- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวทศเศียรชาญสมร |
เห็นกระบี่สำแดงฤทธิรอน | ตีพลนิกรเข้ามา |
โกรธาขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน | กุมภัณฑ์แกว่งศรเงื้อง่า |
กระทืบบาทประกาศด้วยวาจา | เหวยไอ้ลิงป่าสาธารณ์ |
อันซึ่งพวกมึงเหล่านี้ | อ้างอวดฤทธีว่ากล้าหาญ |
พากันออกมารอนราญ | ดีกว่าหนุมานหรือว่าไร |
กูคือพระกาลพาลราช | ทรงฤทธิ์อำนาจแผ่นดินไหว |
จะเอาชีวิตของมึงไป | ยังรู้หรือไม่ไอ้อัปรีย์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพกระบี่ศรี |
ได้ฟังอสุราพาที | โกรธดั่งอัคคีไหม้ฟ้า |
จึ่งร้องว่าเหวยไอ้อินทรชิต | มึงอย่าอวดฤทธิ์ให้เกินหน้า |
แต่ทศกัณฐ์ผู้บิดา | ก็ไม่อาจเจรจาเหมือนมึงนี้ |
ไม่รู้หรือเมื่อพ่อมึงยกฉัตร | ครั้งนั้นกูจะตัดเอาเกศี |
หากเกรงโองการพระจักรี | หาไม่ชีวีจะบรรลัย |
ตัวมึงลูกเล็กเด็กน้อย | ถ้อยคำเจรจาหยาบใหญ่ |
จะดีกว่าพ่อหรือว่าไร | ชาติไอ้อัปรีย์ทรลักษณ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสุริย์วงศ์ทรงศักดิ์ |
ได้ฟังกริ้วโกรธพิโรธนัก | ขุนยักษ์ขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน |
จึงชักศรสิทธิ์พาดสาย | มุ่งหมายจะฆ่าให้อาสัญ |
แผลงไปด้วยกำลังชาญฉกรรจ์ | เสียงสนั่นลั่นฟ้าธาตรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ต้องพญาสุครีพขุนกบินทร์ | องคตหลานอินทร์เรืองศรี |
ทั้งสิบแปดมงกุฎเสนี | ล้มอยู่กับที่พสุธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด โอด
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์นาถา |
เห็นศรอินทรชิตแผลงมา | ต้องหมู่เสนาวานร |
พิโรธโกรธกริ้วคือเพลิงกัลป์ | พระทรงธรรม์ก็ขึ้นธนูศร |
น้าวหน่วงด้วยกำลังฤทธิรอน | น้องพระสี่กรก็แผลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เสียงสนั่นครั่นครื้นโพยมหน | สุธาดลกัมปนาทหวาดไหว |
เป็นลมอ่อนพัดต้องพลไกร | ก็กลับได้สมประดีคืนมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ แล้วศรชัยไปไล่รอนราญ | พวกพลทวยหาญยักษา |
ล้มตายเกลื่อนกลาดดาษดา | ต้องทั้งรัถาอินทรชิต |
ย่อยยับเป็นภัสม์ธุลี | ด้วยฤทธีน้องพระจักรกฤษณ์ |
ราชสีห์สารถีสิ้นชีวิต | เสร็จแล้วศรสิทธิ์ก็กลับมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวทศพักตร์ยักษา |
ตกลงยังพื้นพสุธา | อสุรากริ้วโกรธดั่งอัคคี |
พระกรกวัดแกว่งศรทรง | อาจองดั่งพญาราชสีห์ |
เผ่นขึ้นโจมจ้วงทะลวงตี | บนรถมณีพระลักษมณ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | น้องพระภุชพงศ์ทรงจักร |
ประจัญกรรอนราญขุนยักษ์ | หาญหักต้านต่อฤทธา |
หวดด้วยพระแสงศรทรง | ต้ององค์อินทรชิตยักษา |
ตกลงจากรถรัตนา | พระอนุชาก็ไล่ตามตี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสิทธิศักดิ์ยักษี |
รับหัตถ์ปัดป้องไปในที | ต่างหนีต่างไล่พัลวัน |
ต่างตีต่างรับกลับกลอก | เข้าออกรวดเร็วดั่งจักรผัน |
ต่างหาญต่างกล้าไม่ละกัน | ต่างแข็งต่างขันประจัญกร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
ผาดโผนโจนไปด้วยฤทธิรอน | ภูธรโจมจับอสุรา |
ยืนยันเหยียบเข่าน้าวเกศ | พระทรงเดชแกว่งศรเงื้อง่า |
ตีถูกลูกเจ้าลงกา | ยักษาเซไปด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสุริย์วงศ์ยักษี |
กริ้วโกรธพิโรธดั่งอัคคี | อสุรีจับศรแผลงไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ สำเนียงดั่งเสียงสุนิบาต | พสุธาอากาศหวาดไหว |
ศรนั้นร้อนแรงเป็นแสงไฟ | ลามไหม้ล้อมกระบี่โยธา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์สุริย์วงศ์นาถา |
เห็นศรอินทรชิตเป็นไฟมา | แสงกล้าดั่งหนึ่งเพลิงกัลป์ |
จึ่งจับพลายวาตขึ้นพาดสาย | หมายล้างอสุราให้อาสัญ |
พระหัตถ์น้าวหน่วงยืนยัน | ทรงธรรม์ผาดแผลงไปด้วยฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ดินฟ้าอากาศก็ลั่นเลื่อน | ไหวสะเทือนถึงชั้นดุสิต |
เป็นห่าฝนดับเพลิงพิษ | แล้วต้องอินทรชิตอสุรา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวทศเศียรยักษา |
ต้องศรติดตรึงทั้งกายา | ดั่งว่าจะม้วยชีวี |
จึ่งยอพระกรขึ้นเหนือเกศ | ไหว้คุณพรหเมศเรืองศรี |
