วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ดร

บ้านซินนามอน ฮอลล์ ปีนัง

วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๒๕ เดือนนี้ ขอทูลสนองความบางข้อในลายพระหัตถ์เสียก่อน ที่หม่อมฉันเขียนจดหมายถวายฉะบับ ๑ แต่ย่อๆ เมื่อแรกกลับมาจากชะวานั้น เขียนด้วยความรู้สึกคิดถึงอย่างเดียว เปรียบเหมือนอย่างว่าถ้าหม่อมฉันกลับเข้าไปกรุงเทพ ฯ รถไฟถึงเวลาเที่ยงวัน ในบ่ายวันนั้นเองคงจะไปเฝ้าที่ตำหนักเชิงเนินฉันใด เมื่อกลับจากชะวามาถึงปีนังจะเฝ้าด้วยประการอย่างอื่นไม่ได้ ก็เขียนจดหมายฉะบับนั้นถวายไปเฝ้าแทนตัวทันที

เรื่องบวชพระงั่ว ท่านได้รับความที่ปลื้มพระหฤทัยด้วยกันกับคุณโตอย่างใด หม่อมฉันเข้าใจดี ด้วยความปลื้มใจอย่างนั้นหม่อมฉันได้เคยรับแล้วเมื่อจุลดิศบวช แต่หม่อมเฉื่อยตายไปเสียก่อนไม่ได้รับความชื่นใจเหมือนกับคุณโต แต่ส่วนหม่อมฉันเองยังรำคาญเนื่องด้วยเรื่องพระงั่วบวชไม่หายจนเดี๋ยวนี้ เพราะอยากจะหาของที่ต้องหทัยเธอถวายสักสิ่ง ๑ ยังหาไม่ได้เหมาะจนเดี๋ยวนี้ ได้ซองบุหรี่ส่งไปใบ ๑ ก็เปนแต่อย่างของเล่นไม่เปนแก่นสาร ยังจะหาต่อไป

อธิบายของพราหมณ์ศาสตรีเรื่องชาวอินเดียฝ่ายใต้ ที่ประทานมากับลายพระหัตถ์นั้นดีนักหนาทีเดียว ทั้งที่แกรู้ภาษาไทยดีเรียกได้ว่าเหมือนไทย และรู้จักที่จะบอกอธิบายให้เข้าใจได้ชัดเจนด้วย หวังใจว่าแกจะยังอยู่ยืดยืนต่อไป

กถามรรคที่เตรียมจะทูลในจดหมายสัปดาหะนี้อยู่ข้างจะแปลกเพราะเปนเรื่องทางสาสนา ด้วยเมื่อหม่อมฉันอยู่เมืองบันดุง ถึงวันตรงกับวันเกิดเจ้านายที่นั่นท่านประทานของขวัญต่าง ๆ พระองค์หญิงเล็กของทูลกระหม่อมชายให้สมุดหนังสือหม่อมฉันเล่ม ๑ เปนหนังสือนักท่องเที่ยวอเมริกันคน ๑ ชื่อ สีบรุ๊ค แต่ง เล่าถึงเรื่องที่เขาได้พยายามเข้าอยู่ศึกษาขนบธรรมเนียมของพวกชาวอาฟริกา ที่ยังถือขนบธรรมเนียมเดิมไม่ได้เข้ารีตอิสลามหรือฝรั่ง ได้ความรู้เห็นแปลก ๆ มาพรรณนาในหนังสือนั้น หม่อมฉันอ่านชอบใจ เมื่อกลับมาถึงปีนังไปหาหนังสือซึ่งสีบรุ๊คแต่งได้ที่หอสมุดสำหรับเมืองอีกเล่ม ๑ เล่าเรื่องไปอยู่กับพวกอาหรับในทะเลทราย เพื่อการศึกษาอย่างเดียวกัน ผู้แต่งเอาใจใส่ในเรื่องสาสนาต่าง ๆ เล่าเรื่องที่เกึ่ยวกับสาสนาของพวกที่ได้ไปสมาคมได้ความรู้แปลกดี หม่อมฉันจึงเก็บความมาทูล ต้องรีบทูล ถ้ารอช้าไว้จะลืมเสีย

