วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๗ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๗

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๒๐ ขอทูลสนองความในลายพระหัตถ์ซึ่งเปนข้อขำก่อน คือเรื่องที่เสด็จข้ามไปวัดประยูรวงศนั้น ในเวลาเมื่อหม่อมฉันอ่านลายพระหัตถ์ตรงนั้น ใจก็นึกอยากรู้ตามไปว่าในที่สุดจะตกลงเสด็จเรืออะไร และลงท่าไหน จนถึงออกชื่อสะพานพระพุทธยอดฟ้าจึงนึกได้ว่าที่จริงไม่ต้องลงเรือ จึงขอทูลให้ทรงทราบว่าไม่งุ่มง่ามแต่ท่านพระองค์เดียวเท่านั้น

เรื่องที่พระยาธรรมสารเนตร์ฯ พิมพ์หนังสือพงศาวดารรัชชกาลที่ ๔ แจกนั้นเปนการดีอยู่ เขามีฉะบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ ซึ่งตกต่อมาถึงเจ้าพระยาภาณุวงศบิดาของเขา แล้วเลยเปนมรดกตกอยู่แก่ตัวเขาใช้เปนต้นฉะบับ หนังสือฉะบับนี้หม่อมฉันเคยยืมมาสอบกับฉะบับของหอพระสมุด ฯ ซึ่งคัดสำเนามาจากฉะบับหอหลวง แต่ฉะบับที่พิมพ์ขึ้นเจ้าภาพยังไม่ได้ส่งมาให้หม่อมฉัน และหม่อมฉันเกรงว่าเขาจะไม่ส่ง ถ้าท่านโปรดหาประทานมาได้สัก ๒ ฉะบับจะเปนพระเดชพระคุณนักหนา

เรื่องที่จะทูลบันเล็งในสัปดาหะนี้ หม่อมฉันไปพบเค้าเงื่อนในพงศาวดารรัชชกาลที่ ๔ แห่ง ๑ ที่ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ อีกแห่ง ๑ เปนเหตุให้คิดปรารภขึ้น คือเรื่องทหารที่เรียกว่า “เกณฑ์หัดอย่างยุโรป” พิเคราะห์ตามอธิบายของศัพท์ที่เอามาประสมกันนั้น “ทหาร” หมายความว่า พลรบ “เกณฑ์” หมายความว่า ฉะเพาะจำพวกหนึ่งซึ่งได้เลือกสรร มิใช่ทหารอย่างสามัญ “หัด” หมายความว่า ทหารพวกนั้นไม่ใช่แต่แต่งตัวและถือศาสตราวุธอย่างพวกทหารอาสาเช่นพวกนั่งกลาบาต มีวิชชาอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะต้องหัดให้ชำนาญด้วย “อย่างยุโรป” เปนอธิบายต่อมาจากศัพท์ก่อนว่าหัดตามแบบทหารฝรั่งดังนี้ วินิจฉัยข้อต้น คำว่า “ยุโรป” นั้นเปนสำเนียงอังกฤษหรืออเมริกันเรียก ไทยเราเรียกกันแต่โบราณตามสำเนียงแขกว่า “อิหรอป” เช่นดินปืนชนิดหนึ่งเรียกกันว่า “ดินอิหรอป” ส่อให้เห็นว่าคำยุโรปนั้นเราเรียก “อิหรอบ” อยู่ก่อน มาเปลี่ยนเรียกว่า “ยุโรป” เมื่อชั้นหลัง ชวนให้คิดปัญหาว่าทหารเกณฑ์หัดอย่างยุโรปจะมีขึ้นเมื่อใด