แข็งใจสำรวมอินทรีย์ | อสุรีร่ายเวทอันศักดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ ครบถ้วนเจ็ดคาบก็ลูบลง | ทั่วสารพางค์องค์ยักษา |
ศรนั้นหลุดจากกายา | ด้วยเดชมนตราฤทธิรอน |
พอเวลาอัสดงคต | ลดลงลับเหลี่ยมสิงขร |
จวนสิ้นแสงสีรวีวร | จึ่งว่าดูกรพระลักษมณ์ |
เราสองสงครามกันมา | ต่อตีทีกล้าโหมหัก |
ฝีมือก็ไม่เกินกันนัก | ควรจักเลิกทัพกลับไป |
เพลารุ่งสีรวีวร | จึ่งมาต่อกรกันใหม่ |
ว่าแล้วให้เลิกพลไกร | เข้าในลงกาธานี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราว
๏ เมื่อนั้น | พระลักษมณ์ทรงสวัสดิ์รัศมี |
ครั้นเห็นอินทรชิตไม่ต่อตี | อสุรีคืนเข้ายังลงกา |
จึ่งขึ้นรถแก้วชวลิต | สั่งลูกพระอาทิตย์ฤทธิกล้า |
ให้เลิกพหลโยธา | คืนเข้าพลับพลาอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรอภิวาทน์ | พระเชษฐาธิราชทรงศร |
ทูลความตามได้ราญรอน | ต่อกรอินทรชิตอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์เรืองศรี |
ฟังพระอนุชาร่วมชีวี | ภูมีแสนโสมนัสนัก |
ดั่งได้สมบัติอันโอฬาร | ทั่วทุกสถานไตรจักร |
สำรวลสรวลยิ้มพริ้มพักตร์ | สวมกอดพระลักษมณ์แล้วอวยชัย |
จงทรงศักดาวราฤทธิ์ | ทศทิศอย่ารอต่อได้ |
ตรัสแล้วพระปิ่นภพไตร | เข้าในสุวรรณพลับพลา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายอินทรชิตยักษา |
ครั้นถึงพิชัยลงกา | ตรงมาพระโรงรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งน้อมเศียรถวายบังคมบาท | พระบิตุรงค์ธิราชยักษี |
ทูลว่าลูกยกโยธี | ออกไปต่อตีกับมนุษย์ |
ทรงนามพระลักษมณ์ฤทธิรอน | โยธาวานรนับสมุทร |
แต่ละตนล้วนมีฤทธิรุทร | สัประยุทธ์ขับเคี่ยวแต่เช้ามา |
ตัวลูกต้องศรปัจจามิตร | ปิ้มเสียชีวิตสังขาร์ |
สิ้นรถสิ้นทศโยธา | จะอยู่เกลือกว่าจะเสียที |
จึ่งกลับมาลาพระบิตุราช | ไปชุบนาคบาศศรศรี |
ยังเขาอากาศคีรี | ให้มีอานุภาพเกรียงไกร |
ถ้วนคำรบเจ็ดวันวาร | จะมาผลาญไพรีเสียให้ได้ |
ขอพระองค์จงแต่งทัพชัย | ไปขัดไว้กว่าลูกจะกลับมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | องค์ท้าวทศพักตร์ยักษา |
ฟังลูกทูลความก็ปรีดา | จึ่งมีวาจาบัญชาการ |
อันศึกครั้งนี้นี่สามารถ | โยธาองอาจกล้าหาญ |
ทรหดอดทนพ้นประมาณ | จงหักราญมันเสียให้ย่อยยับ |
ซึ่งเจ้าจะไปทำพิธีกรรม์ | ครบเจ็ดคืนวันจงเร่งกลับ |
อยู่หลังพ่อจะให้ขัดทัพ | ตั้งรับหมู่ราชไพรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | อินทรชิตสุริย์วงศ์ยักษี |
ก้มเกล้ารับราชวาที | ถวายอัญชุลีแล้วออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงปราสาทอลงการ | สั่งเสนามารผู้ใหญ่ |
จงจัดพหลพลไกร | ทั้งดอกไม้ธูปเทียนบูชา |
กูจะไปตั้งกิจพิธี | ยังอากาศคีรีภูผา |
ครบเจ็ดราตรีจะกลับมา | เข่นฆ่าอริราชภัยพาล ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | เสนาผู้ใหญ่ใจหาญ |
ก้มเกล้ารับพระบัญชาการ | ขุนมารออกจากพระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
ยานี
๏ จัดหมู่ทหารชาญณรงค์ | สี่เหล่าอาจองแข็งขัน |
เหล่าหนึ่งหน้ากากยิงฟัน | โตดำลํ่าสันเรี่ยวแรง |
เหล่าหนึ่งหน้ากากตัวขาว | หนังเหนียวเขี้ยวยาวเข้มแข็ง |
เหล่าหนึ่งหน้าแสยะตาแดง | ทรหดเหี้ยมแหงห้าวฮึก |
เหล่าหนึ่งหน้าเขียวตัวลาย | หยาบคายอาจองทะนงศึก |
แต่ละหมู่เข้มขันพันลึก | คั่งคึกกวัดแกว่งสาตรา |
เตรียมทั้งรถแก้ววิเชียร | พร้อมด้วยธูปเทียนบุปผา |
ตั้งกระบวนพยุหโยธา | คอยท่าเสด็จจรลี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ลูกท้าวทศพักตร์ยักษี |
ครั้นรุ่งสางสว่างราตรี | เสด็จไปเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ สระสนานนํ้าทิพย์อโนดาต | ใสสะอาดโปรยปรายดั่งสายฝน |
สำราญกายลูบไล้เสาวคนธ์ | ปรุงปนเรณูสุมามาลย์ |
สนับเพลาเชิงงอนช่องกระจก | ภูษาเขียวลายยกกระหนกก้าน |
ชายแครงชายไหวอลงการ | ฉลององค์สังวาลชมพูนุท |
ตาบทิศทับทรวงพาหุรัด | ทองกรนาคกระหวัดรายบุษย์ |
ธำมรงค์มรกตไข่ครุฑ | ทรงมงกุฎแก้วกรรเจียกจร |
ห้อยพวงมาลัยดอกไม้มาศ | พระหัตถ์จับนาคบาศธนูศร |
ขัดพระขรรค์เพชรฤทธิรอน | กรายกรขึ้นรถสุพรรณพราย ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ รถเอยราชรถทรง | กำกงแกมแก้ววิเชียรฉาย |
