- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถเรืองศรี |
ไสยาสน์ในราษราตรี | ครั้นแสงรวีเรืองรอง |
โกกิลาไก่แก้วส่งเสียง | สำเนียงประโคมยามกึกก้อง |
ภุมรินบินว่อนร่อนร้อง | อาบละอองเกสรเสาวคนธ์ |
เสียงทั้งม้ารถคชสาร | โยธาทวยหาญโกลาหล |
ครื้นครั่นสนั่นสุธาดล | อลวนพร้อมเพรียกเรียกกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ ฟื้นองค์จากที่ไสยาสน์ | สำราญราชฤทัยเกษมสันต์ |
เสด็จจากห้องแก้วแกมสุวรรณ | จรจรัลไปสรงวาริน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ชำระสระสนานสำราญองค์ | ทรงสุคนธ์เกสรขจรกลิ่น |
สนับเพลาเชิงรูปนาคินทร์ | ภูษาทรงข้าวบิณฑ์พื้นแดง |
ชายไหวชายแครงเครือมาศ | ทรงฉลององค์ตาดเครือแย่ง |
ตาบทิศทับทรวงลายแทง | สังวาลเพชรลูกแตงชวลิต |
ทองกรพาหุรัดรูปภุชงค์ | ธำมรงค์มณีโลหิต |
มงกุฎแก้วสุรกานต์ดอกไม้ทิศ | กุณฑลวิจิตรกรรเจียกจร |
ห้อยพวงมาลัยเนาวรัตน์ | พระหัตถ์นั้นจับธนูศร |
งามทรงงามองค์งามอาภรณ์ | บทจรมายังพระมุนี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรมัสการ | เชิญพระอาจารย์ทั้งสี่ |
ลงจากปราสาทรูจี | จรลีมาขึ้นพิชัยรถ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ รถเอยรถทรง | ดุมวงประดับมรกต |
สามงอนอ่อนสลวยชวยชด | ชั้นลดช่อตั้งกระจังราย |
เรียงรูปสิงห์อัดหยัดยัน | สุบรรณจับนาคแหงนหงาย |
บุษบกห้ายอดสุพรรณพราย | งามคล้ายวิมานทินกร |
เทียมสินธพเชื้ออาชาชาติ | สี่คู่องอาจดั่งไกรสร |
สารถีมือถือโตมร | ขับจรรวดเร่งดั่งลมพัด |
ประดับด้วยอภิรุมชุมสาย | ธงริ้วทิวรายปลายสะบัด |
พลทหารเกณฑ์แห่เยียดยัด | ขนัดฆ้องกลองขานประสานรับ |
อันรถพระมหาสิทธา | ขับตามกันมาเป็นอันดับ |
ผงคลีมืดคลุ้มกลุ้มพยับ | คับคั่งมาโดยพนาดร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
ชมดง
๏ เดินทางหว่างทุ่งวุ้งเขา | ข้ามลำเนาห้วยธารสิงขร |
ชมฝูงปักษาทิชากร | ร่อนร้องจับไม้หลายพรรณ |
แซงแชวจับต้นคันทรง | ฝูงหงส์จับกิ่งกะทั่งหัน |
สาลิกาจับแก้วพลอดกัน | เบญจวรรณจับหวายร่ายเรียง |
นกเขาจับข่อยขันขาน | กระเหว่าจับกระวานส่งเสียง |
เค้าโมงจับโมกมองเมียง | ประหิตจับเหียงเคียงนาง |
นกแก้วจับเกดเป็นหมู่ | กระลุมพูจับไผ่ไซ้หาง |
คณายูงพาฝูงมาจับยาง | นกลางจับเลียบชมกัน |
โนรีจับรักไซ้ขน | กะทาจับต้นกระถินขัน |
บ้าระบุ่นจับไม้สัตบรรณ | กระเวนจับวัลย์ไต่มา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ ชมพลางพระทางเสด็จจร | แรมรอนมาในกลางป่า |
รีบรถรีบพลโยธา | ไปโดยมรคาพนาลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงแม่นํ้าสรงกษัตริย์ | ปลายด่านโรมพัตกรุงศรี |
ให้หยุดพหลมนตรี | อยู่ที่ชายป่าพนาลัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ แล้วมีบรรหารสีหนาท | สั่งมหาอำมาตย์ผู้ใหญ่ |
จงเข้าไปยังเวียงชัย | บอกให้แจ้งเหตุว่าเรามา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีผู้มียศถา |
รับสั่งแล้วบังคมลา | เผ่นขึ้นอาชารีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงลงจากพาชี | เข้าหาเสนีผู้ใหญ่ |
ยังที่ศาลาลูกขุนใน | แจ้งไปโดยราชโองการ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | เสนาผู้ปรีชาหาญ |
รู้ว่าหน่อท้าวอัชบาล | ผ่านฟ้ายกจตุรงค์มา |
ตั้งอยู่ปลายด่านนคเรศ | ให้เกรงเดชพระบรมนาถา |
ก็พาเสนีอยุธยา | เข้าพระโรงรัตนารูจี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงประณตบทบงสุ์ | องค์ท้าวโรมพัตเรืองศรี |
ทูลว่าพระจอมโมลี | ทวารวดีเวียงชัย |
