วันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๔๗๗

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัดถ์ลงวันที่ ๓ เดือนนี้ ได้รับประทานทราบความทุกประการแล้ว

เรื่องพระราชมณเฑียรที่ทำเปนตึกเปนอันญัตติตกลงได้ ว่ามีขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเปนประเดิม โดยกระแสพระราชดำริต้องกันกับที่เกล้ากระหม่อมคิดสงสัยว่าจะเปนเช่นนั้น การอยู่เรือนไม้เข้าใจว่าสืบมาแต่อยู่ใต้ร่มไม้ แล้วก็ทำปะรำใบไม้และพะเพิงอยู่ตามสถานที่พอใจแทนต้นไม้ธรรมดา ที่อยู่ได้ภายใต้ร่มไม้และพะเพิงก็เพราะอากาศร้อน อาศัยลมพัดโตรกเย็นสบายจึงพอใจอยู่ในฐานะอย่างนั้น ส่วนเรือนตึกนั้นเข้าใจว่ามาแต่เคยอยู่รูก่อนคือขุดดินอยู่ หรืออาศัยรูที่มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติเช่นถ้ำ แล้วภายหลังเอาดินและหินมาภูลพอกขึ้นอาศัยอยู่ภายในต่างรู ลักษณะอยู่รูนี้จะต้องเกิดขึ้นในประเทศที่อากาศหนาวก่อน เหมาะที่จะอยู่อย่างนั้นเพื่อความอบอุ่นแล้วก็เอาอย่างกันไปในประเทศต่าง ๆ ด้วยมิได้คำนึงถึงความอยู่สุข ตามที่กราบทูลนี้ออกจะเปนทางไปนับได้ว่าเปนลูกศิษย์ศาสตราจารย์คัลเลนเฟลล์

ทีนี้จะกราบทูลเรื่องกรมรักษาพระองค์ ตามที่รับไว้ว่าจะทูลถวายทีแรกได้โปรดเข้าพระทัยเสียก่อนว่า กรมรักษาพระองค์ กับทหารรักษาพระองค์นั้น เปนคนละพวกทีเดียว กรมรักษาพระองค์นั้นไม่ต้องสงสัย ได้ตั้งมาแล้วแต่ครั้งกรุงเก่า แต่จะเปนมาอย่างไรไม่ทราบ ในภายหลังที่สุดกรมรักษาพระองค์ได้แบ่งเปน ๓ พวก ๖ กรม คือรักษาพระองค์ปืนทองปรายซ้ายขวา กรมรักษาพระองค์ปืนปลายหอกซ้ายขวา และกรมรักษาพระองค์ข้าหลวงเดิมใหม่ซ้ายขวา อันรักษาพระองค์ปืนทองปรายนั้น นัยหนึ่งเรียกว่ารักษาพระองค์เก่า คนในกรมนั้นจะสืบมาจากไหนไม่มีใครทราบ และที่ได้ชื่อว่ารักษาพระองค์ปืนทองปรายนั้นก็สืบไม่ได้ว่าใครตั้งให้แต่เมื่อไร ตัวปืนทองปรายเห็นมีพาดบันไดแก้วไว้ที่ใต้พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ดูเหมือน ๖ หรือ ๘ กระบอก ที่ปลายปากกระบอกทำเปนปากมังกรมีอยู่สองกระบอก เห็นฝีมือทำจะไม่ต่ำกว่ารัชชกาลที่ ๑ นอกนั้นก็ปากเปนลำโพงบ้าง ปากเหมือนปืนใหญ่อย่างฝรั่งบ้างต่างกันเปนคู่ ๆ ได้ไต่สวนว่าถือกันอย่างไร เขาบอกว่ามีท่าย่างสามขุมคนเคยถือยังมี จึงให้หาตัวมาทำให้ดู ทีก็เปนรำกระบี่กระบองนั้นเองแล้วก็ถือไปอย่างเชิญพระแสงปืนตามเสด็จฉะนั้น รักษาพระองค์ปืนปลายหอกนั้นไต่สวนได้ความว่า เปนเลขข้าหลวงเดิมในรัชชกาลที่ ๔ ยกเข้ามาสมทบเมื่อเสวยราชสมบัติแล้ว แต่ทำไมจึงได้ชื่อว่ารักษาพระองค์ปืนปลายหอกก็ไม่ได้ความและปืนปลายหอกก็ไม่เคยถือ ทำให้สันนิษฐานว่าทูลกระหม่อมจะพระราชทานชื่อให้ปรับเข้าคู่กันได้กับปืนทองปรายเท่านั้น รักษาพระองค์ข้าหลวงเดิมใหม่นั้น เปนเลขข้าหลวงเดิมรัชชกาลที่ ๕ ยกเข้ามาสมทบเมื่อเสวยราชสมบัติแล้วแบบเดียวกับรัชชกาลที่ ๔ แต่ไม่มีใครเอื้อเรื่องชื่อกรม เรียกกันเอาเองเพื่อความเข้าใจมาอย่างไรก็คงอยู่อย่างนั้น