แอกงอนอ่อนระหงธงชาย | กูบท้ายรายดวงทับทิมแดง |
เสาซุ้มทรงมันสุวรรณแวว | ฉลุแก้วทุกชั้นบันแถลง |
เทียมด้วยสีหราชเริงแรง | สารถีกวัดแกว่งธนูชัย |
เคยขี่ข้ามเขายุคุนธร | เขจรขับแข่งแขไข |
เครื่องสูงบังแสงอโณทัย | ระบายฉัตรพัดโบกโอฬาร |
เสียงฆ้องกลองประโคมอึงมี่ | ดนตรีแตรสังข์กระทั่งขาน |
เดินโดยพยุหบาตราการ | พลหาญโห่ร้องก้องมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงเชิงเขาอากาศ | เดียรดาษด้วยพรรณบุปผา |
จึ่งให้หยุดพหลโยธา | แล้วบัญชาสั่งเสนี |
ให้ล้อมวงรักษาตรวจกระเวน | เกณฑ์รายรอบเชิงคีรีศรี |
กว่าจะครบเจ็ดราตรี | โดยในพิธีบังคับไว้ |
ระวังดูหมู่หมีทั้งหลาย | อย่าให้กล้ำกรายเข้ามาได้ |
ผลัดกันนั่งยามตามไฟ | นายไพร่อย่าเห็นแก่หลับนอน |
สั่งแล้วก็ทรงนาคบาศ | องอาจดั่งพญาไกรสร |
ลงจากรถแก้วอลงกรณ์ | บทจรยังยอดบรรพต ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
๏ แลเห็นต้นไม้โรทัน | ใบนั้นมีนํ้าไหลหยด |
หอมกลิ่นรวยรื่นโอชารส | กำหนดแสนอ้อมคณนา |
มีโพรงเป็นปล่องช่องชั้น | เทวัญพิทักษ์รักษา |
ยอดเขามีท่อธารา | โปรยปรายลงมาเป็นละออง |
ภูตพรายกระหึ่มครึมคราง | ปัดรังควานโขมดกู่ก้อง |
เยือกเย็นทุกเส้นขนพอง | จักจั่นเรื่อยร้องวังเวงใจ |
อสุราจึ่งทำอำนาจ | กระทืบบาทสนั่นหวั่นไหว |
บรรดาภูตผีให้หนีไป | แล้วเข้าในโพรงไม้โรทัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
ชมตลาด
๏ จึ่งจุดธูปเทียนขึ้นมัสการ | องค์บรมพรหมานรังสรรค์ |
นั่งสมาธิถือศรบังคมคัล | กุมภัณฑ์หลับเนตรภาวนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
ร่าย
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงฝูงนาคินทร์พิษกล้า |
ซึ่งอยู่ในอากาศบรรพตา | ต้องเวทวิทยาอินทรชิต |
ให้ร้อนรนสกนธ์อินทรีย์ | ดั่งอัคคีสุมทรวงดวงจิต |
ต่างตนสุดทนสุดคิด | บรรดาที่มีฤทธิ์ก็ขึ้นไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงพญาอสุรี | นาคีคายพิษลงให้ |
ที่ในนาคบาศศรชัย | ด้วยเกรงฤทธิไกรกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ คุกพาทย์
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ครั้นแสงทองส่องฟ้าพรายพรรณ | สุริยันเยี่ยมยอดคีรี |
ไก่แก้วสกุณารํ่าร้อง | สำเนียงกึกก้องอึงมี่ |
ชาวประโคมก็ประโคมดนตรี | อสุรีตื่นจากนิทรา |
เข้าที่ชำระสระสรง | แต่องค์พญายักษา |
กรายกรนวยนาดยาตรา | เสด็จมาออกท้องพระโรงชัย ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งนั่งเหนืออาสน์ | พร้อมเสนามาตย์น้อยใหญ่ |
จึ่งมีบัญชาตรัสไป | เหวยไวยวาสูรอสุรี |
จงรีบไปเมืองโรมคัล | หามังกรกัณฐ์ยักษี |
หลานกูผู้ร่วมชีวี | มายังธานีลงกา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งไวยวาสูรยักษา |
รับสั่งพญาอสุรา | ถวายบังคมลาแล้วรีบไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงนครโรมคัล | กุมภัณฑ์ผู้มีอัชฌาสัย |
ขึ้นเฝ้าพระองค์ทรงฤทธิไกร | ยังในพระโรงรูจี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ น้อมเศียรประณตบทบงสุ์ | องค์มังกรกัณฐ์ยักษี |
หมอบอยู่ตรงพักตร์อสุรี | ในที่ท่ามกลางเสนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ร่าย
๏ เมื่อนั้น | พญามังกรกัณฐ์ยักษา |
เห็นไวยวาสูรเข้ามา | จึ่งมีบัญชาถามไป |
อันพระบิตุลาฤทธิรอน | ยังถาวรเป็นสุขหรือไฉน |
มีเหตุเภทพาลประการใด | จึ่งใช้ให้ตัวท่านมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งไวยวาสูรยักษา |
ก้มเกล้าสนองพระบัญชา | ว่าลงกานั้นเกิดปัจจามิตร |
พระองค์มงกุฎเมืองมาร | จึ่งมีโองการประกาศิต |
ให้ข้ามาเชิญพระทรงฤทธิ์ | ไปคิดล้างพวกไพรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พญามังกรกัณฐ์ยักษี |
ได้ฟังคั่งแค้นแสนทวี | โกรธาดั่งอัคคีไหม้ฟ้า |
ดูดู๋มนุษย์เท่าแมลงวัน | โมหันธ์ฮึกฮักอวดกล้า |
ล่วงลามข้ามมาถึงลงกา | ไม่รู้ว่าจะม้วยบรรลัย |
ว่าแล้วจึ่งมีบรรหาร | สั่งเสนามารผู้ใหญ่ |
เร่งเกณฑ์รี้พลสกลไกร | กูจะไปสังหารไพรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | วิรุณจักรยักษี |
รับสั่งแล้วถวายอัญชุลี | ออกมาจากที่พระโรงคัล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
