- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงท้าวหัสนัยน์เรืองศรี |
แต่พระหริวงศ์ทรงฤทธี | ปราบหมู่อสุรีอาธรรม์ |
ล้มตายวินาศดาษดา | โลกาผาสุกเกษมสันต์ |
ทั้งนักสิทธ์วิทยาเทวัญ | ไม่มีอันตรายสิ่งใด |
ชื่นชมยินดีเป็นที่สุด | จึ่งพาเทพบุตรน้อยใหญ่ |
กับหมู่นางฟ้าสุราลัย | ไปยังไกรลาสคีรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงต่างถวายอภิวาทน์ | พระสยมภูวนาถเรืองศรี |
ยังมุขพิมานมณี | ในที่ประชุมเทวา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอิศวรบรมนาถา |
ครั้นเห็นโกสีย์ผู้ศักดา | กับเทเวศนางฟ้าพร้อมกัน |
จึ่งมีเทวราชโองการ | ดูก่อนมัฆวานรังสรรค์ |
วันนี้ฝูงเทพเทวัญ | มาประชุมทุกชั้นสุราลัย |
ร้อยปีจึ่งจะมีแต่ละหน | เป็นมหามงคลอันใหญ่ |
จับระบำเล่นให้สำราญใจ | ในนักขัตฤกษ์สถาวร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวมัฆวานชาญสมร |
ก้มเกล้าดุษฎีชุลีกร | สโมสรรับเทวบัญชา |
จึ่งสั่งฝูงเทพเทวัญ | กับอนงค์นางสวรรค์พร้อมหน้า |
จงจับระบำให้จำเริญตา | ถวายพระอิศราธิบดี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
พระทอง
๏ เมื่อนั้น | เทวัญนางฟ้าทุกราศี |
รับสั่งโกษิตผู้ฤทธี | ต่างองค์ยินดีเป็นสุดคิด |
จึ่งจับระบำรำถวาย | ย้ายเทเล่ห์กลอกนิษฐ์ |
รำเบียดเสียดเข้าไปให้ชิด | ทอดสนิทติดพันกัลยา |
แล้วตีวงเวียนเปลี่ยนซ้าย | ร่ายตีวงเวียนเปลี่ยนขวา |
เลียมลอดสอดเคล้าเข้ามา | กั้นกางขวางหน้านางไว้ |
ยักย้ายม่ายเมียงเบี่ยงผัน | แทรกเปลี่ยนพัลวันขวักไขว่ |
เหน็บแนมแกมกลปนไป | ในนางสวรรค์กัลยาณี |
เลี้ยวลัดสกัดกั้นกาง | คว้าไขว่ไล่นางสาวศรี |
รำเคล้าเย้าหยอกไปในที | เคียงข้างมิให้ห่างกัลยา |
ฉวยฉุดยุดนางข้างซ้าย | ยิ้มพรายชายเนตรชำเลืองหา |
แล้วกลับผินผันหน้ามา | ยุดนางข้างขวาสำราญใจ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางเทพธิดาน้อยใหญ่ |
ระวังทีเทวาสุราลัย | รำเปลี่ยนเวียนไวไล่กัน |
ฝูงนางสวรรค์แต่ผันผิน | เทวินทร์เข้าขวางกางกั้น |
หลีกหลบลดเลี้ยวเกี้ยวพัน | ให้ทีเทวัญด้วยมารยา |
ครั้นเห็นเทพบุตรเวียนซ้าย | นางสวรรค์ผันย้ายเปลี่ยนขวา |
เทวัญกั้นหน้าเข้ามา | นางฟ้าหยุดยั้งทุกนารี |
แล้วทำกระบวนให้ยวนใจ | ใส่จริตค้อนให้แล้วชายหนี |
ครั้นเทวาคว้าไขว่เป็นที | มารศรีสลัดปัดกร |
แล้วรำตลบถอยหลัง | งามดั่งกินรีราร่อน |
เทเวศเปลี่ยนท่านางนอน | เคียงคู่อัปสรด้วยปรีดา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
เบ้าหลุด
๏ เมื่อนั้น | ฝูงเทพเทวัญถ้วนหน้า |
รำเคียงเลี่ยงลอดสอดคว้า | เลี้ยวไล่นางฟ้าเป็นแยบคาย |
แล้วชักเวียนวงเป็นหงส์ร่อน | งามงอนพริ้งเพริศเฉิดฉาย |
ทอดกรอ่อนระทวยกรีดกราย | ยักย้ายร่ายเรียงเคียงกัน |
เทเวศรำกระชั้นเข้าชิด | นางฟ้าเบี่ยงบิดหลบผัน |
เป็นทีลวงล่อเทวัญ | ฉวยฉุดยุดพัลวันไป |
ฝูงนางสวรรค์ก็ผันหนี | เทวัญทำทีตลบไล่ |
นางฟ้าถอยล่อเวียนไว | มิให้คลอเคล้าเข้าชิด |
เทพบุตรรำเคียงเรียงมา | นางฟ้าเลี้ยวเลี่ยงเบี่ยงบิด |
อันหมู่เทวาสุราฤทธิ์ | บันเทิงจิตด้วยฝูงนารี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ปะวะหลิ่ม
๏ เมื่อนั้น | นางเทพธิดาโฉมศรี |
รำล่อเทวัญเป็นที | ชายหนีหลีกเลี้ยวไปมา |
เยื้องย่างกรายกรฟ้อนขับ | ตีวงกลอกกลับซ้ายขวา |
แล้วถอยหลังรำล่อเทวา | ทำชม้ายชายตาเป็นกล |
ครั้นเทวาเข้าใกล้ก็กรายกร | เป็นหงส์ร่อนพ่างพื้นโพยมหน |
งามดั่งเมขลานฤมล | ด้วยแยบยลมารยาพิราใน |
