วันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ดร

บ้านซินนามอน ฮอลล์ ปีนัง

วันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑ เดือนนี้ ขอทูลตอบความบางข้อสนองลายพระหัตถ์เสียก่อน

๑. เมืองนครศรีธรรมราชนั้น หม่อมฉันเคยสอบสวนได้หลักฐานว่าตั้งมาแต่ในสมัยศรีวิชัย พระมหาธาตุองค์เดิมเหมือนกันกับพระมหาธาตุไชยา พระสถูปที่เปนพระมหาธาตุเดี๋ยวนี้ พวกลังกามาสร้างครอบพระมหาธาตุเดิมต่อภายหลัง หลักฐานที่ทูลนี้ได้มาจากพระครูเทพมุนี (ปาน) แกบอกหม่อมฉันว่าเมื่อซ่อมวิหารพระม้า ได้ขุดพื้นลงไปพบบรรไดพระมหาธาตุเดิมอยู่ใต้ดินเป็นอีกองค์หนึ่งต่างหาก พิเคราะห์ความนี้ก็สมด้วยเรื่องพงศาวดารที่ปรากฎว่าพระลังกามาตั้งที่เมืองนครศรีธรรมราชก่อน และมาสร้างพระสถูปมหาธาตุก็คงเปนเพราะมาพบพระมหาธาตุของเดิมมีอยู่ที่นั้น แต่คงจะไม่รู้เรื่องตำนานของพระมหาธาตุเดิม จึงเอาเรื่องทางเมืองลังกามาแสดง ว่าพระทันตกุมารและนางเหมชะลาเชิญพระบรมธาตุ มาจากเมืองทันตบุรีในอินเดีย ยังมีหลักฐานอีกอย่าง ๑ ที่พบศิลาจารึกในบริเวณวัดมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งตัวอักษรเปนสมัยเก่าก่อนพวกลังกามาเมืองนครศรีธรรมราช จึงเห็นว่าพอจะเชื่อได้ว่าเงินตรา นโม เดิมเห็นจะพบที่เมืองนครศรีธรรมราชบ้าง แล้วจึงทำปลอมหรือทำเทียมต่อมา

๒. ข้อที่ทรงปรารภเรื่องพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ที่เมนดุตกับข้อว่าพระพุทธศาสนาที่มาถึงชะวา หีนยานจะมาก่อนหรือจะมาเมื่อเปนมหายานแล้วทีเดียว ความ ๒ ข้อนี้เผอิญหม่อมฉันได้ถามศาสตราจารย์คัลเลนเฟล ซึ่งเดี๋ยวนี้มาอยู่ที่ปีนัง ด้วยเหตุดังจะทูลเปนกถามรรคต่อไปในจดหมายฉะบับนี้ เรื่องพระพุทธรูปและรูปพระโพธิสัตว์ในเมนดุตนั้น แกรับรองความเห็นหม่อมฉัน และบอกว่าแกมีหลักฐานที่จะช่วยด้วย เพราะเมื่อแกปฏิสังขรณ์มณฑปเมนดุตนั้น ได้พบรอยมณฑปเก่าก่อด้วยอิฐมีอยู่ แกเข้าใจว่าเดิมคงสร้างพระพุทธรูป กับรูปพระโพธิสัตว์เป็นสำคัญ มณฑปคงจะสร้างกันมาหลายครั้ง ตั้งแต่เปนมณฑปไม้แล้วเปลี่ยนเปนก่ออิฐ ในที่สุดจึงทำด้วยศิลา ความคิดที่ว่าโบราณสถานสร้างด้วยไม้ก่อนแล้ว จึงแปลงเปนศิลาเมื่อภายหลังนี้ ที่จริงหม่อมฉันได้วิเคราะห์มาจากศาสตราจารย์ปามองเตีย ฝรั่งเศส เมื่อไปดูพระวิหารด้วยกัน ไปเห็นเครื่องบนพระวิหารเปนรูปปั้นลมเรือนไม้ ไปเอ่ยขึ้นว่าแปลก ปามองเตียจึงบอกอธิบายว่าบรรดาปราสาทหิน เดิมสร้างด้วยไม้เสียชั้นหนึ่งก่อน เหมือนอย่างสร้างวัดกันทุกวันนี้ให้สำเร็จทันตาผู้สร้าง ต่อภายหลังมาลูกหลานจึงสร้างใหม่ด้วยศิลา เพราะการสร้างด้วยศิลาเปนเวลานาน กว่าจะแล้วกินเวลาหลายชั่วคน ในชั่วอายุผู้สร้างจะทำให้สำเร็จไม่ได้ ที่พระวิหารเดิมก็คงเปนเครื่องไม้ เมื่อสร้างเปนเครื่องศิลาในภายหลัง เอาแบบหลังคาเดิมคงไว้จึงมีปั้นลมเหมือนเรือนไม้