ว่าตามหลักฐานในพงศาวดารที่เรียกว่า ทหารอาสานั้นมีมาก่อนเก่า มักเปนพวกต่างภาษาที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ในพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับความยกเว้นไม่ต้องทำราชการเหมือนอย่างไทยที่เปนพลเมือง เวลามีงานราชสงคราม พวกเหล่านั้นรับไปช่วยรบพุ่งเปนการสนองพระเดชพระคุณ มีตัวอย่างเช่นพวกโปรตุเกศไปช่วยรบพะม่าครั้งสมเด็จพระชัยราชาธิราชเปนต้น พวกอาสาจาม อาสายี่ปุ่นและอาสาพวกอื่น ๆ ก็เปนทำนองเดียวกัน เมื่อไปรบพุ่งก็รบตามถนัดของตน พวกอาสาโปรตุเกศจึงได้นามว่าทหารแม่นปืน การที่เกณฑ์ไทยให้ฝึกหัดเปนทหารตามแบบฝรั่ง ปรากฏในพงศาวดารว่าแรกมีในรัชชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เกณฑ์คนให้นายทหารฝรั่งเศสคน ๑ ชื่อเชวเลีย เดอ ฟอแบงค์ เปนผู้ฝึกหัดประจำรักษาป้อมวิชัยประสิทธิ์ที่เมืองธนบุรี แต่คงไม่เรียกว่าเกณฑ์หัดอย่างยุโรป เพราะตามภาษาฝรั่งเศสเรียก ยุโรป ว่า อูรบ เมื่อสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไทยไล่พวกฝรั่งเศสไปจากเมืองไทย ทหารเกณฑ์หัดพวกนั้นก็เปนอันยกเลิก และไม่ปรากฏในพงศาวดารว่ามีทหารไทยที่เอาอย่างยุโรปต่อมา จนถึงรัชชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร บริษัทรัฐบาลอินเดียของอังกฤษแต่งให้ ครอเฟิด เปนทูตเข้ามากรุงเทพ ฯ มีทหารแขกอินเดียที่หัดอย่างฝรั่ง อังกฤษเรียกว่า ทหารสิปอย เข้ามาในเรือกำปั่นรบด้วย ดูเหมือนจะได้เห็นทหารอย่างฝรั่งที่ในกรุงรัตนโกสินทร์เปนครั้งแรกในคราวนั้น เมื่อครอเฟิดกลับไปแล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงโปรด ฯ ให้จัดไทยเปนทหารแต่งตัวอย่างสิปอยขึ้นพวก ๑ ไทยเรียกว่า “ทหารสิป่าย” หม่อมฉันได้เคยเห็นรูปภาพในหนังสือฝรั่งแต่งเรื่องเมืองไทยสมัยนั้น มีทหารสิป่ายยืนแถวอยู่สัก ๓๐ คน แต่จำนวนทหารสิป่ายทั้งหมดจะมีเท่าใด และในเวลานั้นยังไม่มีครูฝรั่ง ใครจะเปนผู้หัดและจะใช้ราชการอย่างใดไม่ปรากฏ หม่อมฉันสันนิษฐานว่าที่ทูลกระหม่อมทรงจัดทหารรักษาพระองค์ (พวกตาหว่างที่เรารู้จักกัน) สำหรับยืนเฝ้าทวารพระราชฐานนั้น จะทรงอนุโลมมาจากทหารสิป่ายนั่นเอง แต่ก็ยังไม่เรียกว่าทหารเกณฑ์หัดอย่างยุโรป ครั้นถึงรัชชกาลที่ ๓ เมื่อเตรียมป้อมปราการต่อสู้ญวนและอังกฤษ ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดญวนและเขมรเข้ารีตเปนทหารปืนใหญ่ และให้สมเด็จเจ้าพระยา ฯ เมื่อยังเปนที่พระยาศรีสุริยวงศ จัดพวกมอญฝึกหัดเปนทหารปืนเล็กอย่างฝรั่ง สำหรับรักษาป้อมปราการ แต่ครูฝรั่งก็ยังไม่มี มีแต่พวกมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาตั้งแล้ว และได้ช่วยท่านทั้ง ๒ นั้นแปลตำหรับตำราภาษาอังกฤษ ตำราปืนใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งเมื่อรัชชกาลที่ ๓ ก็ยังปรากฏอยู่ มามีคำเรียกว่า “ทหารอย่างยุโรป” แรกปรากฏในความที่พรรณนาการพระราชพิธีบรมราชาภิเศกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหนังสือพงศาวดารของเจ้าพระยาทิพากรวงศว่า เมื่อวันเสด็จออกท้องพระโรงนั้นมี “ทหารอย่างยุโรป” ยืนแถวที่หน้าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ๒๐๐ คน จะเปนทหารที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงควบคุมกองร้อยหนึ่ง ที่สมเด็จเจ้าพระยา ฯ ควบคุมกองร้อยหนึ่ง หรือจะมีทหารไทยอย่างยุโรปอีกกรมหนึ่งซึ่งจัดขึ้นเมื่อรัชชกาลที่ ๓ ข้อนี้สงสัยอยู่ นอกประตูพิมานชัยศรีมีทหารอาสาสิบหมู่ (คือพวกนั่งกลาบาต แต่ให้ยืน) รายทางต่อไปอีก ๑,๐๐๐ คน พวกนี้คือทหารอาสาอย่างเดิม