ฝ่ายฝูงเทวัญอันดีดสี | เคลิ้มประหวัดยินดีไม่ทนได้ |
ลุกขึ้นกั้นกางขวางหน้าไว้ | เยื้องกรายเข้าไปให้ชิด |
ฉวยฉุดยุดนางสาวสวรรค์ | เวียนหันสัพยอกตามติด |
โทนทับตกแตกมิได้คิด | ทอดสนิทยั่วเย้าเยาวมาลย์ |
มีความเพลิดเพลินจำเริญใจ | สุราลัยเป็นสุขเกษมศานต์ |
งวยงงด้วยองค์นงคราญ | สำราญทั้งไกรลาสบรรพตา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอิศวรบรมนาถา |
ทอดพระเนตรดูฝูงเทวา | กับเทพธิดาวิลาวัณย์ |
มีพระทัยใสสุดโสมนัส | พูนสวัสดิ์ภิรมย์เกษมสันต์ |
จนพระสุริยาสายัณห์ | เลี้ยวเหลี่ยมสุวรรณคีรี |
พระองค์จึ่งตรัสประภาษ | กับท้าวเทวราชโกสีย์ |
ด้วยกิจบำรุงธาตรี | ในที่ประชุมเทวา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หัสนัยน์เจ้าตรัยตรึงศา |
จึ่งบังคมทูลพระอิศรา | บัดนี้โลกาก็สมบูรณ์ |
เพราะเหล่าสัตว์บาปซึ่งหยาบคาย | วอดวายชีวิตสิ้นสูญ |
ด้วยเดชพระนารายณ์ไวกูณฐ์ | ล้างประยูรพวกพาลอสุรี |
แต่พระหริวงศ์ทรงนาค | เกิดวิบัติพลัดพรากพระลักษมี |
นางไปอยู่เมืองนาคี | ภูมีรัญจวนจิตนิจกาล |
ได้แต่สองโอรสไว้ | ในกรุงอยุธยาราชฐาน |
ต่างทุกข์ต่างเทวษทรมาน | ช้านานได้หลายปีมา |
ขอพระผู้เป็นประธานโลก | ช่วยดับโศกพระนารายณ์นาถา |
ให้นางคืนสมภิรมยา | โลกาจะได้สุขสืบไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจอมไกรลาศเขาใหญ่ |
ได้แจ้งแห่งคำหัสนัยน์ | ก็เร่าร้อนพระทัยพันทวี |
จึ่งมีเทวราชโองการ | สงสารพระนารายณ์เรืองศรี |
อวตารไปบำรุงธาตรี | ทั้งพระลักษมีโสภา |
ควรหรือมานิราศร้างกัน | จาบัลย์เศร้าโทมนัสสา |
เพราะเราประมาทวิญญาณ์ | ไม่เล็งดูโลกาให้ทั่วไป |
แล้วสั่งจิตตุราชเทเวศ | ทรงเดชศักดาอัชฌาสัย |
จงเอารถแก้วแววไว | ไปรับสีดาเทวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จิตตุราชเทวัญเรืองศรี |
รับสั่งถวายอัญชุลี | ออกจากที่ทิพย์พิมาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งขึ้นรถแก้วอลงกรณ์ | ขับเทพอัสดรตัวหาญ |
ชำแรกแทรกพื้นสุธาธาร | ลงไปบาดาลด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งประทับกับเกยแก้ว | แล้วลงจากราชรัถา |
ขึ้นยังปราสาทรัตนา | แห่งพญานาคาธิบดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บอกว่ามีเทวโองการ | พระสยมภูวญาณเรืองศรี |
บัญชาใช้เราลงมานี้ | เชิญพระลักษมีบังอร |
ให้ขึ้นไปเฝ้าเบื้องบาท | ยังที่ไกรลาสสิงขร |
โดยความสวัสดิ์สถาวร | ดวงสมรเสด็จอยู่แห่งใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าววิรุณผู้มีอัชฌาสัย |
ฟังแจ้งไม่แคลงพระทัย | ก็พาไปที่อยู่กัลยา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งประณตบทบงสุ์ | องค์นางสีดาเสน่หา |
ฝ่ายจิตตุราชเทวา | ก็กราบทูลกิจจาเยาวมาลย์ |
บัดนี้พระสยมภูวนาถ | แจ้งว่าอัครราชยอดสงสาร |
ผิดกันกับองค์พระอวตาร | ผ่านฟ้าเดือดร้อนพันทวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ จึ่งให้ข้านำรถทรง | มาเชิญเสด็จองค์พระลักษมี |
ขึ้นไปเฝ้าบาทพระศุลี | ยังที่ไกรลาสบรรพตา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมนางสีดาเสน่หา |
ได้แจ้งแห่งคำเทวา | กัลยาตริตรึกนึกไป |
ตัวกูจะได้บังคมบาท | พระจอมไกรลาสเนินไศล |
ถึงตายไม่เสียดายชีวาลัย | คิดไว้พึงสมในวันนี้ |
ตริแล้วยุรยาตรนาดกร | งามลํ้าอัปสรในราศี |
อันท้าววิรุณนาคี | กับนารีบริวารก็ตามมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงเกยแก้วแกมมาศ | เสด็จขึ้นทรงราชรัถา |