ยานี
๏ เกณฑ์หมู่พลมารชำนาญศึก | เลือกล้วนห้าวฮึกแข็งขัน |
ใส่เกราะสอดเสื้อสีจันทร์ | กรกุมเกาทัณฑ์ลูกพิษ |
กองหนึ่งใส่เสื้อดอกคำ | เกราะครํ่ากรกุมกระบองบิด |
หมู่หนึ่งเกราะทองชวลิต | เสื้อเขียวติดขลิบถือหอกซัด |
หมู่หนึ่งล้วนถือทองปราย | เกราะเงินเสื้อลายยืนหยัด |
หมู่หนึ่งเสื้อแดงเกราะเหล็กรัด | ถือง้าวแกว่งกวัดลำพอง |
หมู่หนึ่งเกราะนาคเสื้อดำ | ถือทวนกรายรำเคล่าคล่อง |
เตรียมทั้งรถแก้วกุดั่นทอง | ตั้งกองคอยเสด็จอสุรี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พญามังกรกัณฐ์ยักษี |
ครั้นรุ่งสางสว่างราตรี | จรลีไปสรงสาคร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ไขทิพย์สุหร่ายสายสินธุ์ | สุคนธาธารกลิ่นเกสร |
ทรงสอดสนับเพลาเชิงงอน | เป็นมังกรรัดกระหวัดชงฆ์ |
ภูษาโขมพัสตร์พื้นม่วง | ฉลุดวงแย่งยกกระหนกหงส์ |
ชายแครงชายไหวฉลององค์ | เกราะเกล็ดภุชงค์ประดับพลอย |
ทับทรวงตาบทิศเพชรแพร้ว | แสงสังวาลแววดั่งหิ่งห้อย |
ทองกรแก้วปรุฉลุลอย | ธำมรงค์เพชรพร้อยอรชร |
ทรงมหามงกุฎดอกไม้ทัด | กรรเจียกจำรัสประภัสสร |
พระหัตถ์จับศิลป์ฤทธิรอน | บทจรไปขึ้นพิชัยรถ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ รถเอยราชรถแก้ว | กำวงกงแววด้วยมรกต |
แอกงามเอี่ยมงอนอ่อนชด | ชั้นลดช่อลอยบราลี |
เทียมสัตว์เทียมใส่มังกรกาจ | เผ่นผงกยกผงาดดั่งไกรศรี |
สองพันสรรพื้นแต่ตัวดี | สารถีสำทับขับจร |
เครื่องสูงครบสิ่งกรรชิงรัตน์ | แถวฉัตรธงชายปลายสลอน |
ปี่เรื่อยเป่ารับแตรงอน | อัมพรอับพื้นโพยมบน |
กงลั่นกำเลื่อนสะเทือนก้อง | ทหารเร้าโห่ร้องกุลาหล |
พาชีพวกช้างอึงอล | ขับพลข้ามพื้นสมุทรไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราว
๏ มาถึงลงการาชฐาน | จึ่งให้หยุดทวยหาญน้อยใหญ่ |
เสด็จลงจากราชรถชัย | เข้าในพระโรงรัตนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงถวายอภิวาทน์ | พระบิตุลาธิราชยักษา |
ตามที่ตำแหน่งพระนัดดา | กลางหมู่มาตยากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ครั้นเห็นพญามังกรกัณฐ์ | หลานขวัญมาถึงก็ยินดี |
ลูบหลังแล้วกล่าวสุนทร | ดูก่อนนัดดาเรืองศรี |
ซึ่งลุงให้หาเจ้ามานี้ | ด้วยมีไพรีมาบีฑา |
คือว่าลักษมณ์รามพี่น้อง | มันเที่ยวท่องสัญจรอยู่ในป่า |
ฆ่าพ่ออาเจ้ามรณา | อหังการ์ว่ามีฤทธิรุทร |
บัดนี้ได้พวกพลากร | วานรเจ็ดสิบเจ็ดสมุทร |
จองถนนข้ามชลมาต่อยุทธ์ | รบกันไม่หยุดแต่สักวัน |
กุมภกรรณลุงเจ้ายกไป | ชิงชัยสิ้นชีพอาสัญ |
แล้วอินทรชิตออกไปโรมรัน | หักมันไม่ได้ด้วยฤทธี |
บัดนี้ไปชุบนาคบาศ | ยังยอดอากาศคีรีศรี |
กำหนดถึงเจ็ดราตรี | พิธีจะเสร็จดั่งจินดา |
ลุงจะให้ออกไปขัดทัพ | ตั้งรับลงไว้คอยท่า |
กว่าพี่ของเจ้าจะกลับมา | จึ่งช่วยกันเข่นฆ่าพวกพาล ฯ |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายมังกรกัณฐ์ใจหาญ |
ฟังพระบิตุลาบัญชาการ | กราบกับบทมาลย์แล้วทูลไป |
อันลักษมณ์รามพี่น้องซึ่งดูแคลน | แสนแค้นปิ้มเลือดตาไหล |
จักใคร่ฆ่ามันให้บรรลัย | ก็ยังไม่สมอารมณ์คิด |
ซึ่งพระองค์จะให้ไปราวี | ยินดีดั่งได้ดุสิต |
อันพวกพาลาปัจจามิตร | ถึงมีฤทธิ์ก็ไม่เกรงมัน |
หลานขออาสาไปราญรอน | ล้างมนุษย์วานรให้อาสัญ |
พระองค์มงกุฎกุมภัณฑ์ | อย่าหวาดหวั่นใต้เบื้องบาทา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระพงศ์พรหมธิราชยักษา |
ได้ฟังหลานรักก็ปรีดา | จึ่งมีบัญชาตอบไป |
มิเสียแรงเจ้าเกิดร่วมพงศ์ | สุริย์วงศ์พรหเมศสูงใหญ่ |
เชี่ยวชาญในการศรชัย | ฤทธิไกรเลิศลบธาตรี |
ตรัสแล้วจึ่งมีพจนารถ | สั่งมหาอำมาตย์ยักษี |
ให้แต่งโภชนาสาลี | เลี้ยงพลโยธีพระนัดดา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งเปาวนาสูรยักษา |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | บังคมลาแล้วรีบออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งสั่งชาววังให้หมายบอก | วิเสทในนอกน้อยใหญ่ |
ให้แต่งเครื่องถวายภูวไนย | เลี้ยงทั้งไพร่พลกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | ฝ่ายนางวิเสทตัวขยัน |
แจ้งหมายจ่ายของครบครัน | แล้วเกณฑ์กันทำตามพนักงาน |
ฝ่ายวิเสทในก็จัดแจง | แต่งทั้งของคาวของหวาน |
