วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ป.ส. ศาสตรี

หอพระสมุดวชิราวุธ

วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗

ขอพระราชทานกราบทูล ทราบใต้ฝ่าละอองพระบาท

ด้วยตามที่ได้โปรดเกล้า ฯ ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานถวายคำอธิบายเพิ่มเติมเรื่องชาวทมิฬ แด่ฝ่าลอองพระบาท และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดังต่อไปนี้

๑. เรื่องชาวอินเดียใต้ที่ปินังพูดภาษาทมิฬเหมือนกัน แต่มีผิวผิดกันเป็นดำจัดบ้าง ดำแดงบ้าง คนพูดภาษาทมิฬที่ปินัง ฉะเพาะที่อาจทรงสังเกตว่าเป็นชาวอินเดียใต้นั้น มีอยู่ ๓ จำพวก คือ ๑ ชาวทมิฬแท้ ส่วนมากเป็นกุลีสวนยาง ส่วนน้อยส่วน ๑ เป็นพวกถือศาสนาอิสสลาม และโดยมากเป็นพ่อค้า ส่วนน้อยอีกส่วน ๑ อยู่ถนนอะไรที่ชาวอินเดียมักเรียกกันว่า Chetty Street เป็นผู้ทำการกู้เงิน (คนพวกนี้เคยมีอยู่มากในกรุงเทพ ฯ ตามถนนจักรพรรดิคราวหนึ่ง แต่เวลานี้เหลืออยู่เป็นจำนวนน้อย) ๒. ชาวตำบล Jaffna ในเกาะลังกา พนักงานรถไฟในมลายูเกือบจะเปนคนพวกนี้ทั้งสิ้น ทั้ง ๒ พวกนี้มีผิวดำจัดทั้งนั้น ๓. ชาวแคว้น Malabar ในอินเดียใต้ ซึ่งติดต่อกับแคว้นทมิฬ ทำการร้านกาแฟและภัตตาคาร คนเหล่านี้พูดภาษาทมิฬ เพราะหาเลี้ยงชีพท่ามกลางชาวทมิฬ ถึงภาษาของเขาเองก็เป็นแต่สาขาของภาษาทมิฬเท่านั้น ชาว Malabar เล่านี้โดยมากมีผิวไม่ดำจัด บางคนก็มีผิวขาวเหลืองด้วยซ้ำ เพราะคนที่เป็นเจ้าของร้านกาแฟและลูกจ้างฉะเพาะผู้จัดทำอาหารเป็นพราหมณ์ ซึ่งโดยปกติมีผิวดำน้อยกว่าชาวอินเดียใต้ผู้อื่น และอีกประการหนึ่งอากาศแคว้น Malabar รักษาผิวพรรณไม่ให้กลายเป็นดำจัดอย่างอากาศแคว้นทมิฬ ถึงลูกจ้างร้านกาแฟผู้วรรณต่ำ ๆ ก็ผิวขาวกว่าชาวทมิฬที่ปินัง เพราะอากาศบ้านเมืองเขาบันดาลให้เป็นเช่นนั้นอย่าง ๑ และเพราะส่วนมากมีโลหิตพราหมณ์อีกอย่าง ๑

ข้อความข้างต้นนี้ ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลมาตามที่เคยได้สังเกตเมื่อผ่านปีนังมากรุงเทพ ฯ แต่อาจจะมีคนที่พูดภาษาทมิฬซึ่งไม่ใช่ชาวแคว้น Malabar และมีผิวไม่ดำจัดก็ได้ จึงใคร่จะกราบทูลเหตุที่คนเรามีผิวต่าง ๆ กันนั้นไว้เป็นหลัก คือตามมติของนักรู้ประวัติมนุษยชาติ เช่น H. J. Fleure ผู้แต่งเรื่อง “The Race of Mankind” (Benn, 1928) มนุษย์ทั้งหลายซึ่งแยกเป็นชาติต่าง ๆ กันอยู่ในเวลานี้ เดิมเป็นพวกเดียวกันและกระจายมาแต่แห่งเดียวกันทั้งสิ้น แต่ที่ปรากฏผิดแปลกกันในส่วนขนาดร่างกาย ผิวพรรณ์ ลักษณะผม หน้าผาก จมูก และริมฝีปากดังนี้เป็นต้น ก็เพราะอพยพไปอยู่ที่อันผิดกันด้วยอากาศร้อน หนาว และเครื่องบริโภคเป็นต้น