เทเวศก็ขับอาชา | มาจากพิภพนาคินทร์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ รถเอยรถวิมาน | แอกงอนชัชวาลด้วยแก้วสิ้น |
บุษบกงามแม้นปราสาทอินทร์ | เทียมสินธพสี่เทวัญ |
ชำแรกแทรกพื้นปถพี | สำเริงร้องก้องมี่เสียงสนั่น |
แสงแก้วแสงทองสลับกัน | ดั่งพระจันทร์ลอยเลื่อนเมฆา |
พร้อมฝูงอนงค์นาคราช | ห่อมลัอมเดียรดาษซ้ายขวา |
บ้างถือเครื่องสักการบูชา | บุปผาธูปเทียนปทุมมาลย์ |
ล้วนทรงเสาวรสเกสร | กลิ่นขจรเฟื่องฟุ้งหอมหวาน |
นับแสนแน่นในคัคนานต์ | ไปสถานไกรลาสคีรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงที่ทิพย์พิมานมาศ | ยุรยาตรจากรถมณีศรี |
พร้อมฝูงอนงค์นาคี | จรลีขึ้นเฝ้าเจ้าโลกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคม | พระอิศวรบรมนาถา |
ท่ามกลางฝูงเทพเทวา | คอยฟังบัญชาพระทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสยมภูวญาณรังสรรค์ |
เห็นนางสีดาวิลาวัณย์ | มาบังคมคัลก็ยินดี |
จึ่งมีมธุรสอันสุนทร | ดูก่อนเยาวลักษณ์ลักษมี |
ซึ่งผิดกับพระราชสามี | เดิมทีเหตุผลประการใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดพิสมัย |
ได้ฟังพระองค์ทรงภพไตร | บังคมไหว้สนองพระวาจา |
เดิมพระรามรับสัจบิตุรงค์ | ออกไปทรงพรตอยู่กลางป่า |
ข้ากับพระลักษมณ์อนุชา | อุตส่าห์โดยเสด็จด้วยภักดี |
ไปได้อาศรมอาศัย | ใกล้ฝั่งโคธาวารีศรี |
รักษากิจโดยเพศโยคี | ในที่อารัญกันดาร |
ทศพักตร์ลักข้าพระองค์ไป | ไว้ในลงการาชฐาน |
พระลักษมณ์กับองค์พระอวตาร | ตามไปสังหารอสุรา |
เสร็จศึกได้ลุยเพลิงถวาย | เทวาทั้งหลายพร้อมหน้า |
จึ่งรับมากรุงอยุธยา | จนข้าบาทนี้มีครรภ์ |
เมื่อวันจะบังเกิดเหตุ | พระนเรศไปประพาสไพรสัณฑ์ |
นางหนึ่งถามถึงทศกัณฐ์ | ว่ารูปร่างนั้นประการใด |
ข้าบาทพาซื่อว่าทาสี | ก็วาดรูปอสุรีลงให้ |
บัดเดี๋ยวนางนั้นก็หายไป | พอพระภูวไนยเสด็จมา |
ตกใจลบล้างก็ไม่หมด | ยิ่งปรากฏเป็นรูปยักษา |
จึ่งซ่อนไว้ใต้แท่นไสยา | พระจักราคลั่งคลุ้มไม่สมประดี |
ค้นได้ยิ่งกริ้วโกรธนัก | ว่าข้ารักทศเศียรยักษี |
ให้พระลักษมณ์พาไปในราตรี | สังหารชีวีให้วายปราณ |
เดชะด้วยสัจสุจริต | จึ่งไม่สิ้นชีวิตสังขาร |
พระขรรค์เป็นพวงสุมามาลย์ | นงคราญทูลแจ้งแต่ต้นมา ฯ |
ฯ ๒๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอิศวรบรมนาถา |
ได้แจ้งแห่งคำนางสีดา | ผ่านฟ้าสงสารพันทวี |
อนิจจาควรหรือมาเป็นได้ | ดั่งหนึ่งใช่องค์พระลักษมี |
ดูก่อนจิตตุบทผู้ฤทธี | ตัวท่านผู้ปรีชาชาญ |
จงเอาพิชัยรถทรง | ลงไปอยุธยาราชฐาน |
หาองค์พระรามอวตาร | แจ้งการว่าเราให้ขึ้นมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จิตตุบทเทวัญฤทธิ์กล้า |
รับสั่งสมเด็จพระอิศรา | ถวายบังคมลาแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ขึ้นยังรถรัตนามาศ | อันโอภาสดั่งดวงแขไข |
ขับระเห็จเตร็ดฟ้าด้วยว่องไว | รีบไปอยุธยาธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งประทับกับบัญชร | ยอกรประณตบทศรี |
ทูลองค์สมเด็จพระจักรี | โดยมีเทวราชบัญชา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภูวนาถนาถา |
ได้แจ้งแห่งคำเทวา | ผ่านฟ้าสำราญฤทัย |
ดั่งได้สมบัติทั้งสามโลก | สิ้นโศกสิ้นทุกข์หม่นไหม้ |
จึ่งมีโองการตรัสไป | ซึ่งเจ้าภพไตรให้หานี้ |
เป็นบุญพอสมที่คิดเรา | จะไปเฝ้าเบื้องบาทบทศรี |
จะได้แจ้งโทษาซึ่งราคี | ในที่จำเพาะพระพักตรา |
ว่าแล้วชวนสามพระวรนุช | อันร่วมชีพแสนสุดเสน่หา |