เรื่องลัทธิศาสนาที่มาถึงชะวานั้น ความเห็นคัลเลนเฟลเห็นว่าลัทธิหีนยานมาถึงก่อน เพราะยังมีพระพุทธรูปจีวรจีบอย่างแบบอมรวดีทำด้วยศิลา ขุดพบที่สุมาตราและเกาะคาลีฟ แต่พระพุทธศาสนาที่รุ่งเรืองในชะวานั้นเปนสมัยมหายาน

๓. เรื่องอธิบายเครื่องทรงมีพระมาลาเส้าสูงเปนต้น แปลกนักหนา ดูราวกับ นาย ก.ศ.ร. กุหลาบมาเกิดขึ้นใหม่ ใครหนอที่ใช้ชื่อว่า “สุรคุปต์” ขอให้ทรงพยายามสืบดูเงียบๆ คงจะรู้ได้ เสียดายแต่แปลชื่อเมืองนครราชสีมาหายไปเสียไม่ได้ประทานมา หม่อมฉันจะให้ลูกลองค้นดูในหนังสือพิมพ์ซึ่งมีอยู่ที่นี่ บางทีจะพบ

เรื่องชื่อเมืองนครราชสีมา หม่อมฉันเคยแปลและนึกว่าไม่ผิด จะได้ทูลท่านแล้วหรือยังจำไม่ได้ เมื่อหม่อมฉันขึ้นไปเมืองนครราชสีมาครั้งแรก รถไฟยังไม่แล้วต้องขี่ม้าไปแต่ทัพกวาง มีเวลาพักตามระยะทางหลายวัน เมื่อพักอยู่ที่สูงเนินเขาพาหม่อมฉันไปดูเมืองโบราณมี ๒ เมือง ตั้งอยู่เมืองละฟากลำตะคอง เขาเรียกว่า “เมืองเสมา” เมือง ๑ “เมืองเก่า” เมือง ๑ เมื่อหม่อมฉันไปถึงเมืองนครราชสีมา พิจารณาดูแผนผังที่สร้างเมือง เห็นเปนทำนองเดียวกับเมืองนครศรีธรรมราช สมกับคำฝรั่งแต่งหนังสือเรื่องกรุงศรีอยุธยาไว้เรื่อง ๑ ว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้อินยิเนียร์ฝรั่งเศสคิดแบบสร้างเมืองโคราชและเมืองนคร จึงเกิดความคิดว่า “เมืองเสมา” ที่สูงเนินเห็นจะเป็นเมืองเดิม แล้วสร้าง “เมืองเก่า” ขึ้น และเมืองเก่านั้นเดิมคงชื่อว่า “โคราฆบุระ” เปนมูลของชื่อที่เรียกว่า “โคราช” สืบมาจนทุกวันนี้ เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้สร้างเมืองใหม่เอาชื่อเมืองทั้ง ๒ ไปปรุงกันเปนชื่อเมืองใหม่ โคราฆ เปนนครราช เสมา เป็น สีมา จึงชื่อว่า นครราชสีมา หม่อมฉันคิดเห็นมาดังนี้

