วันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ดร (๒)

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๗

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

ในจดหมายฉะบับนี้หม่อมฉันจะทูลบันเล็งเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ว่าด้วยประวัติของมนุษยชาติ เปนอนุสนธิของจดหมายฉะบับสัปดาหะก่อนต่อไป

ในตำราสัตวศาสตร์ Zoology กำหนดว่าสัตวชาติต่างกันด้วยอาหารเปน ๓ จำพวก จำพวกหนึ่งกินเนื้อเปนอาหารเรียกว่า Carnivera เช่นราชสีห์และเสือเปนต้น จำพวกหนึ่งกินพฤกษชาติเปนอาหารเรียกว่า Herbivera เช่นช้างม้าวัวควายเปนต้น จำพวกหนึ่งกินทั้งเนื้อและพฤกษชาติเปนอาหารเรียกว่า Omnivera คนอยู่ในจำพวกนี้ ทั้งอยู่ในจำพวกสัตว์กินนม Mamalia ด้วย เพราะฉะนั้นคน (รวมทั้งพวกคล้ายลิงและพวกมนุษย์) เมื่อแรกมีขึ้นคงอยู่ด้วยกันแต่กับลูกเมียของตน โดยปกติหน้าแล้งก็อยู่ในที่แจ้งหรือในสุมทุมพุ่มไม้ ถ้าหน้าฝนหรือเกรงภัยอันตรายก็เข้าอาศัยอยู่ในถ้ำและเพิงผา การอาชีพผู้ชายเที่ยวล่าสัตว์ ผู้หญิงเที่ยวขุดหาพฤกษาหารมาสู่กันกินดิบ ๆ ด้วยยังไม่รู้จักปิ้งจี่ ตัวก็เปลือยเปล่า และมีขนปกคลุมทั่วทั้งกายคล้ายกับลิง มูลเหตุที่คน (หรือจะเพาะแต่พวกมนุษย์) จะใช้เครื่องนุ่งห่มนั้น สันนิษฐานกันว่าจะเกิดขึ้นเมื่อสมัยน้ำแข็ง Glacier Period เพราะหนาวจัดคนทนไม่ได้ พวกที่ไม่สามารถทิ้งถิ่น จึงเอาหนังสัตว์เข้าคลุมกายกันหนาวขึ้นก่อน แล้วเลยเห็นว่าสบายดีและเปนประโยชน์อย่างอื่นด้วย จึงใช้หนังสัตว์นุ่งห่มต่อมา (ถึงกระนั้น มนุษย์บางจำพวกที่อยู่ในแดนร้อน ไม่เห็นประโยชน์ที่จะทำตามหรือเปนแต่นุ่งขัดเตี่ยวพอกันอาย ก็ยังไม่มีมาจนทุกวันนี้) แต่คนผิดกับสัตว์เดรัจฉานเปนข้อสำคัญที่มีปัญญามาก สามารถคิดทำเครื่องมือ Implement ขึ้นใช้ช่วยตัวได้ตั้งแต่เดิมมา เครื่องมือของคนโบราณชั้นก่อนประวัติศาสตร์ที่ยังปรากฏอยู่ มีทำด้วยหินหรือด้วยทองสัมฤทธิหรือด้วยเหล็กเปนพื้น นักปราชญ์พิจารณาเห็นว่าเครื่องมือเหล่านั้นเกิดขึ้นต่างสมัยกัน ในตำราวิชชาก่อนประวัติศาสตร์จึงเอาเครื่องมือตั้งเปนเกณฑ์กาลในเรื่องประวัติของคนโบราณชั้นก่อนประวัติศาสตร์ เรียกกาลชั้นแรกว่า “อายุหิน Stone Age” กาลชั้นกลางเรียกว่า “อายุทองสัมฤทธิ์ Bronz Age” และเรียกกาลชั้นหลังว่า “อายุเหล็ก Iron Age”