กรายกรลีลาศยาตรา | ไปเฝ้าพระมารดาทันใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งสี่สุริย์วงศ์ | ต่างองค์น้อมเศียรประนมไหว้ |
พระจักรีจึ่งกราบทูลไป | ว่าเจ้าภพไตรผู้ทรงญาณ |
บัญชาให้หาลูกไปเฝ้า | ยังเขาไกรลาสราชฐาน |
อันนางสีดายุพาพาล | ก็มีบรรหารไปหามา |
บัดนี้ฝูงเทพเทวัญ | ประชุมกันคอยอยู่พร้อมหน้า |
ตัวลูกกับสามอนุชา | จะขอลาเบื้องบาทพระชนนี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สามพระมารดาโฉมศรี |
ฟังโอรสาพาที | มีความยินดีเป็นพ้นนัก |
ดั่งได้สมบัติพัสถาน | อันโอฬารเลิศลํ้าไตรจักร |
จึ่งยอกรลูบหลังลูบพักตร์ | ลูกรักของแม่ดั่งดวงตา |
ซึ่งเจ้าจะไปเฝ้าเบื้องบาท | พระสยมภูวนาถนาถา |
จะพิดทูลสิ่งใดจงตรึกตรา | อย่าให้เคืองบาทาพระภูมี |
อันนางสีดาเยาวเรศ | ก็จะคืนนิเวศน์บุรีศรี |
เหมือนคำพิเภกอสุรี | แม่นี้จะได้สิ้นทุกข์ร้อน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์ทรงศร |
ก้มเกล้ารับคำพระมารดร | ชุลีกรแล้วพากันกลับมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงเข้าที่สรงชล | ทรงสุคนธ์ธารทิพย์บุปผา |
ต่างสอดสนับเพลาอลงการ์ | ภูษาพื้นสีต่างกัน |
ชายไหวชายแครงเครือหงส์ | ฉลององค์พื้นตาดสังเวียนคั่น |
ตาบทิศทับทรวงสังวาลวัลย์ | ทองกรกุดั่นพาหุรัด |
ทรงมหาธำมรงค์ประดับเพชร | ก้านกระหนกเรือนเก็จกาบสะบัด |
มงกุฎแก้วกุณฑลดอกไม้ทัด | กรรเจียกจรจำรัสมาลัยทรง |
ต่างกุมศรสิทธิ์ฤทธิรอน | กรายกรย่างเยื้องดำเนินหงส์ |
สง่างามตามกันทั้งสี่องค์ | ตรงไปขึ้นรถเทวัญ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ รถเอยรถมณี | ขององค์พระศุลีรังสรรค์ |
กงกำแก้วสลับประกับกัน | ดุมวงล้วนสุวรรณพรรณราย |
บัลลังก์ลดชั้นคั่นภาพ | บุษบกเก็จกาบบัวหงาย |
เสาทองช่อตั้งกระจังราย | ห้ายอดงามคล้ายวิมานฟ้า |
เทียมสี่สินธพเทพบุตร | ลำพองฤทธิรุทรเริงร่า |
จิตตุบทขับเผ่นขึ้นเมฆา | ลอยมาดั่งดวงอโณทัย |
อันพญาอนุชิตจักรีวงศ์ | เอกองค์ยิ่งยอดทหารใหญ่ |
ตามเสด็จพระตรีภูวไนย | ตรงไปไกรลาสบรรพต ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งประทับกับเกยมาศ | อันโอภาสด้วยดวงมรกต |
ชวนสามอนุชาลงจากรถ | บทจรขึ้นเฝ้าพระศุลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ต่างกราบประณตบทมาลย์ | พระสยมภูวญาณเรืองศรี |
ด้วยใจโสมนัสยินดี | พระจักรีชำเลืองเนตรไป |
ดูนางสีดานงลักษณ์ | ความรักพูนเพิ่มพิสมัย |
จะใคร่เข้าอุ้มองค์อรไท | หากเกรงเจ้าไตรโลกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอิศวรบรมนาถา |
เห็นสี่องค์วงศ์จักรพัตรา | ผ่านฟ้าชื่นชมยินดี |
จึ่งมีวาจาอันสุนทร | ดูก่อนพระนารายณ์เรืองศรี |
เจ้าอวตารลงไปครั้งนี้ | กับพระลักษมีนงคราญ |
หวังปราบอสูรหมู่ยักษ์ | ที่ทรลักษณ์หยาบช้ากล้าหาญ |
ให้สิ้นศัตรูหมู่พาล | จะได้สุขสำราญทั้งโลกา |
เป็นไฉนฉะนี้จึ่งผิดกัน | ให้เทวัญเดือดร้อนถ้วนหน้า |
บัดนี้องค์นางสีดา | ว่าเจ้าให้ฆ่าร้าตี |
เดชะความสัจไม่วายชนม์ | จนใจไปพึ่งพระฤๅษี |
คลอดบุตรที่ในกุฎี | เจ้านี้ให้จับเอากุมาร |
เข้าไปจองจำทำโทษา | ปิ้มว่าจะม้วยสังขาร |
จริงฉันนี้หรือพระอวตาร | หรือเหตุการณ์นั้นเป็นฉันใด ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้มีอัชฌาสัย |
ชลเนตรคลอเนตรแล้วถอนใจ | บังคมไหว้สนองพระบัญชา |
อันถ้อยคำนางรํ่าบังคมทูล | นเรนทร์สูรเทวราชนาถา |
บรรยายแต่ต้นจนปลายมา | จริงเหมือนวาจาทั้งนั้น |
