วันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ดร

บ้านซินนะมอน ฮอลล์, ปีนัง.

วันที่ ๑๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๗

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๗ เมษายน ก่อนที่จะทูลสนองขอขอบพระเดชพระคุณที่โปรดประทานอนุญาตให้ชายดิศศานุวัติออกมาให้หม่อมฉันใช้สอยที่ปีนัง ประจวบเวลาหม่อมฉันหวั่นใจอยู่ตั้งแต่ได้ยินว่าเกิดจับกุมอะไรกันขึ้นอีกในกรุงเทพฯ ชายดิศเคยถูกจับด้วยรัฐบาลสงสัยเมื่อคราวก่อน เกรงจะถูกสงสัยอีก จนเธอออกมาถึงปีนังในวันอาทิตย์ที่ ๘ ได้เห็นหน้าจึงสิ้นวิตกในข้อนั้น

คราวนี้จะทูลถึงเรื่องที่เกิดท้อใจขึ้นอย่างหนึ่งต่อไป ด้วยเมื่อสองสัปดาหะมาแล้ว มีลูกองุ่นสดและลูกแปรขนาดใหญ่กว่าปกติมาขายในตลาดปีนัง หม่อมฉันให้ซื้อลูกองุ่นสดส่งไปถวายสมเด็จพระพันวัสสาฯ และซื้อลูกแปร์ส่งไปให้คุณโต ปรากฎว่าไปถึงวังวรดิศแต่ลูกองุ่นเพราะบรรจุหีบตรึงตะปู แต่ลูกแปร์นั้นหายเสียกลางทางเพราะใส่ชะลอมไป ต่อมาเมื่อสัปดาหะที่ล่วงแล้ว ภรรยาจมื่นเทพฯ ซึ่งออกมาเฝ้าสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ เขาจะกลับเข้าไปกรุงเทพฯ เขาเปนคนรู้จักกับหม่อมฉันมาแต่ก่อนด้วยเปนธิดาพระยาอนุสาศตร์จิตรกร หม่อมฉันจึงให้ซื้อลูกแปรฝากเขาเข้าไปให้คุณโตกับผู้อื่นอีก ได้ความว่าลูกแปรนั้นเมื่อไปกลางทางก็มีผู้ลักกินเสียอีก เปนอันสิ้นคิดมิรู้ที่จะทำอย่างไร นอกจากจะพยายามเอาไปส่งถึงสนามบินที่เมืองไทรฝากเข้าไปในเครื่องบิน แต่เครื่องบินก็ไปลงที่ดอนเมืองอาจจะถูกขโมยกินเสียที่กลางทางที่ส่งจากดอนเมืองมากรุงเทพฯ ได้เหมือนกัน จะฝากทางเรือเล่าก็หลายวันนัก ลูกแปร์คงเน่าเสียกลางทาง เปนอันขัดสนจนใจด้วยประการฉะนี้ ขอได้ตรัสบอกคุณโตด้วย

กถามรรคที่จะทูลในจดหมายนี้มีเปนอนุสนธิกับเรื่องข่าวลือว่าจะเกิดยุทธภัยในระวางยี่ปุ่นกับอังกฤษที่แหลมมลายู ซึ่งหม่อมฉันได้รับคำตักเตือนจากลูกและคนอื่นหลายรายด้วยกัน ด้วยเกรงจะเกิดภัยมาถึงปีนัง หม่อมฉันได้เขียนวินิจฉัยส่งไปให้ลูกดังสำเนาที่คัดส่งมาถวายกับจดหมายฉะบับนี้ มูลนั้นมีเท่าที่ว่าในวินิจฉัย แต่จดหมายตักเตือนหม่อมฉันมีปลาดอยู่ฉะบับ ๑ เปนของพระยาประมวลวิชชาพูล มีมาชวนให้หม่อมฉันหนีภัยกลับเข้าไปอยู่ที่กรุงเทพฯ หรือหัวหิน พระยาประมวลฯ คนนี้สังกัดอยู่ในกระทรวงธรรมการ พระองค์เจ้าธานีเคยให้หม่อมฉันยืมมาใช้เปนเลขานุการอยู่คราวหนึ่งหลายปีมาแล้ว จึงเปนผู้ที่ได้คุ้นกันมา เมื่อเขาออกจากตำแหน่งเลขานุการไปแล้ว เขาก็ยังคงประพฤติดีต่อหม่อมฉันเสมอ แม้จนได้มีวาสนาเมื่อไปเข้าคณะราษฎร ถึงได้เปนผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดีธรรมการ เขาก็ไม่เปลี่ยนแปลงอัชฌาศัยที่เคยดีกับหม่อมฉัน แต่ว่าไม่เคยมีจดหมายมาถึงหม่อมฉันเลย พึ่งมีในครั้งนี้จึงเห็นปลาดอยู่ หม่อมฉันได้เขียนตอบไปดังสำเนาที่คัดถวายมาทอดพระเนตร์ด้วย

