- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
๏ เมื่อนั้น | พระรามสุริย์วงศ์ทรงศร |
ไสยาสน์เหนืออาสน์อลงกรณ์ | ภูธรดำริตริไตร |
ชิชะไมยราพขุนยักษ์ | มาลอบลักสะกดกูได้ |
ผู้อื่นก็จะสิ้นชีวาลัย | อยู่ที่ตํ่าใต้บาดาล |
แต่นิ่งนึกตรึกไปไม่ไสยา | จนแสงทองส่องฟ้าฉายฉาน |
พระพายชายพัดรำเพยพาน | สุมามาลย์หอมกลิ่นระคนกัน |
หมู่วิหคเร่าร้องถวายเสียง | สำเนียงฆ้องกลองก้องสนั่น |
ดาวเดือนเลื่อนลับสัตภัณฑ์ | สุริยันเยี่ยมยอดบรรพตา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึ่งชำระสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองดั่งเทพเลขา |
พระกรจับศรอันศักดา | เสด็จออกหน้าพลับพลาชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ พร้อมทหารทั้งสองนคเรศ | น้อมเกศยอกรบังคมไหว้ |
เกลื่อนกลาดดาษเฝ้าพระภูวไนย | ดั่งดาวล้อมแขไขในอัมพร |
พอได้ยินสำเนียงกึกก้อง | สะเทือนท้องมรกตสิงขร |
ผงคลีบดบังทินกร | ภูธรจึ่งมีพระบัญชา |
ดูกรพิเภกกุมภัณฑ์ | อันเสียงเลื่อนลั่นสนั่นป่า |
จะเป็นทัพกุมภกรรณยกมา | หรือว่าอสูรตนใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังบัญชาภูวไนย | บังคมไหว้สนองวาที |
อันทัพที่ยกออกมา | คือพญากุมภกรรณยักษี |
ทรงโมกขศักดิ์อันฤทธี | วันนี้เห็นมีกำลังนัก ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระรามสุริย์วงศ์ทรงจักร |
ได้ฟังน้องท้าวทศพักตร์ | ว่าทัพขุนยักษ์ที่ยกมา |
มีกำลังด้วยเทพอาวุธ | ทั้งเรืองฤทธิรุทรแกล้วกล้า |
จึ่งมีพระราชบัญชา | ถามพญาพิเภกอสุรี |
ครั้งนี้จะเห็นผู้ใด | จะต่อกรชิงชัยด้วยยักษี |
จึ่งจะไม่เสียท่วงที | แก่ไอ้อสุรีอาธรรม์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกโหราตัวขยัน |
รับสั่งพระองค์ทรงสุบรรณ | บังคมคัลสนองพระวาจา |
อันท้าวพญาวานร | เห็นไม่ต้านทานกรยักษา |
ขอให้พระศรีอนุชา | ไปต่อฤทธาด้วยขุนมาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรกฤษณ์ลือฤทธิ์ทุกทิศาล |
ได้ฟังพิเภกโหราจารย์ | ผ่านฟ้าชื่นชมยินดี |
จึ่งว่าดูกรเจ้าลักษมณ์ | น้องรักผู้ร่วมชีวิตพี่ |
จงยกพหลโยธี | ไปต่อตีดูกำลังอสุรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | น้องพระหริรักษ์นาถา |
น้อมเศียรกราบลงกับบาทา | แล้วสนองบัญชาด้วยยินดี |
ตัวน้องขอรองฉลองบาท | พระเชษฐาธิราชเรืองศรี |
สู้ตายไม่เสียดายชีวี | มิให้เคืองธุลีพระทรงฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระภุชพงศ์องค์นารายณ์จักรกฤษณ์ |
ฟังพระอนุชาร่วมชีวิต | ดั่งสุรามฤตชโลมทา |
ตรัสสั่งลูกพระสุริย์ฉาน | ให้ตรวจเตรียมทวยหาญซ้ายขวา |
ไปด้วยพระศรีอนุชา | เข่นฆ่าอริราชไพรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพกระบี่ศรี |
รับสั่งสมเด็จพระจักรี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ จัดเอาสุรกานต์ชาญยุทธ์ | คุมพลเจ็ดสมุทรเป็นกองหน้า |
เกียกกายเกสรทมาลา | คุมโยธาถ้วนสิบสมุทรไท |
กองหลวงนั้นพลสิบห้าสมุทร | เลือกล้วนฤทธิรุทรแผ่นดินไหว |
ยกกระบัตรโคมุทวุฒิไกร | คุมไพร่สิบสมุทรวานร |
กองหลังมหัทวิกัน | พลขันธ์เจ็ดสมุทรชาญสมร |
กวัดแกว่งอาวุธสำหรับกร | ดั่งจะช้อนเอาพื้นแผ่นดิน |
ต่างตนลำพองคะนองศึก | เริงร่านหาญฮึกด้วยกันสิ้น |
เตรียมทั้งรถแก้วโกมิน | กบินทร์คอยเสด็จยาตรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์นาถา |
ลาองค์สมเด็จพระจักรา | เสด็จมาที่สรงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ให้ไขท่อแก้วปทุมทอง | เป็นละอองเฟื่องฟุ้งหอมหวาน |
