- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรยักษี |
ครั้นเสียการกิจพิธี | อสุรีสลดระทดใจ |
ยิ่งคิดยิ่งแค้นแน่นจิต | ดั่งปืนพิษเสียบทรวงไม่ถอนได้ |
พระหัตถ์อุ้มองค์อรไท | เหาะไปนิเวศน์อสุรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงก็เข้าในปราสาท | อันโอภาสจำรัสพระเวหา |
วางองค์อัครราชกัลยา | เหนือแท่นรัตนารูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ เอนองค์ลงเหนือบรรจถรณ์ | พระกรก่ายพักตร์ยักษี |
นิ่งนึกตรึกไปด้วยไพรี | ทวีทุกข์รุมรึงตะลึงกาย |
ให้อัดอั้นตันใจเจ็บจิต | ดั่งปืนพิษติดทรวงไม่รู้หาย |
ด้วยเสียรักสุดแค้นแสนอาย | ตรีโลกทั้งหลายจะไยไพ |
แต่นอนนิ่งกลิ้งกลับกับเขนย | จะสรงเสวยโภชนาก็หาไม่ |
จนสิ้นแสงสุริโยอโณทัย | ภูวไนยไม่ออกเสนา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางกำนัลซ้ายขวา |
ครั้นเห็นพญาอสุรา | นอนก่ายพักตราจาบัลย์ |
มิได้เข้าที่สรงเสวย | ไม่ชมเชยปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
พระจริตผิดไปกว่าทุกวัน | นางกำนัลตระหนกตกใจ |
พนักงานของใครก็เข้ามา | ตรวจตราเตรียมเครื่องน้อยใหญ่ |
นั่งเฟี้ยมเฝ้าอยู่จะคอยใช้ | ด้วยกลัวภัยพญาอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
โอ้ช้า
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
ยักษาคั่งแค้นแสนทวี | แสนเทวษในที่ไสยา |
ไสยาสน์กรก่ายพักตร์ถวิล | เทวษด้วยไพรินมาเข่นฆ่า |
เข่นเคี่ยวล้างวงศ์อสุรา | อสุรีมรณามากมาย |
มากหมดม้ารถคชสาร | คชสีห์ทวยหาญทั้งหลาย |
ทั้งเหล่าพระเวทอันเพริศพราย | เพริศพร้อมหมายชนะไพริน |
ไพรีได้ไอ้พิเภกไว้ | พิเภกเล่าสาวไส้ออกให้สิ้น |
ให้เสียสูญสุริย์วงศ์พรหมินทร์ | พรหเมศก็จะสิ้นทั้งลงกา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
โอ้ร่าย
๏ โอ้อนิจจาพิเภกเอ๋ย | กระไรเลยไม่คิดถึงวงศา |
เสียแรงร่วมท้องกันมา | ควรหรือนับว่าผู้อื่นดี |
แต่คิดคิดก็แสนสุดคิด | กลุ้มจิตร้อนใจดั่งไฟจี่ |
ไม่สนิทนิทราในราตรี | จนรวีส่องฟ้าสุธาธาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึ่งคิดได้ว่าองค์พระสหาย | เพื่อนตายร่วมชีพสังขาร |
ชื่อสัทธาสูรขุนมาร | ผ่านกรุงอัสดงค์พารา |
ทรงอานุภาพเกรียงไกร | ปราบได้ทั่วทศทิศา |
กับวิรุญจำบังนัดดา | เป็นบุตรพญาทูษณ์อสุรินทร์ |
วิทยาประเสริฐเลิศชาย | กำบังกายหายตัวก็ได้สิ้น |
อานุภาพปราบได้ทั้งแดนดิน | ถึงอินทร์พรหมก็เกรงฤทธิ์นัก |
จะหามาปรึกษาการณรงค์ | ให้สององค์ยกพลออกไปหัก |
ฆ่ามนุษย์พี่น้องรามลักษมณ์ | กับวานรปรปักษ์ให้บรรลัย |
คิดแล้วสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองพักตร์ผ่องดั่งแขไข |
เสด็จจากห้องแก้วแววไว | ออกไปยังท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือบัลลังก์รัตน์ | ภายใต้เศวตฉัตรฉายฉัน |
พร้อมหมู่อสุรกุมภัณฑ์ | อภิวันท์เกลื่อนกลาดดาษดา |
จี่งมีพระราชบรรหาร | สั่งมโหทรมารยักษา |
ให้แต่งพระราชสารา | ไปมหาอัสดงค์ธานี |
เชิญสัทธาสูรสหายรัก | มาคิดฆ่ารามลักษมณ์กระบี่ศรี |
หาทั้งนัดดาร่วมชีวี | มีนามวิรุญจำบัง |
อันเรืองฤทธาศักดาเดช | เชี่ยวชาญพระเวทอาคมขลัง |
ทรงทั้งมหากำลัง | ยังกรุงจารึกนครา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งมโหทรมารยักษา |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | ออกมาจากท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งให้อาลักษณ์เขียนสาร | ลงในลานทองฉายฉัน |
เสร็จใส่กล่องแก้วแพรวพรรณ | ปิดตราสำคัญอสุรี |
แล้วจึ่งสั่งให้เสนา | ชื่อว่านนทจิตรยักษี |
