วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ดร

บ้านซินนามอน ฮอลล์ ปีนัง

วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๙ พฤษภาคม มีความยินดีมาก โดยฉะเพาะที่ทรงสืบและชี้แจงเรื่องเสื้อเฝ้าตอนต้นรัชชกาลที่ ๕ มาให้ทราบ เปนความรู้ใหม่แก่หม่อมฉันก็มีอยู่บางข้อ และที่ลืมเสียแล้วก็มี จึงเปนประโยชน์แก่หม่อมฉันมาก

มีข้อที่จะทูลปรึกษาในเรื่องครั้งนั้นต่อไปอีกเรื่อง ๑ คือเรื่องหล่อพระบรมรูปพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๔ รัชชกาล ซึ่งปรากฎว่าเริ่มทำหุ่นมาแต่ปีมะเสง พ.ศ. ๒๔๑๒ แต่มาหล่อเมื่อปีมะแม ปัญหาว่าทรงพระราชปรารภอย่างไรจึงให้หล่อพระบรมรูปทั้ง ๔ องค์นั้น เพราะประเพณีโบราณการสร้างพระรูปพระเจ้าแผ่นดินเปนอนุสสรณ์ ทำแต่ในพระพุทธรูปหรือเทวรูป พึ่งมาสร้างเปนรูปมนุษย์ขึ้นครั้งนี้ หม่อมฉันคิดค้นต้นเค้าเงื่อนเห็นว่าความคิดที่จะสร้างพระบรมรูป ๔ พระองค์นั้น อาจจะเกิดขึ้นแต่เมื่อรัชชกาลที่ ๔ ด้วยในรัชชกาลนั้น ได้พระรูปพระเจ้าแผ่นดินในยุโรปเปนรูปหล่อถวายมาเปนบรรณาการบ้าง เปนรูปปั้นระบายสีเช่นที่มีอยู่ในพระที่นั่งอิสเรศร์ราชานุสสรณ์บ้าง ความนิยมพระรูปพระเจ้าแผ่นดินทำเปนรูปหล่อหรือรูปปั้นจะเกิดขึ้นในสมัยนั้น มีพระบรมรูปของทูลกระหม่อมเปนฝีมือฝรั่งปั้น หล่อกาไหล่ทองสูงสักราวศอก ๑ อยู่ในของหลวงองค์ ๑ (เข้าใจว่าท่านคงเคยทอดพระเนตร์เห็นและยังทรงจำได้ พระบรมรูปองค์ที่ว่านี้ทรงฉลองพระองค์เปิดพระอุระ พระภูษาโจง และทรงพระมาลาสก๊อต เหมือนพระบรมรูปฉายาลักษณ์ที่ฉายด้วยกันกับสมเด็จพระเทพสิรินทร ดูเหมือนที่เปนแต่พระบรมรูปปลีกก็มี) หม่อมฉันสันนิษฐานว่ามีรับสั่งให้ส่ง หรือจะมีใครส่งพระบรมรูปฉายาลักษณ์องค์นั้นออกไปให้ฝรั่งคิดทำพระบรมรูปหล่อ ช่างฝรั่งมีแต่รูปฉายาลักษณไม่รู้พระรูปโฉมตระหนัก จึงคิดทำตามแบบฝรั่ง รูปพระองค์อ้วนท้วนมีกล้ามเนื้อเปนฝรั่งผิดเพี้ยนห่างไกลจากพระรูปโฉมที่จริง คงเปนเมื่อได้ทอดพระเนตร์เห็นพระบรมรูปองค์นั้น ทูลกระหม่อมไม่พอพระหฤทัยจึงดำรัสสั่งให้ปั้นพระบรมรูปเท่าพระองค์ (ที่อยู่ในเวไชยันตวิเชียรปราสาท เมืองเพ็ชรบุรีเดี๋ยวนี้) ขึ้นใหม่ ช่างปั้นจะได้ดูพระบรมรูปที่ฝรั่งทำเข้ามา จึงปั้นทรงพระมาลาสก๊อตอย่างเดียวกัน หม่อมฉันเห็นว่าเมื่อมีพระบรมรูปองค์นั้นขึ้นแล้ว บางทีทูลกระหม่อมจะได้ทรงปรารภที่จะหล่อพระบรมรูปพระเจ้าอยู่หัวรัชชกาลก่อน ๆ และได้ทรงแสดงพระราชปรารภไว้แก่สมเด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พอเสวยราชย์จึงได้ลงมือทำการเรื่องหล่อพระบรมรูปแต่ในปีมะเสง มิฉะนั้นก็เปนพระราชดำริขึ้นใหม่อนุโลมตามแบบอย่างที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ครั้งนี้มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่แล้ว และด้วยนิยมอย่างฝรั่งจึงให้ทำพระบรมรูปหล่อทั้ง ๔ พระองค์นั้น อนึ่งในเรื่องปั้นพระบรมรูปเท่าพระองค์ทูลกระหม่อมนั้น หม่อมฉันเคยได้ยินว่าช่างเปนที่หลวงกัลมาพิจิตร และเจ้าเนตร กล้วยไม้ ช่างเคลือบเปนผู้ทำดวงพระเนตรด้วยแก้ว หลวงกัลมาพิจิตร์คนนั้นท่านทรงทราบชื่อเดิมหรือไม่หรือถ้าไม่ใช่หลวงกัลมาพิจิตร์ ใครเปนคนปั้น ทรงทราบหรือไม่