ส่วนผิวพรรณ์ แม้ชาวยุโรปบางเหล่าผู้ผิวขาวที่สุด ก็ยังมีสีน้ำตาลเจือปนอยู่ในผิวพรรณ์บางเล็กน้อย เพราะสีน้ำตาลนั้นมีหน้าที่ป้องกันอันตรายอันจะเกิดขึ้นได้จากรัศมีพระอาทิตย์ส่วนที่เป็นสีม่วง (the violet rays of the sun) มากระทบกับผิวหนัง คนตั้งภูมิลำเนาอยู่ในประเทศที่รับแดดมากกว่ายูรป จักมีอันตรายอันเกิดแต่รัศมีพระอาทิตย์ทวียิ่งขึ้น สีน้ำตาลในผิวพรรณ์คนเหล่านั้นจึงทวีขึ้นพร้อมกัน

อนึ่ง ร่างกายมนุษย์ก็เหมาะแก่การอยู่ในประเทศที่ไม่ร้อนมากไม่หนาวมาก แม้ว่าบางครั้งบางคราวอากาศจะร้อนหรือหนาวเกินไปบางก็ดี ร่างกายก็ยังมีเวลาต้องการอากาศร้อนเพียง ๖๐ ถึง ๖๕ ดีกรีอยู่บ่อยๆ ครั้นฝืนธรรมชาติไปอยู่ณที่อากาศร้อนมาก มักเกิดมีโรคประจำตัวบางอย่างซึ่งทำให้ผิวดำจัด

เช่นนี้ คนอยู่ตำบลที่มีอากาศร้อน อย่างภาคใต้อินเดียหลายแห่งจึงน่าจะมีผิวเหมือนๆ กัน แต่ที่จริงก็ดำไม่เหมือนกัน เห็นมีอยู่เป็นหลายอย่าง ตั้งแต่ดำจัดลงมาตลอดจนถึงผิวขาวเหลือง ก็เพราะ ๑. อยู่ในตำบลที่อากาศร้อนมากร้อนน้อยต่างกัน ๒. ตนเองหรือบรรพบุรุษ์ของตนเคยมีอาชีพมาโดยวิธีอันต่างๆ กัน คือ บางคนต้องตากแดดตากฝน และบริโภคอาหารเลวๆ บางคนไม่ต้องตากแดดตากฝน และได้บริโภคอาหารที่ดี ฉะนั้น ชาวอินเดียฝ่ายใต้ พวกศูทรและวรรณต่ำกว่านั้น ซึ่งอาศัยอยู่ตำบลที่อากาศร้อนมาแต่สมัยดึกดำบรรพ์แล้ว และส่วนมากเป็นชาวนา ชาวสวน หรือมีอาชีพทางอื่นที่ต้องตากแดด จึงมีผิวดำจัด วรรณสูงกว่าศูทรก็มีแต่พราหมณ์ ส่วนกษัตริย์และเวสสะ (ไวศฺย) ที่แท้นั้น ทางอินเดียใต้ไม่มี พราหม์เหล่านี้เดิมอยู่ทางเหนือ และอพยพมาอยู่ภาคใต้ภายหลังเวลาศูทรและวรรณต่ำอื่น ๆ อพยพมานั้นช้านานตั้งร้อยปีพันปี และธรรมเนียมพราหมณ์อินเดียภาคใต้ไม่ทำไร่ทำนา เคยมีอาชีพในทางปุโรหิต ครูสอนหนังสือ ผู้พิพากษาและอำมาตย์เป็นพื้นเช่นนี้จึงตากแดดน้อย ฉะนั้นสีน้ำตาลในผิวหนังของพราหมณ์ก็ได้มีโอกาศและความจำเป็นต้องทวีขึ้นน้อยกว่าสีน้ำตาลในผิวหนังของพวกศูทร ฯลฯ ฉะเพาะคนชั้นกรรมกร อนึ่งตำราไวยากรณ์ชื่อมหาภาษยของปตัญชลิซึ่งสันนิษฐานกันว่าแต่งเมื่อศตพรรษที่ ๒ หรือ ๓ แห่งพุทธศักราช ตอนที่อธิบายสูตรที่ ๒-๒-๖ กล่าวลักษณะของพราหมณ์ว่ามีผิวขาวผมและตาสีน้ำตาล แต่อากาศร้อนแห่งอินเดียใต้ กับความจนซึ่งแต่เดิมพราหมณ์ชอบทรงไว้เป็นเครื่องหมายของตนได้ทำลายความงามแห่งผิวพรรณมามากแล้ว ถึงเวลานี้พราหมณ์จำนวนมากมีผิวดำไม่ผิดกับศูทรเหลือแต่ผมและตาที่ยังเป็นสีน้ำตาลดำตรงกับลักษณะเดิม

๒. ชาวกลิงคราษฎรจริง ๆ กับชาวทมิฬมีลักษณะผิดกันอย่างไร ตามหลักที่ได้กราบทูลมาแล้วเบื้องต้น ส่วนผิวพรรณชาวกลิงคราษฎรคงไม่ผิดกับของชาวทมิฬซึ่งอยู่ตำบลที่อากาศร้อนหนาวเหมือน ๆ กัน เพราะชาวกลิงคราษฎรที่มีผิวดำจัดก็มีผิวดำน้อยก็มี เห็นแต่รูปไม่อาจรู้ได้ว่าคนนี้เป็นชาวกลิงค คนนั้นเป็นชาวทมิฬดังนี้ แต่ฟังเสียงก็รู้ง่าย เพราะชาวกลิงคพูดภาษา Telugu หรือ Orissa ซึ่งต่างกับภาษาทมิฬทั้ง ๒

๓. ดราวิเดียนและพราหมณ์ ข้าพระพุทธเจ้าได้กราบทูลมาแล้วข้างต้น ว่าพราหมณ์เป็นคนอพยพมาอยู่แคว้นทมิฬไม่ใช่ชาวทมิฬโดยแท้ แต่พูดภาษาทมิฬเพราะมาอยู่ท่ามกลางชาวทมิฬ จำเป็นต้องพูดภาษาทมิฬมาก ส่วนภาษาเดิมของตน เมื่อมีโอกาสใช้พูดน้อยลงเป็นลำดับมาถึงที่สุดก็ลืมเสีย ก็เช่นเดียวกับสกุลพราหมณ์ในประเทศสยาม ซึ่งลืมภาษาเดิมของตนเสียหมดแล้ว ส่วนชาวทมิฬเขาเป็นดราวิเดียนไม่ใช่อารยันก็จริง แต่ก็ไม่ใช่ชาติป่าเถื่อน เพราะแม้ข้าพระพุทธเจ้าผู้เป็นคนละพวกกับดราวิเดียน ได้พิจารณาดูวรรณคดีและศิลปวัตถุของชาวดราวิเดียนแล้วต้องรับว่าไม่แพ้ของชาวอารยัน และส่วนความรู้ผิดรู้ชอบ (moral sense) ซึ่งนับเปนองค์สำคัญที่สุดของอารยธรรมปรากฏจากหนังสือ สุภาษิตเก่า ๆ ของชาวทมิฬ ว่าชาวทมิฬนั้นประกอบด้วยอารยธรรมอย่างดี

๔. วิธีให้ชื่อกันทางอินเดียข้างใต้ ชื่อชาวภาคใต้อินเดียทุกคนแบ่งออกได้เป็น ๓ ส่วน ส่วนต้นเป็นชื่อบิดา ส่วนที่ ๒ เป็นชื่อตัวโดยแท้ ส่วนที่ ๓ เป็นเครื่องแสดงว่าเป็นคนชาติใด เพิ่มเข้าตอนท้ายตรงที่ไทยเพิ่มชื่อนามสกุล เช่นนี้ชื่อข้าพระพุทธเจ้าคำแรกว่า ปัญจนทีศฺวร เป็นนามบิดา คำที่ ๒ ว่า สุพฺรหฺมณฺย เป็นชื่อตัว คำสุดท้ายว่าศาสฺตฺรี แสดงว่าเป็นพราหมณ์

ในอินเดียภาคใต้มักตั้งนามเทวดาให้เป็นชื่อส่วนที่ ๒ นั้น เช่นอย่างในประเทศสยามตั้งชื่อเรียกนายพรหม นายพุธ ฯลฯ ดังนี้เป็นประเพณีมาช้านานอย่างน้อยก็พันปี ทางโน้นอธิบายเหตุที่ตั้งชื่อเช่นนี้แม้นผู้ใดมีการงานมากหรือศรัทธาน้อยจนไม่ได้บูชาพระเป็นเจ้าเลยก็ดี ถ้าตั้งพระนามพระเปนเจ้าเปนชื่อลูกหลาน ทุกคราวที่เรียกลูกหลานก็จะคล้ายเปนการสดุดีบูชาพระเป็นเจ้าด้วยดังนี้

ส่วนสุดท้ายของชื่อบุคคลอันเป็นเครื่องแสดงถึงชาตินั้น ตามแบบมีเพียง ๔ อย่าง คือส่วนพราหมณ์ว่า “ศรฺมา” กษัตริย์ว่า “วรฺมา” (วรรมา, วรรมัน) เวสสะว่า “คุปต” และศูทรว่า “ทาส” แต่เวลานี้เกิดมีมากหลาย

ชื่อชนิดนี้ของพวกพราหมณ์ เป็นชื่อแสดงคุณแห่งความรู้ก็มีบางดังที่ได้ทรงสังเกต คำว่า “ศาสตรี” (ผู้รู้ศาสตร์) “ศเราติ” (ผู้ที่ได้เล่าเรียนคัมภีร์เวท) ฯลฯ เป็นอุทาหรณ์ ตรงนี้และหมายว่าพราหมณ์ด้วยยกวิทยาฐานมากล่าวอีกบางอย่างเช่น “โสมยาชี” (ผู้ที่ได้กระทำยัญญพิธีประเภทโสมยาค) “วาชเปยี” (ผู้ที่ได้ทำพิธีวาชปย) “ทีกฺษิต” (ผู้ที่ได้ทำยัญญพิธี) ฯลฯ หมายว่าพราหมณ์ด้วยยกหน้าที่และประเพณีของพราหมณ์มากล่าว บางอย่างเช่น “อาจารฺย” “อยฺยงฺคาร” ฯลฯ มีใช้ฉะเพาะในพวกพราหมณ์ผู้ถือว่าพระนารายณ์เป็นใหญ่ (Vaisnavites) คำว่า “ราว” (Rao แผลงมาจากราชา) นั้นพราหมณ์ก็ใช้ พวกที่ไม่ใช่พราหมณ์ก็ใช้ แต่จำกัดอยู่ในหมู่คนที่อพยพมาแต่ภาคประจิม

ฝ่ายชาวอินเดียใต้ ผู้สมมติขึ้นเปนชาติกษัตริย์คือราชวงศ์แคว้น Cochin และ Trivandrum ก็ใช้วรรมา เป็นสร้อยพระนาม

ได้กราบทูลมาแล้วว่าเวสสะแท้ไม่มีในอินเดียภาคใต้ แต่มีผู้ปลอมเป็นเวสสะ ทั้งนี้ ใช้คำว่า “เจฏฏิ” (ซึ่งแผลงมาจากเศรษฐี) เป็นสร้อยชื่อ

ส่วนศูทรมีสร้อยชื่อชนิดนี้มากนัก คำว่า “ปีฬไฟ” “มุทลิยาร” และ “นายุดุ” มีใช้มากกว่าอย่างอื่น

หากจะมีข้อความตอนไดที่ยังไม่แจ่มแจ้ง ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานโอกาศถวายคำอธิบายอิกครั้งหนึ่ง

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้า (ลงนาม) ป.ส. ศาสตรี

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