ไปยังอัสดงค์ธานี | โดยมีพระราชบัญชาการ |
ให้นนทไพรีรีบไป | กรุงไกรจารึกราชฐาน |
หาวิรุญจำบังขุนมาร | เป็นการร้อนเร่งให้รีบมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ทั้งสองอสูรยักษา |
รับสารรับสั่งเสนา | เผ่นขึ้นอาชารีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กราว
๏ ฝ่ายนนทจิตรขุนมาร | ขับม้าทะยานเป็นย่างใหญ่ |
ก็ถึงอัสดงค์เวียงชัย | ตรงเข้ายังในธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ จึ่งลงจากสินธพชาติ | อสุราชูราชสารศรี |
ไปหาเสนาธิบดี | ยังที่ลูกขุนณศาลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ แจ้งว่าลงกาพระนคร | เกิดศึกราญรอนกันหนักหนา |
พระจอมภพมีราชสารา | ใช้ข้ามาเฝ้าพญามาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาผู้ใหญ่ใจหาญ |
ได้แจ้งแห่งข้อราชการ | ก็พากันลนลานเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงซึ่งมีตำแหน่งเฝ้า | ต่างตนน้อมเกล้าบังคมไหว้ |
ทูลว่าพระองค์ทรงภพไตร | อันครองพิชัยลงกา |
มีพระบัญชาประกาศิต | ให้นนทจิตรยักษา |
จำทูลพระราชสารา | มาเฝ้าเบื้องบาทาพระภูมี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสัทธาสูรยักษี |
แต่ออกนามพระสหายก็ยินดี | ดั่งวารีทิพย์มาเจือใจ |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | โองการประภาษปราศรัย |
พระสหายรักร่วมฤทัย | อันผ่านโภไคสวรรยา |
ยังค่อยจำเริญในสมบัติ | พูนสวัสดิ์บรมสุขา |
ทั้งราชสุริย์วงศ์ในลงกา | เสนาไพร่ฟ้าประชาชี |
ปราศจากโรคันอันตราย | พร้อมมูลสบายเกษมศรี |
ฝนฟ้าตกตามฤดูดี | หรือมีเภทพาลประการใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นนทจิตรผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังบรรหารภูวไนย | บังคมไหว้สนองพระบัญชา |
อันกรุงลงการาชฐาน | เกิดการเคี่ยวเข็ญเข่นฆ่า |
ไม่มีความสุขทุกเวลา | แจ้งมาในลักษณ์ทุกประการ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาอัสดงค์ใจหาญ |
กราบลงกับเบื้องบทมาลย์ | ก็เปิดกล่องคลี่อ่านไปทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ ราชสารองค์ท้าวสิบพักตร์ | ปิ่นปักลงกาบุรีศรี |
อวยพรสุนทรสวัสดี | จำเริญราชไมตรีมีมา |
ยังองค์พระบรมสหาย | อันเลิศชายร่วมชีพสังขาร์ |
ผู้ผ่านอัสดงค์พารา | เป็นมหาจรรโลงเลิศไกร |
บัดนี้ลงกามงกุฎภพ | เกิดการราญรบเป็นศึกใหญ่ |
ด้วยมนุษย์ลักษมณ์รามอาจใจ | ได้พวกโยธาวานร |
คณนาเจ็บสิบเจ็ดสมุทร | ล้วนเรืองฤทธิรุทรดั่งไกรสร |
จองถนนข้ามมหาสาคร | มาราญรอนเคี่ยวฆ่าติดพัน |
จนสิ้นจตุรงค์ทวยหาญ | สุริย์วงศ์พงศ์มารที่แข็งขัน |
ไม่มีใครจะช่วยโรมรัน | พวกมันฮึกฮักอหังการ์ |
ขอเชิญพระสหายร่วมชีวิต | มาช่วยคิดรณรงค์เข่นฆ่า |
ให้เป็นเกียรติเลื่องชื่อลือชา | ตราบสิ้นดินฟ้าธาตรี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสัทธาสูรยักษี |
แจ้งสารดาลเดือดดั่งอัคคี | อสุรีขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน |
ผลุดลุกขึ้นจากบัลลังก์อาสน์ | กระทืบบาทเพียงพื้นแผ่นดินลั่น |
เหม่เหม่มนุษย์เท่าแมงวัน | ฤทธิ์มันจะมีสักเพียงใด |
กูจะหั่นมิให้แค้นคอกา | บรรดาที่มาในทัพใหญ่ |
แต่นาทีเดียวไม่ยากใจ | ให้สมน้ำหน้าไอ้สาธารณ์ |
ว่าแล้วตรัสสั่งแก่ขุนพล | ให้จัดพหลทวยหาญ |
กูจะไปช่วยคิดราชการ | ยังสถานลงกาธานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งนนทกาสูรยักษี |
รับสั่งถวายอัญชุลี | ออกมาจากที่พระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ เกณฑ์หมู่จตุรงค์ทะนงศึก | เลือกล้วนห้าวฮึกแข็งขัน |
พลช้างพื้นชาติฉัททันต์ | ซับมันตัวกล้างางอน |