บัดนี้ยกหมู่พยุหบาตร | แสนเสนามาตย์ทัพใหญ่ |
มาอยู่ปลายด่านชั้นใน | ให้ขุนพลมาเฝ้าบาทา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวโรมพัตนาถา |
แจ้งว่าพระพงศ์เทวา | เสด็จมาด้วยยศบริวาร |
ตกใจนิ่งขึงตะลึงคิด | ร้อนจิตดั่งหนึ่งเพลิงผลาญ |
ไฉนหนอหน่อท้าวอัชบาล | ต้องการสิ่งไรจึ่งยกมา |
เอะแล้วจะมีที่ประสงค์ | องค์บุตรีเรากระมังหนา |
ตริแล้วจึงถามเสนา | เสด็จมาด้วยกิจสิ่งใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนีผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังบัญชาภูวไนย | บังคมไหว้สนองพจมาน |
อันพระองค์ผู้วงศ์เทเวศร์ | ทรงเดชยกพวกพลหาญ |
มาหวังนิมนต์พระอาจารย์ | กไลโกฏทรงญาณไปช่วยคิด |
กับด้วยคณะพระสิทธา | ตั้งการบูชากระลากิจ |
ให้เกิดโอรสที่มีฤทธิ์ | มาโดยสุจริตสวัสดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวโรมพัตเรืองศรี |
ได้ฟังมหาเสนี | ยินดีสิ้นแหนงแคลงใจ |
จึ่งมีพระราชบัญชา | ตรัสสั่งเสนาผู้ใหญ่ |
เร่งเตรียมพหลสกลไกร | กูจะไปรับเสด็จพระทรงธรรม์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาโรมพัตคนขยัน |
รับสั่งถวายบังคมคัล | พากันเร่งรีบออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ จัดหมู่โยธาที่สามารถ | เลือกล้วนองอาจแกล้วกล้า |
หมู่หนึ่งห่มเสื้อสีฟ้า | ให้เดินนำหน้าโยธี |
หมู่หนึ่งใส่เสื้ออินทรธนู | โพกผ้าชมพูสลับสี |
หมู่หนึ่งนุ่งผ้าตานี | เสื้อแดงกำมะหยี่กรีดกราย |
หมู่หนึ่งใส่เสื้อเสนากุฎ | เกี้ยวลายเครือครุฑเฉิดฉาย |
หมู่หนึ่งเสื้อโหมดทองพราย | นุ่งดาวกระจายพื้นแดง |
หมู่หนึ่งใส่เสื้อเข้มขาบ | ขัดดาบถือหอกกวัดแกว่ง |
เตรียมทั้งช้างต้นช้างแซง | โดยตำแหน่งพยุหบาตรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวโรมพัตนาถา |
ครั้นเสร็จซึ่งจัดโยธา | เสด็จมาสระสรงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
โทน
๏ ชำระสระสนานสำราญองค์ | ทรงสุคนธารสหอมหวาน |
สนับเพลาเชิงงอนอลงการ | ภูษาทองผลานท้องพัน |
ชายแครงฉลุเป็นเครือขด | ชายไหวมรกตทับทิมคั่น |
ฉลององค์ลายแย่งพื้นสุวรรณ | สะอิ้งแก้วกุดั่นประดับพลอย |
ตาบทิศทับทรวงลายแทง | สังวาลแก้วแดงเฟื่องห้อย |
พาหุรัดทองกรจำหลักลอย | ธำมรงค์เพชรพร้อยชัชวาล |
ทรงมหามงกุฎเนาวรัตน์ | ดอกไม้ทัดกรรเจียกมุกดาหาร |
จับพระขรรค์แก้วสุรกานต์ | มาขึ้นคชาธารเลิศไกร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ช้างเอยช้างต้น | สกลจักรอัครคเชนทร์สูงใหญ่ |
งางอนขึ้นขาวอำไพ | เกิดในเชื้อชาติอำนวยพงศ์ |
หางหูดูพร้อมเพราสรรพ | เครื่องประดับอร่ามงามระหง |
ที่นั่งรองเดินท้ายที่นั่งทรง | เครื่องสูงทิวธงอลงการ์ |
ปี่กลองฆ้องขานประสานเสียง | สำเนียงครื้นครั่นสนั่นป่า |
รีบเร่งพหลโยธา | ไปโดยมรคาพนาลี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ล่วงทางมาห้าโยชน์กึ่ง | ก็ถึงปลายด่านบุรีศรี |
ให้หยุดพหลโยธี | อยู่ที่ชายป่าพนาวัน |
เสด็จลงจากคอคชาธาร | งามดั่งมัฆวานรังสรรค์ |
กรายกรย่างเยื้องจรจรัล | เสนาทั้งนั้นก็ตามมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึงประณตบทบงสุ์ | องค์ท้าวทศรถนาถา |
ด้วยความยินดีปรีดา | โดยทางมหาพันธุมิตร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพงศ์หริรักษ์จักรกฤษณ์ |
ชื่นชมด้วยสมความคิด | ทรงฤทธิ์มีราชบัญชา |
เราได้ยินข่าวว่าฝนแล้ง | ข้าวยากหมากแพงหนักหนา |
ท่านประมาทในทศธรรมา | ฤๅว่าเหตุอื่นบังเกิดมี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวโรมพัตเรืองศรี |
ได้ฟังพระราชวาที | นบนิ้วชุลีสนองไป |
ตัวข้าก็อยู่ในทศพิธ | จะผิดทางธรรมก็หาไม่ |
จะบัญชาว่าขานประการใด | มิได้โมหันธ์ฉันทา |
หากพระกไลโกฏอาจารย์ | เธอสำเร็จฌานแก่กล้า |
ฝนจึ่งไม่ตกลงมา | ไพร่ฟ้าอดอยากถึงสามปี |
ข้าจึ่งคิดกลอุบาย | ให้ทำลายฌานพระฤๅษี |
เชิญเข้ามาไว้ในบุรี | ฝนจึ่งตกดีแต่นั้นมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถนาถา |
ได้ฟังสุนทรวาจา | ผ่านฟ้าจึ่งตรัสตอบไป |
เป็นกรรมของสัตว์จึ่งวิปริต | จะโทษพระนักสิทธ์ก็ไม่ได้ |
เธอก็มาดับเข็ญให้เย็นใจ | รู้ไปทั่วทุกธานี |
ตัวเราจึ่งยกรี้พล | มาหวังนิมนต์พระฤๅษี |
ไปตั้งกระลากิจพิธี | ยังในบุรีอยุธยา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวโรมพัตนาถา |
ฟังรสพจนารถก็ปรีดา | ดั่งได้ฟากฟ้าโสฬส |
ยอกรคำรพอภิวาทน์ | ขอเชิญเบื้องบาทบงกช |
เคลื่อนหมู่โยธาม้ารถ | บทจรเข้าราชธานี |
ให้เป็นพระเกียรติแก่ข้าไว้ | ทั้งจะได้พบองค์พระฤๅษี |
โดยมหามงคลสวัสดี | ภูมีทรงพระเมตตา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์พงศ์นารายณ์นาถา |
ได้ฟังดั่งอมฤตฟ้า | จึ่งสั่งเสนาสุมันตัน |
จงเตรียมม้ารถคชสาร | ทวยหาญสำหรับทัพขันธ์ |
ให้พร้อมในรุ่งสุริยัน | จะพากันเข้าไปยังพารา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุมันตันผู้มียศถา |
รับสั่งพระพงศ์เทวา | ถวายบังคมลาแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ให้ผูกม้ารถคชสาร | จัดหมู่ทวยหาญน้อยใหญ่ |
ตั้งตามริ้วนอกริ้วใน | เตรียมไว้คอยเสด็จบทจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถชาญสมร |
ครั้นรุ่งแสงสีรวีวร | ภูธรแต่งองค์อลงการ์ |
พระกรนั้นจับพระแสงขรรค์ | ดั่งเทวัญลอยเลื่อนเวหา |
เสด็จจากสุวรรณพลับพลา | กรายกรมาขึ้นพิชัยรถ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ให้เลิกพหลโยธี | ผงคลีมืดคลุ้มบังบด |
ท้าวโรมพัตเรืองยศ | นำทศโยธาพาจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ข้ามธารผ่านทุ่งวุ้งไศล | มาในแนวเนินสิงขร |
รีบเร่งโยธาพลากร | บทจรเข้าราชธานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวโรมพัตเรืองศรี |
นำเสด็จมาถึงพระบุรี | ภูมีลงจากคชาธาร |
ให้หยุดรถประทับกับเกยแก้ว | อันเพริศแพร้วด้วยดวงมุกดาหาร |
น้อมเศียรประณตบทมาลย์ | ทูลพระผู้ผ่านอยุธยา |
ขอเชิญพระองค์ทรงฤทธิ์ | กับพระนักสิทธ์ขึ้นไปหา |
พระกไลโกฏสิทธา | ในปราสาทรัตนาอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพงศ์เทเวศร์ชาญสมร |
ฟังท้าวโรมพัตฤทธิรอน | กล่าวด้วยสุนทรมธุรส |
จึ่งเชิญฤๅษีทั้งสี่องค์ | ลงจากรถทรงอลงกต |
สองกษัตริย์ก็ตามพระนักพรต | บทจรขึ้นปราสาทมณี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงนบนิ้วประนมไหว้ | พระกไลโกฏฤๅษี |
ทั้งสี่พระมหามุนี | คำรพกันตามที่อันดับมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกไลโกฏฌานกล้า |
เห็นท้าวทศรถผู้ศักดา | กับสี่พระมหานักธรรม์ |
จึ่งว่าดูกรพระทรงเดช | มงกุฎเกศโลกานราสรรค์ |
เสด็จมาถึงโรมพัตตัน | ด้วยเหตุผลนั้นประการใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์ทรงภพแผ่นดินไหว |
จึ่งมีบัญชาสนองไป | ข้าตั้งใจมาหาพระสิทธา |
เหตุด้วยอสุรามันสาธารณ์ | อหังการองอาจแกล้วกล้า |
ยํ่ายีทั้งตรีโลกา | ถึงสวรรค์ชั้นฟ้าโสฬศ |
ข้าจะใคร่ได้บุตรที่มีฤทธิ์ | จึ่งประชุมนักสิทธ์ทั้งปวงหมด |
บอกว่าพระอาจารย์ชำนาญพรต | วิทยาปรากฏเชี่ยวชาญ |
พระองค์จงทรงพระเมตตา | โลกาจะได้เกษมศานต์ |
