- คำนำ
- คำอธิบาย
- เนื้อเรื่องย่อ
- สมุดไทยเล่มที่ ๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๒๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๓๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๔๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๕๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๖๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๗๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๘๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๙๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๗
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๘
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๐๙
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๐
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๑
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๒
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๓
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๔
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๕
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๖
- สมุดไทยเล่มที่ ๑๑๗
สมุดไทยเล่มที่ ๔๗
๏ บัดนั้น | หลานอินทร์ผู้มีอัชฌาสัย |
ได้ฟังบัญชาพระภูวไนย | ยินดีดั่งได้โสฬส |
ยอกรถวายอภิวาทน์ | กราบลงแทบบาทบงกช |
ท่ามกลางเสนีมียศ | กำหนดรับสั่งแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นพ้นหน้าฉานพระสี่กร | สำแดงฤทธิรอนแกล้วกล้า |
ถีบทะยานผ่านขึ้นเมฆา | ตรงมาสมรภูมิชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ แลเห็นกุมภกรรณยักษี | ยืนรถมณีเป็นนายใหญ่ |
ขุนกระบี่ก็ตรงลงไป | ที่ในท่ามกลางพลมาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ผาดแผลงฤทธิรงค์องอาจ | ดั่งพญาสีหราชตัวหาญ |
ม้วนหางเป็นแท่นอลงการ | สูงตระหง่านเทียมรถอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ตระ
๏ แล้วกล่าววาจาอันสุนทร | ดูกรกุมภกรรณยักษี |
บัดนี้สมเด็จพระจักรี | ภูมีตรัสใช้เรามา |
เจรจาด้วยท่านผู้สัปปุรุษ | ให้สิ้นสุดในข้อปริศนา |
พระองค์ผู้ทรงปรีชา | ผ่านฟ้าทราบสิ้นทุกประการ |
ซึ่งพระดำริตริเห็น | ว่าเป็นสำนวนโวหาร |
ท่านแกล้งประดิษฐ์ด้วยปรีชาญ | ก็แจ้งวิตถารแต่โดยใจ |
ไม่เป็นภูมิปริศนาแท้ | แก่ผู้จะคิดแก้ไข |
ข้อความของท่านประการใด | จงว่าไปจะเทียบเปรียบกัน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | น้องท้าวทศเศียรรังสรรค์ |
ได้ฟังหลานท้าวเทวัญ | ตบมือเย้ยหยันแล้วตอบมา |
เหวยเหวยดูกรองคต | มาเลี้ยวลดเคลือบแฝงแต่งว่า |
เราใช่เด็กน้อยพาลา | จะหลงด้วยมารยาลิงไพร |
ที่ไหนเจ้าเอ็งจะล่วงรู้ | แต่ถามกูแล้วจำจะบอกให้ |
อันเจ้าลงกากรุงไกร | นั้นได้แก่ช้างงารี |
มารษาอาธรรม์พ้นนัก | ไปลอบลักพาเมียเขาหนี |
ฝ่ายองค์พระรามสามี | คือชีโฉดชั่วสามานย์ |
เมียรักของตัวผู้เดียว | ทิ้งไว้เปล่าเปลี่ยวในไพรสาณฑ์ |
ครั้นหายเที่ยวหาไม่พบพาน | จนต้องรอนราญวุ่นไป |
หญิงโหดคือสำมนักขา | ชั่วช้าไม่มีที่เปรียบได้ |
ไปเที่ยวเกี้ยวชายไม่อายใจ | จนต้องทุกข์ภัยพันทวี |
อันชายทรชนคนชั่ว | คือตัวพิเภกยักษี |
ไปเข้าด้วยพวกไพรี | มิได้รู้คุณญาติกา |
เอ็งจงไปบอกแก่พระราม | ตามในข้อความของเราว่า |
แล้วให้เร่งยกโยธา | ออกมาสัประยุทธ์ราญรอน ฯ |
ฯ ๑๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ลูกพญาพาลีชาญสมร |
ได้ฟังน้องท้าวยี่สิบกร | วานรสำรวลไปมา |
ตบมือชี้หน้าแล้วร้องเย้ย | ว่าเหวยกุมภกรรณยักษา |
อ้างอวดว่ามีปัญญา | ผูกเป็นปริศนาประสาใจ |
แล้วมาเจรจาลบหลู่ | ดั่งใครหารู้เท่าไม่ |
อันพระหริวงศ์ทรงชัย | มีพระทัยเมตตาปราณี |
จึ่งใช้พิเภกออกมาว่า | หวังประทานชีวายักษี |
ยังกลับอหังการ์พาที | จะต่อตีด้วยองค์พระสี่กร |
สำหรับจะถึงแก่ความตาย | เศียรจะขาดจากกายด้วยแสงศร |