กาลที่เรียกว่า อายุหิน Stone Age เก่าก่อนและนานกว่าเพื่อนต้องแบ่งต่อไปเปน ๓ ตอน ชั้นต้นเรียกว่า ปะเลโอลิธิค Palaeolithic ตรงกับว่า หิน-เก่า ตอน ๑ ชั้นกลางเรียกว่า เมโสลิธิค Mesolithic ตรงกับว่า หินกลาง ตอน ๑ ชั้นหลังเรียกว่า เนโอลิธิค Naeolithic ตรงกับว่า หินใหม่ ตอน ๑ เรื่องประวัติของคนโบราณใน ๓ ตอนนี้ผิดกันอย่างไร อธิบายหลักฐานที่พบดังต่อไปนี้

ในอายุหินเก่า Palaeolithic นั้น มีเครื่องมือหินที่ได้พบ ณ ที่ต่าง ๆ ทำเปนแต่ของ ๒ อย่าง คือ Axe แปลตามศัพท์ว่า ขวาน แต่รูปขวานชั้นหินเก่า ปลายแหลมมีคมทั้ง ๒ ข้างแล้วถึงที่สำหรับมือจับ (อย่างรูปที่ ๑) ต่อถึงอายุหินใหม่จึงได้ทำเปนคมขวาน ที่เราเรียกกันว่า ขวานฟ้ามีขวานหินเช่นพรรณนามาอย่างหนึ่งกับเครื่องขูด Scrapers ทำหินให้มีคมตลอดหน้าสำหรับขูดอย่างหนึ่ง เครื่องมืออย่างอื่นที่ทำด้วยหินเช่นเครื่องศัสตราวุธสำหรับใช้ล่าสัตว์ก็ดี หรือใช้ป้องกันตัวก็ดี หามีไม่ ข้อนี้ส่อให้เห็นว่าเครื่องมือนอกจาก ๒ อย่างนั้นคงใช้ทำด้วยไม้ เช่นเครื่องมือสำหรับป้องกันตัวก็คงใช้ไม้พลองตะบองสั้น เครื่องมือล่าสัตว์ก็ใช้แหลนหลาว หากเครื่องมือไม้ของคนโบราณ เมื่อจมอยู่ในดินผุยุ่ยเลยสูญไปหมด คนภายหลังจึงพบแต่เครื่องมือที่ทำด้วยหิน เพราะเหตุใดจึงทำเครื่องมือด้วยหินแต่ ๒ อย่าง ข้อนี้อธิบายว่าขวานหินนั้นสำหรับตัดเกลาไม้กับแล่เถือเนื้อสัตว์ เครื่องขูดนั้นสำหรับขูดเนื้อและมันที่ติดหนังสัตว์ ทำให้หนังบางใช้เปนเครื่องนุ่งห่มได้ การเหล่านี้จะใช้เครื่องมือไม่ได้จึงเพียรทำเครื่องมือด้วยหิน เครื่องมือหินครั้งอายุหินเก่าฝีมือทำล้วนขรุขระ เปนแต่เอาก้อนหินมาสกัดให้กระเทาะเหลืออยู่เพียงเท่าต้องการ แต่เมื่อผู้ศึกษาวิชชาก่อนประวัติศาสตร์พิจารณาดูก็เกิดพิสวง ด้วยเห็นว่าคนโบราณชั้นนั้นมีแต่ไม้ค้อนก้อนหินเปนเครื่องมือสำหรับทำ ทำอย่างไรจึงสามารถสกัดให้เครื่องมือหินได้เปนรูปร่างอย่างแบบเดียวกัน และเพราะเหตุใดจึงทำเหมือน ๆ กันแทบทุกจำพวก แม้อยู่ห่างต่างถิ่นกันไกล ๆ ก็เกิดความคิดว่าคงเปนเพราะเคยทำสืบต่อกันมาหลายชั้นชั่วบุรุษจนชำนิชำนาญรู้จักประเภทหินและรู้วิธีที่จะสกัด แม้ด้วยไม้ค้อนก้อนหินทำให้เปนรูปต่าง ๆ ได้ตามใจ ข้อที่พบเครื่องมือหินอย่างเดียวกันในที่ต่าง ๆ ห่างไกล แม้จนถึงต่างประเทศกันนั้น สันนิษฐานว่าคงเปนเพราะมีการคมนาคม ได้รู้ได้เห็นแบบอย่างก็ทำกันต่อ ๆ ไป เมื่อทำกันขึ้นหลายแห่งเช่นนั้น คนมีความคิดในจำพวกหรือประเภทต่าง ๆ ก็เปลี่ยนวิธีสกัดหรือเปลี่ยนรูปและคิดเครื่องมืออย่างอื่นเพิ่มขึ้นต่อไป แบบและฝีมือที่ทำเครื่องมือจึงผิดกันมาตามกาละและถิ่นฐาน อันนี้เปนเหตุให้นักปราชญ์ในวิชชาก่อนประวัติศาสตร์ บัญญัติเรียกฝีมือทำเครื่องมือหินเปนชื่อต่าง ๆ (อย่างเดียวกับที่เราเรียกลายรดน้ำอย่างหนึ่งว่า “แบบครูวัดเชิงหวาย” ฉะนั้น) ตั้งชื่อไว้ในตำราหลายอย่าง เมื่อตรวจพบเครื่องมือหินของคนโบราณที่ไหน พิศูจน์ว่าเปนฝีมือ Culture แบบไหน แล้วเทียบกับภูมิธาตุตรงที่พบก็รู้ว่ามีคนอยู่ที่ตรงนั้นตั้งแต่เมื่อไร แต่เครื่องมือแบบอายุหินเก่าไม่ว่าทำที่ไหนยังขรุขระ ด้วยใช้แต่กระบวรสกัดหินทั้งนั้น