คราวนี้จะทูลกถามรรคสำหรับสัปดาหะต่อไป ที่ริมฝั่งใต้แม่น้ำกวาลามุดา อันเปนเมืองอังกฤษต่อกับเมืองไทร เดิมมีกองเปลือกหอยโตใหญ่อยู่ที่นั้นกอง ๑ มิสเตอร์เออล์ เจ้าเมืองปีนังคน ๑ ได้ไปตรวจพบกระโหลกศีรษะกับโครงกระดูกคนโบราณที่ในกองเปลือกหอยนั้น เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ (ก่อนหม่อมฉันเกิด ๒ ปี) ส่งไปยังประเทศอังกฤษ นักปราชญ์ในประเทศนั้นตรวจลักษณะว่าเปนลักษณะร่างของมนุษย์จำพวกออสเตรโล-เมลาเนสอด์ แต่หามีผู้ใดได้เอาเปนธุระตรวจตราต่อมาไม่จนป่านนี้ ศาสตราจารย์คัลเลนเฟล ซึ่งเปนผู้ชำนาญการตรวจวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ รับอาสาจะอำนวยการขุดค้นที่นั้น รัฐบาลอังกฤษก็ศรัทธายอมออกค่าใช้สอยในการนั้นให้ ศาสตราจารย์คัลเลนเฟลจึงมายังเมืองปีนังเพื่ออำนวยการขุดค้น ว่าจะอยู่สัก ๖ เดือน แกเคยเข้าไปกรุงเทพฯ ได้รู้จักกับหม่อมฉัน แต่แกมาถึงปีนังเมื่อหม่อมฉันยังไม่กลับจากชะวา เมื่อรู้ว่าหม่อมฉันกลับมาแล้ว ยังเที่ยวสืบหาที่อยู่ จึงพึ่งมาพบกันเมื่อสัก ๔-๕ วันมานี้ แกบอกว่าร่างมนุษย์ที่ขุดพบตรงตำบลนั้น เห็นจะเปนมนุษย์ในสมัยเมื่อก่อนคริสตศกสัก ๔,๐๐๐ ปี คือ ๖,๐๐๐ ปีมาแล้ว แต่เมื่อขุดค้นทั่วแล้วจึงจะรู้ได้แน่ หม่อมฉันถามแกว่ากระโหลกศีรษะคนโบราณที่ขุดพบณะที่ต่างๆ นั้น อาศัยหลักฐานอย่างใดจึงรู้ว่ามีชีวิตอยู่เมื่อกี่หมื่นกี่พันปีมาแล้ว แกบอกอธิบายว่าโดยลำพังแต่หัวกระโหลก รู้ได้แต่ว่าเปนคนโบราณ เพราะรูปหัวกระโหลกผิดกันกับคนในปัจจุบันนี้ ยกตัวอย่างดังหัวกระโหลกคนโบราณที่ขุดได้ในชะวา ลักษณะคล้ายหัวลิงมากกว่าหัวคนเดี๋ยวนี้ ความรู้สมัยว่ากี่หมื่นกี่พันปีมาแล้วนั้น ต้องอาศัยสังเกตแผ่นดินตรงที่ขุดพบหัวกระโหลก คือใช้วิชา Geology ช่วยสังเกตความเปลี่ยนแปลงของแผ่นดินตรงนั้นจึงรู้ได้ หม่อมฉันถามแกว่าในหนังสือพงศาวดารว่าถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อันไม่มีศักราชจะกำหนดได้ ใช้แบ่งเป็นยุค ๆ เช่นเรียกว่า ยุคน้ำแข็ง เปนต้น หมายความอย่างไร คือในสมัยนั้นมีน้ำแข็งไหลหลากลงมาจากข้างเหนือหรือ แกตอบว่ามันไม่เช่นนั้น มันเกิดด้วยระดูวิปริต