ว่าแล้วสำแดงฤทธิรอน | เหาะขึ้นอัมพรกลับมา ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรบังคมบาท | พระตรีภูวนาถนาถา |
ทูลความตามได้จำนรรจา | ด้วยอสุราแต่เดิมที |
ตัวมันกลับว่าท้าทาย | หยาบคายต่อเบื้องบทศรี |
ให้ยกโยธาไปต่อตี | ขุนกระบี่แจ้งสิ้นทุกประการ |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังหลานท้าวมัฆวาน | ผ่านฟ้าจึ่งมีบัญชา |
ดูกรพิเภกปรีชาไว | อันไอ้กุมภกรรณยักษา |
ว่าตั้งอยู่ในสัจจา | จึ่งมีเมตตาแก่มัน |
รื้อกลับเจรจาท้าทาย | ถ้อยคำหยาบคายด้วยโมหันธ์ |
ผลที่จะม้วยชีวัน | เราจะยกพลขันธ์ไปราวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษี |
จึ่งทูลสนองพระวาที | ซึ่งภูมีจะยกพลากร |
ออกไปทำการชิงชัย | ยังไม่ควรคู่พระองค์ก่อน |
ขอให้พญาพานร | ลูกพระทินกรอันศักดา |
ด้วยเป็นน้องพาลีชาญฉกรรจ์ | ฤทธิ์นั้นเทียบเทียมกับเชษฐา |
ให้ยกพหลโยธา | ออกไปเข่นฆ่าราวี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์เรืองศรี |
ได้ฟังพิเภกอสุรี | เห็นชอบท่วงทีทุกประการ |
จึ่งมีพระราชบัญชา | สั่งพญาสุครีพใจหาญ |
จงยกนิกรไปรอนราญ | ต่อต้านด้วยพญากุมภกรรณ |
ถ้าเห็นกำลังมันหนักนัก | จะหักมิได้จงตั้งมั่น |
ตัวเราจะออกไปโรมรัน | สังหารชีวันอสุรี |
ตรัสแล้วจึ่งมีบรรหาร | สั่งชมพูพานกระบี่ศรี |
จงจัดพหลโยธี | ให้น้องพาลีฤทธิรอน ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | สุครีพชมพูพานชาญสมร |
รับสั่งแล้วถวายชุลีกร | ทั้งสองวานรก็ออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
ยานี
๏ ฝ่ายชมพูพานก็จัดพล | ให้นิลนนท์เป็นกองหน้า |
ปีกซ้ายเกสรทมาลา | ปีกขวาวาหุโรมฤทธี |
เกียกกายนั้นนิลปาสัน | กองขันเอานิลเกศี |
ยกกระบัตรคือสัตพลี | กองหลังกระบี่โคมุท |
พร้อมพรั่งทั้งหน้าพลับพลา | โยธาถ้วนสามสิบสมุทร |
แต่ละตนล้วนมีฤทธิรุทร | กวัดแกว่งอาวุธคือเปลวไฟ |
เป็นเบญจเสนาสิบห้ากอง | ต้องตามกระบวนทัพใหญ่ |
เยียดยัดอัดอึงคะนึงไป | เตรียมไว้คอยลูกพระทินกร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพชาญสมร |
ครั้นพร้อมโยธาวานร | บทจรไปชำระอินทรีย์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ อ่าองค์ทรงเครื่องพิชัยยุทธ์ | สนับเพลาเครือครุฑจำรัสศรี |
ภูษาพื้นดำเชิงนาคี | ผ้าทิพย์รูจีสังวาลวัลย์ |
สร้อยสะอิ้งเนาวรัตน์รุ้งร่วง | ตาบทิศทับทรวงดวงกุดั่น |
พาหุรัดทองกรมังกรพัน | มงกุฎสุวรรณกรรเจียกจร |
ห้อยพวงมาลัยดอกไม้มาศ | องอาจดั่งพญาไกรสร |
จับพระขรรค์เพชรฤทธิรอน | ไปยังนิกรโยธา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ได้ฤกษ์ให้เลิกพลหาญ | โห่สะท้านลั่นเลื่อนสะเทือนป่า |
คลายคลี่พยุหยาตรา | ตรงมาสมรภูมิชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กราวนอก
๏ ครั้นถึงให้หยุดนิกร | โยธาวานรน้อยใหญ่ |
ตามแถวแนวป่าพนาลัย | มั่นไว้ดูกำลังอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พญากุมภกรรณยักษี |
แลไปเห็นน้องพาลี | กรีพลวานรออกมา |
จึ่งพินิจพิศเพ่งเล็งดู | ทุกหมู่โยธีกระบี่ป่า |
แล้วคิดถวิลจินดา | ไอ้นี่สามารถอาจใจ |
ครั้นกูจะเข้าหักหาญ | เห็นจะทานกำลังมันไม่ได้ |
จำจะกล่าวเป็นอุบายไป | ลวงให้มันถอยฤทธี |
ภายหลังจึ่งจะเข้าราญรอน | ต่อกรโจมจับกระบี่ศรี |
เห็นจะได้ง่ายสะดวกดี | ไม่ยากแก่รี้พลโยธา |
คิดแล้วกวัดแกว่งอาวุธ | สำแดงฤทธิรุทรแกล้วกล้า |
ให้ขับรถแก้วอลงการ์ | ตรงมาหน้าทัพวานร ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ ครั้นถึงจึ่งร้องประกาศไป | เหตุใดสุครีพชาญสมร |
พาลีเป็นพี่ร่วมอุทร | คุณดั่งบิดรก็เหมือนกัน |
ไฉนมิได้กตัญญู | กลับเป็นศัตรูด้วยโมหันธ์ |
คบกับลักษมณ์รามอาธรรม์ | ฆ่าพี่ตัวนั้นให้มรณา |
ชิงเอาสมบัติพัสถาน | ศฤงคารบริวารของเชษฐา |
ไม่กลัวเป็นกรรมเวรา | ใครจะนับหน้าว่าตัวดี |
เอ็งยกโยธาพลากร | พวกพลวานรกระบี่ศรี |