กถามรรคที่จะทูลในจดหมายฉะบับนี้เรื่องอยู่ข้างจะข้น มีเรื่องเกิดขึ้นใหม่ที่ควรจะทูลให้ท่านทรงทราบแต่เปนทางไปรเวตเรื่อง ๑ คือ สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ กับพระองค์หญิงอาภาฯ ตรัสขอหม่อมเจ้าหญิงสุวภาพเพราพรรณต่อคุณจอมมารดาทับทิม พระองค์หญิงประเวศฯ และกรมหลวงสิงห์ฯ เพื่อจะให้เปนชายาของหม่อมเจ้านนทิยาวัตร์ แต่แรกทางฝ่ายผู้หญิงไม่เต็มใจแต่บ่าวสาวรักกันจึงยอมอนุญาต ฝ่ายหม่อมฉันเปนตาเขาไม่ได้ขอเปนแต่มาปรึกษาก็ไม่ห้ามปราม จึงเปนอันตกลงได้มั่นกันแล้ว จะรอไว้แต่งงานเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับ พระองค์หญิงอาภาฯ มาหาหม่อมฉันเมื่อวันที่ ๑๑ บอกว่าเมื่อสักสองสามวันมานี้สมเด็จกรมพระสวัสดิฯ ประชวรโรคพระโลหิตแล่นขึ้นพระเศียรแรงเกินไปและพระหทัยสั่นน่ากลัวอยู่พักหนึ่ง แต่หมอที่นี่แก้ไขค่อยคลายขึ้นแล้ว มีเรื่องปกิรณกะที่หม่อมฉันนึกจะทูลอยู่เรื่อง ๑ ได้นึกมานานแล้วแต่ลืมเสีย คือตามคติของไทยเราเข้าใจว่าธรรมชาติของต้นประดู่นานๆ จึงออกดอกครั้ง ๑ และไม่มีกำหนดระดูแน่นอนว่าจะออกเมื่อใด เพราะฉะนั้นดอกประดู่บานวันไหนมักถือกันว่าเปนวันดีเรียกว่า “ฤกษ์ดอกประดู่” ก็ที่เมืองปีนังนี้ สองข้างถนนเขาปลูกต้นประดู่ไว้ช้านาน จนต้นใหญ่โตอายุหลายสิบปี ตั้งแต่หม่อมฉันมาอยู่ปีนังได้เห็นดอกประดู่บานนับครั้งไม่ถ้วนเกือบจะว่า ๗ วันเปนบานครั้งหนึ่ง มันเปนด้วยเปนที่เกาะหรืออยู่ในส่วนโลกซึ่งระดูผิดกับในเมืองเราอย่างไรอย่างหนึ่ง จึงบานบ่อยกว่าที่เราเข้าใจ ดูปลาดอยู่ เรื่องที่เตรียมสำหรับทูลแต่เดิมมีอยู่เท่านี้ ครั้นเมื่อเมล์มาวันที่ ๑๐ นี้ หม่อมฉันได้รับจดหมายหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ฉะบับ ๑ “เธอ” ปรึกษาความรู้ของหม่อมฉันเรื่องนาฏศาสตร์ ความในจดหมายนั้นอ่านดูเห็นเปนเรื่องพิลึกกึกกือเห็นควรจะคัดส่งมาถวายได้จึงได้คัดลงในจดหมายฉะบับนี้ด้วย

