วันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ดร

บ้านซินนามอน ฮอลล์ ปีนัง

วันที่ ๑๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

สัปดาหะนี้เรื่องที่จะทูลบันเลงมีแต่เรื่องเบ็ดเตล็ด หม่อมฉันได้ศาสตราจารย์คัลเลนเฟลเปนเพื่อนพูดอีกคนหนึ่ง ด้วยแกมาอยู่ปีนัง ทำการขุดค้นของสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังหม่อมฉันได้ทูลไปในจดหมายฉะบับก่อน ตกลงกันว่าแกจะมากินน้ำชากับหม่อมฉันทุกวันอาทิตย์ต่อไป เมื่อหม่อมฉันจดหมายทูลไปแล้วได้พบกับแกอีกครั้ง ๑ สนทนากันถึงเรื่องที่มนุษย์เมื่อสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อพยพย้ายถิ่นฐานจากภูมิลำเนาเดิม เนื่องมาจากเรื่องที่แกบอกอธิบาย สันนิษฐานว่าพวกชะวาเดิมจะอยู่ทางเมืองจีนข้างฝ่ายใต้ ใกล้กับแดนของพวกไทยที่หม่อมฉันทูลไปแล้ว หม่อมฉันเสนอความเห็นของหม่อมฉันว่าธรรมดามนุษย์ ย่อมชอบอยู่ด้วยกันเปนหมู่เหล่า ตามพวกพ้องที่พูดภาษาและคือขนบธรรมเนียมอย่างเดียวกัน ถ้าไม่มีเหตุจำเปนก็ไม่ทิ้งภูมิลำเนา หรือแม้แต่จะแยกย้ายไปอยู่ให้ห่างไกลกัน อันมูลเหตุที่ทำให้มนุษย์อพยพจากภูมิลำเนาเดิมนั้น หม่อมฉันสันนิษฐานว่ามี ๒ อย่าง คือ อย่างที่ ๑ เพราะความอัตคัด คือเมื่อมีจำนวนคนเกิดเพิ่มเติมมากขึ้น จนที่ทำมาหากินไม่พอกัน ผู้ที่ขัดสนจึงไปเที่ยวทำมาหากินถึงต่างถิ่นฐานบ้านเมือง ไปเจอะที่ทำมาหากินได้สดวกแห่งใด ก็พาครอบครัวของตัวไปตั้งประจำทำมาหากินอยู่ในที่นั้น ถ้าเปนที่ว่างก็ไปอยู่เปนอิสระ ถ้าเปนที่มีเจ้าของปกครองก็ไปอยู่เปนไพร่บ้านพลเมือง ทีหลังผู้อื่นที่อัตคัดขัดเคืองก็พากันตามไปบ้าง เปนเหตุให้มีประชุมชนพวกนั้นไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่ต่าง ๆ ด้วยประการฉะนี้ อย่างที่ ๒ เพราะหนีภัย เปนต้นว่าเกิดโรคภัยหรือทุพภิกขภัย หรือมีศัตรูมาย่ำยี จะอยู่ในถิ่นเดิมทนไม่ไหว จึงพากันอพยพทิ้งถิ่นเดิมไปอยู่ที่อื่น และคงตามไปอยู่กับพวกพ้องของตัวที่ไปตั้งภูมิลำเนาได้แล้วอย่างว่ามาแต่ก่อน ไม่เที่ยวแยกย้ายเพ่นพ่านไปตามบุญตามกรรม บางทีอพยพไปอยู่ร่วมกันมีกำลังมาก เห็นว่าเจ้าของถิ่นกำลังน้อยกว่า ก็เลยชิงเอาแผ่นดินเปนของตัว และเปนเหตุให้เจ้าของถิ่นนั้นอพยพหลบหนีต่อกันไปเปนชั้นๆ ดังนี้ ตามที่ปรากฎในพงศาวดารยุโรปฉันใด ทางอาเซียนี้มันก็จะเปนทำนองเดียวกัน เพราะเปนวิสัยของมนุษย์ แกรับรองว่าแกเห็นพ้องด้วยเช่นนั้นเหมือนกัน.