ออกมาจะต่อฤทธี | ด้วยกูนี้หรือไอ้อาธรรม์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สุครีพฤทธิแรงแข็งขัน |
ได้ฟังวาจากุมภกรรณ | ตบมือสรวลสันต์แล้วตอบไป |
เหวยเหวยดูกรไอ้ทรลักษณ์ | จะรู้จักเหตุผลก็หาไม่ |
อันพระทรงครุฑวุฒิไกร | ไวกูณฐ์มาเป็นพระรามา |
หวังปราบอสุราสาธารณ์ | ให้สิ้นพวกพาลริษยา |
อันพญาพาลีผู้ศักดา | ได้สาบานแต่ดึกดำบรรพ์ |
ถ้าไม่ตรงต่อกูผู้น้อง | ให้ต้องศรนารายณ์รังสรรค์ |
ครั้งนี้จึ่งม้วยชีวัน | ด้วยเสียสัตย์ธรรม์ก็เป็นไป |
ใช่กูไม่ตรงจะจงผลาญ | ชิงสมบัติพัสถานนั้นหาไม่ |
เอ็งมาเก็บว่าด้วยอันใด | ไอ้ชาติจังไรอัปรีย์ |
ตัวกูยกพวกพลากร | จะมาราญรอนยักษี |
ตัดเอาเศียรเกล้ามึงนี้ | ไปถวายยังที่พลับพลา ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | กุมภกรรณสิทธิศักดิ์ยักษา |
ได้ฟังสุครีพเจรจา | โกรธาขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน |
เหม่เหม่ดูดู๋ไอ้เดียรัจฉาน | อหังการกล่าวคำโมหันธ์ |
อันกูกับมึงนั้นไกลกัน | ที่จะโรมรันประจัญตี |
เห็นฤทธิ์ของเอ็งนั้นน้อยนัก | ดั่งพยัคฆ์กับพญาราชสีห์ |
อดสูแก่หมู่โยธี | เป็นไม่รู้ที่จะชิงชัย |
อันต้นรังในทวีปอุดร | แม้นเอ็งไปถอนเอามาได้ |
จึ่งจะเห็นว่ามีฤทธิไกร | หาไม่มึงอย่าอหังการ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระอาทิตย์ฤทธิ์กล้า |
ไม่ทันรู้กลก็โกรธา | ว่าเหวยกุมภกรรณอสุรี |
อันตัวของเอ็งเป็นน้อง | ร่วมท้องทศพักตร์ยักษี |
แต่พี่มึงยังแพ้ฤทธี | แก่กูผู้มีศักดา |
เมื่อครั้งให้ยกฉัตรแก้ว | เอ็งลืมไปแล้วหรือยักษา |
แต่พระเมรุเอนทรุดลงมา | ก็ยังว่ายกได้ว่องไว |
สาอะไรกับรังในอุดร | กูจะถอนเอามาไม่ได้ |
ว่าแล้วกวัดแกว่งพระขรรค์ชัย | เหาะไปด้วยกำลังฤทธี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เชิด
๏ ลัดนิ้วมือเดียวเร็วรีบ | ถึงทวีปอุดรเฉลิมศรี |
ลงยังพ่างพื้นปัถพี | ใกล้ที่กาลจันทร์บรรพต |
เห็นต้นรังใหญ่ไพศาล | สูงตระหง่านแทบเทียมลมกรด |
ยินดีดั่งได้โสฬส | ก็รีบบทจรเข้าไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เท้ายันบ่ายันมือกระชาก | สะเทือนรากดินลั่นหวั่นไหว |
โยกฉุดด้วยกำลังว่องไว | ก็ถอนขึ้นได้ดั่งจินดา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ขุนกระบี่กวัดแกว่งสำแดงฤทธิ์ | ทศทิศครื้นครั่นดั่งฟ้าผ่า |
ถีบทะยานผ่านขึ้นยังเมฆา | กลับมาไม่ทันนาที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งร้องประกาศ | ทำอำนาจดั่งพญาราชสีห์ |
เหวยกุมภกรรณอสุรี | นี่ต้นอะไรจงบอกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | น้องท้าวทศเศียรยักษา |
เห็นวานรหย่อนกำลังกายา | อสุรามิให้หยุดพัก |
กวัดแกว่งคทาฤทธิรงค์ | อาจองรวดเร็วดั่งผันจักร |
โจนจากรถทรงพญายักษ์ | เข้าไล่โหมหักราญรอน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ หวดซ้ายป่ายขวาอุตลุด | ด้วยกำลังฤทธิรุทรดั่งไกรสร |
รบชิดติดพันประจัญกร | ตีต้องวานรหลายที ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | ลูกพระทินกรเรืองศรี |
รับรองป้องกันประจัญตี | ขุนกระบี่ไล่รุกบุกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ แล้วหวดด้วยต้นพญารัง | เสียงดังดั่งหนึ่งฟ้าผ่า |
ถูกกุมภกรรณอสุรา | พฤกษาหักยับไปกับกร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | น้องท้าวทศเศียรชาญสมร |
หมายเขม้นเข่นฆ่าวานร | ตะลุมบอนถาโถมโรมรัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ตีด้วยคทาวราวุธ | สุครีพซานทรุดเหหัน |
จับหนีบรักแร้กุมภัณฑ์ | ก็เลิกพลขันธ์เข้าลงกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | ฝ่ายพลวานรถ้วนหน้า |
ครั้นเห็นสุครีพผู้ศักดา | เสียทีพญากุมภกรรณ |
อสุรีมันจับเอาไป | ต่างตระหนกตกใจตัวสั่น |
จะหักหาญชิงไว้ก็ไม่ทัน | ทัพนั้นก็พ่ายกระจายไป ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงพลับพลาอลงกรณ์ | วานรผู้มีอัชฌาสัย |