“ปีนี้เผอิญมีงานเกี่ยวแก่ทางพิพิธภัณฑสถานมากจริง ๆ เสียด้วยแต่มิใช่งานของพิพิธภัณฑฯ เปนงานของกรม คือกรมศิลปากรได้รับอนุมัติจากกระทรวงธรรมการ ให้ตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ขึ้นเปนโรงเรียนอาชีพ ตัวโรงเรียนจะสร้าง (บังหน้าโรงราชรถ) ที่สนามข้างเหนือพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ ตรงหน้าพระที่นั่งมังคลาภิเษกออกไป โรงฝึกซ้อมละคอนจะสร้างขึ้น (มิให้ไก่บินตก) ที่สนามต้นปีบระวางโรงราชรถกับพระที่นั่งอิศราฯ แต่ระวางโรงเรียนยังสร้างไม่แล้วนี้ ให้อาศัยพระที่นั่งอิศเรศรฯ เปนโรงเรียนชั่วคราวก่อน โรงเรือข้างล่าง (คือโรงรถเดิม) เปนชั้นประถม ชั้นบนพระที่นั่งอิศเรศรฯ เปนชั้นมธยม ต้อง (เลิกห้องพิพิธภัณฑ) เอาของที่จัดตั้งแสดงไว้ไป (ซุกซ่อน) แทรกที่อื่น ๆ ชั่วคราว ให้เอาศาลาสำราญมุขมาตย์เปนที่ฝึกซ้อมชั่วคราว ต้องทำเวทีและใส่ผ้าม่านให้ เวลานี้รับนักเรียน (ซึ่งสำคัญว่าจะได้เงินเดือนหรือเบี้ยเลี้ยง) ได้มากแล้ว โรงเรียนจะเปิดในเร็ว ๆ นี้

เรื่องราชการว่าจะไม่กราบทูลให้ทราบใต้ฝ่าพระบาท ก็อดไม่ได้ แต่บางเรื่องก็หวังด้วยเกล้าฯ ว่าจะเปนข่าวที่พอพระทัย คือ กระทรวงมหาดไทยได้ยกเอกสารต่างๆ ของกระทรวงซึ่งมีอายุล่วง ๒๐ ปีแล้วทั้งหมดให้แก่หอพระสมุดฯ (ซึ่งทรงอมุโมทนาด้วย แต่) หอพระสมุดไม่มีที่จะเก็บ แต่เปนของดีเหลือเกินจะไม่รับก็ไม่ได้ จึงตกลงรับ ต้องย้ายหนังสือในคลัง (ที่หลังหอพระสมุด) ทั้งหมดมาฝากในพิพิธภัณฑสถานฯ คือที่คลังนายสุด (ริมพระที่นั่งศิวโมกขฯ) บ้าง โรงราชรถบ้าง เปนอันต้องปิดโรงราชรถ (ลดประโยชน์ของพิพิธภัณฑสถาน) ต่อไปคิดจะสร้างคลังเก็บหนังสือให้ใหญ่พอเก็บหนังสือทั้งหมดได้ จะสร้างที่โรงช้าง (ช้างเขาย้ายไปสวนดุสิตหมดแล้ว) นี่คิดด้วยเกล้าฯ ว่าคงเปนข่าวดี (ถ้าหากได้เงินจากกระทรวงพระคลังฯ ตามต้องการโดยง่ายและโดยเร็ว) ต่อจากข่าวที่หอพระสมุดฯ ได้รับหนังสือภาษาสันสกฤต และมคธของกรมพระจันทบุรี เมื่อปลายปีก่อน

