- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
ยานี
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงเทพไทเรืองศรี |
อันสถิตถํ้าธารคีรี | มีทิพโสตนัยนา |
เล็งมาเห็นลูกพระพาย | พาองค์พระนารายณ์นาถา |
ออกจากกรงเหล็กอสุรา | มาไว้ปากถํ้าสุรกานต์ |
บัดนี้จะกลับไปชิงชัย | ฆ่าไอ้ไมยราพใจหาญ |
ก็พาฝูงเทพบริวาร | เหาะทะยานมายังพระจักรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เหาะ
๏ ครั้นถึงจึ่งเข้าแวดล้อม | ขับกล่อมบำเรอดีดสี |
จำเรียงเสียงทิพย์ดนตรี | ฉ่ำเฉื่อยเรื่อยรี่จับใจ |
บ้างโบกปัดพัดวีระวังองค์ | บ้างล้อมวงตามเชิงเขาใหญ่ |
พิทักษ์รักษาภูวไนย | มิให้ราคีบีฑา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กล่อม
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
เขม้นหมายจะล้างอสุรา | ก็ตรงมายังหน้าพระลาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงปราสาทอลงกรณ์ | วานรสำแดงกำลังหาญ |
กระทืบบาทผาดโผนโจนทะยาน | ถีบบานสีหบัญชรชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เสียงสนั่นครั่นครื้นกุลาหล | พังลงไม่ทนกำลังได้ |
แล้วมีวาจาประกาศไป | เหวยไอ้ไมยราพกุมภัณฑ์ |
เป็นไฉนตัวมึงไปลอบลัก | องค์พระหริรักษ์รังสรรค์ |
กูเป็นทหารชาญฉกรรจ์ | ตามมาโรมรันอสุรี |
ชื่อว่าหนุมานชาญณรงค์ | อาจองดั่งพญาราชสีห์ |
ตัวมึงดั่งหนึ่งมฤคี | วันนี้จะม้วยวายปราณ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพใจหาญ |
ผวาตื่นจากแท่นอลงการ | ขุนมารก็เหลือบแลไป |
เห็นวานรเข้ามาถึงปราสาท | องอาจกล่าวคำหยาบใหญ่ |
โกรธาฉวยคว้าพระขรรค์ชัย | ผุดลุกขึ้นได้ก็ร้องมา |
เหม่เหม่ดูดู๋ไอ้ชาติลิง | เย่อหยิ่งอวดฤทธิ์ว่าแกล้วกล้า |
ตัวกูผู้ทรงศักดา | ใต้ฟ้าไม่มีใครเทียมทัน |
มึงดั่งหิ่งห้อยน้อยแสง | หรือจะแข่งกับดวงสุริย์ฉัน |
ว่าพลางขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน | แกว่งพระขรรค์ออกไล่ราญรอน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
รับรองป้องกันประจัญกร | วานรโถมถีบด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ถ้อยตีถ้อยรับสับสน | ไล่ประจญถอยประจัญเข่นฆ่า |
ฟันแทงแย้งยุทธ์กันไปมา | ต่างหาญต่างกล้าไม่ลดกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ไมยราพฤทธิแรงแข็งขัน |
รับรองป้องปัดโรมรัน | ขบฟันโลดโผนโจนมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เท้าหนึ่งเหยียบเข่าวานร | กรแกว่งพระขรรค์เงื้อง่า |
กลอกกลับจับกันเป็นโกลา | หันเหียนเปลี่ยนท่าในที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
รบชิดติดพันประจัญตี | ได้ทีโจมจับกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ โผนเผ่นขึ้นยืนเหยียบบ่า | กรขวาฉวยชิงพระขรรค์ |
กลอกกลับสัประยุทธ์พัลวัน | ฟาดฟันต้องกายขุนมาร |
พระขรรค์ก็หักเป็นสองท่อน | วานรถีบด้วยกำลังหาญ |
อสุรีล้มลุกคลุกคลาน | ขุนกระบี่ทะยานตามตี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ไมยราพสิทธิศักดิ์ยักษี |
เสียพระขรรค์เพชรอันฤทธี | อสุรีคว้าได้คทาวุธ |
กวัดแกว่งแสงวาบปลาบตา | กระทืบบาทาอึงอุด |
ผาดแผลงสำแดงฤทธิรุทร | กลับเข้าสัประยุทธ์ชิงชัย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ต่างตนต่างรับต่างตี | เข้าออกเป็นทีหนีไล่ |
จนกระบองนั้นหักกระเด็นไป | ฉวยได้หอกใหญ่เข้ารอนราญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
