วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๗

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

หม่อมฉันขอยืมแตรกัมพูมาได้ ๆ ถ่ายรูปฉายาลักษณ์ถวายมากับจดหมายฉะบับนี้ตามสัญญา นึกว่าคงจะทอดพระเนตร์เห็นใหญ่โตปลาดอยู่บ้าง มีอธิบายที่จะทูลประกอบกับรูป ว่าแตรกัมพูไม่ใช่แต่โตใหญ่เท่านั้น หนักมากด้วย หม่อมฉันลองยกขึ้นเป่าถึงมือสั่น คงเปนเพราะน้ำหนักมากนั่นเอง จึงต้องมีสายเชือกผูกสำหรับตะพายบ่าพาแตรไปในกระบวรแห่ คราวนี้จะทูลวินิจฉัยต่อไป รูปแตรงอนอย่างเก่าของไทยที่เขียนไว้ในรูปภาพ หม่อมฉันจำได้ว่ารูปมันเปนอย่างนี้ <img> และเทียบขนาดกับตัวคนที่เป่าแตรในรูปภาพ ดูจะเปนของเล็กกว่าแตรกัมพูที่หม่อมฉันถ่ายรูปถวายมาด้วย เพราะฉะนั้นเห็นว่าแตรกัมพูน่าจะมีเปน ๒ ขนาดมาแต่เดิม แตรงอนอย่างเช่นเราใช้ทุกวันนี้ หม่อมฉันได้เคยเห็นรูปภาพในหนังสือฝรั่งเรื่อง ๑ (แต่ในเวลานี้จำไม่ได้ว่าจะเปนหนังสือเรื่องอะไร) เคยนึกว่าเราได้มาจากฝรั่งทั้งแตรงอนและแตรฝรั่ง เมื่อมาพิจารณาแตรกัมพูในครั้งนี้ จึงเกิดความเห็นว่าเครื่องประโคมแห่ของไทย เดิมเห็นจะได้แบบมาจากอินเดียทั้งกลองชนะและสังข์แตร เดิมคงเปนแตรกัมพูขนาดเล็กอย่าง ๑ กับแตรกัมพูขนาดใหญ่อย่าง ๑ ใช้แตรกัมพูอยู่ก่อน จนถึงแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม หรือแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ฯ จึงเปลี่ยนใช้แตรฝรั่งแทนแตรกัมพูสืบมา บางทีจะเปลี่ยนแต่แตรกัมพูอย่างใหญ่เช่นที่ถ่ายรูปถวายมาเปนแตรฝรั่งก่อน ยังคงใช้แตรกัมพูอย่างเล็กต่อมาอีกนาน พวกช่างเขียนจึงได้เห็น จะมาเปลี่ยนเปนแตรงอนต่อเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาก็เปนได้ ขอให้ทรงพระดำริดู หม่อมฉันนึกได้ถึงเครื่องพิสูจน์เรื่องนี้มีอยู่แห่ง ๑ คือสมุดรูปภาพแห่กฐินหลวงในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ซึ่งจำลองมาจากวัดยม มีอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ ถ้าทรงตรวจดูรูปแตรในสมุดนั้น บางทีจะได้เค้าเงื่อนดีขึ้นอีก.