โปรดเกล้าข้าเถิดพระทรงญาณ | ขอประทานโอรสอันฤทธี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกไลโกฏฤๅษี |
ฟังเจ้าอยุธยาธานี | มีจิตถวิลจินดา |
จะหาพระผู้ทรงอานุภาพ | มาปราบพวกพาลยักษา |
ให้ราบรื่นพื้นไตรโลกา | เห็นว่าการนี้จะใหญ่นัก |
คิดแล้วจึ่งถวายพระพร | ดูกรพระองค์ทรงจักร |
ซึ่งจะใคร่มีบุตรอันเลิศลักษณ์ | เป็นที่พำนักแดนไตร |
แม้นองค์นารายณ์อวตาร | จึ่งจะล้างพวกพาลทั้งปวงได้ |
รูปนี้จะช่วยภูวไนย | ให้สำเร็จใจจินดา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถนาถา |
ได้ฟังดั่งอมฤตฟ้า | กราบกับบาทาแล้วตอบไป |
ซึ่งพระองค์เมตตาการุญ | พระคุณนั้นหาที่สุดไม่ |
ทีนี้จะเย็นภพไตร | ด้วยได้พึ่งบุญพระมุนี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระดาบสทั้งสี่ |
ต่างองค์โสมนัสยินดี | ก็พัดวีปรนนิบัติพระอาจารย์ |
อันสองกษัตริย์ฤทธิรงค์ | ต่างองค์เป็นสุขเกษมศานต์ |
เข้านวดฟั้นคั้นเบื้องบทมาลย์ | พระผู้ทรงญาณสังวร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นแสงทองส่องภพโอภาส | ภานุมาศเยี่ยมยอดสิงขร |
ฝ่ายท้าวทศรถฤทธิรอน | ชุลีกรแล้วกล่าววาจา |
โยมขอนิมนต์พระองค์ | อันทรงพรตญาณฌานกล้า |
ไปยังกรุงศรีอยุธยา | ด้วยกันกับข้าวันนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกไลโกฏฤๅษี |
ได้ฟังพระราชวาที | จึ่งมีวาจาอันสุนทร |
ขอเชิญพระองค์ทรงศักดา | ยกพวกโยธาไปก่อน |
รูปจะตามเสด็จบทจร | ให้ถึงพระนครพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถรังสรรค์ |
ได้ฟังพระมหานักธรรม์ | อภิวันท์แล้วตอบสนองไป |
พระองค์จะจรต่อภายหลัง | ทั้งนี้ก็ตามอัชฌาสัย |
อันสี่พระดาบสยศไกร | จะให้อยู่ด้วยพระมุนี |
ว่าพลางสั่งท้าวโรมพัต | แล้วมัสการลาพระฤๅษี |
เสด็จย่างเยื้องจรลี | จากปราสาทมณีโอฬาร์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ถึงเกยจึ่งขึ้นรถทรง | ให้เลิกจัตุรงค์ซ้ายขวา |
ออกจากโรมพัตพารา | ไปโดยมรคาพนาลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระกไลโกฏฤๅษี |
แต่ท้าวทศรถยกโยธี | พระมุนีนับไว้ได้เจ็ดวัน |
เห็นล่วงมรคาพนาดร | เกือบใกล้นครเขตขัณฑ์ |
จำกูกับสี่พระนักธรรม์ | จะพากันไปตามสัญญา |
ตริแล้วจึ่งกล่าววาที | สั่งอรุณวดีเสน่หา |
ตัวเรามีกิจจะขอลา | สีกาค่อยอยู่สำราญใจ |
ถึงไปก็ไม่ช้านัก | จะกลับมาเชยพักตร์พิสมัย |
สั่งพลางก็ทางอาลัย | จำใจจากห้องไสยา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ เจรจา
๏ จึ่งชวนทั้งสี่พระอาจารย์ | อันมีพรตญาณฌานกล้า |
เหาะขึ้นพ่างพื้นเมฆา | ด้วยกำลังฤทธาว่องไว ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงอยุธยาธานี | พระวสิษฐ์ผู้มีอัชฌาสัย |
ก็นำพระกไลโกฏเข้าไป | ยังในพระโรงอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | พระพงศ์จักรพรรดิทรงศร |
รีบพลรีบรถบทจร | รอนแรมมาเจ็ดราตรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งประทับกับเกยแก้ว | แล้วลงจากรถมณีศรี |
เสด็จย่างเยื้องจรลี | ขึ้นที่พระโรงรจนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ แลเห็นทั้งห้าพระดาบส | ทรงยศแสนโสมนัสสา |
ยอหัตถ์มัสการบาทา | แล้วมีบัญชาตรัสไป |
โยมนี้มาก่อนเป็นหลายวัน | จะทันพระอาจารย์ก็หาไม่ |
อันการพิธีกระลาไฟ | จะทำฉันใดพระมุนี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระกไลโกฏฤๅษี |
ได้ฟังจึ่งตอบวาที | ภูมีอย่าได้อาวรณ์ |
ตัวรูปทั้งห้าจะไปเฝ้า | ทูลพระเป็นเจ้าให้แจ้งก่อน |
เชิญองค์นารายณ์ฤทธิรอน | ให้ภูธรเสด็จอวตาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจอมอยุธยาราชฐาน |
ได้ฟังกไลโกฏอาจารย์ | จึ่งบรรหารตอบถ้อยวาที |
พระองค์จะขึ้นไปเฝ้า | พระเป็นเจ้าไกรลาสคีรีศรี |
โยมนี้มีความยินดี | เชิญพระมุนีรีบไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกไลโกฏอาจารย์ใหญ่ |
กับสี่พระสิทธาปรีชาไว | ก็พากันเหาะไปด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เลื่อนลอยมาในอากาศ | ถึงไศลไกรลาสภูผา |
ห้าพระมุนีผู้ปรีชา | ก็พากันขึ้นเฝ้าพระศุลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | พระสยมภูวนาถเรืองศรี |
ครั้นเห็นทั้งห้าพระมุนี | จึ่งมีเทวราชโองการ |
ดูกรพระกไลโกฏ | อันมีโพธิปรีชากล้าหาญ |
พากันมาไยพระอาจารย์ | ยังสถานไกรลาสบรรพต ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกไลโกฏดาบส |
ฟังเทวบรรหารมธุรส | จึ่งตอบพจนารถวาที |
บัดนี้โลกาเกิดยุค | ทนทุกข์เร่าร้อนดั่งเพลิงจี่ |
บรรดาคณะโยคี | ขาดที่จำเริญภาวนา |
ด้วยสามพระเป็นเจ้าประสาทพร | ทั้งอาวุธศิลป์ศรแก่ยักษา |
มันจึ่งเที่ยวทำอหังการ์ | องอาจหยาบช้ากำเริบฤทธิ์ |
เห็นแต่ทศรถสุริย์วงศ์ | เป็นพงศ์บรมจักรกฤษณ์ |
เหมือนฉัตรแก้วกั้นโมลิศ | ทุกทิศได้พึ่งบทมาลย์ |
เธอก็ไร้โอรสยศยง | จะสืบวงศ์กษัตริย์มหาศาล |
ขอเชิญนารายณ์อวตาร | ไปปราบพวกพาลอสุรี |
จะได้เย็นใจทั้งไตรจักร | เป็นปิ่นปักเศียรเกล้าเกศี |
จะปรากฏพระยศทั่วธาตรี | พระโมลีโลกจงเมตตา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระอิศวรบรมนาถา |
ได้ฟังมีเทวบัญชา | ไม่แจ้งกิจจาฤๅฉันใด |
ปางนี้ก็เป็นไตรดายุค | จึ่งเกิดทุกข์โดยโลกวิสัย |
ซึ่งจะให้นารายณ์ลงไป | ก็ต้องในไวกูณฐ์อวตาร |
ว่าแล้วจึ่งองค์พระศุลี | มีเทวราชบรรหาร |
ตรัสสั่งแก่ท้าวมัฆวาน | ท่านจงไปเชิญนารายณ์มา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หัสนัยน์เจ้าตรัยตรึงศา |
ทั้งฝูงเทวัญอันศักดา | ถวายบังคมลาแล้วเหาะไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงเกษียรชลธาร | เชิงเขาจักรวาลสูงใหญ่ |
เห็นองค์พระนารายณ์ฤทธิไกร | ไสยาสน์เหนือหลังนาคา |
องค์นางพระศรีอยู่เบื้องซ้าย | พระลักษมีโฉมฉายอยู่เบื้องขวา |
โกสีย์กับฝูงเทวา | จึ่งถวายวันทาพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โฉมพระลักษมีสาวสวรรค์ |
เห็นองค์มัฆวานกับเทวัญ | มาบังคมคัลพระจักรา |
พระมารดาโลกทั้งสาม | จึ่งถามเจ้าตรัยตรึงศา |
ดูกรองค์อมรินทรา | พาเทวัญมาด้วยอันใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | โกสีย์ผู้มีอัชฌาสัย |
จึ่งทูลเหตุผลแต่ต้นไป | ว่าไตรโลกได้ความเดือดร้อน |
บัดนี้พระสยมภูวนาถ | มงกุฎไกรลาสสิงขร |
ให้มาเชิญองค์พระสี่กร | บทจรไปในเพลานี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์สมเด็จพระลักษมี |
มีเทวราชเสาวนีย์ | ว่านี้ก็แจ้งกิจจา |
แต่พระองค์พึ่งทรงไสยาสน์ | จะปลุกเกรงราชโทษา |
แม้นเป็นการเร็วเจ้าโลกา | จงปลุกนิทราพระจักรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวหัสนัยน์เรืองศรี |
ฟังเทวราชเสาวนีย์ | อัญชุลีเป่าสังข์ขึ้นทันใด |
อันฝูงเทวาก็บรรเลง | พิณเพลงจำเรียงเสียงใส |
กาหลกึกก้องกลองชัย | ประโคมมี่ไปเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ มโหรี
๏ เมื่อนั้น | องค์พระนารายณ์นาถา |
ไสยาสน์สนิทนิทรา | เหนือหลังพญาภุชงค์ |
ได้ยินเสียงประโคมโครมครัน | สะดุ้งตื่นหลากจิตพิศวง |
ลุกจากแท่นที่บรรทมทรง | เห็นองค์หัสนัยน์ธิบดี |
กับฝูงทวยเทพเทวัญ | ลงมาพร้อมกันทุกราศี |
จึ่งปราศรัยไถ่ถามทันที | มาหาเรานี้ด้วยอันใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวโกสีย์ผู้มีอัชฌาสัย |