หลีกหลบรบรันประจัญบาน | โถมทะยานเข้าไล่ราวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ มือขวาฉวยชิงโตมร | ได้ด้วยฤทธิรอนกระบี่ศรี |
แทงต้องกุมภัณฑ์เป็นหลายที | จนหอกอสุรีนั้นหักไป |
แล้วชักตรีเพชรออกจากกาย | ลูกพระพายฟอนฟันกระชั้นไล่ |
หวดซ้ายป่ายขวาว่องไว | มิให้ดำรงกายทัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ไมยราพฤทธิแรงแข็งขัน |
สิ้นสุดอาวุธโรมรัน | กุมภัณฑ์ถวิลจินดา |
วานรตนนี้สามารถ | ฤทธิรงค์องอาจแกล้วกล้า |
ยิ่งกว่าเทวัญในชั้นฟ้า | นักสิทธ์วิทยานาคี |
จำเป็นจะคิดอุบายกล | ด้วยแยบยลลวงฆ่ากระบี่ศรี |
ถึงมาตรมันจะกลับตี | กูนี้ไม่ครั่นคร้ามใจ |
ด้วยดวงจิตไม่อยู่กับกาย | อันที่จะตายนั้นหาไม่ |
คิดแล้วจึ่งร้องว่าไป | เหวยไอ้ลิงไพรพาลา |
ตัวเราทั้งสองประลองยุทธ์ | สัประยุทธ์ขับเคี่ยวกันหนักหนา |
ถ้อยทีไม่แพ้ฤทธา | มาตั้งสัจจาสัญญากัน |
ให้เป็นธรรมยุทธ์สุจริต | ต่างตนอย่าคิดผิดผัน |
จะเอาตาลสามต้นมาพัน | ตะบิดฟั่นให้เป็นตระบองตาล |
ผลัดกันตีคนละสามที | ใครดีก็ไม่ม้วยสังขาร |
ให้ปรากฏไว้ในไตรดาล | ตัวท่านจะเห็นประการใด ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
ได้ฟังก็ดำริตริไตร | อันไอ้ไมยราพอสุรา |
มันคิดเปรียบเทียบมาดั่งนี้ | เห็นจะมีอุบายยักษา |
กูก็ไม่เกรงฤทธา | จะซ้อนกลฆ่ามันให้วายปราณ |
ถึงจะตายแม้นต้องพระพายพัด | ก็อุบัติคืนชีพสังขาร |
อันตัวของไอ้ขุนมาร | นัยจะแหลกหลาญด้วยฤทธี |
คิดแล้วจึ่งร้องตอบไป | ว่าจริงหรือไฉนยักษี |
เกลือกจักไม่เหมือนหนึ่งพาที | ที่คำอสุรีสัญญา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพยักษา |
ได้ฟังจึ่งตอบวาจา | อันคำเราว่านี้โดยธรรม์ |
แม้นมาตรมิคงในสัจ | ขอจงหัสนัยน์รังสรรค์ |
กับฝูงเทวาทั้งนั้น | สังหารชีวันให้บรรลัย |
แต่เราจะตีสามทีก่อน | ครบแล้วจะนอนลงให้ |
ตัวเอ็งจงลุกขึ้นตีไป | ตามที่เราได้ปฏิญาณ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
ฟังคำไมยราพขุนมาร | ตบหัตถ์ฉัดฉานแล้วตอบไป |
ไฉนจึ่งมาเลือกว่า | สัญญาเอาเปรียบก็เป็นได้ |
ตัวเราเป็นแขกมาแต่ไกล | ชอบให้ตีก่อนอสุรี |
ซึ่งว่าทั้งนี้แต่พึงรู้ | ใช่กูจะโง่กว่ายักษี |
เอ็งจะตีก่อนก็เร่งตี | ใครดีจะรอดชีวา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพยักษา |
ได้ฟังกระบี่ก็ปรีดา | อสุราเข้าถอนเอาต้นตาล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เท้ายันบ่าดันกระชากฉุด | ก็หลุดขึ้นด้วยกำลังหาญ |
สามต้นสูงเทียมคัคนานต์ | ขุนมารบิดเป็นคทาธร |
แล้วร้องว่าเหวยไอ้ลิงป่า | มึงอวดฤทธาว่าชาญสมร |
ใครดีจะได้เห็นกร | จงนอนลงให้กูตี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ได้ฟังอสุราพาที | ขุนกระบี่ร่ายวิทยามนต์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ ครั้นครบเจ็ดคาบก็เป่าไป | กลั้นใจลูบกายสามหน |
ให้คงทรหดอดทน | แล้วทอดตนกวักเรียกอสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพยักษา |
เห็นกระบี่นอนทอดกายา | ก็ปรีดาเงือดเงื้อตระบองตาล |
กวัดแกว่งสำแดงแผลงฤทธิ์ | เสียงสนั่นครรชิตทุกทิศาน |
สองเท้ากระเหย่งเผ่นทะยาน | ขุนมารก็ตีลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ สามทีสนั่นดั่งฟ้าฟาด | ปัถพีกัมปนาทหวาดไหว |
อันกายหนุมานชาญชัย | ก็จมลงในพื้นพสุธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
