วันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๔๗๗

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

เมื่อเมล์ขาเข้าวันเสาร์ที่ล่วงแล้วนี้ ได้รับลายพระหัตถ์สั้น ๆ ดูเปนทรงพระวิตกที่จะมิให้ลายพระหัตถ์ขาดคราวกำหนดไป เห็นด้วยเกล้าว่าแล้วแต่จะสดวกไม่ต้องเปนกำหนด จะทรงสบายกว่า

ขอถวายพระกุศล ได้จัดการบวชพระงั่วเสร็จแล้ว พ่อแม่พี่น้องพากันอิ่มใจไปหมดด้วยกันทั้งนั้น เมื่อบวชเปนเณรนั้น สมเด็จพระพุทธโฆษาท่านเอาตัวยัดไว้ใต้ถุนกฏิท่านเพื่อสดวกแก่การควบคุม ครั้นบวชเปนพระท่านจัดการให้ออกกฏิเปนอิสสระ แต่ห้องกฏิใหม่นั้นเล็กกว่าห้องใต้ถุนกฏิสมเด็จพระพุทธโฆษาไปเสียอีก บริกขารที่ได้มาเมื่อบวชพระเต็มแน่นกฏิ ต้องร้องขอห้องที่อื่นผ่อนเอาของที่ไม่ต้องการใช้ไปเก็บเสียบ้าง ญาตโยมฝ่ายผู้หญิงพากันไปช่วยจัดกฏิริฐาน แล้วก็รื่นรมพูดกันออกชื่อเรียกเณรตามเคย แล้วรู้สึกว่าผิดเปลี่ยนเรียกพระ แล้วก็หลงเรียกเณรอีก แล้วก็หัวเราะกัน หญิงอามจึงตั้งกฏิกาขึ้น ว่าทีนี้ใครเรียกเณรต้องปรับ ๑๐ สตางค์ เอากระป๋องบุหรี่แกแรตมาเจาะฝาตั้งไว้เปนที่หยอดสตางค์ค่าปรับ เกล้ากระหม่อมเสียไป ๔๐ สตางค์แล้ว แม่โตดูเหมือนจะเสียกว่าบาท อย่าหาแต่ว่าญาตที่บ้านจะเรียกผิดเลย สมเด็จพระพุทธโฆษาก็เรียกผิด แต่ไปปรับเอาสตางค์ท่านไม่ได้ สังเกตว่าในการที่พ่องั่วได้บวชเปนพระนั้น สมเด็จพระพุทธโฆษาก็รื่นรมมากทีเดียว

องค์หญิงมาลิกาเข้ามากรุงเทพ ฯ ด้วยว่านักองค์ยุคันธรตายลงมาพักอยู่กับหญิงจงตามเคย คิดการทำศพ ได้ช่วยกันคนละไม้ละมือสำเร็จไปอย่างงดงาม เธอได้กลับออกไปแล้วเมื่อวานนี้

ทีนี้จะกราบทูลเรื่องเมืองชะวา ฟังที่ตรัสเล่าถึงเสด็จไปให้หมอตรวจพระกรรณ รู้สึกเลื่อมใสในวิธีตรวจของเขามาก ที่ไม่ได้ผลนั้นก็เปนอยู่เอง เพราะความเสื่อมเกิดแต่ชรา ฝ่าพระบาทไม่ทรงรับเอาเครื่องมิโกรโฟนนั้นถูกแล้ว เพราะว่าบรรดาอวัยวะมันเกิดมาสำหรับรับใช้เราถ้าไม่เขี้ยวเข็ญใช้มันมันก็จะทำอะไรให้เราไม่ได้ เช่นถ้าเราไม่เดินคือไม่ใช้ขาแล้วขาก็ลีบเดินไม่ได้ ถ้าเขี้ยวเข็ญใช้มันมากเข้ามันก็ดีขึ้น เช่นคนตาบอดไม่มีตาใช้ ต้องใช้หูเปนเครื่องสังเกตมากเข้าหูก็ดีขึ้น คนตาบอดทุกคนหูได้ยินดีกว่าคนตาดีเพราะใช้หูมาก ถ้าฝ่าพระบาทเอามิโกรโฟนทรงแล้ว ทีหลังถอดออกจะไม่ทรงได้ยินอะไรเลย

สมุดรูปเมืองชวาที่ทรงพระเมตตาโปรดประทานไปนั้นดีนัก เสียแต่ใต้รูปมันเปนภาษาวิลันดาอ่านไม่ออก ต้องไปพลิกหาคำแปลเปนภาษาอังกฤษอยู่ข้างลำบากพิโยคพิเกณฑ์ แต่อย่างไรก็ดี เปนอันได้ความรู้ว่าปราสาทหินในประเทศชะวา ที่มีในภาคเหนือกับภาคใต้เปนคนละชะนิดไม่เหมือนกัน ปราสาทที่ปรากฎหมดนั้นไม่เหมือนปราสาทในอินเดียเลย แต่องค์เทวรูปเหมือนอินเดีย จะเปนด้วยอะไรยังจับไม่ได้เพราะยังเห็นน้อย ส่วนทางเขมรนั้นจับได้ ปราสาทที่เก่านั้นเหมือนอินเดีย คือชาวอินเดียมาทำขึ้นก่อน ทีหลังเขมรทำแก้เข้าหาปราสาทไม้ของตนจึงเปนแบบปรางค์เขมรขึ้น