จึ่งสนองพระบัญชาไป | บัดนี้ท่านไทนักพรต |
ทั้งห้ามาทูลพระเป็นเจ้า | ว่าไตรโลกร้อนเร่าดั่งเพลิงกรด |
จึ่งจอมไกรลาสบรรพต | จึ่งมีมธุรสวาที |
ให้ข้ามาเชิญเบื้องบาท | พระทรงครุฑราชปักษี |
เสด็จจากเกษียรวารี | ไปเฝ้ายังที่ประชุมกัน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระนารายณ์รังสรรค์ |
ทั้งท้าวมัฆวานเทวัญ | ทรงธรรม์ถวิลจินดา |
ตัวกูจะต้องอวตาร | ไปปราบหมู่มารยักษา |
พวกมันล้วนมีฤทธา | ศิลปศรศาสตราก็เพริศพราย |
ผู้เดียวจะเคี่ยวฆ่าเข็ญ | เห็นจะไม่สำเร็จโดยง่าย |
จะแสนลำบากยากกาย | คิดแล้วบ่ายพักตร์มาบัญชา |
ดูกรนงลักษณ์ลักษมี | ชนนีโลกยอดเสน่หา |
พี่อวตารไปผลาญอสุรา | แสนเวทนาถึงเก้าครั้ง |
บัดนี้อสุรีมันมีฤทธิ์ | พี่คิดเห็นยากกว่าปางหลัง |
ขอเชิญเจ้าผู้ร่วมชีวัง | ทั้งพญาบัลลังก์นาคี |
ลงไปช่วยกันปราบยุค | ให้โลกเป็นสุขเกษมศรี |
ว่าแล้วจับสังข์โมลี | จักรแก้วมณีคทาวุธ |
พาพระลักษมีลีลาศ | จากอาสน์วารีกระษีร์สมุทร |
สององค์ขึ้นทรงพญาครุฑ | ภุชงค์เทวัญก็ตามมา ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ แผละ
๏ ครั้นถึงไกรลาสสิงขร | ชวนองค์บังอรเสน่หา |
ทั้งพญาอนันตนาคา | เข้าไปวันทาพระศุลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระอิศวรเรืองศรี |
ครั้นเห็นพระนารายณ์ฤทธี | ทั้งพระลักษมีบังอร |
กับพญาภุชงค์บัลลังก์อาสน์ | ภูวนาถชื่นชมสโมสร |
แจ้งเหตุแก่องค์พระสี่กร | ว่าโลกเดือดร้อนดั่งอัคคี |
ปางนี้เจ้าจงอวตาร | ไปปราบพวกพาลยักษี |
เป็นหน่อทศรถธิบดี | ในราชธานีอยุธยา |
จะได้พำนักแก่ไตรโลก | ดับโศกให้เย็นทุกทิศา |
พระยศจะปรากฏทั้งโลกา | ไปกว่าจะสิ้นกัปกัลป์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์พระนารายณ์รังสรรค์ |
ได้ฟังบรรหารพระทรงธรรม์ | อภิวันท์สนองพระวาที |
ซึ่งพระองค์จะให้อวตาร | ไปปราบพวกพาลยักษี |
ให้ราบรื่นพ่างพื้นธาตรี | ครั้งนี้เห็นมีกำลังนัก |
แต่ข้าปราบมาก็หลายยุค | เป็นสุขทั่วไปทั้งไตรจักร |
ปางนี้อสูรหมู่ยักษ์ | เรืองฤทธิ์สิทธิศักดิ์มหิมา |
แต่ผู้เดียวจะล้างอาธรรม์ | จะไม่สิ้นพงศ์พันธุ์ยักษา |
จะขอคทาเพชรจักรา | ทั้งมหาสังข์ทักขิณาวัฏ |
กับนาคอันเป็นบัลลังก์ทรง | ไปเกิดร่วมวงศ์พงศ์กษัตริย์ |
ในมหานครจักรพรรดิ | กำจัดอาธรรม์อันธพาล |
ขอทั้งองค์พระลักษมี | ชนนีโลกยอดสงสาร |
กับเทวาไปเป็นบริวาร | จะได้ช่วยสังหารกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอิศวรบรมรังสรรค์ |
ฟังพระภุชพงศ์ทรงสุบรรณ | ทรงธรรม์จึ่งกล่าววาจา |
ยุคนี้ก็แจ้งมาแต่ก่อน | ว่าโลกจะเดือดร้อนไปภายหน้า |
จึ่งจัดฝูงเทพโยธา | ไปคอยช่วยเข่นฆ่าราวี |
ล้วนกำเนิดเกิดในประยูรวงศ์ | พงศ์พญาพานรเรืองศรี |
ทั้งชมพูขีดขินธานี | แต่ละคนย่อมปรีชาชาญ |
เจ้าไปเกิดเถิดเป็นกษัตริย์ | สุริย์วงศ์จักรพรรดิมหาศาล |
ทรงนามพระรามอวตาร | ในสถานกรุงศรีอยุธยา |
จักรเป็นพระพรตยศยง | ถัดองค์พระนารายณ์เชษฐา |
ฝ่ายสังข์บัลลังก์นาคา | เป็นพระลักษมณ์อนุชาฤทธิรอน |
อันซึ่งคทาวราวุธ | เป็นพระสัตรุดชาญสมร |
องค์พระลักษมีบังอร | ไปเกิดในนครลงกา |
ชื่อว่าสีดานงลักษณ์ | เป็นบุตรทศพักตร์ยักษา |
จงไปศรีสวัสดิ์วัฒนา | อย่ามีโรคาเภทภัย ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ เจรจา
ยานี
๏ เมื่อนั้น | ฝูงเทพเทวาน้อยใหญ่ |
ต่างทูลอาสาพระภูวไนย | จะขอไปเป็นพลพระอวตาร |
มาล้างเหล่าอสุรพาลา | ที่หยาบช้าเบียนโลกทุกสถาน |
พระราหูฤทธิไกรชัยชาญ | เป็นทหารชื่อนิลปานัน |
พระพินายนั้นเป็นนิลเอก | พระพิเนกนั้นเป็นนิลขัน |