มิได้เจ็บช้ำกายา | ผุดลุกขึ้นมาด้วยว่องไว ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ร้องว่าเหวยเหวยขุนมาร | รู้จักพระกาลหรือหาไม่ |
เร่งนอนลงเถิดไอ้จังไร | ส่งตระบองมาให้กูตี |
แม้นมึงรักตัวกลัวตาย | จะถ่ายชีวิตยักษี |
กราบลงที่ตีนของกูนี้ | จึ่งจะไว้ชีวีอสุรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพยักษา |
เห็นวานรไม่สิ้นชีวา | อหังการ์เยาะเย้ยไยไพ |
ให้ประหวั่นครั่นคร้ามขามฤทธิ์ | ร้อนจิตดั่งหนึ่งเพลิงไหม้ |
แล้วรื้อมานะหักใจ | กูจะเกรงมันไยไอ้สาธารณ์ |
คิดแล้วจึ่งตอบวาจา | เหวยไอ้พาลาเดียรัจฉาน |
กูไม่ประณตบทมาลย์ | มึงอย่าอวดหาญพาที |
ว่าแล้วก็ทอดกายลง | ส่งตระบองให้กระบี่ศรี |
ตัวเอ็งจงเร่งมาตี | ตามที่ซึ่งได้สัญญา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
ฉวยจับตระบองตาลมา | เงื้อง่าด้วยกำลังฤทธิรอน |
ตาหมายเขม้นจะพิฆาต | องอาจดั่งพญาไกรสร |
สองมือกวัดแกว่งคทาธร | วานรก็ฟาดลงสามที ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เสียงสนั่นครั่นครื้นอากาศ | ตระบองแหลกกายขาดไปกับที่ |
แล้วฉีกแขนขาอสุรี | ขุนกระบี่ขว้างไปด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาไมยราพยักษา |
เท้ากรกลับติดเป็นกายา | อสุราไม่ม้วยบรรลัย |
ลุกขึ้นกระทืบบาทผาดร้อง | กึกก้องกัมปนาทหวาดไหว |
โผนไปด้วยกำลังว่องไว | เข้าไล่ประจญประจัญบาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
หักเอาด้วยกำลังชัยชาญ | โถมทะยานถีบต้องอสุรี |
ล้มลงกับพื้นพสุธา | ด้วยศักดาเดชเรืองศรี |
โลดโผนโจนไปทันที | ขุนกระบี่เหยียบอกลงไว้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ จึ่งถามพิรากวนนงลักษณ์ | ไมยราพขุนยักษ์นี้ไฉน |
ฆ่ามันจึ่งไม่บรรลัย | สงสัยเป็นพ้นพรรณนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางพิรากวนยักษา |
ฟังวายุบุตรก็ปรีดา | จึ่งร้องบอกมาทันที |
ซึ่งว่ามันฆ่าไม่ตาย | เพราะด้วยอุบายยักษี |
ถอดจิตออกเป็นภุมรี | ใส่กล่องมณีอลงกรณ์ |
แล้วเอาลงไปซ่อนไว้ | ในยอดตรีกูฏสิงขร |
ท่านจงคิดฆ่าตัวภมร | ไมยราพฤทธิรอนจะวายปราณ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วายุบุตรผู้ปรีชาหาญ |
ฟังนางบอกแจ้งทุกประการ | ยินดีปานได้ฟากฟ้า |
เท้าเหยียบอสุราไว้มั่น | กรนั้นประนมเหนือเกศา |
ก็ร่ายพระเวทอันศักดา | นิมิตกายกายาวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ รูปนั้นใหญ่เท่าพรหมาน | สูงตระหง่านดั่งหนึ่งสิงขร |
พร้อมทั้งสี่พักตร์แปดกร | สำแดงฤทธิรอนเกรียงไกร |
เท้าซ้ายเหยียบอกอสุรี | มิให้เคลื่อนจากที่ขึ้นได้ |
เท้าขวานั้นก้าวทะยานไป | ยังในตรีกูฏบรรพตา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ มือหนึ่งง้างยอดคีรินทร | กรหนึ่งนั้นค้นคว้าหา |
จับได้แมลงภุมรา | ก็เอาขึ้นมาชูไว้ |
เหวยเหวยไมยราพยักษี | นี่หัวใจมึงหรือมิใช่ |
ว่าแล้วขยี้เป็นจุณไป | ตัดเศียรลงให้พร้อมกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ดั่งหนึ่งพระกาลพาลราช | มาฟันฟาดด้วยคมพระแสงขรรค์ |
กายดิ้นระด่าวแดยัน | กุมภัณฑ์ก็ม้วยชีวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ เสร็จซึ่งฆ่าไมยราพตาย | ลูกพระพายผู้ชาญชัยศรี |
คลายเวทอันเรืองฤทธี | ก็รีบจรลีเข้ามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงขึ้นนั่งบัลลังก์แก้ว | แล้วถอดไวยวิกยักษา |
ออกจากเรือนตรุพันธนา | มอบแสนสวรรยาราชัย |
ให้ครองบาดาลเขตขัณฑ์ | พร้อมสนมกำนัลน้อยใหญ่ |
อันมัจฉานุฤทธิไกร | ตั้งไว้ในที่บัญชาการ |