ควาญหมอถือขอเงื้อง่า | เริงร่าเหี้ยมหาญชาญสมร |
หมู่ม้าพื้นพวกอัสดร | ลำพองฤทธิรอนร้ายแรง |
ผู้ขี่ควบขับเป็นกระบวน | ถือทวนกรีดกรายกวัดแกว่ง |
เหล่ารถล้วนหุ้มทองแดง | จำหลักลายเครือแย่งพรายพรรณ |
เทียมด้วยเสือสิงห์ไกรสร | พาจรรวดเร็วดั่งจักรผัน |
สารถีล้วนถือเกาทัณฑ์ | ยืนยันเริงร่านในการยุทธ์ |
พลเท้าเลือกล้วนตัวดี | ครบตามบาญชีสิบสมุทร |
กรกุมเครื่องสรรพอาวุธ | เตรียมกันอุตลุดเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสัทธาสูรยักษา |
ครั้นเสร็จซึ่งจัดโยธา | เสด็จมาโสรจสรงวาริน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ วารีโปรยปรายเป็นสายฝน | ทรงสุคนธ์หอมฟุ้งจรุงกลิ่น |
สนับเพลารายดวงโกมิน | ภูษารูปกินรีรำ |
ชายไหวชายแครงเครือหงส์ | ฉลององค์พื้นตองเขียวขำ |
ทับทรวงสังวาลบุษราคัม | ประจำยามตาบทิศกุดั่นดวง |
ทองกรพาหุรัดประดับเพชร | ธำมรงค์เรือนเก็จรุ้งร่วง |
มงกุฎแก้วเจียระไนดอกไม้พวง | ห้อยห่วงกุณฑลกรรเจียกจร |
แล้วขัดคทาเพชรรัตน์ | พระหัตถ์นั้นจับธนูศร |
ดั่งท้าวเวสสุวัณฤทธิรอน | กรายกรขึ้นรถสุรกานต์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ รถเอยรถศึก | แลพิลึกล้วนดวงมุกดาหาร |
กงสนั่นลั่นฟ้าสุธาธาร | เพียงพิมานพรหเมศในโสฬส |
เรือนแปรกแอกงอนอ่อนช้อย | บัลลังก์ลอยเลื่อมแสงมรกต |
บุษบกทรงฉลวยชวยชด | ลายขดเครือแก้วกระหนกบัน |
เทียมด้วยพญาไกรสร | สารถีขับจรดั่งจักรผัน |
มยุรฉัตรพัดโบกทานตะวัน | กรรภิรุมย์ธงชัยไสวฟ้า |
ปี่กลองฆ้องขานประสานเสียง | สำเนียงครึกครั่นสนั่นป่า |
พลมารขานโห่เป็นโกลา | รีบเร่งโยธาดำเนินจร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราวนอก
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนนทไพรีชาญสมร |
ครั้นถึงจารึกพระนคร | ก็ลงจากอัสดรตัวดี |
พอพระนัดดาชาญฉกรรจ์ | ออกพวกพลขันธ์ยักษี |
ก็เข้าไปก่อนหมู่อสุรี | ยังที่พระโรงรัตนา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ น้อมเกล้าประณตบทบงสุ์ | องค์วิรุญจำบังยักษา |
ทูลว่าเกิดศึกในลงกา | รบพุ่งเคี่ยวฆ่ามาช้านาน |
จนสิ้นสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์ | ม้ารถคชกรรม์ทวยหาญ |
พระองค์มงกุฎเมืองมาร | ผ่านฟ้าเดือดร้อนพระทัยนัก |
ไม่มีใครต่างใจต่างตา | ที่จะยกโยธาออกโหมหัก |
จึ่งใช้นนทจิตรขุนยักษ์ | ให้ถือศุภลักษณ์อักษรไป |
ถึงพระสหายร่วมชีวี | ยังบุรีอัสดงค์กรุงใหญ่ |
ให้ข้ามาเชิญภูวไนย | เสด็จไปพิชัยลงกา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วิรุญจำบังยักษา |
ฟังนนทไพรีอสุรา | โกรธาดั่งไฟบรรลัยกาล |
ฉิฉะมนุษย์กับเหล่าลิง | เย่อหยิ่งฮึกฮักอวดหาญ |
ไม่เกรงเดชสุริย์วงศ์พรหมาน | กูจะผลาญให้สิ้นทั้งทัพชัย |
ว่าแล้วมีราชวาที | สั่งมหาเสนีผู้ใหญ่ |
เร่งเกณฑ์กองทัพอาชาไนย | ให้ได้สิบสมุทรคณนา |
แล้วผูกทั้งนิลพาหุ | อันร้ายดุฤทธิแรงแข็งกล้า |
กูจะไปช่วยองค์พระบิตุลา | เข่นฆ่าอริราชไพรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งนนทสูรยักษี |
ก้มเกล้ารับราชวาที | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม
ยานี
๏ เกณฑ์กระบวนล้วนหมู่ม้ารบ | เลือกพื้นสินธพตัวกล้า |
เหล่าหนึ่งสีดำดั่งกา | ผูกเครื่องรจนาดาวทอง |
ผู้ขี่เสื้อดำหมวกดำ | ถือทวนกรายรำเคล่าคล่อง |
หมู่หนึ่งสีแดงทั้งกอง | ลำพองเริงร่านชาญฉกรรจ์ |
ผู้ขี่เสื้อแดงหมวกแดง | ถือหอกกวัดแกว่งผัดผัน |
กองหนึ่งพื้นพวกสีจันทร์ | เหียนหันเผ่นโผนโจนทะยาน |
นายขี่เสื้อหมวกโหมดทอง | ถือปืนเมียงมองสำแดงหาญ |
กองหนึ่งพื้นสีสำลาน[1] | ผู้ขี่ถือขวานเป็นอาวุธ |
