วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ดร

บ้านซินนามอน ฮอลล์ ปีนัง

วันที่ ๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๗

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ล่วงมาแล้ว ศาสตราจารย์คัลเลนเฟลบอกป่วย ว่าเปนหวัด จึงไม่ได้พบสนทนากัน แต่ยังมีเรื่องเนื่องด้วยเมืองชะวา ซึ่งควรจะทูลบันเลงได้ตกค้างอยู่อีก ๓ เรื่อง หม่อมฉันจึงจะทูลในจดหมายฉะบับนี้

เมื่อหม่อมฉันไปพักอยู่ที่บันดุง นักปราชญ์โบราณคดีคน ๑ ชื่อชัสปา มาหาหม่อมฉันปรารภแก่เขาถึงภาพชะวาเช่นที่ทำเปนตัวหนังรูปร่างพิกลผิดมนุษย์นั้น ว่าช่างชะวาแต่โบราณก็รู้จักทำรูปภาพดีงาม เช่นทำไว้ที่พระบวรพุทโธและเทวสถานพรหมานันท์ งดงามมิใช่น้อย เหตุใดพวกชะวาชั้นหลังจึงมาเปลี่ยนแปลงไปเปนรูปภาพอย่างน่าเกลียดเช่นนั้น จะว่าเพราะฝีมือช่างเลวลงดูก็ใช่เหตุ อีกประการ ๑ ดูเปนอัศจรรย์อยู่ที่รูปภาพจำหลักตามปราสาทหินของโบราณซึ่งเขาพบในอเมริกาใต้ ซึ่งว่ามนุษย์พวกมายาทำขึ้นนั้น สังเกตดูคล้ายกับรูปภาพชะวาอย่างที่ว่าน่าเกลียดนั้นยิ่งนัก พวกมายากับพวกชะวาจะเกี่ยวข้องกันอย่างไรมาแต่ก่อนบ้างหรือไม่ นายชัสปาบอกอธิบายว่า เรื่องนี้พวกนักปราชญ์เขาได้ตรวจตราพิจารณาแล้ว ลงเนื้อเห็นว่ารูปภาพที่ว่าอย่างน่าเกลียดนั้น เปนศิลปเดิมของพวกชะวามาแต่ดึกดำบรรพ์ ก่อนชาวอินเดียนำศิลปศาสตร์มาสู่แดนชะวา ข้อนี้รู้ได้ด้วยพวกชาวเกาะในมหาสมุทร์แปซิฟิค ทำรูปภาพอย่างนี้เปนเจดียวัตถุแพร่หลาย ทั้งจำหลักด้วยศิลาและถากทำด้วยไม้ เขาสันนิษฐานว่าเปนศิลปแบบอันเดียวกันกับชะวา ต้นเดิมเห็นจะเกิดขึ้นที่เกาะชะวา แล้วพวกชาวเกาะในมหาสมุทร์แปซิฟิคไปทำเลียน แต่เปนคนป่าก็ทำได้แต่หยาบ ๆ พวกมายาในอเมริกาใต้ก็คงได้แบบไปจากทางเมืองชะวาเหมือนกัน แต่เปนประเทศใหญ่ผู้คนมาก ฝีมือทำจึงดีกว่าพวกคนป่าและชาวเกาะ เมื่อหม่อมฉันกลับมาถึงปีนังพบศาสตราจารย์คัลเลนเฟลได้สอบถามเรื่องนี้อีกครั้ง ๑ แกก็บอกอธิบายตรงกันกับนายชัสปา ว่าภาพอย่างหนังแขกนี้ เปนแบบโบราณแต่ก่อนพวกชาวอินเดียมาสร้างเจดียสถาน ถึงพวกชาวอินเดียมาทำรูปภาพได้งดงาม พวกชาวเมืองไม่ทิ้งแบบเดิมซึ่งเคยทำกันมาแล้ว จึงยังอยู่ต่อมาไม่สูญไป แกกล่าวต่อไปว่า ในอเมริกาไม่มีศิลปวัตถุอันใดที่เปนของโบราณแท้ ปราสาทหินที่ว่าพวกมายาทำก็เพียงสี่ร้อยห้าร้อยปี ไม่เก่าเท่าใดนัก เปนแต่พวกอเมริกันอวดไปเท่านั้นเอง

