วันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๗๗

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

เกล้ากระหม่อมได้รับลายพระหัตถ์ถึง ๖ ฉะบับแล้ว ได้มีตอบมาถวายแต่ฉะบับเดียว ซึ่งลงวันที่ ๒๖ เขียนด้วยลายพระหัตถ์ บัดนี้จะได้กราบทูลตอบอีก ๕ ฉะบับนี้ต่อไป

ฉะบับที่ ๑ ลงวันที่ ๒๒ เมษายน ตรัสเล่าถึงการตั้งสังฆราชมลกา ขอบพระเดชพระคุณอย่างยิ่งที่ทรงพระอุตสาหเรียบเรียงบันทึกประทานให้ทราบเกล้า เปนการที่น่าดูจริง อ่านแล้วนึกอยากเห็น เปนการประหลาดจริงอย่างทรงรู้สึกที่คล้ายบวชนาคอย่างไทย หลักฐานของเขาตามที่ทรงอธิบายเห็นว่าดีมิใช่น้อย ขอประทานอนุญาตที่จะส่งไปถวายสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ให้ท่านอ่านทราบความ ทั้งเณรงั่วด้วย เห็นป้วยอยู่ที่ต้องอดเข้าก่อนทำพิธีวันหนึ่ง หนักยิ่งกว่าฉันเจเปนอันมาก เครื่องประโคมและร้องเพลงเชื่อทีเดียวว่าไพเราะอย่างยิ่งแน่ กงซุลนิวเบราเนอร์แกเคยพาเกล้ากระหม่อมไปฟังออกัน จะเปนที่วัดอัสสัมชัญนี้หรือมิใช่ก็จำไม่ได้เสียแล้ว ไม่ใช่เปนเวลาที่เขามีงานอะไร แกวิ่งตามใครคนหนึ่ง ว่าเปนคนดีดดีนักไปดีดให้ฟังเฉย ๆ ฟังรู้สึกขนพองสยองเกล้า มันดังกึกก้องเปลี่ยนเสียงไปได้ต่าง ๆ แต่ไม่ได้ประกอบด้วยร้องยังหูผึ่งเกือบตาย

ฉะบับที่ ๒ ส่งหนังสือพิมพ์ตัดไปเปนภาคผนวกในเรื่องตั้งสังฆราชนั้น

ฉะบับที่ ๓ ลงวันที่ ๒๖ เมษายน ชายดิศเชิญเข้าไป ตรัสบอกด้วยเรื่องชายดิศได้งานทำแล้ว เกล้ากระหม่อมยินดีด้วยมาก รู้สึกว่าพ้นทุกข์ไปที