ล้วนใส่เสื้อหมวกสีชมพู | สี่หมู่เป็นพลสิบสมุทร |
ผูกนิลพาหุฤทธิรุทร | เตรียมกันอุตลุดเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | วิรุญจำบังยักษา |
ครั้นรุ่งรางสางแสงสุริยา | เสด็จมาสระสรงสาคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ สนานองค์ทรงสุคนธวาริน | หอมตลบอบกลิ่นเกสร |
สอดใส่สนับเพลาเชิงงอน | อุทุมพรภูษาท้องพัน |
ชายแครงชายไหวไหวระยับ | ฉลององค์ประดับทับทิมคั่น |
ตาบทิศทับทรวงสังวาลวัลย์ | ทองกรกุดั่นพาหุรัด |
สอดใส่ธำมรงค์มรกต | ครบหมดทั้งสิบนิ้วพระหัตถ์ |
ทรงมหามงกุฎดอกไม้ทัด | กรรเจียกจรจำรัสกุณฑลพราย |
แล้วขัดวชิราคทาวุธ | กุมหอกฤทธิรุทรฉานฉาย |
เสด็จจากแท่นสุวรรณพรรณราย | กรายหัตถ์มาขึ้นอัสดร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิดฉิ่ง
๏ ม้าเอยม้าศึก | โผนทะยานหาญฮึกดั่งไกรสร |
ชาติเชื้อพลาหกฤทธิรอน | สีดำอรชรทั้งกาย |
ผูกเครื่องกุดั่นประดับพลอย | สองหูพู่ห้อยเฉิดฉาย |
เริงร่าดั่งม้าพระพาย | หยาบคายฉกรรจ์พันลึก |
ฝีเท้าเข้าออกไวว่อง | เคล่าคล่องชำนาญในการศึก |
แต่ได้ยินเสียงพลโห่ฮึก | เผ่นสะอึกถึงราชศัตรู |
ประดับด้วยอภิรุมชุมสาย | ธงทิวริ้วรายเป็นคู่คู่ |
ปี่ฆ้องขานกลองมลายู | ธงชัยนำหมู่ขนัดพล |
เสียงเท้าสินธพสะเทือนลั่น | ทหารโห่สนั่นกุลาหล |
ผงคลีมืดกลุ้มโพยมบน | ขับแข่งรีบร้นกันไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กราวนอก
๏ ครั้นถึงทวีปลงกา | มรคามาร่วมทางใหญ่ |
พบทัพอัสดงค์กรุงไกร | ออกจากชายไพรพนาวัน |
จึ่งให้รีบพหลโยธี | เสนาพาชีแข็งขัน |
สองทัพเดินโดยอันดับกัน | โห่สนั่นไปตามมรคา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสัทธาสูรยักษา |
ครั้นถึงพระนครลงกา | จึ่งให้หยุดโยธาพลากร |
ตั้งเป็นสองทัพคับคั่ง | ยั้งไว้แต่นอกเมืองก่อน |
แทบเชิงกำแพงพระนคร | ซับซ้อนล้วนหมู่โยธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วิรุญจำบังยักษี |
ลงจากสินธพพาชี | ไปถวายอัญชุลีพญามาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสัทธาสูรใจหาญ |
สถิตเหนือรถแก้วสุรกานต์ | เห็นหลานพระสหายเสด็จมา |
รูปทรงคล้ายองค์ทศพักตร์ | พญายักษ์แสนโสมนัสสา |
สองกษัตริย์ปราศรัยด้วยปรีดา | แล้วพากันเข้ายังธานี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวสิบพักตร์ยักษี |
เสด็จเหนือแท่นแก้วรูจี | ในที่ท่ามกลางกุมภัณฑ์ |
แลเห็นพระสหายสัทธาสูร | กับวิรุญจำบังหลานขวัญ |
สององค์ผู้ร่วมชีวัน | เสด็จมาด้วยกันก็ปรีดา |
ดั่งใครเอานํ้าสุรามฤต | มารดทรวงดวงจิตยักษา |
ลงจากอาสน์แก้วแววฟ้า | เสด็จมารับสองขุนมาร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ จูงกรพระสหายขึ้นร่วมอาสน์ | อันโอภาสพรรณรายฉายฉาน |
ภายใต้เศวตฉัตรสุรกานต์ | ทั้งพระหลานนั่งเป็นอันดับกัน |
สามกษัตริย์ถ้อยทีถ้อยคำรพ | นอบนบด้วยใจเกษมสันต์ |
ผิวพักตร์ผ่องแผ้วดั่งดวงจันทร์ | กุมภัณฑ์ปราศรัยกันไปมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสัทธาสูรยักษา |
จึ่งมีสุนทรวาจา | ถามเจ้าลงกากรุงไกร |
อันศึกที่ยกมานี้ | ฤทธีของมันเป็นไฉน |
โยธากล้าหาญประการใด | จึ่งมาทำได้ไม่เกรงกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ฟังพระสหายร่วมชีวัน | กุมภัณฑ์จึ่งกล่าววาจา |
อันข้าศึกศักดาวรารุทร | ทั้งสองมนุษย์กับลิงป่า |
ราญรอนต่อกรด้วยกันมา | แพ้พวกอสุราก็หลายที |
โดยฤทธิ์ความคิดพอสู้ได้ | จนใจด้วยพิเภกยักษี |
มันไปเป็นไส้ไพรี | ทั้งนี้จึ่งลำบากยากใจ |
ถึงจะคิดกลศึกที่ลึกลํ้า | มันแก้ไขแนะนำบอกให้ |
สุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์จึ่งบรรลัย | ยับไปเพราะไอ้ทรลักษณ์ |
ตัวข้าครั้งนี้นี่ขัดสน | เหมือนเวียนวนอยู่ใกล้คมจักร |
จึ่งให้ไปเชิญสหายรัก | ผู้ทรงสิทธิศักดิ์เสด็จมา |
หวังว่าจะเอาพระเดช | เป็นฉัตรแก้วกั้นเกศยักษา |
ทั่วทั้งพระนครลงกา | ช่วยคิดเข่นฆ่าไพรี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสัทธาสูรยักษี |
ได้ฟังคั่งแค้นแสนทวี | ดั่งหนึ่งอัคคีมาจ่อใจ |
ดูดู๋พิเภกทรยศ | คิดคดต่อพี่ก็เป็นได้ |
แกล้งผลาญพงศ์พันธุ์ให้บรรลัย | ไอ้จังไรชั่วช้าอาธรรม์ |
ไม่เสียดายสุริย์วงศ์พรหเมศ | อันเรืองเดชแผ่ทั่วสรวงสวรรค์ |
ดีแล้วจะได้เห็นกัน | กูจะไว้ชีวันอย่าพึงคิด |
จะฆ่าเสียทั้งมนุษย์วานร | ให้ศรสูบกินโลหิต |
จนสิ้นพวกพาลปัจจามิตร | ที่มันอวดฤทธิ์ว่าตัวดี |
พระสหายอย่าร้อนรนใจ | ทำไมกับมนุษย์ทั้งสองศรี |
ไว้นักงานข้าจะราวี | ให้เป็นภัสม์ธุลีแหลกลาญ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรใจหาญ |
ฟังพระสหายบัญชาการ | พญามารแสนโสมนัสนัก |
จึ่งว่าแก่วิรุญจำบัง | เจ้าผู้ทรงกำลังสิทธิศักดิ์ |
อันซึ่งสงครามรามลักษมณ์ | ก็แจ้งประจักษ์อยู่กับใจ |
พระสหายนี้รับจะรอนราญ | ฝ่ายหลานจะคิดเป็นไฉน |
จะออกไปด้วยช่วยชิงชัย | หรือจะว่ากระไรนะนัดดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วิรุญจำบังยักษา |
ได้ฟังสมเด็จพระบิตุลา | อสุราสนองพระวาที |
อันสงครามครั้งนี้ก็เห็นหนัก | ด้วยรามลักษมณ์พี่น้องสองศรี |
ยิ่งด้วยศรสิทธิ์ราวี | ทั้งพลกระบี่ก็มีฤทธิ์ |
อันหมู่พระญาติสุริย์วงศ์ | รบพุ่งอาจองทะนงจิต |
ไม่อุบายถ่ายเทด้วยความคิด | จึ่งแพ้ปัจจามิตรทุกสิ่งไป |
ครั้งนี้ออกไปราญรอน | หลานหาทำการเช่นก่อนนั้นไม่ |
จะบังกายหายทั้งมโนมัย | ถือหอกเข้าไล่ราวี |
แทงเสียให้สิ้นทั้งกองทัพ | ทำไมกับมนุษย์กระบี่ศรี |
พระองค์ผู้ทรงธรณี | อย่าเคืองใต้ธุลีบาทา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษา |
ได้ฟังพระราชนัดดา | ดั่งอมฤตฟ้ามายาใจ |
ลูบหลังแล้วมีประกาศิต | เจ้าผู้ทรงฤทธิ์แผ่นดินไหว |
ปรีชาเคล่าคล่องว่องไว | ทำได้ดั่งนี้ประเสริฐนัก |
แม้นเสร็จสงครามในลงกา | บิตุลาจะให้ผ่านอาณาจักร |
สืบในสุริย์วงศ์พงศ์ยักษ์ | เป็นหลักโลกาธาตรี |
ว่าแล้วจึ่งมีบรรหาร | สั่งมโหทรมารยักษี |
จงแต่งโภชนาสาลี | อันมีเอมโอชโอชา |
ทั้งเครื่องชัยบานมาถวาย | พระสหายผู้ร่วมสังขาร์ |
กับองค์พระราชนัดดา | เลี้ยงพลโยธากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มโหทรเสนาคนขยัน |
รับสั่งองค์ท้าวทศกัณฐ์ | ถวายบังคมคัลแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งสั่งนายเวรให้หมายบอก | วิเสทในนอกซ้ายขวา |
ตามมีพระราชบัญชา | ขององค์พญาอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางวิเสทสาวศรี |
แจ้งหมายจ่ายของเป็นโกลี | มาทำตามที่พนักงาน |
บ้างคั่วแกงพะแนงทอดมัน | ครบครันสำเร็จทั้งของหวาน |
จัดแจงแต่งใส่เครื่องอาน | เทียบทานแต่ล้วนโอชา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
ชมตลาด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางพระกำนัลซ้ายขวา |
ยุพเยาว์เสาวภาคย์จำเริญตา | แน่งน้อยโสภาวิลาวัณย์ |
บ้างแต่งตัวประกวดอวดโฉม | ประโลมรักน่าชมภิรมย์ขวัญ |
หวีหัวกันไรใส่น้ำมัน | ผัดพักตร์เพียงจันทร์ไม่ราคี |
สีขี้ผึ้งวาดกรายพรายพริ้ม | จิ้มลิ้มโอษฐ์เอี่ยมทุกสาวศรี |
นุ่งห่มต่างต่างอย่างดี | ท่วงทีมารยาทสะอาดตา |
พร้อมทั้งสิบสองกำนัลใน | จัดไว้โดยซ้ายฝ่ายขวา |
ยกเครื่องเนื่องเป็นอันดับมา | ถวายองค์พญากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