อีกเรื่อง ๑ หม่อมฉันถามศาสตราจารย์คัลเลนเฟลว่า หม่อมฉันได้เห็นในหนังสือเรื่องหนึ่งกล่าวว่า พระเจดีย์บวรพุทโธนั้น เอาเขามอลูกหนึ่งเปนแกน จริงหรืออย่างไร แกรับว่าจริง ด้วยได้ตรวจดูแล้วมีภูเขาอย่างข้างในและเปนรอยถาก ๒ ด้าน ให้ได้ขนาดฐานทักษิณ หม่อมฉันถามแกว่าถ้าเอาภูเขาเปนแกนเช่นนั้นเหตุใดจึงทรุด แกบอกอธิบายว่า พวกช่างที่สร้างไม่ได้คิดถึงกำลังของน้ำฝน เมื่อสร้างฐานพระเจดีย์ครอบภูเขา ฝนตกน้ำฝนก็ไหลลงข้างใน เซาะภูเขาให้กร่อนจนเปนโพรง จึงเปนเหตุให้ฐานพระเจดีย์ทรุด เมื่อฟังอธิบายแล้วหม่อมฉันคิดต่อก็เห็นชอบกล พวกชะวาแต่โบราณคงรู้อยู่แล้วว่าในเกาะชะวามีภูเขาไฟมาก ภูเขาไฟมักเปนเหตุให้แผ่นดินไหว เมื่อคิดจะสร้างพระเจดีย์ให้ใหญ่โต จึงไปอาศัยเอาเขามอลูกนั้นเปนแกน เพื่อจะมิให้พระเจดีย์หักพังเพราะแผ่นดินไหว ก็ไม่พังจริง ๆ พระเจดีย์บวรพุทโธยังคงที่อยู่ดีกว่าปราสาทหินแห่งอื่นในชะวา แต่ไม่ทันคิดถึงเรื่องน้ำฝนกัดภูเขาจึงเกิดทรุด พวกปราสาทหินแห่งอื่น ๆ ไม่มีภูเขาจะให้เปนแกน จึงคิดแบบทำเปนมณฑปให้ย่อมกว่าและเตี้ยกว่าพระเจดีย์บวรพุทโธ ถึงกระนั้นก็ถูกแผ่นดินไหวพังมากบ้างน้อยบ้างทั้งหมด ไม่เหลือบริบูรณ์เหมือนอย่างที่พระเจดีย์บวรพุทโธ

หม่อมฉันพบอธิบายศัพท์ “กล๋าป๋า” ในหนังสือว่าด้วยเมืองชะวาเรื่องหนึ่ง ว่าเดิมเจ้าชะวาองค์ ๑ ตั้งเมืองขึ้นที่ตำบลสุนดากล๋าป๋า แปลคำไว้ในหนังสือนั้นว่า ตำบลป่ามะพร้าว แล้วขนานนามเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่นั้นตามภาษาสันสกฤตว่า “ชัยเกษตร” จึงเรียกกันว่าเมือง “ยักกัตตรา” เดิมพวกฮอลันดาไปเช่าที่ตั้งสถานการค้าในแขวงเมืองยักกัตตรานั้น ครั้นตั้งได้มั่นคงจึงสร้างป้อมขึ้นที่สถานี เอาชื่อรีปับลิคในฮอแลนด์มาเรียกชื่อป้อมว่า “บะเตเวีย” ฝ่ายเจ้าเมืองยักกัตตราเห็นว่าพวกฮอลันดาจะคิดร้ายจึงยกกองทัพไปขับไล่ แต่รบแพ้พวกฮอลันดาถึงเสียเมืองยักกัตตรา พวกฮอลันดาจึงย้ายมาตั้งที่เมืองยักกัตตราเปนที่มั่น เอาชื่อป้อมมาขนานเปนนามเมืองว่า เมืองบะเตเวีย แต่พวกราษฎรชาวเมืองชะวา กับทั้งพวกมลายูและไทยเราเรียกตามชื่อเดิมของตำบลว่า เมืองกล๋าป๋า (เหมือนอย่างเรียกกรุงรัตนโกสินทร์ว่าบางกอก) พวกมลายูยังเรียกกันอย่างนั้นอยู่จนทุกวันนี้ ต้นมะพร้าวก็ยังเรียกว่ากล๋าป๋าอยู่ในภาษามลายู เพราะเหตุดังกล่าวมา คำกล๋าป๋าที่ไทยเราเอาไปใช้เป็นคุณศัพท์ว่า แก้วกล๋าป๋า อูฐกล๋าป๋า ชมพู่กล๋าป๋า เป็นต้น หมายความว่าเปนของที่ได้มาจากเมืองบะเตเวียนั้นเอง ยังคำที่เรียกเปลือกชั้นในของมะพร้าวว่า “กะลา” ก็น่าจะมิใช่ภาษาไทย

