วันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๗ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๔๗๗

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๐ เดือนนี้ ได้รับประทานแล้ว

ตามพระดำรัสอธิบายถึงเรื่องพิธี “ไทปุสัม” เพิ่มเติมไปคราวนี้ ทำให้ได้ความรู้ดีขึ้นอีกมาก พวกเจติที่ประพฤติมักน้อย บริโภคเพียงผ้านุ่งผืนหนึ่งผ้าห่มผืนหนึ่ง อยู่เรือนเล็กนอนบนหลังหีบ เอาเทวาลัยเปนที่ทำการนั้นเอง จึงทำให้ได้เปนเศรษฐี ถ้าหากประพฤติเปนคนขี้โอ่สุรุ่ยสุร่าย อานุภาพพระขันธกุมารก็เห็นจะช่วยไม่ได้

ฉัตรสี่มุมรถเปนของแขวนไม่มีคันก็เปนฉัตรแขวน ไม่เป็นอื่นไปได้ คบไฟใส่กรวยเงินนั้นชอบกล ไปเข้าทางแบบฝรั่งไม่มาทางไทย ชายหนุ่มฟ้อนรำหน้ารถก็คือระบำหน้าช้างอย่างอินทรชิตแปลง การแต่งโคเทียมรถนั้นเปนของปกติ โคชนของเราทางแถบหัวเมืองตวันตก เขาแห่ไปชนก็แต่งกันไปหรูเหมือนกัน

ตรัสเล่าถึงกิริยาเคารพมาสดุดใจอย่างหนึ่งที่ทำแขนไขว้ เกล้ากระหม่อมเคยนึกสงสัยว่าที่เรียกพระรำพึงนั้น หมายถึงรำพึงอะไรตรงไหน ได้เรียนถามสมเด็จพระวันรัตน ท่านว่ารำพึงธรรมนั้นสิ เกล้ากระหม่อมถามซ้ำว่ารำพึงถึงว่าพระธรรมเปนของลึกซึ้งจนจะไม่ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ทำให้ร้อนถึงพระพรหมต้องลงมาอาราธนานั้นหรือมิใช่ ท่านตอบว่านั่นแหละ เกล้ากระหม่อมค้านว่าถ้าเปนตรงนั้นก็ควรเปนอาการนั่งไม่ใช่ยืน ท่านก็นิ่งไป ต่อมาอีกนาน เกล้ากระหม่อมสงสัยคำ “สวัสติกะ” ขึ้น จึงพลิกดิกชนะรีสํสกฤตดู เขาแปลว่าเปนเครื่องหมาย Lucky อย่างหนึ่ง มีลักษณะไขว้กันเปนกากบาท มีทางสี่แพร่งเปนต้น ตลอดจนแขนไขว้ก็เปนสวัสติกะ ทำให้สดุ้งใจขึ้นว่าพระรำพึงจะหมายทำเปนสวัสดิกะ คือให้เปนสวัสดีแก่ผู้สร้างเสียดอกกระมัง มาได้ฟังตรัสเล่าถึงพวกแขกทำเคารพด้วยกิริยาไขว้แขน เปนเหตุประกอบให้แน่ใจขึ้นอีกว่าทำสวัสติกะแท้แล้ว กิริยาประนมมือไหว้ขึ้นไปจนถึงบนกระหม่อมนั้น ก็เปนเคารพอย่างหนึ่งซึ่งจะเปนการกระทำอย่างสูงสุด คงจะทรงระลึกได้ รูปเปรตที่เขียนกันก็ดี ที่ทำรูปหุ่นเช่นเปรตวัลทองก็ดี มีมือไหว้อยู่เหนือกระหม่อมทั้งนั้น ฉายาลักษณเทวรูปของจามซึ่งเซเดส์ถวายแล้วโปรดประทานไปดูก็มีรูปประนมมือขึ้นเหนือหัวถึงสองรูป บทเพลงซอของเชียงใหม่ก็มีจำได้ว่า “ยกมือขึ้นเหนือหัว ขอเปนจุ่ม (จอม) ดอกบัวบานอยู่กลางน้ำ” แต่กิริยาไหว้อย่างสูงชะนิดนั้น เดี๋ยวนี้เราไม่ได้ทำกันเสียแล้ว