ชายแอ๊วกับหญิงโสฬศออกมาถึงเมื่อวันที่ ๓ หม่อมฉันได้ไปรับถึงเรือ เธอเชิญลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑ กับหนังสือเรื่องพงศาวดารรัชชกาลที่ ๓ และสมุดรูปภาพฝีพระหัตถ์ที่ประทานลูกหญิง ๓ คนมามอบแล้ว ขอบพระคุณเปนอันมาก ขอทูลสนองลายพระหัตถ์ว่าการสร้างรูปท่านผู้หญิงโม้นั้นเปนอุทาหรณ์อันหนึ่ง ซึ่งแสดงว่าความคิดสมัยใหม่ผิดกับสมัยเก่าหมดทุกอย่าง ส่วนเรื่องประวัติของท่านผู้หญิงโม้นั้น หม่อมฉันได้เคยศึกษามาบ้าง ความดีของแกมีอย่างนี้ คือเมื่อเจ้าอนุยกกองทัพลงมาจากเวียงจันท์ หลอกลวงพวกหัวเมืองว่ามีท้องตราสั่งให้ยกลงมาช่วยรบฝรั่งที่กรุงเทพ ฯ หัวเมืองรายทางก็หลงเชื่อไม่มีผู้ใดขัดขวาง หรือแม้แต่จะรีบบอกข่าวเข้ามายังกรุงเทพฯ ด้วยรู้อยู่ทั่วกันว่าเจ้าอนุเปนคนโปรดปรานมาแต่ก่อน เวลานั้นพระยานครราชสีมา กับพระยาปลัดซึ่งเปนสามีท่านผู้หญิงโม้ ก็ไประงับผู้ร้ายอยู่ทางเมืองสุริน สังขะ เจ้าอนุยกลงมาถึงเมืองนครราชสีมาแล้วจึงเข้ายืดเมือง แสดงตนเปนขบถ แล้วแต่งให้เจ้าราชวงศยกกองทัพหน้าลงมาเมืองสระบุรี แต่เมื่อมารู้ว่ากรุงเทพ ฯ รู้ตัวทันเตรียมกองทัพจะยกขึ้นไป เจ้าอนุเห็นว่าจะต่อสู้ที่เมืองนครราชสีมาไม่ไหว จึงคิดจะถอยกลับไปตั้งต่อสู้ที่เมืองเวียงจันท์ สั่งให้กวาดครอบครัวผู้คนเมืองนครราชสีมาเอาไปเปนชะเลย ท่านผู้หญิงโม้ถูกกวาดไปด้วยเพราะท่านผู้หญิงโม้เปนเมียพระยาปลัด (จึงได้เปนหัวหน้าในพวกครัวกองที่ถูกกวาดไปด้วยกัน) นัยว่าแกคิดถ่วงเวลาเดินทางเพื่อจะรอให้กองทัพกรุงเทพฯ ขึ้นไปแก้ไข จึงทำอุบายประจบประแจงพวกชาวเมืองเวียงจันท์ที่ควบคุมให้ชอบ บางทีหาผู้หญิงในพวกครัวให้เปนเมียบ้าง กระซิบสั่งให้พวกครัวแกล้งบอกป่วยให้ต้องรั้งรอบ้าง ในที่สุดเมื่อถึงทุ่งสัมฤทธิ์รู้ว่ากองทัพ กรุงเทพฯใกล้จะถึง ก็บอกให้พวกครัวต่อสู้ ไล่ฆ่าฟันพวกชาวเวียงจันท์ที่คุมไปแตกหนีมา เจ้าอนุแต่งพลให้ยกไปปราบอีกกอง ๑ ได้รบพุ่งกัน (ตอนนี้ที่ท่านผู้หญิงโม้คุมกองหลัง) พวกครัวก็ตีพวกเวียงจันท์แตกกลับมาอีก พอกองทัพกรุงเทพฯไปถึง รอดมาได้จึงได้มีความชอบ เรื่องที่หม่อมฉันได้ทราบ เค้าความเปนดังทูลมานี้ ส่วนพระยาปลัดที่เปนสามีท่านผู้หญิงโม้นั้น ตามเรื่องที่เล่ากันว่าเมื่อกลับมากลางทาง ทราบว่าพวกเวียงจันท์กวาดต้อนเอาครอบครัวไป ก็อุบายเข้าหาพวกเวียงจันท์โดยดีแล้วตามท่านผู้หญิงโม้ไป ได้ช่วยกันรบพวกเวียงจันท์ ทำนองเดียวกันกับพระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) ต้นสกุล “อมาตยกุล” เวลานั้นเปนพระสุริยภักดี เปนข้าหลวงขึ้นไปราชการอยู่ที่เมืองนครพนม พอทราบเหตุว่าเวียงจันท์เปนขบถก็รีบกลับ หมายจะมาแจ้งราชการในกรุงเทพ ฯ มาพบเจ้าอนุอยู่ที่เมืองนครราชสีมาก็เข้าหาโดยดี แล้วจึงอุบายหลบหลีกลงมากรุงเทพฯ ถูกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรังเกียจในข้อที่เข้าหาพวกขบถ ทั้งพระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) และพระยาปลัด ไม่ได้รับบำเหน็จในการสงครามครั้งนั้น พระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) รอดตัวก่อน แต่พระยาปลัดอับมาจนถึงรัชชกาลที่ ๔ จึงได้เปนเจ้าพระยามหิศราธิบดี ท่านผู้หญิงโม้หม่อมฉันก็เข้าใจว่าได้เปนท้าวสุรนารี ต่อเมื่อรัชชกาลที่ ๔.

