วันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ดร

บ้านซินนามอน ฮอลล์ ปีนัง

วันที่ ๑๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๒ ศาสตราจารย์คัลเลนเฟล มากินน้ำชาที่ซินนะมอนฮอลตามที่ตกลงกัน หญิงเหลือกะโปรแกรมให้ถามเรื่องอิเหนา แกบอกอธิบายว่าเรื่องอิเหนานั้นมันเปน ๒ อย่าง เปนเรื่องที่ชาวเมืองเล่ากันมาอย่างหนึ่ง เปนเรื่องที่นักปราชญ์ทางโบราณคดีตรวจพบหลักฐานอย่างหนึ่ง เรื่องอิเหนาที่ชาวเมืองเล่าและเล่นในการมโหรศพมีต่างๆ กันหลายอย่าง จะเล่าพอเปนอุทาหรณ์แต่อย่างหนึ่งว่า เดิมมีเจ้าแผ่นดินชะวาองค์ ๑ นางประไหมสุหรีมีแต่ราชธิดา ราชกุมารมี ๔ องค์แต่เกิดด้วยมเหษีรองทั้งนั้น ราชธิดาอันอยู่ในตำแหน่งที่รัชชทายาท ไม่พอใจจะครองเมืองชะวาด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ออกทรงผนวชเปนชีในพระพุทธศาสนา เจ้าแผ่นดินชะวาเกรงว่าราชกุมารทั้ง ๔ องค์จะชิงราชสมบัติกัน จึงแบ่งอาณาเขตต์ชะวาออกเปน ๔ ประเทศ คือกุเรปัน ดาหา สิงหัดส่าหรี และกาหลัง (แต่กาหลังเรียกชื่ออย่างอื่น) ให้ราชกุมารครององค์ละส่วน ท้าวกุเรปัน มีราชกุมารคือ อิเหนา คำว่า อิเหนา แกอธิบายมูลว่าเปนชื่อเมืองอันหนึ่งในอาณาเขตต์กุเรปัน รัชชทายาทได้ส่วยเมืองนั้น จึงเรียกนามว่าเจ้าอิเหนาเหมือนอย่างปรินซ์ออฟเวลส์ ประเทศอังกฤษ (และประเพณีในประเทศพะม่า) ส่วนท้าวดาหามีราชธิดาคือ นางบุษบา (แต่เรียกอย่างอื่นในภาษาชะวาแปลว่า ดอกไม้ เหมือนกัน) ในชั้นแรกอิเหนากับนางบุษบายังมิได้ตุนาหงันกัน เมื่ออิเหนาเปนหนุ่มขึ้นจึงแต่งงานกับธิดามหาอำมาตย์ในเมืองกุเรปัน ด้วยความยินยอมของท้าวกุเรปัน ครั้นอยู่มาในกาลครั้งหนึ่งมีการประชุมญาติ ทางราชธิดาที่ไปบวชเปนชีมาประชุมด้วย เสนอความเห็นว่าควรจะให้อิเหนากับนางบุษบาอภิเศกเปนคู่กัน จะได้รวบรวมอาณาเขตต์และราชวงศ์ได้มั่นคงถาวร ญาติทั้งปวงรวมทั้งท้าวกุเรปันและท้าวดาหาเห็นชอบด้วย แต่ตัวอิเหนาไม่ยอม ด้วยยังรักภริยาเดิมและยังไม่เคยเห็นนางบุษบา พวกญาติในเมืองกุเรปันจึงแต่งให้ระเด่นคน ๑ ไปคิดฆ่าภริยาอิเหนาเสียอย่าให้กีดขวาง เมื่อระเด่นคนนั้นไปถึงนาง ไปเกิดสงสารไม่อาจที่จะฆ่าได้ เล่าความตามจริงให้นางรู้ ฝ่ายนางนั้นด้วยความรักผัวเห็นว่าตัวกีดขวางบารมีของอิเหนา ก็เอากฤตแทงตัวตาย พออิเหนารู้ว่าเมียตายก็คลั่งทิ้งบ้านเมืองเที่ยวสัญจรไปด้วยหมายว่าถ้าหาเมียใหม่ได้ดีเหมือนเมียเดิมจึงจะแต่งงานอีก ไปถึงเมืองบาหลีได้ลูกสาวเจ้าเมืองบาหลีก็ทิ้งเสีย ด้วยไม่ถูกใจเหมือนเมียเดิม เที่ยวกระจัดกระเจิงต่อไปจนถึงเมืองดาหาปลอมตัวเปนดาหลังเที่ยวเล่นหนังให้คนดู เพื่อจะเสาะหาสตรีที่ถูกใจ กิตติศัพท์ที่อิเหนาเล่นหนังดีแพร่หลายไปถึงหูนางบุษบา ๆ อยากดูหนัง ครั้นเมื่อไปดู อิเหนากับนางบุษบาเห็นกันเข้าเกิดรักกันทั้ง ๒ ฝ่าย ในที่สุดก็พากันหนีไปอยู่ในถ้ำ ครั้นภายหลังรู้ว่าใครเปนใครก็ได้อภิเศกอยู่เปนสุขสืบมา แต่เดิมพวกฮอลันดาเห็นว่าเรื่องอิเหนาเล่ากันหลายอย่างนัก ถือว่าเปนนิทานในพื้นเมือง ก็ไม่ถือเปนหลักฐานในทางพงศาวดาร มาจนเมื่อสัก ๒๐ ปีมานี้ฮอลันดาตั้งสภาโบราณคดีขึ้นตรวจค้นเรื่องพงศาวดารชะวา ได้หลักฐานโดยทางภูมิศาสตร์บ้าง ด้วยอาศัยโบราณวัตถุบ้าง จดหมายเหตุของจีนบ้าง ได้เรื่องเปนแน่นอน แต่ยังเปนกระท่อนกระแท่นอยู่ หม่อมฉันจะทูลถามเค้าที่แกบอกอธิบายต่อไปนี้