เป็นพญามหาอุปราช | พร้อมหมู่อำมาตย์ทวยหาญ |
กินกึ่งนคราบาดาล | แสนสนมศฤงคารเสมอกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เสร็จซึ่งมอบราชธานี | ขุนกระบี่ปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
หิ้วเศียรไมยราพกุมภัณฑ์ | จรจรัลไปยังพระสี่กร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งเข้าช้อนองค์ | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
วางเหนือหัตถาวานร | งามดั่งศศิธรแจ่มฟ้า |
มือหนึ่งหิ้วเศียรอสุรี | สำแดงฤทธีแกล้วกล้า |
ชำแรกแทรกพื้นพสุธา | ขึ้นมาจากใต้บาดาล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ พอถึงสุวรรณพลับพลาชัย | อโณทัยจวนแจ้งแสงฉาน |
วางองค์สมเด็จพระอวตาร | เหนือแท่นสุรกานต์รูจี |
แล้วจึ่งยอกรอภิวาทน์ | พระอนุชาธิราชเรืองศรี |
แจ้งความตามเรื่องซึ่งราวี | กระบี่ถวายเศียรอสุรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์กนิษฐา |
กับพิเภกสุครีพผู้ศักดา | องคตลูกพญาพาลี |
ทั้งสิบแปดมงกุฎวานร | พวกพลนิกรกระบี่ศรี |
ต่างตนสร่างโศกโศกี | ยินดีเข้าเฝ้าพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์รังสรรค์ |
ครั้นสิ้นพิษยากุมภัณฑ์ | ทรงธรรม์ฟื้นจากนิทรา |
แลเห็นท้าวพญาวานร | พวกพลนิกรพร้อมหน้า |
จึ่งตรัสแก่องค์อนุชา | แก้วตาผู้ร่วมชีวี |
ซึ่งพญาพิเภกทำนาย | ทายว่าไมยราพยักษี |
จะขึ้นมาจากปัถพี | สะกดพี่พาไปยังบาดาล |
บัดนี้ก็พ้นเวลา | สุริยาแจ่มแจ้งแสงฉาน |
เห็นจะสิ้นอันตรายภัยพาล | ผิดคำขุนมารทายไว้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ผู้มีอัชฌาสัย |
ก้มเกล้าสนองบัญชาไป | ว่าในมัชฌิมราตรี |
ไมยราพลอบมาสะกดทัพ | หลับสิ้นทุกหมู่กระบี่ศรี |
มันลักพาองค์พระภูมี | ลงไปบุรีบาดาล |
ข้ากับท้าวพญาพานรินทร์ | แสนโศกเพียงสิ้นสังขาร |
พิเภกบอกแจ้งเหตุการณ์ | จึ่งให้หนุมานตามไป |
ขุนกระบี่ผู้มีฤทธิรงค์ | เชิญเสด็จพระองค์ขึ้นมาได้ |
ต้องคำพิเภกทำนายไว้ | โดยในสุบินพระจักรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์นาถา |
ได้ฟังพระศรีอนุชา | ผ่านฟ้าตะลึงรำพึงคิด |
ให้ฉงนสนเท่ห์พระทัยนัก | ผินพักตร์บัญชาประกาศิต |
ดูกรหนุมานผู้ชาญฤทธิ์ | ท่านติดตามเราลงไป |
ถึงกรุงพระนครบาดาล | ได้รบยักษ์หักหาญเป็นไฉน |
ไม่ทันสร่างแสงอโณทัย | จึ่งได้เรากลับคืนมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระพายผู้มียศถา |
ก้มเกล้าสนองพระบัญชา | ข้าตามไปยังบาดาล |
ตีด่านอสุราห้าชั้น | ได้โรมรันกันหนักหักหาญ |
แล้วฆ่าไมยราพขุนมาร | วายปราณสุดสิ้นชีวี |
อันนางพิรากวนกัลยา | มารดาไวยวิกยักษี |
พาข้าเข้าไปในบุรี | ความชอบนั้นมีมากนัก |
จึ่งให้ลูกชายนางนั้น | ขึ้นผ่านสวรรยาอาณาจักร |
อันมัจฉานุผู้ใจภักดิ์ | ลูกรักของข้าบทมาลย์ |
ให้เป็นอุปราชอยู่ด้วย | ช่วยกันบำรุงราชฐาน |
เป็นข้าสมเด็จพระอวตาร | ดูการผิดชอบในธานี |
กราบทูลแต่ต้นจนปลาย | บรรยายแจ้งความถ้วนถี่ |
เสร็จแล้ววางเศียรอสุรี | ท่ามกลางกระบี่โยธา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
ฟังความตามเรื่องที่ทูลมา | ทั้งเห็นเศียรอสุราสาธารณ์ |
ประจักษ์แจ้งจริงทุกสิ่งไป | ภูวไนยชื่นชมเกษมศานต์ |
จึ่งตรัสสรรเสริญหนุมาน | ความชอบของท่านนี้มากนัก |
ตามไปด้วยใจกตัญญู | ผู้เดียวทำการหาญหัก |
แม้นเสร็จสงครามในเมืองยักษ์ | เราจักให้ผ่านอยุธยา |
ตรัสพลางถอดแหวนนพรัตน์ | จากนิ้วพระหัตถ์เบื้องขวา |