สุคนธาปรุงทิพย์สุมามาลย์ | สนับเพลาเครือก้านสุบรรณบิน |
ภูษาพื้นสีเขียวขำ | ทองชํ้าเชิงรูปภุชงค์สิ้น |
[1]ชายแครงช่อเครือกินริน | ชายไหวรายนิลกระหนกครุฑ |
ทับทรวงร่วงแสงสังวาลวัลย์ | ตาบทิศกุดั่นประดับบุษย์ |
เฟืองห้อยร้อยห่วงชมพูนุท | ธำมรงค์เรือนครุฑทองกร |
พาหุรัดเป็นรูปนาคกลาย | มงกุฎแก้วแพร้วพรายประภัสสร |
ขัดพระขรรค์จับศิลป์ฤทธิรอน | บทจรขึ้นรถพรรณราย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
โทน
๏ รถเอยราชรถแก้ว | ดุมวงกงแวววิเชียรฉาย |
แปรกหามงามพริ้มโพยมพราย | จำหลักลายภาพล้อมบัลลังก์ลอย |
เสาแก้วมังกรกระหนกมาศ | เครือหงส์ลงหาดช่อห้อย |
จัตุรมุขสุกพลามอร่ามพลอย | ท้ายเฉิดงอนช้อยด้วยธงชาย |
สารถีขับเทพสินธพ | ลำพองรบผาดเผ่นเขม้นหมาย |
เครื่องสูงจับพื้นโพยมพราย | ธงรายนำริ้วเป็นทิวไป |
เสียงฆ้องกลองประโคมโครมครื้น | สะท้านพื้นทั่วภพแผ่นดินไหว |
หมู่ทหารขานโห่เอาชัย | รีบพวกพลไกรยาตรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราวนอก
๏ ครั้นถึงเห็นทัพกุมภกรรณ | ตั้งมั่นอยู่ริมชายป่า |
จึ่งให้หยุดพหลโยธา | จะดูกิริยาอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญากุมภกรรณยักษี |
ยืนรถอยู่กลางโยธี | เห็นทัพกระบี่ยกมา |
มนุษย์น้อยเป็นจอมพลากร | แน่งน้อยอรชรดั่งเลขา |
ผิวพักตร์ผ่องเพียงพระจันทรา | ใครเห็นเป็นน่าจำเริญใจ |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | สั่งพวกพลมารน้อยใหญ่ |
ให้แยกเป็นปีกกาออกไป | มั่นไว้อย่าเพ่อเข้าโจมตี |
ตรัสแล้วก็ทำสีหนาท | องอาจดั่งพญาราชสีห์ |
ให้ขับรถรัตน์มณี | ฝ่าหมู่โยธีขึ้นมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ จึ่งร้องว่าเหวยมนุษย์น้อย | กระจ้อยร่อยเท่านิ้วหัตถา |
ดั่งสตรีมีลักษณ์โสภา | นี่หรือชื่อว่าพระลักษมณ์ |
เราเห็นก็เป็นเอ็นดู | จะองอาจมาสู้โมกขศักดิ์ |
ที่ไหนจะครือมือยักษ์ | เห็นจักไม่รอดชีวี |
จงเร่งเลิกทัพกลับไป | บอกให้พระรามผู้พี่ |
ออกมารณรงค์ต่อตี | ใครดีจะได้เห็นกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ได้ฟังวาจากุมภกรรณ | จึ่งมีบัญชาตอบไป |
เหวยเหวยดูกรขุนมาร | อย่าอวดหาญเจรจาหยาบใหญ่ |
เราคือพระกาลชาญชัย | ฤทธิไกรเลิศลบโลกา |
ตัวท่านเป็นน้องทศพักตร์ | ถือแต่โมกขศักดิ์คมกล้า |
ฝ่ายเราเป็นน้องพระจักรา | ทรงศรศักดาวราวุธ |
แต่สังหารผลาญชีพชีวัน | กุมภัณฑ์ตายยับนับสมุทร |
อย่าอ้างถึงองค์พระทรงครุฑ | ผู้เป็นมงกุฎธาตรี |
ตัวกูยกมาจะสังหาร | ตัดเอาเศียรมารยักษี |
ไปถวายเบื้องบาทพระจักรี | ยังที่สุวรรณพลับพลา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญากุมภกรรณยักษา |
ได้ฟังพระลักษมณ์เจรจา | โกรธาคือไฟบรรลัยกัลป์ |
ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันกระทืบบาท | ทำอำนาจดั่งหนึ่งฟ้าลั่น |
เหม่เหม่มนุษย์เท่าแมลงวัน | กูจะหั่นให้ยับทั้งอินทรีย์ |
ว่าแล้วจึ่งมีบรรหาร | สั่งโลทันมารสารถี |
ให้กลับรถรัตน์มณี | มาที่ประชุมโยธา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ แล้วมีสีหนาทประกาศไป | เหวยพวกพลไกรทัพหน้า |
เร่งเข้าราวีตีประดา | ฆ่าหมู่วานรให้วายปราณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | โยธากองหน้าใจหาญ |
ก้มเกล้ารับสั่งพญามาร | ทะยานเข้าตีทัพวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พุ่งซัดอาวุธเป็นห่าฝน | ต่างตนก็ยิงธนูศร |
โห่สนั่นลั่นฟ้าดินดอน | ฟันฟอนอุตลุดวุ่นไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพลวานรน้อยใหญ่ |
