วันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

จดหมายฉบับนี้หม่อมฉันร่างไว้ก่อนได้รับลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๓ ตุลาคม เพราะฉะนั้นจะทูลสนองความในลายพระหัตถ์ต่อข้างท้าย ข้างต้นจดหมายจะทูลเสนอเรื่องก่อนประวัติศาสตร์เสียก่อนสักตอน ๑ เท่าที่หม่อมฉันศึกษาหาความรู้ได้เพียงในเวลานี้ ความที่ทูลอาจจะวิปลาสพลาดพลั้งด้วยความรู้ยังบกพร่อง หรือเข้าใจผิดไปได้บ้าง อย่าเพิ่งทรงเชื่อถือเป็นหลักฐานนัก

อธิบายกาละกำหนด

เบื้องต้นจะต้องทูลอธิบายวิธีที่เขากำหนดกาละก่อนประวัติศาสตร์เสียก่อน เพราะวิชานี้เป็นการค้นเรื่องอดีตถอยหลังขึ้นไปนับด้วยหลายล้านปี จะอาศัยศักราชอันใดเป็นเครื่องกำหนดไม่ได้ จึงใช้สังเกตอุบัติเหตุต่าง ๆ ของโลกเปนกำหนด เรียกว่า Geological Time คือ “ภูมิกาล” (ประหลาดที่ไปเข้าเค้ากับกาละกำหนดของชาวอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์) คือ กำหนดอดีตกาลเปน ๕ Division เทียบตรงกับ “กัลป” ในกัลป ๑ แบ่งเปนหลาย Sub-division เทียบตรงกับ “ยุค” (บางกัลปมียุคมาก บางกัลปมียุคน้อย ไม่เท่ากัน) ในยุค ๑ ยังแบ่งเปน Period เทียบตรงกับ “สมัย” เปนส่วนที่สุดแห่งกาละกำหนดต่อเข้าเขตประวัติกาลจึงใช้ศักราช

ลักษณะที่กำหนดกัลปนั้น เอาเหตุสำคัญที่เกิดในโลกเป็นเกณฑ์ เช่นเกิดไฟไหม้โลกและเกิดมีดวงชีวิตขึ้นในโลก เปนต้น เรียกชื่อกัลปเปนลำดับเลข กำหนดยุคนั้น เอาวัตถุที่เกิดก่อนและหลังในกัลปเดียวกันเปนเกณฑ์ เรียกชื่อยุคด้วยอาศัยวัตถุนั้น ๆ กำหนดสมัยนั้น อาศัยความเปลี่ยนแปลงของวัตถุในยุคเดียวกันเปนเกณฑ์ เรียกแต่ว่าสมัยต้นและสมัยปลาย หรือสมัยต้น สมัยกลาง และสมัยปลาย ของยุคนั้น ๆ ถ้ากล่าวอธิบายเปนอุปมา (ให้หญิงอามฟัง) อย่างซึมซาบ กัลปเปรียบเหมือนรัชกาล ยุคเปรียบเหมือนอย่างในรัชกาลที่ ๕ มียุคเกิดรถไฟและยุคเกิดรถยนต์ ส่วนสมัยนั้นเปรียบเหมือนเมื่อเกิดรถยนต์แล้ว รถยนต์สมัยต้นยังดังอึกทึกกึกก้อง รถยนต์สมัยปลายแล่นเงียบเฉียบดีฉะนั้น

แต่ส่วนจำนวนปีตามปฏิทินในตำราเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ได้แต่คาดคะเน ไม่มีใครรู้ว่ากัลปไหน ยุคไหน หรือสมัยไหน จะเปนจำนวนปีเท่าใด รู้แน่แต่ว่ามากมายนับด้วยหมื่นด้วยแสนและด้วยล้านปี ตรงกับที่เราเรียกว่า “อสงไขย” นับไม่ถ้วน

อธิบายประวัติโลก

กัลปต้นเรียกว่า Archaen ตรงกับ “อาทิกัลป” (คือ แรกมีเค้าเงื่อนพอสังเกตรู้เรื่องได้บ้าง) อธิบายว่าโลกที่เราอยู่นี้ ในกัลปนั้นไฟ “ประลัยกัลป” ไหม้อยู่ และ (ไอไฟบันดาลให้) มีเมฆหุ้มห่ออยู่รอบโลก จำเนียรกาลนานมา (ไม่รู้ว่ากี่ปี) เมื่อเชื้อไฟที่เปลือกโลกหมดไป ไฟก็ไหม้เชื้อลามลงไปในกลางโลก ส่วนเปลือกโลกเมื่อเย็นแล้วก็แข็งกลายเปนหินขรุขระ (เช่นลูกมะกรูด) มีที่สูงเปนโคกเปนเขาบ้าง ที่ต่ำเปนแอ่งลึกบ้าง ส่วนเมฆหุ้มห่ออยู่รอบโลก (เมื่อหมดไอไฟที่ไหม้เปลือกโลกแล้ว) ก็หายไป บันดาลให้แสงอาทิตย์ส่องลงถึงโลก ทีนี้ก็เกิดฝนตกเปนนิจมาช้านาน (นับปีไม่ถ้วน) น้ำฝนที่ตกต้องโลกไหลลงจากที่สูงโดยธรรมชาติก็ไปขังอยู่ในที่ต่ำ ทำให้ที่แอ่งกลายเปนทะเลและห้วงน้ำต่าง ๆ มีขึ้นในโลก ใช่แต่เท่านั้น แรงน้ำฝนที่ตกชะหินให้ย่อยเปนกรวดทรายไหลลงไปกับน้ำฝน นานเข้าก็ไปทับถมกันจนเปนพื้นแผ่นดินที่ราบมีขึ้นด้วย ส่วนไฟที่ไหม้ลงไปทางกลางโลกนั้น เมื่อมีเปลือกโลกหุ้มห่ออยู่ข้างนอก ไอไฟออกได้แต่ทางช่องภูเขาไฟไม่พอจะระบายไปได้สดวก จึงเกิดเปนแรงไอไฟอยู่ในกลางโลก เมื่อไอไฟคั่งมากแรงเบ่งดันเปลือกโลกออกมา เปนเหตุให้เกิดแผ่นดินไหว อาจเปลี่ยนสัญฐานเปลือกโลกไปต่าง ๆ เช่น ดันแผ่นดินบางแห่งให้สูงขึ้นจนเปนภูเขา ยกตัวอย่างดังเทือกเขาหิมาลัย (ซึ่งเขาตรวจโดยทางวิทยาศาสตร์รู้ได้ว่าเดิมอยู่ในท้องทะเล) บางที่ก็ทำให้ห้วงน้ำเปลี่ยนระดับ บางแห่งแห้งหายหรือกลายเภทไปได้ต่าง ๆ ยังส่วนอากาศธาตุที่มากระทบโลกก็เกิดเปนระดูกาล แต่บางยุคก็วิปริตผิดผันไปได้ต่าง ๆ แต่ในอาทิกัลปที่กล่าวมานี้ ชีวิตยังหามีในโลกไม่

กัลปต่อมาเรียกว่า Primary Division ตรงกับ “ปฐมกัลป” เริ่มเกิด Life คือ ดวงชีวิตขึ้นในโลก ดวงชีวิตเมื่อแรกเกิดขึ้นนั้น เปนแต่อย่างต่อมอันหนึ่งอยู่ในน้ำมากกว่ามาก มีธรรมชาติ (เกิดแก่เจ็บตาย) ต้องหายใจและกินอาหารจึงอยู่ได้ มิฉะนั้นก็ตาย ตัวดวงชีวิตนั้น ครั้นนานมาได้พบและบริโภคอาหารต่าง ๆ ก็เกิดนิยมและพยายามหาอาหารด้วยอาการต่างกัน จึงเปนปัจจัยให้ดวงชีวิตผิดกันเปน ๒ อย่าง คือเปนพฤกษชาติอย่าง ๑ เปนสัตวชาติอย่าง ๑

ตำนานพฤกษชาติ

ตำนานพฤกษชาตินั้น อธิบายว่าดวงชีวิตจำพวก ๑ นิยมยึดอยู่กับพื้นดินที่ใต้น้ำไม่ขวนขวายย้ายที่ เพราะชอบกินแต่ธาตุละเอียดเปนอาหาร นานมาก็กลายเปนพฤกษชาติ แล้วเกิดพืชพรรณขยายลามตามพื้นดินใต้น้ำขึ้นไปยังที่ตื้นโดยลำดับ ในชั้นนี้ยังหายใจได้แต่ในน้ำ ถ้าเอาขึ้นพ้นน้ำไม่ช้าก็ขาดใจตาย (เช่นพวกต้นสาหร่าย) แต่เมื่อมีพืชพรรณขยายต่อขึ้นไปถึงที่มีเวลาน้ำแห้ง เมื่อน้ำลงขอดก็ต้องกลั้นใจในเวลาเมื่ออยู่พ้นน้ำจนเคย นานเข้าก็กลายเปนพรรณพฤกษ์ซึ่งอยู่ในน้ำเพียงตอนโคนก็หายใจได้ (เช่นกกเปนต้น) พืชพรรณของพฤกษชาติพวกนี้รู้จักหายใจนอกน้ำยิ่งขึ้นโดยลำดับ นานเข้าก็ไม่ต้องหายใจในน้ำ จึงกลายเปนพฤกษชาติที่เกิดและอยู่แต่บนบก นานเข้าก็กลายเปนต้นไม้ มีดอกผลปลิวกระจายขยายพืชพรรณออกไปโดยลำดับ จนตลอดโลกด้วยประการฉะนี้.

ตำนานสัตวชาติ

พวกดวงชีวิตที่กลายเปนสัตวชาตินั้น ผิดกับพวกพฤกษชาติที่ชอบกินอาหารหยาบ (สัตว์ทั้งหลายจึงต้องถ่ายมูล) อาการที่แสวงหาอาหารของดวงชีวิตจำพวกนี้ก็ต่าง ๆ กัน บางจำพวกไม่พยายามย้ายถิ่นที่ไปห่างไกล บางจำพวกก็ชอบย้ายที่เที่ยวเสาะหาอาหาร นานมาจึงเกิดรูปพรรณต่างกันตามกิริยาอาการ ตั้งแต่เปนฟองน้ำและตัวปะการัง เปนแมลงกะพรุนแล้วเปนหอยปู ล้วนเปนสัตว์ Invertabrate คือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเกิดขึ้นในโลกก่อน นานมาจึงเริ่มเกิดสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง คือปลาเปนอาทิที่อาจว่ายน้ำรวดเร็วและไปได้ไกล ๆ สัตวชาติที่เกิดขึ้นในปฐมกัลปยังต้องอยู่ในน้ำ เพราะหายใจได้แต่ในน้ำทั้งนั้น.

กัลปต่อมาเรียกว่า Secondary Division ตรงกับ “ทุติยกัลป” เริ่มเกิดมีสัตว์บกขึ้นในกัลปนี้ อธิบายกำเนิดของสัตว์บกนั้นว่าเริ่มด้วยมีปลาจำพวก ๑ ชอบหาอาหารกินตามชายตลิ่ง มักขึ้นไปหากินถึงที่เลนจนเคย นานเข้าอวัยวะ (ที่เราเรียกว่าหูปลา) ทั้ง ๒ ข้างก็ค่อยแข็งขึ้น จนอาจพุ้ยพาตัวไปได้บนเลน (เช่นปลาตีน) และรู้จักหายใจบนบกด้วย นานมาหู ๒ ข้างที่มีเดิมกลายเปนเท้าหน้า และครีบข้างหลังก็กลายเกิดเปนเท้าขึ้นอีกคู่ ๑ เปน ๔ ขาสำหรับพาเดินและว่ายน้ำ พืชพรรณจึงกลายเปนสัตว์อีกประเภท ๑ เรียกว่า Amphibian (นึกหาศัพท์ภาษาไทยให้ตรงกันยังไม่ออก) ความหมายว่าอยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบก (เช่นกบและจรเข้เปนต้น) เพราะอาจหายใจได้ทั้งบนบกและใต้น้ำ พืชพรรณของสัตว์ประเภท Amphibian นี้ต่อมากลายเปนสัตว์จตุบาทอยู่บนบก ส่วนพวกสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังก็มีบางจำพวกที่เริ่มขึ้นบก เช่น ตะขาบ แมลงป่อง และปูเปนต้น สัตว์ทั้ง ๒ จำพวกนี้ เรียกว่า Reptile ตรงกับสัตว์เลื้อยคลาน ตามอธิบายของไทยหมาย เช่นจำพวกงู ตะขาบ แมลงป่อง และจิ้งเหลน แต่อธิบายของฝรั่งรวมตลอดไปในบรรดาสัตว์ที่สืบพรรค์ด้วยออกไข่มาเปนตัวนอกครรภ์ แม้จนพวกสัตว์ตัวใหญ่โตกว่าช้างซึ่งสูญพรรค์ไปแล้ว ก็นับในจำพวก Reptile เพราะเหตุที่ออกลูกเปนไข่เหมือนกัน

กำเนิดของนกนั้น อธิบายว่าเกิดจากสัตว์จตุบาทนั้นเอง ด้วยมีสัตว์เลื้อยคลานบางจำพวกชอบกินลูกไม้ หรือหลีกเลี่ยงภัยอันตรายเปนเหตุให้ชอบขึ้นไปอยู่บนต้นไม้เปนปกติ เมื่ออยู่บนต้นไม้ก็มิใคร่มีกิจต้องเดิน แต่จำต้องกระโดดโลดโผนไปตามกิ่งไม้อยู่เสมอ นานเข้ากระดูกก็เบาและขาหน้าก็กลายเปนโครงปีก แล้วมีขนปีกหางงอกขึ้นจนบินได้ จึงกลายเปนนกไปด้วยประการฉะนี้.

กัลปต่อมาเรียกว่า Tertiary Division ตรงกับ “ตติยกัลป” เกิดสัตว์ขึ้นอีกประเภท ๑ เรียกว่า Mammal ตรงกับว่า “กินนม” สัตว์ประเภทนี้ผิดกับสัตว์เลื้อยคลาน ที่เกิดพืชพรรณด้วยไข่อยู่ในครรภของมารดาจนเปนตัวแล้วจึงคลอด เมื่อคลอดแล้วกินนมต่อมา สัตว์ประเภทนี้เปนจตุบาทอยู่บนบกเปนพื้น แต่เปนปลาก็มีบ้างเช่น ปลาวาฬ ปลาฉลาม และปลาโลมา ก็ออกลูกเปนตัวเหมือนกัน มนุษย์ก็นับอยู่ในสัตว์จำพวกนี้.

กัลปต่อมาเรียกว่า Quaternaryตรงกับ “จตุถกัลป” ซึ่งต่อกับสมัยประวัติศาสตร์ จึงเปนกัลปสุดท้ายในภูมิกาล เรื่องในกัลปนี้ว่าด้วยการเปลี่ยนแปรพืชพรรค์ของสัตว์ต่าง ๆ และประวัติของมนุษย์ ซึ่งจะทูลอธิบายในกัณฑ์หน้าต่อไป. ความรู้เพียงเท่าที่ทูลมานี้กว่าจะหาได้ก็เหงื่อตก.

ความที่หม่อมฉันจะทูลสนองลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๓ นั้น เรื่องรูปพระชนกชนช้าง รูปที่หม่อมฉันชอบคือที่เขียนไว้ด้านหน้าตู้ใบที่ท่านทรงพรรณนามานั่นเอง ที่จะเอามาทำเปน Christmas Card เห็นจะต้องคิดแก้ไขบ้างเล็กน้อย คือตัดที่เส้นขอบบานออกให้เปนช้าง ๒ ตัวตั้งหน้าจะชนกัน ทูลเท่านี้คงเข้าพระทัยได้ดีแล้ว.

ที่พระพินิจต้องออกจากตำแหน่งในหอพระสมุด ฯ หม่อมฉันได้ทราบอยู่ก่อนแล้ว ได้ยินว่ามีอาการเจ็บป่วยด้วยเปนโรคเส้นประสาทมาช้านาน หม่อมฉันก็นึกสงสารอยู่ แต่หม่อมฉันไม่ได้รับข่าวคราวจากตัวเองเลย.

