วันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

การสนทนากับศาสตราจารย์คัลเลนเฟลเดี๋ยวนี้เปลี่ยนเปนวันเสาร์ เพื่อความสดวกด้วยกันทั้งสองฝ่าย แกมาเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๓ นี้ หม่อมฉันถามถึงประวัติของวิชชาก่อนประวัติศาสตร์ Prehistory ด้วยทราบว่าพึ่งนับว่าเปนวิชชาหนึ่งต่างหากมาไม่ช้านัก แกจึงเล่าเรื่องให้ฟังดังจำมาเขียนทูลเสนอต่อไปนี้.

วิชชาก่อนประวัติศาสตร์ก็คือวิชชาประวัติศาสตร์นั้นเอง ผิดกันแต่เปนตอนก่อนมีหนังสือเปนหลักฐาน จึงต้องหาความรู้ด้วยอาศัยสังเกตโบราณวัตถุต่าง ๆ โบราณวัตถุอันเปนหลักฐานในคดีก่อนประวัติศาสตร์เช่นขวานหินเปนต้น ตลอดจนกระดูกสัตว์ซึ่งสูญพรรค์ไปแล้ว และกระดูกคนโบราณก็ได้พบมาช้านานแล้ว หากคนทั้งหลายไม่กล้าค้นคิดให้ผิดไปจากความที่อ้างในคัมภีร์ใบเบล ด้วยเชื่อว่าเปนคำของพระเจ้าบนสวรรค์จะผิดไม่ได้ ก็ในคัมภีร์ใบเบลบอกอธิบายเปนแน่ชัดว่าโลกและสรรพสิ่งทั้งปวงเปนของพระเจ้าสร้าง และยังมีพวกคณาจารย์ในศาสนาคฤศตังได้พยายามคำนวณปีตามรายการที่กล่าวในใบเบล บัญญัติว่าพระเจ้าได้สร้างโลกเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ก่อนคฤศตศก ๕๔๙๓ ปี หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่งโลกนี้นับตั้งแต่พระเจ้าสร้างมาจน พ.ศ. ๒๔๗๗ นี้ มีอายุได้เพียง ๗๓๒๗ ปี ถ้าจะว่าอะไรมีมาแต่ก่อนนั้นก็เปนค้านคำพระเจ้า เพราะฉะนั้นเมื่อแรกขุดพบขวานหิน คนจึงเชื่อกันว่าเปนของตกลงมาจากบนสวรรค์ เรียกกันว่า ขวานฟ้า (ข้อนี้ปลาดที่มาตรงกับของเรา เช่นให้ชื่อเรือตั้งว่า “ขวานฟ้า” คู่กับ “บ้าบิ่น” คงว่ามาจากเรียกขวานหินก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งมีในเมืองเราเหมือนกัน) ส่วนพวกกระดูกสัตว์สูญพรรค์ที่ขุดพบในยุโรปนั้น ก็มีคำบอกอธิบายได้ตามทางใบเบล ว่าล้มตายเมื่อครั้งพระเจ้ากริ้วบันดาลให้น้ำท่วมโลก หรือในคราวอื่นต่อมาจึงสูญพรรค์ แต่ส่วนมนุษย์นั้นมีลำบากอยู่บ้าง เมื่อ ค.ศ. ๑๓๙๙ มีผู้ขุดพบหัวกระโหลกกับโครงกระดูกมนุษย์ที่ตำบลนีนเดอ แขวงเมืองดุลเสลดอฟ ในประเทศเยอรมันนีซาก ๑ รูปร่างเล็กกว่ามนุษย์สามัญ และรูปหน้าคล้ายกับลิงในบางแห่ง เปนของแปลกปลาดจนโจทน์กันอื้อฉาว ถึงส่งซากนั้นไปให้นักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงคน ๑ อยู่ในเมืองฝรั่งเศสตรวจ แม้นักปราชญ์คนนั้นก็ยังไม่กล้าค้านคำที่กล่าวในใบเบล ว่าพระเจ้าเอารูปพรรณของพระองค์เองมาเปนแบบอย่างสร้างมนุษย์ หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่งคือมนุษย์มีรูปพรรณอย่างปัตยุบันมาตั้งแต่พระเจ้าสร้างแล้ว ต้องวินิจฉัยเรื่องซากมนุษย์ที่พบในตำบลนีนเดอ (และเรียกเปนชื่อประเภทมนุษย์พวกนั้นว่านีนเดอทัลในตำราก่อนประวัติศาสตร์) ไปเปนอย่างอื่น กล่าวอธิบายว่าซากนั้นคงเปนโครงกระดูกของมนุษย์พวกคอตสอกในรุสเซีย ซึ่งตามเอมปเรออาเล็กซานเดอร์ที่ ๑ มาตีเมืองฝรั่งเศสเมื่อครั้งเอมปเรอนะโปเลียนโบนาปาต แต่คงจะเปนเด็กหนุ่มร่างจึงเล็กกว่ามนุษย์สามัญและคงจะมาตกม้าตาย หัวกระโหลกจึงมาแปรรูปไปอย่างนั้น ก็เปนอันสงบไปคราวหนึ่ง ต่อมามีนักปราชญ์เดน คน ๑ ขุดพบขวานหินหลายเล่มอยู่ด้วยกันที่ในเมืองเดนมาร์ก นักปราชญ์คนนั้นประกาศความเห็นว่าคงจะเปนขวานเครื่องมือของมนุษย์แต่โบราณ เมื่อยังไม่รู้จักวิธีหล่อหลอมทองสัมฤทธิ์หรือถลุงเหล็กทำเปนเครื่องมือ ก็มีผู้คัดค้านโดยมากว่าทำขวานด้วยหินจะตัดฟันต้นไม้อย่างไรได้ คำคัดค้านนั้นได้ยินไปถึงนายทหารเดนคน ๑ อยากจะพิสูจน์ให้แน่ชัด จึงขอยืมขวานหินจากพิพิธภัณฑ์สถานไปว่าจ้างคนให้หัดใช้ตัดไม้ จนสำเร็จทำเปนกระท่อมได้หลัง ๑ แต่นั้นความที่เคยเชื่อว่าขวานหินเปนขวานฟ้าก็ละลายไป ต่อมาถึงปีกุญ พ.ศ. ๒๔๐๖ มีผู้ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ที่เปนอย่างระวางคนกับลิงในที่แห่งเดียวกัน ในประเทศฝรั่งเศสอีก ๒ ซาก เปนเหตุให้ล้างวินิจฉัยของนักปราชญ์ที่ได้บอกอธิบายซากมนุษย์นีนเดอทัลมาแต่ก่อน พวกนักปราชญ์พากันยอมว่ามนุษย์มีมาแต่ก่อนศักราชที่พวกคณาจารย์คฤศตังอ้างว่าเปนปีพระเจ้าสร้างโลก จึงนับว่าเกิดวิชชาก่อนประวัติศาสตร์ขึ้นแต่ปีกุญ พ.ศ. ๒๔๐๖ เปนต้นมาด้วยประการฉะนี้