ก็คลานเข้าไปเฝ้าพระภูวไนย | บังคมไหว้แล้วทูลกิจจา |
บัดนี้สุครีพฤทธิรณ | เสียกลกุมภกรรณยักษา |
มันจับได้พาไปลงกา | ตัวข้าจะแก้ก็ไม่ทัน ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระตรีภูวนาถรังสรรค์ |
ฟังข่าวเร่าร้อนดังเพลิงกัลป์ | ทรงธรรม์รำพึงคะนึงคิด |
เป็นไฉนน้องพญาพาลี | สงครามครั้งนี้ทะนงจิต |
ให้เสียทีพาลาปัจจามิตร | ทศทิศจะเย้ยไยไพ |
คิดแล้วมีราชโองการ | สั่งศรีหนุมานทหารใหญ่ |
ตัวท่านจงรีบตามไป | ชิงชัยแก้เอาสุครีพมา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ลูกพระพายฤทธิแรงแข็งกล้า |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | ชุลีลาแล้วรีบออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ทำอำนาจผาดแผลงสำแดงฤทธิ์ | ทศทิศเลื่อนลั่นหวั่นไหว |
ถีบทะยานผ่านฟ้าด้วยว่องไว | เร่งรีบมาในอัมพร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ แลเห็นพญากุมภกรรณ | หนีบลูกพระสุริยันชาญสมร |
ใกล้ถึงประตูพระนคร | วานรก็โถมเข้าโจมตี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ถีบด้วยเท้าซ้ายป่ายขวา | หัตถาบีบคอยักษี |
สุครีพพลัดจากอสุรี | สองกระบี่ก็ช่วยกันรอนราญ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | กุมภกรรณฤทธิไกรใจหาญ |
ไม่ทันรู้ตัวจะต้านทาน | ขุนมารเสียทีเสียใจ |
ผู้เดียวรับรองป้องปัด | จะต่อหัตถ์วานรก็ไม่ได้ |
หวดซ้ายป่ายขวาวุ่นไป | จนใจจำเป็นราวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ บัดนั้น | สุครีพหนุมานกระบี่ศรี |
เข้ากลุ้มรุมกันคลุกคลี | ต่างตนต่างตีอสุรา |
ส่วนลูกพระพายชัยชาญ | ทะยานเข้ากัดหูซ้ายขวา |
สุครีพผู้มีศักดา | เข้ากัดนาสากุมภกรรณ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ เมื่อนั้น | น้องท้าวทศเศียรรังสรรค์ |
จะต่อตีชิงชัยก็ไม่ทัน | วิ่งถลันเข้าในทวารา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | สองกระบี่ฤทธิไกรใจกลัา |
เห็นยักษีหนีเข้าในลงกา | ก็พากันเหาะมาด้วยฤทธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งถวายอภิวาทน์ | พระตรีภูวนาถเรืองศรี |
ทูลแถลงแจ้งความตามคดี | ซึ่งได้ราวีกุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระหริวงศ์องค์นารายณ์รังสรรค์ |
ได้ฟังกริ้วโกรธดั่งเพลิงกัลป์ | ผาดเสียงสนั่นทั้งพลับพลา |
เหวยเหวยลูกพระอาทิตย์ | เสียแรงมีฤทธิ์แกล้วกล้า |
ไฉนไม่พิจารณา | หลงด้วยอสุราอุบายกล |
อันการสงครามแต่เพียงนี้ | ใช่ที่ลึกลับสับสน |
ให้เสียทีแทบจะเสียชนม์ | นี่หากหนุมานฤทธิรณไปทัน |
หาไม่จะสิ้นชีวิต | ด้วยปัจจามิตรโมหันธ์ |
อดสูแก่หมู่กุมภัณฑ์ | ให้มันกำเริบทะนงใจ |
เสียทีเป็นจอมโยธา | รักษาตัวเองก็ไม่ได้ |
จะใคร่ฆ่าฟันให้บรรลัย | หากทำชอบไว้แต่เดิมที ฯ |
ฯ ๑๐ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาสุครีพกระบี่ศรี |
ความกลัวเพียงสิ้นชีวี | จึ่งสนองวาทีพระทรงฤทธิ์ |
ซึ่งข้าทำการด้วยประมาท | ให้ขายเบื้องบาทนั้นโทษผิด |
ควรที่ถึงสิ้นชีวิต | หากพระจักรกฤษณ์เมตตา |
พระคุณล้ำลบภพไตร | จะเปรียบสิ่งใดก็เบากว่า |
ขอเอาพระเดชเดชา | ปกเกล้าเกศาวานร ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรกฤษณ์ฤทธิรงค์ทรงศร |
ได้ฟังลูกพระทินกร | ภูธรยิ้มพรายสบายใจ |
จึ่งตรัสชมคำแหงหนุมาน | ควรท่านที่เป็นทหารใหญ่ |
ว่าแล้วเสด็จคลาไคล | เข้าในสุวรรณพลับพลา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | พญากุมภกรรณยักษา |
หูขาดจมูกขาดเวทนา | กายาชอกช้ำไม่สมประดี |
ยิ่งคิดยิ่งแค้นแสนเทวษ | ชลเนตรอาบพักตร์ยักษี |
เดินพลางทางจะคิดราวี | อสุรีก็รีบขึ้นมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรอภิวาทน์ | แทบบาทสมเด็จพระเชษฐา |
ให้อดสูแก่หมู่เสนา | ดั่งว่าจะม้วยชีวัน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โอด