ประทานให้กระบี่ผู้ศักดา | แล้วเข้าพลับพลาอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ตรีพัทเมฆนาทชาญสมร |
เห็นพญาไมยราพฤทธิรอน | วานรฆ่าเสียบรรลัย |
คิดกลัวไวยวิกขุนมาร | จะอยู่ในบาดาลนั้นไม่ได้ |
สองนายก็พากันขึ้นไป | ยังพิชัยลงกาธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงพระนิเวศน์วังจันทน์ | สุริย์ฉันพอรุ่งรังสี |
ก็ขึ้นเฝ้าพญาอสุรี | ยังที่พระโรงรัตนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ต่างน้อมเศียรเกล้าบังคมทูล | ท้าวราพณาสูรยักษา |
ว่าคืนนี้องค์พระนัดดา | ขึ้นมาสะกดทัพชัย |
เมื่อเพลาล่วงมัชฌิมยาม | จับองค์พระรามลงไปได้ |
ให้ใส่กรงเหล็กรักษาไว้ | ที่ในท้ายเมืองดงตาล |
มีวานรหนึ่งสามารถ | ท่วงทีองอาจกล้าหาญ |
ชื่อว่าคำแหงหนุมาน | หักด่านเข้าไปถึงธานี |
องค์พระนัดดาออกชิงชัย | บรรลัยด้วยมือกระบี่ศรี |
มันให้ไวยวิกอสุรี | เป็นปิ่นโมลีประชากร |
แล้วพาพระรามขึ้นมา | ยังมหามรกตสิงขร |
ตัวข้านี้หนีวานร | รีบจรมาทูลบทมาลย์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรผู้ปรีชาหาญ |
ฟังข่าวเร่าร้อนดั่งเพลิงกาล | พญามารสลดระทดใจ |
ความรักความเสียดายนั้นหนักหนา | ชลนาคลอเนตรหลั่งไหล |
ยิ่งคิดยิ่งแค้นแสนอาลัย | สะอื้นไห้ครวญครํ่าถึงหลานรัก |
อนิจจาเสียแรงที่มีฤทธิ์ | ทั้งความคิดปรีชาแหลมหลัก |
หรือมาแพ้ไอ้ลิงทรลักษณ์ | เสียศักดิ์สุริย์วงศ์พรหมาน |
ทั้งนี้เพราะพิเภกทรชน | บอกกลแก่ไอ้เดียรัจฉาน |
จึ่งลงไปได้ถึงบาดาล | ฆ่าหลานกูม้วยชีวา |
นิ่งไว้ข้าศึกจะฮึกไป | จำจะยกทัพใหญ่ออกเข่นฆ่า |
จะได้ใครเป็นจอมโยธา | ออกหักที่กล้าไพรี |
ตรึกไตรดูในพงศ์พันธุ์ | เห็นแต่กุมภกรรณยักษี |
น้องกูผู้เรืองฤทธี | มีโมกขศักดิ์เชี่ยวชาญ |
ทั้งได้พรบรมพรหเมศ | ทรงเดชปรีชากล้าหาญ |
จะให้เป็นจอมพลมาร | ออกไปรอนราญปัจจามิตร |
คิดแล้วมีราชวาที | สั่งนางอสุรีคนสนิท |
จงไปหากุมภกรรณผู้มีฤทธิ์ | น้องร่วมชีวิตกูขึ้นมา ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นางกำนัลผู้มียศถา |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | ชุลีลาแล้วพากันลงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงปราสาทกุมภกรรณ | อภิวันท์นบนิ้วประนมไหว้ |
ทูลว่าพระจอมภพไตร | ให้ข้ามาเชิญบทมาลย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | กุมภกรรณฤทธิไกรใจหาญ |
ได้แจ้งแห่งราชโองการ | ก็ชำระสระสนานกายา |
ทรงเครื่องประดับสำหรับองค์ | อลงกตจำรัสพระเวหา |
ลงจากปราสาทแก้วแววฟ้า | เสด็จมากับนางกำนัล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรอภิวาทน์ | พระเชษฐาธิราชรังสรรค์ |
ท่ามกลางสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | คอยฟังบัญชาอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรยักษี |
เห็นน้องรักมาก็ยินดี | จึ่งมีพระราชโองการ |
คืนนี้ไมยราพสะกดทัพ | หลับสิ้นทั้งพวกทวยหาญ |
จับได้มนุษย์สาธารณ์ | ไอ้ลิงหนุมานมันตามไป |
ฆ่าไมยราพสิ้นชีวัน | แล้วพาเจ้ามันขึ้นมาได้ |
ข้าศึกฮึกฮักกำเริบใจ | ไม่มีผู้ใดจะต่อกร |
ตัวเจ้าผู้ทรงศักดา | องอาจแกล้วกล้าชาญสมร |
จงยกทหารไปราญรอน | ฟันฟอนให้สิ้นไพรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญากุมภกรรณยักษี |
ได้ฟังพระราชวาที | ชุลีกรสนองพระบัญชา |
อันมูลศึกสงคราม | ซึ่งลุกลามเคี่ยวเข็ญเข่นฆ่า |
เป็นต้นด้วยนางสีดา | ที่ไปลักพาเอามาไว้ |
ใช่จะชิงสมบัติพัสถาน | ศฤงคารบริวารนั้นหาไม่ |