อายุหินกลาง Mesolithic Age นั้นว่ากาละไม่ช้านัก ที่บัญญัติเปนอายุหนึ่งต่างหากเพราะมีเครื่องมือหินที่ฝีมืออยู่ในระวางแบบอายุหินเก่า Palaeolithic กับอายุหินใหม่ Naeolithic เห็นได้ว่าทำในสมัยเมื่อกำลังจะเปลี่ยนแบบเครื่องมือ ในอายุหินกลางนี้ (เกี่ยวข้องกับเมืองไทย ดังจะปรากฏต่อไปข้างหน้า) บางทีจะเปนเวลาอายุที่เกิดเหตุสำคัญอย่างยิ่งแก่มนุษย์ คือที่เริ่มสามารถจะเอาไม้สีกันให้เกิดไฟขึ้นได้ ศาสตราจารย์คัลเลนเฟลบอกว่าข้อที่มนุษย์สามารถทำให้ไฟเกิดขึ้นได้แต่เมื่อใดนั้น หลักฐานที่ได้พบเปนอย่างเก่าที่สุดคือ ทรากเตาไฟ พบในแดนประเทศจีนอยู่ในภูมิธาตุอายุราวสัก ๑๐,๐๐๐ ปี แต่มนุษย์จะรู้จักสีไฟมาก่อนนั้นนานแล้วก็ได้ เปนเหตุให้ฐานะของมนุษย์เปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เปนต้นแต่อาจกันหนาวและป้องกันอันตรายจากสัตว์เดียรัจฉาน หรือแม้ล้อมล่าสัตว์ได้ด้วยกองไฟ ได้ความสุขและปลอดภัยอันตรายไม่ต้องคอยหลบเลี่ยงหลีกหนีอยู่เปนนิจเหมือนแต่ก่อน ก็เปนปัจจัยให้มนุษย์เริ่มตั้งถิ่นฐานอยู่เปนหมู่หมวดกันแต่นั้นมา

อายุหินใหม่ Naeolithic Age เริ่มแต่เวลาเมื่อมนุษย์ชอบอยู่เปนหมู่หมวดกัน และการแสวงหาอาหารไม่ลำบากเหมือนแต่ก่อนแล้ว หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่งคือในเวลาเมื่อมีเวลาว่างมากขึ้น ก็คิดทำเครื่องมือหินให้ประณีตมากขึ้นด้วยฝนขัดให้ราบเรียบ บางทีถึงชักเงา เครื่องมือของคนโบราณบรรดาที่ทำรูปและฝนราบเรียบร้อย (เช่นเรียกกันว่าขวานฟ้า ที่ขุดพบในประเทศสยามมีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานบัดนี้) เปนของทำขึ้นในอายุหินใหม่ทั้งนั้น นอกจากนั้นเมื่อมนุษย์อยู่รวบรวมกันดังกล่าวมา ก็เกิดความคิดช่วยกันหาเลี้ยงชีพให้สดวกยิ่งขึ้น เช่นเอาพรรณพฤกษาหารที่เคยต้องเที่ยวเสาะหามาปลูกทำเปนไร่กงเก็บกินได้ง่าย และจับสัตว์พรรค์ที่ไม่ดุร้ายมาเลี้ยง แล้วประสมพันธุ์ไว้กินหรือใช้เปนพาหนะ ตลอดจนรู้จักปลูกทับกระท่อมที่อยู่อาศัย เจริญอาริยธรรมยิ่งขึ้นเปนลำดับมา