๑. เมื่อสีบรุ๊คไปอยู่กับพวกชาวอาฟริกานั้น เห็นทำลึงค์เปนวัตถุที่สักการบูชาอยู่เปนพื้น จึงพยายามสืบเสาะหานักปราชญ์ในพวกชาวอาฟริกานั้นไต่ถามว่าเหตุใดจึงทำรูปลึงค์ขึ้นบูชา นักปราชญ์ที่เปนอาจารย์ใหญ่ในพวกนั้น บอกอธิบายว่าที่จริงนั้นพวกของเขานับถือพระเปนเจ้าองค์เดียว ว่าสร้างและเลี้ยงมนุสโลก แต่พระเปนเจ้านั้นมนุษย์ไม่สามารถจะรู้เห็นว่ารูปร่างเปนอย่างไร รู้แต่ว่าเลี้ยงมนุสโลกด้วยแบ่งภาคเปน ๒ อย่าง คือ เปนปุงลึงค์ให้เกิดเชื้อชีวิตของมนุษย์และสรรพสัตว์ในโลกนี้อย่าง ๑ เปนอิถีลึงค์ที่รับบำรุงเชื้อนั้นให้เปนตัวตนขึ้นในโลกอย่าง ๑ จึงนับว่าพระเปนเจ้ามีเปน ๓ ส่วน คือวิญญาณอย่าง ๑ ปุงลึงค์อย่าง ๑ อิถีลึงค์อย่าง ๑ วิญญาณไม่สามารถจะทำเปนรูปเครื่องหมายได้ จึงสมมตเครื่องหมายพระเปนเจ้าสำหรับสักการบูชาได้รูปลึงค์ทั้ง ๒ อย่าง เขาสมมตว่าแผ่นดินเปนอิถีลึงค์ จึงทำแต่รูปปุงลึงค์ขึ้นเปนเจดีย์ เมื่ออ่านเรื่องนี้นึกถึงคติบูชาศิวลึงค์ของพราหมณ์พวกศิเวท หม่อมฉันยังไม่เคยได้ฟังอธิบายฝอยนอกจากว่าหมายว่าพระอิศวร ซึ่งสร้างมนุสโลกให้เกิดมา ท่านเคยได้ทรงฟังอธิบายกว้างขวางออกไปกว่านั้นบ้างหรือไม่ ถ้ายังไม่ได้ทรงฟังขอให้ทรงถามตาพราหมณ์ให้ค้นและเขียนอธิบายบางทีจะน่าอ่าน