พระองค์จงส่งนางไป | ให้แก่พระรามผู้สามี |
ก็จะสิ้นเสี้ยนศึกภัยพาล | ไม่รำคาญใต้เบื้องบทศรี |
ทั้งจะได้เป็นมิตรไมตรี | ต้องที่ในทศธรรมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
ได้ฟังสมเด็จพระอนุชา | อสุราจึ่งตรัสตอบไป |
เจ้าว่าเหมือนไม่รักพงศ์ | พี่จะส่งสีดากระไรได้ |
น้องเราเป็นหญิงไปเล่นไพร | ควรหรือมาไล่ราวี |
ตัดเท้าตัดกรแล้วมิหนำ | ซ้ำฆ่าสุริย์วงศ์ยักษี |
ทูษณ์ขรตรีเศียรอสุรี | ก็สิ้นชีวีด้วยมือมัน |
แล้วใช้ไอ้ลิงหนุมาน | มาหักรานมิ่งไม้ในสวนขวัญ |
ฆ่าหลานเจ้าตายถึงพัน | ทั้งมันลวงเผาเวียงชัย |
เมื่อไอ้องคตมาสื่อสาร | อหังการเจรจาหยาบใหญ่ |
ฆ่าสี่เสนาบรรลัย | เจ็บใจเป็นพ้นพันทวี |
แล้วให้สุครีพมาหักฉัตร | ก็หยาบช้าสาหัสต่อพี่ |
ไม่ขอเป็นมิตรไมตรี | เร่งยกโยธีไปรอนราญ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | กุมภกรรณฤทธิไกรใจหาญ |
ได้ฟังพระราชโองการ | ขุนมารสนองพระบัญชา |
อันน้องของเรานี้หนักนัก | ทรลักษณ์เกี้ยวชายให้ขายหน้า |
ชั่วชาติกว่าหญิงทั้งโลกา | แล้วกลับมาว่าเอาแต่ดี |
พระองค์เชื่อฟังคำมัน | ให้เสียธรรม์เสียศักดิ์เสียศรี |
สงครามจึ่งตามถึงบุรี | เพราะอีอัปรีย์จังไร |
อันสุครีพองคตหนุมาน | ตัวมันก็เป็นทหารใหญ่ |
รณรงค์สุดแต่จะเอาชัย | เป็นบำเหน็จไว้กับกร |
ซึ่งจะให้ยกไปต่อตี | น้องนี้ไม่เห็นด้วยก่อน |
พระองค์ผู้ทรงฤทธิรอน | จงคิดผันผ่อนให้ชอบธรรม์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ได้ฟังกริ้วโกรธดั่งเพลิงกัลป์ | ขบฟันกระทืบบาทา |
เหวยไอ้อัปรีย์ไม่มีอาย | กลัวตายกระไรหนักหนา |
ดั่งเนื้อได้กลิ่นพยัคฆา | เหมือนกาตาแววเห็นธนู |
ยังไม่ทันเห็นธงชัย | แต่ได้ข่าวศึกก็ทรุดอยู่ |
เจรจายกตนอวดรู้ | ว่ากูผิดนั้นด้วยอันใด |
เสียชาติที่เกิดร่วมครรภ์ | จะเจ็บร้อนด้วยกันนั้นหาไม่ |
มึงว่ากูชั่วแล้วเร่งไป | เข้าพวกไพรีกับน้องชาย |
จะได้ครองสมบัติพัสถาน | เป็นเจ้าแก่หมู่มารทั้งหลาย |
ตัวกูผู้เดียวจะสู้ตาย | มิให้อายแก่หมู่โลกา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญากุมภกรรณยักษา |
ตกใจเพียงสิ้นชีวา | นบนิ้ววันทาแล้วทูลไป |
ข้าทัดทานนี้ด้วยสุจริต | จะเกรงปัจจามิตรนั้นหาไม่ |
คิดว่าจะระงับดับภัย | มิให้รณรงค์ราวี |
เมื่อว่าพระองค์ไม่เห็นด้วย | จะสู้ม้วยมิให้เคืองบทศรี |
ก็จะยกโยธาไปต่อตี | ตามมีพระราชโองการ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ใจหาญ |
ฟังพระอนุชาชัยชาญ | ดั่งได้วิมานในเมืองฟ้า |
ความโกรธก็หายคลายสิ้น | อสุรินทร์แสนโสมนัสสา |
สวมสอดกอดองค์พระน้องยา | ลูบหลังลูบหน้าแล้วตรัสไป |
ทำไมกับมนุษย์วานร | หรือจะรอต่อกรเจ้าได้ |
พ่อจงเร่งยกทัพชัย | ฆ่าเสียให้สิ้นไพรี |
แล้วจึ่งมีพระราชบรรหาร | สั่งมโหทรมารยักษี |
น้องกูจะไปราวี | ต่อตีด้วยพวกพาลา |
จงจัดทหารชาญสมร | เลือกล้วนฤทธิรอนแกล้วกล้า |
พร้อมทั้งเครื่องสรรพสาตรา | โดยกระบวนมหาโยธี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มโหทรมารยักษี |
รับสั่งถวายอัญชุลี | ออกมาจากที่พระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
ยานี
๏ ทัพหน้าจัดเอามหากาล | ทวยหาญเลือกล้วนแข็งขัน |
ยี่สิบเอ็ดกองครบครัน | จัดสรรเป็นสรรพเสนา |
ธงเขียวสำคัญไว้ซ้าย | ธงแดงสามชายอยู่เบื้องขวา |
แถวกลางธงทองรจนา | ให้ดูธงสัญญาพญายักษ์ |
โบกเข้าเบื้องซ้ายให้ซ้ายตี | ที่โบกเข้าขวาให้ขวาหัก |
ถ้าโบกตรงจงเข้าให้พร้อมพักตร์ | หนุนหนักฟันแทงให้ย่อยยับ |
