วันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ดร

บ้านซินนามอน ฮอลล์ ปีนัง

วันที่ ๓๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ซึ่งโปรดประทานให้หญิงมารยาตรเชิญมา อธิบายเรื่องพระบรมรูปพระเจ้าอยู่หัว ๔ รัชชกาลที่ประทานมานั้นดีมาก และบางอย่างความทรงจำออกขบขันเหมือนอย่างนิทานเรื่องแพะตาบอดกระต่ายขาหัก เปนต้นว่าพระบรมรูปทูลกระหม่อมองค์กาไหล่ทองที่ช่างฝรั่งทำ ท่านทรงจำไม่ได้ แต่พระบรมรูป Bas Relief หม่อมฉันจำไม่ได้ ถ้าท่านพบปะเจ้าพระยาวรพงศควรจะทรงสืบถามถึงพระบรมรูป ๒ องค์นั้นค้นให้รู้ว่าอยู่ไหนเวลานี้ เรื่องปราสาทยอดปรางค์ที่สร้างค้างไว้ในบริเวณพระที่นั่งทรงผนวชนั้นหม่อมฉันก็ลืม ต่อท่านตรัสขึ้นจึงนึกได้เปนเงา ๆ เปนเค้าที่จะสันนิษฐานได้ว่าเปนของสร้างขึ้นในรัชชกาลที่ ๕ น่าจะเปนในคราวเดียวกับที่สร้างพระที่นั่งทรงผนวช เพื่อจะประดิษฐานพระบรมรูปทูลกระหม่อมที่โปรดฯ ให้ปั้นขึ้นเท่าพระองค์นั้น เพราะปราสาทไม่แล้วพระบรมรูปจึงทิ้งอยู่หอเสถียรธรรมปริต เมื่อรื้อหอนั้น จึงย้ายเอาพระบรมรูปองค์นั้นมาไว้ที่หอราชพงศานุสสรณ์ ต่อนั้นเรื่องตอนที่ท่านตรัสว่าหายไปนั้น หม่อมฉันทูลได้ คือเมื่อตอนปลายรัชชกาลที่ ๕ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯ ให้หม่อมฉันซ่อมพระนครคีรีรับดุ๊กโยฮันอันเบรท ได้ซ่อมถึงพระที่นั่งเวไชยันต์วิเชียรปราสาทด้วยเห็นเปล่าอยู่นึกจะหาอะไรตั้งเปนประธานยังคิดไม่ออก ครั้นถึงรัชชกาลที่ ๖ หม่อมฉันไปเห็นพระบรมรูปทูลกระหม่อมอยู่ในหอราชพงศานุสสรณ์ จึงชี้แจงกับเจ้าพระยาธรรมาฯ ว่าถ้าเชิญไปประดิษฐานเปนประธานที่พระที่นั่งเวไชยันต์วิเชียรปราสาทจะเหมาะดีนักหนาเพราะปราสาทองค์นั้นเปนปราสาทยังว่างอยู่ ไม่มีวัตถุอันใดเปนประธาน และเปนของทูลกระหม่อมทรงสร้างไว้ เจ้าพระยาธรรมาฯ เห็นชอบด้วยจึงรับพระบรมรูปมาไว้ที่ “ห้องกลาง” แต่ยังไม่ทันได้ส่งออกไปประดิษฐานที่เมืองเพ็ชรบุรี หม่อมฉันก็ออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย หม่อมฉันได้บอกและได้เตือนผู้มาเปนเสนาบดีทีหลังหม่อมฉันทุกคน ก็ไม่มีใครนำพา จนกระทั่งสมเด็จชายเปนเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในรัชชกาลปัจจุบันนี้ หม่อมฉันทูลทรงทำตาม พระบรมรูปจึงไปประดิษฐานอยู่ณะพระที่นั่งเวไชยันต์วิเชียรปราสาทจนบัดนี้ มาคิดต่อไปถึงการสร้างพระบรมรูปทูลกระหม่อมองค์ที่ว่านั้น มีเค้าที่น่าจะเชื่อว่าสำเร็จในรัชชกาลที่ ๕ อีกอย่างหนึ่ง ด้วยทำฉลองพระองค์และพระภูษา เปนเยียรบับ ผิดกับพระราชนิยมในรัชชกาลที่ ๔ ซึ่งมักโปรดทรงฉลองพระองค์ปัก