๒. ในสมุดที่แต่งว่าด้วยไปอยู่กับพวกอาหรับ เขาเล่าเรื่องหนึ่งว่าเมื่อไปอยู่กับพวกเบดูอิน คือพวกอาหรับที่ชอบอยู่เต๊นเตร็จเตร่ไปตามทะเลทรายนั้น หัวหน้าอาหรับที่รับเขาเปนแขกพยายามชวนจะให้เข้ารีตเปนอิสลาม ถามเขาว่า “ท่านเชื่อหรือไม่ว่ามีอาหล่าเปนใหญ่แก่มนุสโลก” สีบรุ๊คถามว่า “อาหล่าที่ท่านว่านั้นเปนอย่างไร” หัวหน้าอาหรับตอบว่า “อาหล่าจะมีรูปพรรณสัณฐานเปนอย่างไร ไม่มีใครได้เคยเห็น รู้แต่ฤทธิกับอำนาจของอาหล่า และปรากฏเปนหลักฐานว่าเมื่อใดอาหล่าเห็นว่ามนุษย์หลงใหลไปมากนัก ก็ให้มีทูตเช่น นาบีมหะหมัต มาสั่งสอนให้รู้จักดีชั่วเสียครั้ง ๑” สีบรุ๊คตอบว่า “ถ้าเช่นนั้น ก็เชื่อว่ามีอาหล่า เพราะสมด้วยเรื่องพงศาวดารของโลก ปรากฎว่าอาหล่าเคยแต่งทูตให้ลงมาสอนมนุษย์แต่ดึกดำบรรพ์มาหลายครั้ง เช่น โมเซก็ดี พระพุทธเจ้าก็ดี พระเยซูก็ดี ก็เปนทูตอาหล่ามาแต่ก่อนเช่นเดียวกันกับมหะหมัด” ตาหัวหน้าอาหรับไม่มีคำจะตอบคัดค้าน ก็ต้องยอมรับว่าสีบรุ๊คเชื่อว่าอาหล่ามี เมื่ออ่านเรื่องนี้ทำให้หม่อมฉันหวนนึกถึงเมื่อสัก ๓ ปีมานี้ มีอเมริกันคน ๑ (ชื่ออะไรจำไม่ได้เสียแล้ว) มีชื่อเสียงว่าเปนผู้ฉลาดในการสนทนาเรื่องสาสนา ได้เข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ เพื่อจะไต่ถามเปรียบเทียบพระพุทธสาสนากับสาสนาคริสตัง ดูเหมือนได้ไปหาสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ก่อนแล้วจึงให้พระอาจวิทยาคมพามาหาหม่อมฉัน พอทักทายกันแล้วแกก็ดึงดันถามว่าท่านถือพระพุทธสาสนานั้นเชื่อว่า “มีกอดหรือไม่” หม่อมฉันตอบว่า คำที่ว่า “กอด” นั้นหมายความอย่างไร ถ้าหมายความว่ามีอำนาจอันหนึ่งที่อาจจะให้เกิดดีและร้ายแก่มนุษย์ทั้งปวงเปน กอด หม่อมฉันถือพระพุทธสาสนาก็เชื่อว่ามี God แต่ถ้าหมายว่ามีวัตถุอันหนึ่งซึ่งรูปร่างเหมือนอย่างมนุษย์อยู่บนสวรรค์ คอยลงโทษและให้บำเหน็จแก่มนุษย์ด้วยอำนาจเปน กอด ถ้าเช่นนั้นหม่อมฉันไม่เชื่อว่ามี” เมื่อตอบเช่นนั้นแล้วไม่เห็นซักไซ้ไต่ถามอันใดต่อไปในเรื่องสาสนา เมื่อมาได้อ่านในหนังสือของสีบรุ๊คว่าพวกอิสลามก็ไม่ยืนยันว่าอาหล่ามีรูปร่างอย่างใด ดูก็แปลกอยู่

๓. ในสมุดเล่มเดียวกัน สีบรุ๊คเล่าว่าเมื่อย้ายไปอยู่กับพวกอาหรับอีกพวก ๑ ซึ่งเปนนิกายตั้งขึ้นภายหลังได้นามเรียกกันเปนสามัญว่า Whirling Derwish แปลว่า “ชีหมุน” ได้เห็นการพิธีของพวกนั้น (ซึ่งหม่อมฉันเองก็ได้เคยเห็นที่เมืองอิยิปต์เมื่อกลับจากยุโรปครั้งแรก แต่เวลานั้นยังเปนโซ๊ต ไม่ได้เอาใจใส่สืบเหตุผล) เล่าว่าทำในเวลากลางคืน มีพวกประโคมเข้ากับการพิธี ผู้ที่จะเข้าพิธีนั้นแล้วแต่ใครจะสมัครแสวงบุญก็เข้าพิธี มีอาจารย์คอยแนะนำ ผู้ที่ไม่สมัคจะเข้าพิธีก็ไปนั่งอนุโมทนา (ด้วยเหตุนี้จึงยอมให้ชาวต่างประเทศ เช่นหม่อมฉันไปดูได้ แต่ก็ต้องเสียเงินช่วยบำรุง) การพิธีนั้นว่าแต่แรกคนเข้าพิธีประมาณ ๑๐ คน ออกมานั่งขัดสมาธิเรียงกันหลับตาก้มหน้านิ่งอยู่ช้านาน (คือเข้าปฐมฌาน) อาจารย์คอยตรวจดูเห็นว่าใครสำรวมใจได้ที่แล้ว ให้คนประคองตัวลุกขึ้นยืนแล้วให้หมุนตัวไปอย่างลูกข่าง แต่แรกหมุนช้าแต่หมุนเร็วขึ้นทุกที จนที่สุดตัวคนนั้นหมุนตัวเองได้จนชายผ้าปลิวไปพักใหญ่ อาจารย์จึงเข้าไปประคองตัวให้หมุนช้าลงจนหยุด สักครู่หนึ่งก็กลับได้สติอย่างเดิม เดินกลับเข้าโรงเปนเสร็จการพิธี อาจารย์ผู้รู้บอกอธิบายแก่สีบรุ๊คว่าตามลัทธิของคนพวกนั้น ถือว่ามนุษย์ควรมุ่งหมายเข้าอยู่ในพระองค์เปนอันหนึ่งอันเดียวกับพระเปนเจ้าเปนที่สุด (เหมือนอย่างคติพวกพราหมณ์) การทำพิธีเปนการเข้าฌานสมาบัติ ฝึกหัดให้รู้ทางที่จะเข้าเปนอันหนึ่งอันเดียวกับพระเปนเจ้า ชั้นแรกให้นั่งสำรวมใจให้ละความรู้สึกสัมผัสทั้งปวงเสียก่อน ถึงชั้นที่ ๒ ให้ส่งใจที่บริสุทธิ์นั้นมุ่งไปยังพระเปนเจ้า ชั้นที่ ๓ คือเมื่อหมุนตัวได้เองนั้นหมดความรู้สึกเข้าถึงพระเปนเจ้า แปลว่าฝึกซ้อมให้เห็นนิพพานในชาตินี้ ดูแปลกอยู่

