วันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ดร

บ้านซินนามอน ฮอลล์ ปีนัง

วันที่ ๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

หม่อมฉันกลับจากชะวามาถึงปีนังเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ท่านคงจะทรงคาดได้ว่าหม่อมฉันมีเรื่องต่าง ๆ ที่จะทูลถวายรายงานในการที่ไปชะวาครั้งนี้หลายเรื่อง จะเปนกถามรรคสำหรับเขียนจดหมายถวายตามเคยได้หลายสัปดาหะ ส่วนคำให้การก็ตั้งต้นเขียนอยู่แล้ว รูปฉายาลักษณ์ที่ถ่ายมาก็มีมาก แต่ต้องการเวลาที่จะเรียบเรียงให้สำเร็จแล้วจึงจะส่งเข้าไปถวาย มีความลำบากอยู่อย่างหนึ่งด้วยเรื่องของฝากที่หามาจะต้องหาโอกาสฝากใครเข้าไปถวายให้ถึง อย่าให้ไปหายเสียกลางทาง ขอทูลแต่ว่าของที่หามาถวายฝากนั้นคงจะถูกพระอัธยาศัยเปนแน่นอน

ในจดหมายฉะบับนี้จะทูลแต่โครงการที่ไปคราวนี้ก่อน ฤกษ์ยาตราไม่สู้ดี ด้วยประจวบเวลาไอหวัดใหญ่มาถึงซินนามอนฮอล หม่อมฉันรู้สึกว่าจะเปนหวัดเมื่อก่อนออกเรือวัน ๑ พอเรือออกแล้วทั้งหม่อมฉันและหญิงพูนหญิงเหลือก็จับหวัดใหญ่ทั้ง ๓ คน พวกที่อยู่ยังซินนามอนฮอลก็เปนกันหลายคน แต่อาการไม่ร้ายแรงอันใด และส่วนตัวหม่อมฉัน พออาการหวัดใหญ่ค่อยคลาย เกิดเปนลำเบโก ดูเหมือนเราเรียกกันว่าปัตคาดยึดที่เกลียวหลังทั้ง ๒ ข้าง แม้ไม่ถึงล้มหมอนนอนเสื่อก็ทำให้ไปไหนมาไหนลำบาก ต้องไปรักษากันที่เมืองบันดุงทั้ง ๓ คน แต่หมอเขามีดีมาก แม้มีอาการป่วยเช่นทูลมาติดตัวอยู่บ้างก็ได้เที่ยวเตร่ตามโปรแกรมไม่ติดขัดอันใด แต่เมื่อไปอยู่ที่บันดุงออกเที่ยวเตร่ด้วยรถยนต์ ขับขึ้นเขาลงเขาวันละ ๓-๔ ชั่วโมง หลายวันเข้าทำให้เกิดรู้สึกว่าความชะราเปนเครื่องขัดขวางแก่การตรากตรำเสียแล้ว เพราะถ้าตรากตรำรู้สึกเหนื่อย ออกเพลียนานกว่าเวลาเมื่อยังหนุ่ม จึงตัดโปรแกรมไม่ไปถึงเกาะบาหลี ถึงกระนั้นก็ยอมทนนั่งรถไฟไปทาง ๘ ชั่วโมงจนถึงเมืองยกยา ได้ไปบูชาที่มหาเจดีย์พระพุทโธ ดังได้ถวายพระกุศลไปยังท่านด้วยทิ้งไปรษณีย์บัตรจากที่นั่น และได้ไปบูชาพระพุทธรูปเมนดุดแล้วเลยไปถึงปราสาทหินพรหมานันท์ ดูคราวนี้สนุกกว่าคราวก่อน ๆ จะทูลรายงานในคราวอื่นต่อไป ถ้าว่าตามระยะเวลาที่ไป ออกจากปินังไปเรือ ๓ วันถึงเมืองบัตเตเวียค้างแรมอยู่คืน ๑ ไปแรมที่เมืองบุยเตนซ๊อกอีกคืน ๑ ต่อนั้นไปอยู่กับทูลกระหม่อมชายที่บันดุง ๑๓ วัน แล้วไปเมืองยกยาโสโล ๓ วัน กลับมาบันดุงอีก ๒ วัน พอช่วยงานวันประสูติทูลกระหม่อมชายแล้ว วันที่ ๓๐ มิถุนายนก็ขึ้นเครื่องบินจากเมืองบันดุงมาลงเรือที่เมืองบัตเตเวีย แล่นกลับมา ๕ วัน ได้แวะเมืองสิงคโปร์ เมืองมละกา เมืองกัวลาลัมปูร์ ในระยะทางก่อนกลับมาถึงปีนัง