รบรับสัประยุทธ์ชิงชัย | ว่องไวถาโถมโจมตี |
ตีนถีบปากกัดพัลวัน | ติดพันกับหมู่ยักษี |
เป็นเหล่าเหล่ารบรุกคลุกคลี | ถ้อยทีไม่ละลดกร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่โยธาชาญสมร |
ขับกันหนุนเนื่องเข้าราญรอน | ไล่ตีวานรอลวน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ กลอกกลับจับกันหลายท่า | ต่างตีต่างฆ่าสับสน |
ถ้อยทีมีฤทธิแรงรน | ต่างหาญต่างทนเข้าราวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | จึ่งหมู่โยธากระบี่ศรี |
หลบหลีกว่องไวในที | โถมเข้าโจมตีพลมาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ หัวขาดตีนขาดดาษดา | ด้วยกำลังฤทธากล้าหาญ |
อสุราแตกย่นไม่ทนทาน | วิ่งพล่านไม่รอต่อตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | จึ่งตรีพลัมยักษี |
ทั้งฤทธิกาสูรอสุรี | อีกพัทกาวีกุมภัณฑ์ |
เห็นพลแตกพ่ายกระจายมา | ต่างตนโกรธาตัวสั่น |
กวัดแกว่งอาวุธดั่งไฟกัลป์ | เข้าไล่โรมรันวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ สามนายแยกกันประจัญตี | ท่วงทีองอาจดั่งไกรสร |
หวดซ้ายป่ายขวาด้วยฤทธิรอน | ตะลุมบอนกลางหมู่กระบี่ไพร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | สุรเสนสุรกานต์น้อยใหญ่ |
ทั้งนิลขันชาญชัย | เห็นสามยักษ์ไล่รุกบุกมา |
กริ้วโกรธพิโรธดั่งไฟฟอน | สำแดงฤทธิรอนแกล้วกล้า |
ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันสนั่นฟ้า | โถมเข้ารับหน้าอสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ สุรเสนเผ่นโผนโจนจับ | กับตรีพลัมยักษี |
สุรกานต์ผู้ชาญฤทธี | จับพัทกาวีขุนมาร |
อันนิลขันผู้ศักดา | จับฤทธิกาสูรใจหาญ |
หกนายโรมรันประจัญบาน | ต่อกรรอนราญไม่งดกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ทั้งสามอสุราแข็งขัน |
ถาโถมโรมรุกบุกบัน | ตีประจัญกับสามวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ต่างแทงต่างฟันต่างจับ | กลอกกลับด้วยกำลังชาญสมร |
ถ้อยทีถ้อยมีฤทธิรอน | ต่อกรตอบแทนกันไปมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | สามกระบี่ฤทธิไกรใจกล้า |
รับหัตถ์ปัดป้องอสุรา | โถมเข้าเข่นฆ่าราวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ สามนายจับสามขุนมาร | ด้วยกำลังหาญกระบี่ศรี |
ฟาดลงกับพื้นปัถพี | อสุรีสุดสิ้นชีวา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด โอด
๏ เมื่อนั้น | กุมภกรรณสิทธิศักดิ์ยักษา |
เห็นสามทหารมรณา | โกรธาดั่งไฟบรรลัยกัลป์ |
กวัดแกว่งโมกขศักดิ์กระทืบบาท | ร้องตวาดเสียงดั่งฟ้าลั่น |
ให้ขับรถแก้วแพร้วพรรณ | เข้าไล่บุกบันวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | องค์พระอนุชาชาญสมร |
ครั้นเห็นน้องท้าวยี่สิบกร | เข้ามาราญรอนราวี |
จึ่งชักศรสาตร์ขึ้นพาดสาย | มุ่งหมายจะล้างยักษี |
หน่วงน้าวด้วยกำลังฤทธี | น้องพระจักรีก็แผลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เสียงสนั่นครั่นครื้นอากาศ | พสุธากัมปนาทหวาดไหว |
ต้องนายสารถีบรรลัย | รถชัยหักยับแหลกลาญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | กุมภกรรณฤทธิไกรใจหาญ |
ตกลงกับพื้นพสุธาธาร | ขุนมารกริ้วโกรธพิโรธนัก |
เข่นเขี้ยวเคี้ยวฟันสนั่นฟ้า | กรขวากวัดแกว่งโมกขศักดิ์ |
โลดโผนโจนด้วยกำลังยักษ์ | เข้าจับรถพระลักษมณ์ทันที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระอนุชาธิราชเรืองศรี |
เห็นพญากุมภกรรณอสุรี | ทำทีองอาจอหังการ์ |