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์รังสรรค์ |
เห็นน้องท้าวเจ็บปวดจาบัลย์ | กุมภัณฑ์ตระหนกตกใจ |
จึ่งมีพระราชบัญชา | เจ้าผู้ฤทธาแผ่นดินไหว |
ออกไปรณรงค์ด้วยพวกภัย | เหตุใดจึ่งเป็นดั่งนี้ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญากุมภกรรณยักษี |
ได้ฟังพระราชวาที | อสุรีสนองพระบัญชา |
ตัวข้ายกพวกพลากร | ไปราญรอนกับไอ้ลิงป่า |
จับได้สุครีพหนีบมา | ใกล้ถึงทวาราธานี |
มีวานรหนึ่งใจหาญ | ชื่อว่าหนุมานกระบี่ศรี |
มันติดตามมาทันที | เข้าโจมตีชิงเอาสุครีพไป |
ตัวน้องผู้เดียวไม่ทันรู้ | จะต้านต่อรอสู้ก็ไม่ได้ |
เสียทีดั่งเสียชีวาลัย | น้อยใจเป็นพ้นพรรณนา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
สวมสอดกอดองค์อนุชา | แก้วตาของพี่อย่าเสียใจ |
ธรรมดาเกิดมาเป็นบุรุษ | สุดแต่ปัญญานั้นเป็นใหญ่ |
อันการศึกเสียทีแลมีชัย | มิใช่แต่องค์พระน้องรัก |
ตัวเจ้าก็ทรงอานุภาพ | ปราบได้ทั่วไปทั้งไตรจักร |
อันศึกเพียงนี้ไม่หนักนัก | จงคิดหักเอาชัยแก่ไพรี |
ให้เป็นเกียรติไปภายหน้า | ตราบสิ้นดินฟ้าราศี |
จะละห้อยน้อยใจไปไยมี | เจ้าพี่เร่งคิดไปต่อกร ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | กุมภกรรณอุปราชชาญสมร |
ฟังพระเชษฐาฤทธิรอน | ตรัสสอนก็คิดมานะใจ |
จึ่งทูลว่ามนุษย์กับลิงป่า | น้องจะมล้างชีวาเสียให้ได้ |
แต่ว่าจะลาพระองค์ไป | เอาหอกชัยในชั้นพรหมาน |
ชื่อโมกขศักดิ์วราวุธ | ฤทธิรุทรดั่งแสงสุริย์ฉาน |
แล้วจึ่งกลับไปรอนราญ | สังหารหมู่ราชไพรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวยี่สิบกรยักษี |
ได้ฟังน้องท้าวกล่าววาที | ยินดีดั่งได้โสฬส |
ลูบหลังแล้วมีสุนทร | เจ้าผู้ฤทธิรอนดั่งจักรกรด |
อันมนุษย์วานรที่คิดคด | จะม้วยหมดด้วยมืออนุชา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | กุมภกรรณสุริย์วงศ์ยักษา |
บังคมก้มเกล้าชุลีลา | ออกมาจากท้องพระโรงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ แล้วจึ่งผาดแผลงสำแดงฤทธิ์ | ทศทิศกัมปนาทหวาดไหว |
ถีบทะยานผ่านฟ้าด้วยว่องไว | เหาะไปโดยทางอัมพร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ ถึงชั้นพรหมามหาสถาน | ขุนมารมีใจสโมสร |
บังคมบาทองค์ท้าวแปดกร | ทูลด้วยสุนทรวาจา |
บัดนี้ลงกานคเรศ | เกิดเหตุรณรงค์เข่นฆ่า |
จะขอโมกขศักดิ์อันศักดา | ไปต่อฤทธาไพรี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
ช้า
๏ เมื่อนั้น | องค์บรมพรหเมศเรืองศรี |
ได้ฟังกุมภกรรณพาที | จึ่งมีบัญชาตรัสไป |
อันซึ่งหอกแก้วโมกขศักดิ์ | ประหลาดนักกูคิดสงสัย |
ราคีไม่มีเท่ายองใย | เหตุไฉนจึ่งเป็นสนิมมา |
เอ็งสิทรงธรรม์ทศพิธ | ประมาทจิตสิ่งใดกระมังหนา |
จึ่งเผอิญให้เทพสาตรา | ปรากฏวิปริตไปดั่งนี้ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | กุมภกรรณสุริย์วงศ์ยักษี |
ได้ฟังเทวราชวาที | อสุรีก็ทูลสนองไป |
ตัวข้านี้ตั้งอยู่ในธรรม์ | จะมืดมัวโมหันธ์ก็หาไม่ |
ทศพักตร์ก่อเหตุเภทภัย | ไปลักองค์นางสีดา |
อันเป็นเมียของพระราม | ผัวเขาจึ่งตามมาเคี่ยวฆ่า |
ครั้นห้ามให้ดีก็โกรธา | จึ่งต้องรบราไพรี |
ด้วยเป็นเชษฐาก็สุดคิด | เอาชีวิตสนองคุณพี่ |
ขอพระเป็นเจ้าจงปรานี | เป็นที่พึ่งข้ากุมภัณฑ์ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | ท้าวอัชดาพรหมรังสรรค์ |
ได้ฟังวาจากุมภกรรณ | จึ่งมีบัญชาตอบไป |
อันทศเศียรขุนมาร | สาธารณ์ชั่วช้าหยาบใหญ่ |
เบียดเบียนเทวาสุราลัย | นํ้าใจกำเริบอหังการ์ |
ว่าแล้วองค์ท้าวจตุรพักตร์ | ก็หยิบโมกขศักดิ์ให้ยักษา |
ตัวเอ็งอย่าเสียสัตยา | ตามวงศ์พรหมาธิบดี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | กุมภกรรณสิทธิศักดิ์ยักษี |
รับเอาหอกแก้วมณี | อสุรีถวายบังคมคัล |
ลาองค์บรมพรหมินทร์ | สำแดงเดชฟ้าดินไหวหวั่น |
