วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๗ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๔๗๗

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑ เดือนนี้ มีเรื่องที่โปรดประทานความรู้ไปหลายเรื่อง เปนพระเดชพระคุณล้นเกล้า ขอประทานถวายความเห็นประกอบในลางประการ

เรื่องรูปภาพหนังแขกนั้น เกล้ากระหม่อมสงสัยมานานแล้ว ตามที่นายชัสปาอธิบายว่า รูปจำหลักศิลาเช่นที่พระบวรพุทโธเปนต้นนั้น เปนทำเอาอย่างแบบอินเดีย ส่วนรูปภาพเช่นหนังเปนแบบของพื้นเมืองเดิมนั้น เกล้ากระหม่อมเห็นชอบด้วยว่าเปนการถูกทีเดียว สังเกตได้จากรูปภาพจำหลักศิลาในที่ต่างๆ นั้น เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ทำอย่างรูปภาพอินเดีย ส่วนเครื่องถนิมพิมพาภรณแห่งรูปภาพหนังภาพเขียน ตลอดจนหุ่นโขนของชะวา หาเหมือนกับรูปภาพเช่นที่จำหลักไว้ที่ฐานพระบวรพุทโธไม่ เห็นได้ว่าเป็นแบบพื้นเมืองของเขามาเก่าแก่จริง แต่คำแก้ของนายชัสปานั้น หาได้ทำความสงสัยให้หลุดหมดไปได้ไม่ คือรูปภาพหนังของชะวาเก้งกางอย่างประหลาด ไม่เหมือนกับรูปซึ่งทำในสิ่งอื่น เช่นที่ปักผ้าไว้เปนต้น ย่อมทำรูปร่างเปนผู้เปนคน ไม่เก้งก้างอย่างรูปภาพหนัง นี่จะแปลว่าอย่างไรกัน

อีกข้อหนึ่งซึ่งศาสตราจารย์คัลเลนเฟลตราหน้าปราสาทหินในอเมริกา ว่าไม่เก่าเกินกว่าสี่ร้อยห้าร้อยปีนั้นอยู่ข้างป้วย เกล้ากระหม่อมสำคัญในใจว่าจะเก่ากว่านั้นมากทีเดียว

เรื่องพระบวรพุทโธมีภูเขาเปนแกนนั้น เปนความรู้ใหม่ที่เกล้ากระหม่อมเพิ่งจะทราบ เล่นเอาความเห็นกลับหน้ามือเปนหลังมือไปทีเดียว เดิมคิดว่าฐานเบญจานั้นก่อก่อน หมู่องค์พระสถูปก่อทีหลัง เพราะฐานต้องมีก่อนจึงจะทำองค์พระสถูปขึ้นได้ แต่ก็สงสัยอยู่หนักหนาที่ฐานนั้นทำโดยประณีต แต่พระสถูปทำหยาบหนัก นึกว่าสิ้นความเพียร สิ้นกำลังอำนาจ จึ่งทำหวัด ๆ เอาแต่พอได้ ครั้นเมื่อได้ทราบว่าแกนในเปนภูเขาความเห็นก็กลับไปทีเดียว ว่าก่อพระสถูปบนยอดเขาก่อน ตามปกติชอบทำพระเจดีย์กันบนยอดเขา ซึ่งจะเว้นเสียได้ยาก เพราะเปนที่สูงจะเห็นเด่นได้ไกล เปนเครื่องบำรุงศรัทธาได้กว้างขวาง ภายหลังมีท่านผู้ศรัทธามาสร้างต่อ ถากเขาก่อหุ้มขึ้นเปนฐาน ฐานพระบวรพุทโธนี้ คงจะได้ทำขึ้นคราวเดียวกับเมื่อทำปราสาทหินทั่ว ๆ ไปเพราะมีลักษณคล้ายคลึงกัน แต่องค์พระสถูปเห็นจะทำก่อนนั้นมานานทีเดียว การถากเขาแก้เปนฐานให้ลดหลั่นเปนชั้นมีบันไดงาม ๆ นั้น ในเมืองเขมรก็มีทำกันมากแต่ทำเพียงด้านสองด้านไม่หมดทั้งเขา ที่พระบวรพุทโธทีจะเปนเขาเล็กจึงสามารถถากทำหุ้มเสียหมดได้ การทำเจดียฐานบนเขานั้นเขมรถนัดมาก ชื่อสถานที่มีคำนำหน้าว่า “ภนม” นั้น มาแต่สถานนั้นสร้างบนเขา เพราะ ภนม แปลว่าเขา ส่วนที่มีคำนำหน้าว่า “บรรทาย” นั้น หมายความว่ามีคูมีกำแพงล้อมดุจค่ายหรือเมือง เพราะคำ บรรทาย แปลว่าที่มั่นเช่นค่ายและเมือง