๔. ต่อไปในสมุดเล่มเดียวกันยังเล่าถึงอาหรับอีกจำพวก ๑ อยู่ตามเมืองมุสุล ว่าพวกนี้เปนนิกายใหม่เหมือนกัน ถือสาต่าน (คือพระยามาร) เปนสรณ นัยว่าพวกนี้เปนที่เกลียดชังของแขกอิสลาม เพราะถือว่าไปนับถือศัตรูของอาหล่าเปนสรณ ถ้าพบเข้าในที่เปลี่ยวมักพาลหาเหตุฆ่าเสีย จนเมื่ออังกฤษได้ควบคุมเมืองอีลัค คอยห้ามปรามพวกนี้จึงค่อยพ้นภัย เพราะฉะนั้นจึงชอบฝรั่ง เปนเหตุให้สีบรุ๊คเข้าไปอยู่ด้วยได้ถึงกระนั้นยังมีปกปิดในลัทธิห้ามมิให้ออกนามสาต่าน และทำแต่รูปนกยูงเปนเจดีย์ สีบรุ๊คพยายามเข้าไปจนได้สนทนาไต่ถามอาจารย์สอนสาสนาของคนพวกนั้น บอกอธิบายว่าเชื่อว่ามีอาหล่าอยู่บนสวรรค์เหมือนกันกับพวกอิสลาม แต่อาหล่าอยู่ไกลมิใคร่จะได้มีโอกาศมาตรวจตราบำรุงโลก จึงมอบภาระให้สาต่านเปนผู้คุ้มครองโลกแทนพระองค์มีกำหนดหมื่นปี ด้วยเหตุนี้มนุสโลกจึงยังมีการวิวาทบาดเทลาะทุกขภัยต่าง ๆ พวกเขาบูชาสาต่านเพื่อจะให้ยับยั้งหรือปิดกั้นภัยอันตรายแก่พวกเขา (คล้ายกับเอาใจโจรอย่าให้ปล้นสดมภ์) พิเคราะห์ดูใจมนุษย์อาศัยความรักสุขและเกลียดทุกข์เปนมูล เชื่อถือผันแปรไปได้ต่างๆ ดังทูลมา ถ้าเชื่อถือแต่คนสองคนก็ไม่แปลกปลาด แต่มันเชื่อรวมกันได้ตั้งร้อยตั้งพันจึงดูปลาดนักหนา

เขียนมายืดยาวจนถึงวันเมล์ ขอประทานยุติจดหมายฉะบับนี้แต่เพียงนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