วันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๔๗๗

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัดถ์ลงวันที่ ๒๓ เดือนนี้ ได้รับประทานแล้ว

ขอบพระเดชพระคุณเปนอย่างยิ่ง ที่ทรงพระเมตตาโปรดอธิบายถึงพระพุทธรูปตามที่อาจารย์ทางฝรั่งเขาตรวจตราพิจารณาเห็นให้ทราบเกล้า เกล้ากระหม่อมก็ได้ทราบอยู่บ้างเหมือนกัน แต่กระจัดกระจายคุมไม่ติด เช่นรูปรอยพระบาท ต้นโพธิ์ กงจักร สถูป ได้เคยเห็นเขาทำแล้วทุกอย่าง ทราบว่าเขาทำแทนองค์พระพุทธเจ้า แต่ไม่ทราบว่าเขาทำเปนอุทเทสิกเจดีย์สี่สมัย เรื่องพระเกตุมาลาก็มาได้สติที่พระพุทธรูปศิลา ซึ่งฝ่าพระบาททรงเชิญเข้ามาแต่อินเดียว่าเปนฝีมือกรีคคันธารราษฎร์ รูปนั้นเขาทำเปนหมวดผมอย่างรูปอัปโปโล จึงได้ความเข้าใจว่าอ๋อคือมวยผมดอกหนอ แล้วก็มานึกว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงไว้ผมไม่ปลงพระเกษาตามวินัยซึ่งทรงบัญญัติไว้ ก็ไหนสิว่าบรรดาพระวินัยซึ่งทรงบัญญัติไว้นั้น พระองค์เองก็ทรงปฏิบัติด้วยทุกข้อมิได้ฝ่าฝืน นึกหาเหตุต่อไปก็คิดเห็นว่าเมื่อพระองค์ทรงบรรพชาแล้วได้เสด็จไปเที่ยวเปนศิษยฤษีอยู่หลายสำนัก เพื่อศึกษาหาธรรมวิเศษ ต่อเมื่อไม่พบแล้วจึงพยายามค้นหาด้วยพระองค์เอง ในระหว่างเสด็จอยู่ในสำนักฤษีทั้งหลายนั้น คงจะทรงถือเอาเภทเปนฤษี คือมุ่นชฎา (มวยผมยุ่ง) อย่างพระพุทธรูปที่กรีคทำนั้น จนกระทั่งได้แผ่พระศาสนามีสงฆมณฑลแล้ว พระวินัยจึงจะเกิดขึ้น จะทรงปลงพระศกก็คงเปนตอนนั้น ตอนแรกคงเปนมุ่นชฎา เมื่อเคยทำพระพุทธรูปมุ่นชฎามาแล้วก็เลยทำเรื่อยไป ความคิดที่คิดได้ดังนี้ก็ไม่สู้ขัดกันนักกับความเห็นศาสตราจารย์ฟูแชร์ เพราะกษัตริย์หรือฤษีก็เกล้าจุกด้วยกัน พวกกรีคที่เรียกว่าโยนกนั้น ก่อนนี้นึกว่าเปนชื่อที่พวกอินเดียตั้งให้ ครั้นไปดูแบบอาคิเตกของฝรั่งเพื่อเรียน พบแบบเสากรีคชะนิดปลายม้วนเรียกว่า Ionic จึงรู้สึกขึ้นอย่างตื่นเต้นว่ากรีคนั้นมีชื่อว่าโยนกจริง ๆ มาแต่ประเทศของเขา

เรื่องกรมศิลปากรคิดทำตำราประวัติศาสตร์นั้น ใช่ว่าเกล้ากระหม่อมติดใจจะฟังกระแสพระดำริก็หามิได้ หากแต่ได้กราบทูลโต้ตอบในเรื่องพงศาวดารประวัติและจดหมายเหตุ แล้วผะเอิญในวารเดียวกันอ่านหนังสือพิมพ์พบเรื่องเขาจะแต่งตำราประวัติศาสตร์เข้า ก็ตัดถวายมาให้ทรงทราบเท่านั้น

มีเรื่องกรมศิลปากรที่จะกราบทูลต่อไป เขาซ่อมพระที่นั่งศิวโมกข์แล้วเสร็จอีกหลังหนึ่ง เขาเชิญเสด็จพระองค์เจ้าเฉิดโฉมไปยกช่อฟ้าเมื่อวันที่ ๑๘ เดือนนี้

เรื่องแตรงอนฮินดูเรียกว่า “กัมพู" นั้น เล่นเอาอัดใจไปหนักหนา ที่ไปตรงกันเข้ากับกลุ่มซี่ที่รับโครงฉัตร เราเรียกว่ากำพู มีคำเปนหลักฐานว่า “เทพยดาซึ่งรักษากำพูฉัตร” เคยมีแปลกันว่า กัมพุชฉัตร คือฉัตรแห่งกัมพุชประเทศ เมื่อดูอภิธานบาลี กัมพู แปลว่าหอย อภิธานสํสกฤตแปลว่าขะโมย ว่ากำไลย ไม่เข้าเรื่องทั้งนั้น แต่มานึกเดาเห็นว่าจะเคลื่อนมาจากคำ “กัมโป” ซึ่งแปลว่าหวั่นไหวกึกก้องกระมัง “กัมปนาท” เสียงหวั่นไหว เสียงกึกก้อง จะเหยียดลงเปนแตรได้หรือไม่ ตามที่ทรงพระเมตตาโปรดจะถ่ายรูปส่งไปประทานนั้นดีนัก เปนพระเดชพระคุณอย่างยิ่ง อยากเห็นรูปร่างมาก คำ “กำพวด” นั้นใกล้กัมปนาทอยู่มาก แต่มีชื่อปลากำพวดพ้อง ซึ่งร้องก็ไม่เปน รูปร่างก็ไม่เหมือนกำพวดแตร

ชายแอ๊วทำหนังสือถวาย กราบถวายบังคมลามาเที่ยวประเทศมลายู ในวันที่ ๒ เดือนหน้า มีกำหนด ๑๐ วัน เปนอันเข้าใจได้ว่าจะออกมาเฝ้าเยี่ยมเยียนฝ่าพระบาท ได้ตอบอนุญาตไปแล้ว จะได้ฝากหนังสือต่าง ๆ ที่กราบทูลไว้มาถวายด้วย

หม่อมเจ้าพิมพ์ภักตร์พาณี ธิดาองค์ใหญ่ของสมเด็จกรมพระสวัสดิถึงชีพิตักษัยแล้ว

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ว่าประชวนมาก

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