วันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๔๗๗

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัดถ์ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ได้รับประทานทราบเกล้า ฯ ทุกประการแล้ว ข่าวหม่อมเจ้านนทิยาวัตรหมั่นกับหม่อมเจ้าสุวภาพเพราพรรณนั้น รู้สึกว่าเปนการสมควรที่สุดแล้ว เพราะอยู่ในโกโลนีเดียวกัน เปนความสดวกทุกประการ

เรื่องต้นประดู่ที่ปินังออกดอกบ่อยๆ นั้น เห็นจะเปนด้วยได้น้ำมาก พวกพ้องที่ออกมาเที่ยวปินังเขากลับไปบอกว่าอากาศที่ปินังชื้นมาก ลางทีจะเปนเพราะเหตุนั้นต้นประดู่จึงออกดอกไม่เปนฤดู เกล้ากระหม่อมเคยปลูกไว้ที่บ้านท่าช้าง สังเกตว่าออกดอกทุกปี ปีละครั้ง ทางแขวงเหนือจะอย่างไรไม่ทราบลางทีจะออกดอกฉะเพาะแต่ปีที่ฝนฟ้าบริบรูณ แผ่นดินแขวงเหนือเปนที่สูงคงแห้งผิดกว่ากรุงเทพฯ

เรื่องโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ เกล้ากระหม่อมเคยเห็นเขาลงโครงการในหนังสือพิมพ์มาก่อน ได้อ่านอย่างลวก ๆ โดยมิได้เอาใจใส่ก็เห็นว่าความคิดพิสดารมาก แต่รู้สึกว่าที่สุดแห่งผลคงจะได้ละคอนกำ ๆ แบ ๆ เปนอย่างสูงสุด เมื่อมาเห็นรายละเอียดในถ้อยคำหลวงบริบาลข้อนข้างตกใจ ทำไมจึงเอาโรงเรียนละคอนไปแซกเข้าในพิพิธภัณฑสถาน ดูเปนการไม่เหมาะเลย แล้วได้ยินว่ามีการเปิดโรงเรียนเมื่อวันที่ ๑๗ เดือนนี้ มีการไหว้ครูเปนประเดิมดูก็แปลกจากประเพณีเก่า ธรรมเนียมแต่ก่อนปี่พาทย์เขาก็ไหว้ครูเมื่อทำโหมโรงได้จบ คือว่าตีเปนพอที่จะออกงานอย่างเลวเช่นสวดมนต์เย็นฉันเช้าได้แล้ว ส่วนละคอนเขาก็ไหว้ครูเมื่อรำเพลงช้าเพลงเร็วได้แล้ว คือว่ารำเปนพอที่จะออกโรงเปนเสนากำนัลได้ ถ้าไหว้ครูแต่เริ่มเรียนเรียนไม่ได้ก็เปนกินกาว โบราณเขาก็มีความคิดอยู่บ้าง