เรื่อง “พระบรมรูป ๖๓” นั้นหม่อมฉันมีความยินดีและขอถวายอนุโมทนาในการที่ทรงจัดไป มามีความคิดเกิดเพิ่มขึ้นอีกอย่าง ๑ ด้วยนึกปรารภว่าเมื่อเชิญพระบรมรูปนั้นไปไว้ในหอพระสุราลัยพิมานแล้วจะพ้นถูกรื้อแย่งได้ แต่เมื่อนานไปถึงชั้นลูกหลานเหลนจะไม่มีใครรู้เรื่องตำนานของพระบรมรูปองค์นี้ จึงคิดว่าควรจะทำครอบกระจกครอบพระบรมรูปด้วย สำหรับจะได้กันลอองและมิให้ใครจับต้อง และควรจะเขียนเรื่องตำนานพระบรมรูปองค์นี้ลงแผ่นกระดาษ ใส่ซองวางไว้ใต้ฐานพระบรมรูปที่ในครอบรักษาเรื่องตำนานไว้ด้วยกัน ที่จะทำครอบนั้นก็เห็นจะไม่สิ้นเปลืองเท่าไร หม่อมฉันเชื่อว่าเจ้าพระยาวรพงศคงจะเต็มใจทำไม่ขัดข้อง ส่วนเรื่องตำนานนั้นหม่อมฉันได้ลองร่างขึ้นส่งมาถวายกับจดหมายฉะบับนี้ ถ้าโปรดตามความคิดขอให้ทรงอ่านตรวจแก้ไขเสียให้ดีก่อนจึงเขียนลงกระดาษ

หม่อมฉันลองคิดต่อไปถึงเหตุที่การปั้นพระบรมรูปเปนเวลาช้านาน และไม่หล่อเปนทองสัมฤทธิ์ มาเห็นเหตุเนื่องกัน ด้วยการหล่อรูปคนที่ยังมีชีวิต แต่โบราณถือว่าเปนอัปมงคล ห้ามปรามกันกวดขัน เพราะต้องเอารูปหุ่นขี้ผึ้งเข้าไฟหลอมให้ละลาย เข้ากับการที่ทำร้ายกันด้วยกฤตยาคม จึงหล่อแต่พระพุทธรูปกับรูปสมภารเจ้าวัดที่มรณภาพแล้ว แม้พระพุทธรูปที่ชำรุดเหลือวิสัยที่จะปฏิสังขรณ์ จะเอาลงหล่อหลอมสร้างเปนพระพุทธรูปองค์ใหม่ เช่นเรื่องพระศรีสรรเพ็ชญ์ในรัชชกาลที่ ๑ ก็ยังห้ามปรามกันกวดขัน หม่อมฉันเคยได้ยินคำเล่าว่าเมื่อแรกมีช่างถ่ายรูปฉายาลักษณ์เข้ามา มิใคร่มีใครยอมให้ถ่าย ด้วยเกรงว่าจะเอารูปไปใช้ทำร้ายด้วยกฤตยาคม สมเด็จเจ้าพระยา ๒ องค์ ๆ ใหญ่ไม่ยอมถ่ายรูป ยอมแต่องค์น้อย ใช่แต่เท่านั้นมีใครอีกคน ๑ หม่อมฉันลืมชื่อไปเสียแล้ว ไปถ่ายรูปที่ร้านนายจิตร ๆ ถ่ายเปนรูปครึ่งตัวเจ้าของเห็นเข้าตกใจ ตีโพยตีพายว่าจะตัดตัวให้เปนอันตราย ทูลกระหม่อมไม่ทรงถือทั้งถ่ายรูปและปั้นรูปก่อนคนอื่น บางทีเมื่อไม่โปรดรูปฝรั่งปั้นแล้วจะให้ช่างไทยทำพระบรมรูปเท่าพระองค์ น่าจะทรงพระราชดำริให้ทำเปนรูปหล่อตามอย่างฝรั่ง แต่จะถูกพวกที่ถือคติโบราณเพททูลขัดขวางในการที่จะหล่อพระบรมรูป จึงเปลี่ยนไปเปนแต่ให้ปั้นด้วยปูนน้ำมัน ความที่ทูลนี้ตามนึกเดา ไม่มีหลักฐานอันใด.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