คำว่า “ทหารเกณฑ์หัดอย่างยุโรป” น่าจะเกิดขึ้นเมื่อในรัชชกาลที่ ๔ ด้วยมีในจดหมายเหตุบางกอกคาเลนดาร์ของหมอบรัดเล ว่าในปีกุนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์นั้นเอง มีนายร้อยเอกทหารอังกฤษคน ๑ ชื่ออิมเปย์ Impey (ที่เปนครูของหลวงรัดรณยุทธ์ เล็ก ที่เปนครูของเรา) เข้ามาจากอินเดียมาขอรับราชการ จึงโปรด ฯ ให้จ้างไว้ฝึกหัดทหารไทย ข้อนี้เปนหลักฐานว่าทหารกรมต่าง ๆ ที่ฝึกหัดตามแบบฝรั่ง และใช้คำบอกทหารเปนภาษาอังกฤษ เริ่มเกิดขึ้นแต่ปีกุนนั้น ส่วนทหารเก่าที่ฝึกหัดมาแต่รัชชกาลที่ ๓ ปรากฏว่าทหารญวน (พวกพระยาบันลือ) ย้ายไปเปนทหารวังหน้า และเข้าใจว่าพวกทหารมอญย้ายไปเปนทหารมรีน ขึ้นอยู่ในสมเด็จเจ้าพระยา ฯ เมื่อเปนที่สมุหพระกลาโหม ด้วยเริ่มจัดการทหารเรือขึ้นในครั้งนั้นเหมือนกัน ส่วนพวกทหารบกที่ให้ครูอิมเปย์หัดนั้นเกณฑ์คนในกรมต่าง ๆ ส่งไปเปนทหาร ฝึกหัดจัดการบังคับบัญชาและมีโรงที่อยู่ประจำตามแบบทหารฝรั่ง การเหล่านี้เริ่มเกิดขึ้นในรัชชกาลที่ ๔ ทั้งนั้น

ปัญหามีต่อมาว่าทหารเกณฑ์หัดอย่างยุโรปที่จัดขึ้นในรัชชกาลที่ ๔ มีกี่กรม ข้อนี้มาพบเค้าเงื่อนในหนังสือราชกิจจารัชชกาลที่ ๕ เมื่อปีจอซึ่งหม่อมฉันคัดสำเนาถวายมากับจดหมายฉะบับนี้ ว่าด้วยทหารถือน้ำประจำเดือน มีรายชื่อกรมทหาร ๙ กรม (ไม่ได้นับทหารมหาดเล็ก เพราะไม่ได้ถือน้ำประจำเดือน) น่าพิจารณาว่าทหารกรมไหนมีขึ้นรัชชกาลไหน ขอให้ช่วยทรงพิจารณาและสืบสวนถ้ายังสามารถจะสืบได้ หม่อมฉันจะทูลความวินิจฉัยของหม่อมฉันในจดหมายสัปดาหะหน้าต่อไป เพราะไม่มีเวลาพอจะเขียนให้ทันเมล์นี้ได้

ได้ความรู้แปลกขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่าประเพณีทหารถือน้ำประจำเดือนที่เราได้เคยเห็นกันเมื่อแรกเปนทหารอยู่นั้น เปนประเพณีพึ่งเกิดขึ้นใหม่ในรัชชกาลที่ ๕ ด้วยความคิดของพระยาพิชัยสงคราม (อ่ำ) เมื่อยังเปนพระอินทรเทพ แต่เปนการถูกต้องตามแบบแผนทีเดียว แต่ก่อนหม่อมฉันเคยคิดสงสัยอยู่ว่าเพราะเหตุใดการพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒสัตยาจึงมีปีละ ๒ ครั้ง ครั้นไปอ่านหนังสือฝรั่งเศสแต่งว่าด้วยขนบธรรมเนียมไทยครั้งรัชชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พบอธิบายว่าไพร่หลวงต้องเข้ามาประจำราชการปีละ ๖ เดือน จึงจับเหตุได้ว่าในเวลาเปลี่ยนคนเข้ามาประจำราชการอยู่ใกล้พระองค์ จึงให้ถือน้ำเสียก่อน เปลี่ยนกันปีละ ๒ ครั้งจึงมีการพิธีถือน้ำปีละ ๒ ครั้ง เมื่อมาตั้งกรมทหารกำหนดเวลาให้ผลัดเปลี่ยนกันเข้าเวรเดือนหนึ่ง ออกเวรสองเดือน จึงต้องให้คนที่เข้ามาใหม่ถือน้ำในเวลาเปลี่ยนทุกเดือน อันนี้เปนมูลของทหารถือน้ำประจำเดือน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. พระยาธรรมสารเนติ (ถึก บุนนาค)

  2. ๒. เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)

  3. ๓. เจ้าพระยาภาณุวงศ์ (ท้วม บุนนาค)

  4. ๔. พระยาพิชัยสงคราม (อ่ำ อมรานนท์)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