วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๔๗๗

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ได้รับลายพระหัดถ์ต่อมาอีก ๔ ฉะบับ ลงวันที่ ๑๒ ที่ ๑๔ ที่ ๑๙ และที่ ๒๐ เดือนนี้ ตามที่กราบทูลขอพระเมตตาบารมีงดหนังสือก็ไม่โปรดเปนอันจนด้วยเกล้าฯ จึงขยับขยายเปนจะเขียนมาถวายนาน ๆ ทีหนึ่ง

บัดนี้จะสนองพระดำรัสในข้อที่ขุ่นหมองพระทัยเสียก่อน

ในเรื่องที่ว่ามีผู้คิดตัดเงินงวดซึ่งพระราชทานเจ้านายเสียลางพระองค์นั้น ถ้าหากว่ามีผู้คิดจริงก็เปนคิดเล่นเท่านั้น เพราะผู้คิดไม่มีอิทธิพละจะพึงทำได้ ไม่ควรเอาพระทัยใส่

ในเรื่องที่มีผู้คิดจะให้เสด็จไปเชียงใหม่นั้นก็เปนการคิดเล่นเหมือนกันเพราะมีพระราชดำรัสจำกัดไว้แล้วว่าให้กรมพระกำแพงเพชรขึ้นไป ใครจะฝ่าฝืนให้เปนอย่างอื่นไปได้ แต่ความคิดเรื่องเสด็จไปเชียงใหม่ก็ด็ หรือที่ทูลข่าวศึกมาก็ดี เปนความคิดของผู้เปนมิตรแห่งใต้ฝ่าพระบาท โดยปรารถนาจะให้เสด็จกลับเพื่อได้ทรงประสพสุข จะเปนความคิดผิดหรือชอบก็เกิดแต่กุศลเจตนา ควรได้ประทานอภัย เกล้ากระหม่อมก็อยากจะกราบทูลเล่นเหมือนกัน แต่เปนคนละทางตรงกันข้าม เพราะทราบเกล้าอยู่ว่าฝ่าพระบาทมีพระประสงค์ที่จะเสด็จเที่ยวไปมากกว่าจะเสด็จกลับ เสด็จมาเที่ยวอยู่ปินังก็นานแล้ว ทำไมไม่เสด็จไปเที่ยวเล่นที่อื่นบ้าง

“ปลาร้าพันห่อด้วย ใบคา
ใบก็เหม็นคาวปลา คละคลุ้ง”

เขาว่าอีโป๊ะและกวาลาลัมปูร์ก็สนุกนัก ควรจะเสด็จไปเที่ยวทอดพระเนตรเล่นบ้าง จะจริงอย่างเขาว่าหรือไม่ ทางก็ไม่ลำบากไม่ไกลเท่าไร

เรื่องคลองกระนั้น เปนเรื่องที่อุบัติขึ้นทางภายนอกพระราชอาณาจักร ไม่เปนทางที่จะเปนไปได้เลย ในเมืองไทยไม่มีใครได้ฝันกันถึงคลองกระ

เรื่องประกวดหนังสือของเด็ก ซึ่งเคยพิมพ์ในวิสาขบูชากาลนั้น ราชบัณฑิตยเก่าประกาศชักชวนไปเขาก็แต่งส่งมา ดีมาก เวลานี้ราชบัณฑิตยเก่าก็ไม่มี ใหม่ก็ไม่มี หลวงวิจิตรวาทการตั้งกรรมการพิเศษตรวจเลือกส่งมาสามสำนวน เกล้ากระหม่อมกำลังตรวจ คิดด้วยเกล้าว่าไม่แต่งคำนำ ดูเปนกำเริบเกินไป

ทีนี้จะกราบทูลเรื่องที่โปร่งใสในใจต่อไป เรื่องเทวสถานที่ตรัสเล่าไป ได้ความรู้ดีขึ้นมาก เปนอันจับหลักได้ว่าเทวาลัยแบบอินเดียนั้นจะต้องเปนกุฎ จะเปนหลังคาคฤห์หรือยอดปรางค์ก็ตาม แต่มีขนาดเล็กพอตั้งเทวรูปเท่านั้น คนไหว้ไหว้อยู่นอกศาล ถ้าเปนสถานที่คนนับถือมาประชุมไหว้มากก็ทำโรงต่อหน้าศาลขึ้นเปนที่พัก เช่นวัดศรีสวายสุโขทัยก็ทำดังว่านี้ ที่ทำสถานเปนโรงตั้งเทวรูปไว้ลอยตัวในที่กว้างเช่นโบสถ์พราหมณ์ในกรุงเทพฯนั้น เปนแบบไทยเอาอย่างมาจากโบสถ์ในพระพุทธศาสนา แม้เทวสถานเก่าในนครศรีธรรมราชก็ยังเปนครึ่งแบบอินเดีย ทำเปนโรงใหญ่อย่างพระอุโบสถ แต่ด้านสุดในนั้นกั้นเปนห้องเล็กที่ตั้งเทวรูป ประดุจว่าโรงต่อกับกุฎ