ออกจากวิมานแก้วแพร้วพรรณ | กุมภัณฑ์ก็เหาะกลับมา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงลงกานคเรศ | น้องท้าวสิบเกศยักษา |
จึ่งมีพระราชบัญชา | สั่งฤทธิกาสูรขุนมาร |
จงไปตั้งโรงพิธี | กว้างขวางยาวรีไพศาล |
เชิงพระเมรุใกล้ฝั่งชลธาร | ให้โอฬารด้วยแสงพรายพรรณ ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | จึ่งฤทธิกาสูรตัวขยัน |
รับสั่งพญากุมภกรรณ | ถวายบังคมคัลแล้วออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
๏ จึ่งกะเกณฑ์ตามที่พนักงาน | ทุกหมวดหมู่มารซ้ายขวา |
พากันออกจากพารา | บ่ายหน้าไปพระเมรุคีรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงฟากฝั่งสีทันดร | จึ่งสั่งนิกรยักษี |
ให้ตั้งโรงราชพิธี | ยังที่ริมฝั่งชลธาร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฝ่ายหมู่โยธาทวยหาญ |
ได้ฟังนายสั่งก็ลนลาน | จัดการพร้อมกันทุกหมวดกอง ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ ปลูกเป็นโรงราชพิธี | อลงกตยาวรีสิบเก้าห้อง |
หลังคาดาดแดงแย่งทอง | ช่อฟ้ากุก่องอลงการ์ |
จตุรมุขงามแม้นพิมานสวรรค์ | หน้าบันดั่งเทพเลขา |
เพดานแดงประดับด้วยดารา | ห้อยพวงบุปผามาลัย |
รายริ้วราชวัติฉัตรจรง | ทิวธงเรียงรายปลายไสว |
ล้อมแผ่นศิลาอำไพ | ที่ลับหอกชัยอสุรี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | พญากุมภกรรณยักษี |
เสด็จเหนือแท่นแก้วมณี | ในที่ท่ามกลางเสนา |
จึ่งมีพระราชบรรหาร | ตรัสสั่งมหากาลยักษา |
จงเตรียมรถแก้วแววฟ้า | กับหมู่โยธาพลากร |
กูจะไปตั้งกิจพิธี | ยังที่พระเมรุสิงขร |
ลับโมกขศักดิ์ฤทธิรอน | มล้างมนุษย์วานรให้วายปราณ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | มหากาลเสนาใจหาญ |
ก้มเกล้ารับสั่งพญามาร | ก็วิ่งลนลานออกไป ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ ประถม
ยานี
๏ เกณฑ์มารเป็นหมู่พยุหบาตร | โดยกระบวนประพาสป่าใหญ่ |
ห้าพันล้วนพวกธงชัย | แห่ในเบื้องหน้าพญามาร |
กองขวาคอยป้องล้วนถือปืน | แปดพันเลือกพื้นทหารหาญ |
กองซ้ายถือศรเผ่นทะยาน | แปดพันคอยผลาญปัจจามิตร |
กองหลังถือธนูกำซาบ | โล่ดั้งหอกดาบกระบี่กริช |
เตรียมทั้งรถทองชวลิต | เสร็จตามประกาศิตอสุรา ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | กุมภกรรณสุริย์วงศ์ยักษา |
ครั้นรุ่งสางสว่างเวลา | เสด็จมาเข้าที่สรงชล ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ ชำระสระสนานสำราญกาย | สุหร่ายแก้วโปรยปรายดั่งสายฝน |
ทรงสุคนธารสเสาวคนธ์ | ปรุงปนทิพย์มาศสุมามาลย์ |
สนับเพลารายพลอยเครือแย่ง | ภูษาชายแครงกระหนกก้าน |
ชายไหวชายแครงอลงการ | ทรงมหาสังวาลทับทิมพราย |
ทับทรวงสร้อยสนสะอิ้งแก้ว | ตาบทิศเพชรแพร้วฉานฉาย |
พาหุรัดทองกรจำหลักลาย | ธำมรงค์พลอยรายกรรเจียกจร |
ห้อยพวงมาลัยดอกไม้ทัด | ขัดพระขรรค์เพชรรัตน์ประภัสสร |
จับพระแสงโมกขศักดิ์ฤทธิรอน | กรายกรไปขึ้นพิชัยรถ ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ รถเอยราชรถนิล | โกมินกงมาศมรกต |
ทรงงามสามงอนอ่อนชด | ชั้นลดช่อลอยล้วนพลอยเพชร |
แก้วกระหนาบกาบกระหนกนกกลาย | บัวหงายบังเงากระจังเก็จ |
บัลลังก์บุลวดผอวดเม็ด | แสงเตร็จส่องตรัสเมฆา |
ขุนรถขับรีบโตคะนอง | ลอยทางเลื่อนท้องเวหา |
เครื่องสูงครบสิ่งดาษดา | แสงระยับสายระย้าจามร |
เสียงฆ้องซ้องขานประสานแตร | คู่แห่เคียงโห่ธงสลอน |
เยี่ยมข้ามยอดเขายุคุนธร | ผาดจรพ้นเจ็ดสมุทรไป ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงโรงราชพิธี | เชิงพระเมรุคีรีเขาใหญ่ |
จึ่งสั่งเสนาผู้ร่วมใจ | ให้เกณฑ์กันกระเวนตรวจตรา |
ทั่วทั้งทางบกทางนํ้า | ตั้งกองประจำรักษา |
เน่าหนอนอย่าให้มีมา | ที่ในมหาสาคร |
สั่งแล้วเสด็จยุรยาตร | องอาจดั่งพญาไกรสร |
ลงจากรถแก้วอลงกรณ์ | บทจรเข้าโรงพิธี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
ชมตลาด
๏ จึ่งจุดธูปเทียนบูชา | โปรยปรายมาลาเจ็ดสี |
เอาเลือดโคถึกมฤคี | จัดใส่บัตรพลีพลีกรรม์ |
เสร็จแล้วยอกรขึ้นเหนือเกศ | ไหว้บรมพรหเมศรังสรรค์ |
บริกรรมพระเวทครบพัน | ลับโมกขศักดิ์อันฤทธี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ เมื่อนั้น | พระสุริย์วงศ์องค์นารายณ์เรืองศรี |
ครั้นแสงทองส่องฟ้าธาตรี | ตื่นจากแท่นที่ไสยา |
ชำระพระองค์สรงพระพักตร์ | แล้วชวนพระลักษมณ์กนิษฐา |
เสด็จยุรยาตรคลาดคลา | ออกหมู่เสนาพลากร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ เสมอ
๏ ลดองค์ลงเหนือแท่นแก้ว | อันเพริศแพร้วจำรัสประภัสสร |
พร้อมหมู่ทหารฤทธิรอน | ภูธรตรัสถามพิเภกไป |
อันกุมภกรรณยักษา | เพลาวันนี้เป็นไฉน |
จึ่งไม่ยกพหลพลไกร | ออกมาชิงชัยราวี ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษี |
ได้ฟังพระราชวาที | ชุลีกรสนองพระบัญชา |
อันซึ่งพญากุมภกรรณ | ไม่ยกพลขันธ์มาเข่นฆ่า |
ไปลับโมกขศักดิ์อันศักดา | ยังมหาเมรุมาศบรรพต |
แม้นเสร็จสี่คมเมื่อใด | จะเรืองฤทธิไกรดั่งไฟกรด |
ปราบไปได้ถึงโสฬส | ทั่วทั้งทศทิศไม่ต้านทาน ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรีผู้ปรีชาหาญ |
ได้ฟังพิเภกแจ้งการ | จึ่งมีบรรหารถามไป |
อันซึ่งอาวุธของขุนยักษ์ | เรืองฤทธิ์สิทธิศักดิ์แผ่นดินไหว |
เราจะคิดอ่านประการใด | อย่าให้ทำได้ดังจินดา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | พญาพิเภกยักษา |
ก้มเกล้าสนองพระบัญชา | ว่ากุมภกรรณขุนมาร |
ตัวเพื่อนนั้นแสนสะอาดนัก | รักแต่รสกลิ่นที่หอมหวาน |
อบรมลูบไล้สุคนธ์ธาร | เป็นนิจกาลทุกวันไป |
ทุกสิ่งสารพันเน่าเหม็น | แม้นเห็นรากท้นไม่ทนได้ |
ขอให้วายุบุตรวุฒิไกร | กับองคตผู้ไวปัญญา |
นิมิตเป็นกาจิกสุนัขเน่า | ลอยเข้าให้ใกล้ยักษา |
ลับหอกไม่ได้ดั่งจินดา | น่าที่จะเสียพิธี ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระกฤษณุรักษ์เรืองศรี |
ได้ฟังพิเภกอสุรี | จึ่งมีพระราชโองการ |
ตรัสสั่งองคตวายุบุตร | ท่านผู้ฤทธิรุทรกล้าหาญ |
จงไปมล้างพิธีขุนมาร | ด้วยปรีชาชาญของวานร ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | องคตหนุมานชาญสมร |
ก้มเกล้ารับสั่งพระสี่กร | ลาแล้วบทจรออกมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ ต่างตนสำแดงแผลงฤทธิ์ | เสียงสนั่นครรชิตทุกทิศา |
ถีบทะยานผ่านขึ้นยังเมฆา | บ่ายหน้าไปพระเมรุคีรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงจึ่งเห็นขุนมาร | อานหอกโมกขศักดิ์เรืองศรี |
อยู่ในโรงราชพิธี | ใกล้ที่ริมฝั่งสีทันดร |
สองนายก็ลงจากอากาศ | องอาจดั่งพญาไกรสร |
ต่างตนร่ายเวทฤทธิรอน | วานรนิมิตกายา ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ ตระ
๏ หนุมานนั้นเป็นสุนัขตาย | พองเน่ากลิ่นอายเหม็นกล้า |
องคตนั้นกลายเป็นกา | จับจิกลอยมาในวารี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ โล้
๏ เมื่อนั้น | พญากุมภกรรณยักษี |
ลับหอกอยู่ในพิธี | อสุรีแลไปในสาคร |
เห็นสุนัขเน่าลอยมาวนอยู่ | มีหมู่แมลงวันตอมว่อน |
กาจิกเหม็นตลบอบขจร | หมู่หนอนคลาคลํ่าทั้งกายา |
แต่เห็นก็ให้อาเจียน | คลื่นเหียนเวียนพักตร์ยักษา |
ลับหอกไม่ได้ดั่งจินดา | ก็ลุกมายังรถมณี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ แล้วมีพระราชบรรหาร | ให้เลิกพลมารยักษี |
จากเชิงพระเมรุคีรี | รีบเข้าธานีลงกา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ กราว
๏ บัดนั้น | องคตหนุมานหาญกล้า |
ครั้นเห็นกุมภกรรณอสุรา | เลิกพลโยธาพลากร |
สองกระบี่ผู้มีฤทธิรณ | ต่างตนชื่นชมสโมสร |
ก็กลับกลายกายาเป็นวานร | ขึ้นจากสาครสมุทรไท ฯ |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ สองนายสำแดงกำลังหาญ | สุธาธารกัมปนาทหวาดไหว |
ถีบทะยานผ่านฟ้าด้วยว่องไว | ตรงไปสุวรรณพลับพลา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เชิด
๏ ครั้นถึงน้อมเศียรบังคมทูล | นเรนทร์สูรปิ่นภพนาถา |