อายุทองสัมฤทธิ์ Bronz Age เริ่มเมื่อราวสัก ๖,๐๐๐ ปีมานี้ ศาสตราจารย์คัลเลนเฟลบอกว่ามนุษย์พวกที่อยู่กลางเอเซีย เริ่มเอาธาตุทองแดงกับธาตุดีบุกมาลองหลอมประสมกันเปนทองสัมฤทธิ์ หล่อทำเปนเครื่องมือและภาชนะต่าง ๆ ขึ้นก่อน ความรู้อันนั้นแพร่หลายต่อไปถึงมนุษย์พวกอื่น ๆ โดยลำดับ อธิบายที่ว่า “แพร่หลายโดยลำดับ” นี้เปนเวลานับด้วยหลายพันปี แม้จนทุกวันนี้ยังไม่แพร่หลายไปถึงมนุษย์บางจำพวกก็มี แต่เมื่อรู้วิธีทำทองสัมฤทธิ์ไปถึงพวกไหน พวกนั้นก็เปลี่ยนเครื่องมือหินเปนเครื่องมือทองสัมฤทธิ์ เพราะทำง่ายกว่าสกัดหิน ข้อนี้ว่ามีหลักฐานปลาดอยู่ที่เครื่องมือทองสัมฤทธิ์ชั้นโบราณที่ขุดพบ มักทำเลียนตามรูปเครื่องมือหินชั้นอายุหินใหม่ แม้ขวานและพร้าที่ใช้กันจนปัจจุบันนี้เค้ารูปก็มาแต่เครื่องมือหิน

อายุเหล็ก Iron Age นั้นว่าเริ่มเมื่อสัก ๕,๕๐๐ ปีมานี้ ด้วยมนุษย์พวกชาวฮังการีในยุโรป คิดวิธีถลุงเหล็กทำเครื่องมือและเครื่องใช้ได้ก่อน แล้วความรู้นั้นแพร่หลายไปอย่างที่กล่าวมาแล้ว จึงได้ใช้เหล็กทำเครื่องมือและเครื่องศัสตราวุธขึ้นแต่นั้นมา

เรื่องก่อนประวัติศาสตร์ต่อกับประวัติศาสตร์เมื่อใด ข้อนี้ต่างชาติต่างเวลากัน อาศัยหลักแต่ว่าชาติใดมีจดหมายเหตุเปนตัวอักษรขึ้นเมื่อใด ก็นับว่าเข้าเขตต์ประวัติศาสตร์เมื่อนั้น มีตัวอย่างอ้างในตำราว่าเมื่อราวสัก ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ที่ในยุโรปมนุษย์ยังเปนชาวป่านุ่งห่มหนังสัตว์ แต่ในเวลานั้นเองที่ในประเทศอียิปต์มีการปกครองเปนอาริยธรรมและมีตัวอักษรใช้กันอยู่แล้ว จึงนับว่ามนุษย์พวกอียิปต์เข้าสู่ประวัติศาสตร์ก่อนมนุษย์พวกอื่นทั้งสิ้น