ปัญหาซึ่งตรัสปรึกษาเรื่องสร้างพระบรมรูป ๔ รัชชกาลนั้นยากยิ่งหนัก ขอประทานให้การเท่าที่รู้ที่จำได้ก่อน ตอนแรกจำได้ว่าตั้งการปั้นหุ่นพระบรมรูปทั้ง ๔ พระองค์นั้น อยู่ที่ศาลารายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังข้างตะวันออกริมทางเสด็จขึ้นพระอุโบสถ ตอนที่สองจำได้ว่า เสด็จพระราชดำเนินไปในการกาไหล่พระบรมรูปที่โรงหล่อ อันตั้งอยู่ที่ศาลาสหทัยเดี๋ยวนี้ เห็นเขาเอาเหล็กร้อยพระองค์แต่พระบาททลุออกทางพระเศียรเปนแกนนอนพระบรมรูปเรียงกันผันพระเศียรไปทางเหนือ ที่หัวแกนท้ายแกนปักหลักรับ ที่ท้ายแกนมีกงพัดจับหมุนได้ ตรงกลางก่อเปนเตาที่ติดไฟ ทรงปฏิบัติพระราชกิจอะไรบ้างจำไม่ได้ จำได้แต่เขาถือกงพัดหมุนพระบรมรูปไปช้า ๆ เหมือนย่างหมูหัน ดูสนุกจึงจำได้แม่นยำ ตอนที่สามจำได้ว่าพระบรมรูปนั้นตั้งอยู่บนพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ที่ในประธานยอดปราสาท เรียงแต่ตะวันออกไปตะวันตกผันพระพักตร์ไปทางเหนือ เคยขึ้นไปบูชาถวายบังคมหลายครั้ง ตอนที่สี่จำได้ว่าย้ายไปไว้พระที่นั่งศิวาลัย ตั้งเรียงแต่เหนือไปใต้ผันพระพักตร์ไปทิศตะวันออก (ตอนนี้พบร่างหมายรับสั่ง ได้คัดมาถวายด้วย) ตอนที่ห้าจำได้ว่าย้ายไปไว้ปราสาทพระเทพบิดรเมื่อรัชชกาลที่ ๖ (ตอนนี้มีหมายกำหนดการได้ส่งมาถวายด้วยแล้ว) ตำแหน่งที่ตั้งนั้นตั้งพระบรมรูปรัชชกาลที่ ๑ ไว้กลางปราสาท ในซุ้มหลังตั้งพระบรมรูปรัชชกาลที่ ๒ ไว้เหนือรัชชกาลที่ ๔ ไว้ใต้เคียงกัน ในซุ้มด้านเหนือตั้งพระบรมรูปรัชชกาลที่ ๓ ในซุ้มด้านใต้ตั้งพระบรมรูปรัชชกาลที่ ๕ ซึ่งทำมาแต่ประเทศยุโรป ตอนที่หก จำได้ว่าได้ย้ายตำแหน่งที่ตั้งเมื่อรัชชกาลที่ ๗ ด้วยมีพระบรมรูปรัชชกาลที่ ๖ เพิ่มขึ้นมา (ตอนนี้ก็มีหมายกำหนดการอันได้ส่งถวายมาด้วยเหมือนกัน ในนั้นบอกที่ตั้งซึ่งย้ายใหม่ไว้ ชัดเจนแล้ว) สิ้นคำให้การที่จำได้เพียงเท่านี้

เหตุใดจึงสร้างพระบรมรูปขึ้นนั้นไม่เคยทราบเลย จะคิดเดาไปก็มีแต่จะผิด มีเค้าอยู่นิดที่ทรงสร้างเมื่อแรกเสวยราชย์ กับมีพระบรมรูปทูลกระหม่อมองค์ลงสีเปนอย่างอยู่ น่าจะเปนทูลกระหม่อมทรงพระราชดำริไว้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงทรงขมักเขม้นที่จะทำสนองพระเดชพระคุณ ให้สำเร็จสมพระราชประสงค์ นึกถึงตัวบุคคลอันควรแก่ที่จะสอบถามดู พระยามหานิเวศนก็มาผุดขึ้นในห้วงแห่งความคิดอีก เพราะได้ทราบว่าปู่ของพระยามหานิเวศนเปนคนหนึ่งซึ่งได้รับพระราชการให้เปนผู้ดูแลการปั้นพระบรมรูป เพราะท่านเปนผู้ได้เห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้ามา พระยามหานิเวศนคงจะได้ฟังเรื่องอันปู่ของท่านได้เกี่ยวข้องมาบ้างไม่มากก็น้อย จึงไปหาถามดูก็ได้ความจริง ๆ ว่าเปนพระราชดำริของทูลกระหม่อม โดยพระราชประสงค์จะทรงสร้างขึ้นไว้สการบูชา ในฐานเปนพระเทพบิดรแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมทีทรงพระราชดำริจะตั้งในวิหารยอดรวมกับพระเทพบิดรกรุงศรีอยุธยา แต่ภายหลังทรงพระราชดำริว่าคับแคบหนัก จึงทรงสร้างพระพุทธปรางคปราสาทขึ้น โดยพระราชประสงค์จะตั้งพระบรมรูป แต่พระพุทธปรางค์ยังไม่แล้วก็ยังมิได้สร้างพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงทรงสร้างต่อตามพระราชดำริ แต่ในที่สุดท่านออกตัวว่าท่านทราบอย่างนี้ลางทีจะผิดไปก็ได้ ควรสอบถามดูให้หลายๆ ปาก

จะไปถามใครที่ไหนอีกเล่า ตายกันไปหมดแล้ว เมื่อพิจารณาความตามที่ท่านว่า ตอนพระราชปรารภที่จะสร้างเปนพระเทพบิดรแห่งกรุงรัตนโกสินทรนั้น เห็นงามว่าจะเปนการถูกแน่ แต่ตอนที่ว่าจะเอาไว้ที่พระพุทธปรางคปราสาทนั้นสงสัยว่าจะเข้าใจผิด ถ้าเปนเช่นนั้นจริงสมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์ต้องทรงทราบ ต้องปฏิสังขรณพระพุทธปรางคปราสาทขึ้นเปนที่ไว้ เหตุไฉนจึงไม่ทำดังนั้น กลับไปสร้างพระที่นั่งศิวาไลยมหาปราสาทขึ้นเปนที่ไว้

เมื่อคิดมาถึงเพียงนี้ นึกขึ้นมาได้ว่ามีปราสาทยอดปรางค์องค์หนึ่งอยู่ริมทางระหว่างพระพุทธรัตนสถานไปพระกุฏิ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระผนวชเคยขึ้นไปเล่นไปนอนบนนั้น เปนปราสาทที่ทำค้างยังไม่แล้ว พื้นเปนฝุ่น ๆ เอาเตียงเหล็กพับขึ้นไปกางนอน ฝ่าพระบาทจะทรงจำได้หรือไม่ ดูเหมือนเรียกปราสาทพระรูป ถ้าความข้อนี้มิใช่ละเมอ จะต้องเปนการแน่ว่าพระราชดำริเดิมจะไว้พระบรมรูปที่นั้น หากเปนที่ข้างในไม่สดวกที่ข้าราชการจะเข้าถวายบังคมจึงสร้างพระที่นั่งศิวาไลยขึ้นเปนที่ไว้ใหม่ ปราสาทเก่านั้นก็รื้อทิ้งไป

การสร้างพระบรมรูป ๔ รัชชกาลซึ่งพยายามจะทำให้เหมือนพระองค์นั้นเอาอย่างฝรั่งแน่นอน เพราะการสร้างรูปอุททิศแต่ก่อนมา ย่อมทำเปนพระพุทธรูปและเทวรูป ที่มาเปลี่ยนแปลงเปนสร้างรูปคนโดยตรงนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไร เกล้ากระหม่อมได้เคยค้นหามาก่อนแล้ว พบรูปที่สร้างก่อนพระบรมรูป ๔ รัชชกาล คือ

๑ รูปสมเด็จเจ้าแตงโม ที่วัดใหญ่เพ็ชรบุรี

๒ “รูปสมเด็จพระสังฆราช วัดราชสิทธาราม” ในหอพระสุลาไลย

๓ “รูปสมเด็จพระพุทธโฆษา วัดโมลีโลกยสุธาราม” ในหอพระสุลาไลย

๔ รูปท่านขรัวตอบ ที่วัดราชสิทธิ

๕ รูปสมเด็จพระพุทธโฆษา ที่วัดโมลีโลกย์

๖ รูปสมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน ที่วัดมหาธาตุ

๗ รูปเจ้าพระยาบดินทร์ (สิงห์) ที่เมืองเขมร

ปรากฎเข้ามาสู่ความรู้เพียง ๗ รูปเท่านี้ รูปสมเด็จเจ้าแตงโมนั้น ฝ่าพระบาทได้ทรงทราบมาว่าจีนทำ ต้องคัดออกเสียจากบัญชีว่ามิใช่ของไทย ถัดลงมาก็รูปพระมหาเถรทั้งสองในหอพระสุลาไลย รูปทั้งสองนั้นทำเปนรูปสมมต มิได้ตั้งใจจะทำให้เหมือนพระองค์ ต้องเข้าใจว่ารูปเล็กทั้งสองนี้ทำก่อนรูปใหญ่ที่วัดราชสิทธิและวัดโมลีโลกย์ เพราะทำสำหรับบรรจุพระอัฐิ ต้องทำในเวลาใกล้ที่สุดกับเมื่อสิ้นพระชนม์ รูปใหญ่ที่วัดราชสิทธินั้นทำตั้งใจจะให้เหมือนพระองค์แต่ไม่มีอักษรจารึก ส่วนรูปที่วัดโมลีโลกย์นั้นมีจารึก ว่าโปรดเกล้าฯ ให้หลวงกลมาวิจิตรและอาจารย์ฉิมจำลอง ทำเปนรูปจะให้เหมือนองค์เหมือนกัน ลงศักราช ๒๓๘๖ รูปที่วัดมหาธาตุก็ทำตั้งใจจะให้เหมือนพระองค์ มีจารึกว่าโปรดเกล้าฯ ให้พระเทพรจนาปั้น ลงศักราช ๒๓๘๗ ได้คัดคำจารึกถวายมาด้วยแล้วทั้งสองแห่ง ตกเปนอันว่าการตั้งใจทำรูปคนให้เหมือนตัวเปนอนุสสรณ์นั้น เกิดขึ้นในรัชชกาลที่ ๓ แต่อยู่ในที่เร้น เห็นจะไม่ได้เปนของนำให้ทำพระบรมรูป ๔ รัชชกาลตาม รูปเจ้าพระยาบดินทร์ไม่ได้เห็น