พระเกตุเป็นเสนีกุมิตัน | พระอังคารเป็นวิสันตราวี |
พระหิมพานต์จะเป็นโกมุท | พระสมุทรนิลราชกระบี่ศรี |
พระเพลิงเป็นนิลนนท์มนตรี | พระเสารีเป็นนิลพานร |
พระศุกร์เป็นนิลปาสัน | พระหัสนั้นมาลุนทเกสร |
พระพุธเป็นสุรเสนฤทธิรอน | พระจันทรเป็นสัตพลี |
วิรูฬหกวิรูปักษ์สองตระกูล | เป็นเกยูรมายูรกระบี่ศรี |
เทวัญวานรนอกนี้ | บาญชีเจ็ดสิบเจ็ดสมุดตรา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระอิศวรบรมนาถา |
ได้ฟังฝูงเทพเทวา | ผ่านฟ้าแย้มยิ้มพริ้มพราย |
จึ่งตรัสอำนวยอวยพร | แก่เทพนิกรทั้งหลาย |
ถึงมาตรยักษาจะฆ่าตาย | พระพายพัดจงคืนชีวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝูงเทพเทวาในราศี |
รับพรสมเด็จพระศุลี | ด้วยใจยินดีปรีดา |
กราบลงแทบบาทพระเป็นเจ้า | เอาพระเดชปกเกล้าเกศา |
ต่างองค์ถวายบังคมลา | แล้วจุติลงมาเป็นวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระมงกุฎไกรลาสสิงขร |
ครั้นสิ้นหมู่เทพนิกร | ภูธรชื่นชมยินดี |
จึ่งประสาทพระมนตร์สญชีพให้ | พระกไลโกฏฤๅษี |
จงตั้งกาลากิจพิธี | จะเกิดกองอัคคีขึ้นมา |
แล้วจะมีรูปอสูร | ทูนถาดข้าวทิพย์เหนือเกศา |
ผุดขึ้นในกลางกาลา | กากนาจะโฉบเอาข้าวไป |
ฉวยได้แต่กึ่งครึ่งปั้น | กานั้นจะบินไปทิศใต้ |
จะเกิดสีดาทรามวัย | เป็นไส้เพลิงผลาญอสุรี |
ยังข้าวสามปั้นกับกึ่ง | จึ่งจะเกิดโอรสเรืองศรี |
ในกลางอยุธยาธานี | ทั้งสี่เชี่ยวชาญชำนาญฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกไลโกฏนักสิทธ์ |
ครั้นพระอิศโรโมลิศ | บอกวิทยามนตร์พิธี |
ก็จำได้สิ้นทุกสิ่งหมด | ชวนมหาดาบสทั้งสี่ |
ลาพระเป็นเจ้าธาตรี | เหาะมาบุรีอยุธยา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ มาถึงนิเวศน์วังสถาน | องค์พระอาจารย์ฌานกล้า |
พากันลีลาศยาตรา | เข้ามายังท้องพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวทศรถรังสรรค์ |
ครั้นเห็นทั้งห้าพระนักธรรม์ | ก็ถวายอภิวันท์ด้วยยินดี |
ถามว่าพระผู้เป็นเจ้า | ไปเฝ้าพระอิศวรเรืองศรี |
ทูลความตามคำของโยมนี้ | ภูมีโปรดปรานประการใด ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกไลโกฏอาจารย์ใหญ่ |
จึ่งถวายพระพรภูวไนย | รูปไปเฝ้าองค์เจ้าโลกา |
ได้ทูลมูลเหตุถี่ถ้วน | พระอิศวรใสโสมนัสสา |
จึ่งให้เชิญองค์นารายณ์มา | พระจักราก็รับอวตาร |
แล้วเอาเนื้อความทั้งนั้น | มารำพันแจ้งแถลงสาร |
นัยจะสำเร็จทุกประการ | ผ่านฟ้าอย่าร้อนฤทัย |
จงตั้งโรงราชมณฑป | ครบสิบเก้าห้องกว้างใหญ่ |
ลงที่ในหน้าพระลานชัย | ให้ทันศุภฤกษ์พรุ่งนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระจอมจักรพรรดิเรืองศรี |
ได้ฟังโสมนัสยินดี | ถวายอัญชุลีพระอาจารย์ |
จึ่งมีมธุรสพจนารถ | แก่อำมาตย์ผู้ปรีชาหาญ |
ให้ปลูกโรงพิธีโอฬาร | โดยกำหนดการพระสิทธา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุมันตันผู้มียศถา |
รับสั่งพระพงศ์เทวา | ถวายบังคมลาแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ให้ตั้งโรงราชพิธี | สิบเก้าห้องยาวรีสูงใหญ่ |
สี่เหลี่ยมจัตุรัสอำไพ | แล้วไปด้วยเครื่องอลงการ |
เพดานดัดอัจกลับพู่ห้อย | ระย้าย้อยล้วนพวงมุกดาหาร |
ราชวัติฉัตรธงโอฬาร | งามดั่งวิมานเทวัญ |
ท่ามกลางมีแท่นนพรัตน์ | ปักเศวตฉัตรฉายฉัน |
ตั้งเครื่องบูชาเรียงรัน | ครบครันตามราชวาที ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายคณะพระมหาฤๅษี |
รู้ว่าห้าองค์พระมุนี | ไปเฝ้าพระศุลีเรืองชัย |
ได้มนตร์สญชีพอันมีฤทธิ์ | กลับมาตั้งกิจพิธีใหญ่ |