กับแกล้มเมรัยชัยบาน | เทียบทานแต่ล้วนโอชา |
เสร็จแล้วให้นางอสุรี | อันมีศุภลักษณ์เสน่หา |
ยกเครื่องเนื่องตามกันมา | ถวายองค์พญากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
จึ่งตรัสชวนมังกรกัณฐ์ | หลานขวัญเสวยชัยบาน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
ชมตลาด
๏ บัดนั้น | นางกำนัลเยาวยอดสงสาร |
แต่งองค์ทรงเครื่องสะคราญ | กรานหมอบนอบน้อมอัญชุลี |
ลางนางก็รินสุรา | ถวายองค์พญายักษี |
บ้างเข้าโบกปัดพัดวี | ตามที่ตำแหน่งพนักงาน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เซ่นเหล้า
มะหลิ่ม
๏ ฝ่ายนางบำเรอก็ครวญขับ | ร้องรับรี่เรื่อยเฉื่อยฉาน |
โหยหวนโอดพันบรรเลงลาน | ฉิ่งกรับประสานจังหวะกัน |
รำมะนาท้าทับสลับเสียง | สำเนียงดั่งหนึ่งเพลงสวรรค์ |
กระจับปี่สีซอนี่นัน | บำเรอกุมภัณฑ์ผู้ทรงฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
พระทอง
๏ ฝ่ายนางระบำก็รำฟ้อน | ทอดกรเยื้องกรายเบี่ยงบิด |
ร่ายเรียงเคียงเข้ามาให้ชิด | ใส่จริตชม้ายชายตา |
แล้วตีวงเวียนตามกัน | กลับผันเป็นแป้งผัดหน้า |
แทรกเปลี่ยนขวักไขว่ไปมา | ย้ายท่าเป็นช้าน้องนอน |
แล้วซัดสองกรอ่อนละไม | ย้ายมาพิสมัยเรียงหมอน |
แกล้งประดิษฐ์บิดท่ากระบวนงอน | บำเรอเจ้านครลงกา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เพลง
๏ บัดนั้น | ฝ่ายวิเสทนอกถ้วนหน้า |
เสร็จแต่งเครื่องเลี้ยงโยธา | ยกเนื่องออกมาตามกัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ชุบ
๏ ตั้งไว้เป็นหมวดเป็นเหล่า | ทั้งไหเหล้าช้างปิ้งกระทิงหัน |
ของหวานของคาวครบครัน | เลี้ยงหมู่กุมภัณฑ์โยธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | พลมังกรกัณฐ์ยักษี |
นั่งพร้อมล้อมกินเป็นโกลี | รินเหล้าทำทีวุ่นไป |
เมามายพูดโป้งโฉงเฉง | เต้นรำทำเพลงปรบไก่ |
หยอกนางวิเสทคนใช้ | คว้าไขว่ด้วยใจปรีดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เซ่นเหล้า
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายมังกรกัณฐ์ยักษา |
เสวยพลางทางทอดทัศนา | ดูนางกัลยาระบำบัน |
เป็นที่เพลิดเพลินจำเริญรัก | พญายักษ์ปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
เสร็จแล้วถวายบังคมคัล | พระทรงธรรม์ธิราชกรุงมาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรใจหาญ |
ลูบหลังแล้วมีบัญชาการ | หลานรักของลุงผู้ดวงใจ |
อันซึ่งมนุษย์แลวานร | อย่าให้ต่อกรเจ้าได้ |
พ่อจงศรีสวัสดิ์มีชัย | ดั่งพรลุงให้นัดดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | จึ่งมังกรกัณฐ์ใจกล้า |
รับพรถวายบังคมลา | มาที่ประทับอสุรินทร์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ จึ่งชำระองค์สรงสนาน | สุคนธารเกสรขจรกลิ่น |
สนับเพลาเครือก้านสุบรรณบิน | ภูษารูปกินรีรำ |
ชายแครงชายไหวลายขด | ทรงเกราะมรกตเขียวขำ |
ทับทรวงดวงบุษราคัม | ประจำยามตาบทิศทับทิมพราย |
เฟื่องห้อยพลอยแก้วมุกดาหาร | ทรงสังวาลศึกสามสาย |
พาหุรัดทองกรมังกรกลาย | ธำมรงค์เพชรพรายอรชร |
ทรงมหามงกุฎเนาวรัตน์ | พระหัตถ์นั้นจับธนูศร |
ดั่งองค์เวสสุวัณฤทธิรอน | บทจรไปขึ้นพิชัยรถ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ รถเอยรถแก้ว | กำกงล้วนแล้วด้วยมรกต |
แอกงอนอ่อนงามช้อยชด | เครือขดภาพคั่นบัลลังก์ลอย |
ยอดเยี่ยมเทียมแทงโพยมหน | บันบนบุษบกกระหนกห้อย |
ทวยทองรองรับประดับพลอย | ช่อฟ้าชดช้อยอรชร |
ตรวจเตรียมเทียมด้วยมังกรกาจ | สองพันเพียงราชไกรสร |
สารถีมือถือโตมร | กวัดแกว่งขับจรดั่งลมพัด |
เครื่องสูงคู่เคียงเรียงริ้ว | ธงชายปลายปลิวโบกสะบัด |
แถวทวนกระบวนเบียดเยียดยัด | ขนัดฆ้องกลองประโคมโครมครึก |
เสียงช้างร้องก้องโกญจนาท | เสียงอัศวราชลำพองศึก |
ทวยหาญโห่สนั่นพันลึก | ขับกันคึกคึกรีบไป ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงให้หยุดจัตุรงค์ | ตั้งลงแทบเชิงเขาใหญ่ |
เป็นกระบวนพยุหทัพชัย | มั่นไว้คอยพวกไพรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
ช้า
๏ เมื่อนั้น | พระอวตารทรงสวัสดิ์รัศมี |
เข้าที่ไสยาในราตรี | ภูมีถวิลจินดา |
โดยการกระบวนรณรงค์ | ที่จะล้างโคตรวงศ์ยักษา |
มิได้สนิทนิทรา | จนล่วงเวลาปัจฉิมยาม |
