วันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๗ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๔๗๗

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ชายแอ๊วกลับจากปินัง เชิญลายพระหัตถ์ซึ่งลงวันที่ ๑๒ ไปให้แล้ว

พระดำรัสชี้แจงถึงบทวลัญฉน์นั้นพอใจสิ้นสงสัยแล้ว รูปเปนท้าวคนก็เปนวิษณุบาทของพวกพราหมณ์ ไม่ใช่พระพุทธบาทของพวกพุทธสาสนิก

พระดำริในเรื่องคำใช้ของเรา ซึ่งคลุกเคล้าอยู่ด้วยภาษาอื่น ๆ นั้นเปนข้อกระพือใจให้คิดต่อ ว่าภาษาอะไรจะย่างเข้ามาปนจากทางไหนเมื่อไรเปนกรณีที่น่าคิดอยู่มาก แต่ก็ยากมากทีเดียว ตามวิถีจิตต์ที่เดินไปแล้วเวลานี้ได้เจาะดูแต่ภาษาสํสกฤตกับบาลีก่อน ภาษาสํสกฤตเข้ามาก่อนภาษาบาลีนั้นเปนการแน่ ดั่งที่ได้ตรัสประทานตัวอย่างให้เห็น เช่นพระสงฆ์ของเราแปลคำสัตถาว่าพระศาสดา เห็นด้วยเกล้าว่าภาษาสํสกฤตจะเข้ามาได้ถึงสองทาง คือมาพร้อมกับลัทธิไสยศาสตร์ทางหนึ่ง กับมาทางพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานอีกทางหนึ่ง เพราะลัทธินั้นใช้ภาษาสํสกฤต คิดเห็นว่าจะมาทางพระพุทธศาสนาไม่ใช่มาทางศาสนาพราหมณ์ ด้วยมีพยานอยู่ที่พิธีอุปสมบท อาจารย์ยังบอกสรณาคมเปนพุทธังควบกับพุทธัม เพิ่งจะเลิกเสียเมื่อเร็วๆ นี้เอง อาจมาทางเขมรก็ได้ เพราะได้เห็นซากพุทธสถานลัทธิมหายานมีในเมืองเขมรมากนัก หรือจะสืบต่อมาจากจีนก็ได้ เพราะพวกจีนพวกมงคลและพวกธิเบตถือลัทธิมหายานด้วยกันทั้งนั้น ภาษาบาลีก็เข้ามานานแล้วเหมือนกัน ถ้าหากเปนพระสงฆ์ลังกานำเข้ามาครั้งเมืองสุโขทัยยังมีอำนาจเปนอิสสระอยู่ ก็ถึงหกร้อยปีมาแล้ว แต่อย่างไรก็ดี เราถือพระพุทธศาสนาทางลัทธิมหายานก่อนนั้นเปนแน่ แล้วเอามาแปลงเปนหีนยานทีหลัง ดั่งจะเห็นได้ในบทสวดมนต์ เช่น สัมพุทเธ วิปัสสิสส์ นโมเม สัพพพุทธาน เหล่านี้เห็นได้ว่ารูปเปนของมหายาน จะต้องแปลจากภาษาสํสกฤตเข้าสู่ภาษาบาลี ใครแปลก็ไม่ทราบ เราจะแปลหรือทางลังกาจะแปลนำเข้ามาก็ไม่ทราบ ที่ยังเหลือเปนภาษาสํสกฤตอยู่ทั้งสูตรก็มีจำได้ มหาชัยหรืออะไร ซึ่งฝ่าพระบาทเคยหาคนเข้าไปสวดถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงสดับทำนอง ยังประเพณีที่ถือกันปรากฏอยู่ เช่นเข้าใจว่าพระนิพพานเปนเมืองแก้วนั้นก็คือเมืองสุขาวดีของลัทธิมหายาน ทำโบสถ์หันหน้าไปตะวันออกนั้นก็เปนลัทธิมหายาน เพราะเขาถือว่าพระอมิตาภาประทับอยู่ ณ สุขาวดีทางทิศตะวันตกแห่งโลกเรา เมื่อไหว้พระจะได้ตรงถูกทิศที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่สุดจนกระดึงแขวนหลังคาโบสถ์วิหารก็เอาอย่างมาจากคำกล่าวทางมหายาน ว่าพุทธวิหารที่สถิตพระพุทธอมิตาภา ประดับประดาด้วยกระดึงพรวน ฟังวิเวกวังเวงในเมื่อลมพัด กับทั้งสวนในสุขาวดีก็มี มยูร โกญจา โกกิลา เหมือนสวนท้าวเวสสวัณในภาณยักษ์ ภาณยักษ์อาจแปลมาจากหนังสือสํสกฤตทางมหายานอีกก็ได้ ผู้รู้พวกเราแต่ก่อนรู้ดีทั้งบาลีสํสกฤต คำใช้ในหนังสือเก่า ๆ ไม่มีผิดเลย รู้จักเลือกด้วยว่าคำภาษาใดจะเพราะก็ใช้คำภาษานั้น เช่นในปฐมสมโพธิ เมืองราชคฤหก็หาเอาราชคหไม่ พระเจ้าอชาตสตรูก็หาเอาอชาตสัตตุไม่ ส่วนเมืองสาวัตถีสิหาเอาศราวัสตีไม่ เพราะท่านเห็นรุงรังเลือกเอาแต่ภาษาที่ฟังเกลี้ยงหู ตกมาถึงผู้รู้ชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ ภาษาสํสกฤตไม่กระดิกหูเลยเข้าใจไปว่าสํสกฤตเปนคำคิดแผลงจากคำบาลีไปเสียด้วยซ้ำ ไม่เข้าใจว่าเปนภาษาอันหนึ่งซึ่งมีหลักฐานอยู่อีกต่างหาก เพราะฉะนั้นคำสํสกฤตเก๊ ๆ เช่นสมเสยพอนุสาวรีย์ จึงเกิดขึ้นเปนอันมาก น่าขายหน้า

