วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๗๗

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

เมื่อวันพุธก่อน ได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๐ สิงหาคม มีเรื่องดีๆ ที่ได้ทราบเกล้าจากในนั้นหลายเรื่อง เปนพระเดชพระคุณอย่างยิ่ง

ศาสตราจารย์คัลเลนเฟลนั้นจะเปนคนสำคัญ จะค้นอะไรจากแกได้มาก ทรงพยายามแผ่น้ำพระทัยไมตรีกับแกไว้ดีแล้ว คำอธิบายของแกในเรื่องอายุของที่จมดิน ตามที่ตรัสเล่าไปคราวก่อน ว่าสังเกตด้วยชั้นดินไม่ใช่สังเกตด้วยของที่ขุดได้นั้น เปนความรู้ที่ได้ใหม่ทีเดียว เปนการลึกซึ้งที่จะต้องเรียนมากจึงจะรู้ได้

เรื่องชาติมนุษ เกล้ากระหม่อมได้รับความรู้อย่างประหลาดใจจากสมุดของลูกชายซึ่งเธอมีอยู่ มีรูปแสดงไว้ถี่ถ้วน อันชาวเกาะเช่นเกาะไหหลำ เกาะฟอโมซา แต่ก่อนคิดว่าเปนเจ๊ก แต่มิใช่เลย เจ๊กเข้าไปเบียดเบียนไล่ชาวเกาะหนีเข้าไปอยู่กลางเกาะ และกระจายไปที่อื่นก็เห็นจะมาก อันชาวเกาะนั้นที่แท้หน้าตาเหมือนชวามลายูนั้นเอง นุ่งเลาะเตี้ยะเสียด้วยซ้ำ เห็นได้ว่าชาวเกาะชาวฝั่งริมทะเลจีนภาคใต้เปนพวกเดียวกันทั้งนั้น พระยาเทวาแกเรียกว่าชาวเรือ คือพวกชำนาญเรือ ทั้งนี้ก็สมกับที่ศาสตราจารย์คัลเลนเฟลว่า และสมกับที่ฝ่าพระบาททรงพระดำริว่ามันต้องทิ้งภูมิลำเนาไปเพราะถูกเบียดเบียนนั้นเอง

ขอบใจหญิงเหลือเปนหนักหนา ที่คิดค้นถามหาเรื่องอิเหนา เรารู้กันอยู่แล้วว่าปันหยีกับอิเหนาเปนตัวเดียวกัน แต่นี่กรัตปาตียังซ้ำมาเปนตัวเดียวกันเข้าอีกด้วย เจ็บปวดมาก รูปพระปฏิมากรที่เล่นละคอนเรื่องอิเหนานั้น เกล้ากระหม่อมรู้สึกว่าเขลาครั้นเมื่อให้อย่างทำฉากละคอนดึกดำบรรพ์ได้คิดแก้ให้เขาทำเปนเทวรูป แต่ให้ทำรูปพระกามเทพ เพราะเห็นว่าการเสี่ยงคู่ควรจะไปถามพระกามเทพ แต่ก็เขลาอีก พระกามเทพไม่มีศาลที่ไหนเลย ที่ท่านแต่ก่อนทำเปนรูปโยคีก็เปนของที่ได้คิดเหมือนกัน คำปฏิมาเรารู้สึกเปนพระพุทธรูป แต่จะทำพระพุทธรูปก็ต่ำสูง จึงลดลงเปนรูปโยคี ที่ทำกิริยาเอามือจุกหูนั้นหมายว่ากำลังทำโยคะ รักษาอินทรีย์ ความคิดอันเดียวกับพระปิดตาหรือปิดทวารทั้งเก้า ก็น่าขันอยู่ ลิงญี่ปุ่นปิดหูปิดตาปิดปากก็คืออินทรียสังวรนั่นเอง

เรื่องวัดราชประดิษฐ ฝ่าพระบาททรงพระดำริผิดทางไป เพราะเกล้ากระหม่อมกราบทูลไม่ชัดเจน ขอประทานกราบทูลใหม่ ด้วยตั้งแต่เล็กมาเคยได้ยินชื่อในราชการว่า “วัดราชประดิษฐสถิตยมหาสีมาราม” เพิ่งได้เห็นสำเนาคำจารึกศิลาเขาว่าติดอยู่ที่หลังพระอุโบสถพบเมื่อสักสองสัปดาหะมานี้เอง มีความเปนประกาศพระราชทานที่ดินสร้างเปนวัดถวายพระธรรมยุตติกนิกายโดยจำเพาะ พระราชทานชื่อว่า “วัดราชประดิษฐสถิตยธรรมยุตติการาม” ประกาศลงวันที่ ๖ ๑๒ ๑๒ ค่ำ ปีชวด พ.ศ. ๒๔๐๗ ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยได้ยินสร้อยสถิตยธรรมยุตติการามอย่างนั้นเลย ได้ไปดูสอบจนถึงแผ่นศิลาจริง ก็เห็นถูกต้อง มีพระปรมาภิไธยเปนลายพระหัตถ์แกะลากร้อยด้วยซ้ำไป ไม่มีสงสัยว่าจะมีอะไรคลาดเคลื่อนอยู่ในนั้น จึงมานึกว่าแต่ก่อนพระราชทานชื่อมีสร้อยว่าสถิตยธรรม ยุตติการาม แล้วทำไมจึงมากลายเปนสถิตยมหาสีมาราม ความเปลี่ยนแปลงอันนั้นต้องเปลี่ยนมานานแล้ว จึงได้ยินติดหูมาแต่เล็ก ถ้าทูลกระหม่อมไม่ได้ทรงแปลงด้วยพระองค์เองแล้ว ก็ใครเล่าที่จะบังอาจเปลี่ยนแปลงได้ ก็เหตุใดจึงได้ทรงเปลี่ยน นี่แหละที่ทูลปรึกษา ขอประทานพระดำริ อันคำว่า “ธรรมยุตติกนิกาย” มีอยู่ในคำประกาศจารึกนั้นบริบูรณแล้ว เปนของแน่เหมือนกัน ที่ว่าคำ “ธรรมยุตติกนิกาย” กับคำ “มหานิกาย” นั้นต้องเปนทูลกระหม่อมทรงบัญญัติให้เรียก ไม่เช่นนั้นใครจะกล้าสามารถตั้งขึ้นเรียกทักขปฏิสันถารเช่นนั้นได้