๑. มีหลักฐานทั้งปวงประกอบกันให้รู้แน่ว่าชาวอินเดียกับจีนได้ไปมาค้าขายถึงกันโดยทางทะเลตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เรือที่ใช้ในสมัยนั้นยังเป็นแต่เรือเล็ก ไม่สามารถแล่นข้ามทะเลใหญ่ ต้องอาศัยแล่นเลียบเกาะไปมา จึงเปนเหตุให้ชาวอินเดียมาตั้งสถานีเนื่องในการค้าขายกับเมืองจีนขึ้นที่เกาะสุมาตรา และเกาะชะวา และพากันมาตั้งมากขึ้นโดยลำดับ จนมีอำนาจได้ปกครองบ้านเมือง นำพระพุทธสาสนามาประดิษฐานที่เกาะสุมาตราก่อน ส่วนที่เกาะชะวานั้น พวกชาวอินเดียนำสาสนาพราหมณ์ไปประดิษฐานก่อน.

๒. ในสมัยเมื่อ พ.ศ. ราว ๑๓๐๐ เกาะสุมาตรากับชะวาต่างมีพระเจ้าราชาธิราช ที่รับอารยธรรมจากอินเดียปกครองเปนอิสสระแก่กัน ที่เกาะสุมาตราเรียกว่า อาณาเขตต์ศรีวิชัย ที่ชะวาเรียกว่า ชะวา มาแต่เดิม ทั้ง ๒ ประเทศนี้มักเกิดรบพุ่งกันด้วยชิงอำนาจและผลประโยชน์ในทางทะเล เพราะเรือที่ไปมาค้าขายในระวางอินเดียกับเมืองจีน ต้องอาศัยเลียบเกาะสุมาตราและเกาะชะวาทั้งไปมาดังกล่าวมาแล้ว ประเทศสุมาตราและชะวาไหนมีกำลังเรือรบในท้องทะเลมาก ก็อาจจะกันเรือค้าขายให้ไปอาศัยเมืองของตน ได้ประโยชน์ในการซื้อขายและภาษีอากรมากขึ้น จึงแย่งอำนาจกัน.