ทีนี้จะกล่าวด้วยพระบรมรูปอันเศษ พระบรมรูปทูลกระหม่อม องค์ที่หล่อด้วยทองเหลืองตามที่ตรัสค้างถึงนั้น ไม่เคยเห็นเลย เคยเห็นแต่ฉลักด้วยศิลาขาวเปนพระบรมรูป Bas relief มีลักษณอย่างเดียวกับที่ตรัสอ้าง ขนาดแผ่นศิลาสูงสัก ๓๕ เซนติเมตร มีกรอบหุ้มกำมะหยี่ ข้างหลังมีเครื่องค้ำกางตั้งได้ จำได้ว่าพระบรมรูปองค์นั้นแกะดีอย่างยิ่ง แต่หายไปไหนไม่ทราบ นายเฟโรจีอยากทำพระบรมรูปทูลกระหม่อม ขอให้เกล้ากระหม่อมช่วยหาตัวอย่างที่ดีให้ เกล้ากระหม่อมก็นึกถึงพระบรมรูปศิลาองค์นั้น แต่ถามใครก็ไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ไหน แต่ไม่ใช่ฝันแน่ มีคนที่เคยเห็นรับรองอยู่อีกหลายคน

พระบรมรูปทูลกระหม่อมองค์ที่ปั้นเท่าพระองค์ลงสี ซึ่งเดี๋ยวนี้อยู่ที่เพชรบุรีนั้น เดิมทีได้เห็นตั้งอยู่ที่หอเสถียรธรรมปริตข้างประตูแถลงราชกิจก่อน แล้วเห็นไปตั้งอยู่ในหอราชพงศานุสรในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เห็นจะย้ายไปเมื่อรื้อหอเสถียรธรรมปริต แล้วก็หายไป เพิ่งไปพบที่พระที่นั่งเวไชยันตวิเชียรปราสาท เมื่อไปเที่ยวที่นั้นต้นปีกลายนี้เอง ไม่เคยทราบเลยว่าใครปั้น เพิ่งจะได้ยินว่าหลวงกลมาพิจิตรเปนผู้ปั้นเมื่อตรัสบอกคราวนี้ เกล้ากระหม่อมรู้จักหลวงกลมาพิจิตรสองคน คนหนึ่งเขาขึ้นชื่ออยู่ในรัชชกาลที่ ๓ รู้จักแต่ฝีมือ ไม่ทราบชื่อเดิม อีกคนหนึ่งรู้จักตัวในรัชชกาลที่ ๕ แต่ก็ไม่ทราบชื่อตัวเหมือนกัน เพิ่งตายเมื่อเร็วๆ นี้เอง หนังสือพิมพ์บางกอกไตม์ลงว่าอายุ ๙๕ ปี คิดดูเมื่อสิ้นรัชชกาลที่ ๔ หลวงกลมาพิจิตรคนหลังนี้มีอายุได้ ๒๙ ปี ทันที่จะปั้นพระบรมรูปองค์นั้นก็ได้ แต่เกล้ากระหม่อมขอรับประกันว่าปั้นไม่ได้เปนอันขาด เปนคนที่งุ่มง่ามเต็มทน ไม่เคยมีชื่อเสียงร่ำลือมาเลย แม้แต่ปั้นของที่เปนหญ้าปากคอกของช่าง เช่นหน้าโขนเปนต้น ก็ยังแพ้พวกทำขายหากินตามท้องตลาด ถ้าหลวงกลมาพิจิตรเปนคนปั้นจริงแล้ว จะต้องเปนคนก่อน ไม่ใช่คนหลัง

ได้ส่งสำเนาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยเชิญพระบรมรูปถวายมาด้วยแล้ว

ทราบจากหญิงมารยาตรว่าฝ่าพระบาทจะเสด็จไปชะวาวันที่ ๗ มิถุนายน เสด็จไปโดยสดวกประสพสนุกสุขสำราญพร้อมด้วยพระญาต ปราศจากอุปสรรคทั้งปวง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

The Ministry of Defence announces the death of Luang Kālmā Bichitr, on the retired list, from lom, at the great age of ninety-five.
  1. ๑. หม่อมเจ้านนทิยาวัต สวัสดิวัตน์

  2. ๒. หม่อมเจ้าสุวภาพเพราพรรณ วุฒิชัย

  3. ๓. ต้นตระกูล สิงหเสนี

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