ขอบพระเดชพระคุณที่ทรงพระเมตตาโปรดให้ชายแอ๊วนำสมุดรูปศิลาจำลักฝีมือจามซึ่งขุดได้ใหม่ที่ทัพน้ำเข้าไปให้ดู พิจารณาเห็นเทวรูปกับครุฑนั้นเหมือนของเขมรอย่างเลวๆ ที่เปนรูปฐานตรงลูกแก้วจำหลักเปนปุ่ม ๆ ทอดพระเนตรเห็นเปนนมคน ดูก็ชอบกลอาจเปนได้ตามพระดำริ แต่ยังไม่เคยเห็นมีแบบแผนที่ไหน และทำไมจึงทำเปนนมคนคิดไม่ออก รูปคชสีหทรวดทรงก็ทีเขมร แต่เขมรไม่มี รูปมังกรเหมือนทางชะวา รูปยักษ์นั้นและดีมากกว่าเพื่อน ท่วงทีจมูกตาหนวดเครามาทางยักษบ้านเรา เครื่องอาภรณไปทางละคอนชะวา ซึ่งละคอนเราเค้าก็ไปทางชะวาเหมือนกัน ข้อที่ตรัสทักถึงมวยหลังนั้นถูกแล้ว ประเพณีพวกเราทางนี้สังเกตได้ง่าย ถ้าเกล้ามวยบนกระหม่อมเปนตัวเจ้านาย ถ้าเกล้ามวยท้าทอยเปนเสนาและไพร่ เสียใจ ฝีมือจามตามหลังเขมรและชะวาไม่แยกทางไป ถ้าได้โอกาสใครออกมาจะฝากสมุดนั้นมาถวายคืน

ฟังชายแอ๊วคุยดูรื่นรมย์ตื่นเต้นปินังมาก เธอเห็นจะออกสนุกมากทีเดียวที่ได้มาเที่ยวปินัง และแอกตีฟมาก พอกลับถึงกรุงเทพฯ วันนั้นก็ไปหาเกล้ากระหม่อมวันนั้น บอกว่าชวนหญิงโสฬศให้มาด้วยกันก็ไม่มา ว่าฟกรถไฟ ฝ่าพระบาททรงพระดำริเอาชายใหม่เข้าโรงเรียนนั้นดีแล้ว ดีกว่าอยู่ทำงานของฝ่าพระบาทแต่เพียงเล็กน้อย

ทีนี้จะกราบทูลต่อเติมเรื่องแตรกัมพู ที่ว่าทำขึ้นโดยเลียนเสียงช้างนั้นเปนการแน่นอนในเทศนาเวสสันตรชาดกกัณฑ์มหาราช ซึ่งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตทรงพระนิพนธ์ก็มีว่า “ฝ่ายพระคชินทเรศ เศวตคชาพิเชียรพิชัยปัจจัยนาถ ก็เปล่งเสียงก้องโกญจศัพทประกาศกาหฬคำรนนฤโฆษ” แต่เปนความกลับกันว่าพระยาช้างเปล่งเสียงเหมือนแตร ตกลงว่าเสียงช้างก็เหมือนเสียงแตร เสียงแตรก็เหมือนเสียงช้าง ทั้งสองอย่างต้องเลียนจากกัน ช้างมีมาก่อน แตรมีมาทีหลัง ต้องตัดสินว่าแตรทำเอาอย่างเสียงช้าง ทำไมจึงทำแตรเอาอย่างเสียงช้าง คิดเห็นว่าเวลาก่อนโน้นช้างเปนกำลังอันเข้มแข็งของกองทัพ เช่นกับ “แตงก์” ในทุกวันนี้ อาจย่ำยีสตรูให้ย่อยยับได้ดีด้วยกำลังกองช้าง เพราะฉะนั้นฝ่ายปรปักษแม้ได้ยินแต่เสียงช้างร้องก็ทำให้ขวัญหนี ด้วยกลัวจะถูกย่ำยีด้วยกองช้าง อาศัยเหตุอันนี้จึงคิดทำแตรขึ้นปลอมเสียงช้าง ใช้เป่าในกองทัพเมื่อเดินไป แม้ความจริงจะมีช้างแต่น้อย เมื่อเป่าแตรเข้าประกอบกับเสียงช้างจริง ๆ ด้วย ย่อมทำให้ฝ่ายปรปักษซึ่งได้ยินแต่เสียงมีใจครั่นคร้ามโดยสำคัญว่ามีช้างมาก มูลเหตุแห่งแตรคงจะเปนดังนี้

เกล้ากระหม่อมขอถวายรูปท้าวสุรนารีที่นายเฟโรจีปั้น อันตัดจากหนังสือพิมพ์มาเพื่อทอดพระเนตร ปั้นดีพอใช้ เมื่ออ่านหนังสือใต้รูปว่าตั้งและฉลองกันแล้วก็ตกใจ อะไรหล่อแล้วเสร็จเร็วจริง ได้เห็นเมื่อต้นเดือนกำลังทำหุ่นปลาสเตออยู่ยังไม่แล้ว จึงไปฟังข่าวที่นายเฟโรจี ได้ความว่าเอารูปปลาสเตอทาเปนสีทองสัมฤตไป ตั้งที่ไหนดูไม่ออก เห็นจะสูงอยู่เพราะเห็นหลังคามุงกระเบื้องหนุนหลังอยู่เบื้องต่ำ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