ถ้าโบกออกซ้ายให้ซ้ายล่า | ถ้าโบกออกขวาให้ขวากลับ |
ถ้าธงชัยโบกถอยให้ถอยทัพ | กำหนดสรรพสิ้นทุกประการ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | กุมภกรรณฤทธิไกรใจหาญ |
ลาพระเชษฐาชัยชาญ | ขุนมารเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ให้ไขท่อแก้วปทุมทอง | เป็นละอองโปรยปรายดั่งสายฝน |
กลิ่นตลบอบอาบเสาวคนธ์ | หอมฟุ้งปรุงปนสุมามาลย์ |
ทรงสอดสนับเพลาเพราตา | ภูษาแย่งยกกระหนกก้าน |
ชายแครงเครือหงส์อลงการ | แก้วประพาฬเกาะเกล็ดเพชรพราย |
รัดอกฉลององค์ทรงประพาส | แสงตาดเลื่อมศรีมณีฉาย |
พาหุรัดทองกรจำหลักลาย | โกมินนิลรายสลับกัน |
แล้วทรงธำมรงค์เรือนครุฑ | กรกุมคทาวุธขึงขัน |
งามสง่าดั่งท้าวเวสสุวัณ | จรจรัลไปขึ้นพิชัยรถ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ รถเอยราชรถทรง | พิลึกลํ้ากำกงอลงกต |
เรือนแปรกแอกงอนอ่อนชด | ชั้นลดช่อตั้งบัลลังก์ทอง |
เทียมโตสองพันชำนาญศึก | เริงร่านหาญฮึกเผ่นผยอง |
โลทันสันทัดในทำนอง | ขับคล่องรีบเร่งดั่งลมพัด |
พร้อมเครื่องอภิรุมชุมสาย | ธงชัยเก้าชายปลายสะบัด |
โยธาเบียดเสียดเยียดยัด | กวัดแกว่งอาวุธดั่งแสงไฟ |
เสียงฆ้องกลองประโคมโครมครึก | เสียงพลโห่ฮึกแผ่นดินไหว |
เร่งหมู่ม้ารถคชไกร | ออกจากพิชัยธานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงซึ่งสนามรณยุทธ์ | จึ่งให้หยุดจตุรงค์ยักษี |
ตั้งอยู่ริมเชิงคีรี | คอยทีข้าศึกจะยกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์นาถา |
เสด็จอยู่ยังหน้าพลับพลา | ท้าวพญาวานรพร้อมกัน |
พอได้ยินสำเนียงโห่ร้อง | กึกก้องสะเทือนเลื่อนลั่น |
จึ่งถามพิเภกกุมภัณฑ์ | อันเสียงครื้นครั่นสนั่นไป |
จะเป็นทัพเจ้ากรุงลงกา | ยกพลออกมาหรือไฉน |
หรือจะเป็นสุริย์วงศ์องค์ใด | ที่ในพระราชธานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษี |
รับสั่งสมเด็จพระจักรี | อสุรีจับยามสามตา |
แจ้งแล้วน้อมเศียรอภิวาทน์ | ทูลพระภูวนาถนาถา |
อันทัพซึ่งยกออกมา | ทรงนามชื่อว่ากุมภกรรณ |
เป็นพญามหาอุปราช | มีอำนาจฤทธิแรงแข็งขัน |
เชษฐาของข้าร่วมครรภ์ | อยู่ในสัจธรรม์มั่นนัก |
ไม่เบียดเบียนเทวานาคินทร์ | ก็ย่อมรู้อยู่สิ้นทั้งไตรจักร |
ชะรอยเจ้าลงกาพญายักษ์ | หักหาญให้ออกมาชิงชัย |
จนใจจึงยกออกมา | ด้วยกลัวอาชญาไม่ขัดได้ |
พระองค์ผู้ทรงภพไตร | จงไว้ชีวิตอสุรี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์เรืองศรี |
ได้ฟังก็คิดปรานี | จึ่งมีพระราชบัญชา |
ดูกรพิเภกกุมภัณฑ์ | ซึ่งว่ากุมภกรรณยักษา |
ตั้งอยู่ในทศธรรมา | มิได้เบียนโลกาให้เดือดร้อน |
ไม่ควรที่เราจะสังหาร | ขุนมารจงห้ามพี่ก่อน |
ให้ยกทัพกลับเข้าพระนคร | แม้นอยู่ต่อกรจะบรรลัย |
ถ้าฟังถ้อยคำเราว่า | สมบัติลงกาจะยกให้ |
ตัวท่านจงเร่งรีบไป | บอกให้แจ้งใจอสุรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษี |
รับสั่งสมเด็จพระจักรี | ถวายอัญชุลีแล้วรีบมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงซึ่งที่รณรงค์ | แลเห็นรถทรงพระเชษฐา |
อยู่ในท่ามกลางโยธา | อสุราประหวั่นพรั่นใจ |
ความกลัวเพียงสิ้นชีวิต | ดำรงจิตแล้วเดินเข้าไปใกล้ |
นั่งลงตรงหน้ารถชัย | ยอกรกราบไหว้พระพี่ยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญากุมภกรรณยักษา |
เหลือบแลไปเห็นอนุชา | โกรธาขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน |
จึงร้องว่าเหวยไอ้ทรลักษณ์ | ชั่วช้าอัปลักษณ์โมหันธ์ |