พระองค์เป็นที่พึ่งแก่สามโลก | ช่วยดับโศกให้สุขเกษมสันต์ |
ข้าบาทผิดแล้วพระทรงธรรม์ | วันหน้ามิให้เคืองใต้ธุลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสยมภูวนาถเรืองศรี |
ได้ฟังวาจาพระจักรี | ภูมีถวิลจินดา |
อันนางสีดายุพาพักตร์ | เยาวลักษณ์เคืองแค้นอยู่หนักหนา |
จำจะขู่ข่มพระจักรา | แล้วจึ่งจะค่อยว่าเป็นกลาง |
ให้เห็นทั้งคุณทั้งโทษ | จึ่งจะสิ้นความโกรธหมองหมาง |
เห็นจะไม่น้อยใจนาง | คิดพลางแล้วตรัสไปทันใด |
เออไฉนฉะนี้พระจักรา | อนิจจาช่างทำแก่นางได้ |
ปางเมื่ออวตารลงไป | เราก็ได้อวยชัยให้พร |
แม้นใครจงจิตพิศวาส | ในอัครราชสีดาดวงสมร |
แต่เข้าใกล้ก็ให้เดือดร้อน | ดั่งนอนอยู่กลางอัคคี |
ถึงจะพลัดพรากจากกัน | อย่าให้อันตรายแก่โฉมศรี |
จงบริสุทธิ์ดั่งดวงมณี | จมอยู่ที่พื้นพระสุธา |
พรนี้ก็แจ้งประจักษ์ใจ | เหตุใดมาคิดกังขา |
กริ้วโกรธทำโทษกัลยา | ดั่งว่าใช่คู่สร้างกัน ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระรามสุริยวงศ์รังสรรค์ |
ได้ฟังบรรหารพระทรงธรรม์ | ดั่งสายฟ้าฟาดฟันต้ององค์ |
คิดเกรงอานุภาพเจ้าโลกา | ทั้งสงสารนางสีดานวลหง |
ชลนัยน์ไหลย้อยหยดลง | กราบกับบาทบงสุ์แล้วทูลไป |
อันโทษข้าผิดนี้เหลือผิด | ด้วยกรรมหลังบังมิดไม่คิดได้ |
ซึ่งพระเป็นเจ้าประสาทไว้ | แก่องค์อรไทนางสีดา |
ก็ลืมหลงงงงวยไปทั้งนั้น | พระทรงธรรม์จงโปรดเกศา |
อย่าให้ชีวิตมรณา | ตัวข้าจะได้รองบทมาลย์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจอมไกรลาสราชฐาน |
ได้ฟังวาจาพระอวตาร | มีใจสงสารเป็นสุดคิด |
จึ่งผินพักตร์มาข้างพระลักษมี | แล้วมีบัญชาประกาศิต |
เจ้าผู้มารดาสุราฤทธิ์ | พระรามรับผิดแต่เดิมมา |
เป็นเหตุทั้งนี้ด้วยปีศาจ | เชื้อชาติทศพักตร์ยักษา |
ชื่ออี่อดูลมารมารยา | มันแกล้งจะฆ่านางเทวี |
จงฟังเราว่าสีดาเอ๋ย | อย่าโกรธนักเลยนะโฉมศรี |
อันพระภัสดาสามี | ใช่ที่ไม่รักอรไท |
ช่วยกันบำรุงโลกา | ถ้วนหน้าจะได้อาศัย |
อย่าให้เทวาสุราลัย | ร้อนใจนักเลยนะเทวี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดสงสาร |
ได้ฟังเทวราชโองการ | เร่าร้อนวิญญาณดั่งเพลิงกัลป์ |
กราบลงแล้วทรงแสนเทวษ | ชลนัยน์นองเนตรกันแสงศัลย์ |
สะอื้นพลางทางทูลรำพัน | ขอพระทรงธรรม์จงเมตตา |
ซึ่งจะให้คืนไปสนองบาท | พระตรีภูวนาถนาถา |
จนจิตสุดคิดสุดปัญญา | สุดที่จะไว้หน้าไว้ตัว |
ด้วยคราวดีทีร้ายไกลกัน | จะครองพระทัยนั้นไม่รอดชั่ว |
ข้าบาทคิดกลัวนี้เหลือกลัว | พระอยู่หัวสามโลกจงปรานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสยมภูวญาณเรืองศรี |
ฟังนางโศกาพาที | จึ่งมีมธุรสวาจา |
เจ้ากับพระองค์ทรงสุบรรณ | นักสิทธ์เทวัญพร้อมหน้า |
ประชุมเชิญไปปราบอสุรา | หวังว่าจะให้เย็นภพไตร |
สองเจ้ามาเป็นดั่งนี้ | ธาตรีจะพึ่งผู้ใดได้ |
อย่าคุมแค้นนักเลยอรไท | จงหักใจคิดยากมาด้วยกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดาสาวสวรรค์ |
ประนมนิ้วน้อมเศียรบังคมคัล | กัลยาสนองพระวาที |
ซึ่งพระองค์เมตตาการุญ | พระคุณลํ้าฟ้าราศี |
อันจะรักษาใจพระจักรี | ข้านี้ขัดสนเป็นพ้นคิด |
จะช่วงใช้ใต้บาทยุคล | น่าที่จะไม่พ้นความผิด |
สำหรับแต่จะสิ้นชีวิต | พระทรงฤทธิ์ไหนจะทราบบาทา |
ถึงยากจะสู้ก้มหน้ายาก | ทนทุกข์ลำบากอยู่ดีกว่า |
ทูลพลางนางทรงโศกา | ดั่งว่าจะสิ้นชีวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอิศวรบรมเรืองศรี |
ฟังนางรํ่าว่าพาที | จึ่งมีบัญชาปลอบไป |
เจ้าผู้มารดาแก่สามโลก | อย่าแสนโศกนักเลยหาควรไม่ |