กวัดแกว่งพระแสงศรทรง | หวดลงต้องกายยักษา |
โจนจากรถแก้วแววฟ้า | เผ่นขึ้นเหยียบบ่ากุมภกรรณ |
ต่างตีต่างแทงต่างรับ | กลอกกลับรวดเร็วดั่งจักรผัน |
สองหาญต่อกล้าโรมรัน | จับกันผลัดเปลี่ยนในที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พญากุมภกรรณยักษี |
รับรองป้องกันประจัญตี | อสุรีเผ่นโผนโจนมา |
เท้าหนึ่งเหยียบเข่าพระลักษมณ์ | มือเงื้อโมกขศักดิ์คมกล้า |
หมายเขม้นจะล้างชีวา | หันเวียนเปลี่ยนท่าพัลวัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ปะทะระกรกุมภัณฑ์ | บุกบันถาโถมโจมตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ หวดด้วยพระแสงศรทรง | ต้ององค์กุมภกรรณยักษี |
เสียงดั่งฟ้าฟาดแสนที | อสุรีซวนไปด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | กุมภกรรณสุริย์วงศ์ยักษา |
เจ็บช้ำไปทั่วทั้งกายา | ดั่งว่าจะม้วยชีวัน |
แล้วคิดมานะจะเอาชัย | ด้วยกำลังใจโมหันธ์ |
ยอกรเหนือเกล้าบังคมคัล | กุมภัณฑ์ร่ายเวทอันเพริศพราย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ เสร็จแล้วเป่าลูบลงทันที | เจ็บทั่วอินทรีย์ก็เสื่อมหาย |
กวัดแกว่งหอกแก้วพรรณราย | หมายมุ่งแล้วพุ่งตรงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ต้องอกพระลักษมณ์สุริย์วงศ์ | จะดำรงกายไว้ก็ไม่ได้ |
ล้มลงกลางสมรภูมิชัย | ไม่เป็นสติสมประดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพกระบี่ศรี |
เห็นน้องสมเด็จพระจักรี | ต้องหอกอสุรีพาลา |
ตระหนกตกใจเป็นสุดคิด | ดั่งชีวิตจะม้วยสังขาร์ |
วิ่งเข้ารับองค์พระอนุชา | ลูกพระสุริยาก็โศกี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | องคตหนุมานกระบี่ศรี |
ทั้งสิบแปดมงกุฎเสนี | โกรธคืออัคคีบรรลัยกาล |
ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันกระทืบบาท | ทำอำนาจด้วยกำลังหาญ |
ต่างตนโลดโผนโจนทะยาน | เข้าตีพลมารวุ่นไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ หัวขาดตัวขาดดาษดา | อสุราตายยับไม่นับได้ |
แต่องคตหนุมานชาญชัย | ถาโถมโจมไล่กุมภกรรณ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ สองนายโรมรันฟันแทง | ด้วยกำลังฤทธิแรงแข็งขัน |
ถีบกัดตบต่อยพัลวัน | บุกบันรบรุกคลุกคลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญากุมภกรรณยักษี |
ผู้เดียวสุดที่จะราวี | ต่อตีกับสองวานร |
จำเป็นรับรองป้องกัน | จนสุริยันลับเหลี่ยมสิงขร |
ให้เลิกโยธาพลากร | คืนเข้าพระนครลงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงพระนิเวศน์วังสถาน | อันโอฬารดั่งดาวดึงสา |
เสด็จขึ้นไปเฝ้าพระพี่ยา | ในมหาปราสาทรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
เสด็จเหนือแท่นแก้วมณี | อสุรีแลเห็นน้องรัก |
จึ่งมีพระราชบัญชา | เจ้าผู้วงศ์พรหมาสิทธิศักดิ์ |
ซึ่งยกพหลพลยักษ์ | ไปหักทัพมนุษย์กับลิงไพร |
เหตุใดเจ้าจึ่งเลิกทัพ | ต่อสุริยาเลี้ยวลับเหลี่ยมไศล |
สงครามเสียทีหรือมีชัย | พี่ตั้งใจคอยองค์อนุชา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญากุมภกรรณยักษา |
ก้มเกล้ากราบลงกับบาทา | อสุราสนองพระวาที |
ซึ่งน้องยกพลออกไป | ชิงชัยด้วยมนุษย์กระบี่ศรี |
ข้าศึกฮึกหาญราวี | สามารถต่อตีติดพัน |
ได้ทีน้องพุ่งโมกขศักดิ์ | ต้องอกพระลักษมณ์อาสัญ |
พอสิ้นแสงสีรวีวรรณ | จึ่งเลิกพลขันธ์กลับมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรยักษา |
ได้ฟังยินดีปรีดา | ดั่งได้ฟากฟ้าสุราลัย |
ตบมือทั้งยี่สิบมือ | เสียงสนั่นบันลือหวาดไหว |
สิบปากสำรวลสำราญใจ | ไปสวมกอดองค์น้องรัก |
