วันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ขอทูลสนองความในลายพระหัตถ์ก่อน

พระราชมณเฑียรแต่โบราณ ใช้แบบก่อฐานถมดินเปนชาลากว้างใหญ่ แล้วปลูกพระที่นั่งเครื่องไม้บนชาลาเหมือนกันทุกประเทศเหล่านี้ ตั้งแต่เมืองพะม่าไปจนเมืองเขมร ในเมืองไทยของเรานี้ฐานพระราชมณเฑียรพระร่วงที่เมืองสุโขทัยก็ยังปรากฏอยู่ แต่ก่อนนั้นขึ้นไปยังมีที่เมืองนครปฐมอีกแห่งหนึ่งเรียกกันว่า เนินปราสาท ก็เปนรอยฐานถมดินปรากฎอยู่ในบริเวณพระราชวังสนามจันทร ราชมณเฑียรในนครธมก็เปนเช่นเดียวกัน พระราชมณเฑียรที่ทำเปนตึก หม่อมฉันสันนิษฐานว่าจะเกิดขึ้นในรัชชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คือพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ เปนองค์แรกทำเปนตึกสองชั้นตามความคิดฝรั่ง นอกจากนั้นไปมีพระที่นั่งตึกหลายองค์ยังปรากฏอยู่ที่เมืองลพบุรี กับที่ธารเกษม พระพุทธบาท และที่พระนครหลวง หม่อมฉันก็เข้าใจว่าสร้างครั้งสมเด็จพระนารายน์มหาราชทั้งนั้น สร้างแทนพระที่นั่งเครื่องไม้ของเดิมบ้าง สร้างใหม่บ้าง และยังมีชื่อเรียกในพงศาวดารว่า “ตำหนักตึก” ที่กรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงโยธาเทพ เสด็จอยู่ในพระราชวัง ก็ส่อให้เห็นว่าเปนของใหม่ ตำหนักที่วัดหันตรา ตำหนักที่บ้านคำหยาดแขวงเมืองอ่างทอง ก็เปนของสร้างภายหลังแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราชทั้งนั้น หม่อมฉันเห็นว่าจะลงความเห็นเปนเด็ดขาดว่าเมื่อก่อนรัชชกาลสมเด็จพระนารายน์มหาราช พระราชมณเฑียรและตำหนักรักษาเปนเครื่องไม้ทั้งนั้นก็เห็นจะได้ เพราะเหตุใดเมื่อสร้างปราสาทเปนตึกแล้วจึงไม่สร้างพระราชมณเฑียรที่ประทับเปนตึก วิสัชนาข้อนี้หม่อมฉันมาประจักษ์ใจเมื่อไม่ช้านัก วันหนี่ งหม่อมฉันมีกิจไปหาพระอมรโมลีเมื่อยังเปนเปรียญอยู่วัดบวรนิเวศน ฯ เธอย้ายไปอยู่กุฎิฝากระดานที่คณะรังษี หม่อมฉันถามขึ้นว่ากุฎิฝากระดานกับกุฎิตึกที่คณะแดงวัดบวรนิเวศนฯ รู้สึกผิดกันอย่างไรบ้าง เธอบอกว่าอยู่กุฏิฝากระดานสบายกว่าอยู่กุฏิตึก เพราะกุฏิตึกชักร้อนอึดอัดและมักชื้นด้วย แต่กุฏิฝากระดานมีทางลมเดินได้สดวกสบายดี หม่อมฉันก็นึกในขณะนั้นว่าคนโบราณคงรู้สึกว่าอยู่เรือนไม้สบายกว่า จึงไม่สร้างพระราชมณเฑียรเปนตึก

เรื่องหลวงพิบูลย์ถูกยิงเมื่อวันเสารที่ ๒๓ นั้น ทราบมาถึงปีนังแต่วันอาทิตย์ที่ ๒๔ ด้วยมีผู้ส่งข่าวโทรเลขบอกมาถึงหนังสือพิมพ์ Sunday Gazette แต่ในค่ำวันเสาร์นั้น พอวันอาทิตย์เช้าหนังสือพิมพ์ก็บอกข่าว หม่อมฉันเห็นหนังสือพิมพ์ตกใจ ไม่รู้ว่าจะมีเหตุการณ์อย่างไรและใครเปนผู้ยิง รถไฟมาถึงตอนเย็นวันนั้นให้คนไปสืบก็ไม่ได้ความ เพราะรถไฟออกก่อนเกิดเหตุสัก ๓ ชั่วโมง ถึงวันอังคารพวกผู้ฟังวิทยุบอกว่าผู้ยิงชื่อเพิ่ม (หรือพุ่ม) นามสกุล ไทยแท้ แต่ก็ไม่รู้ว่าเปนคนชั้นไหนมาแต่ไหน จนรถเมล์มาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ เห็นหนังสือพิมพ์กรุงเทพ ฯ จึงได้ทราบรายการ

กถามรรคที่หม่อมฉันจะทูลเสนอในสัปดาหะนี้ จะทูลเรื่องทหารเกณฑ์หัดอย่างยุโรปต่อไป เปนอนุสนธิกับจดหมายสัปดาหะก่อนตามที่ได้ทูลสัญญาไว้ ชื่อกรมทหารต่างๆ ที่ปรากฏในรายงานของพระยาพิชัยสงคราม (อ่ำ) ๙ กรม เปนทหารรักษาพระองค์ ๓ กรม จะทูลวินิจฉัยเรื่องทหารรักษาพระองค์นั้นก่อน

หม่อมฉันเคยได้ยินมาว่าคนกรมรักษาพระองค์นั้น เดิมเปนตัวเลกข้าในกรมของพระเจ้าแผ่นดินเมื่อก่อนเสวยราชย์ เมื่อเสวยราชย์จึงโอนมาตั้งเปนกรมรักษาพระองค์เพราะเปนข้าเก่าไว้ใจได้ แต่ประเพณีที่โอนเลกข้าหลวงเดิมมาเปนกรมรักษาพระองค์ จะเกิดเมื่อใดดูเปนปัญหาอยู่ ด้วยในทำเนียบศักดินาพลเรือนก็มีกรมรักษาพระองค์ซ้ายขวา ซึ่งหลวงกันภยุบาทว์และหลวงราชเสวกเปนเจ้ากรม ส่อให้เห็นว่าจะมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว ทราบแต่เมื่อโอนข้าหลวงเดิมมาเปนรักษาพระองค์ในรัชชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร ว่าเมื่อเข้ากระบวรแห่เสด็จโปรด ฯ ให้ถือปืนทองปราย คือปืนเล็กทำด้วยทองเหลืองปากกระบอกบานสำหรับยิงลูกปราย (ตัวอย่างมีอยู่ในพิพิธภัณฑสถาน) ถึงรัชชกาลที่ ๔ เมื่อโอนเลกข้าหลวงเดิมมาเข้ากรมรักษาพระองค์โปรด ฯ ให้ถือปืนปลายหอกจึงเกิดชื่อเรียกว่า “กรมรักษาพระองค์ปืนทองปราย” และ “กรมรักษาพระองค์ปืนปลายหอก” ขึ้นด้วยประการฉะนี้ ดูเหมือนจะปรากฏอยู่ในริ้วกระบวรแห่เลียบพระนครรัชชกาลที่ ๔ ความที่กล่าวมานี้สมกับที่ในบัญชีเรียกอีกกรมหนึ่งว่า “รักษาพระองค์ข้าหลวงเดิม” ความหมายว่าโอนเลกข้าหลวงเดิมของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงไปเปนกรมรักษาพระองค์ตามแบบรัชชกาลก่อน แต่ไม่ได้จัดอาวุธอย่างใดให้ถือเปนที่สังเกต จึงเรียกว่ากรมรักษาพระองค์ข้าหลวงเดิม เข้าใจว่ากรมรักษาพระองค์นอกจากพวกยืนเฝ้าพระทวาร จะยังไม่ได้จัดเปนทหารในรัชชกาลที่ ๔

กรมทหารต่าง ๆ ตามบัญชีของพระยาพิชัยสงคราม (อ่ำ) นั้นกรมทหารเกณฑ์หัดน่าจะเก่าก่อนเพื่อน อาจจะมีมาแต่ในรัชชกาลที่ ๓ ครั้นถึงรัชชกาลที่ ๔ เมื่อจ้างนายร้อยเอกอิมเปย์ Impey ไว้เปนครูจึงแบ่งคนพวกเกณฑ์หัดนั้นส่งไปแล้วตั้งเปน “กรมทหารหน้าอย่างยุโรป” เหตุใดจึงเรียกว่าทหารหน้า ข้อนี้สันนิษฐานว่าเห็นจะสำหรับแห่เสด็จเปนกระบวนหน้าเหมือนอย่างที่เรียกว่าตำรวจหน้า สันนิษฐานต่อไปว่าเดิมคงจะกะให้มีทหารหลังอีกกรม ๑ เหมือนอย่างตำรวจหลัง แต่ไม่ทันจัด ครั้นถึงรัชชกาลที่ ๕ มีทหารมหาดเล็กขึ้นแซงกระบวรหลังจึงงดเรื่องทหารหลัง

“ทหารกรมล้อมพระบรมมหาราชวัง” หม่อมฉันนึกไม่ออกทีเดียวว่ามีแล้วในปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ เข้าใจว่าพึ่งจัดขึ้นเมื่อครั้งกรมหลวงประจักษ์ฯ คิดหาเค้าเงื่อนก็ยังไม่ออก

“กรมรามัญ” นั้นคือทหารมรีนที่สมเด็จเจ้าพระยา ฯ ได้บังคับมาแต่ในรัชชกาลที่ ๔ อยู่มาจนรวมกับทหารกรมแสงจัดเปนทหารเรือ

“ทหารกรมมหาดไทย” นั้นทราบเปนเค้าอยู่บ้างว่าเกณฑ์เลกมหาดไทยตั้งขึ้นเมื่อต้นรัชชกาลที่ ๕ เห็นจะตั้งในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๑๒ กรมรักษาพระองค์ก็น่าจะจัดเปนทหารขึ้นในคราวเดียวกัน

“ทหารกรมช้าง” ยังจำได้ดีไม่ต้องทูลอธิบาย

“ในบัญชีของพระยาพิชัยสงคราม (อ่ำ) ขาดทหารที่มีแล้วในสมัยนั้น ๒ กรม คือทหารมหาดเล็กกรม ๑ แต่คงเปนเพราะโปรด ฯ ให้ถือน้ำปีละ ๒ ครั้งอย่างมหาดเล็กจึงไม่เข้างบ อีกกรม ๑ คือทหารปืนใหญ่ญวนพวกคลองผดุง ซึ่งเจ้าพระยาสุรวงศวัฒนศักดิ์บังคับเมื่อยังเปนพระอมรวิสัยสรเดช ขาดไปเพราะเหตุใดหาทราบไม่

ว่าถึงอายุของกรมทหารเหล่านี้ ถ้าเรียงลำดับที่หัดเปนทหารอย่างยุโรปก่อนและหลังกัน หม่อมฉันสันนิษฐานว่าน่าจะเปนดังนี้คือ

๑. ทหารรามัญ ติดต่อมาแต่รัชชกาลที่ ๓

๒. ทหารเกณฑ์หัด (อาจจะมีมาแต่ในรัชชกาลที่ ๓)

๓. ทหารหน้า

๔. ๕. ๖. ทหารรักษาพระองค์

๗. ทหารล้อมพระบรมมหาราชวัง

๘. ทหารมหาดไทย

๙. ทหารกรมช้าง

หลักที่หม่อมฉันจับได้ดังทูลมายังคลอนแคลน ถ้าท่านพบใครที่มีความรู้ ทรงสืบสวนต่อไปบางทีจะได้ความดีขึ้น.

หม่อมฉันพบขุมทรัพย์สำหรับหาเรื่องทูลบันเล็งได้อีกขุม ๑ คือกฎมณเฑียรบาลพะม่า ซึ่งรัฐบาลอังกฤษให้ เซอร์ ยอร์ช สกอตต์ เปนหัวหน้ากรรมการตรวจตำราราชประเพณีและถามข้าราชการพะม่าแต่งขึ้นเมื่อแรกได้เมืองพะม่า เขาพิมพ์ไว้ในหนังสือ Gazetteer เมืองพะม่าเหนือ หม่อมฉันกำลังปล้ำอยู่จะเริ่มทูลแต่สัปดาหะหน้าเปนต้นไป ขอทูลในจดหมายฉะบับนี้แต่ศัพท์ที่ไปพบเข้าศัพท์หนึ่ง ในตอนว่าด้วยราชาภิเศก ซึ่งแห่เสด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระยานมาศ พระยานมาศนั้นเรียกในภาษาพะม่าว่า วอ (Waw) คำนี้มันพ้องกับที่เราเรียก วอ ที่เจ้านายทรง จะเกี่ยวข้องกันอย่างใดบ้างดอกกระมัง หม่อมฉันเคยได้ยินว่า วอ เปนของเกิดใหม่ในรัชชกาลที่ ๒ ก่อนนั้นใช้แต่สีวิกาขอให้ทรงพิจารณาดู.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. เจ้าพระยาสุรวงศวัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