ขอบพระเดชพระคุณที่ตรัสบรรยายต้นเรื่องแห่งพระนิรันตรายให้ได้ทราบชัดเจน ถ้าเกล้ากระหม่อมจำไม่ผิด พระนิรันตรายองค์เดิมนั้นครุคระไม่น่าดู จะเปนหล่อเสียไม่กล้ายุบหล่อใหม่ก็เปนได้ เพราะเหตุที่ไม่น่าดูจึงได้ทรงหล่อองค์ใหญ่ครอบไว้เสีย ส่วนองค์จำลองที่แจกไปตามวัดธรรมยุตติกานั้น เกล้ากระหม่อมลงเนื้อเห็นด้วย ว่าทรงพระดำริคาดเหตุถูกเปนแน่แท้

ขอบพระเดชพระคุณอีก ที่ตรัสบอกเรื่องพระเจ้า ๒๘ องค์ให้ทราบเกล้า อยากทราบอยู่เหมือนยัน แต่ว่าไม่สามารถจะทราบได้ จึงมิได้ขวนขวาย เปนของดีจริง ๆ

เซเดส์มาบอกข่าว ว่านครธมนั้นค้นพบเชิงเทินดิน ปรากฏว่าเมืองเก่ายาวไปทางใต้อีกเท่าหนึ่งกับที่มีกำแพงอยู่เดี๋ยวนี้ ภนมบาแคงนั้นตั้งอยู่กลางเมืองทีเดียว เกล้ากระหม่อมก็พอใจ ตามที่เขาพบจารึกว่าแรกสร้างนครธม ได้สร้างปราสาทยโสธรคิรีขึ้นก่อน พวกศาสตราจารย์พากันกระสับกระส่าย ว่ายโสธรคิรีนั้นเปนปราสาทองค์ไหน เมื่อเซเดส์ได้บอกรายงานเช่นนี้ เกล้ากระหม่อมก็หลุดปากออกไปทันทีว่าภนมบาแคงคือยโสธรคิรี เซเดส์ก้มหัวหัวเราะชอบใจ แปลว่าความเห็นตรงกันแล้ว

ข่าวกรุงเทพฯ มีจะกราบทูล หญิงเป้ามาค้างอยู่ที่บ้านคลองเตย ๓ คืน คืนแรกนอนกับหญิงอี่ คืนที่สองนอนกับแม่โต คืนที่สามนอนกับหญิงอามหญิงไอ รุ่งขึ้นกลับไปวังวรดิศ ว่าจะไปเย็บเสื้อให้หญิงมารยาตรเตรียมไปเมืองญี่ปุ่น เธอบอกว่าเด็จพ่อรับสั่งให้เธอออกไปปีนัง ท่านไม่มีใครใช้ เกล้ากระหม่อมบอกว่าเสียใจ ถ้ายังอยู่กรุงเทพฯ จะกั้นห้องให้อยู่ที่บ้านคลองเตย

กรมหมื่นภาณุพงศ์สิ้นพระชนมเสียแล้ว หมอว่าเปนโรคลำไส้เสีย (เปื่อยเน่า) ไม่ได้มีการรักษา ไม่มีใครว่าได้ เมื่อเจ็บหนักเขี้ยวเข็ญกันรับหมอมาได้วันเดียวก็ตาย ไว้พระศพที่วังบุรพา

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๘ กับดินแดง และลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๖ ได้รับประทานแล้วทั้ง ๒ ฉะบับ ขอบพระเดชพระคุณเปนอันมาก เรื่องดี ๆ ทั้งนั้น ขอประทานทูลสนองคราวหน้า

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. ตรงกับวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๗

  2. ๒. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านิพันธุ์ภาณุพงศ์ กรมหมื่นภาณุพงศ์พิริยเดช ประสูติ ๗ กันยาบน ๒๔๒๘ สิ้นพระชนม์ ๒๒ สิงหาคม ๒๔๗๗

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