อะไรก็ไม่ติดใจเท่าพระบวรพุทโธ รู้สึกว่าประหลาดจริง จะได้ทรงสังเกตหรือไม่ว่าเจดียฐานอันนั้นเปนของทำไม่สมบูรณ ได้สร้างต่อกันสองหน หนแรกสร้างขึ้นได้แต่เพียงฐานเบญจา หนหลังสร้างฐานเชียงกลมทำพระสถูปกลุ่มขึ้นบนฐานเบญจานั้น การสร้างสองหนนั้นเห็นจะห่างกันนับด้วยชั่วอายุคนทีเดียว ข้อที่ประหลาดใจนั้นอยู่ตรงที่ว่าฐานพระบวรพุทโธนั้นไม่เหมือนกับสถานที่ไหน ๆ ในเมืองชะวาเลย แต่ไพล่มาเหมือนกับเบญจาเครื่องตั้งศพในเมืองเราเข้า ส่วนเบญจาเครื่องตั้งศพในเมืองเราไปเอาแบบแผนมาแต่ไหนก็ไม่ทราบ สิ่งก่อสร้างที่เปนของถาวรในเมืองเราก็ไม่มีเหมือนเบญจาเลย วิ่งไปมีเหมือนที่ประเทศชะวาซึ่งอยู่ไกลกันมาก นี่แหละประหลาดหนัก

พระรูปสององค์ซึ่งทรงฉายในเมืองชะวา ทรงพระเมตตาโปรดประทานไป ได้เห็นดีใจเปนล้นพ้น รู้สึกเหมือนหนึ่งได้ประสบถึงพระองค์ครั้งหนึ่ง พระรูปที่ทรงฉายพร้อมด้วยหลาน ๆ นั้นทำใจให้วุ่นวายมาก นึกถึงเมื่อคราวรวมอยู่ด้วยกันที่หาดใหญ่ มีความรื่นเริงบันเทิงใจเพียงไร บัดนี้เงียบเหงาต่างอยู่ไกลกัน ตกเปนอันว่ารูปนั้นทำความดีใจให้ในเมื่อแรกเห็นแล้วทำความเสียใจให้ในภายหลัง แต่หวังว่าฝ่าพระบาทกับทั้งหลาน ๆ คงดำรงอยู่ด้วยความสุขสิ้นด้วยกัน

ฝ่าพระบาทประทานคำปุจฉาไปแต่ก่อน ในเรื่องแขกที่ปินังเกล้ากระหม่อมได้จดตั้งกระทู้ถามไปถึงสุพรหมัณยศาสตรี แกเขียนคำแก้อธิบายมายืดยาว ซึ่งเกล้ากระหม่อมได้คัดถวายมาบัดนี้แล้ว น่าฟังอยู่

เมื่อเขียนมาถึงนี่ ได้รับลายพระหัตถ์ซึ่งประทานไปในรถเมล์วันอังคารมีความหลายเรื่องซึ่งจะเขียนกราบทูลตอบไม่ทัน แต่ที่ปรากฏในลายพระหัตถ์นั้นเปนอันได้ทรงสังเกตเห็นแล้วว่าพระบวรพุทโธนั้นเบื้องล่างกับเบื้องบนทำคนละที เกล้ากระหม่อมกราบทูลข้างต้นเปนชิดดิฐ พระสถูปกลุ่มนั้นเข้าใจว่าเปนความคิดมาทางหนึ่งต่างหาก เดิมคงจะคิดทำเปนปราสาทยอดสถูปองค์ใหญ่ตั้งอยู่กลาง แล้วมีปราสาทน้อยล้อมรอบเข้ากันหมดจะต้องเปนทรงปิริมิด เดี๋ยวนี้เปนปิริมิดยอดด้วน

ปราสาทพระจันทร์ที่ประทานไป เห็นเข้าปลื้มใจ ทรงงามพอใช้ เขาพากเพียรซ่อมแซมขึ้นดีจริง ๆ ลูกฟุ่มเฟือง ๆ ซึ่งตั้งแทนที่พระสถูปนั้นเห็นจะตั้งใจให้เปนหลังคาโดมแบบอินเดีย

ในระหว่างวันประสูติฝ่าพระบาทนั้น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านออกไปอยู่เมืองชล ของที่ฝ่าพระบาททรงอุททิศถวาย คนที่วังจะนำไปฝากใครไว้ที่วัดหรืออย่างไร แล้วจะได้มีใครนำขึ้นถวายและได้เรียนให้ท่านทราบเมื่อท่านกลับมาหรือเปล่าน่าสงสัยอยู่ อาจมีพลั้งพลาดคลาดแคล้วสักอย่างใดอย่างหนึ่ง ขอประทานสืบดูก่อน ได้ความประการใดจะกราบทูลมาภายหลัง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