๓. ปรากฎในจดหมายเหตุจีนว่าราว พ.ศ. ๑๕๐๐ ราชทูตเมืองศรีวิชัย ซึ่งไปเจริญทางพระราชไมตรีต้องไปค้างอยู่เมืองจีน เพราะเมืองศรีวิชัยเกิดรบพุ่งกับเมืองชะวา ไม่สามารถจะกลับบ้านเมืองของตนได้ ครั้นต่อมาอีกสัก ๖-๗ ปี ในจดหมายเหตุจีนกล่าวว่าราชทูตเมืองศรีวิชัยกลับไปยังบ้านเมืองของตน ข้อนี้เปนเหตุให้ลงเนื้อเห็นว่าการสงครามซึ่งเกิดขึ้นในครั้งนั้น คงเปนด้วยพวกเมืองชะวาไปตีเมืองศรีวิชัย ทูตศรีวิชัยจึงไม่กล้ากลับ แต่พวกชะวาตีเมืองศรีวิชัยไม่ได้ ต้องเลิกทัพกลับมา เพราะเลิกสงครามกัน ทูตศรีวิชัยจึงกลับมาได้โดยสดวก

๔. มีศิลาจารึกค้นพบในชะวาแผ่น ๑ ตัวอักษรที่จารึกยังดีบ้างกระเทาะหรือลบเลือนเสียบ้าง แต่พออ่านได้ความว่าต่อมามีข้าศึกต่างประเทศ (ข้าศึกมาแต่ไหน ตัวอักษรกระเทาะรู้ไม่ได้) แต่สันนิษฐานว่าพวกศรีวิชัยนั้นเอง เพราะรบพุ่งขันแข่งอำนาจกันใน ๒ ประเทศนั้นมาช้านาน) มาตีได้เมืองชะวา รื้อทำลายบ้านเมืองและจับพวกราชวงศ์ฆ่าเสียหมด มีเหลืออยู่แต่ราชธิดาองค์ ๑ ซึ่งได้อภิเศกเปนมเหษีของพระเจ้าอุทธยาน ครองเมืองบาหลีอยู่ห่างไกล จึงรอดอยู่ได้ ทั้งได้ฐานะเปนรัชชทายาทของเมืองชะวา เปนเหตุให้พระเจ้าอุทธยานเมืองบาหลี ยกกองทัพมายังเกาะชะวา เกลี้ยกล่อมผู้คนพื้นเมืองให้ช่วยกันรบพุ่งขับไล่ข้าศึกอยู่ถึง ๒๕ ปีจึงได้เมืองชะวาคืน เมื่อได้เมืองคืนแล้วอภิเศกราชบุตร์ ทรงนามว่า อลังการ ที่เกิดด้วยนางมเหษีให้อยู่ครองเมืองชะวาต่อมา

๕. พระเจ้าอลังการมีราชธิดาด้วยนางประไหมสุหรีองค์ ๑ ชื่อว่า คิริสุจี และมีราชกุมาร ๒ องค์เกิดด้วยมเหษีรอง นางราชธิดานั้นไม่ปราร์ถนาจะครอบบ้านครองเมือง ทูลลาออกบวชเปนรูปชีอยู่ในที่สงัด พระเจ้าอลังการจึงให้แบ่งอาณาเขตต์ออกเปน ๒ ภาค คือดาหาภาค ๑ กุเรปันภาค ๑ ให้ราชบุตรทั้ง ๒ ครององค์ละภาค ส่วนพระองค์เองก็ออกทรงผนวช แต่คอยดูแลว่ากล่าวราชกุมารทั้ง ๒ องค์ไม่ให้เกิดวิวาทกัน ก็อยู่เปนสุขเรียบร้อยมาจนตลอดชนมายุของพระเจ้าอลังการ ต่อมาท้าวดาหามีราชกุมารชื่อ ระเด่นมาศปันหยี กูดาวาเหงปาตี (คืออิเหนา) เปนรัชชทายาท ท้าวกุเรปันมีราชธิดาชื่อ สการตาจี (คือนางบุษบา) เปนรัชชทายาท พระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๒ ประเทศจัดการอภิเศกเปนคู่กัน ต่อมาอิเหนาได้ครองเมืองเมื่อราว พ.ศ. ๑๖๐๐ เรียกนามในศิลาจารึกว่า พระเจ้ากาเมศวร อยู่ด้วยกันกับนางบุษบา เมืองดาหาและกุเรปัน จึงได้กลับรวมกันเปนประเทศเดียวอย่างเดิม ส่วนเมืองสังหัดส่าหรีและเมืองกาหลังนั้น ว่าเปนเมืองเกิดขึ้นต่อภายหลังสมัยอิเหนามาช้านาน. โครงเรื่องอิเหนาตามทางพงศาวดารเปนดังกล่าวมานี้.

เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๗ หม่อมฉันได้ไปดูศาสตราจารย์คัลเลนเฟลขุดขุมทรัพย์ก่อนประวัติศาสตร์ อยู่ข้างสนุกมาก จะเอาไว้ทูลรายงานในจดหมายฉะบับอื่นต่อไป

ขอทูลเรื่องสร้อยชื่อ วัดราชประดิษฐ์ ซึ่งทรงปรารภมาในลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๘ เดือนนี้ ตามที่มาปรากฏแก่ใจขึ้นเมื่อส่งจดหมายถวายไปแล้ว ได้ไปพลิกดูในคำประกาศตั้งกรมเจ้านาย เมื่อทรงตั้งเสด็จพระอุปัชฌาย์เปน กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ ในท้ายประกาศมีว่า “ให้ทรงอิสสริยยศเปนประธานาธิบดี ในธรรมยุติกะนิกายกะสังฆมัธยม ปวรนิเวศาธิคณะ” ดังนี้ ชื่อที่เรียกว่า ธรรมยุติกา เปนพระราชนิพนธ์ของทูลกระหม่อม แต่สงสัยอยู่ว่าจะไม่ได้ยกเอาออกมาใช้เรียกในทางราชการ เพราะได้ยินแต่เรียกกันว่า คณะวัดบวรนิเวศ เปนพื้น หม่อมฉันอยากจะหาหนังสือราชการครั้งรัชชกาลที่ ๔ ตรวจดูว่าจะมีที่ใช้คำว่า พระสงฆ์ธรรมยุติกา บ้างหรือไม่ หนังสือที่หม่อมฉันมีอยู่ในปีนังตรวจดูไม่พบ ให้นึกสงสัยว่าที่ใช้คำเรียกคณะสงฆ์ว่าธรรมยุติ และมหานิกาย จะเกิดใช้ในทางราชการต่อในรัชชกาลที่ ๕ เพราะในรัชชกาลที่ ๔ นิมนต์พระในการพระราชพิธียังรวมกันดังได้ทูลแล้วเว้นแต่ในเฉลิมพระชันษากับมานึกขึ้นได้อีกอย่างหนึ่ง คือ คณะปรกทรงผนวชพระเจ้าลูกเธอก็มี ๓ ครั้งเท่านั้น นาคอื่นที่บวชในวัดพระแก้ว คณะปรกยังปนกันทั้ง ๒ นิกายมาจนรัชชกาลที่ ๕ คิดเดาเหตุที่จะเปลี่ยนสร้อยชื่อวัดราชประดิษฐ์เห็นอีกอย่างหนึ่ง คือเมื่อสร้างวัดราชบพิธ สร้างเจริญรอยวัดราชประดิษฐ์หมดทุกอย่าง จนกระทั่งมหาสีมาและชื่อวัดก็ให้คล้ายกัน ชะรอยจะคิดเปลี่ยนสร้อยชื่อวัดราชประดิษฐ์เป็นสถิตย์ธรรมยุติการาม เอาสร้อยเดิมของวัดราชประดิษฐ์ไปใช้วัดราชบพิธ ว่าสถิตย์มหาสีมารามจะเป็นได้ด้วยเหตุนี้ดอกกระมัง แต่จะมีเหตุอย่างไรให้กลับความคิดจึงมิได้ใช้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ป.ล. เมื่อเขียนจดหมายฉบับนี้แล้ว ได้ทราบว่าพระยานรเทพภักดีจะกลับเข้าไปกรุงเทพฯ ในวันที่ ๒๐ เป็นโอกาศหม่อมฉันจึงฝากจดหมายฉบับนี้กับก้อนดินแดง อันคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ชอบฝนทาตัวมาถวาย ด้วยเป็นห่วงว่าก้อนดินแดงนั้น จะส่งทางไปรษณีย์จะไปหายเสีย ขอจงทรงรักษาไว้พลางคอยทอดพระเนตรอธิบายในจดหมายฉบับหน้า

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