หญิงเหลือถามแกถึงเรื่องอิเหนา แกบอกอธิบายว่าอิเหนานั้นพวกชะวาเรียกเปน ๓ ชื่อ คือ ปันหยี, อิเหนา, กะรัตปาตี. คำว่าปันหยี นั้นแปลว่าธง หมายความเปนยศแม่ทัพใหญ่ เพราะคุมพลกองใหญ่ที่ใช้ธงนำทัพเปนสำคัญ คำ อิเหนา แปลว่ายุพราช คำว่า กะรัตปาตี นั้นเปนชื่อตัว อิเหนาเสวยราชย์เมื่อราว พ.ศ. ๑๖๐๐ เรียกนามตามที่ปรากฏในศิลาจารึกว่า “คาเมศวร” ถือศาสนาวิษณุเวศ (ตามอธิบายนี้ รูปพระปฏิมากร ที่เล่นละคอนอิเหนา ควรทำเปนรูปพระนารายณ์)

เจ้าคุณพระประยูรวงศกับเจ้าพระยารามราฆพ ออกมาถึงปีนังเมื่อวันเสาร์ที่ ๔ มาพักอยู่ที่บ้านของพระพิทักษ์กรมการจีนเมืองภูเกต พอมาถึงรุ่งขึ้นท่านก็เที่ยวเยี่ยมเยียนเจ้านายที่เสด็จมาอยู่นี่ทุกพระองค์ ดูยังแข็งแรงดีมาก อายุของท่านเข้า ๘๐ เท่ากับอายุมารดาหม่อมฉันเมื่อถึงอสัญญกรรม แต่มารดาของหม่อมฉันปลกเปลี้ยไม่เหมือนท่าน ได้ยินว่าจะไปเมืองสิงคโปร์ และบางทีจะเลยไปชะวาด้วย

เมื่อเขียนไว้ถึงเที่ยงนี้ได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๘ สิงหาคม หม่อมฉันจะทูลสนองความในลายพระหัตถ์ต่อไป