เมื่อวานนี้หญิงพิลัยเอาหนังสือพิมพ์ Strait Echo ซึ่งออกที่ปีนังนี้มาให้หม่อมฉันดู มีตอนหนึ่งกล่าวถึงเรื่องคลองกระ เปนเนื้อความว่า คนสำคัญในเมืองไทรคนหนึ่งบอกแก่เขา ว่าเสนาบดีไทยคนหนึ่งได้บอกแก่คนสำคัญนั้นว่าเปนเรื่องจริง หม่อมฉันได้ตัดหนังสือพิมพ์ตอนนั้นมาถวายทอดพระเนตรกับจดหมายฉะบับนี้ด้วย เรื่องนี้มีมูลชอบกลอยู่ ด้วยก่อนนี้มาไม่ช้านักมีรัฐมนตรีคนหนึ่งลอบลงมาทางเมืองไทรจนถึงปีนัง (หญิงเป้าสวนรถได้เห็นตัว) และรัฐมนตรีคนนั้นได้ไปหาลูกเจ้าพระยาไทรคนหนึ่งซึ่งเปนคนทำราชการอยู่ในเมืองไทร แต่จะพูดกันอย่างไรนั้นไม่สามารถจะทราบได้ หม่อมฉันจะทูลต่อไปในทางโบราณคดีเรื่องคลองกระนี้ มีความข้อหนึ่งซึ่งดูเหมือนจะไม่มีใครรู้กันในกรุงเทพฯ เผอิญหม่อมฉันได้เคยเดินข้ามคอแหลมตรงนั้นหลายเที่ยว จึงได้ทราบความข้อนี้อยู่แก่ใจ คือแหลมมลายูตรงนั้นมีเทือกเขาสูงกั้นตลอดไปทั้งทางเหนือและทางข้างใต้ มีช่องที่ภูเขาเตี้ยเปนทางเดินจากเมืองชุมพรมาถึงลำน้ำปากจั่นที่เมืองกระ ลำน้ำนั้นตอนที่เมืองกระกว่างสักเท่าคลองบางกอกน้อยและตื้น เรือไฟแม้ขนาดเรือสติมลอนซ์จะขึ้นไปถึงได้ต่อเวลาน้ำขึ้น เปนเช่นนั้นลงมาไกลจนถึงที่ตำบลทับหลีอันเปนปลายถนนรถยนต์ที่ทำไปจากเมืองชุมพร น้ำจึงลึกพอเรือไฟขนาดย่อมขึ้นไปถึงได้ทุกเวลา ต่อนั้นลงมาน้ำค่อยลึกขึ้นและลำน้ำปากจั่นก็กว้างออกเปนลำดับ ระยะเรือไฟต้องเดินตามลำน้ำปากจั่นลงมาจากทับหลีสัก ๖ ชั่วโมง จึงออกทะเลที่หน้าเมืองระนอง หรือที่อังกฤษเรียกว่า Victoria Point ก็ลำน้ำปากจั่นนั้นเปนที่ปันแดนระวางไทยกับอังกฤษ ถ้าจะขุดคลองกระต้องอาศัยลำน้ำปากจั่นเปนทางเรือเดินขึ้นไปจนถึงเมืองกระแล้วจึงขุดคลองที่ช่องเขาข้ามมาชุมพร จำต้องขุดลำน้ำปากจั่นให้ลึกและกว้างจนเรือกำปั่นใหญ่เดินได้ การที่ขุดลำน้ำปากจั่นจำจะต้องขุดในดินแดนของอังกฤษด้วยเพราะแนวเขตต์แดนอยู่ตรงเส้นศูนย์กลางลำน้ำปากจั่น ถ้าอังกฤษไม่ยอมให้ขุดลำน้ำปากจั่นอันอยู่ในเขตต์แดนของอังกฤษ ก็เปนอันขุดคลองกระไม่ได้ ถ้าไม่ขุดที่เมืองกระ จะเลื่อนลงไปขุดข้างใต้เช่นที่เมืองระนอง ก็เปนเทือกเขาสูงทั้งนั้น เพราะความขัดข้องมันมีอยู่เช่นนี้ ฝรั่งเศสซึ่งเคยปราร์ถนาจะขุดคลองกระครั้งหนึ่งจึงได้เลิกพยายาม แต่หากกล่าวแก้ว่าจะต้องขุดตัดเทือกเขายาวนัก เรื่องนี้ทูลไว้ให้ทรงทราบพอประดับพระปัญญา