จึ่งเชิญพระสหายร่วมชีวัน | กับหลานขวัญเสวยสำราญใจ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางกำนัลน้อยใหญ่ |
ล้วนทรงโฉมเลิศลักษณ์อำไพ | เข้ามาหมอบใช้อยู่งาน |
ลางนางก็รินสุรา | ใส่จอกรัตนามุกดาหาร |
ถวายสามองค์พญามาร | กราบกรานโบกปัดพัดวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เซ่นเหล้า
พระทอง
๏ ฝ่ายนางบำเรอก็ครวญขับ | ร้องรับฉ่ำเฉื่อยเรื่อยรี่ |
โหยหวนโอดพันไปในที | จับปี่สีซอนี่นัน |
รำมะนาท้าทับสลับเสียง | สำเนียงดั่งหนึ่งเพลงสวรรค์ |
ฉิ่งกรับขับขานประสานกัน | เสนาะสนั่นเป็นที่ภิรมยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ มโหรี
ปะวะหลิ่ม
๏ ฝ่ายนางระบำก็กรายกร | ฟายฟ้อนร่ายรำทำท่า |
แทรกเปลี่ยนวงเวียนไปมา | เคล้าคลอรอหน้าพญายักษ์ |
แล้วรำร่อนอ้อนแอ้นกรีดกราย | ย้ายเป็นนารายณ์ขว้างจักร |
ชม้ายชายเนตรนงลักษณ์ | ใส่จริตค้อนควักเป็นที |
แล้วยกบาทนาดหัตถ์พร้อมกัน | ผินผันเมียงม่ายชายหนี |
งามเพียงนางเทพกินรี | เป็นที่จำเริญนัยนา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลงฉิ่ง
๏ เมื่อนั้น | ท้าวสัทธาสูรยักษา |
กับวิรุญจำบังอสุรา | เสวยพลางทัศนาระบำบัน |
กล้องแกล้งแน่งน้อยทุกนารี[2] | สูงศรีเพียงอัปสรสวรรค์ |
ทั้งนํ้าเสียงสำเนียงโอดพัน | ซาบกรรณเสนาะจับใจ |
ให้เพลิดเพลินจำเริญในรสรัก | พญายักษ์ครวญคิดพิศมัย |
ยิ่งดูยิ่งเคลิ้มสติไป | ที่ในรูปทรงกัลยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางวิเสทนอกซ้ายขวา |
เสร็จแต่งเครื่องเลี้ยงโยธา | ก็หาบหามเข้ามาตามกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ ตั้งไว้ที่หน้าพระลาน | ทั้งเป็ดห่านควายปิ้งกระทิงหัน |
ช้างพล่าช้างแกงช้างทอดมัน | เหล้ากลั่นใส่ตุ่มเต็มไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพลทหารน้อยใหญ่ |
ซึ่งมาแต่สองกรุงไกร | นายไพร่ชื่นชมยินดี |
เป็นหมู่หมู่เหล่าเหล่าเข้าล้อมกิน | เทรินสุราอึงมี่ |
ขึ้นเสียงเถียงกันเป็นโกลี | พาทีอวดฮึกทุกตน |
บ้างลุกขึ้นโลดเต้นเล่นหน้า | ไขว่คว้าวิเสทสับสน |
ลางพวกกินมากก็รากท้น | นั่งบ่นพึมพำเพ้อไป |
บ้างร้องลำนำรำซุย | กรายกรุยฉุยฉายส่ายไหล่ |
ตบมือเฮฮาสำราญใจ | นายไพร่เกษมเปรมปรีดิ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เซ่นเหล้า
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรยักษี |
กับพระสหายร่วมชีวี | หลานรักผู้มีศักดา |
เสร็จเสวยโภชนากระยาหาร | ต่างสำราญแสนโสมนัสสา |
สามกษัตริย์ปราศรัยกันไปมา | จนเวลาล่วงเข้ายามปลาย |
จึ่งพากันเข้ายังปราสาท | อันโอภาสชัชวาลฉานฉาย |
เสด็จเหนือแท่นที่สุพรรณพราย | เอนกายไสยาในราตรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ ตระ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระหริรักษ์เรืองศรี |
ครั้นพลบค่ำยํ่าแสงพระรวี | รัศมีเลี้ยวลับยุคุนธร |
แสงจันทร์แจ่มฟ้าอากาศ | โอภาสจำรัสประภัสสร |
ประดับด้วยดวงดารากร | อัมพรหมดเมฆไม่ราคิน |
นํ้าค้างพร้อยพรมมาลี | สกุณีสงัดเสียงสิ้น |
พระพายชายพัดรวยริน | พากลิ่นเกสรขจรมา |
หอมหวนตลบอบอาย | พระนารายณ์แสนโสมนัสสา |
พออุทัยเรื่อรองส่องฟ้า | สกุณาร่อนร้องหากัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ร่าย
๏ จึ่งสระสรงทรงเครื่องเทเวศ | งามดั่งพรหเมศรังสรรค์ |
เสด็จจากห้องแก้วแพรวพรรณ | ออกสุวรรณพลับพลารูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ พร้อมหมู่โยธาพลากร | วานรทั้งสองบุรีศรี |
หมอบเฝ้าอภิวันท์อัญชุลี | จึ่งมีพระราชโองการ |
ดูก่อนพิเภกกุมภัณฑ์ | วานนี้ทศกัณฐ์ใจหาญ |
