วันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๔๗๗

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

เมลนี้จักแหล่นจะไม่ได้เขียนหนังสือส่งมาถวาย เพราะใครต่อใครมากวนอะไรต่ออะไรจุกจิก เลยลืมวันกำหนดเพิ่งนึกขึ้นได้ จึงรีบเขียนถวายตามแต่จะเขียนได้เพื่อไม่ให้ขาดคราว กราบทูลอะไรหวิบหวับขอประทานโทษไว้แก้ตัวทีหลัง

ลายพระหัดถ์ลงวันที่ ๒ เดือนนี้ ได้รับประทานแล้ว กระบวรแต่งพงศาวดารตามที่ตรัสอธิบายนั้น เปนแน่นอนว่าต้องดีล้ำเลิศ แต่จะต้องเปนเรื่องที่ล่วงแล้วนาน จนไม่มีใครเกี่ยวข้องที่จะโกรธแค้นอับอายแล้วจึงจะแต่งได้ถนัด

มาคิดถึงคำที่เรียกชื่อว่า “พงศาวดาร” เดิมทีเห็นจะหมายถึงแต่งบอกลำดับกษัตริย์ ว่าองค์นั้นแล้วก็ถึงองค์นั้น เสวยราชปีไร สวรรคตปีไร องค์ไหนสืบต่อเปนพระโอรสพระอนุชาองค์ไหนเท่านั้นเอง

ที่ชื่อว่า “จดหมายเหตุ” นั้น เปนจดเรื่องราวที่มีขึ้น อาจเปนเรื่องอะไรก็ได้ แต่เพราะเหตุที่เกิดขึ้นนั้น ต้องจดอ้างว่าเกิดเมื่อไรแผ่นดินไหน พงศาวดารกับจดหมายเหตุจึงไปรวมกันเข้า เปนพงศาวดารอย่างใหม่ขึ้น

ที่ชื่อว่า “พระราชประวัติ” นั้น เปนเรื่องที่กล่าวถึงพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว จำเดิมแต่พระราชสมภพจนสวรรคต

ความจริงเปนหนังสือถึงสามอย่าง ผู้แต่งไม่ได้คิดแยกแยะปนกันเลอะเทอะ แล้วก็เรียกชื่อเปนโน่นบ้างนี่บ้างจึงเสียหลักไป คิดเห็นด้วยเกล้าดังนี้

ตามทางที่ทรงพระดำริแต่งนั้น เปนจดหมายเหตุประกอบด้วยความเห็น จัดว่าเปนหนังสืออีกชนิดหนึ่ง จะเรียกว่าอะไรดีก็ยังนึกถวายไม่ทัน

พระธุระเรื่องที่ประทานหนังสือให้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ไปจัดการแปลนั้น ใช้พระงั่วไปสืบได้ความว่าท่านได้รับแล้ว คาถาภาษาสํสกฤตนั้นท่านให้พระสารประเสริฐ ไปแปล คาถาอักษรสิงหฬท่านตั้งใจจะส่งมาพร้อมกับคาถาภาษาสํสกฤต แต่พระสารประเสริฐยังไม่ได้นำมาส่งท่าน เกล้ากระหม่อมคิดว่าคาถาสํสกฤตนั้น ถ้าประทานไปให้พระพินิจเคี้ยวกับตาพราหมณ์แล้วจะดีกว่า เพราะว่าเขาเปนสะคอลาสํสกฤตจริง ๆ

ขอประทานกราบทูลข่าวกรุงเทพฯ พระยานิพัทธราชกิจ (ตาอ้น) ตายเสียแล้ว พระยาอิศรพันธ (ม.ร.ว.ชม)ก็ตายวันเดียวกัน พระยาโทณวนิกกับพระยาดำรงราชพลขันธ์กราบถวายบังคมลาบวชไปแล้ว บวชนอกวรรษาไม่ใช่บวชสามเดือนสึก

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

จดหมายเหตุอย่างที่ทรงพระดำริแต่ง ควรเรียกว่า “จดหมายวิจารเหตุ”

<น>

  1. ๑. พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป)

  2. ๒. พระยานิพัทธราชกิจ (อ้น นรพัลลภ)

  3. ๓. พระยาอิศรพันธ์โสภณ (ม.ร.ว. ชม อิศรางกูร)

  4. ๔. พระยาโทณวณิกมนตรี (วิสุทธิ์ โทณวณิก)

  5. ๕. พระยาดำรงราชพลขันธ์ (คอน บุนนาค)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