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม หม่อมฉันยินดีที่หญิงเป้าไปอยู่ค้างแรมที่ตำหนักเชิงเนิน เธอได้บอกเจตนาให้หม่อมฉันทราบตั้งแต่ก่อนจะกลับเข้าไปแล้ว เธอออกมาอยู่ด้วยที่ปีนังเปนประโยชน์แก่หม่อมฉันมาก ด้วยเธอรู้ภาษาอังกฤษพอที่จะเขียนตามคำบอก และดีดพิมพ์ได้ หม่อมฉันมีกิจต้องเขียนจดหมายถึงชาวต่างประเทศเนืองๆ ได้อาศัยเธอในเรื่องนั้น เธอไปเสียเล่นเอาหนังสือคั่งค้าง เพราะจะเขียนหนังสือถึงใคร หม่อมฉันต้องเขียนเอง ร่างฉะบับ ๑ เขียนตัวจดหมายฉะบับ ๑ ลายมือก็ไม่ดี จึงออกเบื่อ ทำให้ชักช้า

เมื่อทูลถึงหญิงเป้า ยังมีกิจในเรื่องลูกอีกเรื่อง ๑ ขอทูลหารือในโอกาศนี้ด้วย คือเรื่องที่ชายดิศศานุวัติจะแต่งงาน ซึ่งหม่อมฉันได้ขอให้หน่วงเวลามานั้น มาคิดเห็นว่าบัดนี้ เธอก็ได้ที่ทำการเปนหลักแหล่งแล้ว หม่อมฉันเห็นว่าจะให้แต่งงานเสียในเดือน ๑๒ นี้ก็จะเหมาะดี ขอทูลหารือด้วยเรื่องการพิธี ด้วยเรื่องที่จะแต่งงานชายดิศศานุวัติกับหญิงหลุยนี้ หม่อมฉันได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบ และทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วแต่ก่อนเสด็จไปยุโรป ถ้าหากไม่มีเหตุการเกิดขึ้นเปนข้อขัดขวาง ก็คงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งงานพระราชทาน ที่เริศร้างมาเพราะเสด็จไม่อยู่ แต่ในเวลานั้นเจ้านายผู้อื่นก็ได้แต่งไปแล้วหลายคู่ แต่สำหรับชายดิศศานุวัติ หม่อมฉันเองเปนผู้ขอให้รอไว้ ถ้าหากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังไม่เสด็จกลับในเดือน ๑๒ ท่านจะโปรดทรงอำนวยการพิธีได้หรือไม่ ข้อนี้หม่อมฉันขอทูลถาม

เรื่องชื่อวัดราชประดิษฐฯ นั้น หม่อมฉันเข้าใจผิดทีเดียว มาคิดดูเมื่อได้เห็นหลักฐานในลายพระหัตถ์ก็ยังอ้นอั้นตันใจ คิดไม่เห็นว่าเหตุใดจึงเปลี่ยนสร้อย “ธรรมยุติการาม” เปน “มหาสีมาราม” เห็นจะต้องยอมแพ้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