คราวนี้จะยกเรื่องพิเศษมาทูลก่อนเรื่อง ๑ ดูเหมือนหม่อมฉันจะได้เคยทูลไปแล้ว ว่าไปชะวาคราวนี้คิดจะไปตรวจหูด้วย เพราะได้ยินว่าที่เมืองบันดุงมีหมอสำหรับรักษาหูตึง และมีเครื่องใส่หูให้ได้ยินสดวกขายด้วย เมื่อไปถึงสืบดูก็ได้จริงดังว่า มีหมอผู้ชำนาญการรักษาหูคน ๑ ชื่อหมอไฮด์ เปนหมอประจำพระองค์ของทูลกระหม่อมชายและสมเด็จหญิงน้อยอยู่ด้วย จึงได้ให้เขาตรวจ วิธีตรวจนั้นเขาให้น้ำมันไว้ให้หยอดหูวันละ ๒-๓ ครั้งอยู่ก่อน ๒ วัน ๆ ที่ ๓ เขาจึงลงมือตรวจ คือเอาน้ำฉีดเข้าไปในหู ขี้หูและสิ่งอื่นๆ ที่กรังอยู่ในหูอ่อนยุ่ยเพราะน้ำมันที่หยอดอยู่แล้ว ก็หลุดไหลออกมาหมดจนหูสอาด เห็นแก้วหูได้ถนัด เขาเอาเครื่องไฟฟ้าส่องตรวจดูแก้วหูทั้ง ๒ ข้าง แล้วบอกว่าแก้วหูยังดีอยู่กว่าที่เขาคาด บอกอธิบายต่อไปว่าอาการหูตึงนั้นอาจจะเปนด้วยโรค เช่นเส้นประสาทพิการก็ได้อย่าง ๑ อาจจะเปนด้วยชะราก็ได้อย่าง ๑ ที่หูหม่อมฉันตึงนั้นไม่ใช่เป็นด้วยโรคภัยอันใด เปนด้วยความชะราเท่านั้นเอง ทีนี้ถึงกระบวรทดลอง เอาซ่อมเหล็กคล้ายกับที่สำหรับเทียบเสียงเครื่องดนตรีมาดีดให้เกิดเสียง แล้วเที่ยวจี้ที่บ้องหูและตรงนั้นตรงนี้ ทดลองว่าได้ยินทั้งแก้วหูหรือไม่ แล้วทดลองด้วยวิธีให้ปิดหูเสียข้าง ๑ ให้คนยืนกระซิบตรงหูข้างที่เปิดทดลองว่าจะได้ยินไกลเพียงไหน ถ้าได้ยินก็ถอยห่างออกไปทุกทีจนกระทั่งถึงไม่ได้ยิน หูหม่อมฉันข้างซ้ายได้ยินไกลกว่าข้างขวา เมื่อทดลองเสร็จแล้วหมอจึงให้ความเห็นต่อไปดังนี้ว่าหูหม่อมฉันตึงด้วยความชะราจะรักษาให้หายไม่ได้ ถ้าใคร่จะให้ได้ยินถนัดเหมือนคนหนุ่มจะต้องใช้เครื่องช่วย เครื่องช่วยหูตึงนั้นที่เปนอย่างดีล้วนใช้ไฟฟ้า ต้องใส่บัตเตรี่ไว้ในกระเป๋าติดตัวแล้วล่ามสายไปใส่ไมโครโฟนที่หู ถ้าหม่อมฉันทำเช่นนั้นก็จะได้ยินถนัดดี แต่ว่าตามความเห็นของหมอยังไม่แนะนำให้ทำเช่นนั้น เพราะหูหม่อมฉันไม่ใช่หูหนวกทีเดียวเปนแต่ได้ยินยากกว่าคนหนุ่ม อุปรมาเหมือนกับคนตาสั้นเห็นอะไรไม่สู้ชัดแต่ก็ยังเห็นได้ ถ้าใส่เครื่องไมโครโฟนจะได้ยินถนัดขึ้นเหมือนกับคนตาสั้นใส่แว่นตาเห็นชัดขึ้น แต่จะทำให้ต้องฟังไมโครโฟนเสมอไป เมื่อใช้เคยแล้วถ้าไม่ใช้เมื่อใดก็จะรู้สึกรำคาญยิ่งกว่าที่เปนอยู่เดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นขอให้หม่อมฉันชั่งใจดูเองว่าจะใช้ไมโครโฟนดี หรือยอมทนได้ยินยากหน่อยอย่างเดี๋ยวนี้ หม่อมฉันก็บอกในทันทีว่าหม่อมฉันสมัครยอมทน เพราะกิจการที่หม่อมฉันจะต้องใช้หูเปนสำคัญก็ไม่มีมากนัก หูตึงอย่างที่เปนอยู่ทุกวันนี้ ก็ไม่รำคาญมากมายเท่าใดนัก เห็นว่าถ้าใช้ไมโครโฟนจะลำบากกว่าได้ประโยชน์ หมอก็เลยอนุโมทนาว่าแกก็เห็นเช่นนั้นเหมือนกัน จึงเปนอันตกลงให้เปนไปอย่างเดิมดังทูลอธิบายมา