ควรที่เป็นปิ่นลงกา | ครอบครองสวรรยาอาณาจักร |
สืบศรีสุริย์วงศ์พงศ์ยักษ์ | เป็นหลักทวีปกรุงมาร |
อันหมู่พาลาปัจจามิตร | จะสิ้นชีวิตสังขาร |
จะปรากฏพระยศยืนนาน | ไพร่ฟ้าจะสำราญทั้งธานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พญากุมภกรรณยักษี |
ได้ฟังพระราชวาที | มีความยินดีปรีดา |
เสร็จแล้วน้อมเศียรบังคม | ลาพระบรมเชษฐา |
กรายกรยุรยาตรคลาดคลา | เสด็จมาปราสาทอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ บัดนั้น | หมู่กระบี่ทวยหาญชาญสมร |
เห็นกุมภกรรณฤทธิรอน | เลิกพลนิกรกลับไป |
พอคํ่ายํ่าแสงสุริยัน | จะติดตามโรมรันก็ไม่ได้ |
ร้อนจิตดั่งต้องพิษไฟ | จนใจก็พากันกลับมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ต่างตนต่างเข้าประคององค์ | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์นาถา |
ฉุดชักโมกขศักดิ์อสุรา | ไม่เคลื่อนคลาออกจากอินทรีย์ |
สุดฤทธิ์สุดคิดจะแก้ไข | ชลนัยน์อาบพักตร์กระบี่ศรี |
ต่างตนต่างแสนโศกี | อึงมี่รักน้องพระสี่กร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพชาญสมร |
ครั้นเห็นโมกขศักดิ์ฤทธิรอน | ไม่หลุดถอนจากองค์พระอนุชา |
โศกาปิ้มว่าจะวายชนม์ | กวักเรียกนิลนนท์เข้ามาหา |
ท่านจงไปทูลพระจักรา | ให้ผ่านฟ้าทราบเบื้องบทมาลย์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นิลนนท์ฤทธิไกรใจหาญ |
ได้ฟังสุครีพบัญชาการ | ก็วิ่งลนลานเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรอภิวาทน์ | พระตรีภูวนาถนาถา |
สะอื้นพลางทางทูลกิจจา | ว่าพระอนุชาวิลาวัณย์ |
ออกไปสัประยุทธ์ชิงชัย | ด้วยไอ้กุมภกรรณโมหันธ์ |
บัดนี้ต้องโมกขศักดิ์มัน | พระน้องนั้นสุดสิ้นชนมาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกทุกสถาน |
ได้ฟังดั่งหนึ่งพระกาล | มาสังหารหวะแหวะเอาดวงใจ |
ชลนาคลอคลองนองเนตร | แสนทุกข์แสนเทวษละห้อยไห้ |
ดั่งหนึ่งจะสิ้นชีวาลัย | ภูวไนยจับศรศักดา |
พร้อมด้วยโยธาพานรินทร์ | กบินทร์นิลนนท์นำหน้า |
ออกจากสุวรรณพลับพลา | เสด็จรีบมาในราตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ พญาโศก
๏ มืดคลุ้มอับแสงดาวเดือน | เมฆเกลื่อนบดบังรัศมี |
ไม่เห็นมรรคาพนาลี | กระบี่พาหลงวงไป |
พระพิโรธโกรธกริ้วกระทืบบาท | พสุธากัมปนาทหวาดไหว |
เหวยไอ้นิลนนท์จังไร | เหตุใดจึ่งพากูหลงมา |
ว่าแล้วจับจันทวาทิตย์ | ทรงฤทธิ์พาดสายเงื้อง่า |
น้าวหน่วงแผลงไปในเมฆา | เสียงสนั่นลั่นฟ้าธาตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เกิดเป็นศศิธรสามดวง | โชติช่วงจำรัสรัศมี |
แสงสว่างพ่างพื้นธรณี | ภูมีเร่งรีบเสด็จจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงซึ่งที่รณรงค์ | เห็นองค์อนุชาชาญสมร |
ต้องโมกขศักดิ์ฤทธิรอน | ภูธรก็วิ่งเข้าไป |
พระหัตถ์จับหอกประคองฉุด | จะเขยื้อนเลื่อนหลุดก็หาไม่ |
ปักแน่นดั่งตรึงลงไว้ | ภูวไนยยิ่งเศร้าโศกนัก |
ลดองค์ลงแอบแนบน้อง | ตระกองช้อนเกศขึ้นใส่ตัก |
รับขวัญพินิจพิศพักตร์ | พระทรงจักรรำพันโศกี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
โอ้
๏ โอ้อนิจจาเจ้าเพื่อนยาก | แสนทุกข์ลำบากมาด้วยพี่ |
เลื่องชื่อลือฤทธิ์ทั้งธาตรี | หรือมาแพ้อสุรีพาลา |
เสียแรงไวกูณฐ์มาด้วยกัน | ว่าจะมล้างอาธรรม์ริษยา |
เจ้ามาสิ้นชีพชีวา | แต่พี่ยาจะทำศึกไป |
ถึงมีชัยได้เมียก็เสียน้อง | จะต้องการอะไรก็หาไม่ |
ครั้นจะกลับคืนเข้าเวียงชัย | ใครเลยจะนับว่าเป็นชาย |
ทั้งสามสมเด็จพระชนนี | จะโศกาโกรธพี่ไม่รู้หาย |