หม่อมฉันได้ฟังชายแอ๊วกับหญิงโสฬศมาเล่า ว่าพระองค์หญิงขาวประชวรอาการอยู่ข้างมากออกวิตกอยู่ แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้รับจดหมายจากหญิงใหญ่ ว่าอาการค่อยคลายขึ้นก็ค่อยคลายวิตก หม่อมฉันหวังใจว่าสมาชิกที่ตำหนักเชิงเนิน จะสบายดีอยู่ด้วยกันหมด.

เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ศาสตราจารย์คัลเลนเฟลมาลาหม่อมฉัน แกบอกว่าตั้งแต่มาหาหม่อมฉันครั้งก่อนอาการป่วยของแกกำเริบขึ้น ถึงต้องนอนอยู่กับเตียงหลายวัน ไม่ได้ลงมาจากบนเขาถึง ๓ สัปดาหะ เดี๋ยวนี้อาการยังชั่วพอจะเดินทางได้ แกได้รับเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ British Empere ชั้นที่ ๔ เปนบำเหน็จในการที่มาช่วยตรวจขุมทรัพย์บุรพประวัติศาสตร์ในแหลมมลายู กลับไปนี้จะเดินทางบกด้วยรถยนต์เที่ยวตรวจการเรื่องขุดขุมทรัพย์เปนระยะไปจนถึงเมืองสิงคโปร์ แล้วจะไปเมืองมานิลา เพื่อการประชุมสากลในเรื่องบุรพประวัติศาสตร์ แล้วจะเลยข้ามไปเมืองฮ่องกงไปรับเกียรติยศกิตติมศักดิ์ ซึ่งมหาวิทยาลัยในฮ่องกงเขาจะตั้งแก สัญญาว่าอีกราว ๔ เดือนจะมาหาหม่อมฉันอีก ถ้ายังอยู่ปีนังก็จะมาปีนัง ถ้ากลับเข้าไปกรุงเทพ ฯ ก็จะตามเข้าไปเพื่อจะไปลาเปนครั้งสุดท้าย ด้วยแกจะออกจากตำแหน่งกลับไปอยู่บ้านเดิมในฮอแลนด์ ชายใหม่ได้ถ่ายรูปฉายาลักษณ์เมื่อศาสตราจารย์คัลเลนเฟลมาลา หม่อมฉันส่งมาถวายทอดพระเนตร์พร้อมกับจดหมายฉะบับนี้. ดูรูปหมู่ที่ถ่ายด้วยกันออกขันดี คล้ายกับรูปภาพเรื่องรามเกียรติ ส่วนยักษ์กับมนุษย์ในสมัยนั้นก็จะเปนทำนองนี้เอง เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสชะวา แกเปนผู้นำเสด็จ ตรัสเรียกแกว่ากุมภกรรณ์แกชอบใจถึงมาอวดหม่อมฉัน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