ดาวเดือนเลื่อนลับสัตภัณฑ์ | สุริยันจวนแจ้งแสงอร่าม |
เบิกอรุณเรื่อเรืองประเทืองงาม | ประโคมยามเป็นเพลงถวายพร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ จึ่งเสด็จจากที่ไสยาสน์ | บัลลังก์อาสน์ทิพรัตน์ประภัสสร |
สระสรงทรงเครื่องอลงกรณ์ | บทจรออกหน้าพลับพลาชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ พร้อมหมู่ทหารชาญณรงค์ | สุริย์วงศ์วานรน้อยใหญ่ |
พอได้ยินสำเนียงเกรียงไกร | ภูวไนยจึ่งมีโองการ |
ดูกรพิเภกกุมภัณฑ์ | วันนี้ใครยกทวยหาญ |
ออกมาต่อกรรอนราญ | เสียงสะเทือนสะท้านธรณี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษี |
พิเคราะห์ดูโดยยามนาที | อสุรีก็แจ้งด้วยปรีชา |
จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมทูล | นเรนทร์สูรปิ่นภพนาถา |
อันทัพที่ยกออกมา | คืออสุรามังกรกัณฐ์ |
เพื่อนนั้นเป็นบุตรพญาขร | ศิลป์ศรยิ่งยวดกวดขัน |
อยู่ยังบุรีโรมคัล | หลานทศกัณฐ์อสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์เรืองศรี |
ได้ฟังพิเภกพาที | จึ่งมีบัญชาถามไป |
ตัวมันชำนาญในการศร | ฤทธิรอนไม่มีใครเปรียบได้ |
เราจะให้ทหารผู้ใด | ยกออกชิงชัยอสุรา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษา |
น้อมเศียรสนองพระบัญชา | อันซึ่งโยธาวานร |
ไม่เห็นผู้ใดจะโรมรัน | ประจัญด้วยลูกพญาขร |
ขอเชิญเสด็จพระสี่กร | ออกไปราญรอนขุนมาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังพิเภกโหราจารย์ | ผ่านฟ้าสั่งลูกพระสุริยัน |
จงเตรียมโยธาวานร | ฤทธิรอนเหี้ยมแหงแข็งขัน |
จะยกออกไปโรมรัน | ล้างมังกรกัณฐ์อสุรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพกระบี่ศรี |
รับสั่งสมเด็จพระจักรี | ถวายอัญชุลีแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
ยานี
๏ จัดเป็นเสนาพยุหบาตร | นิลราชเป็นปากปักษา |
นิลเอกนิลขันเป็นสองตา | วายุบุตรเป็นเศียรสกุณี |
มหัทวิกันเป็นลิ้น | นิลนนท์เป็นคอปักษี |
สองปีกกางป้องโยธี | วาหุโรมกระบี่ชมพูพาน |
อันซึ่งเท้าซ้ายเท้าขวา | ปิงคลามาลุนสองทหาร |
กองหลวงเป็นตัวเหยี่ยวการ | หลานอินทร์เป็นหางต้อนพล |
อันหมู่เตียวเพชรจังเกียง | รายเรียงสลับเป็นเล็บขน |
สุครีพพิเภกสองตน | รองบาทยุคลพระสี่กร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระรามสุริย์วงศ์ทรงศร |
กับพระอนุชาฤทธิรอน | บทจรไปสรงชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ สองกษัตริย์สระสนานสำราญองค์ | สุคนธ์ทิพย์กลิ่นส่งหอมหวาน |
สนับเพลาคู่ทรงมัฆวาน | เชิงงอนแก้วกาญจน์กระหนกเวียน |
ภูษาพื้นม่วงเครือมาศ | เป็นรูปนาคราชเจ็ดเศียร |
ชายไหวรายพลอยแก้ววิเชียร | ชายแครงเครือเขียนฉลุดวง |
ฉลององค์ตาบทิศเฟื่องแก้ว | สังวาลแววมรกตรุ้งร่วง |
ทับทิมทิพย์ประดับทับทรวง | พาหุรัดโชติช่วงทองกร |
ต่างทรงธำมรงค์เรือนครุฑ | ทรงมงกุฎจำรัสประภัสสร |
พระหัตถ์จับศิลป์ฤทธิรอน | บทจรขึ้นรถเทวัญ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ บาทสกุณี
โทน
๏ รถเอยราชรถทรง | ขององค์เจ้าตรัยตรึงศ์สวรรค์ |
ดุมวงกงแก้วกระหนกบัน | ประดับชั้นช่อห้อยพลอยเพชร |
แท่นท้ายลายเทพประนมกร | อรชรทุกชั้นบัลลังก์เก็จ |
พนักล้วนลายกาบกระหนาบเม็ด | มุขเด็จล้วนดวงมณีพราย |
เทียมด้วยสินธพเทเวศร์ | กำลังเดชเพียงพลิกแผ่นดินหงาย |
มาตุลีขับม้ากรีดกราย | น้องนารายณ์นั่งหน้าประนมกร |
ประดับเครื่องบังสูรย์มยุรฉัตร | พัดโบกบังแทรกธงสลอน |
เสียงฆ้องกลองชนะแตรงอน | อัสดรเริงร้องคะนองชัย |
สำเนียงเสียงโห่พลหาญ | ดินฟ้าจักรวาลสะท้านไหว |
ผงคลีมืดคลุ้มชอุ่มไป | เร่งรีบพลไกรยาตรา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ กราวนอก
๏ ครั้นมาถึงที่รณรงค์ | พระภุชพงศ์เห็นพวกยักษา |
จึ่งให้หยุดพหลโยธา | อยู่ตรงหน้าทัพอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญามังกรกัณฐ์ยักษี |
เสด็จเหนือรถแก้วมณี | อยู่กลางโยธีกุมภัณฑ์ |
เห็นมนุษย์ยกทัพมาแต่ไกล | พลไกรเพียงหนึ่งแผ่นดินลั่น |
หมายเขม้นเข่นฆ่าโรมรัน | ให้แยกพลขันธ์เป็นปีกกา |
แล้วมีพระราชบรรหาร | สั่งโลทันมารยักษา |
ให้ขับรถแก้วแววฟ้า | ฝ่าหมู่โยธาขึ้นไป ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ จึ่งร้องว่าเหวยมนุษย์ | เอ็งมีฤทธิรุทรเป็นไฉน |