เปรียบดังว่าหิมะเคยตกตามฤดูกาลเปนปกติมาเพียงปีละ ๑๐ นิ้ว เกิดโลกธาตุบันดาลให้หิมะตกมากขึ้นถึงปีละ ๑๒-๑๓ นิ้วติดๆ กันหลายปี ก็อาจจะให้แผ่นดินเปลี่ยนแปลงไปได้มาก เพราะมีน้ำแข็งปกปิดอยู่นานวันเกินเหตุ ที่ตรงนั้นเคยได้แสงสว่างหรือเคยอาศัยแผ่นดินก็น้อยวันลง พืชน์พรรณที่เคยงอกงามตามระดูก็หมดไปฉันใด เหมือนอย่างในทะเลทรายที่ตรวจพบลำน้ำและตอไม้อยู่ใต้ทราย ก็เกิดแต่ระดูกาลวิปริตในที่นั้น ทำให้ฝนตกน้อยลงกว่าปกติ พืชน์พรรณต้นไม้ที่เคยอาศัยฝนก็เหี่ยวแห้งล้มตายไปเปนอันดับ เมื่อไม่มีต้นไม้ปกคลุมแผ่นดินก็เลยแห้งร่วนเปนทราย ลมพัดพาปลิวไปถมทับท้องที่ต่าง ๆ นานเข้าก็กลายเปนทะเลทราย ว่าอย่างง่าย ๆ เหมือนอย่างถ้าว่าในเมืองไทยฝนตกประจำปีมากขึ้นอีกสักครึ่งหนึ่งติดๆ กันไปตั้ง ๑๐ ปี พื้นเมืองก็เปลี่ยนแปลงไปได้มาก แกบอกความคาดคะเนของแกเพียงเท่าหลักฐานที่มีอยู่ โดยได้พบวัตถุต่าง ๆ อันเปนของสมัยก่อนประวัติศาสตร์ทางตะวันออกนี้ แกสันนิษฐานว่าพวก ชะวา ออสเตรเลีย เหล่านี้ มาจากทางเมืองจีน เดินผ่านประเทศสยามและเมืองเขมรมาทั้งนั้น แต่ว่าลงมาก่อนไทยหลายพันปี ถ้าขุดพบโบราณวัตถุที่ริมแม่น้ำกวาลามุดาดังคาด แกนึกว่าจะได้หลักฐานดีขึ้นอีก ที่ตำบลแกขุดนั้นอยู่ห่างเมืองปีนังเพียงสัก ๑๘ ไมล์ ไปรถยนต์ได้ถึงริมน้ำกวาลามุดา แต่นั้นต้องเดินไปอีกสักครู่หนึ่งก็ถึง แต่เดี๋ยวนี้ยังกำลังคุ้ยเขี่ยเปลือกดินข้างบน ยังไม่ถึงที่มีโบราณวัตถุ ต้องขุดช้า เพราะใช้จอบเสียมไม่ได้ ได้แต่เอาไม้เขี่ย ด้วยกลัวจะไปถูกกระทบของโบราณแตกหักเสีย ได้ตกลงกับหม่อมฉันว่าถ้าถึงที่มีของเมื่อใด แกจะบอกให้หม่อมฉันทราบ หม่อมฉันคิดว่าจะไปช่วยแกขุดดูสนุกดี

น่าสงสารสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ถูกบรรทุกงานมากนักจะทนไหวและหรือ ถ้าท่านได้รับของที่หม่อมฉันถวายแล้วถึงจะตอบช้าไปก็ไม่เป็นไร ขอแต่ให้จุใจของท่าน ขอทูลว่าเรื่องระยะทางเที่ยวชะวาที่หม่อมฉันกำลังเขียนออกจะยาวมาก เกือบจะเปนหนังสือพิมพ์ได้เล่ม ๑ แต่เห็นจะยังอีกหลายวันกว่าจะแต่งสำเร็จ และได้พิมพ์ดีดส่งไปถวาย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