ในการที่กรมได้มีโรงเรียนนี้ขึ้น การสอนตกมาถึงข้าพระพุทธเจ้า ๒ อย่าง คือ จารีตประเพณีไทยอย่าง ๑ มหกรรมอย่าง ๑ ซึ่ง (ควรจะ) รู้สึกอึดอัดใจ (ยิ่งกว่า) อยู่บ้าง จึงใคร่จะขอพระเมตตา (ทรงแต่งบันทึกทิ้งไปรษณีย์มา) ประทานหลักของการสอนวิชชา ๒ อย่างนี้ (ทรงลองเดาดู) ว่าจะสอนอย่างไรดี สำหรับจารีตประเพณีข้าพระพุทธเจ้า คิดไว้ว่าจะปัน (ความตามรู้เห็น) ออกเปน ๓ ตอน ตอนที่ ๑ ประเพณีส่วนตัว คือ นับตั้งแต่เกิด โกนผมไฟ โกนจุก แต่งงาน ตาย ทำศพ ตอนที่ ๒ ประเพณีที่เกี่ยวแก่สาสนามี บวชเณร บวชพระ ทำวิสาขะ มาฆะ เข้าพรรษา ออกพรรษา และเทศกาลไหว้พระเปนต้น ตอนที่ ๓ ประเพณีที่เกี่ยวแก่ชาติ คือพระราชพิธีต่าง ๆ คิดด้วยเกล้าฯ ว่าจะวางหลักอย่างนี้ (เปนโครงการตามที่นึกได้ แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรไห้สำเร็จได้) จึงส่งมาเพื่อขอพระเมตตาแนะนำและทรงชี้หนทางให้ต่อไป สำหรับมหกรรมคิดว่าจะจับเปนอย่าง ๆ ไป คือ ละคอน โขน หนัง หุ่น ลิเก เป็นต้น ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าเองก็ยังไม่รู้ว่าจะหาอะไรมาสอนได้สักเท่าไร เรื่องก่อน หนังสือที่จะใช้เปนคู่มือมีลัทธิธรรมเนียมและพระราชพิธี ๑๒ เดือนที่พิมพ์แล้วอยู่มาก แต่เรื่องหลัง หนังสือที่จะใช้เปนคู่มือดูไม่ใคร่จะมีเลย ที่ทราบก็คือตำนานเรื่องละคอนอิเหนาเล่ม ๑ ตำรารำเล่ม ๑ เท่านั้น หรือจะเปนเพราะข้าพระพุทธิเจ้ายัง (ไม่ได้คิดไปถึงว่ามีผู้คนสำส่อน เข้ามาพลุกพล่านอยู่ในบริเวณพิพิธภัณฑสถานทุก ๆ วันเช่นนั้น น่ากลัวจะเกิดโจรกรรมเพียงไร และยังไม่ได้คิดไปถึงว่ารวบรวมชายหนุ่มหญิงสาวมาไว้ในบริเวณเดียวกัน อาจจะเกิดเหตุเสื่อมเสียศีลธรรมเพียงไร ทั้ง) อ่านหนังสือน้อยไม่ได้พบที่ทรงแต่ง (เตรียม) ไว้ในที่อื่นๆ ถ้ามีขอประทานหนังสือนั้นๆ เพื่อใช้เปนเครื่องมือด้วย จะเปนพระกรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้”

หม่อมคิดใคร่ครวญดูมิรู้ที่จะตอบประการใด จึงตกลงนิ่งเสียไม่ตอบ แต่ก็นึกสงสารหลวงบริบาลฯ อยู่.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ป.ล. เมื่อเขียนจดหมายฉะบับนี้ส่งไปให้พิมพ์แล้ว นึกขึ้นได้ถึงเหตุแห่งพระราชปรารภที่หล่อพระบรมรูป ๔ องค์ได้อีกอย่าง ๑ หรือจะเปนด้วยพระบรมรูปทูลกระหม่อมปั้นค้างอยู่เมื่อสิ้นรัชชกาลที่ ๔ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯ ให้ทำต่อมาจนแล้ว เมื่อปั้นพระบรมรูปนั้นแล้วจึงทรงปรารภที่จะสร้างเปนพระบรมรูปหล่อทั้ง ๔ องค์ จะเปนอย่างนี้ดอกกระมัง

อนึ่งที่ทูลไปในจดหมายว่าสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ ฯประชวรไปคราวหนึ่งนั้นพอถึงวันเสาร์ตอนบ่ายเธอเสด็จมาที่ Cinnamon Hall กับพระองค์หญิงอาภาฯ หม่อมฉันทูลถามถึงการที่ประชวร ตรัสเล่าว่าเปนด้วยพระโลหิตเดินแรงนักจึงแล่นขึ้นเบื้องบนดังทูลมา ที่พระอาการคลายขึ้นด้วยประจวบริดสีดวงแตก พระโลหิตตกมาก อาการที่พระโลหิตแล่นขึ้นเบื้องบนก็ถอย แต่พระหทัยยังสั่นอยู่ไม่เปนปกติ เธอตรัสบอกอธิบายดังนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๕ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ประสูติ ๘ มิถุนายน ๒๔๑๘ สิ้นพระชนม์ ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๗๔ ต้นราชสกุล “กิติยากร”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