เกล้ากระหม่อมเคยไปที่วัดแขกถนนสีลม มีลักษณเปนโรงต่อหน้ากุฎยอดปรางค์อย่างวัดศรีสวายเหมือนกัน เหนือประตูหน้าโรงเขียนไว้เปนรูปทุรคาปราบมหิษราสูร คงเปนสถานทุรคาเหมือนที่เสด็จไปทอดพระเนตร มองเข้าไปดูตามช่องประตูเห็นมีเทวรูปอยู่ในกุฎที่ต่อกับโรง ในกุฎมืดแต่ตามประทีปไว้ในนั้นสว่างเห็นเทวรูปชัด แต่ห่มผ้าคลุมหมดเหลือแต่พระพักตร์ อย่างเดียวกับที่ตรัสเล่า จะเปนเทวรูปอะไรขอเข้าไปดูมันจะให้ถอดเถือก อย่างเดียวกับที่ฝ่าพระบาทถูกเข้าก็เลยลา ที่นั่นก็ดูปนเลอะเทอะเหมือนกัน มีกุฎหณุมานเล็ก ๆ อยู่ที่หน้าสถานใหญ่ หณุมานควรจะเปนพวกวิษณูเวศร

ตะเกียงเก้ากิ่ง(อรจิกัลป?) ที่ตรัสเล่า มาเข้าเค้ากับ “กันชีบ” ของพราหมณ์บ้านเรา แต่ที่บ้านเราจุดเทียนปักกับกิ่ง

วิธีไหว้นบของฮินดูเพิ่งจะรู้ว่ามีหลายอย่าง ตามที่ตรัสเล่าไปเลยนึกเทียบกับไหว้นบของไทย ก็รู้สึกขึ้นว่าเรามีหลายอย่างเหมือนกัน

๑. ไหว้มือเดียวไม่ว่าท่าใดๆ แล้วแต่กรณี อย่างที่เรียกว่า “เอางาน”

๒. ไหว้สองมือ ไม่ว่าท่าใดๆ แล้วแต่กรณี

๓. ยืนไหว้ อย่างวันทาพระสถูปและอุปัชฌาย์

๔. นั่งหย่องไหว้

๕. นั่งคุกเข่าไหว้

๖. นั่งพับเพียบไหว้

๗. คุกเข่ากราบ

๘. พับเพียบกราบ

ในการไหว้เทวรูปเห็นว่าไหว้ได้ไม่ควรเปนขัดข้อง รูปพระสยามเทวาธิราชก็ทรงบูชาจบพระหัดถ์ ยิ่งกว่านั้นแม้คนเถ้าคนแก่เราก็สอนกันให้ไหว้ การไหว้เปนการแสดงความคารพรูปใดหรือสถานใดอันเปนที่คารพของคนหมู่หนึ่ง เราเข้าไปสู่ที่นั้นก็ต้องแสดงกิริยาคารพ โดยฐานที่เปนผู้ดีรักษากิริยาไว้ให้มีไมตรีจิตต์ ที่เกิดห้ามมิให้ไหว้รูปอื่นนอกจากพระพุทธรูปนั้น เปนคำสอนที่มีใจคับแคบเกินไป ที่จริงนั้นหวังจะมิให้หยั่งใจไหว้ถือเอาเปนสรณะเท่านั้น แต่สั่งสั้นไป

ปัญหาที่ตรัสสั่งให้ถามพราหมณ์ศาสตรี เปนปัญหาดี ๆ น่ารู้อยู่ทั้งนั้น เกล้ากระหม่อมจะถามดูได้ความประการใดจะกราบทูลมาทีหลัง

โพงอาลูมิเนียมที่โปรดประทานเข้าไป พอเปิดหีบเห็นก็คิดถึงพระยารัษฎาซิมบี๊ แกมีถังไม้สังกะเตอะติดตัวอยู่เสมอ เกล้ากระหม่อมเห็นก็ชอบใจคิดทำบ้าง แต่ทำด้วยเงิน หนัก ใช้ไม่ได้ หญิงอี่เก็บเอาไปตัดงวงทำถังกาน้ำร้อนใช้อ้อต่ออยู่ มาได้โพงอาลูมิเนียมที่ประทานนี้สมใจจริง เบาใช้ได้คล่อง ขอบพระเดชพระคุณเปนล้นเกล้า ลูกองุ่นที่ใส่ไปในโพงก็รับประทานอร่อย แต่ลูกมาเคสซ่านั้นไม่ได้รับประทานเพราะแม่โตเอาไปลองว่าไม่อร่อยเหม็นด้วย เลยไม่เอามาให้รับประทาน ลูกแปร์นั้นเข้าไปถึงได้รับประทานครั้งหนึ่ง แต่จะเปนเมื่อไรคราวไหนกราบทูลไม่ถูก ใครนำไปให้ไม่ทราบ ทราบแต่ว่าเปนของฝ่าพระบาทประทาน เกล้ากระหม่อมกับทั้งแม่โตและลูกหลาน ได้รับประทานอร่อยทั่วกัน ขอประทานกราบถวายบังคมแทบฝ่าพระบาท

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๕ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ประสูติ ๒๓ มกราคม ๒๔๒๔ สิ้นพระชนม์ ๑๔ กันยายน ๒๔๗๙ ต้นราชสกุล “ฉัตรชัย”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