มีกรณีย์เกิดขึ้นในหมู่นี้เรื่อง ๑ ซึ่งทำให้ลำบากใจ ด้วยเมื่อสักสองสามวันมานี้ หม่อมฉันได้รับจดหมายส่งมาทางไปรษณีย์จากเมืองไซ่ง่อนฉะบับ ๑ เปนจดหมายของ ม.ร.ว.อี๋ นพวงศ (พระยาเสนาสงคราม) พวกที่หนีไปด้วยกันกับพระองค์เจ้าบวรเดช ในจดหมายก็ไม่มีความอันใดนอกจากขอให้พรปีใหม่แก่หม่อมฉัน กรมหลวงสิงห์ฯ ก็ได้รับฉะบับ ๑ ความอย่างเดียวกัน และได้ยินว่าสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ก็ได้รับฉะบับ ๑ แต่หม่อมฉันไม่ได้ทูลถาม ไม่ทราบว่าความในจดหมายจะเหมือนหรือผิดกันอย่างไร มาคิดใคร่ครวญถึงเหตุที่ ม.ร.ว.อี๋ (พระยาเสนาสงคราม) มีจดหมายมานั้น จะเปนด้วยคิดถึงเพราะเปนญาติและเคยคุ้นกันมาแต่ก่อน หรือจะมีเจตนาอย่างอื่นก็ไม่แน่ใจ ว่าส่วนตัวหม่อมฉันที่ได้รับจดหมายเช่นนั้น อุปรมาเหมือนกับมีผู้มายกมือไหว้ โดยปกติก็ควรรับไหว้ตามอัชฌาศัยผู้ดี เช่นมีจดหมายตอบขอบใจให้พร หรือแม้อย่างต่ำเพียงส่งการ์ดชื่อเขียนอักษร ส.ค.ส. ไปตอบแทนเหมือนอย่างประพฤติต่อผู้อื่นที่เขาให้พรปีใหม่ แต่รู้สึกว่าความขัดข้องมีอยู่ ด้วยฐานะของ ม.ร.ว.อี๋ (พระยาเสนาสงคราม) ในเวลานี้ ว่าตามนิตตินัยยังเปนฐานราชศัสตรู การสมัคสมานกับราชศัสตรูชื่อว่าเลมิดกฎหมาย อีกประการหนึ่ง เห็นว่าถ้ามีจดหมายหรือแม้ส่งการ์ดชื่อไป ก็จะเปนลายลักษณ์อักษรมีชื่อหม่อมฉันไปตกอยู่ที่ไซ่ง่อน อาจจะไปเปนมูลให้เกิดความสงสัยโดยเข้าใจผิด ว่าหม่อมฉันกับพวกที่ไปอยู่ไซ่ง่อนสมรู้ร่วมคิดกันอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อกรณีย์มีรูปเปนเช่นนี้ มีทางที่จะเลือกแต่ต้องทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่งคือตอบไปซึ่งเปนการทำความผิดโดยนิตตินัย หรือนิ่งเสียอันเปนการทำความผิดทางเสียอัชฌาศัย หม่อมฉันปรึกษากับกรมหลวงสิงห์ฯ เห็นพร้อมกันว่านิ่งเสียดีกว่า จึงมิได้มีตอบอย่างใดไปถึง ม.ร.ว.อี๋ (พระยาเสนาสงคราม) ด้วยกันทั้ง ๒ คน ที่หม่อมฉันทูลมานี้ก็เปนทำนอง “บอกศาลา” ให้ท่านทรงทราบไว้ด้วย จึงได้คัดสำเนาจดหมาย ม.ร.ว.อี๋ (พระยาเสนาสงคราม) ส่งถวายมากับจดหมายฉะบับนี้ให้ทรงทราบด้วย