เสียกิจพิธีพรหมาน | มันจักคิดอ่านประการใด |
พรุ่งนี้จะยกโยธา | ออกมาต่อกรหรือไฉน |
หรือจะคิดเป็นกลอุบายไป | ที่ในชั้นเชิงอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษี |
ได้ฟังบรรหารพระจักรี | ชุลีกรจับยามตามเวลา |
ทั้งอัศกาลตรีเนตร | ก็แจ้งโดยสังเกตยักษา |
สว่างดั่งทิพย์นัยนา | อสุราจึ่งกราบทูลไป |
ในยามนั้นว่าพรุ่งนี้ | จะได้ต่อตีเป็นศึกใหญ่ |
กับทัพอัสดงค์กรุงไกร | เป็นสหายร่วมใจทศพักตร์ |
ชื่อสัทธาสูรยักษา | ฤทธาปราบได้ทั้งไตรจักร |
กับวิรุญจำบังขุนยักษ์ | ลูกรักพญาทูษณ์อสุรี |
ครองกรุงจารึกเขตขัณฑ์ | นัดดาทศกัณฐ์ยักษี |
ทั้งสองยกพลโยธี | มาถึงธานีลงกา |
อันสัทธาสูรฤทธิรงค์ | สัจธรรม์มั่นคงหนักหนา |
ได้เวทบรมพรหมา | แม้นว่าจะเข้าชิงชัย |
ร้องขออาวุธในสวรรค์ | เทวัญก็โยนลงมาให้ |
ฝ่ายวิรุญจำบังก็เกรียงไกร | หายตัวไปได้ทั้งพาชี |
ขอเชิญเสด็จภูวนาถ | ยกหมู่พยุหบาตรกระบี่ศรี |
ออกไปตั้งรับดูที | จะได้คิดราวีกุมกัณฑ์ ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์รังสรรค์ |
ได้ฟังน้องท้าวทศกัณฐ์ | ทรงธรรม์จึ่งมีโองการ |
ตรัสสั่งลูกพระทินกร | จงเตรียมวานรทวยหาญ |
เราจะยกออกไปรอนราญ | ผลาญสองอสูรพาลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพฤทธิไกรใจกล้า |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | ถวายบังคมลาแล้วรีบจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ปฐม
ยานี
๏ จัดกระบี่เป็นกระบวนพยุหบาตร | เลือกล้วนองอาจดั่งไกรสร |
อันสิบแปดมงกุฎฤทธิรอน | คุมพลวานรสิบแปดกอง |
ตั้งเป็นอันดับคับคั่ง | ทัพหน้าทัพหลังเป็นทิวท่อง |
ทัพหนุนทัพขันทัพรอง | เสือป่าแมวมองครบครัน |
แต่ละหมู่ล้วนมีฤทธิรณ | อาจปล้นเมืองแมนแดนสวรรค์ |
โดยเสด็จพระองค์ทรงสุบรรณ | มาผลาญกุมกัณฑ์พาลา |
พื้นถือหอกดาบโตมร | ธนูศรทวนง้าวเงื้อง่า |
กวัดแกว่งสำแดงเดชา | ดั่งว่าจะพลิกธรณี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ครั้นแสงทองส่องฟ้าธาตรี | สกุณีเร้าเร่งพระสุริยัน |
นางชะนีเรื่อยร้องส่งเสียง | สำเนียงไก่แก้วประกาศขัน |
ภุมรินบินร่อนเวียนวัน | เชยซาบบุษบันเบิกบาน |
พระพายพัดเอาเกสร | ขจายจรกลิ่นเกลี้ยงหอมหวาน |
เป็นละอองต้ององค์พระอวตาร | ดั่งทิพย์สุมาลย์ชโลมทา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ ฟื้นองค์จากที่ไสยาสน์ | ชวนพระนุชนาถขนิษฐา |
กรายกรยุรยาตรคลาดคลา | เสด็จมาเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ สุหร่ายแก้วคู่ท้าวโกสีย์สรง | วารีปรายลงดั่งฝอยฝน |
ทรงสุคันธารสเสาวคนธ์ | ปรุงปนทิพมาศสุพรรณพราย |
ต่างทรงสนับเพลาเครือครุฑ | เชิงงอนแกมบุษย์ฉานฉาย |
พระเชษฐาผ้าทิพย์ลอยลาย | เป็นกินนรกรกรายกรีดรำ |
พระอนุชาภูษาพื้นตอง | เครือทองก้านเกี่ยวเขียวขำ |
ชายไหวรายบุษราคัม | ชายแครงแก้วประจำดวงลอย |
ต่างทรงฉลององค์สังเวียนหยัก | ตาบทิศจำหลักเฟื่องห้อย |
ทับทรวงสังวาลประดับพลอย | พาหุรัดรักร้อยทองกร |
ทรงมหาธำมรงค์มงกุฎแก้ว | กรรเจียกจรเพชรแพร้วแล้วจับศร |
ดูงามดั่งสุริยันกับจันทร | บทจรตามกันมาขึ้นรถ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ รถเอยรถวิมาน | กำกงสุรกานต์อลงกต |
แอกงามสามงอนอ่อนชด | ชั้นลดบัลลังก์กระจังราย |
ระเบียบสิงห์รูปสัตว์ขนัดครุฑ | เทพบุตรชั้นบนบัวหงาย |
เรือนเก็จเสากาบกระหนกกลาย | ฉลุลายเครือลวดผอวดลอย |
บุษบกลายบันสุบรรณบิน | ทวยแก้วรูปกินรินห้อย |
พันยอดแสงระยับประดับพลอย | สุกย้อยสูงเยี่ยมโพยมบน |
เทียมด้วยอัสดรเทวัญ | แผดร้องเหียนหันโกลาหล |