หน้าที่ของกรมรักษาพระองค์ ได้ทำการรักษาพระราชมณเฑียรที่ประทับ มีแผ้วกวาดจุดตะเกียงเลี้ยงนกหนูตีตุ๊กแกรดน้ำต้นไม้ ไม่มีท่วงทีว่าเปนทหารเลย แม้ชื่อเจ้ากรมปลัดกรมรักษาพระองค์เก่า มีหลวงกันภยุบาทว์ หลวงราชเสวก และขุนอินทรปราสาท ขุนราชพิมาน เหล่านี้ก็มีความไปในทางรับใช้ในพระราชมนเทียร ไม่เปนไปในทางทหารเลย แต่ตกมาถึงรักษาพระองค์รัชชกาลที่ ๔ ชื่อเจ้ากรมยังปรากฏเปนคนรับใช้ในพระราชมนเทียรอยู่คือหลวงอภิบาลภูวนาถ หลวงราชคฤหรักษ แต่ปลัดกรมเปนชื่อทหารคือ ขุนอาจอัคนิกร และขุนอมรศักดาวุธ ชะรอยจะทรงพระราชดำริตั้งให้มีชื่อขนาบคาบเกี่ยวเปนรักษาพระราชมนเทียรอย่างเก่าก็ได้ หรือฟังให้เปนทหารตามชื่อกรมอันมีปืนก็ได้ฉะนั้นกระมัง ส่วนตัวเจ้ากรมปลัดกรมนายเวรกรมรักษาพระองค์นั้น แต่งตัวเข้าสมทบตำรวจแห่เสด็จหมดด้วยกัน แต่ตัวไพร่ไม่ปรากฏว่าได้สมทบแห่เสด็จ มีแต่ยืนยามประตูตามที่เคยทอดพระเนตรเห็นมาแล้ว การประจำหน้าที่รักษาพระราชมนเทียรนั้น ตามรูปการเปนว่าปันกันเปนเวร แต่เปล่าความจริงถึงเวรใครก็เอาเงินมาให้นายนิดหน่อย นายจัดจ้างคนเข้าแทน คนแทนนั้นก็คือคนรักษาพระองค์นั่นเองมิใช่คนสำส่อนเข้ามา เช่นตาหว่างอ้ายนวมอ้ายสีเหล่านั้นเปนต้น พวกเหล่านั้นมันถือเอาพระราชฐานเปนเรือนรับจ้างอยู่ประจำตาปีสีตาชาต คนเวรหนึ่งนับจำนวนด้วยร้อย นายเก็บเอาเงินมาจ้างคนนับแต่สิบประจำการ นายก็ได้กำไรเปนผลประโยชน์แบบกินเลขอย่างเก่าอยู่ได้สบาย