ว่ารักเมียใช้น้องไปให้ตาย | ความอายจะชั่วกัลปา |
เสียเมียรักแล้วมิหนำ | มาซ้ำเสียองค์กนิษฐา |
จะอยู่ไยให้ทนเวทนา | จะสู้สิ้นชีวาด้วยน้องรัก |
ไปสู่เมืองฟ้าสุราลัย | ให้ลับตาพวกภัยปรปักษ์ |
รํ่าพลางกอดองค์พระลักษมณ์ | ซบพักตร์กันแสงไม่สมประดี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษี |
เห็นพระองค์ทรงโศกโศกี | อสุรีกราบลงกับบาทา |
ทูลว่าพระลักษมณ์สุริย์วงศ์ | ยังไม่ปลงชีวังสังขาร์ |
อันโมกขศักดิ์อสุรา | พรหมาประสิทธิ์ประสาทไว้ |
ทรงอานุภาพฤทธิรุทร | ต้องใครจะฉุดนั้นไม่ไหว |
แต่มียาคู่หอกชัย | ให้ไว้สำหรับแก้กัน |
แม้นละไว้จนรุ่งราตรี | ต้องแสงพระรวีจะอาสัญ |
ขอให้ลูกพระพายเทวัญ | ไปห้ามพระสุริยันในชั้นฟ้า |
อย่าเพ่อรีบรถบทจร | ข้ามยุคุนธรภูผา |
แล้วให้ไปเก็บตรีชวา | ทั้งยาชื่อสังกรณี |
ยังเขาสรรพยาบรรพต | ปรากฏอยู่ยอดคีรีศรี |
กับปัญจมหานที | สรรพยาทั้งนี้มาให้ทัน |
แม้นว่าได้บดชโลมลง | องค์พระอนุชาไม่อาสัญ |
จะดำรงคงชีพชีวัน | หอกนั้นก็จะหลุดขึ้นมา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภูวนาถนาถา |
ได้ฟังพิเภกโหรา | ผ่านฟ้าค่อยคลายอาวรณ์ |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | ตรัสสั่งหนุมานชาญสมร |
ท่านจงไปห้ามพระทินกร | ให้งดก่อนอย่าเพ่อจรลี |
แล้วรีบไปเก็บโอสถ | โดยกำหนดพิเภกยักษี |
อันปัญจมหานที | มีอยู่ในกรุงอยุธยา |
จงแจ้งทั้งสองน้องรัก | ว่าพระลักษมณ์ต้องหอกยักษา |
จะขอนํ้าปัญจคงคา | ประกอบยาแก้หอกกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานฤทธิแรงแข็งขัน |
รับสั่งพระองค์ทรงสุบรรณ | ถวายบังคมคัลแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ทำอำนาจผาดแผลงสำแดงฤทธิ์ | ทศทิศกัมปนาทหวาดไหว |
ถีบทะยานผ่านฟ้าด้วยว่องไว | ตรงไปยังยอดยุคุนธร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เห็นพระอาทิตย์ขับรถ | เลี้ยวลดตามเหลี่ยมสิงขร |
ล่วงจากทวีปอุดร | ไขสีอ่อนอ่อนขึ้นมา |
ขุนกระบี่ผู้ปรีชาไว | ไม่อาลัยแก่ชีพสังขาร์ |
ผาดโผนโจนทะยานด้วยฤทธา | ฉวยท้ายรัถาพระสุริยัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | องค์พระทินกรรังสรรค์ |
รถไหวตกใจอัศจรรย์ | สำคัญว่าราหูมาราวี |
จึ่งผินพักตร์มาดูท้ายรถ | เป็นเพลิงกรดสังหารกระบี่ศรี |
เห็นแต่ขนเพชรรูจี | มีความฉงนสนเท่ห์ใจ |
แต่นิ่งคิดพิศเพ่งอยู่เป็นครู่ | จะรู้เหตุผลก็หาไม่ |
หรือมนุษย์ครุฑาสุราลัย | ใครหนอขนเพชรจึ่งมีมา |
จำกูจะชุบขึ้นไถ่ถาม | ให้แจ้งความในข้อกังขา |
คิดแล้วร่ายเวทวิทยา | สามคาบเป่ามาทันที ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ ตระ
๏ บัดเดี๋ยวก็เห็นเป็นวานร | ประภัสสรจำรัสรัศมี |
ทั้งกุณฑลขนเพชรมาลี | เขี้ยวแก้วมณีชัชวาล |
จึ่งมีเทวราชบัญชา | ว่าเหวยไอ้ลิงใจหาญ |
เหตุใดไม่กลัวบรรลัยลาญ | อหังการมายุดรถไว้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้มีอัชฌาสัย |
น้อมเศียรกราบทูลสนองไป | ตัวข้าได้ชื่อหนุมาน |
เป็นข้าสมเด็จพระสี่กร | ภูธรยกโยธาหาญ |
ไปปราบอสุราสาธารณ์ | ทำการรณรงค์ในลงกา |
บัดนี้พระอนุชาทรงลักษณ์ | ต้องโมกขศักดิ์ยักษา |
พระนารายณ์ใช้ข้าไปเก็บยา | จะกลับมาไม่ทันราตรี |
ด้วยจวนพระองค์จะส่องแสง | รุ่งแจ้งแรงร้อนรัศมี |
พระลักษมณ์จะม้วยชีวี | ให้ข้านี้มาทูลห้ามไว้ |
อย่าเพ่อให้ขับราชรถ | งดอยู่พอแก้พระลักษมณ์ได้ |
ใช่จะประมาทอาจใจ | ให้เคืองใต้เบื้องบทมาลย์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอาทิตย์ฤทธิแรงแสงฉาน |