เรื่องตำนานวัดราชประดิษฐ์นั้น หม่อมฉันได้ศึกษาทราบความดังจะทูลให้พิสดารสักหน่อยต่อไปนี้ คือเมื่อทูลกระหม่อมทรงตั้งพระสงฆ์ธรรมยุติกาขึ้นในเวลาที่ยังทรงผนวชนั้น ไม่ได้หมายจะตั้งเปนนิกายสงฆ์ขึ้นอีกนิกายหนึ่งต่างหาก พระราชประสงค์เพียงจะตั้งอย่างเปนสโมสรพระสงฆ์ซึ่งนิยมถือคติธรรมวินัยอย่างเดียวกัน เมื่อเสวยราชย์พระราชประสงค์ก็ยังคงอยู่เช่นนั้น ทรงสถาปนากรมหมื่นบวรรังษีฯ ให้มีสมณศักดิ์เปนพระราชาคณะผู้ใหญ่ ก็ให้เปนแต่อนุนายกในคณะกลาง รองแต่สมเด็จกรมพระปรมานุชิต ฯ ลงมา เพราะฉะนั้นชื่อพระครูปลัดจึงเรียกว่า มหานุนายก จุลานุนายก ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ทรงเปลี่ยนเปน มหานายก, จุลนายก. ท่านอ้างว่าเปนปลัดของเจ้าคณะใหญ่ ไม่ใช่ปลัดของเจ้าคณะรองเหมือนแต่ก่อน อีกประการหนึ่งตามที่ได้ยินมา งานพิธีสงฆ์ในรัชชกาลที่ ๔ ไม่มีที่จะนิมนต์แยกกันเปนธรรมยุติกา หรือมหานิกาย เว้นแต่งานเดียวคือเมื่อวันเฉลิมพระชันษา โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์ธรรมยุติกา ๕ รูปสวดมนต์ในพระราชมณเฑียร แต่ก็ทำอย่างเงียบ ๆ อ้างว่าทำเหมือนอย่างเมื่อยังทรงผนวชอยู่ เมื่อคิดดูก็พอจะเข้าใจพระราชปรารภได้ไม่ยาก เพราะทรงเกรงพระสงฆ์จะเกิดแตกกันเปน ๒ หมู่ ๒ คณะ เปนพระสงฆ์พวกในหลวงและมิใช่พวกในหลวงเกิดขึ้น จะกลับให้โทษแก่บ้านเมือง ถึงกระนั้นเมื่อถึงรัชชกาลที่ ๔ มีคนแสดงความเลื่อมใสในพระสงฆ์ธรรมยุติกาแพร่หลาย เปนเหตุให้ทรงระแวงว่าจะเปนการเลื่อมใสเอาหน้า ถึงทรงห้ามปราม แม้เจ้านายที่เคยให้ลูกหลานบวชเปนมหานิกายมาแต่ก่อน มิให้บวชเปนธรรมยุติกา หม่อมเจ้าในกรม พระเทเวศร์ ฯ และกรมหลวงวงศา ฯ จึงต้องบวชเปนมหานิกายทั้งนั้น หม่อมฉันเคยได้ยินท่านผู้ใหญ่เล่า จะเปนใครก็จำไม่ได้เสียแล้ว ว่าทูลกระหม่อมมีพระราชประสงค์จะให้มีพระสงฆ์ธรรมยุติกาแต่เพียงสักพันเดียว มิให้มากกว่านั้น เรื่องสร้างวัดราชประดิษฐนั้น ทรงเจตนาแต่แรกว่าจะให้เปนวัดพระสงฆ์ธรรมยุติกาอยู่เปนนิตย์ ดูเหมือนจะมีเปนลายลักษณ์อักษร แต่ก็นึกไม่ออกว่าอยู่ในหนังสืออะไร ที่ทรงสร้างเปนวัดขนาดเล็ก ก็เนื่องด้วยพระราชดำริจะให้มีพระสงฆ์ธรรมยุติกาแต่จำนวนน้อย เรื่องสร้อยชื่อนั้นหม่อมฉันนึกว่าเดิมจะเปน มหาสีมาราม จึงใช้ในราชการเสมอมา เพราะดูเหมือนจะเปนวัดมหาสีมาแต่อย่างเดียวแรกมีขึ้น ผิดกับวัดมงกุฎ ฯ และวัดโสมนัส ฯ ซึ่งมี พัทธสีมา และ มหาสีมา สร้อยว่าธรรมยุติการาม หม่อมฉันนึกว่าจะเกิดขึ้นภายหลัง อาจจะเกิดในรัชชกาลที่ ๕ ก็เปนได้ เห็นจะไม่ใช่เปนพระราชนิพนธ์ของทูลกระหม่อม คิดดูว่าถ้าสร้อยชื่อเดิม ทูลกระหม่อมทรงขนานไว้ว่า ธรรมยุติการาม ใครจะกล้าแก้เปน มหาสีมาราม และจะแก้เพราะเหตุใด ก็คิดไม่เห็น ข้อนี้เปนหลักฐานของความคิด