ฉะบับที่ ๔ ลงวันที่ ๒๖ เมษายน ชายดิศเชิญเข้าไปเหมือนกันได้เขียนตอบถวายมาแล้ว

ฉะบับที่ ๕ ลงวันที่ ๒๙ เมษายน ตรัสเล่าถึงเรื่องที่อาจารย์ข้างฝรั่งเขาจะมาตรวจทางเดินของชาวอินเดีย ที่เข้ามายังประเทศรามัญ สยามและเขมร แต่โบราณกาล และทรงวินิจฉัยในเรื่องศาสนาฮินดูโดยพระดำริในการที่อาจารย์ฝรั่งเขาจะมาตรวจนั้น เปนการดีมีประโยชน์ยิ่งแน่ไม่สงสัยเลย แต่เรื่องศาสนาฮินดูนั้นเห็นจะถวายความเห็นได้ยาก เพราะรู้น้อย เท่าที่สังเกตเห็นในเมืองไทยเมืองเขมร ปรากฏมีสถานที่เคารพของโบราณอยู่ ๔ อย่าง คือสถานพระพุทธแบบมหายาน สถานพระนารายณ์ สถานพระอิศวร และสถานพระพุทธแบบหินยาน สามอย่างข้างต้นอะไรจะมาก่อนอะไรว่าลงไปไม่ถูก ยืนยันได้แต่พระพุทธแบบหินยานมาทีหลังสามอย่างข้างต้นนั้นเปนแน่ ในตำรากล่าวด้วยเทวดาทางฮินดูเขาแบ่งเปนสองพวก เรียกว่า “เวดิก ไดตี” พวกหนึ่งซึ่งมีมาในคัมภีร์เวท กับ “ปุราณิก ไดตี” อีกพวกหนึ่ง ซึ่งมีมาในคัมภีร์ปุราณะอันแต่งภายหลังคัมภีร์เวท พวกเวดิก ไดตีนั้น เปนเทวดาร่วง ๆ เจ้าอะไรต่อมิอะไร เช่นเจ้าฟ้าคือพระอินทร เจ้าน้ำคือพระวรุณ เจ้าไฟคือพระอัคนี เปนอย่างเดียวกันกับทางโรมัน มาถึงชั้นคัมภีร์ปุราณะ เขาเติมเทวดาขึ้นอีกมากแล้วจัดให้เปนพี่เปนน้องเปนผัวเปนเมียเปนพ่อเปนลูกแก่กันขึ้น พระเปนเจ้าทั้งสาม คือ พรหม ศิว วิษณุ นี้ เปนพวกปุราณิก ไดตี มีพรหมปรากฏเปนที่นับถือมากกันมาก่อน ศิวกับวิษณุเกิดขึ้นภายหลัง ศิวนั้นเอารุทรซึ่งเปนเวดิกไดตีแปลงมาเปน วิษณุนั้นเอาพระวิษณุกรรมอันเปนคนใช้คล่องแคล่วของพระอินทรเปนเวดิกไดตีเหมือนกันมาเปน ศิวและวิษณุนั้นประมูลกันป่น ใครจะเกิดก่อนใครไม่ทราบ แต่ลัทธิวิษณุนั้นตีคลุมเอาพรหมและศิวเข้าไว้ใต้อำนาจ เหตุนั้นน่าจะสันนิษฐานว่าลัทธิวิษณุเกิดทีหลังคนหมด น่าจะเปนลัทธิที่มีอำนาจใหญ่ยิ่งกว่าใครในคราวหนึ่ง สังเกตสถานในเมืองเขมรที่เปนสถานใหญ่ ย่อมเปนสถานพระพุทธกับสถานวิษณุ ลัทธิพระวิษณุเห็นจะได้อุปการะแต่พระเจ้าแผ่นดินอยู่มาก แม้ในเมืองเราพระนามพระเจ้าแผ่นดินมีว่า “รามาธิบดี” นี่ก็เปนทางลัทธิวิษณุ คำแช่งน้ำก็ขึ้นต้นด้วยสรรเสริญพระนารายณ์ก่อน ข้อความทั้งนี้ทูลถวายเท่าที่รู้ที่เห็น เพื่อเปนทางทรงพิจารณา ดูก็เปนทางสนับสนุนพระดำริที่ว่าทางเมืองเราพระพุทธศาสนามาก่อน แล้วถึงพระอิศวร ส่วนพระนารายณ์มาทีหลัง

ฉะบับที่ ๖ ลงวันที่ ๓ พฤษภาคม ตรัสสั่งให้สืบเรื่องเสื้อยศสีต่างๆ ครั้งรัชกาลที่ ๕ เรื่องนี้เกือบจะได้ทูลสวนกันมาทีเดียว เพราะอ่านหนังสือพิมพ์เขากล่าวคัดค้านเรื่องว่า จะมีพระราชบัญญัติบังคับให้ข้าราชการนุ่งกางเกงมาทำงาน เขาว่าให้เลือกนุ่งผ้าหรือกางเกงก็ได้อย่างเดี๋ยวนี้ก็ดีแล้ว ข้าราชการที่นุ่งผ้ามาทำงานเวลานี้ก็นุ่งแต่สีน้ำเงินและสีกรมท่า เปนการที่ตั้งใจเคารพต่อราชการอยู่แล้ว ทำให้สดุดใจว่าคำสีกรมท่ายังดำรงมาจนถึงบัดนี้ได้ ผู้พูดจะรู้หรือไม่ว่าแต่ก่อนมีสีมหาดไทยสีกลาโหมอีก แล้วเลยนึกว่ามีสีอะไรบ้างก็นึกได้ว่ามีสีมหาดไทย สีกลาโหม สีกรมท่า สีมหาดเล็ก กับสีเจ้า นึกได้เท่านี้คิดจะทูลถามมาว่านอกนี้ยังมีสีกรมไหนอีกบ้าง ก็พอดีได้รับลายพระหัตถ์ตรัสทรงทราบเท่ากัน สีคลาดกันไปบ้าง สีกลาโหมเกล้ากระหม่อมจำได้ว่าเปนสีลูกหว้า คือสีครามเจือแดง แต่ตรัสว่าเปนสีน้ำตาล กับสีมหาดเล็กเกล้ากระหม่อมจำได้ว่าเขาเรียกสีเหล็ก คือดำเจือขาว แต่ตรัสเรียกสีนกพิราบ ผิดกันหน่อยที่สีนกพิราบปนผสมสามสีมีขาวดำคราม สีต่าง ๆ เหล่านี้เกล้ากระหม่อมมาทราบเอาเมื่อโตแล้ว เวลาจะนุ่งผ้า ถ้าเปนสีเขียวแก่เขาเรียกว่าสีมหาดไทย ถ้าเปนสีลูกหว้าเขาเรียกว่าสีกลาโหม ถ้าเปนสีขาบเขาเรียกว่าสีกรมท่า ถ้าเปนสีเหล็กเขาเรียกว่าสีมหาดเล็ก ส่วนที่ตัดใช้เปนเสื้อยศนั้นนึกไม่ได้ว่าได้เคยเห็น ทราบแน่แต่ของเจ้ามีเปนสีไพล จำได้มั่นคง เพราะตัวเองได้แต่ง นุ่งผ้าอะไรก็ได้ สวมเสื้อปีกสีไพล ไม่ใช่ตูนิก มีผ่าข้าง ไม่ใช้ผ้าคาด ใช้เข็มขัดทองของตัวเองคาดทับนอก จำได้ว่าเจ้านายเล็กๆ ที่ชั้นหัวจุกด้วยกัน มีสมเด็จพระราชปิตุลากับเกล้ากระหม่อมเท่านั้นที่ได้ใส่เสื้อสีไพลนั้น เห็นจะเปนของพระราชทานโดยจำเพาะตัว ไม่ใช่เปนเครื่องแบบสำหรับเจ้านายที่ให้ตัดใส่เองได้ทุกคนอย่างเครื่องแบบในทุกวันนี้ เจ้านายชั้นราชวรวงศทรงฉลองพระองค์อย่างเจ้ามีในรูปถ่ายนั้นเกล้ากระหม่อมก็นึกได้เหมือนกัน และได้ดูสอบในหนังสือเฉลิมพระยศเจ้านายแน่นอนแล้วด้วย แต่ขุนนางนึกไม่ได้เลย ตรัสแนะนำให้ไปค้นดูรูปในหอพระสมุดสำหรับพระนคร เดี๋ยวนี้เขาเปลี่ยนชื่อเปนหอสมุดสำหรับชาติ จัดการควบคุมกวดขันขึ้น ใครจะเข้าไปดูอะไรต้องขออนุญาต เมื่อได้ตั๋วอนุญาตแล้วจึงจะเข้าดูได้ นึกว่าไม่จำเปนต้องเข้าไปดู เที่ยวสืบดูข้างนอกก็คงได้ จึงไปตามหาพระยามหานิเวศน์สอบถามก็ได้ความทีเดียว ว่าเสื้อสีกรมนั้นเปนของพระราชทานแต่ลางคนที่เปนผู้ใหญ่และที่โปรด ดูเหมือนจะมีเขตต์อยู่ในพวกพานทอง ไม่ใช่ตัดใส่กันเองได้ทั่วไป ผ้านุ่งสำหรับกับเสื้อนั้นใช้ผ้าม่วงนุ่งโจงกระเบนสีเดียวกับเสื้อ แต่เจ้านายทรงพระภูษาสีอะไรก็ได้ ผ้าคาดเลิก ใช้เข็มขัดสายหนังหัวทองเหลืองมีตราพระเกี้ยวคาดนอกเสื้อแทน คนที่ไม่ได้พระราชทานเสื้อก็ใช้เสื้อผ้าขาวตามปกติสรวม เกล้ากระหม่อมนึกขึ้นมาได้คนหนึ่ง คือพระยาโหรา (เลื่อน) ใส่เสื้อปีกแบบฉลองพระองค์เจ้านายนั้น แต่เปนแพรขาว พระยามหานิเวศน์ก็รับรองว่าจริง และว่าพระยาศรีสุนทร (ฟัก) ก็ใส่เสื้อแพรขาวอย่างนั้นด้วยเหมือนกัน แล้วยังนึกได้อีกว่าทหารมหาดเล็กก็นุ่งผ้า สรวมเสื้อสีเหล็กตามเหล่า สีกลาโหมพระยามหานิเวศน์รับรองว่าเปนสีลูกหว้า

สมุดแบบลายที่ประทานวันเกิด หญิงมารยาตรกับหญิงโหลได้นำไปให้ทันในวันที่ ๒๘ นั้นแล้ว มีเซนชื่อหลานๆ กันเปนแถว ดีใจเหลือเกิน ขอบพระเดชพระคุณและขอบใจหลาน ๆ หมดทั่วกันอันมีฝ่าพระบาททรงพระเมตตาเปนผู้นำ งานวันเกิดได้ทำสำเร็จไปโดยเรียบร้อย แต่ว่าทำการเพียงเล็กน้อยมีแต่เลี้ยงพระเท่านั้น การเลี้ยงสนองคุณท่านผู้มีคุณที่เคยทำปีนี้หยุดหมด ผู้มาเยี่ยมเยียนก็มีมาบ้างแต่เล็กน้อย ไม่สู้ส้ามิได้

เมื่อเขียนมาถึงเพียงนี้ พอดีได้รับลายพระหัตถ์อีกฉะบับหนึ่งเปนฉะบับที่ ๗ ลงวันที่ ๖ เดือนนี้ ตรัสตอบเรื่องแต่งงานดุษฎีดิศนั้นด้วยแล้ว

ยังมีเรื่องคั่งอยู่ที่จะกราบทูลอีก แต่ขอประทานกราบทูลในภายหลัง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. พระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก สาลักษณ์)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