อันเกิดมาในพื้นภพไตร | ย่อมได้ทุกข์สุขเหมือนกัน |
ฝ่ายข้างพระรามก็รับผิด | ต่อหน้าสุราฤทธิ์ทั้งสรวงสวรรค์ |
นานไปแม้นทำโทษทัณฑ์ | ข้อนั้นอย่าคิดอาวรณ์ |
จงไปภิรมย์สมสวาท | ด้วยสามีธิราชเหมือนปางก่อน |
ในศรีอยุธยาพระนคร | ให้ถาวรเป็นสุขสวัสดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสีดามารศรี |
ได้ฟังดั่งทิพย์วารี | เทวีนบนิ้วแล้วทูลไป |
ตัวข้ากำพร้าแล้วไร้วงศ์ | บิตุราชมาตุรงค์ก็หาไม่ |
ขอเอาพระเดชปกเกศไว้ | ไปกว่าจะสิ้นชีวา |
ซึ่งพระองค์ปรานีให้โอวาท | ข้าบาทก็จะรับใส่เกศา |
ตามในพระราชบัญชา | มิให้เคืองบาทาพระทรงญาณ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจอมไกรลาสราชฐาน |
ฟังนางสีดาเยาวมาลย์ | รับเทวโองการก็สมคิด |
มีความแสนโสมนัสนัก | จึ่งผันพักตร์มากล่าวประกาศิต |
ทั้งท้าวโกสีย์ผู้มีฤทธิ์ | ซึ่งพระรามผิดกับนางนั้น |
ต่างองค์โศกาอาวรณ์ | ทุกข์ร้อนปิ้มชีพอาสัญ |
สุรารักษ์นักสิทธ์เทวัญ | พากันเดือดร้อนทั้งโลกา |
ตัวเราผู้เป็นหลักโลก | จะดับโศกให้เย็นทุกแหล่งหล้า |
คิดจะเษกสองกษัตรา | เป็นมหามงคลเลิศไกร |
ในทิพย์พิมานไกรลาส | แล้วจะประสาทพระพรให้ |
อันฝูงเทวาสุราลัย | จงไปแต่งการพิธี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝูงเทพเทวาทุกราศรี |
รับเทวบรรหารด้วยยินดี | ต่างถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จัดซึ่งไพชยนต์วิมานมาศ | ทอดทิพอาสน์ซ้ายขวา |
ท่ามกลางวงบัลลังก์รัตนา | ปักมหาเศวตฉัตรอลงการ |
เพดานห้อยพวงพู่กลิ่น | มาลัยประทิ่นหอมหวาน |
บายศรีแก้วทองโอฬาร | แว่นรัตน์ชัชวาลเทียนชัย |
กลศสังข์ตั้งเรียงเคียงอาสน์ | ผูกม่านเครือมาศสองไข |
ล้วนแล้วเครื่องทิพย์อำไพ | เตรียมไว้ตามเทพบัญชา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอิศวรบรมนาถา |
ครั้นใกล้ศุภฤกษ์เวลา | ให้แต่งสองกษัตราประกวดกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หัสนัยน์เจ้าตรัยตรึงศ์สวรรค์ |
กับพระอุมาวิลาวัณย์ | บังคมคัลรับเทวโองการ |
บ้างจัดสรรเครื่องต้นเครื่องทรง | อลงกตด้วยทิพย์มุกดาหาร |
เชิญนารายณ์กับสีดายุพาพาล | ให้มาสรงสนานวารี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระหริรักษ์เรืองศรี |
กับนางสีดาเทวี | มาเข้าที่สรงคงคาลัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ สองกษัตริย์ชำระสระสนาน | นํ้าทิพย์เทียบธารเย็นใส |
ทรงสุคนธปนปรุงสุมาลัย | หอมฟุ้งจับใจทั้งสององค์ |
สอดใส่สนับเพลาโกสีย์ถวาย | ภูษาทิพย์พลอยลายกระหนกหงส์ |
พระอุมาให้สีดาโฉมยง | ทรงผ้าเครือแย่งกินนร |
นารายณ์ทรงชายไหวชายแครง | ฉลององค์ทองแล่งประภัสสร |
นางทรงสไบตาดอรชร | สอดสีม่วงอ่อนเครือวัลย์ |
พระทรงสังวาลแววแก้ววับ | นางทรงสร้อยซับประดับถัน |
ตาบทิศทับทรวงละกลกัน | พาหุรัดนาคพันทองกรกาญจน์ |
ต่างทรงธำมรงค์เพชรแหลม | ก้านกระหนกภาพแกมมุกดาหาร |
นารายณ์ทรงมงกุฎแก้วประพาฬ | เยาวมาลย์มงกุฎทับทิมพราย |
กรรเจียกจรกุณฑลดอกไม้ทัด | ห้อยมาลัยรัตน์ฉานฉาย |
พิศทรงเสาวภาคย์พรรณราย | งามคล้ายโกสีย์สุชาดา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอิศวรบรมนาถา |
ครั้นเสร็จแต่งสองกษัตรา | แล้วให้เสด็จมาพร้อมกัน |
ฝ่ายขวานั้นท้าวมัฆวาน | นำพระอวตารรังสรรค์ |
บรรดาฝูงเทพเทวัญ | เดินเคียงคู่กันเป็นหลั่นไป |
ทั้งสามพระศรีอนุชา | กับพญาอนุชิตทหารใหญ่ |
ต่างตนสำราญฤทัย | ไปตามเสด็จพระจักรี |