เรื่องพระนิรันตรายนั้น หม่อมฉันทราบเกือบตลอดเรื่อง เรื่องตอนต้นดูเหมือนจะมีพระราชนิพนธ์ด้วยซ้ำไป ในพงศาวดารเจ้าพระยาทิพากรวงศก็กล่าวไว้ย่อ ๆ ว่ามีผู้ขุดพบพระพุทธรูปโบราณ (แบบทวาราวดี) องค์ ๑ ที่ดงศรีมหาโพธิ หล่อด้วยทองคำทั้งแท่งหนัก ๕ ตำลึง พระเกรียงไกรกระบวรยุทธ์นำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย พระราชทานรางวัลแก่ผู้ขุดได้ ๔ ชั่งเท่าราคาทองคำในสมัยนั้น ทรงพระราชดำริว่าเปนพระมีอภินิหาร เพราะผู้ขุดได้ไม่เอาไปทำลายขายเนื้อทองคำเอาเปนประโยชน์ จึงทรงขนานนามว่า พระนิรันตราย หม่อมฉันสันนิษฐานว่าคงจะทรงพระราชดำริว่าเปนมงคลวัตถุ ควรตั้งในการพระราชพิธี แต่จะเชิญไปมาและตั้งรักษาโดยลำพังองค์พระพุทธรูปทองคำนั้น เปนการเสี่ยงภัย จึงโปรดให้หล่อพระพุทธรูปตามแบบรัชกาลที่ ๔ ครอบไว้อีกองค์ ๑ แต่ไม่มีเรือนแก้ว คงเอาชื่อองค์ในมาเรียกรวมกับองค์นอกจึงเรียกว่า พระนิรันตราย เหตุที่ทูลกระหม่อมทรงสร้างพระนิรันตรายมีเรือนแก้ว พระราชทานไปไว้ตามวัดนั้น พระราชปรารภจะอย่างไรหม่อมฉันไม่เคยได้ยิน ทราบแต่ว่าสร้างในตอนปลายรัชชกาล สำหรับพระราชทานไปไว้ตามวัดธรรมยุติกา ถ้าจะเดา หม่อมฉันใคร่จะเดาว่าความปรารภน่าจะเกิดขึ้นทางพระสงฆ์ธรรมยุติกา ใคร่จะมีอนุสสรณ์เนื่องต่อพระองค์ทูลกระหม่อมซึ่งทรงตั้งคติธรรมยุติกาไว้เปนที่สักการบูชา จึงโปรดให้สร้าง พระนิรันตราย ซึ่งทรงคิดแบบขึ้นและทรงนับถือว่าเปนมงคลวัตถุพระราชทาน หม่อมฉันนึกได้เปนเลา ๆ ว่าไม่ทันแล้วสำเร็จหมดในรัชชกาลที่ ๔ และพระนิรันตรายวัดราชบพิธนั้น เปนพระหล่อในรัชชกาลที่ ๔ เหลือจำนวนที่จะพระราชทาน พอสร้างวัดราชบพิธจึงแห่พระนิรันตรายไปได้ทีเดียว ไม่ปรากฎว่าหล่อใหม่

ทูลเพิ่มเติมต่อไปอีกเรื่อง ๑ ที่พบในพงศาวดารของเจ้าพระยาทิพากรวงศ เมื่อหม่อมฉันค้นเรื่องพระนิรันตรายที่จะทูลสนองนี้ ปรากฏว่าพระพุทธรูปทองคำ ๒๘ องค์ที่ประดับพระมาลาเบี่ยงไว้นั้น คนทอดแหได้ในลำน้ำมูลแขวงเมืองนครราชสีมา (เห็นจะเปนที่วังปลัดนั้นเอง) พระยานครราชสิมานำถวาย

หม่อมฉันอยากจะพบเซเดส์เหมือนใจจะขาด ได้เขียนจดหมายเข้าไปชวนให้มาปีนัง ศาสตราจารย์คัลเลนเฟลก็ชวนไปให้ออกมาดูขุดขุมทรัพย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แต่ยังไม่ได้รับตอบ

อาการหญิงใหญ่ป่วยนั้น หม่อมฉันอยู่ข้างวิตกมาก ด้วยท่าทางมันจะเปนวรรณโรคภายในเสียแล้ว ใจของเธอเองก็ไม่ดี ด้วยน้องสาวของเธอตายด้วยวรรณโรคทั้ง ๒ คน ขอให้ท่านกับทั้งคุณโตช่วยปลอบโยน หรือทำอย่างไรให้ใจเธอแจ่มใสขึ้นได้บ้าง ก็จะเป็นพระเดชพระคุณ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. พระพิทักษ์ชินประชา (ม้าเสียง ตัณฑะวณิช)

  2. ๒. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ประสูติ ๑๔ กันยายน ๒๓๕๒ สิ้นพระชนม์ ๒๘ กันยายน ๒๔๓๕

  3. ๓. พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ พระองค์เจ้ากลาง กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ ประสูติ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๓๔๘ สิ้นพระชนม์ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๑๙ ต้นราชสกุล “วัชรีวงศ์”

  4. ๔. พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ พระองค์เจ้านวม กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ประสูติ ๙ กรกฎาคม ๒๓๕๑ สิ้นพระชนม์ ๓๑ สิงหาคม ๒๔๑๓ ต้นราชสกุล “สนิทวงศ์”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