ได้นึกถึงภาษาที่เข้ามาปนภาษาไทยต่อไป นึกได้ถึงคัมภีร์ที่เรียกว่า “อมรโกศ” เขาว่าเปนดิกชนะรีหรือแกรมเมอภาษาสํสกฤตอะไรอย่างหนึ่ง เปนองคพยานว่าต้องเคยมีคัมภีร์สํสกฤตอยู่ จึงได้มีเครื่องมือนั้นไว้สำหรับใช้ไข ทางศาสนาพราหมณ์ก็คงได้มีการสั่งสอนเราเหมือนกัน จึงได้มีเรื่องอนิรุทธรามเกียรติปรากฏอยู่ คำ สุริยัน ขุขัน ลัสเตียน (เปาลัสตยัน) เปนคำสํสกฤตปนทมิฬเสียด้วยซ้ำ พราหมณ์เราเปนพราหมณ์ผ่านมาทางทมิฬ ย่อมทรงทราบอยู่แล้ว มนตร์ที่พราหมณ์เราใช้อยู่บัดนี้เปนภาษาทมิฬก็มีมาก ภาษาจีนก็เข้ามาถึงสองทางที่มาทางเหนือก็มี เปนภาษาจีนหลวง เช่นใบชา หยก เปนต้น ภาษาแต้จิ๋วก็มีมาก เห็นจะมาทางใต้ในภายหลัง ภาษาอะไรก็ไม่มากเท่าภาษาเขมร ดูเปนเท่ายาทั้งหลายเสียทีเดียว แต่ก็จะต้องเปนเช่นนั้นอยู่เอง เพราะเรามีเวลาติดอยู่แก่เขามาก มีศัพท์ที่เพิ่งรู้ใหม่ควรจะทูลถวาย เพราะติดจะขันอยู่ ด้วยเห็นร่างพระราชบัญญัติเขาเขียน “การประมง” เกิดสดุดใจว่านี่มันหมายความว่าอะไร เปนภาษาอะไร รูปเปนทีสํสกฤต มง ควรจะมีตัว ค์ การันต์ พบกรมหมื่นพิทยาลงกรณจึงลองถามดู เธอว่าเธอค้นภาษาสํสกฤตแล้วไม่พบ นึกขึ้นมาได้ ว่าเคยเห็นเขาตีอวนขนาดเล็กเขาเรียกว่าตีมง แล้วก็นึกคำพูดกันว่า “คลุกคลีตีมง” ขึ้นได้อีก เห็นทีจะเปนภาษาเขมร จึงเปิดดิกชนะรีเขมรขึ้นดู “มง” แปลว่าตาข่าย แล้วให้คำประกอบไว้อีกว่า “มงพิงพาง” แปลว่า ข่ายแมลงมุม นึกอดหัวเราะไม่ได้ โพงพางของเรานี้ก็คำเขมร คือมงพิงพางนั้นเอง โพงพางแปลว่าแมลงมุม สิ้นเคราะห์ไปที

พระองค์หญิงขาวประชวนมาก พิษพระบังคนเบาเข้าเจือพระโลหิต การรักษาพยาบาลลำบากยุ่งเก๋ มีคนจงรักภักดีเธอมาก ต่างแย่งกันเปนเจ้าไข้ ไม่มีใครบงการสิทธิขาด

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

ได้ถวายรูปท้าวสุรนารีมาอีกรูปหนึ่ง ทีนี้ให้ความความเฃ้าใจได้ว่าตั้งอุดประตูชุมพล

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