ต่างนุ่งคากรองครองสไบ | ก็รีบเข้าไปยังพารา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ห้าพระอาจารย์ฌานกล้า |
ครั้นพร้อมคณะพระสิทธา | ก็พากันเข้าโรงพิธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ จึ่งให้ดาบสทั้งหลาย | นั่งรายรอบนอกตามที่ |
ชั้นในนั้นสี่พระมุนี | สำรวมอินทรีย์ประจำทิศ |
พระกไลโกฏผู้เป็นครู | เข้าสู่พิธีกาลากิจ |
ถวายเครื่องบูชาวรามิศ | สำรวมจิตอ่านเวทพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ครั้นถ้วนสามราตรีกาล | บันดาลธรณีเลื่อนลั่น |
บังเกิดเพลิงพลุ่งเป็นเปลวควัน | แสงนั้นรุ่งโรจน์เรืองไป |
บัดเดี๋ยวอสูรทูนถาดทอง | ผุดขึ้นในกองเพลิงใหญ่ |
มีก้อนข้าวทิพย์อันพึงใจ | สี่ปั้นในถาดโอชา |
กลิ่นนั้นหอมฟุ้งตลบ | อบไปทั่วทศทิศา |
ปรากฏถึงเกาะลงกา | ด้วยอานุภาพฤทธี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายนางมณโฑมารศรี |
อยู่ในปราสาทรูจี | เทวีหอมกลิ่นจับใจ |
ให้เกิดเดือดร้อนรำคาญ | จะทนทานความอยากก็ไม่ได้ |
ประนมกรทูลวอนผัวไป | ภูวไนยจงทรงพระเมตตา |
หอมสิ่งอันใดโอชารส | ปรากฏซับซาบนาสา |
เมียอยากสุดทนพ้นปัญญา | ดั่งว่าจะสิ้นชีวัน |
แม้นมาตรมิได้ดั่งใจคิด | ชีวิตจะม้วยอาสัญ |
ทูลพลางโศกาจาบัลย์ | กัลยาไม่เป็นสมประดี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
เห็นนางว่าวอนแล้วโศกี | อสุรีสวมสอดแล้วกอดไว้ |
จึ่งมีสุนทรวาจา | แก้วตาพี่ยอดพิสมัย |
จะแสนโศกาไปว่าไร | พี่จะหามาให้เยาวมาลย์ |
ว่าแล้วสั่งกากนาสูร | ผู้ประยูรญาติอาจหาญ |
ท่านจงบินขึ้นคัคนานต์ | ตามกลิ่นหอมหวานนี้ไป |
หาให้ทั่วทศทิศา | เอารสทิพย์มาให้จงได้ |
จะปูนบำเหน็จให้ถึงใจ | โดยในความชอบครั้งนี้ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นางกากนาสูรยักษี |
รับสั่งแล้วถวายอัญชุลี | อสุรีก็แปลงกายา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ บัดเดี๋ยวเพศยักษ์ก็กลับกลาย | เป็นกายกากนายักษา |
ใหญ่หลวงกำลังมหิมา | บินขึ้นเมฆาด้วยว่องไว ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ แผละ
๏ ร่อนแลดูไปในเวหน | จบสกลทวีปน้อยใหญ่ |
เห็นโรงมณฑปอำไพ | ที่ในกรุงศรีอยุธยา |
กลิ่นทิพย์โอชากระยารส | ปรากฏฟุ้งขึ้นบนเวหา |
ดีใจบินตรงลงมา | โฉบโรงกาลาพิธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายคณะพระมหาฤๅษี |
บริกรรมสำรวมอินทรีย์ | ได้ยินเสียงมี่ก็ตกใจ |
ลืมเนตรขึ้นจากภาวนา | แลไปเห็นกาตัวใหญ่ |
สองตานั้นแดงดั่งแสงไฟ | บินวู่มาในคัคนานต์ |
โฉบตรงลงด้วยกำลัง | โรงพิธีพังไปทั้งด้าน |
ดาบสลุกขึ้นลนลาน | วิ่งพล่านไม่เป็นสมประดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | นางกากนาสูรยักษี |
ทำลายโรงย่อยยับด้วยฤทธี | สกุณีแลเห็นกุมภัณฑ์ |
ชูถาดทองไว้เหนือเกล้า | มีข้าวทิพย์อยู่สี่ปั้น |
โผลงด้วยใจชาญฉกรรจ์ | คาบได้กึ่งปันก็บินมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงลงกาพระนิเวศน์ | ก็กลายเพศจากกากปักษา |
ถือก้อนข้าวทิพย์อันโอชา | เข้ามาถวายอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี |
รับเอาก้อนข้าวด้วยยินดี | ดั่งได้มณีจินดา |
หอมประทิ่นกลิ่นรสอาบอบ | ฟุ้งตลบซาบซ่านนาสา |
ส่งให้องค์อัครชายา | แก้วตาจงเสวยให้สำราญ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางมณโฑเยาวยอดสงสาร |
รับเอาข้าวทิพย์อันโอฬาร | เยาวมาลย์ก็เสวยทันใด |
รสซาบทุกเส้นโลมา | สุธาโภชน์ฟากฟ้าไม่เปรียบได้ |
ผิวพรรณผุดผ่องอำไพ | พักตร์ดั่งแขไขไม่ราคี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา