- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายพระหริรักษ์นาถา |
เสด็จเหนือสุวรรณพลับพลา | กับพระอนุชาวิลาวัณย์ |
ได้ยินสำเนียงกัมปนาท | พสุธาอากาศไหวหวั่น |
โพยมพยับอับแสงสุริยัน | คลุ้มควันมืดฟ้าธาตรี |
จึงตรัสว่าดูกรเจ้าลักษมณ์ | น้องรักผู้ร่วมชีวิตพี่ |
เป็นเหตุไฉนดั่งนี้ | เสียงมี่อื้ออึงคะนึงมา |
หรือวานรไปจองถนน | ได้ประจญประจัญด้วยยักษา |
จงไปดูให้รู้ประจักษ์ตา | จะว่าเหตุผลประการใด ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ผู้มีอัชฌาสัย |
รับสั่งพระตรีภูวไนย | บังคมไหว้แล้วรีบบทจร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงริมฝั่งพระสมุทร | น้องพระจักรภุชทรงศร |
แลเห็นหนุมานเข้าราญรอน | ต่อกรนิลพัทเสนี |
พญาสุครีพเข้าอยู่กลาง | กั้นกางห้ามสองกระบี่ศรี |
ผลักไสอื้ออึงเป็นโกลี | จึ่งมีพจนารถถามไป |
ดูกรลูกพระสุริย์ฉาย | วานรสองนายนี้ไฉน |
จึ่งเข้าสัประยุทธ์ชิงชัย | ไม่เกรงอาญาพระสี่กร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพชาญสมร |
ทั้งหนุมานฤทธิรอน | นิลพัทพานรชาญฉกรรจ์ |
ครั้นเห็นน้องพระนารายณ์ | สามนายตกใจตัวสั่น |
นั่งลงถวายบังคมคัล | ลูกพระสุริยันก็ทูลไป |
เดิมข้าให้สองวานร | คุมพลนิกรน้อยใหญ่ |
ขนศิลาถมท้องสมุทรไท | ต่างอวดฤทธิไกรอหังการ์ |
จึ่งได้วิวาทกันทั้งนี้ | จนถึงราวีเข่นฆ่า |
กลัวจะเคืองใต้เบื้องบาทา | วิ่งมาห้ามไว้ก็ไม่ทัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ได้ฟังลูกพระสุริยัน | ก็พาสามนายนั้นเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ถึงหน้าพลับพลาที่เฝ้า | น้อมเกล้าบังคมประนมไหว้ |
ทูลพระหริวงศ์ทรงชัย | ตามในเหตุผลแต่ต้นมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์นาถา |
ได้ฟังคั่งแค้นแน่นอุรา | โกรธาดั่งไฟบรรลัยกาล |
ผุดลุกขึ้นยืนกระทืบบาท | แล้วมีพระราชบรรหาร |
ดูดู๋นิลพัทหนุมาน | สาธารณ์องอาจอหังการ์ |
กูใช้ให้ไปจองถนน | เหตุใดต่างตนอวดกล้า |
ไม่เกรงพระราชอาชญา | เคี่ยวฆ่ากันเป็นโกลี |
แม้นว่าสงครามไม่ติดพัน | กูจะบั่นเศียรเกล้าเกศี |
เลียบไว้ริมฝั่งชลธี | ให้สาที่มึงชะเลยใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นิลพัทหนุมานทหารใหญ่ |
ได้ฟังบัญชาภูวไนย | ตกใจเพียงสิ้นชีวี |
ต่างตนน้อมเศียรอภิวาทน์ | กราบลงแทบบาทบทศรี |
มิได้สนองพระวาที | สองกระบี่กรานก้มพักตรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์นาถา |
นิ่งนึกตรึกไปด้วยปรีชา | ผ่านฟ้าแน่นอกตันใจ |
จึ่งตรัสแก่ลูกพระทินกร | อันสองวานรทหารใหญ่ |
ต่างถือว่ามีฤทธิไกร | จะให้ชิงชัยกับหมู่มาร |
เมื่อมันไม่อดลดกัน | ดึงดันแต่โดยกำลังหาญ |
จะทำให้เสียราชการ | เพราะไอ้สาธารณ์ทั้งสองนี้ |
ครั้นว่าจะลงอาชญา | ล้างชีวาเสียก็ใช่ที่ |
จะคิดผ่อนผันฉันใดดี | จึ่งจะไม่เสียทีเสียการ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพลูกพระสุริย์ฉาน |
น้อมเศียรกราบทูลพระอวตาร | อันสองทหารชาญชัย |
ดั่งช้างสารกล้าบ้ามัน | จะไว้โรงเดียวกันนั้นไม่ได้ |
เครื่องจะเคืองบาทพระภูวไนย | ด้วยใจองอาจอหังการ์ |