ฟังวายุบุตรบัญชาการ | จึ่งมีบรรหารตอบไป |
ซึ่งจะห้ามวิถีราศีจักร | ให้เสริดพักอยู่นั้นไม่ได้ |
แต่เราจะเดินรถชัย | เข้าเสียในกลีบเมฆา |
สุดแต่มิให้แสงส่อง | ต้องโมกขศักดิ์ยักษา |
เอ็งจงเร่งรีบไปเก็บยา | แก้พระอนุชาให้ทันที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
รับเทวบรรหารด้วยยินดี | ขุนกระบี่ลาแล้วก็เหาะมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงสรรพยาสิงขร | วานรจึ่งร้องเรียกหา |
เหวยสังกรณีตรีชวา | พระจักราให้มาเชิญไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เรียกขึ้นทีไรก็ขานรับ | จะจับสำคัญก็ไม่ได้ |
แต่เวียนวนค้นหาจนอ่อนใจ | ก็ขึ้นไปบนยอดคีรีนทร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ด้อมมองร้องเรียกร้องกู่ | ก็ขานอยู่แทบเชิงสิงขร |
ขุนกระบี่ผู้มีฤทธิรอน | ประนมกรนิมิตอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ มีหางยาวใหญ่โอบกระหวัด | รัดรอบสรรพยาคีรีศรี |
เรียกพลางรวบขึ้นไปทุกที | จนถึงที่ยอดบรรพต ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ ก็เก็บได้สรรพยาสมคิด | แล้วสำแดงฤทธิ์ดั่งลมกรด |
เหาะทะยานผ่านฟ้าเลี้ยวลด | กำหนดตรงไปอยุธยา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ จึ่งเห็นสองสุริย์วงศ์ | น้องพระภุชพงศ์นาถา |
เสด็จเหนืออาสน์อลงการ์ | ยังหน้ามหาปราสาทชัย |
พร้อมทั้งหมู่มุขมนตรี | ปโรหิตเสนีน้อยใหญ่ |
ก็ลงจากอากาศด้วยว่องไว | เข้าไปถวายบังคมคัล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
เห็นวานรเผือกผ่องผิวพรรณ | เข้ามาถวายอัญชุลี |
ให้คิดฉงนสนเท่ห์นัก | แต่พินิจพิศพักตร์กระบี่ศรี |
แล้วมีพระราชวาที | ตัวท่านนี้นามกรใด |
เชื้อวงศ์พงศ์เผ่าพานรินทร์ | ถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่ไหน |
มานี้ด้วยเหตุสิ่งไร | คือใครใช้สอยวานร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงวายุบุตรชาญสมร |
ได้ฟังบัญชาพระภูธร | ประนมกรกราบทูลสนองไป |
ข้าบาทเป็นข้าพระอวตาร | ชื่อว่าหนุมานทหารใหญ่ |
บัดนี้ทศกัณฐ์บังอาจใจ | มิได้เกรงเดชพระจักรี |
ลอบลักสมเด็จพระวรนาฏ | ผู้เป็นอัครราชมเหสี |
ไปไว้ในลงกาธานี | พระสี่กรประชุมโยธา |
ทั้งชมพูนครขีดขิน | พงศ์พื้นพานรินทร์แกล้วกล้า |
เจ็ดสิบเจ็ดสมุทรคณนา | ยกไปเข่นฆ่ากุมภัณฑ์ |
วันนี้กุมภกรรณขุนยักษ์ | รบกับพระลักษมณ์รังสรรค์ |
พระองค์ต้องหอกของมัน | ตรึงมั่นไม่หลุดจากอินทรีย์ |
พระนารายณ์ใช้ให้มาทูลบาท | พระอนุชาธิราชทั้งสองศรี |
ขอปัญจมหานที | ประกอบกับยานี้ข้าเก็บมา |
ชโลมแก้หอกโมกขศักดิ์ | ของน้องทศพักตร์ยักษา |
อย่าให้ทันรุ่งแสงสุริยา | พระอนุชาจะรอดชีวัน ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพรตพระสัตรุดรังสรรค์ |
ได้ฟังหนุมานชาญฉกรรจ์ | รำพันออกนามพระจักรี |
ว่าแสนทุกข์แสนเทวษลำบาก | แสนยากจากองค์มเหสี |
จนพระลักษมณ์ร่วมชีวี | ก็ต้องหอกอสุรีพาลา |
สองกษัตริย์ตระหนกตกใจ | ดั่งใครมาบั่นเอาเกศา |
ชลเนตรคลอคลองนัยนา | ต่างทรงโศการำพัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ โอด
โอ้
๏ โอ้อนิจจาพระทรงจักร | เป็นปิ่นปักสามภพจบสวรรค์ |
หรือมาต้องเดินป่าอารัญ | ตามกันทั้งสามเสด็จจร |
ได้ยากลำบากแล้วมิหนำ | ซํ้าจากอัคเรศดวงสมร |
จนต้องข้ามมหาสาคร | ตามไปราญรอนปัจจามิตร |
เสียแรงตัวน้องเอากำเนิด | เกิดร่วมสุริย์วงศ์พระจักรกฤษณ์ |
มิได้ตามเสด็จพระทรงฤทธิ์ | เอาชีวิตสนองพระบาทา |
ดั่งไม่จำนงจงรัก | ภักดีต่อองค์พระเชษฐา |
ได้แต่พระลักษมณ์อนุชา | ไปร่วมชีวาพระจักรี |