คราวนี้จะว่าถึงพระบรมรูปหล่อ ๔ พระองค์ต่อไป หม่อมฉันจำได้ว่าแรกทีเดียวประดิษฐานไว้ในพระมหาปราสาททางมุขตะวันออก มีเศวตฉัตร์ปักกั้นทุกองค์ ชะรอยจะทำการฉลองและบรรจุที่นั่นเมื่อปีวอก ครั้นถึงปีระกาเมื่อสร้างตราจุลจอมเกล้า ทรงปรารภให้มีการถวายบังคมพระบรมรูปเนื่องกับเครื่องราชอิสสริยาภรณ์นั้น จึงโปรดฯ ให้เชิญพระบรมรูปทั้ง ๔ พระองค์ไปประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ เพราะเสด็จออกสมาคมเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม แล้วก็เลยไปถวายบังคมพระบรมรูปได้สดวก เชื่อได้ว่าคงทรงพระราชดำริที่จะสร้างพระที่นั่งศิวาลัยมาแต่ปีระกานั้น แต่การสร้างค้างช้ามาหลายปี เมื่อเชิญพระบรมรูปไปประดิษฐานในบุษบกพระที่นั่งศิวาลัย จึงเอาเศวตฉัตรออก

ข้อที่พระยามหานิเวศนฯ เข้าใจต่อไปถึงว่าสร้างพระพุทธปรางค์ปราสาท สำหรับประดิษฐานพระบรมรูป ๔ องค์นั้นเปนการหลงแน่ คำที่เรียกว่า “พุทธปรางค์” บ่งชัดว่า สร้างสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ทั้งมีเรื่องที่รู้กันอยู่โดยมากว่าทูลกระหม่อมทรงสร้าง ปรางค์ปราสาทนั้นสำหรับจะประดิษฐานพระแก้วมรกตให้สมศักดิ์ที่เปนศรีพระนคร อีกประการหนึ่งมีพระราชประสงค์จะตั้งพระแก้วมรกตให้ต่ำลง พอเห็นเนื้อแก้ววิเศษได้ถนัด แต่การสร้างพุทธปรางค์ค้างมาสำเร็จในรัชชกาลที่ ๕ ทรงพระราชดำริว่าที่มุขพุทธปรางค์เล็ก ไม่พอทำการพิธีเช่นถือน้ำเปนต้น ถึงเวลาพิธีก็จะต้องเชิญพระแก้วมรกตกลับไปพระอุโบสถ เชิญไปๆ มาๆ เปนการเสี่ยงภัย ความคิดที่จะประดิษฐานพระแก้วมรกตไว้ในพุทธปรางค์จึงเปนอันระงับเพียงนั้น ครั้นเมื่อปฏิสังขรณ์วัดพระแก้วในงานฉลองพระนครครบอายุ ๑๐๐ ปี จึงโปรดฯ ให้เชิญพระเจดีย์กาไหล่ทองของทูลกระหม่อม ที่เคยตั้งเปนประธานในพุทธมณเฑียรไปตั้งเปนประธานในพุทธมณเฑียรต่อมาจนไฟไหม้พุทธปรางค์ พระเจดีย์นั้นก็ละลายสูญไป โปรดฯ ให้สร้างหลังคาและซ่อมพุทธปรางค์ที่ไฟไหม้ ยังไม่ทันสำเร็จก็สิ้นรัชชกาลที่ ๕ เหตุที่จะเชิญพระบรมรูปมาไว้ที่พุทธปรางค์นั้น หม่อมฉันได้ทราบและยังจำได้ เพราะได้เกี่ยวข้องดังจะเล่าถวายต่อไป

วันหนึ่ง จะเปนปีใดจำไม่ได้ในรัชชกาลที่ ๖ หม่อมฉันนั่งสนทนากับเจ้าพระยาธรรมาฯ แกปรารภถึงเรื่องจะต้องซ่อมพระที่นั่งศิวาลัย ดูเหมือนจะเปนเมื่อช่อฟ้าหักตกโครมครามลงมา เมื่อสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จประทับอยู่พระที่นั่งภาณุมาศ หม่อมฉันพูดกับเจ้าพระยาธรรมาฯ ว่าไม่น่าซ่อม เพราะไม่เหมาะแก่เปนที่ประดิษฐานพระบรมรูป ซึ่งต้องไปบูชากันทุกปีเหมือนอย่างแต่ก่อนเสียแล้ว ด้วยพระอภิเนาวนิเวศน์ก็รื้อหมด เหลืออยู่แต่ลานที่กับปราสาทแอบข้างกำแพงอยู่องค์เดียว ความคิดของหม่อมฉันมีอยู่อย่างหนึ่ง แต่คิดขึ้นภายหลัง ไม่ทันกราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง หม่อมฉันเห็นว่าพุทธปรางค์ปราสาทว่างอยู่เปล่า ๆ ถ้าจัดเปนที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระเจ้าแผ่นดินจะเหมาะดีนักหนา เพราะเปนปราสาทและมีมุขหลังสำหรับตั้งพระรูปพระเจ้าแผ่นดินได้ต่อไปอีกหลายร้อยปี และที่สุดอยู่ในวัดพระแก้วเหมือนกับหอพระเทพบิดรที่ประดิษฐานพระรูปสมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทองอยู่ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ครั้งกรุงศรีอยุธยา เจ้าพระยาธรรมาฯ เห็นชอบด้วย หม่อมฉันเข้าใจว่าแกคงนำความขึ้นกราบบังคมทูล แต่จะออกชื่อหม่อมฉันหรือไม่นั้นไม่ทราบ สมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงโปรดฯ ให้ตกแต่งพุทธปรางค์ปราสาทเปนที่ประดิษฐานพระบรมรูป และโปรดฯ ให้แปลงนามเรียกว่าปราสาทพระเทพบิดร ครั้งนั้นมีความขัดข้องเกิดขึ้นขันอยู่ ด้วยสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ไม่ทรงเห็นชอบในข้อที่แปลงนาม อ้างว่าของเดิมสร้างเปนพุทธบูชา จะตัดคำ “พุทธ” ออกจากนามหาควรไม่ ข้างสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็ไม่ทรงยอมให้เรียกอย่างอื่น ลงปลายสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ยอมเกลี่ยไกล่ให้กั้นมุขหลังเปนห้องหนึ่งต่างหาก แล้วให้เชิญพุทธรูปเทพบิดรที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงหล่อมาตั้งเปนประธานในห้องนั้นให้เข้ากับนามที่เรียกว่าปราสาทพระเทพบิดร จึงกั้นห้องมุขหลัง แต่เลยใช้เปนคลังของวัดพระแก้วมาจนบัดนี้

กถามรรคที่จะทูลในจดหมายฉะบับนี้มีเรื่องที่หม่อมฉันจะไปชะวากำหนดว่าจะออกจากปินังวันที่ ๗ มิถุนายน ไปลงเรือเมล์ฮอลันดาที่เมืองสิงคโปร์ ออกจากนั่นวันที่ ๘ ถึงเมืองบาเตเวียวันที่ ๑๐ เวลาเช้าจะพักอยู่ที่เมืองบาเตเวียสักวันหนึ่งสองวันแล้วไปบันดง ไปคิดทำโปรแกรมการเที่ยวเตร่ที่นั่น กะเวลาว่าจะไปราวสัก ๕ สัปดาหะแล้วกลับมาปีนัง

