาดำรงราชพลขันธ์บวชนั้น ถ้าเปนพระยาดำรงราชพลขันธ์ (คอน บุนนาค) ก็ปลาดอยู่บ้าง ด้วยเคยบวชจนได้เปนเปรียญ ๑ ประโยคมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่หม่อมฉันก็นึกอนุโมทนาด้วย.

ข่าวทางปีนังนี้ เรื่องที่จะทูลบันเลงในสัปดาหะนี้ก็อยู่ข้างค่น เมื่อเร็ว ๆ นี้หนังสือพิมพ์ออกโฆษณาว่าจะเล่นหนังฉายอย่างพูดได้เรื่องบุตร์ลบ พวกทมิฬเล่น พอเห็นคำโฆษณาหญิงเหลือก็หูผึ่ง ปรึกษากันว่าจะควรไปดูหรือไม่ หม่อมฉันไม่ไว้ใจจึงขอให้หญิงเหลือไปดูก่อน ถ้าเห็นว่าดีหม่อมฉันจึงจะไปดู หญิงเหลือไปดูกลับมาสั่นเศียรว่าเสด็จพ่ออย่าเสด็จไปเลย ดูมันเอ่อเต็มที มีแต่พวกแขกฮินดูไปดูเอาบุญเต็มโรง ไม่มีอะไรน่าดู.

เมื่อ ๒ วันมานี้ Dr. Wales ที่สมาคมต่าง ๆ เขาแต่งให้มาตรวจทางพวกชาวอินเดียไปประเทศสยามแต่โบราณ ซึ่งดูเหมือนหม่อมฉันจะได้เคยทูลให้ทรงทราบแล้วมาถึงปีนัง มาหาหม่อมฉัน ๆ เลยนัดให้มากินน้ำชาพร้อมกันกับศาสตราจารย์คัลเลนเฟลเมื่อวานนี้ Dr. Wales ว่าจะเข้าไปกรุงเทพฯ ก่อนแล้วจึงจะกลับออกตรวจ ในปีนี้จะตรวจทางแต่ตะกั่วป่าไปเมืองไชยา หม่อมฉันนึกว่าบางทีเขาอาจจะไปเฝ้าท่านด้วย ถ้าไปเฝ้าทรงสนทนาภาษาไทยได้ไม่ต้องมีล่าม ส่วนศาสตราจารย์คัลเลนเฟลน่าสงสารอยู่ ด้วยตกบรรไดคราวหลังนี้เจ็บมากกว่าคราวก่อน บอกว่าปวดที่เกลียวหลังจนนอนไม่หลับต้องถึงให้หมอรักษา แกจะมาได้อีกวันเสาร์หนึ่ง ต่อนั้นจะกลับไปประชุมสมาคมประวัติศาสตร์ที่เมืองมะนิลา แล้วจะไปรับยศดอกเตอร์กิตติมศักดิ์ที่มหาวิทยาลัยเมืองฮ่องกง จะอยู่ทางตะวันออกนี้อีกสักปีเดียว แล้วจะเลยออกจากตำแหน่งกลับไปอยู่ฮอแลนด์ ว่าได้มาอยู่ทางตะวันออกกว่า ๓๐ ปีแล้ว.

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ กรมหมื่นเทววงศ์กลับมาถึงปีนัง ได้มาเสวยกลางวันกับเสวยเวลาเย็นที่ Cinnamon Hall ได้ไต่ถามทราบประวัติการที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จยุโรปพอสำราญใจ รุ่งขึ้นเธอก็กลับไปกรุงเทพฯพร้อมกับชายดิศและหญิงหลุย หม่อมฉันเข้าใจว่าป่านนี้กรมเทววงศ์คงจะได้ไปเฝ้าท่านแล้ว.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย ประสูติ ๑๑ สิงหาคม ๒๔๒๖ สิ้นพระชนม์ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๖

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