เบื้องซ้ายพระอุมาโฉมยง | นำองค์สีดามารศรี |
ฝูงเทพกัลยานารี | แห่ห้อมเทวีมาพร้อมกัน |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ถึงที่อภิเษกโอภาส | พระสยมภูวนาถรังสรรค์ |
ก็พาทั้งสองกษัตริย์นั้น | ขึ้นวิมานสุวรรณอำไพ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ให้นั่งเหนือบัลลังก์เศวตฉัตร | แสงจำรัสโอภาสดั่งแขไข |
อันคณะนักสิทธ์อยู่ชั้นใน | สุราลัยชั้นกลางกับนางฟ้า |
ชั้นนอกคนธรรพ์วิชาธร | ครุฑนาคกินนรพร้อมหน้า |
เพียบพื้นพิมานรัตนา | นั่งมาเป็นอันดับกัน |
ได้ฤกษ์ให้ฆาตฆ้องชัย | หัสนัยน์เป่าสังข์บันลือลั่น |
องค์พระอิศวรทรงธรรม์ | ก็จุดเทียนสุวรรณมณี |
เข้าติดประกับกับแว่นแก้ว | เสร็จแล้วส่งให้พระฤๅษี |
อันฝูงเทพเทวานาคี | ก็รับส่งตามที่กันลงมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ มโหรี
๏ เวียนเอยเวียนเทียน | ให้เวียนแต่ซ้ายมาขวา |
เสียงซ้องสาธุการโลกา | สนั่นถึงชั้นฟ้าบาดาล |
ประโคมทั้งดุริยางค์ดนตรี | ดีดสีตีเป่าเฉื่อยฉาน |
บ้างโปรยข้าวตอกทิพย์สุมามาลย์ | กันธรสหอมหวานตลบไป |
ฝ่ายองค์พระสยมภูวนาถ | อ่านเวทประสาทพระพรให้ |
ทั้งฤๅษีตรีเนตรสุราลัย | นางในอัปสรกัลยา |
ต่างต่างอำนวยอวยพร | ให้สององค์ถาวรด้วยยศถา |
เป็นฉัตรแก้วกั้นโลกา | ร่มหล้าทั่วพื้นจักรวาล |
อันศัตรูหมู่พวกปัจจามิตร | จงพ่ายแพ้ฤทธิ์ทุกสถาน |
ให้พระชนม์ยาวยืนจำเริญนาน | โรไคภัยพาลอย่ายายี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นครบเจ็ดรอบเสร็จสรรพ | ก็ดับเทียนโบกควันเฉลิมศรี |
ให้ต้องสองกษัตริย์ธิบดี | โดยพิธีไสยเบื้องโบราณมา |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ แล้วมีพระราชบรรหาร | แก่พระอวตารนาถา |
ทั้งพระลักษมีโสภา | สองราจงคืนพระนคร |
เสวยแสนไอศูรย์สมบัติ | สมบูรณ์พูนสวัสดิ์สโมสร |
บำรุงไพร่ฟ้าประชากร | ให้ถาวรสืบวงศ์จำเริญไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองกษัตริย์ผู้มีอัชฌาสัย |
ก้มเกล้ารับพรเจ้าภพไตร | ต่างองค์มีใจสำราญ |
ฝ่ายพระหริวงศ์ทรงเดช | น้อมเกศกราบทูลสนองสาร |
อันพระองค์ผู้ทรงทิพญาณ | บรรหารเมตตาข้าทั้งนี้ |
พระคุณกว้างลึกกว่าสมุทร | สูงสุดยิ่งพระเมรุคีรีศรี |
ข้าสองขอสนองใต้ธุลี | ไปกว่าชีวีจะมรณา |
ทูลแล้วห้ากษัตริย์บังคม | ลาองค์บรมนาถา |
เสด็จด้วยฝูงเทพเทวา | มาทรงรัถาอำไพ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ รถเอยรถทิพย์ | สิบหกห้องฟ้าไม่หาได้ |
งามเทพอาชาว่องไว | งามไทเทเวศขับทะยาน |
งามพระหริวงศ์ทรงจักร | งามพระลักษมียอดสงสาร |
งามสามอนุชาชัยชาญ | งามท้าวมัฆวานฤทธิรงค์ |
งามฝูงอมรเมศห้อมล้อม | งามพร้อมเครื่องประดับงามระหง |
งามลูกพระพายสุริย์วงศ์ | งามธงงามทิวสลับกัน |
งามเทพบำเรอดุริยางค์ | งามนางบรรเลงเพลงสวรรค์ |
งามเลื่อนลอยฟ้าพรายพรรณ | ไปยังเขตขัณฑ์อยุธยา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงประทับกับเกยมาศ | พระตรีภูวนาถนาถา |
จึ่งมีมธุรสวาจา | แก่อมรินทราธิบดี |
ซึ่งพระองค์เมตตาไปว่าขาน | พระทรงญาณจึ่งทราบบทศรี |
หาไม่อันตัวข้านี้ | จะทวีทุกข์เทวษเป็นนิจไป |
คุณของพระองค์นั้นใหญ่ยิ่ง | จะเอาสิ่งใดเปรียบก็ไม่ได้ |
ตรัสแล้วลงจากรถชัย | เข้าในปราสาทแก้วแพรวพรรณ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | หัสนัยน์เจ้าตรัยตรึงศ์สวรรค์ |
เสร็จส่งพระองค์ทรงสุบรรณ | ก็พากันกลับไปเมืองฟ้า ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายฝูงนางกำนัลซ้ายขวา |
