วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ดร

บ้านซินนามอน ฮอลล์ ปีนัง

วันที่ ๒๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๗

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

เดิมหม่อมฉันคิดว่าจดหมายถวายสัปดาหะนี้ จะเขียนทูลรายงานเรื่องสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่หม่อมฉันได้ศึกษาสักตอน ๑ ได้ลงมือเขียนแล้วแต่เรื่องมันยาก สอบหนังสือไม่ทันจึงจำต้องงดไว้ จะทูลต่อในจดหมายสัปดาหะหน้า

จดหมายสัปดาหะนี้จะทูลสนองแต่เรื่องเนื่องด้วยความในลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๑๕ ฉะบับหนึ่ง กับลงวันที่ ๑๙ อีกฉะบับหนึ่งซึ่งประทานมา

รูปพระนิรันตรายที่โปรดให้ฉายประทานมานั้น ชัดเจนเปนหลักฐานดีหนักหนาทีเดียว พิเคราะห์ดูพระนิรันตรายองค์เดิมที่เปนฝีมือสมัยทวาราวดีนั้น ทั้งแบบและขนาดเหมือนกันกับพระสัมฤทธิ์องค์ ๑ ซึ่งหม่อมฉันได้มาจากลำน้ำมูลที่วังปลัดแขวงจังหวัดนครราชสีมา ได้ฝากไว้ในพิพิธภัณฑสถาน ฯ จนบัดนี้ ถ้าเทียบกันในเวลานี้ หม่อมฉันเชื่อว่าองค์ของหม่อมฉันงามกว่า เพราะหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์และจมน้ำอยู่ไม่สึกหรอเหมือนองค์ของหลวงที่หล่อด้วยทองคำ และจมดินอยู่ช้านาน ถ้ามีโอกาศขอให้ทอดพระเนตรพระองค์ของหม่อมฉันด้วย

พระบรมรูปทูลกระหม่อมที่โปรดให้ฉายฉายาลักษณ์ประทานมานั้นก็ดีอีก ทำให้หม่อมฉันยินดีโดยฉะเพาะที่รู้สึกว่าความทรงจำยังดีอยู่ ที่ปรากฏว่าพระบรมรูปองค์นั้นเปนปูนปลาสเตอร์มิใช่หล่อด้วยโลหะนั้น ทำให้ดีขึ้นในทางตำนานด้วย เพราะเห็นได้ว่าคงส่งพระบรมรูปฉายาลักษณ์ออกไปให้ช่างฝรั่งเศสคิดทำเปนพระบรมรูปหล่อ ช่างคนนั้นคงเปนคนมีชื่อเสียงอยู่ในสมัยนั้น เมื่อปั้นขึ้นแล้วพิมพ์เปนปลาสเตอร์ส่งมาถวายทอดพระเนตร์เสียก่อน คงเกิดขัดข้องด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ จะคิดเอาราคามากมายอย่าง ๑ กับที่ทำพระรูปโฉมเคลื่อนคลาดมากอย่าง ๑ จึงโปรดฯ ให้ช่างไทยปั้นพระบรมรูปขึ้นใหม่อีกองค์ ๑ เรื่องตำนานต่อนั้นไปก็คงเปนอย่างที่หม่อมฉันได้ทูลไปแต่ก่อน คือทำค้างอยู่มาสำเร็จในรัชกาลที่ ๕

หม่อมฉันคิดขึ้นอีกข้อ ๑ ว่าการที่ค้นพบพระบรมรูปทูลกระหม่อมองค์นี้ นับว่าเปนการสำคัญในเรื่องโบราณคดีควรจะรักษาพระบรมรูปองค์นี้ไว้อย่าให้เปนอันตรายหายสูญหรือแม้แต่ให้หายไปเสียอีก ถ้าหากเปนเวลาหม่อมฉันยังเปนนายกราชบัณฑิตยสภา คงจะกราบไหว้ขอร้องเอาไปไว้ในพิพิธภัณฑสถาน ฯ แต่ดูเปนพ้นวิสัยที่จะเปนได้อย่างนั้นเสียแล้ว หม่อมฉันจึงนึกว่ามีท่านพระองค์เดียวที่จะทรงคิดอ่านรักษาพระบรมรูปนั้นไว้ได้มั่นคง เมื่อคิดต่อไปว่าจะเอาไว้ที่ไหนดี หม่อมฉันคิดเห็นแห่ง ๑ คือให้เอาไปไว้ในหอสุราไลยพิมาน เพราะในหอนั้นหาที่ตั้งฝากไว้ได้ไม่ยาก และไม่มีกิจที่ใครจะไปรื้อแย่ง ดูเหมือนจะเหมาะดีกว่าที่แห่งอื่น ถ้าเอาไปตั้งไว้ในที่อื่นเช่นพระที่นั่งจักรีเปนต้น หรือในคลังราชพัสดุ ซึ่งอาจจะมีการจัดเปลี่ยนแปลงหรือค้นคว้า ถ้าสิ้นตัวบุคคลชั้นตัวเราและเจ้าพระยาวรพงศ ฯ ไปแล้ว ก็น่าจะถูกถอนถูกเก๊กให้เลยเปนอันตรายหายสูญไปเสีย อย่างไรก็ดีขอมอบกิจเรื่องรักษาพระบรมรูปองค์นี้ให้เปนส่วนพระกุศลที่ท่านทรงบำเพ็ญสนองพระเดชพระคุณด้วย ถ้ายิ่งให้เฟโรจีซ่อมแซมเปลี่ยนเปนปิดทองได้อย่างเดิมด้วยก็ยิ่งดี เรื่องธารพระกรนั้น หม่อมฉันเข้าใจว่าในพระบรมรูปฉายาลักษณ์ดูเหมือนจะทรงถือธารพระกร ถ้าเช่นนั้นพระบรมรูปปั้นนี้ก็คงมีธารพระกรด้วย แต่หากหักหายไปเสีย สังเกตเห็นในลักษณะพระบรมรูปที่ปั้นแปลกอย่าง ๑ ที่ทรงดาราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทำเปน “ตรา” มหาอุณาโลม ซึ่งทูลกระหม่อมทรงพระราชดำริสร้างขึ้นเปนเครื่องต้น (มีรูปฉายาลักษณ์ตราดวงนั้นอยู่ในหนังสือตำนานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ซึ่งสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ โปรดให้หม่อมฉันเรียบเรียงถวายทรงพิมพ์) แต่ในสมัยนั้นมีแต่ดารา ไม่มีสายสะพาย ๆ ช่างปั้นคิดทำขึ้น ตราดวงห้อยสายสะพายช่างปั้นเอาแบบตรา ลิจอนดอเนอร์ ของฝรั่งเศสมาทำ หม่อมฉันตรวจจดหมายเหตุ เอมเปอเรอร์ฝรั่งเศสซึ่งถวายตราลิจอนดอเนอร์ทูลกระหม่อมใน ค.ศ. ๑๘๖๓ ที่ปั้นพระบรมรูปนั้น ช่างคงคิดทำเอาโดยอำเภอใจ ปัญหาว่าจะส่งพระบรมรูปฉายาลักษณ์ออกไปให้ปั้นเมื่อปีใด ข้อนี้ทูตไทยคราวเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ไปประเทศฝรั่งเศสเมื่อปีวอก ค.ศ. ๑๘๖๐ ก่อนปั้นพระบรมรูปนานนัก เห็นจะไม่ได้ส่งไปในคราวนี้ ต่อมามีข้าหลวงคุมเครื่องเอ๊กสหิบิเช่นไปปารีสอีกคราว ๑ เจ้าพระยารัตนาธิเบศร (พุ่ม) ยังเป็นที่ขุนสมุทโคจร เปนข้าหลวงคน ๑ ซึ่งไปในคราวนี้เมื่อ ค.ศ. ๑๘๖๒ หม่อมฉันสันนิษฐานว่าน่าจะเปนข้าหลวงคราวนี้เอง ที่เชิญพระบรมรูปฉายาลักษณ์ไปให้ช่างปั้นที่เมืองฝรั่งเศส จึงแล้วสำเร็จมาใน ค.ศ. ๑๘๖๓ แต่มาเกิดข้อสงสัยขึ้นอย่าง ๑ ว่าพระบรมรูปที่ฝรั่งเศสนั้นได้มาก่อนสิ้นรัชกาลถึง ๖ ปี ส่วนพระบรมรูปเท่าพระองค์ที่โปรดฯให้ปั้นขึ้นปั้นตอนปลายรัชชกาล มีเวลาระวางอย่างน้อยถึง ๓ ปีหรือ ๔ ปี น่าจะมีเหตุอย่างอื่นอีกที่ทำให้ทรงพระราชดำริปั้นพระบรมรูปเท่าพระองค์ หม่อมฉันคิดสันนิษฐานว่า เหตุนั้นจะเปนเพราะเอมเปอเรอร์นะโปเลียนส่งพระรูปของพระองค์เองและพระมเหสีหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์เข้ามาถวาย จึงทรงพระราชดำริจะปั้นพระบรมรูปส่งไปถวายตอบแทน แต่การค้างอยู่ ยังคิดไม่เห็นเหตุอื่น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค)

  2. ๒. เจ้าพระยารัตนาธิเบศร (พุ่ม ศรีไชยันต์)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