คราวนี้ถึงปัญหาข้อสำคัญที่หม่อมฉันถามศาสตราจารย์คัลเลนเฟลข้อ ๑ ว่าตามที่ปรากฏว่าสัตว์เช่นเสือและช้างก็ดี มนุษย์ก็ดี มีในสมัยก่อนประวัติศาสตร์แทบทุกแห่งในโลกนี้ จะเข้าใจว่าสัตว์หรือมนุษย์พันธุ์เดียวกันเกิดขึ้นตามที่ต่าง ๆ หลายแห่งพร้อมกันนั้นไม่ได้ จะต้องเกิดจากพืชพรรณที่ร่วมกันแต่เดิมแล้วจึงแยกย้ายกระจายไป แกรู้หรือไม่ว่าพันธุ์มนุษย์นี้เกิดขึ้นที่ไหนก่อน แกตอบว่าข้อนี้เปนข้อที่ผู้ศึกษาวิชชาก่อนประวัติศาสตร์กำลังค้นหาหลักฐาน ส่วนตัวแกเองเชื่อว่าพันธุ์มนุษย์เกิดขึ้นทางกลางเอเซียก่อน แล้วกระจายไปทางตะวันตกจนถึงยุโรปและอเมริกาทาง ๑ อพยบกระจายมาทางตะวันออกคือมาทางเมืองจีนแล้วกระจายต่อลงมาทางข้างใต้ ผ่านประเทศสยามและกัมพูชาลงไปทางเกาะสุมาตรา เกาะชะวา และเกาะในมหาสมุทร์ปาซีฟิคทาง ๑ การที่แกตรวจค้น เช่นเข้าไปสืบสวนหาความรู้ในประเทศสยามก็ดี และที่สุดที่รับอาสามาขุดขุมทรัพย์ก่อนประวัติศาสตร์ในแหลมมลายูนี้ก็ดี ก็เพื่อจะพิศูจน์ความข้อที่ว่ามา หลักฐานเท่าที่พบแล้วในเวลานี้ ได้พบเครื่องมือหินของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่เมืองจีนเปนระยะมาจนตลอดประเทศสยาม ยังขาดอยู่ในตอนประเทศสยามต่อกับประเทศมลายู

ตรงนี้มีเรื่องที่จะต้องทูลแทรก คือเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ มีนักปราชญ์วิชชาก่อนประวัติศาสตร์คน ๑ ชื่อศาสตราจารย์สารสิน เปนชาติสวิตซ์ เข้าไปกรุงเทพ ฯ เพื่อจะตรวจค้นหาเครื่องมือมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ กระทรวงมหาดไทยมอบให้เปนภาระของราชบัณฑิตยสภา ที่จะช่วยอุดหนุนศาสตราจารย์สารสิน แกได้ขึ้นไปตรวจถ้ำต่าง ๆ ถึงเมืองเชียงรายแล้วลงมาตรวจที่ถ้ำเขาสนามแจงแขวงเมืองลพบุรีและที่เขางูเมืองราชบุรี เวลานั้นหม่อมฉันป่วย พอค่อยคลายขึ้นแต่ยังต้องนอนอยู่ แกขอไปหาได้สนทนากัน ครั้นแกกลับไปยุโรปไปแต่งรายงานการที่ตรวจ และส่งตัวอย่างเครื่องมือหินที่ขุดพบมาให้หม่อมฉัน หม่อมฉันได้ให้พิมพ์ไว้ในหนังสือเจอร์นัล ของสยามสมาคม เล่ม ๒๖ ตอนที่ ๒ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ (Journal of the Siam Society Vol. XXVI., pt.2.) ตามรายงานของศาสตราจารย์สารสิน ว่าเครื่องมือหินชั้นก่อนประวัติศาสตร์ที่ขุดพบในประเทศสยาม มีทั้งอายุหินกลางและอายุหินใหม่ แต่ชั้นอายุหินเก่ายังหาพบไม่ ด้วยตรวจค้นไม่ได้ถ้วนถี่ เพราะในบรรดาถ้ำอันน่าจะเปนที่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ชาวสยามทำเปนสถานในสาสนาเสียแทบทุกแห่ง จะขุดตรวจก็ขัดข้อง หม่อมฉันได้พูดเรื่องนี้กับศาสตราจารย์คัลเลนเฟล แกว่าแกเห็นด้วยกับศาสตราจารย์สารสิน ว่าในประเทศสยามมีที่ที่น่าจะตรวจหาหลักฐานทางวิชชาก่อนประวัติศาสตร์อยู่หลายสิบแห่ง แต่ที่ชาวสยามทำเปนวัดเสียนั้นก็ดีไปอย่างหนึ่ง ด้วยเปนเครื่องป้องกันมิให้ใครไปเที่ยวขุดเล่น เพราะการขุดค้นขุมทรัพย์ก่อนประวัติศาสตร์ต้องพินิจพิจารณามาก ต่อเปนผู้ชำนาญในการนั้นจึงจะขุดได้เรียบร้อย ถ้าเปนแต่ไปขุดทดลองวิชชาก็พาให้เสียของเสียเปล่า ความข้อนี้เคยมีอุทาหรณ์เช่นครั้งหนึ่งพวกขุดแร่ในอาฟริกา ขุดพบหัวกระโหลกคนโบราณอย่างแปลกมากที่เมืองโรติเสีย เจ้าของเหมืองแร่ได้หัวกระโหลกนั้นไว้ แล้วส่งไปให้นักปราชญ์ตรวจก็ไม่สามารถจะรู้ว่าจะเปนอายุคราวไหน เพราะผู้ขุดพบไม่รู้และไม่ได้สังเกตภูมิธาตุตรงที่พบหัวกระโหลกนั้น เลยเปนปัญหามาจนทุกวันนี้ มีเรื่องที่ตัวหม่อมฉันได้ทราบแก่ตนเองเปนทำนองเดียวกันก็ครั้งหนึ่ง ด้วยพระภิกษุรูป ๑ ส่งของก่อนประวัติศาสตร์ที่ขุดพบในแขวงเมืองชัยนาทมาให้พิพิธภัณฑสถาน มีทั้งขวานหินอายุหินใหม่และเครื่องหม้อไหอีกหลายสิ่ง และบอกมาว่าในที่นั้นขุดพบหัวกระโหลกมนุษย์ด้วยหัว ๑ แต่พวกคนใจบุญเขาเอาไปทำฌาปนกิจเสียเลยสูญกัน

ทูลบันเล็งเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ประดับพระปัญญาบารมีมาพอสมควรแก่เวลาแต่เพียงนี้ เอวังก็มี:-

ในจดหมายที่หม่อมฉันทูลไปเรื่อง “ธารพระกรศักดิ์สิทธาวุธ” นั้น รีบเขียนถวายไป ต่อส่งจดหมายไปแล้วมานึกได้ถึงข้ออธิบายที่ยังขาดอยู่จึงขอทูลเพิ่มเติมในจดหมายฉะบับนี้ คือชื่อของธารพระกรนั้นดูเหมือนเรียกกันแต่ว่า “ธารพระกรศักดิสิทธิ” คำว่า “ศักดิสิทธาวุธ” นั้นเปนชื่อเรือ Gun boat ซึ่งต่อเมื่อแรกขึ้นรัชชกาลที่ ๕ หรือในตอนปลายรัชชกาลที่ ๔ ชื่อว่า สงครามครรชิต ลำ ๑ ศักดิสิทธาวุธ ลำ ๑ เปนคู่กัน อนึ่งตำราจีนที่ถือว่า ไก่ขาว ไม้ท้าวผีสิง ผู้หญิงรูปงาม เปนของสำคัญสำหรับเรือนนั้น พิจารณาหาอธิบายก็พอแลเห็น คือ ไก่ขาว เปนของให้รู้เวลา ไม้ท้าวผีสิงเปนของกันภัย ผู้หญิงรูปงามเปนของให้ความสุข จึงสันนิษฐานต่อไปถึงอุบัติเหตุเรื่องธารพระกรศักดิ์สิทธิ เห็นว่าชะรอยจะมีผู้นำไม้ธารพระกรองค์นั้นขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย ด้วยเห็นว่าเปนไม้เนื้อดีและมีรูปพรรณแปลกปลาด เมื่อทรงพระราชปรารภว่าจะทำอะไรดีด้วยไม้อันนั้น จะทรงนึกขึ้นถึงไม้ท้าวผีสิงในตำราจีนจึงโปรด ฯ ให้ทำเปน ธารพระกร แต่จะเรียกนามว่า “ธารพระกรปีศาจสิง” เห็นแรงเกินไปจึงให้เรียกว่า “ธารพระกรศักดิ์สิทธิ์” วิธีที่ทรงเส้นนั้นหม่อมฉันนึกจำได้ตะหงิดๆ (บางทีจะเปนแต่จำคำผู้อื่นเล่าก็เปนได้) เห็นเคยทรงแทงจิ้มห่อหมูแนม ซึ่งตั้งเลี้ยงโต๊ะที่พระที่นั่งอาภรณพิโมกข์ในงานปีใหม่ แต่จำได้เหมือนฝันด้วยยังเด็กนัก.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