เป็นเพื่อนรณรงค์ยงยุทธ์ | จนต้องอาวุธยักษี |
รํ่าพลางต่างทรงโศกี | ดั่งหนึ่งชีวีจะวายปราณ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ โอด
๏ ครั้นค่อยระงับดับโศก | ซึ่งวิโยคกำสรดสงสาร |
จึ่งสั่งคำแหงหนุมาน | ตัวท่านจงทูลพระจักรี |
ว่าเราทั้งสองอนุชา | บังคมมาใต้เบื้องบทศรี |
อยู่เมืองเหมือนนอนในอัคคี | มีแต่ความโศกไม่วายวัน |
แจ้งว่าพระองค์สงครามยักษ์ | ทุกข์หนักปิ้มชีพชีวาสัญ |
จะใคร่ไปรองบาทพระทรงธรรม์ | ก็เกรงล่วงพระบัญชาไป |
ตรัสแล้วเอาขวดรัตนา | ซึ่งใส่ปัญจคงคาส่งให้ |
ตัวท่านผู้มีฤทธิไกร | รีบไปให้ทันราตรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ก้มเกล้ารับเต้าวารี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งสำแดงแผลงฤทธิ์อำนาจ | โลกธาตุไหวทั่วทุกทิศา |
ถีบทะยานผ่านขึ้นเมฆา | บ่ายหน้ายังสมรภูมิชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ลัดนิ้วมือเดียวก็มาถึง | ซึ่งที่โยธาทัพใหญ่ |
ลงจากฟากฟ้าด้วยว่องไว | ตรงไปเฝ้าองค์พระจักรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ยอกรน้อมเศียรอภิวาทน์ | กราบลงแทบบาทบทศรี |
ถวายปัญจมหานที | กับสังกรณีตรีชวา |
แล้วทูลความพระพรตพระสัตรุด | ทั้งสองพระนุชกนิษฐา |
แก่องค์สมเด็จพระจักรา | ตามบัญชาสั่งทุกประการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
รับยามาจากหนุมาน | ผ่านฟ้าชื่นชมด้วยสมคิด |
ส่งให้พิเภกอสุรี | แล้วมีบัญชาประกาศิต |
เร่งประกอบยาอันมีฤทธิ์ | ถอนพิษแก้องค์พระอนุชา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษา |
รับสั่งแล้วเอาสรรพยา | ประกอบด้วยปัญจาสุธารส |
ทุกสิ่งเสมอภาคกัน | กุมกัณฑ์วางหน้าศิลาบด |
ไหว้คุณพรหมาในโสฬส | แล้วนั่งเสกโอสถบดไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ ครั้นเสร็จบดยาในราตรี | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
จึ่งทาลงที่แผลหอกชัย | ลูบไล้เสกเป่าไปมา |
โมกขศักดิ์ก็หลุดออกจากองค์ | น้องพระภุชพงศ์นาถา |
มิได้มีแผลกับกายา | พระอนุชาก็ฟื้นสมประดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ รัว
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ลืมเนตรเห็นองค์พระจักรี | ยินดีดั่งได้โสฬส |
ลุกขึ้นน้อมเศียรอภิวาทน์ | กราบลงแทบบาทบงกช |
แล้วทูลด้วยถ้อยคำมธุรส | แจ้งหมดแต่แรกยกมา |
ซึ่งตัวข้าน้อยออกต่อตี | เสียทีกุมภกรรณยักษา |
หากพระองค์มาช่วยชีวา | หาไม่จะม้วยบรรลัย |
พระคุณลํ้าฟ้าธาตรี | ไม่มีสิ่งที่จะเปรียบได้ |
ขอสนองรองบาทพระทรงชัย | ไปกว่าจะม้วยชนมาน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกทุกสถาน |
ฟังพระอนุชาชัยชาญ | ผ่านฟ้าจึ่งมีพระบัญชา |
มาตรแม้นเจ้าม้วยชีวี | ตัวพี่ก็จะสิ้นสังขาร์ |
ไม่อยู่ให้ทนเวทนา | ตามไปฟากฟ้าสุราลัย |
ตรัสแล้วสั่งลูกพระทินกร | ให้เลิกพลวานรน้อยใหญ่ |
คืนเข้าสุวรรณพลับพลาชัย | โห่สนั่นหวั่นไหวทั้งธาตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายกองคอยเหตุยักษี |
แอบดูอยู่ชายพนาลี | เห็นไพรีคืนรอดชีวัน |
แล้วเลิกกองทัพกลับไป | พลไกรโห่สะเทือนเลื่อนลั่น |
ตกใจดั่งใครมาฟาดฟัน | ก็พากันรีบเข้าไปลงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบงสุ์ | องค์ท้าวทศเศียรยักษา |
ทูลว่าไพรีที่มรณา | ด้วยหอกพญากุมภกรรณ |
บัดนี้คืนได้ชีวิตสิ้น | ให้เลิกกบินทร์พลขันธ์ |
กลับไปยังทัพพลับพลามัน | แต่ไม่ทันรุ่งราตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