เห็นองค์สมเด็จพระจักรา | รับนางสีดาเทวี |
มาถึงนิเวศน์บุรีรมย์ | ต่างตนชื่นชมเกษมศรี |
วิ่งแซงแข่งกันมาทันที | กราบเกล้าดุษฎีชุลีกร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรแก้วสุริย์วงศ์ทรงศร |
จึ่งชวนองค์อัครราชบังอร | ทั้งสามน้องภูธรอนุชา |
มาเราจะพากันไปเฝ้า | พระชนนีเกิดเกล้าเกศา |
ตรัสแล้วเสด็จยาตรา | ฝูงสนมกัลยาก็ตามไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงจึ่งห้ากษัตริย์ | ยอหัตถ์นบนิ้วบังคมไหว้ |
สามพระมารดาอรไท | ด้วยใจจงรักภักดี |
ฝ่ายองค์สมเด็จพระราม | กราบทูลแจ้งความถ้วนถี่ |
โดยพระอิศโรโมลี | อันมีพระทัยกรุณา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สามพระชนนีเสน่หา |
ได้ฟังสมเด็จพระลูกยา | ทั้งเห็นสีดาอรไท |
มีความแสนโสมนัสนัก | ผิวพักตร์ผ่องเพียงแขไข |
เคลื่อนองค์จากอาสน์อำไพ | นั่งใกล้อัครราชเทวี |
ต่างองค์ต่างเข้าสวมสอด | กอดพระสุณิสาโฉมศรี |
ลูบไล้ไปทั่วทั้งอินทรีย์ | ต่างมีพจนารถรำพัน |
โอ้อนิจจาพระลูกเอ๋ย | อย่าน้อยใจเลยนะจอมขวัญ |
ผัวเจ้าโกรธาให้ฆ่าฟัน | แม่ไม่ทันแจ้งกิจจา |
แต่วันนั้นมาไม่มีสุข | แสนทุกข์ครวญครํ่ารํ่าหา |
เช้าคํ่าพรํ่ากินแต่นํ้าตา | อุราเร่าร้อนดั่งอัคคี |
รํ่าพลางพิศดูอัคเรศ | ชลนัยน์คลอเนตรทั้งสามศรี |
สงสารเป็นพ้นพันทวี | โศกีสะท้อนถอนใจ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาผู้ยอดพิสมัย |
เห็นสามกษัตริย์โศกาลัย | อรไทกราบลงกับบาทา |
ทูลว่าพระองค์จงโปรดเกศ | เหตุนี้เพราะกรรมของข้า |
อันเกิดมาในไตรโลกา | ใช่ว่าจะเป็นแต่ลูกนี้ |
ถึงเขาพระสุเมรุอันสูงสุด | มงกุฎทวีปทั้งสี่ |
ครั้นเพลิงกาลมาผลาญธาตรี | ย่อมเป็นภัสม์ธุลีไปเหมือนกัน |
ตัวข้าขอรองบาทบงสุ์ | ไปกว่าจะปลงชีวาสัญ |
จงดับโศกาจาบัลย์ | อย่ากันแสงเลยพระมารดา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สามพระชนนีเสน่หา |
ฟังศรีสะใภ้จำนรรจา | ดั่งว่าอำมฤตฟ้ายาใจ |
เพราะเสียงเพราะคำเป็นพ้นนัก | นงลักษณ์ยิ่งเพิ่มพิสมัย |
ต่างสำรวลสรวลสันต์กันไป | ทั่วทั้งนางในพระกำนัล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วรังสรรค์ |
ครั้นบ่ายแสงสีรวีวรรณ | บังคมคัลลาสามพระชนนี |
พาองค์อัคเรศสีดา | กับพระอนุชาทั้งสามศรี |
ยุรยาตรนาดกรจรลี | มาปราสาทมณีอลงการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | นางสีดาเยาวยอดสงสาร |
ครั้นถึงห้องรัตน์ชัชวาล | เยาวมาลย์เหลือบเห็นพระลูกรัก |
มีความชื่นชมยินดี | เทวีโอบอุ้มขึ้นใส่ตัก |
กอดจูบภิรมย์ชมพักตร์ | นงลักษณ์รับขวัญแล้วตรัสไป |
แม่ได้มาเห็นพระลูกแก้ว | ดั่งหนึ่งตายแล้วเกิดใหม่ |
ต่างองค์สนทนาด้วยอาลัย | สำราญใจทั้งสามกษัตรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์นาถา |
แต่ได้องค์อัครชายา | คืนมายังราชธานี |
สิ้นความทุกขาอาดูร | พูนสุขภิรมย์เกษมศรี |
ทั้งพระญาติวงศ์แลเสนี | เศรษฐีไพร่ฟ้าประชากร |
ชีพราหมณ์ชาวนาแลพาณิช | มีจิตชื่นชมสโมสร |
แสนกษัตริย์ทุกกรุงพระนคร | ชุลีกรสรรเสริญพระเดชา |
ย่อมแต่งสุวรรณสุมามาลย์ | บรรณาการมาถวายทุกภาษา |
สมบัติพัสถานโอฬาร์ | ดั่งหนึ่งเมืองฟ้าสุราลัย |
ประกอบด้วยพระสนมกำนัล | แปดหมื่นสี่พันน้อยใหญ่ |
ขับรำบำเรอเป็นนิจไป | ที่ในห้องแก้วรูจี |
พระครอบครองไอศูรย์สมบัติ | เสวยสวัสดิ์ด้วยองค์พระลักษมี |
ครั้นคํ่าสนธยาราตรี | ก็เข้าที่ศิริไสยา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