เรื่องที่พวกมณฑลพายัพถวายเครื่อง “รดน้ำดำหัว” แก่สมเด็จพระพันวัสสาฯ และพระองค์ท่านนั้นแปลกอยู่ ด้วยเปนประเพณีมาเก่าแก่ในมณฑลพายัพ เหตุใดเจ้านายในเมืองน่านจึงพึ่งมาคิดจะถวายในปีนี้ หม่อมฉันคิดสันนิษฐานว่ามูลจะเกิดแต่ความดำริของกรรมการที่จะถวายน้ำสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระพันวัสสาฯ และพระองค์ท่านพวกเจ้าสกุล ณ น่าน และ ณ ลำปาง มีความประสงค์เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งที่จะให้ตั้งเจ้าครองเมืองทั้ง ๒ นั้น เปนเจ้าประเทศราชขึ้นเหมือนแต่ก่อน ทางบำเพ็ญเห็นจะเพื่อประโยชนที่คิดนั้น เพราะได้ผลประโยชน์มาก แต่ที่ท่านทรงรับก็ไม่เห็นเสียหายอันใด เสมอรับเครื่องบูชา ผิดกับรดน้ำอย่างประเพณีในกรุงเทพฯ

นายสมบุญ โชติจิตร เขาส่งหนังสือวิสาขะที่พิมพ์ประจำ พ.ศ. ๒๔๗๖ มาให้หม่อมฉันเล่ม ๑ พลิกอ่านดูคำนำพระราชนิพนธ์แต่งดีจริงๆ ท่านทรงแล้วหรือยัง ยังมีหนังสือดีอีกเรื่อง ๑ ซึ่งหม่อมฉันเอามาด้วยและได้พลิกอ่านดู คือหนังสือ Court ข่าวราชการ ของสมเด็จพระราชปิตุลาฯ ทรงพิมพ์แจกเปนหนังสือ ๒ เล่มสมุด มีข่าวคราวแบบแผนประเพณีควรนับถือว่าเปนตำราได้ ถ้าจะว่าเข้าชุดกับหนังสือพระราชพิธี ๑๒ เดือน ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชนิพนธ์ก็เข้าได้สนิท เปรียบหนังสือเรื่องพระราชพิธี ๑๒ เดือนเปนตัวบาลี หนังสือ Court เปนอรรถกถา แต่น่าอัศจรรย์อยู่อย่างหนึ่ง เมื่อคิดดูว่าเจ้านายที่แต่งหนังสือ Court ล้วนแต่ยังเปนเด็กหนุ่มและกำลังโซ้ด สามารถแต่งได้ถึงเพียงนั้น ดูสมดังคำพระอริยกวีวัดจักรวรรดิฯ เทศน์ที่หน้าพระศพสมเด็จพระราชปิตุลาฯ ยกเอาหนังสือ Court ขึ้นอ้างเปนอุทาหรณ์สุภาษิตโบราณ ว่า “หนามแหลมไม่มีใครเสี้ยม มะนาวกลมเกลี้ยงไม่มีใครกลึง” หนังสือ Court ของท่านคงมีอยู่แล้ว ขอให้ทรงเอามาพลิกทอดพระเนตร์เล่นในเวลาว่าง ๆ เชื่อว่าจะเพลิดเพลินพระหฤทัยได้บ้าง น่าเกณฑ์ให้พระยาเทวาธิราชอ่านด้วย แต่เมื่อมาคิดดูก็ท้อใจ อ่านในสมัยนี้จะมีประโยชน์อันใด.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. พระยาอนุสาศตร์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร)

  2. ๒. พระยาประมวลวิชาพูล (เฉลิม บุญ-หลง)

  3. ๓. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ประสูติ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๒๘ สิ้นพระชนม์ ๘ กันยายน ๒๕๑๘

  4. ๔. คณะราษฎร์ เปนคณะที่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕

  5. ๕. หม่อมราชวงศ์เทวาธิราช ป. มาลากุล

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