ร่าง ตำนานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์หล่อด้วยปลาสเตอร์นี้ มีอักษรจารึกอยู่ที่ฐานอย่างนี้

CHATROUSSE
——
PARIS 1863

ความที่จารึกแสดงว่าช่างปั้นชื่อ ชาตรุสเส ปั้นที่กรุงปารีสเมื่อ ค.ศ. ๑๘๖๓ (ตรงกับปีกุญ พ.ศ. ๒๔๐๖)

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ กับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพิจารณาและปรึกษากัน เห็นว่าเดิมคงส่งพระบรมรูปฉายาลักษณ์ออกไปให้ทำเปนพระบรมรูปปั้น เพราะพระบรมรูปฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องทำนองอย่างที่ปั้นนี้มีอยู่เปนสำคัญ ความคิดเดิมบางทีจะให้ทำเปนพระบรมรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ขนาดเท่าพระองค์ แต่ตามวิธีของช่างปั้นฝรั่ง เขาเอาดินปั้นรูปขนาดน้อยแล้วพิมพ์ด้วยปูนปลาสเตอร์ขึ้นสำหรับพิจารณาดูเสียก่อน เมื่อชอบแล้วจึงปั้นขยายให้ใหญ่เท่าขนาดที่จะหล่อ พระบรมรูปองค์นี้ช่างปั้นได้อาศัยแต่พระบรมรูปฉายาลักษณ์ที่ส่งไปไม่ได้เห็นพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็คิดทำพระรูปโฉมแต่โดยเดา เปนพระบรมรูปขนาดเล็กองค์นี้พิมพ์ด้วยปูนปลาสเตอร์ส่งเข้ามาให้ดูเสียก่อน เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรไม่โปรด ด้วยช่างฝรั่งทำพระรูปโฉมผิดไปมากนัก จึงบอกเลิกกับช่างฝรั่ง แล้วโปรด ฯ ให้ช่างไทยที่มีฝีมืออยู่ในเวลานั้น ปั้นพระบรมรูปขนาดเท่าพระองค์ขึ้นองค์ ๑ (เดี๋ยวนี้ประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งเวไชยันตวิเชียรปราสาทที่พระนครคีรี เมืองเพชรบุรี) ช่างไทยที่ปั้นนั้นเอาพระบรมรูปองค์ที่ฝรั่งปั้นเปนเค้า ข้อนี้พึงเห็นได้ด้วยท่าและเครื่องแต่งพระองค์ เช่นทรงพระมาลาสก๊อตเปนต้นมาใช้ และแก้ไขพระบรมรูปให้ถูกต้องตามจริง แต่พระบรมรูปปั้นเท่าพระองค์นั้นค้างอยู่ มาสำเร็จในปีแรกรัชชกาลที่ ๕ เมื่อมีพระบรมรูปปั้นองค์นั้นขึ้นเปนตัวอย่างแล้ว ก็โปรด ฯ ให้สร้างพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมราชวงศ์ทั้ง ๔ พระองค์เปนพระบรมรูปหล่อ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในปราสาทพระเทพบิดรบัดนี้

พระบรมรูปปั้นองค์น้อยนี้ มีเรื่องเนื่องกับพระบรมรูปปั้นที่อยู่เมืองเพชรบุรี และพระบรมรูปหล่อในปราสาทพระเทพบิดร ดังบรรยายมา สมควรเก็บรักษาไว้เปนอนุสสรณ์ จึงได้เชิญมารักษาไว้ในหอพระสุราลัยพิมาน เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๗๗.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