ช่างชักรูปพึ่งเอาสมุดตำรามาส่งคืนเมื่อวานนี้ รูปฉายาลักษณ์ที่ให้จำลองก็ยังไม่ได้มาหมด หม่อมฉันจะทูลเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ในจดหมายฉะบับหน้าต่อไปอีก

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑๐ ตุลาคม ศัพท์สีต้น ที่ตรัสถามนั้น หม่อมฉันเคยได้ยินคำอธิบายมาแต่ก่อนว่ามาแต่ชีต้น คิดดูก็เห็นจะจริง ด้วยพบในหนังสือเก่าเขียนว่า “ชีต้นอาจารย์” คำว่า สีต้น เคยได้ยินแต่ว่าพระนั่งเกล้าตรัสเรียกทูลกระหม่อม คิดไม่เห็นว่าจะตีความคำ สี เปนอย่างไร แต่คำ ชีต้น นั้นพอจะหาอธิบายได้

คำว่า ชี เห็นจะหมายความว่า นักบวช ไม่เลือกว่าพระหรือคฤหัฐ ชายหรือหญิง เช่นเรียกสมภารว่า หลวงชีเจ้าวัด เรียกชูชกว่า ทชี และเรียกผู้หญิงที่บวชว่า รูปชี หรือ นางชี ฉะนี้ คำว่า ต้น ดูความหมายว่าเปนชั้นสูงสุด เช่นช้างต้น ม้าต้น เรือต้น เครื่องต้น เมื่อรวมศัพท์ทั้ง ๒ เข้าเปน ชีต้น เดิมเห็นจะใช้สำหรับเรียกนักบวชซึ่งมีฐานะชั้นสูง

ขอทูลแถมเรื่องทำนองเดียวกันต่อไปอีกคำ ๑ คือคำว่า “บาดหลวง” เลอเมย์เปนผู้ค้นพบมูลของคำ “บาด” ว่ามาจากคำ “Padre” ภาษาโปรตุเกตแปลว่า พ่อ ซึ่งเขาใช้นำหน้าชื่อนักพรตอย่างเรียกกันในชั้นหลังว่า Father เช่น Father Colomber เปนต้น

หม่อมฉันเห็นชอบด้วยวินิจฉัยของเลอเมย์ ส่วนคำว่า “หลวง” นั้น หม่อมฉันสันนิษฐานว่าหมายความว่าเปนใหญ่ในพวก บาด คือ Bishop ซึ่งเราเรียกกันในชั้นหลังว่า สังฆราช ครั้งกรุงศรีอยุธยาคงจะเรียกกันว่า บาดหลวง หาได้เรียกนักพรตฝรั่งว่าบาดหลวงทุกตนอย่างทุกวันนี้ไม่

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