อหังการ์อาจองทะนงใจ | มาชิงชัยกับหมู่อสุรี |
ตัวเราอยู่กรุงโรมคัล | ชื่อมังกรกัณฐ์ยักษี |
ทรงเดชเดชาราวี | ตรีโลกก็เกรงฤทธา |
วันนี้ตัวเอ็งจะบรรลัย | ด้วยศรชัยของกูผู้แกล้วกล้า |
อันจะรอดคืนไปอย่าสงกา | ทั้งพวกสวาวานร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์ทรงศร |
ได้ฟังหลานท้าวยี่สิบกร | ภูธรมีราชโองการ |
เหวยมังกรกัณฐ์ขุนยักษ์ | อย่าฮึกฮักอ้างอวดกำลังหาญ |
แต่พ่อของเอ็งมารอนราญ | ยังไม่ต้านทานมือกู |
ตัวมึงมีฤทธิ์สักเพียงไร | จึ่งอาจใจออกมาต่อสู้ |
หัวจะขาดปลิวไปไม่ทันรู้ | มึงอย่าดูหมิ่นเจรจา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญามังกรกัณฐ์ยักษา |
ได้ฟังกริ้วโกรธโกรธา | สองตาดั่งแสงอโณทัย |
ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันกระทืบบาท | พสุธากัมปนาทหวาดไหว |
ให้ขับพหลพลไกร | เข้าไล่ถาโถมโจมตี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | นายกองทัพหน้ายักษี |
รับสั่งพญาอสุรี | แล้วขับโยธีเข้าราญรอน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ หมู่มารก็วิ่งเข้าฟันแทง | แย้งยิงปืนไฟธนูศร |
พุ่งซัดแหลนหลาวโตมร | ตะลุมบอนหักโหมโรมรัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพลวานรแข็งขัน |
รับรองป้องปัดกุมภัณฑ์ | ดากันเข้าโรมโจมตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บ้างหักเอวหักคอหักเข่า | ฉีกแขนฉีกเท้ายักษี |
ขบกัดฟัดฟาดเป็นโกลี | อสุรีตายกลาดดาษดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่อสุรศักดิ์ยักษา |
ยิ่งตายยิ่งหนุนกันเข้ามา | ตีพวกโยธากระบี่ไพร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ พุ่งซัดอาวุธเป็นห่าฝน | ต่างตนต่างหนีต่างไล่ |
เสียงปืนเสียงโห่สนั่นไป | พลไกรไม่คิดชีวี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่โยธากระบี่ศรี |
ต่างตนยืนยันประจัญตี | คลุกคลีรบชิดติดพัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ หวดซ้ายป่ายขวาอุตลุด | ด้วยฤทธิรุทรแข็งขัน |
เป็นหมู่หมู่เหล่าเหล่าเข้าบุกบัน | กุมภัณฑ์ตายแตกไม่สมประดี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พญามังกรกัณฐ์ยักษี |
เห็นวานรรอนราญอสุรี | บ้างตายบ้างหนีกระจายไป |
พระกรกวัดแกว่งศรสาตร์ | ร้องตวาดเพียงพื้นแผ่นดินไหว |
ให้โลทันขับราชรถชัย | เข้าลุยไล่กลางพลวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ หักหาญราญรุกบุกตี | กระบี่ตายยับด้วยคันศร |
เกลื่อนกลาดดาษพื้นดินดอน | ด้วยฤทธิรอนกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระทรงครุฑภุชพงศ์รังสรรค์ |
ครั้นเห็นพญามังกรกัณฐ์ | ตีพวกพลขันธ์เข้ามา |
วานรล้มตายอกนิษฐ์ | ด้วยกำลังฤทธิ์ยักษา |
จึ่งจับอัคนิวาตอันศักดา | พาดสายเงื้อง่าแล้วแผลงไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ สำเนียงดั่งเสียงฟ้าฟาด | โลกธาตุสนั่นหวั่นไหว |
ต้องหมู่พหลพลไกร | บรรลัยเกลื่อนกลาดดาษดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญามังกรกัณฐ์ยักษา |
เห็นมนุษย์นั้นแผลงศรมา | โยธาตายยับนับพัน |
จึ่งจับจักรแก้วฤทธิรงค์ | ขององค์พรหเมศรังสรรค์ |
กวัดแกว่งดั่งแสงเพลิงกัลป์ | กุมภัณฑ์ขว้างไปด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ โชติช่วงดั่งดวงทินกร | ต้องพลวานรกระบี่ศรี |
หัวขาดตีนขาดไม่สมประดี | ล้มก่ายกับที่สุธาธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภพลบโลกทุกสถาน |
เห็นยักษ์ขว้างจักรมารอนราญ | ต้องพลทวยหาญวานร |
ตายยับทับกันนับสมุทร | พระจักรภุชก็ทรงพระแสงศร |
อันชื่อพลายวาตฤทธิรอน | ภูธรผาดแผลงไปด้วยฤทธิ์ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ต้องจักรขุนมารละเอียดลง | ด้วยกำลังศรทรงพระจักรกฤษณ์ |
แล้วต้องโยธาปัจจามิตร | ตายยับอกนิษฐ์ก่ายกอง |
บรรดาวานรที่ล้มตาย | ครั้นว่าพระพายพัดต้อง |
ก็เป็นขึ้นโลดโผนโจนคะนอง | โห่ร้องเยาะเย้ยขุนมาร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พญามังกรกัณฐ์ใจหาญ |
กริ้วโกรธพิโรธดั่งไฟกาล | ขุนมารก็แผลงศรไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ต้ององค์พระรามสุริย์วงศ์ | ตัดเกราะแก้วทรงเข้าไปได้ |