ข้าไปมล้างกิจวิทยา | อสุรานั้นเสียพิธี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พระจักรรัตน์แก้วเรืองศรี |
ได้ฟังสองทหารก็ยินดี | จึ่งมีบัญชาตรัสไป |
มิเสียทีเป็นวงศ์เทเวศร์ | ฤทธิ์เดชปรีชาไม่หาได้ |
ทั้งความคิดวิทยาก็ว่องไว | ใช้ไหนสำเร็จดั่งจินดา |
จงทรงเดชาอานุภาพ | ปราบไปในทศทิศา |
ตรัสแล้วเสด็จยาตรา | เข้าห้องไสยาอลงกรณ์ ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ เมื่อนั้น | ฝ่ายกุมภกรรณชาญสมร |
ครั้นถึงลงกาพระนคร | บทจรเข้าเฝ้าอสุรี ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
๏ จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมบาท | พระเชษฐาธิราชยักษี |
ทูลความตามเสียพิธี | ถ้วนถี่เสร็จสิ้นแต่เดิมมา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | ท้าวราพณาสูรยักษา |
ได้ฟังพระราชอนุชา | อสุราสลดระทดใจ |
นิ่งขึงตะลึงรำพึงคิด | ร้อนจิตผะผ่าวดั่งเพลิงไหม้ |
แล้วมีวาจาตอบไป | อันพระสมุทรใหญ่สีทันดร |
พ้นวิสัยไกลเขตมนุษย์ | เป็นที่ภุชงค์สโมสร |
ละเอียดกว่าน้ำในสาคร | บห่อนจะมีมลทิน |
ถึงแววยูงตกก็ไม่คง | จะจมลงที่ในกระแสสินธุ์ |
สุนัขตายลอยมาในวาริน | กากินบินจับจิกมา |
ชะรอยไอ้พิเภกทรชน | บอกกลแก่พวกกระบี่ป่า |
มาล้างพิธีสาตรา | ถึงเสียวิทยาอย่าเสียใจ |
อันโมกขศักดิ์ของเจ้านี้ | สามภพธาตรีไม่ต่อได้ |
รุ่งขึ้นจงยกออกไป | ฆ่าเสียให้สิ้นพวกพาล ฯ |
ฯ ๑๒ คำ ฯ
๏ เมื่อนั้น | พญาภุมภกรรณใจหาญ |
ได้ฟังพระเชษฐาบัญชาการ | ขุนมารสนองพระวาที |
อันความแค้นของน้องนี้เหลือแค้น | แน่นอกร้อนใจดั่งไฟจี่ |
ถึงตายไม่เสียดายชีวี | ข้านี้จะแก้มือมัน |
ทูลแล้วถวายบังคมลา | พระเชษฐาธิราชรังสรรค์ |
เสด็จย่างเยื้องจรจรัล | มาปราสาทสุวรรณรูจี ฯ |
ฯ ๖ คำ ฯ เสมอ
๏ ครั้นถึงจึ่งมีบรรหาร | สั่งฤทธิกาลยักษี |
จงเตรียมจัตุรงค์โยธี | พรุ่งนี้จะยกไปชิงชัย ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ
๏ บัดนั้น | ฤทธิกาลเสนาผู้ใหญ่ |
รับสั่งบังคมแล้วออกไป | จากในพระโรงรัตนา ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
ยานี
๏ จัดหมู่ทหารชำนาญยุทธ์ | ถือปืนคาบชุดเป็นทัพหน้า |
กองขันถือคาบศิลา | ลํ่าสันกายาเรี่ยวแรง |
เกียกกายลำพองคะนองศึก | ห้าวฮึกถือธนูขัดแล่ง |
กองหลวงล้วนขัดดาบแดง | มือถือทวนแทงถ้วนตน |
ยุกกระบัตรล้วนถือหอกใหญ่ | นายหมวดตรวจไพร่กุลาหล |
กองหนุนเลือกล้วนคงทน | ถือง้าวคำรนจะราญรอน |
กองหลังมือถืออาวุธ | สำแดงฤทธิรุทรดั่งไกรสร |
เตรียมทั้งรถทรงอลงกรณ์ | คอยเสด็จบทจรอสุรา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เจรจา
๏ เมื่อนั้น | กุมภกรรณสุริย์วงศ์ยักษา |
ครั้นรุ่งสางสว่างเวลา | เสด็จมาสระสรงวาริน ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ สุหร่ายแก้วโปรยปรายดั่งสายฝน | ทรงสุคนธ์เฟื่องฟุ้งจรุงกลิ่น |
สนับเพลาเชิงรูปนาคินทร์ | ภูษาเครือกินรีรำ |
สอดใส่ฉลององค์อย่างน้อย | เกราะพลอยมรกตเขียวขำ |
รัดอกล้วนบุษราคัม | ประจำยามเคียงคั่นกุดั่นดวง |
สร้อยสนสังวาลสะอิ้งแก้ว | ตาบทิศเพชรแววรุ้งร่วง |
เฟื่องห้อยพลอยประดับทับทรวง | พาหุรัดแก้วดวงทองกร |
สอดใส่ธำมรงค์เนาวรัตน์ | กรรเจียกแก้วจำรัสประภัสสร |
จับโมกขศักดิ์ฤทธิรอน | บทจรมาขึ้นรถทรง ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ เสมอ
โทน
๏ รถเอยรถศึก | เจ็ดงอนพันลึกงามระหง |
กำแก้วสลับประกับกง | ดุมวงประดับทับทิมพราย |
บัลลังก์รายรูปสิงห์สลับครุฑ | กรยุดนาคหิ้วเฉิดฉาย |
เทพนมประนมนิ้วเรียงราย | จตุรมุขงามคล้ายพิมานรัตน์ |
เทียมโตสองพันตัวคะนอง | สารถีขับคล่องยืนหยัด |
รวดเร็วดั่งหนึ่งลมพัด | มยุรฉัตรเครื่องสูงเรียงรัน |
ปี่กลองฆ้องขานประสานเสียง | สำเนียงพลโห่เลื่อนลั่น |
ผงคลีมืดคลุ้มชอุ่มควัน | รีบเร่งพลขันธ์ออกมา ฯ |
ฯ ๘ คำ ฯ กราว
๏ ครั้นถึงสมรภูมิชัย | จึ่งให้หยุดพลไกรซ้ายขวา |
ตั้งเป็นกระบวนครุฑา | อยู่ที่ชายป่าพนาดร ฯ |
ฯ ๒ คำ ฯ เจรจา