น้องนารายณ์ผู้เรืองฤทธิรณ | เฝ้าบาทยุคลประคองเคียง |
มาตุลีขับแล่นดั่งลมพัด | กงผัดดุมผันสนั่นเสียง |
เครื่องสูงชุมสายรายเรียง | สำเนียงฆ้องกลองประโคมโครมครึก |
ทวยหาญขานโห่สามหน | หมู่พลลำพองคะนองศึก |
ดินสะเทือนเลื่อนลั่นพันลึก | คึกคึกรีบแข่งกันไป ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ รุกร้น
๏ ครั้นมาถึงที่สนามยุทธ์ | จึ่งให้หยุดโยธาทัพใหญ่ |
ตั้งที่ครุฑนามเกรียงไกร | มั่นไว้คอยทัพอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษี |
จึ่งบังคมคัลอัญชุลี | ทูลพระจักรีสี่กร |
อันท้าวสัทธาสูรกุมภัณฑ์ | เพื่อนนั้นห้าวหาญชาญสมร |
ด้วยบรมพรหเมศฤทธิรอน | อวยพรพระเวทประสิทธิ์ไว้ |
ถึงเทวัญก็เกรงขุนยักษ์ | จะให้มาใกล้นักนั้นไม่ได้ |
อันหมู่โยธีกระบี่ไพร | จะบรรลัยด้วยฤทธิ์อสุรา |
ขอให้คำแหงหนุมาน | ไปคิดการล่อลวงยักษา |
รวบเอาอาวุธในเมฆา | อย่าให้ตกลงมาราวี |
น่าที่จะโกรธเทเวศ | แคลงมนต์พรหเมศเรืองศรี |
อสุราก็จะตายในวันนี้ | ด้วยมือกระบี่ผู้ชัยชาญ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังพิเภกขุนมาร | ผ่านฟ้าจึ่งมีบัญชา |
สั่งลูกพระพายเทวบุตร | ท่านผู้ฤทธิรุทรแกล้วกล้า |
จงไปล่อลวงอสุรา | ฆ่าเสียให้ม้วยชีวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ได้ฟังบรรหารพระจักรี | ยอกรชุลีแล้วทูลไป |
อันทัพสัทธาสูรซึ่งยกมา | โยธาเพียบพื้นแผ่นดินไหว |
แต่ข้าผู้เดียวจะชิงชัย | ถ่ายเทเห็นไม่ทันการ |
จะขอองคตหลานอินทร์ | กับกระบินทร์ห้าร้อยทวยหาญ |
ไปด้วยจะได้ช่วยรอนราญ | ผ่านฟ้าจงทรงพระเมตตา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกนาถา |
ฟังลูกพระพายเทวา | จึ่งมีบัญชาตรัสไป |
ซึ่งจะเอาองคตไปด้วย | ช่วยกันคิดการแก้ไข |
กับโยธาห้าร้อยที่ว่องไว | ก็ตามแต่ใจของวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | องคตหนุมานชาญสมร |
ถวายบังคมลาพระสี่กร | พากันบทจรออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จัดกระบี่ห้าร้อยฤทธิรณ | แต่ละตนเรี่ยวแรงแข็งกล้า |
ทั้งดำดินเดินได้ในเมฆา | พร้อมแล้วก็พากันรีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงแนวเนินคีรี | วิถีที่ร่วมทางใหญ่ |
จึ่งให้หยุดโยธีกระบี่ไพร | อยู่ใต้ต้นไทรพร้อมกัน |
หนุมานจึ่งว่าแก่น้องชาย | บัดนี้พระนารายณ์รังสรรค์ |
ใช้เรามาล้างกุมภัณฑ์ | จำจะคิดผ่อนผันให้ได้การ |
อันท้าวสัทธาสูรขุนยักษ์ | เรืองฤทธิ์สิทธิศักดิ์แกล้วหาญ |
ครั้นจะเข้าจู่โจมโรมราญ | เห็นการจะไม่สมจินดา |
ตัวเจ้าจงพาวานร | เหาะซ่อนอยู่ในเวหา |
คอยฟังสำเนียงอสุรา | ร้องเรียกเทวาขึ้นไป |
บรรดาเทเวศทั้งหกชั้น | กลัวมันก็จะโยนอาวุธให้ |
ตัวเจ้ากับหมู่พลไกร | ช่วยกันรวบไว้ด้วยฤทธี |
อย่าให้ตกถึงแผ่นดิน | เมื่อใดได้ยินเสียงพี่ |
จึ่งทิ้งลงกลางพลอสุรี | แล้วมาช่วยราวีกุมกัณฑ์ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | องคตฤทธิแรงแข็งขัน |
รับคำหนุมานชาญฉกรรจ์ | ก็พาพลทั้งนั้นเหาะไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ แอบเมฆอยู่ในโพยมหน | ใครจะเห็นสักตนก็หาไม่ |
คอยฟังวาจาสัญญาไว้ | มิได้ประมาทวิญญาณ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
ครั้นองคตกับหมู่โยธา | ขึ้นยังเมฆาก็ยินดี |
จึ่งยอกรถวายอภิวาทน์ | พระตรีภูวนาถเรืองศรี |
หลับเนตรสำรวมอินทรีย์ | ขุนกระบี่ร่ายเวทแปลงกาย ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ ก็กลับเป็นลิงป่าพนาดร | ประหลาดกว่าวานรทั้งหลาย |
โลดโผนโจนเล่นตามสบาย | ปีนป่ายร่ายไม้ไปมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์