พอกระทั่งมังสาภูวไนย | ก็กลับไปลอยอยู่ยังเมฆา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระภุชพงศ์องค์นารายณ์นาถา |
เห็นศรยักษีมีฤทธา | ผ่านฟ้านิ่งนึกตรึกไป |
อันมังกรกัณฐ์นี้สามารถ | ยิงเกราะกูขาดเข้ามาได้ |
นับว่าเป็นชายชาญชัย | ยิ่งในสุริย์วงศ์พงศ์ยักษ์ |
ครั้งเมื่อพญาขรรณรงค์ | ก็ยิงคันธนูทรงกูหัก |
พ่อลูกประเสริฐเลิศนัก | ศรศักดิ์ไม่มีใครเทียมทัน |
คิดพลางก็ขึ้นธนูศิลป์ | ฟ้าดินสะเทือนเลื่อนลั่น |
พระกรชักศรพาลจันทร์ | พาดสายหมายมั่นแล้วแผลงไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ต้องศรมังกรกัณฐ์มาร | แหลกลาญไม่ทนกำลังได้ |
พวกพลกุมภัณฑ์ก็บรรลัย | สิ้นทั้งรถชัยอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญามังกรกัณฐ์ยักษี |
สิ้นรถสิ้นทศโยธี | สิ้นทั้งสารถีโลทัน |
ผู้เดียวไม่มีใครเป็นเพื่อน | พักตร์เฝื่อนความกลัวตัวสั่น |
สุดคิดสุดฤทธิ์จะโรมรัน | กุมภัณฑ์ถวิลจินดา |
ชิชะมนุษย์กระจิริด | ศรสิทธิ์ของมันแกล้วกล้า |
ทั้งหมู่วานรโยธา | กูฆ่าไม่ม้วยบรรลัย |
มาตรแม้นจะกลับเข้าราญรอน | ไหนจะรอต่อกรมันได้ |
คิดแล้วก็เหาะขึ้นไป | ยังในกลีบเมฆด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ยอกรประนมเหนือเกศ | ไหว้คุณพรหเมศเรืองศรี |
อ่านเวทสำรวมอินทรีย์ | อสุรีนิมิตกายา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ เกิดเป็นกุมภัณฑ์ฤทธิรงค์ | เหมือนองค์พญายักษา |
เกลื่อนกลาดดาษไปในท้องฟ้า | ด้วยศักดาเดชขุนมาร |
แล้วบันดาลห่าฝนถ่านเพลิง | เถกิงรุ่งแรงแสงฉาน |
ตกลงยังพื้นสุธาธาร | ร้อนดั่งหนึ่งกาลอัคคี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์เรืองศรี |
เห็นมังกรกัณฐ์อสุรี | ไม่ต่อตีหายไปกับตา |
แต่ถ่านเพลิงตกเต็มสุธาธาร | ชัชวาลร้อนแรงแสงกล้า |
ให้ฉงนสนเท่ห์ในวิญญาณ | จึ่งมีบัญชาถามไป |
ดูก่อนพิเภกกุมภัณฑ์ | อันมังกรกัณฐ์นั้นไปไหน |
ห่าฝนตกลงเป็นถ่านไฟ | ด้วยเหตุอันใดอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษี |
ได้ฟังพจนารถพระจักรี | ชุลีกรสนองพระบัญชา |
อันซึ่งพญามังกรกัณฐ์ | มันหนีขึ้นยังเวหา |
ซ่อนกายแอบกลีบเมฆา | ร่ายเวทวิทยาเชี่ยวชาญ |
ให้เป็นห่าฝนถ่านเพลิง | สีเถกิงร้อนแรงแสงฉาน |
หวังจะฆ่าวานรให้วายปราณ | ด้วยเวทขุนมารผู้ฤทธี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระอวตารทรงสวัสดิ์รัศมี |
ได้ฟังพิเภกอสุรี | ภูมีทอดทัศนาไป |
เห็นรูปอสุราในอากาศ | เหมือนกันเกลื่อนกลาดไม่นับได้ |
มิรู้ที่จะแผลงศรชัย | ว่าตนใดเป็นมังกรกัณฐ์ |
แต่พาดสายหมายมุ่งเป็นหลายที | พระจักรีไม่รู้แห่งลั่น |
จึ่งถามพิเภกกุมภัณฑ์ | จะสำคัญยักษาตนใด ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พิเภกผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังบรรหารพระภูวไนย | ก็ทูลไปด้วยไวปัญญา |
ขอพระองค์จงสั่งพรหมาสตร์ | ให้ตรงไปพิฆาตยักษา |
แม้นมังกรกัณฐ์มรณา | จะหายรูปมายาพร้อมกัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระนารายณ์สุริย์วงศ์รังสรรค์ |
ได้ฟังพิเภกกุมภัณฑ์ | ทรงธรรม์จึ่งสั่งศรชัย |
เสร็จแล้วพาดสายเงื้อง่า | งามสง่าไม่มีที่เปรียบได้ |
น้าวหน่วงด้วยกำลังว่องไว | ก็ผาดแผลงไปด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เสียงสนั่นครั่นครื้นอากาศ | วิมานมาศสะเทือนทุกราศี |
ตรงไปตามสั่งพระจักรี | ต้องอสุรีมังกรกัณฐ์ |
เศียรขาดกระเด็นจากกาย | ด้วยฤทธิ์พระนารายณ์รังสรรค์ |
ตกลงสุดสิ้นชีวัน | รูปมายานั้นก็หายไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ยานี
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายฝูงเทวาน้อยใหญ่ |
ทั้งหมู่นางฟ้าสุราลัย | เห็นพระทรงชัยสี่กร |
สังหารพญามังกรกัณฐ์ | สุดสิ้นชีวันด้วยแสงศร |
ต่างองค์ปรีดาสถาวร | เผยบัญชรแก้วทุกวิมาน |
เยี่ยมพักตร์สำรวลสรวลร่า | พร้อมหน้าตบหัตถ์ฉัดฉาน |
โปรยดอกไม้ทิพย์อันโอฬาร | หอมหวานตลบอบอาย |
หมู่นางอัปสรก็ดีดสี | ดุริยางค์ดนตรีประสานสาย |
อวยชัยให้พรพระนารายณ์ | ยอกรถวายบังคมคัล ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ สาธุการ