อันกรุงชมพูแลขีดขิน | ท้าวชมพูบดินทร์อยู่รักษา |
ผู้เดียวทั้งสองนครา | เห็นจะพะว้าพะวังใจ |
ขอให้นิลพัทพานร | รั้งนครขีดขินเห็นพอได้ |
แต่วายุบุตรวุฒิไกร | เอาไว้ใต้เบื้องบทมาลย์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกทุกสถาน |
ได้ฟังสุครีพปรีชาชาญ | ผ่านฟ้าชื่นชมยินดี |
จึ่งมีวาจาอันสุนทร | ดูกรพญากระบี่ศรี |
มิเสียแรงเป็นน้องพาลี | ทั้งมีปรีชาว่องไว |
ตรัสพลางพลางเปลื้องเครื่องต้น | กุณฑลสังวาลประทานให้ |
แก่ลูกพระอาทิตย์ฤทธิไกร | เสร็จแล้วภูวไนยก็บัญชา |
เหวยลูกพระกาลชาญณรงค์ | เอ็งนี้อาจองแกล้วกล้า |
จงไปรั้งขีดขินพารา | อย่าให้มีเหตุเภทพาล |
เดือนหนึ่งจงเก็บผลาผล | มาส่งพวกพลทวยหาญ |
แม้นขาดมิได้ราชการ | กูจะผลาญให้ม้วยชีวัน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นิลพัทฤทธิแรงแข็งขัน |
ได้ฟังบรรหารพระทรงธรรม์ | บังคมคัลสนองพระวาจา |
โทษข้าถึงสิ้นชีวิต | พระทรงฤทธิ์โปรดเกล้าเกศา |
พระคุณเป็นพ้นคณนา | ใหญ่ยิ่งแผ่นฟ้าธาตรี |
จะขออยู่ใต้บาทบงสุ์ | ทำการณรงค์กับยักษี |
หนักไหนจะออกต่อตี | ไปกว่าชีวีจะบรรลัย |
แต่เฝ้ากราบทูลอ้อนวอน | ภูธรจะโปรดก็หาไม่ |
สุดคิดจนจิตจนใจ | บังคมไหว้แล้วคลานออกมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งสั่งกบินทร์นิลนนท์ | พวกพลวานรพร้อมหน้า |
ต่างตนต่างฟายน้ำตา | โศการักกันพันทวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ ค่อยคลายอาดูรพูนเทวษ | จึ่งสำแดงเดชกระบี่ศรี |
เหาะไปขีดขินบุรี | ด้วยกำลังฤทธีวานร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระจักรแก้วสุริย์วงศ์ทรงศร |
ครั้นนิลพัทฤทธิรอน | บทจรไปจากพลับพลา |
จึ่งตรัสแก่ศรีหนุมาน | เหวยไอ้สาธารณ์ใจกล้า |
กูนี้จัดสรรโยธา | ที่มีศักดาว่องไว |
อันขุนกบินทร์นิลพัท | ก็จัดเอาเป็นทหารใหญ่ |
จะได้เป็นคู่มือคู่ใจ | เหตุใดจึ่งไม่ประนอมกัน |
ตัวเอ็งอิจฉาสาธารณ์ | ทำการหยาบช้าโมหันธ์ |
หากแกล้งจะกำจัดมัน | จากที่สุวรรณพลับพลา |
พอใจจะทำแต่ผู้เดียว | ขับเคี่ยวสงครามด้วยยักษา |
ทีนี้ก็สมดั่งจินดา | ที่อหังการ์ว่าตัวดี |
จงเร่งรีบไปจองถนน | จะได้ข้ามพลกระบี่ศรี |
แม้นช้ากว่าเจ็ดราตรี | กูจะผลาญชีวีให้วายปราณ ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
ก้มเกล้ารับราชโองการ | ทูลสนองบทมาลย์ด้วยปรีชา |
อันตัวของข้านี้โทษผิด | ถึงสิ้นชีวิตสังขาร์ |
ซึ่งพระองค์ทรงพระเมตตา | ไม่ล้างชีวาให้บรรลัย |
พระคุณลํ้าล้นพ้นนัก | หนักกว่าดินฟ้าไม่เปรียบได้ |
จะขอรับจองถนนไป | ให้ถึงฟากฝั่งชลธี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายชามพูวราชกระบี่ศรี |
ก้มเกล้ากราบทูลด้วยภักดี | ข้านี้ได้แจ้งกิจจา |
ว่านิลราชวานร | ผู้มีฤทธิรอนแกล้วกล้า |
ไปหยอกพระมหาสิทธา | มีนามชื่อว่าคาวินท์ |
ลักเอาไม้เท้าของเธอไป | ซ่อนไว้ในท่ากระแสสินธุ์ |
จับได้ก็สาปขุนกบินทร์ | ว่าพานรินทร์ตัวนี้ |
จะเอาสิ่งใดทิ้งน้ำลง | ให้คงจมอยู่กับที่ |
อย่าลอยขึ้นหลังนที | แม้นพระจักรีสี่กร |
จะข้ามไปลงกาปราบมาร | ใช้พวกทวยหาญชาญสมร |
จองถนนข้ามมหาสาคร | วานรนั้นขนภูเขามา |
ให้ขุนกระบี่นี้ผู้เดียว | ขับเคี่ยวรับก้อนภูผา |
จึ่งจะสิ้นสาปพระสิทธา | ผ่านฟ้าจงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอวตารทรงสวัสดิ์รัศมี |
ฟังชามพูวราชเสนี | จึ่งมีบัญชาถามไป |
ดูกรนิลราชชาญฉกรรจ์ | ยังจริงดั่งนั้นหรือไฉน |
เรานี้ฉงนสนเท่ห์ใจ | จงบอกให้แจ้งกิจจา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นิลราชฤทธิไกรใจกล้า |
ชุลีกรสนองพระบัญชา | ตัวข้าต้องสาปพระมุนี |
ช้านานถึงพันปีแล้ว | พระจักรแก้วจงโปรดเกศี |
จะขอไปถมนที | กับหลานพาลีชาญฉกรรจ์ |
ทูลแล้วประณตบทบงสุ์ | ลาองค์พระนารายณ์รังสรรค์ |
สุครีพลูกพระสุริยัน | ก็พาสองนายนั้นรีบจร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงริมฝั่งชลธาร | แต่ศรีหนุมานชาญสมร |
จึ่งพาพลทั้งสองพระนคร | ไปยังสิงขรหิมวา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ หยุดอยู่แทบเชิงคีรี | จึ่งสั่งโยธีซ้ายขวา |
ให้เข้าง้างขนศิลา | แต่บรรดามาจงครบกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งหมู่วานรพลขันธ์ |
ต่างตนวิ่งวุ่นพัลวัน | ยืนยันเข้าหักคีรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บ้างหาบบ้างแบกทุกตัวลิง | ช่วงชิงถุ้งเถียงกันอึงมี่ |
โห่ร้องก้องกึกเป็นโกลี | กระบี่เต้นโลดไปมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
เข้าช้อนเอาเขาหิมวา | ด้วยกำลังศักดาเชี่ยวชาญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ได้แล้วก็พาพลากร | โยธาวานรทวยหาญ |
ออกจากภูเขาหิมพานต์ | ไปยังชลธารด้วยฤทธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงฟากฝั่งทะเลวน | จึ่งสั่งพวกพลพร้อมหน้า |
ให้วางซึ่งกัอนศิลา | กองไว้ริมท่าสมุทรไท ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | โยธาวานรน้อยใหญ่ |
บ้างทิ้งบ้างทุ่มเนื่องไป | ลงไว้ริมฝั่งสาคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนิลราชชาญสมร |
ผู้เดียวสำแดงฤทธิรอน | ขนก้อนภูผาทิ้งไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ศิลาจมเรียบระเบียบกัน | เป็นแถวแนวคันถนนใหญ่ |
อันหมู่โยธีกระบี่ไพร | โห่สนั่นหวั่นไหวเป็นโกลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ บัดนั้น | ฝ่ายกองคอยเหตุยักษี |
ซึ่งลาดเลียบริมฝั่งนที | เห็นพวกกระบี่อึงอล |
หาบขนเอาก้อนศิลา | มาทอดลงคงคาดั่งห่าฝน |
ตรงข้ามฟากฝั่งชเลวน | เป็นถนนปริ่มนํ้าขึ้นรำไร |
จึ่งอสุรีทั้งสี่นาย | ตกใจวุ่นวายไม่อยู่ได้ |
ก็พากันรีบเข้าไป | ยังพิชัยลงกาธานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรบังคมทูล | ท้าวราพนาสูรยักษี |
บัดนี้พระรามจักรี | ให้กระบี่ขนเอาศิลามา |
ทุ่มทิ้งในสมุทรเป็นถนน | อึงอลเร่งรัดกันหนักหนา |
ยังอีกสักแปดพันวา | จะถึงซึ่งท่าชลธาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ใจหาญ |
ได้ฟังสารัณแจ้งการ | พญามารนิ่งนึกตรึกตรา |
ชิชะมนุษย์นี้สามารถ | องอาจจองถนนด้วยภูผา |
แม้นข้ามมาได้ถึงลงกา | ไพร่ฟ้าจะร้อนทั้งเวียงชัย |
จำจะให้ฝูงปลาในสาชล | ล้างถนนศิลาเสียให้ได้ |
เห็นว่าข้าศึกจะจนใจ | คิดแล้วสั่งไปทันที |
มโหทรผู้มีฤทธิรงค์ | จงลงไปในวารีศรี |
หาสุพรรณมัจฉาเทวี | เชิญลูกกูนี้ให้ขึ้นมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มโหทรเสนียักษา |
รับสั่งถวายบังคมลา | ออกมาแล้วแหวกน้ำไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงที่อยู่เยาวมาลย์ | ในกลางชลธารสมุทรใหญ่ |
บอกว่าบิตุรงค์ทรงชัย | ให้ข้ามาเชิญนางเทวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสุพรรณมัจฉาโฉมศรี |
ได้แจ้งแห่งคำเสนี | ก็รีบจรลีขึ้นมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรอภิวาทน์ | พระบิตุรงค์ธิราชนาถา |
ท่ามกลางอนงค์กัลยา | คอยฟังบัญชากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรรังสรรค์ |
เห็นพระธิดาวิลาวัณย์ | ดั่งได้ชั้นฟ้าสุราลัย |
จึ่งว่าดูกรลูกรัก | ดวงจักษุพ่อพิสมัย |
บัดนี้มนุษย์อาจใจ | ยกพวกพลไกรวานร |
มาตั้งริมท่าวารี | ให้กระบี่ไปขนสิงขร |
ถมลงในท้องสาคร | จะข้ามมาราญรอนกับบิดา |
เจ้าช่วยระงับดับเข็ญ | ให้เย็นทั่วญาติวงศา |
จงสั่งบริวารฝูงปลา | ให้คาบศิลานั้นไป |
ทิ้งเสียในอ่าวชเลวน | อย่าให้เป็นถนนขึ้นได้ |
พ่อจะรางวัลอรไท | สิ่งใดมิให้อนาทร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมัจฉาดวงสมร |
ได้ฟังสมเด็จพระบิดร | ชุลีกรรับราชบัญชา |
แต่การเพียงนี้ไม่หนักนัก | ลูกรักจะขออาสา |
มิให้เคืองใต้เบื้องบาทา | พระบิดาค่อยอยู่สวัสดี |
ว่าแล้วถวายอภิวาทน์ | แทบบาทพญายักษี |
ยุรยาตรนาดกรจรลี | ไปยังที่อยู่อรไท ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงซึ่งท้องชลธาร | จึ่งสั่งบริวารน้อยใหญ่ |
ให้คาบขนก้อนศิลาไป | ทิ้งเสียในอ่าวคงคา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งฝูงบริวารมัจฉา |
ได้ฟังนางสั่งก็เกลื่อนมา | คาบขนศิลาเป็นโกลี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โล้
๏ ว่ายแหวกแถกถาอลวน | สับสนอุตลุดอึงมี่ |
เป็นระลอกกระฉอกชลธี | ทิ้งเสียที่ในชเลลึก |
อันก้อนมหาสิงขร | วานรขนมาไม่รู้ตรึก |
ฝูงปลาคาบไปคึกคึก | กระบี่โห่ฮึกทิ้งมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ลูกพระอาทิตย์ฤทธิ์กล้า |
แลเห็นซึ่งก้อนศิลา | เบาตาประหลาดหายไป |
แต่พินิจพิศเพ่งเป็นครู่ | ดูดูแล้วคิดสงสัย |
จึ่งว่าแก่หนุมานชาญชัย | น้านี้หลากใจพ้นคิด |
ไฉนศิลาที่ถมลง | จึ่งสูญไปไม่คงอยู่ติด |
แต่ขนมาทั่วสานุทิศ | อักนิษฐ์ทุ่มทิ้งลงไป |
เห็นเปลี่ยนเปลี่ยนอยู่หลังคงคา | ปริ่มปริ่มขึ้นมาแล้วไปไหน |
เหตุนี้จะเป็นประการใด | ทำไฉนจะแจ้งในสาคร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | คำแหงหนุมานชาญสมร |
ได้ฟังสุครีพฤทธิรอน | ประนมกรแล้วตอบวาจา |
หลานนี้ก็สงสัยอยู่ | ดูประหลาดเหมือนคำพระน้าว่า |
เห็นจะเป็นเหตุในคงคา | ตัวข้าจะลาลงไป |
ว่าแล้วสำแดงแผลงฤทธิ์ | ทศทิศกัมปนาทหวาดไหว |
แหวกพระมหาสมุทรไป | ด้วยฤทธิไกรมหึมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ แลไปในท้องสาคร | เห็นหมู่นิกรมัจฉา |
เกลื่อนกล่นคาบขนศิลา | ก็โกรธาดั่งไฟบรรลัยกาล |
จึ่งชักตรีเพชรออกกวัดแกว่ง | วาบวามดั่งแสงพระสุริย์ฉาน |
ถาโถมไปในชลธาร | เข้าไล่รอนราญราวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ตายกลาดดาษท้องพระสมุทร | ด้วยฤทธิรุทรกระบี่ศรี |
อันฝูงปลาในท้องวารี | แตกกระจายว่ายหนีเป็นโกลา |
วายุบุตรเลี้ยวลัดสกัดไล่ | แลไปเห็นนางมัจฉา |
มีหางนั้นเป็นหางปลา | กายาเป็นมนุษย์วิไลวรรณ |
นรลักษณ์พักตราก็แช่มช้อย | แน่งน้อยดั่งอัปสรสวรรค์ |
กริ้วโกรธพิโรธดั่งไฟกัลป์ | ขบฟันแล้วร้องถามไป |
เหวยเหวยดูกรอี่มัจฉา | มึงพาฝูงปลาน้อยใหญ่ |
มาคาบขนศิลาด้วยอันใด | มิได้กลัวม้วยชีวี |
ไม่รู้หรือว่านารายณ์อวตาร | จะมาสังหารยักษี |
ว่าพลางไล่จับเป็นโกลี | ด้วยกำลังอินทรีย์วานร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | สุพรรณมัจฉาดวงสมร |
แลเห็นกระบี่ฤทธิรอน | บังอรตระหนกตกใจ |
ให้ละล้าละลังด้วยความกลัว | หน้าซีดตัวสั่นหวั่นไหว |
ก็แหวกว่ายเร็วรี่หนีไป | เข้าปนอยู่ในฝูงปลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า |
คว้าไขว่ไล่ชิดติดมา | ก็จับได้มัจฉานารี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | นางสุพรรณมัจฉาโฉมศรี |
ตกใจไม่เป็นสมประดี | ร้องขอชีวีลนลาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระพายฤทธิไกรใจหาญ |
เงือดเงื้อตรีเพชรสุรกานต์ | แล้วกล่าวพจมานด้วยโกรธา |
เอ็งนี้ชื่อไรจึ่งองอาจ | เชื้อชาติเป็นไฉนอี่มัจฉา |
จึ่งพาบริวารฝูงปลา | มาลักคาบศิลาของกูไป |
จะไม่ให้เป็นแถวถนน | ใครใช้มาขนหรือไฉน |
จงบอกแต่จริงอี่จังไร | หาไม่จะม้วยชีวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางนวลมัจฉาโฉมศรี |
ความกลัววานรจะฆ่าตี | ชุลีกรแล้วแจ้งกิจจา |
ตัวข้าเป็นบุตรทศกัณฐ์ | ชื่อว่าสุพรรณมัจฉา |
องค์พระบิตุเรศใช้มา | ให้ป่าวฝูงปลาในสาชล |
คาบขนเอาก้อนศิลาไป | ทิ้งเสียมิให้เป็นถนน |
เกรงว่าพระรามจะข้ามพล | ไปผจญยังเกาะลงกา |
จึ่งมาทำตามด้วยความกลัว | โทษตัวถึงสิ้นสังขาร์ |
แม้นจะประทานชีวา | อันก้อนศิลาที่ขนไป |
ข้าจะสั่งฝูงปลาทั้งนั้น | เร่งกันคาบขนมาให้ |
ขอท่านผู้มีฤทธิไกร | จงได้เมตตาปรานี ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
ฟังนางมัจฉาพาที | เทวีวอนขอชีวิต |
เพราะเสียงเพราะรสพจนารถ | เสียวสวาทรุมรึงตะลึงจิต |
ความโกรธเสื่อมหายละลายคิด | พิศพักตร์แล้วกล่าววาจา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ชาตรี
๏ โฉมเอยโฉมเฉลา | ยุพเยาว์ผู้ยอดเสน่หา |
เจ้าอย่าหวาดหวั่นวิญญาณ์ | จะเล่ากิจจาให้แจ้งใจ |
เดิมพี่ลงมาด้วยความแค้น | แสนโกรธประหนึ่งไม่อดได้ |
หมายจะฆ่าฟันให้บรรลัย | ที่ในมหาสาคร |
ครั้นมาเห็นเจ้าเยาวลักษณ์ | ผิวพักตร์ดั่งเทพอัปสร |
แน่งน้อยนิ่มเนื้ออรชร | ให้อาวรณ์ในองค์วนิดา |
บุญแล้วจึ่งได้มาพบน้อง | เราสองควรครองเสน่หา |
ร่วมทุกข์ร่วมสุขภิรมยา | ไปกว่าจะม้วยชีวี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสุพรรณมัจฉาโฉมศรี |
ฟังวายุบุตรพาที | มีความสะเทินเขินใจ |
ค้อนให้แล้วตอบพจมาน | ไฉนมาเกี้ยวพานก็เป็นได้ |
ไม่ควรเสน่หาอาลัย | ในข้าผู้โทษถึงตาย |
ยังมิได้แก้ตัวที่ทำผิด | จะรอดชีวิตไม่นึกหมาย |
อย่าพักเสแสร้งแกล้งอุบาย | จะซํ้าอายไม่พ้นที่นินทา |
ซึ่งจะภิรมย์สมสวาท | ตัวข้าต่างชาติภาษา |
ใช่ที่วิสัยจะเจรจา | ขอสมาเสียเถิดอย่าน้อยใจ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
โอ้โลม
๏ ดวงเอยดวงสมร | เจ้างามงอนผู้ยอดพิสมัย |
ถ้อยคำวาจาน่าอาลัย | จะหาไหนได้เหมือนนงลักษณ์ |
งามทั้งกิริยามารยาท | ท่วงทีฉลาดแหลมหลัก |
งามทรงงามองค์งามพักตร์ | ให้จำเริญรักพันทวี |
อันซึ่งต่างชาติต่างพงศ์ | ใช่แต่โฉมยงกับพี่ |
พระดาบสทรงพรตพิธี | กับกินรียังร่วมภิรมยา |
เราสองควรครองไมตรีจิต | ร่วมสนิทในความเสน่หา |
ว่าพลางคว้าไขว่ไปมา | แก้วตาอย่าตัดอาวรณ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมัจฉาดวงสมร |
ชม้ายชายเนตรแล้วปัดกร | คมค้อนผินผันพักตรา |
อนิจจายิ่งว่ายิ่งลวนลาม | หยาบหยามกระไรหนักหนา |
ช่างไม่สมเพชเวทนา | คิดมาก็น่าน้อยใจ |
เหตุว่าตัวเจ้าเป็นชาย | ไม่มีความอายก็ทำได้ |
ว่าพลางหยิกข่วนวุ่นไป | ผลักไสมิได้ปรานี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
โอ้โลม
๏ สุดเอยสุดสวาท | นุชนาฏผู้มิ่งมารศรี |
รักเจ้าเท่าดวงชีวี | อย่าหยิกข่วนพี่ให้เจ็บนัก |
ความแสนพิศวาสนาฏน้อง | จะต้องถือมิให้มือหนัก |
ใช่จะลวงเจ้าเยาวลักษณ์ | ดวงจักษุพี่จงเมตตา |
ว่าพลางอิงแอบแนบชิด | จุมพิตปรางเปรมนาสา |
ค่อยประคองต้องเต้าสุมณฑา | วายุพัดพัดมาอึงอล |
พระสมุทรตีฟองนองระลอก | คลื่นกระฉอกฟัดฝั่งกุลาหล |
เมฆมัวทั่วทิศโพยมบน | ฝนสวรรค์พรอยพรมสุมาลี |
อันดวงโกสุมปทุมมาลย์ | ก็แบ่งบานคลี่คลายเกสรศรี |
สองสมชมรสฤๅดี | ต่างเกษมเปรมปรีดิ์ทั้งสองรา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กล่อม
ช้า
๏ เมื่อนั้น | นวลนางสุพรรณมัจฉา |
ได้ร่วมรสรักภิรมยา | กับวายุบุตรวุฒิไกร |
อิงแอบแนบชิดพิศวง | งวยงงด้วยความพิสมัย |
แสนรักแสนสวาทจะขาดใจ | อรไทลืมกลัวพระบิดา |
ลืมเล่นในท้องชลธาร | ลืมฝูงบริวารมัจฉา |
ลืมอายลืมองค์กัลยา | เสน่หาเพิ่มพ้นพันทวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | หนุมานผู้ชาญชัยศรี |
แสนสวาทนาฏนุชนารี | ขุนกระบี่เพลิดเพลินจำเริญใจ |
ยอกรโลมลูบจูบพักตร์ | น้องรักผู้ยอดพิสมัย |
บัดนี้พระตรีภูวไนย | ตรัสใช้ให้ถมมรคา |
กำหนดให้เสร็จในเจ็ดวัน | มิทันจะลงโทษา |
เจ้าพี่จงสั่งฝูงปลา | ให้คาบศิลาในสาคร |
มาไว้ในที่วังวน | ให้เป็นถนนเหมือนแต่ก่อน |
ตัวพี่ก็จะพ้นโทษกรณ์ | ดวงสมรจงได้ปรานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นวลนางมัจฉาโฉมศรี |
ได้ฟังหนุมานพาที | เทวีก็ลาว่ายมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เพลง
๏ ครั้นถึงที่อ่าวชลธาร | จึ่งสั่งบริวารมัจฉา |
จงไปคาบขนศิลา | คืนมาที่เก่าให้พร้อมกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ สั่งเสร็จเคลื่อนกายจากที่ | งามทีดั่งอัปสรสวรรค์ |
แหวกว่ายกรายกรวิไลวรรณ | จรจรัลกลับคืนเข้าไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายฝูงมัจฉาน้อยใหญ่ |
ได้ฟังคำสั่งอรไท | ก็พากันว่ายไปทันที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงที่อ่าวสาคร | เข้าคาบเอาก้อนคีรีศรี |
ว่ายแหวกแถกถาวารี | อึงมี่เกลื่อนกล่นกันมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โล้
๏ วางไว้ตามแถวแนวถนน | อลวนล้วนหมู่มัจฉา |
อุตลุดสับสนในคงคา | จนสิ้นศิลาที่คาบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | คำแหงหนุมานทหารใหญ่ |
อิงแอบมัจฉายาใจ | อยู่ในกระแสวาริน |
ครั้นเห็นบริวารฝูงปลา | คาบขนศิลามาหมดสิ้น |
ดีใจดั่งได้สมบัติอินทร์ | ขุนกบินทร์สวมกอดนางเทวี |
แล้วมีวาจาอันสุนทร | ดูกรเยาวยอดสุดาพี่ |
ความรักมิใคร่จะพาที | แต่กรรมมีจำร้างให้ห่างกัน |
แม้นพี่ไม่ต้องราชกิจ | จะอยู่ชิดชมภิรมย์ขวัญ |
ครั้นช้าก็เกรงโทษทัณฑ์ | พระผู้ทรงสุบรรณจะโกรธา |
เจ้าค่อยอยู่เถิดนะบังอร | ดวงสมรพี่ยอดเสน่หา |
แม้นเสร็จสงครามในลงกา | พี่จะกลับมาหาเยาวมาลย์ ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางมัจฉาเยาวยอดสงสาร |
ได้ฟังเร่าร้อนดั่งเพลิงกาล | มาเผาผลาญสกนธ์อินทรีย์ |
ให้อาลัยในวายุบุตรนัก | แสนโศกซบพักตร์ลงกับที่ |
จิตใจไม่เป็นสมประดี | กอดบาทขุนกระบี่เข้ารํ่าไร |
อนิจจานี่หรือว่ารักจริง | มาทอดทิ้งน้องไว้ก็เป็นได้ |
อกเอ๋ยเป็นน่าสังเวชใจ | มาหลงใหลด้วยรสวาจา |
จนเสียตัวแล้วมิหนำ | มาซ้ำได้อายไปภายหน้า |
บรรดาหญิงใดที่เกิดมา | ไม่เหมือนอกข้าในครั้งนี้ |
ประมาทจิตหมายมิตรให้เกินพักตร์ | มาหลงรักจนชายเขาหน่ายหนี |
เสียแรงที่เกิดเป็นสตรี | เสียทีครองตัวมาช้านาน ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | วายุบุตรวุฒิไกรใจหาญ |
เห็นนางมัจฉานงคราญ | โศกาปานม้วยชีวัน |
จึ่งโอบอุ้มองค์ขึ้นใส่ตัก | จุมพิตพิศพักตร์แล้วรับขวัญ |
เจ้าอย่าโศกาจาบัลย์ | กันแสงสะอื้นอาลัย |
ใช่ว่าจะแกล้งหน่ายน้อง | ร่วมห้องผู้ยอดพิสมัย |
จำเป็นจำพี่จะจำไกล | อรไทครองตัวไว้จงดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | นางสุพรรณมัจฉาโฉมศรี |
ฟังวายุบุตรพาที | เทวีผินพักตร์ไม่เจรจา |
ทรุดลงจากตักแล้วควักค้อน | บังอรหันเหินเมินหน้า |
ผลักไสมิให้ต้องกายา | อย่าพักแต่งว่าพอเข้าใจ |
เชิญเถิดอย่าทำเป็นว่ารัก | ใครจักว่าไรแก่เจ้าได้ |
กรรมแล้วจะโทษเอาผู้ใด | ไปแล้วอย่าได้กลับมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | คำแหงหนุมานหาญกล้า |
ฟังนางรำพันเจรจา | เสน่หาเพิ่มพ้นพันทวี |
จึ่งสวมสอดกอดลูบจูบพักตร์ | เยาวลักษณ์เจ้าอย่าโกรธพี่ |
ใช่จะทิ้งเสียเมื่อไรมี | ค่อยอยู่จงดีจะลาไป |
ว่าพลางสำแดงฤทธิรอน | สาครกัมปนาทหวาดไหว |
ขึ้นมาจากท้องสมุทรไท | ตรงไปที่ถมมรคา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงยอกรอภิวันท์ | ลูกพระสุริยันฤทธิ์กล้า |
แล้วแถลงแจ้งตามกิจจา | ซึ่งพบมัจฉานารี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาสุครีพกระบี่ศรี |
ฟังวายุบุตรก็ยินดี | เร่งให้กระบี่พลากร |
ระดมถมเป็นถนนใหญ่ | ด้านใครแล่ล่าก็ตีต้อน |
อื้ออึงไปทั้งสาคร | วานรตรวจกันเป็นโกลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายนางสุพรรณมัจฉา |
ได้ร่วมรสสู่สมภิรมยา | ด้วยวายุบุตรก็ทรงครรภ์ |
คิดถึงวานรผู้สามี | เทวีวิโยคโศกศัลย์ |
ทั้งทุกข์ที่จะรู้ถึงพระกรรณ | องค์พญากุมภัณฑ์ผู้บิดร |
ว่าใช้มาไม่ได้ราชกิจ | กลับไปร่วมสนิทสโมสร |
กับด้วยทหารพระสี่กร | เห็นภูธรจะฆ่าให้บรรลัย |
จำกูจะไปสำรอก | ออกเสียจากครรภ์ให้จงได้ |
คิดแล้วก็เร่งรีบไป | ยังในเนินสมุทรคงคา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
ร่าย
๏ ครั้นถึงยอกรขึ้นเหนือเกศ | ไหว้ฝูงเทเวศทุกทิศา |
ขอหมู่อารักษ์อันศักดา | จงมาช่วยข้าในครั้งนี้ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ยานี
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงเทพไทเรืองศรี |
อันสถิตริมท่าวารี | แจ้งว่ากระบี่ผู้ศักดา |
โอรสพระพายเทวราช | มาร่วมพิศวาสนางมัจฉา |
บุตรีทศกัณฐ์อสุรา | กัลยาจะคลอดลูกรัก |
นานไปจะได้เป็นทหาร | องค์พระอวตารทรงจักร |
จำกูจะช่วยนงลักษณ์ | อย่าให้อัคเรศบรรลัย |
คิดแล้วจึ่งป่าวร้องกัน | พร้อมหมู่เทวัญน้อยใหญ่ |
ทั้งฝูงนางฟ้าสุราลัย | ก็เหาะไปยังฝั่งคงคา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ โคมเวียน
ร่าย
๏ ครั้นถึงเนินทรายชายสมุทร | เทพบุตรอัปสรพร้อมหน้า |
ชวนกันแวดล้อมกัลยา | ด้วยความเมตตาปรานี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
ช้า
๏ เมื่อนั้น | นางสุพรรณมัจฉาโฉมศรี |
เห็นเทวาแลเทพนารี | มาพร้อมที่ฝั่งสาคร |
จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคม | ด้วยใจชื่นชมสโมสร |
ครั้นได้ศุภฤกษ์สถาวร | บังอรสำรอกโอรส |
ขาวผ่องบริสุทธิ์ผิวพรรณ | กายนั้นเหมือนหนุมานหมด |
ใหญ่ถึงชันษาโสฬส | หางนั้นปรากฏเป็นหางปลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | เทวัญอัปสรถ้วนหน้า |
เห็นนางสำรอกลูกมา | ลักขณาเหมือนศรีหนุมาน |
จึ่งอำนวยนามตามวงศ์ | อันทรงศักดากล้าหาญ |
เอาชื่อบิดาชัยชาญ | กับนามนงคราญมารดร |
ทั้งสองนั้นเป็นสมญา | ชื่อมัจฉานุชาญสมร |
เสร็จแล้วฝูงเทพนิกร | ก็เขจรไปวิมานรูจี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | นางสุพรรณมัจฉาโฉมศรี |
อุ้มลูกรักแนบอินทรีย์ | เทวีพิศพักตร์แล้วถอนใจ |
โอ้ว่าเจ้าเกิดมาในครรภ์ | แม่จะเลี้ยงสักวันก็ไม่ได้ |
จำเป็นแล้วจำจะจากไป | ด้วยกลัวราชภัยอัยกา |
เสียแรงพ่อเกิดมาเป็นชาย | เสียดายไม่ได้อยู่เห็นหน้า |
เจ้าจงจำคำมารดา | สืบไปแก้วตาอย่าลืมความ |
อันบิตุเรศบังเกิดเกล้า | ของเจ้านั้นเชี่ยวชาญสนาม |
เป็นยอดทหารของพระราม | นามกรชื่อศรีหนุมาน |
มีมาลัยกุณฑลขนแก้ว | เขี้ยวเพชรพรายแพร้วฉายฉาน |
หาวเป็นดาวเดือนชัชวาล | เหาะทะยานไปได้ในอัมพร |
แม้นพบจงเข้าอภิวาทน์ | กราบบาทด้วยใจสโมสร |
สั่งพลางโศกาอาวรณ์ | บังอรเพียงสิ้นสมประดี ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ โอด
ร่าย
๏ ครั้นเสร็จซึ่งสั่งโอรส | ยอกรประณตเหนือเกศี |
ค่อยระงับดับความโศกี | เทวีประกาศด้วยวาจา |
ขอจงฝูงรุกขเทเวศ | อันเรืองเดชมาช่วยรักษา |
องค์มัจฉานุกุมารา | ลูกข้าอย่าให้มีภัย |
สั่งพลางโลมลูบจูบพักตร์ | เยาวลักษณ์ถอนทอดใจใหญ่ |
ลงจากฟากฝั่งสมุทรไท | ว่ายไปในท้องวารี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เชิด