เหตุที่หม่อมฉันจะไปชะวาคราวนี้ เริ่มต้นมาแต่เมื่อไปส่งเสด็จพระเจ้าอยู่หัวที่สุมาตราเมื่อเดือนมกราคม ได้พบเจ้านายสำนักบันดง ท่านบ่นกันว่าได้อยู่ด้วยกันเพียง ๒ วันน้อยนัก ขอให้หม่อมฉันตามไปชะวาสักคราวหนึ่ง ทูลกระหม่อมชายท่านจะรับให้พักที่ตำหนักของท่านซึ่งสร้างใหม่ ไม่ต้องไปอยู่โฮเตล หม่อมฉันก็รับว่าจะตามไปในเดือนมิถุนายน ให้ทันวันที่ ๒๙ อันตรงกับวันประสูติของทูลกระหม่อมชาย สมเด็จหญิงน้อยตรัสว่า ก็วันเกิดของหม่อมฉันวันที่ ๒๑ มิถุนายน ก่อนวันประสูติของทูลกระหม่อมชายไม่กี่วัน ให้หม่อมฉันไปทำบุญวันเกิดที่บันดงเถิดท่านจะมีการเลี้ยงประทาน ก็เปนอันตกลงกันมา แต่ครั้งนั้นว่าหม่อมฉันจะไปชะวาในเดือนมิถุนายน ให้ถึงบันดงก่อนวันที่ ๒๑ มิถุนายน ถ้าว่าต่อไปถึงเหตุอื่นอันเปนวัตถุที่ประสงค์ที่จะไปชะวาครั้งนี้ ก็มีอยู่อีกหลายอย่าง คือ อยากดูพิพิธภัณฑสถานที่เมืองบาเตเวียอย่าง ๑ เพราะไปครั้งก่อนได้ ๓๓ ปีมาแล้ว และไม่ใคร่จะได้สังเกตอะไร ใคร่จะดูให้ถ้วนถี่ในเรื่องศิลปสมัยศรีวิชัยซึ่งเขามีมาก และอยากจะไปดูพระเจดีย์โบโรบุดอกับเทวสถานพรหมานันท์ พิจารณาให้ถนัดด้วยอีกอย่าง ๑ อยากจะพาลูกสาวไปดูฟ้อนรำอย่างชะวาที่เมืองยกยาและเมืองโซโลอย่าง ๑ และถ้าทุนรอนมีพอจะไปได้ไกลกว่านั้นก็จะไปถึงเมืองสิงหัดส่าหรี ดูโบราณสถานที่เขาขุดค้นชั้นหลังและไปถึงเกาะบาหลีด้วย นอกจากนี้หม่อมฉันใคร่จะลงไปสืบหาหมอรักษาหูซึ่งรู้สึกว่าตึงหนักขึ้นทุกที และทั้งหญิงพูนก็จะไปสืบหาหมอไนย์ตาด้วยอีกอย่าง ๑ ในระวางตั้งแต่วันที่ ๗ มิถุนายน ไปจนกลางเดือนกรกฎาคม จะทรงหยุดลายพระหัตถ์ที่มีถึงหม่อมฉันก็ได้ หรือถ้ามีกิจอันใดที่จะมีลายพระหัตถ์ถึง ถ้าโปรดให้ส่งทางเมล์อากาศสลักหลังถึง Prince Damrong, Bandoong. เท่านั้นก็จะไปถึงได้สดวก หม่อมฉันเคยมีจดหมายถวายเจ้านายที่ชะวา สลักหลังเพียงพระนามกับบันดง ก็ไปถึงได้โดยเรียบร้อย ดูเหมือนเขาจะรู้กันชินในที่นั้นว่าพวกเจ้านายไทยไปอยู่ที่ไหน หม่อมฉันตั้งใจว่าจะเขียน “คำให้การ” มาถวายเปนของฝาก

ขอขอบพระทัยที่ทรงพระอุตสาหะค้นหาสำเนาหนังสือต่าง ๆ เนื่องด้วยเรื่องพระบรมรูปประทานมา กับขอทูลถอนคำที่หลวงกัลมาวิจิตรปั้นพระบรมรูปทูลกระหม่อม หม่อมฉันเกิดนึกสงสัยว่าจะไปหลงเอาชื่อหลวงกัลมาฯ ที่ปั้นรูปสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ขุน มาเข้าใจเสียแล้ว ตกลงเอาเปนไม่รู้ว่าใครปั้น.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