ธรรมดาพี่น้องผิดกัน | ไม่ช้าพลันก็จะกลับคืนดี |
ถึงมาตรถ้าองค์พระเชษฐา | โกรธาขับไล่มึงหนี |
ญาติวงศ์พงศาก็ยังมี | เหตุใดอสุรีจึ่งไม่ไป |
กลับมาเข้าด้วยลักษมณ์ราม | บอกความตื้นลึกทั้งปวงให้ |
จะแกล้งฆ่าพงศ์พันธุ์ให้บรรลัย | มาหากูไยไอ้อัปรีย์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษี |
ยอกรถวายอัญชุลี | อสุรีสนองพระวาจา |
อันตัวของข้านี้จงรัก | ภักดีต่อองค์พระเชษฐา |
ใช่จะตัดขาดญาติกา | ความรักวงศาดั่งชีวิต |
ข้าจึ่งกราบทูลพระนารายณ์ | ว่าพระพี่ร่วมสายโลหิต |
ตั้งอยู่ในธรรมทศพิธ | ไม่คิดเบียนโลกาธาตรี |
พระองค์จึ่งทรงพระเมตตา | ใช้ข้ามาทูลบทศรี |
ว่าทศเศียรอสุรี | ไปลักพระลักษมีแจ่มจันทร์ |
อันเป็นอัคเรศดวงสวาสดิ์ | จึ่งตามมาพิฆาตให้อาสัญ |
พระเชษฐาสิตั้งอยู่ในธรรม์ | จะมาพลอยโมหันธ์ด้วยอันใด |
จงอยู่ในสัตย์สุจริต | ใครผิดก็ตามอัชฌาสัย |
แม้นเสร็จสงครามเมื่อใด | จะให้ผ่านพิชัยลงกา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | กุมภกรรณสิทธิศักดิ์ยักษา |
ได้ฟังถ้อยคำอนุชา | ตบมือสรวลร่าแล้วตอบไป |
ตัวมึงเป็นไส้สงคราม | พระรามก็จะยกเมืองให้ |
ฝ่ายกูผู้ออกมาชิงชัย | ก็จะซ้ำให้ซึ่งราชธานี |
ลงกาเป็นสองเมืองหรือ | ให้น้องแล้วจะรื้อให้พี่ |
ลวงได้แต่มึงไอ้อัปรีย์ | กูนี้มิได้เชื่อฟัง |
อันนารายณ์นั้นสี่หัตถา | ทรงตรีคทาจักรสังข์ |
ภุชงค์เป็นอาสน์บัลลังก์ | เสด็จยังเกษียรสาคร |
นี่เป็นมนุษย์สองมือ | ถือแต่ธนูศิลป์ศร |
เที่ยวอยู่ในป่าพนาดร | เอาวานรมาเป็นโยธา |
แม้นจริงเหมือนมึงมายกยอ | ก็จะแจ้งในข้อปริศนา |
คือชีโฉดหญิงโหดมารยา | ช้างงารีชายทรชน |
ถ้าว่าเป็นองค์พระจักรกฤษณ์ | ก็จะคิดแก้ได้ไม่ขัดสน |
ตัวกูผู้มีฤทธิรณ | จะเลิกพลคืนเข้าไปธานี ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษี |
จำข้อปริศนาอสุรี | ชุลีกรแล้วรีบกลับมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | ทูลองค์พระนารายณ์นาถา |
บัดนี้กุมภกรรณอสุรา | ไม่เชื่อว่าองค์พระอวตาร |
กล่าวเป็นปริศนาสี่ข้อ | ย่นย่อมิได้วิตถาร |
ให้ข้ามาทูลบทมาลย์ | ก็แจ้งการตามคำกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์รังสรรค์ |
ได้ฟังปริศนากุมภกรรณ | ทรงธรรม์นิ่งนึกตรึกไป |
เห็นเป็นโวหารติดต่อ | จะสมข้อปริศนาก็หาไม่ |
ให้เวียนวนฉงนพระทัย | ภูวไนยจึ่งมีบัญชา |
แก่เหล่าท้าวพญาพานรินทร์ | สิ้นทั้งพิเภกยักษา |
ตัวท่านผู้มีปัญญา | ใครจะเห็นว่าประการใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาวานรน้อยใหญ่ |
ต่างตนต่างคิดพิเคราะห์ไป | ในข้อปริศนาอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ ครั้นว่าไม่เห็นอธิบาย | ต้นปลายปริศนาทั้งสี่ |
จึ่งกราบทูลองค์พระจักรี | ข้านี้ขัดสนพ้นปัญญา |
ลึกลับสุดที่จะแก้ไข | จนจิตจนใจหนักหนา |
ขอให้องคตผู้ปรีชา | ออกไปเจรจาด้วยขุนมาร |
ล่อลวงไต่ถามโดยอุบาย | ซึ่งชั้นเชิงแยบคายโวหาร |
เห็นจะไม่เสียเกียรติพระอวตาร | ยืนนานชั่วฟ้าธาตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์เรืองศรี |
ฟังคำทูลตอบเห็นชอบที | ภูมีจึ่งตรัสแก่องคต |
อันซึ่งข้อความปริศนา | เราพิจารณาทั้งสี่บท |
เห็นเป็นโวหารเลี้ยวลด | กำหนดแต่งว่าประสาใจ |
ที่จะทั่วไปแก่หมู่ปราชญ์ | อันชาญฉลาดนั้นหาไม่ |
ตัวท่านผู้ปรีชาไว | จงรีบออกไปเจรจา |
กับกุมภกรรณขุนมาร | ให้วิตถารในข้อปริศนา |
อย่าให้มันรู้มารยา | ฟังดูจะว่าประการใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