ขอถวายความเห็นอีกอย่างหนึ่ง พระสถูปที่ไหน ๆ ยอดก็ทำเปนฉัตรแต่ที่พระบวรพุทโธนั้นทำเปนแกนโด่ขึ้นไปเฉย ๆ และเล็กหลอนทรงอยู่ด้วย เขาจะทำไว้ให้เปนแกนคันฉัตร เผื่อไว้ให้คนทำกงฉัตรหุ้มผ้าหรือกรองทองแก้วเปนตาข่ายไปสอดสรวมบูชา ตามความเลื่อมใสศรัทธาดอกกระมัง

เรื่องศัพท์ “กะหลาป๋า” และชื่อเมือง “ชัยเกษตร” กลายเปน “ยักกัตตรา” และวิลันดาเรียกเมือง “บะตาเวีย” นั้นก็ได้ความรู้ดีจริง ๆ เกล้ากระหม่อมเคยได้ยินแขกเรียก “ไยกะกรา” มาก่อน ได้สำเนียกในใจไว้แต่นั้น ว่าแขกเรียก “ไย-” เราเรียก “ยัก-” เพิ่งมาปรับกันเข้าได้เมื่อตรัสบอกนี้ว่าที่แท้ชื่อเมือง “ชัยเกษตร” เสียงแขกเขาใกล้ เสียงไทยห่างไป คำ “กะลา” เห็นจะมาแต่คำ “กะหลาป๋า” แน่ คำไทยเราเรียกว่า “กะโหลก” มีอยู่ต่างหาก กะโหลกมะพร้าว กะโหลกน้ำเต้า กะโหลกหัวผี

เขาว่าภาษาคนในโลกนี้ ภาษามะลายูเปนมีมากมายใหญ่กว้างกว่าภาษาอื่นหมด จริงหรือยังไงไม่ทราบ

เรื่องการพิธีแต่งงานชายดิศศานุวัติ ฝ่าพระบาทไม่ต้องทรงพระวิตก จะไม่มีขัดข้องอะไรเลย หากมีพระประสงค์จะรอไปจนเสด็จกลับ ก็รอไว้กราบบังคมทูลพระกรุณา หากมีพระประสงค์จะแต่งเสียโดยพลัน ก็ให้ชายดิศศานุวัติทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระกรุณา ยื่นที่กรมราชเลขานุการในพระองค์ เกล้ากระหม่อมสามารถจะจัดการแทนพระองค์ให้สำเร็จไปได้ เพราะเธอเปนหม่อมเจ้าอยู่ในข่ายซึ่งโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตไว้ ให้อนุเคราะห์พระบรมวงศานุวงศ์ตามที่มีเหตุอันสมควร

สมเด็จพระพันวัสสากำลังทรงทำบุญฉลองพระชันษา ๖ รอบ เมื่อวันที่ ๘ ทรงบาตรพระสงฆ์วัดราชประดิษฐ วัดราชบพิธ วัดบวรนิเวศ รวมกัน ๗๓ รูป ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วานนี้มีสวดมนต์ที่พระที่นั่งนงคราญ พระสงฆ์ ๑๐ รูปนิมนต์ตามโปเจียม แต่มีพระงั่วแทรกเข้าไปด้วยองค์หนึ่ง อยู่ข้างจะทรงพระกรุณามาก วันนี้เลี้ยงพระแล้วทรงธรรม ๑๕ นาฬิกาสรงข้างในแล้วเปนเสร็จการ

เรื่องสมเด็จกรมพระสวัสดิและหญิงอาภาต้องอุปัติภัย ฝ่าพระบาทคงทรงทราบได้ดีกว่าทางเกล้ากระหม่อม น่าสงสาร

ข่าวกรุงเทพฯ ไม่ค่อยมีอะไรที่ควรจะกราบทูล มีข่าวอะไรเขาก็ลงหนังสือพิมพ์ ซึ่งจะทอดพระเนตรทรงทราบได้ทุกอย่างแล้ว

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. คำว่า “ป้วย” แปลว่า ป่วย คือเจ็บไข้ มูลเหตุมีมาว่า พระองค์เจ้าหญิงยี่เข่งหัวหน้าพนักงานฝ่ายใน ร.๕ รับพระบรมราชโองการให้ออกไปเฝ้ากรมพระสมมตอมรพันธุ์ที่กรมราชเลขาฯ และไม่พบพระองค์ จึงจดเศษกระดาษไว้ว่า “ทำไมไม่เสด็จมาวันนี้? (เซ็นว่า) เข้ง” แทนที่จะเป็น “เข่ง” กรมพระสมมต ฯ เสด็จมาเห็นกระดาษนั้นที่กรมฯ จึงทรงเขียนตอบเขาไปว่า “ป้วย” แทน “ป่วย” ให้เหมาะกับเข้ง = เข่ง ก็เลยเป็นศัพท์มาแต่นั้น.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