ทีนี้จะกราบทูลถึงทหารรักษาพระองค์ คือว่าโปรดเกล้าฯให้เกณฑ์เลือกเอาคนรักษาพระองค์ทั้ง ๖ กรมมีจำนวนจำกัด ส่งไปเข้ากองเกณฑ์หัดทหารอย่างยุโรป พวกนี้ไปขึ้นกรมทหารขาดจากกรมเดิมไปทีเดียว แต่ก็คงมีชื่อกรมทหารรักษาพระองค์ปืนทองปรายปลายหอกและข้าหลวงเดิมใหม่อยู่ตามเดิม แต่เขาตั้งนายควบคุมใหม่ คือพวกตาทิมตาพราหมณ์ซึ่งทรงรู้จักอยู่แล้วพวกนี้ขึ้นอยู่ในบัญชีพระยาพิชัยสงคราม อ่ำ เจ้ากรมปลัดกรมรักษาพระองค์จะล่วงไปบังคับอะไรไม่ได้มิได้ ทราบเกล้าว่าเมื่อในรัชชกาลที่ ๔ ในกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน ข้างหน้ามีทหารหน้าแห่ ข้างหลังมีทหารรักษาพระองค์แห่เปนทหารหลัง ครั้นถึงรัชชกาลที่ ๕ มีทหารมหาดเล็กขึ้น จึงให้ทหารมหาดเล็กแห่หลัง ยกทหารรักษาพระองค์ไปสมทบทหารหน้าแห่หน้า

ต่อมาจะมีเหตุอะไรขึ้นก็ไม่ทราบเกล้า โปรดเกล้าฯให้เกล้ากระหม่อมจัดกรมรักษาพระองค์ทั้งที่เปนทหารแล้วและยังมิได้เปนทหาร รวมตั้งขึ้นเปนกรมทหารรักษาพระองค์ หน้าที่รักษาพระราชมนเทียรนั้นกรมเด็กชารับไป ทีแรกเกล้ากระหม่อมก็โอนทหารรักษาพระองค์มาจากกรมทหารหน้าก่อน แล้วก็ชำระเรียกลูกหมู่รักษาพระองค์ทุกกรมเพื่อส่งเข้าเปนทหาร แต่เวลานั้นที่อยู่มีแต่โรงแถวริมกำแพงถนนหน้าพระลาน จัดขึ้นไม่ได้เท่าไรก็เต็ม กำลังคิดขยับขยายหาที่อยู่ก็พอตั้งกรมยุทธนาธิการขึ้น เกล้ากระหม่อมย้ายจากหน้าที่ผู้บังคับการทหารรักษาพระองค์ไปเปนเปมาสเตอเยเนราล กรมหมื่นมรุพงศ์เข้าทำการต่อ จับเอาวังหน้าเปนที่ตั้งจึงได้มีกรมทหารรักษาพระองค์ตั้งขึ้นเปนกองใหญ่ได้ในกาลนั้น

เรื่องราวของกรมรักษาพระองค์ที่กราบทูลทั้งนี้เท่าที่รู้เห็น หวังว่าคงเปนประโยชน์ที่จะได้ทรงพิจารณาสันนิษฐานเอารูปได้แม้ไม่มากก็น้อย

ทหารล้อมวัง จำไม่ได้ว่ามีก่อนกรมหลวงประจักษทรงจัด ทหารหน้าทหารช้างจำได้ แต่ทหารอื่น ๆ มืด จะลองสืบถามคนเก่า ๆ ต่อไป ได้ความประการใดจะกราบทูลให้ทรงทราบ

พอได้ยินตรัสถึงกฎมนเทียรบาลพะม่าก็หูผึ่ง เชื่อว่าจะเปนประโยชน์ดีแก่เราเปนแน่ และเชื่อเสียก่อนได้พิเคราะห์ทีเดียว ว่า วอ นั้นเปนคำพะม่าแน่ คำพะม่าเข้ามาปนอยู่ในภาษาไทยเห็นจะไม่น้อย ตามที่รู้มาเช่น แง พะม่า แปลว่าเล็ก ลูกแง ลูกเล็ก ถึก แปลว่า ใหญ่ โคถึก โคใหญ่

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ ประสูติ ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๐๖ สิ้นพระชนม์ ๕ เมษายน ๒๔๖๖ ต้นราชสกุล “วัฒนวงศ์”

  2. ๒. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๔ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ประสูติ ๕ เมษายน ๒๓๙๙ สิ้นพระชนม์ ๒๕ มกราคม ๒๔๖๗ ต้นราชสกุล “ทองใหญ่”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