เมื่อไปอยู่บันดุงอยู่ที่ตำหนักทูลกระหม่อมชาย กินอยู่มั่วสุมเปนอย่างครัวเดียวกัน พากันบ่นคิดถึงว่ายังขาดแต่ท่านอีกพระองค์ ๑ ถ้าได้ไปอยู่พร้อมกันจะรื่นรมย์ดีหนักหนา ที่จริงเมื่อได้ไปเห็นที่ประทับและความเปนอยู่ของเจ้านายที่ประทับอยู่ณบันดุง ท่านสบายมาก ซื้อที่ข้างนอกเมืองเห็นจะห่างเมืองราวแต่พระบรมมหาราชวังไปถึงบ้านเจ้าพระยาเทเวศรฯ ที่คลองเตย ท่านสร้างตำหนักเรียงกันเปนหมู่ ตำหนักสมเด็จหญิงน้อยเรียก “ดาหาปาตี” ตำหนักทูลกระหม่อมชายเรียก “ประเสบัน” ตำหนักกรมหลวงทิพยรัตนฯ เรียก “ปัญจรากัน” ตำหนักหญิงประสงค์สมเรียก “สตาหมัน” มีฉนวนทางเดินติดต่อถึงกันไม่เกี่ยวข้องกับผู้ใดอื่น แต่ข้อสำคัญนั้นอยู่ที่บันดุงอากาศดี หม่อมฉันได้ดูปรอตสังเกตทุกวัน อย่างหนาวเพียง ๗๓ ดีกรี อย่างร้อนเพียง ๘๐ ดีกรี ไม่สูงหรือต่ำกว่านั้นรู้สึกสบายดีมาก แต่เมื่อหม่อมฉันไปเข้าระดูแล้งแล้ว นัยว่าถ้าเปนระดูฝนบ่ายๆ ฝนตกทุกวัน แต่ก็ไม่ทำให้หนาวร้อนผิดกันกว่าระดูร้อน มีของแปลกอย่างหนึ่งที่ในห้องทรงพระอักษรของทูลกระหม่อมชาย ทำยกพื้นไว้ตอน ๑ บนนั้นมีระนาดเอกราง ๑ ฆ้องวง ๑ ระนาดทุ้มวง ๑ ที่ฝาแขวนขลุ่ย ซอสามสาย ซออู้และซอด้วง เวลาเย็นค่ำทูลกระหม่อมชายทรงเครื่องดนตรีเหล่านี้เสมอทุกวัน นอกจากนั้นก็ทำสวนปลูกดอกไม้ทุกตำหนัก มีข้อรำคาญแต่สมเด็จหญิงน้อยนั้นมีอาการประชวรเรื้อรัง เปนโรควัคกะพิการอยู่ข้าง ๑ และโรคเวลาเปลี่ยนอายุเข้ามาประสมด้วย แต่ก็มีหมอที่ดีระวังรักษาอยู่เปนนิตย์ นัยว่ายากที่จะรักษาให้หายขาด แต่ก็ไม่ถึงน่ากลัวจะใกล้อันตราย เปนแต่ต้องระวังพระองค์อยู่เสมอ นอกจากนั้นดูสบายดีทุกพระองค์

หม่อมฉันขอฝากความระลึกถึงคุณโตและหลาน ๆ ด้วยทุกคน กำลังหาของจะฝากไปถวายเณรงั่วที่จะบวชเปนพระ หวังใจว่าจะหาส่งไปได้ทันงาน.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